Tag: บทความความรัก

ทำไมถึงเลือกพิมพ์บทความเกี่ยวกับความรัก

January 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 633 views 0

เมื่อปีก่อนมีคนถามคำถามนี้มา ก็ตอบไปว่า “เพราะมันเป็นเหตุแห่งทุกข์ที่ร้ายมากขนาดที่คนฆ่ากันตายได้” ก็ตอบไปสั้น ๆ ประมาณนี้

ก็คงจะมาพิมพ์ขยายกันเพิ่มว่าทำไม ผมจึงเลือกพิมพ์บทความความรักมากมายในช่วงนี้

ช่วงหลายปีก่อนเป็นช่วงที่มีบทความหลากหลาย การไม่กินเนื้อสัตว์ ชีวิตความเป็นอยู่ การปฏิบัติธรรม ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ แต่มาช่วงสุดท้ายของปี 62 จนมาถึงวันนี้ กลับดูเหมือนเน้นแต่เรื่องความรัก

นั่นก็เพราะผมเลือกว่าถ้าเราสังเคราะห์สิ่งนี้น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด เพราะมีคนทำน้อย เรื่องไม่กินเนื้อสัตว์เขาก็ทำกันเยอะแยะ ก็ไม่ต้องไปปรุงกันมากนัก เราก็เลือกที่เราทำได้เด่น ๆ อันนี้มันเป็นความถนัดเฉพาะทางด้วย มันพิมพ์แล้วมันไปได้ มีคนอ่าน ถือว่าทำออกมาแล้วขายออก ก็ทำอันนี้ แม้จะมีแบบอื่นที่ทำได้อีก แต่ก็เอาอันนี้แหละ เรื่องความรักแบบนี้แหละ ไม่ค่อยมีคนทำเลย มาลดโลภ โกรธ หลง ในความรัก หาอ่านไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่ก็มีแต่จะพาเพิ่ม โลภ โกรธ หลงในความรักเสียมากกว่า

มีคนเขาถามว่าสิ่งที่เราพิมพ์นั้นมาจากความคิดหรือประสบการณ์ ก็จะตอบว่าทั้งสองอย่าง

ถ้าจะนิยาม ความคิด ว่าคือการคิดด้นเดาเอาเอง อันนั้นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะความลึกซึ้งในธรรมะนั้นคิดหรือเดาเอาเองไม่ได้ นั่งเทียนเขียนก็เขียนไม่ได้ ถ้าไม่มีสภาวะมันจะเขียนไม่ออก เก่งภาษาแค่ไหน ก็จะสื่อสารไม่มาไม่ไป มันจะวน ๆ งง ๆ ไม่แม่นเป้า ไม่ตรงประเด็น ไม่ตรงกิเลส

ไม่เชื่อลองดูก็ได้ มีหัวข้อให้ เป็นเรื่อง ๆ ใช่ว่าคนปฏิบัติธรรมเขาจะเขียนออก หรือถ่ายทอดได้กันทุกคนเสียที่ไหน มันต้องมีผลจากการปฏิบัติเป็นหลัก แล้วปรุงตามเหตุปัจจัยของโลก สังเคราะห์ความคิดขึ้นมาว่าถ้าเหตุแบบนี้เราจะทำอย่างไร จะแก้ไขปัญหาอย่างไร อันนี้เป็นความคิดที่มีหลักว่าต้องพาไปสู่ความพ้นทุกข์ พ้นโลภ โกรธ หลงในความรัก

ก็มีอยู่บ้าง ที่เขาอาจจะจำมา เรียนมา ศึกษามา แต่ถึงเวลาใช้จริงมันจะแข็ง ขาดความพริ้ว หรือขาดมุทุธาตุ ที่เป็นความแววไวของจิต มันจะเป็นบล็อก ๆ เป็นความรู้ชุด ๆ เหมือนนักรบที่ฝึกกระบวนท่าเป็นชุด ๆ แต่ประยุกต์ไม่ได้

ส่วนประสบการณ์นี้ก็ต้องตอบว่ามีพอหากิน การเรียนรู้ของคนนั้นวัดด้วยเวลาเท่าที่เห็นได้ยาก คนแต่ละคนมีความไวในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่สะสมมาข้ามภพข้ามชาติ จะลองให้คนแก่ที่ผ่านรักมามากมายหลายครั้งมา เล่าเรื่องแจกแจงกิเลสอย่างผมก็ได้ ผมไม่เชื่อหรอกว่า คนที่ผ่านเวลามามากมาย ผ่านรักมาหลายครั้ง จะมีความชัดเจนแจ่มแจ้งในเรื่องกิเลสได้โดยที่ไม่ได้ปฏฺิบัติธรรมอย่างถูกตรง

