Tag: บัณฑิต

ทำไมจึงต้องวางตนให้พ้นและห่างไกลจากคนพาล?

February 20, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 731 views 0

พระพุทธเจ้าตรัสสอนเกี่ยวกับมงคลชีวิตไว้หลายประการ ประการแรกคือ ให้ห่างไกลคนพาล

เป็นปัญญาแรกของการเข้าสู่ความเป็นมงคล คือต้องรู้ว่านั่นคือคนพาล นั่นคือความพาล นั่นเป็นโทษ นั่นเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ให้ห่าง คือไม่เข้าไปคบหาหรือคลุกคลีกับคนพาล

เพราะคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษเป็นกำลังและยังชักนำให้เป็นไปในทางเสื่อม การเพ่งโทษของคนพาลคือ คบกันไป เดี๋ยวก็ชักนำให้ไปเพ่งโทษคนนั้นคนนี้ ดีไม่ดีสุดท้ายจะกลายมาเพ่งโทษถือสาเราเสียเอง การชักนำสู่ความเสื่อมคือ พาให้ผิดศีล ไม่สนับสนุนในการเพิ่มศีล ไม่เข้าหาธรรม พาหมกมุ่นอบายมุข ให้มัวเมาในกาม ให้หลงในอัตตา

ถ้าไม่มีปัญญาเห็นโทษของคนพาล ก็จะคลุกอยู่กับคนพาล นอกจากจะไม่พาพ้นทุกข์แล้ว เผลอ ๆ ยังไปติดธาตุแห่งความพาลเพิ่มขึ้นมาอีก

ดังนั้นอันดับแรกของการปฏิบัติตนสู่ความผาสุก คือห่างไกลคนพาลให้ได้ก่อน อันนี้ง่ายที่สุด ชัดที่สุด ก็เอาคนพาลที่เป็นบุคคลให้ชัดเจนก่อน

เพราะความพาลนี่มันแพร่กระจายได้ แทรกซึมได้ เลียนแบบกันได้ พระพุทธเจ้าท่านจึงให้ห่างมาก่อน

แล้วมาคบบัณฑิตต่อ จึงจะดำเนินไปสู่ทางเจริญ ไม่คบบัณฑฺิตนี่ปิดประตูเจริญเลย เพราะธรรมในศาสนาพุทธเรียนรู้เองไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนจะบรรลุธรรมต้องเริ่มจากคบสัตบุรุษเท่านั้น

ผมใช้หลักนี้ในการคัดคนเป็นหลักเลย ใครที่เขาดูเหมือนจะดีนี่ต้องดูว่าเขาคบใครเป็นบัณฑิต เขาถือใครว่าบัณฑิต เขายกให้ใครใหญ่กว่าเขา หรือเขาถือว่าใครเป็นคนพาล เขาห่างไกลใคร ก็ต้องพิจารณากันไป เพราะสมัยนี้คนพาลมาแสร้งว่าเป็นบัณฑิตเยอะ มันก็ต้องพิสูจน์

อย่างบางคนก็มีแต่ความอวดเก่ง แต่ไม่มีความจริง คือเก่งวาทะ อวดดี อวดรู้ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า โมฆะบุรุษนั้น เมื่อเรียนธรรม แม้จะรู้อยู่หลายสูตร แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากเอาความรู้ธรรมนั้นไปดูถูก อวดเบ่ง อวดดี หรือไม่ก็เอาไว้กันคนมานินทาเท่านั้นเอง

ยกเว้นน้อยท่านที่จะมีภูมิเก่ามามาก ท่านเหล่านั้นจะแสดงกำลังให้เห็นทั้งนามทั้งรูปว่ามีของจริง ถ้าเราสัมมาทิฏฐิ เราจะรู้ได้เองว่าสู้ไม่ได้ เพราะรูปก็จะเหนือกว่า นามก็จะเหนือกว่าอย่างถูกสมมุติ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน

อย่างเช่นที่ผมแจกแจงธรรมะในหมวดคนโสดคนคู่ คนที่เขาสัมมาทิฏฐิแต่ไม่มีภูมิเท่า เขาจะรู้ได้เองว่าเขาแจกขนาดนี้ไม่ได้ เขาไม่ละเอียดละออเท่า เขาจะรู้ว่าเขาไม่ชัดในสภาวะขนาดนี้ คนไม่รู้ธรรมจริงแจกสภาวะเป็นภาษาไม่ได้หรอก ให้แจกล่ะงงเป็นไก่ตาแตกเลย หรือไม่ก็พูดวน พูดมั่ว พูดไม่เต็มปาก ถ้าไม่เชื่อเอาหัวข้อที่ผมพิมพ์เด่น ๆ ไปขยายสิ เดี๋ยวผมจะติให้ เชื่อไหมว่าผมติเก่งกว่าผมพิมพ์อีกนะ เพราะตินี่มันง่าย หาจุดผิดนี่มันง่าย ยิ่งเราชัดในเรื่องไหน ๆ เราจะรู้จุดพลาดของเรื่องนั้น ๆ

