Tag: ปฏิบัติธรรม

กินมังสวิรัติ ไม่ได้ช่วยให้เราพ้นทุกข์?

May 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,646 views 0

กินมังสวิรัติ ไม่ได้ช่วยให้เราพ้นทุกข์?

เป็นความเห็นจากผู้ที่เห็นว่าการกินมังฯ กินเจ ลดเนื้อกินผักนั้นไม่ได้ช่วยให้พ้นทุกข์หรือบรรลุธรรมแต่อย่างใด ซึ่งประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักปฏิบัติธรรมกันมานานแล้ว

…….
จะลองเสนอความคิดเห็นกันในอีกมุมหนึ่ง

กินมังฯนั้นก็แค่ลดความอยากได้ในส่วนของกินมัง จะไปโลภบรรลุธรรมไปถึงนิพพานทั้งหมดนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ก็จะได้ในส่วนที่ทำคือสามารถพ้นทุกข์จากความอยากกินเนื้อสัตว์ได้

คนที่เขาลดเนื้อกินผักโดยมุ่งที่การกำจัดกิเลส คือทำลายความหลงเสพหลงสุขในเนื้อสัตว์เขาก็จะได้ความพ้นทุกข์ในเรื่องที่เขา กำจัดได้ตามลำดับนั้นเอง

คนปฏิบัติธรรมที่ยังติดเนื้อสัตว์อยู่นี่ให้เขาเลิกกินตลอดชีวิตเขาทุกข์ตายเลย กิเลสจะเฆี่ยนเขาจนตายเลยนะ มันจะต้องไปแสวงหามากินให้ได้ เพราะไม่กินมันจะทุกข์ ส่วนคนที่ลดเนื้อกินผักเขาไม่ต้องกินเนื้อสัตว์ก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรเขาก็กินข้าวเปล่าไปก็ได้ มันหาง่ายกว่าเนื้อสัตว์อยู่แล้ว เขาก็ไม่ทุกข์อะไร

ดังนั้นตรรกะที่ว่าลดเนื้อกินผักไม่ได้ทำให้พ้นทุกข์นั้นไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะมันก็สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้อย่างน้อยก็หนึ่งเรื่อง ถ้าอยากพ้นทุกข์ทุกเรื่องก็ถือศีลแล้วทำลายกิเลสให้ครบทุกเรื่องเดี๋ยวก็ได้ เอง

ปฏิบัติธรรมคนเดียว

May 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,448 views 0

คนกิเลสหนาที่อยากพ้นทุกข์ แม้จะพยายามศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งสู่ความเจริญ

แต่กลับไม่มีครูบาอาจารย์ให้คำปรึกษาแนะนำ ไม่มีหมู่กลุ่มที่พากันทำดี ไม่มีมิตรดีคอยตักเตือนและสนทนาธรรม ไม่มีใครช่วยชี้ถูกชี้ผิด

…ก็คงจะเป็นการเดินทางที่ยากลำบากยิ่งนัก

…ยิ่งเดินยิ่งท้อ ยิ่งพยายามยิ่งทุกข์ ยิ่งทำยิ่งหลงทาง

ความรักกับวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์

May 12, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,283 views 0

ความรักกับวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์

ความรักกับวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์

ในโลกนี้ทุกชีวิตต่างล้วนดำเนินไปเพื่อความพ้นทุกข์ ทุกคนบนโลกต่างก็เป็นผู้ศึกษาธรรม แม้เขาเหล่านั้นจะไม่รู้ตัว แต่การเรียนรู้ทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตก็คือการเรียนรู้ธรรมะ

ความรัก ในบทความนี้หมายถึงรักที่อยากครอบครอง อยากมีคู่ อยากเป็นครอบครัว ยังเป็นรักที่มี “ความอยาก” เป็นแรงผลักดันอยู่

การพ้นทุกข์ ในที่นี้มีเพียงเป้าหมายเดียวคือการหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ และอำนาจของกิเลสในบทความนี้นั้นก็หมายถึง “ความอยากมีความรัก

ในบทความนี้แบ่งวิถีทางออกเป็นสี่หัวข้อ โดยแบ่งออกเป็นทุกข์มากและทุกข์น้อยและในทุกข์มากและทุกข์น้อยนั้นก็มีทั้งผู้ที่มีอินทรีย์ คือ ศรัทธา ความเพียร สติ ความตั้งมั่น ปัญญาที่มากน้อยแตกต่างกัน