ญาณปัญญาคือผลจากการปฏิบัติ การเรียนรู้ในมิติที่มีปัญญาจะต่างไปจากมิติของคนที่จมอยู่กับกิเลส ทุกเรื่องราว เหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาจะถูกแปรสภาพเป็นปัญญา เป็นการรู้โลกที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ต่างจากคนที่ยังจมอยู่กับกิเลส เมื่อมีเรื่องราวหรือสิ่งกระทบ ก็จะไหลไปทางใดทางหนึ่ง ไม่ชอบก็ชัง ไม่รักก็เกลียด พอไปทางโต่งสองด้าน ปัญญามันก็ทึบ ถึงจะผ่านเวลาไปนานเท่าไหร่ แต่ถ้ากิเลสยังครอบงำอยู่ การเรียนรู้ที่ถูกตรงก็จะไม่เกิดขึ้นเลย

ส่วนถ้าถามว่าได้สิ่งเหล่านี้มาได้อย่างไร ที่ได้ความรู้เหล่านี้มาเพราะมีครูบาอาจารย์ที่ดี ที่ท่านปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างให้เราได้พึ่งพาอาศัยเรียนรู้จากท่าน พอตั้งใจปฏิบัติตาม มันจะได้ความรู้ชุดหนึ่งมาจากท่าน และความรู้อีกชุดหนึ่งจากผลการปฏฺิบัติของเรา บวกกับความรู้ที่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จากการที่เราสังเคราะห์กับผู้คน เหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกนี้

ผมพิมพ์เรื่องความรักมานานหลายปี การทบทวนธรรม การแสดงธรรมนั้นเป็นวงจรที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายรอบ พระพุทธเจ้าตรัสว่าการทบทวนธรรม และการแสดงธรรมนั้น เป็นองค์ประกอบในเหตุแห่งการหลุดพ้นจากกิเลส ๒ ใน ๕ ประการ ดังนั้น ยิ่งทบทวน ยิ่งพิมพ์ ยิ่งเผยแพร่ มันจะมีปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบันก็ยังไม่หยุด ก็ยังคิดว่าตนเองยังไม่เก่งหรอก มันก็มีเหลี่ยมมุมใหม่ ๆ มาให้เรียนรู้เพิ่ม ก็ฝึกย่อ ฝึกขยายกันไป บางทีมันต้องย่อให้มันกระชับ ก็ต้องฝึก บางทีมันสั้นไปมันก็จะเข้าใจยาก ก็ต้องขยายกัน ก็ฝึกไปเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวผมเอง ส่วนคนมาอ่านแล้วเขาได้ประโยชน์ ก็เป็นความลงตัวของความดีที่ได้ทำร่วมกันอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเขาเห็นว่าดี เดี๋ยวเขาก็เอาไปลองทำเอง ถ้าเขาทำแล้วดี ก็คงจะเหมือนกับผมที่ทำตามอาจารย์แล้วผลมันออกมาดี พ้นทุกข์ เราก็เลยเอาไปบอกคนอื่นต่อว่ามันดี นั่นเอง

รักแท้ ในมุมมองของดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

November 27, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,130 views 1

รักแท้ ในมุมมองของดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มีคำถามเข้ามา ประมาณว่าผมเขียนบทความเรื่องความรักนี่มาก็มากมาย แล้วเคยมีรักแท้แบบชายหญิง บ้างไหม?

ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ผมคิดว่า น่าจะเป็นคำถามของหลายคน เพราะความจริงผมเองก็ไม่เคยเปิดเผยเรื่องเหล่านี้เลย ในบทความนี้ก็จะมาตอบข้อมูลบางส่วนของประสบการณ์ความรักของผม

ตอบ … ความรักระหว่างชายหญิง ผมก็เคยมีครับ เคยรัก เคยมีแฟนเหมือนกับคนทั่วไปนั่นแหละครับ แต่จะให้ผมเรียกมันว่ารักแท้ไหม? ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ครับ และผมไม่เชื่อด้วยครับว่าความรักที่ผูกพันด้วยความเป็นหญิงและชายในโลกใด ๆ จะมีรักแท้ นิยามของคำว่า “รักแท้” ของผมตอนนี้มันสะอาด บริสุทธิ์กว่าที่จะเอาเรื่องชาย – หญิง มาปนครับ ผมเชื่อว่ารักที่มีกิเลสปนเป็นส่วนประกอบ ไม่สามารถเรียกว่ารักแท้ได้ครับ มันเป็นเพียงความหลงเท่านั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ผมจะมาขยายนิยาม คำว่า “รักแท้” ในหลาย ๆ มุมให้อ่านกันครับ