เช่น ผมเผยแพร่ธรรมในหมวดคนโสดคนคู่ คนที่เขายังหลงผัวหลงเมียอยู่ ถ้าเขามีความเห็นถูกอยู่บ้าง เขาจะไม่กล้ามาแสดงความเก่งให้เห็นเลย เพราะเขาจะรู้ว่าเขาอยู่ในจุดด้อย น้ำท่วมปาก พูดไม่ออก พูดมาก็โดนสวน ผมก็ถามง่าย ๆ กลับนั่นแหละ ทำไมยังอยู่กับคู่? ยังมีประโยชน์อะไร? มีอะไรติดใจ? ไม่มีประโยชน์ใหญ่กว่านี้ให้ทำหรอ? กตัญญูผัวเมียมันดีกว่ากตัญญูพ่อแม่ตรงไหน? ฯลฯ เชื่อไหม ถาม ๆ ไปถ้าคนไม่มีภูมิถึง เขาจะหลุด เขาจะตอบไม่ได้ แล้วเขาจะโกรธ แต่ผมไม่ถามหรอก เพราะคนมีปัญญาเขาไม่มาสู้กับเราตั้งแต่แต่แรกแล้ว เราจะไปเปลืองแรงกับคนไม่มีปัญญากันทำไม

ถ้าคนเหนือกว่าเขาจะโชว์ภูมิให้รู้จักกัน ก็ไม่ยากหรอก เดี๋ยวเขาจะแสดงเพลงกระบี่เดียวกันที่ล้ำลึกกว่าให้เราได้เห็นเอง คือที่เราทำได้ เขาก็จะทำให้ดู และจะแสดงสิ่งที่เราทำไม่ได้เพิ่มเติมให้เราได้ศึกษาอีกด้วย คนที่เหนือกว่าเขาจะมีศิลปะในการแสดงตัวตนให้งดงาม หนักแน่น และน่าเลื่อมใส

ส่วนคนมิจฉาทิฏฐิก็ไม่รู้อะไรหรอก ดีไม่ดี พูดข่มเราเสียอีก สำคัญตนว่าเหนือกว่าเราเสียอีก ทั้ง ๆ ที่ทำอะไรก็ไม่ชัดเจน ก็มีเหมือนกัน

อันนี้เป็นมิติของคนพาลที่ล้ำลึกขึ้น คือเป็นคนพาล แต่แสร้งว่าเป็นบัณฑิต แสร้งว่าเป็นผู้รู้ เป็นกับดักที่ดักทั้งตัวเองทั้งคนอื่นไปในตัว

ดังนั้น ผมจึงใช้หลักนี้ในการประเมินข้อธรรม คนไม่เคยพบกัน ไม่เคยสัมผัสความจริงของกันและกันมันจะศึกษากันยาก เก่งสุดได้แค่สื่อภาษา การแจกแจงรายละเอียดนั่นแหละ คือการเผยให้ชัดเจนขึ้น บางทีมาเป็นข้อธรรม มาเป็นคำคม มันรู้ไม่ได้ชัด มันตรวจความจริงได้ยาก ว่าเป็นบัณฑิตจริงรึเปล่า เพราะจำมาก็มี เหมือนคำที่เขาว่า “พระใบลานเปล่า” รู้มากรู้หมดแต่เอาตัวไม่รอดก็มี

เพราะการจะศึกษา การจะช่วยเหลือ แบ่งปันเกื้อกูลกันนั้นต้องมีของจริง คือทำตัวให้เป็นตัวอย่างได้จริง จะมีกำลังมาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “บัณฑิตพึงทำตนให้ได้ในคุณอันสมควรก่อน แล้วจึงสอนผู้อื่นภายหลัง จะไม่มัวหมอง”

บางทีแจกมาก แต่เป็นลักษณะก็อบเกรด A ก็มีเหมือนกัน พูดเหมือนครูบาอาจารย์เป๊ะ ๆ แต่ลอกมาล่าโลกธรรม ก็มีเหมือนกัน ในกลุ่มปฏิบัติธรรมก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ

คนพาลจึงมีสองมิติใหญ่ ๆ คือพาลให้เห็นกันชัด ๆ กับแบบพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิต แม้สองประเภทนี้ ก็ควรจะห่างไกลเข้าไว้ เพราะคบไว้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

แล้วจึงหาบัณฑิตจริง ๆ คบบัณฑิตที่รู้ธรรมแจ่มแจ้ง ทำตนเองและได้ตามนั้นจริง บูชาบัณฑิตนั้นด้วยการปฏิบัติตาม จึงจะทำให้พ้นภัยและพ้นทุกข์

จุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรมคือ ห่างไกลคนพาล คบบัณฑิต เอาที่เป็นบุคคล ตัวตนเราเขา จริง ๆ นี่แหละ เพราะมันต้องอาศัยการพรากออกจากธาตุที่เลว และการศึกษาจากธาตุที่ดี จิตจึงจะเจริญได้ ต้องอาศัยรูปถึงจะเรียนรู้นามได้ ไม่ใช่นึกคิดหรือศึกษาด้นเดาเอาเองแล้วจะบรรลุได้

การติติงคนพาล

February 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 729 views 0

การติเตือนกันนั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการปฏิบัติธรรม แต่การติคนพาลแล้วหวังจะให้เกิดความเจริญนั้น ก็เหมือนการตำน้ำพริกละลายลงในโอ่งที่ใส่น้ำกินน้ำใช้ พาลจะมีภัยถึงตัวเปล่า ๆ ต้องดูบารมีตัวเองด้วย เขาไม่ศรัทธาอย่าไปเอาภาระ

คนพาลนั้นหมายถึง คนไม่มีศีลบ้าง คนเกเรบ้าง และยังหมายถึงคนที่โง่เขลาในธรรมด้วย

สังคมปะปนกันด้วยคนหลากหลาย การจะรู้และจำแนกความต่างคนนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลาศึกษากันนาน บางครั้งการจะรู้ก็เพราะพลาดไปติติงกันนี่แหละ

ส่วนของบัณฑิตนี่ไม่ต้องกังวลอะไร เพราะผู้ที่เป็นบัณฑิต มีปัญญา ฉลาดในธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่าบัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลัง ดังนั้น หากเราติบัณฑิต เราจะรู้ได้เลยว่าเราจะไม่มีภัย บัณฑิตจะไม่ทำร้ายเรา คือไม่ทำให้กิเลสเราเพิ่ม และจะช่วยให้เราลดกิเลสไปด้วยกัน

แต่ถ้าไปติคนพาล ตัวใครตัวมันล่ะคุณเอ๋ย บางทีเขาก็ไม่ได้สวนกลับทันทีหรอก แต่เขาจะสะสมความแค้นไว้ เพราะคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง บางทีเขาฝึกใจมาบ้าง ก็พอจะกดข่มได้เป็นพัก ๆ แต่พอติเข้ามาก ๆ ตบะแตกขึ้นมา อาจจะต้องย้ายที่อยู่หนีกันเลยทีเดียว

โดนคนพาลเพ่งโทษจองเวรจองกรรมคนเดียวก็ว่าแย่แล้ว แต่ที่แย่กว่านั้นคือคนเป็นสัตว์มีสังคม คนพาลเขาก็มีมิตรเป็นคนพาล เราติบัณฑิต ติถูก ติตรง บัณฑิตและเพื่อนก็สรรเสริญ ติผิดก็ไม่ถือสา แต่ถ้าไปติคนพาล จะติผิด ติถูก ติตรง ติแม่นแค่ไหน คนพาลก็จะถือสา เพ่งโทษ ผูกโกรธ แค่นั้นยังไม่พอ ยังมีเพื่อนคนพาลอีกชุด กลายเป็นว่ายกโขยงพากันเพ่งโทษเป็นหมู่ “รวมพลคนพาล” กันเลยทีเดียว

ใครอยากมีเจ้ากรรมนายเวรเยอะ ๆ ก็ให้ติไปตามใจ ตามที่เห็นควร ไม่ต้องประมาณ ไม่ต้องดูว่าคนไหนบัณฑิต คนไหนคนพาล

ส่วนใครอยากพ้นเวรพ้นกรรม ให้ห่างไกลคนพาล คบบัณฑิตไว้

จริง ๆ การไปติคนพาลก็คือการใกล้คนพาลนั่นแหละ ถ้าเรารู้แล้วว่าเขาผิดศีล ไม่เอาธรรมะ ไม่ปฏิบัติธรรมที่สมควรทำ เราก็เลิกยุ่งไปเลย ไม่ต้องไปเอาภาระ ไม่ต้องพยายาม เพราะขนาดพระพุทธเจ้ายังบอกให้ห่างไกลคนพาล แล้วจะเป็นมงคลชีวิต อันนี้คนที่เก่งที่สุดแล้วยังยืนยันแบบนี้ เราไม่ต้องไปฝืนไปพยายามหรือไปยึดดีให้มันเหนื่อยเลย

วิธีจัดการกับคนพาล คือไม่ต้องไปทำอะไรกับเขา ไม่ต้องยุ่ง ไม่ต้องติ ไม่ต้องชม ไม่ต้องสังเคราะห์อะไร ห่างไว้เป็นดี อย่าไปให้คุณค่า ให้ความสำคัญ