ในวิถีทางแห่งทุกข์มากนั้นหมายถึงการมีภาระ มีวิบากที่ต้องแบก นั่นคือผู้ที่เลือกเรียนรู้สู่การพ้นทุกข์โดยการมีคู่ และทางที่ทุกข์น้อยนั้นหมายถึงคนที่เลือกเรียนรู้สู่การพ้นทุกข์ด้วยความโสดโดยมีเป้าหมายสุดท้ายก็คือการพ้นทุกข์ด้วยการทำลายความอยาก นั่นหมายถึงความโสดที่หมดความอยากในการมีคู่

จะเห็นว่าบทความนี้มีแต่เรื่องของ “ทุกข์” เพราะศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ศึกษาในเรื่องของทุกข์ หลักอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหัวใจของศาสนา เริ่มต้นมาข้อแรกก็ว่าด้วยเรื่องทุกข์แล้ว และจะทุกข์ไปตราบเท่าที่เรายังมีกิเลสอยู่ ดังนั้นเราจึงมาศึกษาความรักกับความเป็นทุกข์นั้น

แม้ว่าในสังคมปกตินั้นจะมองว่าการได้ครองคู่นั้นเป็นสุขอย่างหนึ่งในชีวิต แต่ในความจริงแล้วสิ่งนั้นกลับเป็นทุกข์อย่างยิ่งในมุมมองของธรรมะ ซึ่งการที่เราเห็นทุกข์ว่าเป็นสุขนั้นก็เพราะกิเลสทำให้หลง ทำให้เราเห็นกงจักรเป็นดอกบัวได้

วิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จากความรักในบทความนี้มี 4 หัวข้อดังนี้

1)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์มากและพ้นทุกข์ยาก

ทางที่ทำให้ทุกข์มากนั้นเกิดขึ้นจากความอยากที่รุนแรง เต็มไปด้วยกิเลสปริมาณมาก จึงทำให้ต้องแสวงหาความรักมาบำเรอตนเอง ในกรณีก็คือการหาคู่ครอง

มีเหตุผลมากมายในการจะมีคู่ครอง ในมุมของการเสพสมทั่วไปก็จะเป็นเรื่องของการอยากมีคนให้สมสู่กัน เรื่องกามคุณ คือมีหน้าตาดี รูปสวย เสียงเพราะ ฯลฯ เรื่องโลกธรรม เช่น มีฐานะ มีการงานดี มีชื่อเสียงสังคมยอมรับ มีความสามารถในการบำเรอสุขให้ตน ฯลฯ และในมุมของอัตตาเช่น ฉันชอบคนนี้ ฉันชอบแบบนี้ ฯลฯ

หรือแม้แต่ในมุมของคนที่ใช้ข้อคิดเห็นต่างๆ เข้ามาเป็นเหตุผลดีๆเพื่อให้ตนได้มีคู่โดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาปเช่น การได้พากันเจริญ, มีคนคอยขัดเกลาอุ้มชูกัน, ดูแลกันไปปฏิบัติธรรมกันไป,หรือตรรกะใดๆที่คิดว่ามีคู่แล้วจะดีกว่าเป็นโสด

ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม การครองคู่นั้นคือสิ่งที่กั้นไม่ให้เราบรรลุธรรมได้ง่ายนัก เพราะต้องคอยสนองกิเลสของกันและกัน เป็นภาระของกันและกัน สร้างวิบากกรรมร่วมกันให้ต้องมาคอยชดใช้กันทีหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแบกรับไว้และทำให้ทุกข์มาก ซึ่งทุกข์จากความอยากได้ความรักก็ทุกข์มากพออยู่แล้ว ยังต้องทุกข์เพราะต้องคอยรับวิบากกรรมหลายๆอย่างจากการมีคู่อีก

แม้ว่าการมีคู่ในตอนแรกนั้นจะดูเหมือนเป็นสุข แต่สิ่งนั้นก็ไม่ยั่งยืน ไม่ถาวร เมื่อคนกิเลสหนาสองคนมาเจอกัน ก็อาจจะเอาใจกันเพื่อให้ได้เสพในบางสิ่งบางอย่างของอีกฝ่ายได้สักพัก แต่วันหนึ่งทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อกิเลสที่มีนั้นไม่ได้ถูกลด และมีความต้องการให้ถูกสนองมากขึ้น แต่ความสามารถหรือความพอใจของอีกฝ่ายที่จะต้องมาคอยบำเรอกิเลสเรานั้นกลับลดลง และวันนั้นเองนรกก็จะมาเยือน