1.รักแท้อบายภูมิ รักแท้ผีเปรต

เป็นรักแท้แบบแปะป้ายให้คนเข้าใจผิด เป็นรักปลอม  ๆ ที่แม้จะดูออกได้ง่าย ก็ยังทำให้คนจำนวนหนึ่งหลงไปได้ เช่นหลงไปรัก   ไปคบหา ไปแต่งงานกับคนชั่ว พวกหลอกลวง ฯลฯ หรือแม้แต่การเข้ามารักเพื่อทรัพย์สิน ยศศักดิ์ ชื่อเสียง ความสุข ฯลฯ ก็เป็นความรักแท้แบบหลอก ๆ เพราะใช้ “สิ่ง” ต่าง ๆ  เป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งสิ่งที่จ่ายไปไม่ใช่ความรัก อารมณ์ หรือทัศนคติใด ๆ แต่มักจะเป็นเปลือกที่ห่อหุ้มคนเหล่านั้นไว้ คนที่เขาหลงไปรัก ไปคบหา ไปแต่งงาน ทุกคนก็หลงว่าเป็นรักแท้กันหมด ถ้าเขาจะนิยามว่ารักแท้เป็นอย่างไร? เขาก็จะบอกว่าต้องเป็นแบบที่เขามีนั่นแหละคือรักแท้ ตอนนั้นเขาหลงเชื่อแบบนั้นจริง ๆ  พอโดนกิเลสหลอก มันก็เห็นของเก๊กลายเป็นของแท้ได้จริง ๆ

2.รักแท้โลกียะ

รักแท้โลกียะ คือรักโง่บริสุทธิ์ คือความหลงมัวเมาแบบไม่ลืมหูลืมตา หลงยึดมั่นถือมั่นว่าเขาเป็นของเรา แล้วก็เสพสุขกับความ “ได้ดั่งใจ” ในหลากหลายมิติ ทั้งในมุมของกาม และในมุมของอัตตา ในมุมกามก็ได้เสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสก็หลงสุขใจ ยินดีในรสนั้น ๆ ว่าถ้ามีให้เสพตลอดไปนี่แหละจึงเรียกว่ารักแท้ ในมุมอัตตา เช่น ได้ควบคุม ได้บงการ ได้ทาส ได้ผู้ซื่อสัตย์ ที่จะคอยรัก คอยเอาใจ คอยดูแล คอยบำเรอตนตลอด หรือแม้กระทั่งรักตนตลอดไป ไม่ยอมเปลี่ยนไปไหน ยึดมั่นถือมั่นแต่เฉพาะตน ไม่หันไปมองใคร ดูแลกันจนแก่เฒ่า รักกันจนวันตาย บูชาความรักที่มีฉันเป็นศูนย์กลาง อันนี้คนเขาก็เรียกกันว่ารักแท้เหมือนกัน

รักแท้ในมุมโลกียะนี้ เรียกได้ว่า แค่มีศีล ๕ ก็ประเสริฐนักหนาแล้ว เป็นสิ่งที่คนแสวงหามาครอบครอง ใครเขามีรักก็อยากให้รักคงอยู่นาน ๆ ให้คู่ของเขามั่นคง ตลอดไป ไม่เปลี่ยนแปลง อันนี้ก็เป็นความเห็นผิด เป็นความวิปลาสของจิตในความรักแบบโลกียะ ที่พอใจอยู่กับสุขลวงเพียงเท่านี้ แม้จะมีสุขน้อยทุกข์มาก เพียงแค่ได้เสพสุข ได้ยินดีพอใจในสุขแม้น้อยนั้น คนเขาก็ยังเรียกว่ารักแท้กัน

3.รักแท้กัลยาณธรรม

ขยับดีขึ้นมาหน่อย จากรักแท้แบบโลกียะ หรือแบบโลก ๆ ทั่วไป พอขยับฐานขึ้นมาก็จะกลายเป็นรักแบบคนดี แบบคนมีศีลมีธรรม คือพยายามจะพากันเจริญ พยายามจะพราก พยายามปฏิบัติศีล ประพฤติพรหมจรรย์ พยายามที่จะละเว้นจากการสมสู่ พากันเข้าวัด ปฏิบัติธรรม แบบนี้คนในสังคมโลกีย์ เขามองเข้ามา เขาก็ไม่อยากได้ เพราะมันได้เสพน้อย รสมันไม่จัดเท่าแบบโลกีย์ แบบนี้มันจะจืดลงมา ทั้งรสกามและรสอัตตา แต่มันก็ยังมีอยู่ ถึงแม้จะมีความอยากความยึดปนอยู่เช่นนั้น หลายคนก็ยังนิยามรักห่วย ๆ แบบนี้ว่ารักแท้ได้เหมือนกัน