ถ้าเราไปให้ความสำคัญ คนพาลนี่เขามีกิเลสมากอยู่แล้ว อัตตาเขาจะโตในปริมาณที่มากกว่าคนดีทั่วไป คือถ้าเราไปเสริมกำลังให้เขา ความชั่ว ความผิดที่เขาจะทำ จะเติบโตได้มากกว่าที่เราคิด ดังนั้น การจะช่วยคนพาล ก็คือการไม่ให้อาหารความพาล ปล่อยให้ความพาลมันตายไป ไม่ต้องไปเลี้ยง เสียเวลา เสียทรัพยากร

รู้ตัวชัดแล้วหรือยัง คนพาล/บัณฑิต

February 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 859 views 0

แนะนำหนังสือครับ เล่มนี้อ่านแล้วรู้ชัดเลยว่าไหนคนพาล ไหนบัณฑิต รู้ทั้งตัวเองและคนที่ใกล้ชิดว่าที่เขาเรียกว่ามิตรนั่นน่ะมิตรแท้หรือมิตรเทียม

เล่มใหญ่ ๆ ราคา 70 บาท ลองค้น ๆ หา ๆ กันดู ถ้าหาไม่ได้ที่ธรรมทัศน์สมาคมที่สันติอโศกมีขาย จริง ๆ น่าจะมีขายอยู่ในหลาย ๆ เครือข่ายนั่นแหละ

เล่มนี้เขาคัดข้อมูลมาจากพระไตรปิฎก มีอ้างอิง ตามไปสืบค้นพระสูตรฉบับเต็มกันได้ อ่านง่าย เหมาะกับคนที่ต้องการความชัดเจน ไม่คลุมเครือ ถ้าเวลาเหลือ ผมยกมานำเสนอกันเป็นบท ๆ

คนไหนไม่ใช่มิตร คนไหนเป็นมิตร

February 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,058 views 0

อ่านเจอในหนังสือครับ จากหนังสือ “รู้ชัดตัวเองแล้วหรือยัง คนพาล/บัณฑิต” เป็นหนังสือสรุปเนื้อหาจากพระไตรปิฎกครับ เห็นว่าข้อนี้เอามาใช้ได้ครอบคลุมดี จึงทำภาพมาแบ่งกันครับ

อ่านเจอวิธีจำแนกมิตรและคนที่ไม่ใช่มิตรออกจากกัน บางทีมีคนเข้ามาในชีวิตเยอะแยะ เราก็ไม่รู้จะคัดอย่างไร ไม่รู้จะใช้หลักอะไร แต่พอมาศึกษาจากพระไตรปิฎก ก็จะมีจุดให้สังเกตได้ง่ายขึ้น

หลัก ๆ ของชีวิตนี่มันต้องมีมิตรดีไว้ก่อน แต่ก็ต้องดูด้วย บางคนเหมือนจะเป็นคนดีแต่ก็ไม่ใช่มิตร บางคนดูเหมือนจะเป็นมิตรแต่ก็ไม่ใช่คนดี ถ้าทุกคนมีความจริงใจ มันจะดูกันง่าย ไม่น่ากลัว

แต่ด้วยความที่คนสมัยนี้มีกิเลสมาก มีมารยามาก ยากที่จะดูได้ สมัยพุทธกาล ก็ยังมีพระเทวทัตปนมาในหมู่นักบวช สมัยนี้ย่อมมีเยอะกว่าเพราะไม่มีพลังความดีมาต้านคนชั่ว คนชั่วก็ปนเข้ามาเสพประโยชน์ของศาสนาเยอะมาก เพราะโลกธรรมในงานศาสนานั้นหอมหวาน

วิธีคัดคือเราปฏิบัติธรรมให้ได้ผลชัดเจนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วเราจะรู้จักคนชัดเจนยิ่งขึ้น มันจะมีคน 3 พวกคือ คนที่เห็นด้วยกับเรา คนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา และคนที่ไม่ได้สนใจใยดีเราหรือไม่รู้จักเรา เราก็เลือกที่เป็นธาตุใกล้ ๆ กันนี่แหละ เพราะเอาธาตุไม่เข้ากันมาอยู่ด้วยมันจะมีแต่เรื่องปวดหัว ก็ให้เขาอยู่ของเขาไป เราก็อยู่ของเรา

ยิ่งเราได้ เราชัดในวิธีการปฏฺิบัติของเราแล้ว เราไม่ต้องกลัวหรอก ที่เหลือก็แค่คัดศพออกจากทะเล คัดคนที่เป็นคนพาลออกจากชีวิต คัดผู้ไม่ใช่มิตรออกไปให้ห่างใจ