เหมือนกับเทวดาที่ตกสวรรค์ การที่คนมีคู่เขาก็ยังสามารถเสพสุขได้เหมือนอยู่ในสวรรค์ นั่นเพราะเขามีกุศลมาก จึงมีลาภ ยศ สรรเสริญ จนเมาสุขอยู่เช่นนั้น ซึ่งเทวดาที่แท้จริงก็คือคนที่ติดอยู่ในสุขเช่นนั้น คนที่ติดสุขติดภพเทวดานั้นจะไม่สามารถปฏิบัติหรือเจริญในธรรมใดๆได้ เพราะเขาจะไม่เห็นโทษของกิเลส จะเห็นแต่ประโยชน์ของการมีคู่ แต่การหลงมัวเมาอยู่กับการเสพเช่นนั้นก็จะทำให้กุศลกรรมที่ทำมาหมดไปในวันใดวันหนึ่ง เพราะไม่มีวิบากกรรมใดที่ได้รับแล้วจะไม่หมดไป การที่เขาได้เสพสุขอยู่กับการมีคู่ก็เช่นกัน สิ่งเหล่านั้นมีวันหมด และในขณะเดียวกันวิบากบาปก็รอที่จะส่งผลอยู่เสมอ เมื่อถึงจุดนั้นก็จะกลายเป็นเทวดาที่ตกลงมาจากสวรรค์ ต้องพบกับความทุกข์และเจ็บปวดอีกมากมาย

ดังนั้นเมื่อเทียบกับคนโสด คนมีคู่จึงต้องประสบทุกข์อย่างมาก จึงจัดคนที่มีคู่อยู่ในหมวดของทุกข์มาก

และคนที่มีคู่นั้น หากเป็นคนที่มีอินทรีย์อ่อน คือมี ศรัทธาน้อย ความเพียรน้อย สติน้อย ความตั้งมั่นน้อย ปัญญาน้อย ก็ยากนักที่จะสามารถจะหลุดพ้นจากกิเลสที่มีกำลังมากได้ซึ่งก็ต้องวนเวียนเรียนรู้ทุกข์ที่มากไปพร้อมๆกับการพัฒนาอินทรีย์พละของตนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหลุดพ้นจากกิเลส

สิ่งที่ทำให้หลุดพ้นได้ยากเพราะตนเองนั้นก็มีกิเลสหนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังต้องมาคอยสนองกิเลสของคู่ครองอีก แล้วทีนี้การหลุดพ้นจากทุกข์คือการทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง แต่วิถีการเรียนรู้ธรรมะกลับเป็นไปในแนวทางเพิ่มกิเลส ดังนั้นจึงทำให้หลุดพ้นได้ช้า เป็นทุกข์มาก

ซึ่งกว่าจะหลุดพ้นได้ก็ต้องวนเวียนทุกข์ไปเรื่อยๆ ความอยากมีคู่ก็รุนแรง ทุกข์ก็ยอมทนเพื่อให้ได้เสพ แม้ว่าความรักจะพังทลายกี่ครั้งก็ยังไม่เข็ด ยังอยากมีความรัก ยังอยากมีคู่ไปเรื่อยๆ ยินดีเสพสุขลวงและทนทุกข์ต่อไปจนกว่าจะสามารถมีปัญญาถึงระดับที่เห็นว่าทุกข์นั้นเกิดเพราะความอยากได้

และถึงแม้ว่าจะเป็นคู่ที่พากันลดละกิเลส เช่น ในเรื่องของการสมสู่เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตัดขาดได้ทันที เพราะวิบากกรรมจะเหนี่ยวรั้งไว้ แม้จะตัดทันทีก็มีกรรมแบบหนึ่งคืออาจจะไปเบียดเบียนคู่ถ้าเขายังมีความอยากอยู่ จะไม่ตัดก็มีกรรมแบบหนึ่งคือยังต้องไปสมสู่สนองกิเลส ซึ่งเป็นการเพิ่มกิเลสกันอยู่อีก ซึ่งไม่ว่าจะทำอย่างไรก็จะถูกพันไว้ด้วยความมีคู่นั่นเอง

2)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์มากแต่พ้นทุกข์ไว

คนที่มีกิเลสมากและหลงไปมีคู่ แต่กลับพ้นทุกข์ไว คือผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า มีศรัทธามาก มีความเพียรมาก มีสติมาก มีความตั้งมั่นมาก มีปัญญามาก แม้จะหลงไปมีคู่จนเกิดทุกข์ที่มาก แต่ก็สามารถจะหลุดพ้นจากกิเลสได้ไว ทำลายความอยากที่จะมีคู่ได้ด้วยอินทรีย์ที่แก่กล้านั้นเอง

ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีคู่ครองเจอปัญหาในชีวิตคู่ซึ่งทำให้ทุกข์มาก จึงใช้ทุกข์นั้นเอง เป็นเหตุในการพิจารณาธรรมเพื่อหลุดพ้นจากความอยากนั้น มองเห็นเหตุแห่งทุกข์ตามจริง คือเรานั้นเองที่สร้างการผูกมัดนี้มาจนเป็นทุกข์ “ถ้าเราไม่อยากมีคู่” ก็ไม่ต้องเจอปัญหานี้ตั้งแต่แรก ด้วยอินทรีย์ที่มากจึงสามารถเข้าใจความจริงตามความเป็นจริง จนหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ไม่ยากนัก

สภาพของการหลุดพ้นอาจจะเกิดเพราะเรื่องไม่กี่เรื่อง ไม่ต้องทนทุกข์นาน อาศัยเหตุเพียงเล็กน้อยก็สามารถนำมาศึกษาเพื่อความพ้นทุกข์ได้

แต่แม้จะทำลายความอยากมีคู่ได้แล้ว คนที่หลงไปมีคู่ก็จะต้องมีวิบากกรรมที่ต้องคอยมารับภาระในคู่ครอง ซึ่งการอยู่ด้วยกันโดยปราศจากความหลง หรือไม่มีกิเลสเป็นตัวหลอกแล้ว ชีวิตคู่จะไม่มีความสุขลวงๆที่เคยมีอีกเลย สิ่งที่เหลือจะมีแต่ความจริงตามความเป็นจริง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแต่เรื่องที่ทำให้เป็นภาระนั่นเอง

3)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์น้อยแต่พ้นทุกข์ยาก

เมื่อการมีคู่นั้นคือทุกข์มาก ความโสดที่ยังมีกิเลสนั้นเองก็คือทุกข์น้อย ที่น้อยกว่าเพราะไม่ต้องไปคอยสนองกิเลสใครให้ต้องมาคอยรับวิบากกรรมที่มากั้นขวางไม่ให้บรรลุธรรมและสร้างทุกข์ใดๆทีหลัง

แม้จะเป็นคนโสดแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส คนโสดหลายคนนั้นมีการตั้งความหวังไว้ว่า วันหนึ่งฉันจะเจอคนที่ฝันไว้ คนโสดพวกนี้แม้ในตอนเป็นโสดจะยังทุกข์จากความอยากอยู่บ้าง แต่เมื่อวันหนึ่งที่วิบากกรรมเข้ามา ทำให้ได้พบกับ “ตัวเวรตัวกรรม” ก็อาจจะเปลี่ยนวิถีทางไปปฏิบัติในทางทุกข์มากก็เป็นได้

คนโสดที่คิดว่าจะโสดนั้น อาจจะมีหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้เลือกเป็นโสด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังดีกว่าคนมีคู่เพราะมีทุกข์น้อย แม้ว่ากิเลสที่มีอยู่ในตนนั้นจะไม่มากพอที่จะผลักดันให้ไปแสวงหาคู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถกำจัดกิเลสซึ่งเป็นเชื้อทุกข์ออกจากใจได้

โดยเฉพาะคนโสดที่มีอินทรีย์อ่อน ก็จะโสดไปแบบไม่เห็นโทษของความอยากในการมีคู่ เป็นโสดแบบไม่ได้พิจารณาธรรม เป็นโสดแบบไม่เห็นกิเลส ส่วนหนึ่งเพราะแรงกิเลสของเขาเหล่านั้นไม่ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจน จึงทำให้จับได้ยากและขาดการมุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้น

คนโสดเช่นนี้จึงพ้นทุกข์อย่างแท้จริงได้ยาก แม้ว่าจะมีทุกข์น้อยแต่ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็ยังเรียกว่าเชื้อแห่งทุกข์นั้นยังไม่ตาย ซึ่งกิเลสก็มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นได้ เมื่อคนโสดที่อินทรีย์พละอ่อนนั้นได้เข้าไปอยู่ในสังคมที่ส่งเสริมการมีคู่ บอกว่าการมีคู่นั้นดี บอกว่าการมีคนคอยสนองกิเลสให้นั้นเป็นสุข คนโสดที่มีอินทรีย์พละน้อยจึงมีโอกาสที่จะทนพลังของกิเลสไม่ไหว รับเอากิเลสนั้นมาเป็นของตน ค่อยๆสะสมกิเลส เพิ่มความอยากจนกระทั่งไปเวียนกลับไปอยากมีคู่ได้ในวันใดก็วันหนึ่ง