ทำไมถึงเรียกว่าห่วย? เพราะมันยังทุกข์อยู่ยังไงล่ะ เพราะดีกว่านี้มันยังมีอยู่ยังไงล่ะ เพราะสิ่งที่ดีกว่ามันดีกว่านี้จนเทียบกันไม่ได้เลย รักแบบนี้ถึงจะยังมีอยู่ ก็ยังเป็นหนามในใจ ยังผูกพัน ยังยึดมั่น ยังดึงรั้น ยังอยากได้ดั่งใจอยู่ ที่สำคัญ นิยามรักแท้แบบนี้ ยังคงต้องอาศัยสภาพของคนคู่อยู่ คือยังต้องมีคู่ถึงจะเรียกว่ารักแท้ ต้องมีตัวกระทบ ต้องมีตัวบำเรอความสมบูรณ์แบบ ต้องมีสิ่งที่จะมายืนยันว่ารักฉันนี่แท้ ฉันประคองรักให้เจริญได้ มันต้องมีคู่มาเป็นหลักฐาน ไม่มีคู่เขาไม่เรียกว่ารักแท้ สรุปก็คือมันก็ต้องมีใครสักคนหนึ่ง ที่ซวยสุด ๆ ต้องมารับบทเจ้าชาย เจ้าหญิง ประคองรักอันหาสาระแท้ไม่ได้นี้ ไปด้วยกัน ทั้ง ๆ ที่ในมุมของความผาสุกแท้ในชีวิต ในความเห็นของบัณฑิต การมีคู่ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจเลย ซ้ำยังเป็นดงขวากหนามให้กับทางแห่งความเจริญของชีวิตอีกด้วย ต้องคอยเติมรัก ต้องคอยประคอง ต้องคอยเอาใจ ต้องคอยดูแล สิ่งนี้คนทั่วไปเรียกว่าสุข เขาเรียกว่ารักแท้ แต่บัณฑิตจะเรียกว่าทุกข์ เรียกว่าภาระ เรียกว่าความหลง

ความรักทั้ง 3 ข้อแรกจะจัดอยู่ในฝั่งของโลกียะ แต่ก็มีระดับของความหยาบ ไปจนละเอียดแตกต่างกันออกไป

4.รักแท้โลกุตระ

รักกันจนมาถึงขั้นนี้ได้ ต้องเรียกว่า “รักเหนือโลก” เป็นรักแท้แบบที่คนทั่วไปไม่รู้จักแล้ว ส่วนใหญ่เขาไม่เรียกว่ารักแท้กันด้วยซ้ำ ทั้งที่จริง โดยความบริสุทธิ์แล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรค่าอย่างยิ่งต่อคำนิยามว่า “รักแท้

รักแท้โลกุตระมีสภาพเป็นเช่นไร?  มันเป็นรักที่ไม่มีบุคคลมาคอยรองรับความแท้ แต่มันแท้ในตัวของมัน เป็นรักที่ใส ๆ ปราศจากอคติ ลำเอียง ไม่เทไปให้ใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ไม่ผลักใครคนใดคนหนึ่งจนเกินงาม คืออยู่ในขีดที่ให้เพื่อการขัดเกลาเพื่อความเจริญ แต่ไม่เลยไปจนถึงอกุศลหรือบาปใด ๆ จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น จากในพระไตรปิฎกมีการกล่าวถึงจิตของพระพุทธเจ้านั้นเสมอกันแม้ในพระราหุล (ลูกชาย) หรือพระเทวทัต (ผู้ที่อาฆาต จองเวรพระพุทธเจ้ามาหลายชาติ) ตลอดจนคนอื่น ๆ (จากบท:อุปาลีเถราปทาน)