ดังนั้นคนที่โสดอยู่และไม่ได้รู้สึกว่าอยากมีคู่มาก จึงควรพัฒนาอินทรีย์พละของตนโดยการคบหาผู้รู้ธรรมที่พาไปสู่ความพ้นทุกข์ ศึกษาธรรมที่พาให้ทำลายความอยากมีคู่ และนำธรรมเหล่านั้นมาพิจารณาลงไปถึงต้นเหตุของความอยากคือกิเลส เพียรพิจารณาความจริงตามความเป็นจริง โดยใช้สติมาจัดการชำแหละให้เห็นกิเลสด้วยความตั้งมั่น และใช้ปัญญาที่มีพิจารณาธรรมเข้าไป จนเกิดผลเจริญไปโดยลำดับ

4). วิถีทางที่ทำให้ทุกข์น้อยและพ้นทุกข์ไว

คนที่เลือกเป็นโสดและยังมีกิเลสอยู่ แต่ด้วยความที่มีอินทรีย์มาก จึงสามารถที่จะหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ไม่ยากไม่ลำบากนัก

ยกตัวอย่างเช่น คนโสดที่เห็นคนมีคู่ทะเลาะกัน เห็นความทุกข์ของผู้อื่น และนำทุกข์เหล่านั้นมาพิจารณาทำลายกิเลสในตน ด้วยอินทรีย์ที่มาก จึงสามารถทำให้หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้เพียงแค่ใช้เหตุปัจจัยที่เล็กน้อย เหมือนกับใช้เชื้อเพลิงไม่มากก็สามารถทำให้เกิดไฟกองใหญ่ เผากิเลสให้เป็นจุลได้

…..สรุปแล้วทั้งสี่วิถีทางนั้นเป็นทางเลือกที่ถูกกำหนดไว้ด้วยปริมาณกิเลสและอินทรีย์ของแต่ละคน ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถเลือกสิ่งใดได้อย่างอิสระ แต่จะต้องปฏิบัติไปตามกรรมที่ทำมา ใครทำกรรมมาแบบใดก็ต้องไปในวิถีทางแบบนั้น และกรรมใหม่ที่ทำนั้นก็จะเป็นจุดเริ่มของวิถีทางในอนาคตต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

12.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ปฏิบัติธรรมไม่มาไม่ไป

May 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,347 views 0

การปฏิบัติธรรมนี่ถ้า “ไม่เห็นตัวกิเลส” จะปฏิบัติไม่ไปไหนเลยนะ ถ้าหลงไปว่า “ความคิด” นั้นคือรากของกิเลสยิ่งแล้วใหญ่ พาลจะไปดับความคิดให้มันวุ่นวายกันไปอีก

จุดที่ควรจะสนใจคือเหตุใดที่ทำให้เราเกิดความคิดนั้นๆ เราหลงเสพ หลงติด หลงยึดในอะไร ลากกิเลสที่ติดออกมาเป็นตัวๆเลย อย่าไปลากออกมาทั้งยวง ถ้าบอกว่า “ความหลง” แบบนี้มันกว้างเกินไป จัดการกิเลสไม่ได้หรอก

ต้องระบุให้ชัดเลยว่าหลงสุขใดตอนที่ได้สัมผัสสิ่งนั้น อย่างเช่นเรื่องการมีคู่ เราสุขตอนที่เขาบอกรัก จับตรงนี้ให้ได้ก่อนแล้ว ค่อยขุดหารากต่อไปอีกที

ถ้าหาเจอแล้วก็ค่อยพิจารณาธรรมกันไป ว่าสุขนั้นเกิดเพราะเรายึดมั่นถือมั่นอะไรไว้ จึงทำให้อยากได้อยากเสพสิ่งนั้น มาถึงขั้นตอนนี้ก็เพียรทำได้แล้ว จะสมถะหรือวิปัสสนาอะไร อัตราส่วนเท่าไหร่ก็แล้วแต่ความถนัด

(ที่กล่าวมาคือส่วนสรุปของ สติปัฏฐาน เพื่อไปสู่ธรรมวิจัยและวิริยะ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของโพชฌงค์ ๗)

= = = = = = = = = = =
**แนะนำบทความที่เกี่ยวข้อง

เหตุแห่งทุกข์