ความรักที่ไม่หวั่นไหว ไม่เปลี่ยนแปลง เที่ยงแท้ แน่นอน ยั่งยืนตลอดกาล ก็เห็นจะมีแต่รักที่ไร้กิเลสเท่านั้น ส่วนรักอื่น ๆ ที่ยังปนด้วยความโลภ โกรธ หลง เต็มไปด้วยตัวเราเป็นของเราแบบนี้ ตัวเธอเป็นของฉัน เราเป็นของกันและกัน รักพวกนี้ก็เป็นของเก๊ ไม่เที่ยงแท้ แปรเปลี่ยน เวียนกลับ ไม่มั่นคงเป็นธรรมดา แม้จะแปะป้ายว่ารักแท้ ผูกโบว์สวยสด ยกขึ้นหิ้ง เชิดชูให้เป็นผู้มีรักแท้ยอดเยี่ยมของโลก แต่ถ้าจิตใจเขายังเหลือเชื้อกิเลส กิเลสแปลว่า ไม่เอาธรรมะ แปลว่าไม่เอาสิ่งดี เดี๋ยววันหนึ่งมันก็แปรกลับ เป็นทุกข์ เป็นทิ้ง เป็นสารพัดเป็นที่จะเป็นเหตุให้คนที่ยึดมั่นถือมั่นได้เป็นทุกข์ เศร้าโศก คร่ำครวญ รำพัน ฯลฯ อยู่ร่ำไป

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของรักโลกุตระ “ความไม่เบียดเบียน” ต่างจากรักหัวข้ออื่นที่ยกมาก่อนหน้านี้ เพราะมันจะมีความเบียดเบียนปนอยู่ในชีวิตจิตใจด้วยเสมอ ความเบียดเบียนนี้คืออะไร คือมีแล้วทำให้ทุกข์ กังวล ระแวง หวั่นไหว กลัว เกลียด สารพัดอารมณ์หม่นหมองที่จะเกิดขึ้น แต่รักโลกุตระ ที่ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นใคร ๆ เลย ก็จะไม่มีอารมณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น เพราะความรักนั้นไม่ได้เทลงไปที่ไหนเป็นพิเศษ ตรงไหนต้องการก็ให้เท่าที่เป็นกุศล เต็มก็หยุด สุดก็พอ แล้วก็ปล่อยวางไปตามที่ควรมีควรได้

พอคนพัฒนามาถึงรักโลกุตระ จะพ้นพันธนาการจากสภาพยึดมั่นถือมั่นหรือสำคัญมั่นหมายในความเป็นคู่โดยสมบูรณ์ คือจิตไม่ไปยึดถือสิ่งนั้นอีกต่อไป เพราะรู้ว่ามีจิตที่ดีกว่า เบากว่า สบายกว่า เป็นประโยชน์กว่าแบบเดิม แบบเทียบกันไม่ได้ ไม่มีใครเวียนกลับไปสนใจรักปลอม ๆ รักโง่ ๆ หรือรักห่วย ๆ อีกต่อไป อันนี้มันก็เป็นผลของการปฏิบัติ จะเดาเอาก็คงไม่ได้ เดาก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่มีทางมีความเห็นตามนี้ได้ แม้จะมีตัวอย่างจากพระพุทธเจ้าหรือพระเถระต่าง ๆ ก็ใช่ว่าคนดี ๆ เขาจะยินดีทำตามนิยามความรักแบบนี้ เขาก็ไปยึดถือเอาแต่ที่เขาพอใจนั่นแหละ ว่าดี ว่าเลิศ ว่าถูก ว่าใช่ ว่าจริง

ความแท้ในมุมของความรักในโลกนี้จริง ๆ คือ ไม่มีใครเป็นของของเราได้ตลอดไป และสภาพรักในใจเราไม่สามารถดำรงอยู่ในค่าเดิมได้ตลอดไป อันนี้คือความจริงที่แท้ที่สุด เพราะมันคือความ “ไม่เที่ยง” ความไม่เที่ยงนี่แหละจริง พอคนไปยึดกับสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้น ๆ คือไปยึดกับความรักที่คิดว่าแท้นั้น  แล้วมันแปรเปลี่ยน มันก็เป็นทุกข์ นั่นเพราะเราไปมีตัวตน ไปยึดว่าเราต้องสุขเพราะแบบนั้น เขาต้องเป็นของเราแบบนั้นถึงจะสุข เราต้องมีกันและกันแบบนั้นถึงจะใช่ พอมันไม่ใช่ตัวตนที่ตนยึด มันแปรเปลี่ยนไป มันก็ทุกข์ เพราะมันหลงยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นสภาพของเรา

สุดท้ายใครพอใจแบบไหนก็ทำไป ก็ให้เวลาและความทุกข์ได้ตอบว่าจริง ๆ แล้ว ในความแท้นั้น สิ่งใดเล่า เป็นสิ่งที่แท้กว่ากัน สิ่งใดน่าอาศัยกว่ากัน สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อตนเองมากกว่ากัน สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสัตว์อื่นมากกว่ากัน ก็คงต้องศึกษากันไปตามทางของแต่ละคน

26.11.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์