Tag: ความรัก

ความมัวเมาในรสรัก

August 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,970 views 4

ความมัวเมาในรสรัก เมื่อความหลงผิด ทำให้หลงสร้างบาป ท่ามกลางความหลงสุข

การที่คนเรานั้นไปหลงมัวเมากับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นอกจากจะสร้างภัยอันน่ากลัวให้กับตนเองแล้ว ยังเป็นเหตุให้ผู้อื่นพากันหลงผิด และนั่นคือบาปที่จะย้อนกลับมาเล่นงานผู้ที่หลงมัวเมานั่นเอง

คนที่หลงในความรักนั้น นอกจากที่เขาเหล่านั้นจะเสียเวลาที่สำคัญในชีวิตไปกับการหลงสุขในการมีคู่ ไปหลงสร้างบาป คือการเพิ่มกิเลสให้กับตนเองโดยแลกกับการเสพสุขลวงแล้ว เขาเหล่านั้นก็ยังเป็นสื่อให้ผู้อื่นได้หลงผิดมาเห็นดีเห็นงามกับเรื่องทางโลกด้วย

คนที่หลงในความรักนั้น บางคนก็หลงกันอยู่นานหลายปี สิบปี ยี่สิบปี หรือตลอดชีวิต และตลอดเวลาแห่งความหลงนั้น เขาก็ได้เป็นทูตแห่งความหลงที่คอยเผยแพร่ความเห็นที่ว่า การมีคู่นั้นดี การได้มีความรักนั้นดี การมีคนดูแลเอาใจนั้นดี ฯลฯ แต่ถึงแม้จะไม่ได้แสดงออกหรือเผยแพร่ความเห็นใดๆเลยก็ตาม แค่เพียงความเป็นไปของเขาเหล่านั้นก็ได้แสดงให้คนที่ไม่รู้เดียงสา ได้เห็นว่าการมีคู่นั้นน่าจะมีความสุขจริงอย่างที่ใครเขาว่า

เป็นบาปของคนมีคู่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เรายั่วกิเลสคนอื่นตั้งแต่เราคบหาเป็นแฟนกับคู่ของเรา ทำให้ผู้อื่นอิจฉา อยากได้อยากเสพบ้าง เรายั่วกิเลสคนอื่นมากขึ้นไปอีกเมื่อเราแต่งงาน ทำให้คนอื่นอิจฉา อยากได้อยากเสพมากขึ้นไปอีก และเรายั่วกิเลสคนอื่นยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆเมื่อเราสร้างของรักใหม่ที่เรียกว่าลูก แสดงให้เห็นว่ารักนั้นได้เสพอะไร ให้เห็นว่ารักนั้นเป็นสุขอย่างไร ให้เห็นว่ารักนั้นเที่ยงแท้ยืนนานอย่างไร โดยผ่านความเป็นไปที่เราได้แสดงออกมาในชีวิตประจำวัน แต่ทั้งหมดนั้นกลับไม่ใช่ความจริงเลย

ด้วยความหลงในสุขของเรา หลงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี เราจะไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการมีคู่ การอวดคู่ หรือการบูชาความรักที่เกิดจากความหลงนั้นเป็นโทษภัยอย่างไร ความหลงทำให้เราไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ แต่ทำให้เราเห็นกงจักรเป็นดอกบัว จึงทำให้คนที่หลงในการมีคู่นั้นภูมิใจในสถานะที่ตนเองมี เพราะหลงเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ดี

ถ้าเราคบหากันไป 10 ปี เราก็สร้างวิบากบาป กลายเป็นตัวอย่างของคนที่หลงสุขในกิเลส ให้คนอื่นเอาอย่างไป 10 ปี ถ้าเราคบไปร้อยปีก็เป็นตัวอย่างไปร้อยปี หลงนานเท่าไหร่ก็สร้างบาปให้ตัวเองและผู้อื่นมากเท่านั้น

ทีนี้คนที่มีคู่แล้วไม่ใช่ว่ารู้ถึงโทษภัยผลเสียต่างๆแล้วจะออกกันได้ง่ายๆ การเลิกกันด้วยความไม่ยินยอมทั้งสองฝ่ายไม่ใช่สิ่งที่ดี แต่การไม่ผูกพันกันด้วยความหลงเป็นสิ่งที่ดี คนที่มีคู่นั้นจะมีขอบเขตในการทำกุศลที่จำกัด แม้จะพากันออกจากความหลง ไม่สร้างอกุศลกรรม พากันถือศีล ไม่สมสู่ ไม่แตะเนื้อต้องตัว ไม่พูดจากันด้วยคำหวานของกิเลส ไม่เอาแต่ใจเพราะความยึดติด แม้จะทำได้ดีขนาดนั้น แต่ก็ยังจะเป็นตัวอย่างให้คนหลงติดหลงยึดในความเป็นคู่อยู่ดี เพราะคนดีที่มัวเมาในความเป็นคู่รักก็ย่อมจะอยากได้คู่รักที่ดีเป็นตัวอย่าง

ดังนั้นการเป็นโสดแต่แรกจึงดีที่สุด ไม่ต้องไปผูกให้ต้องลำบากมาแก้กันทีหลัง เพราะเมื่อมีคู่ไปแล้ว มันผูกพัน มันแก้กันไม่ง่าย ถึงจะตัดทันทีก็จะมีวิบากกรรม แม้จะใช้ความติดดียึดดี เลิกกัน อย่าร้างกัน แต่กรรมก็จะไม่ยอมอย่างนั้น ถ้าอีกฝ่ายยังหลงในความรัก เขาก็ยังจะจองเวรจองกรรมกันข้ามภพข้ามชาติอยู่ดี ดังนั้นคนที่มีคู่จึงไม่สามารถตัดความเป็นคู่ออกได้ง่ายๆแม้จะปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแค่ไหนก็ตาม

และเมื่อเขาเหล่านั้นยังมีภาพลักษณ์ของคนคู่ที่สวยงามอยู่ ก็จะเป็นสื่อให้คนที่หลงนั้น อยากได้อยากเสพในภพของคนดี อยากมีคู่รักแบบคนดี เช่นเดียวกับเขาเหล่านั้น ดังนั้นจึงหนีไม่พ้นความเป็นสื่อแห่งบาป ที่จะต้องมารับวิบากบาปในภายหลัง เกิดมาชาติหน้าก็ต้องโดนคนอื่นเขามอมเมาว่ามีคู่แล้วทำดีด้วยกันได้ มีคู่แล้วพาเจริญด้วยกันได้ มีคู่แล้วปฏิบัติธรรมด้วยกันได้ ก็เลยหลงไปมีคู่ สุดท้ายก็ติดบ่วง ซ้ำไปซ้ำมา เป็นความเมาในรสรักที่ให้ผลสืบเนื่องหลายต่อหลายชาติ ต้องรับทุกข์ สร้างอกุศล สร้างบาปกันอย่างไม่จบไม่สิ้น

จนกว่าจะทุกข์จนเกินทน จนกว่าจะเห็นว่าการหลงมัวเมาในรสรักเหล่านั้นสร้างทุกข์ โทษ ภัย อย่างไร จึงค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นภพคนโสด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะออกได้ง่ายๆขนาดนั้น แม้จะเกิดชาติไหนก็จะมีคนมายั่วกิเลส เอาความรักในอุดมคติมานำเสนอ เป็นคนดีก็มีความรักได้ พากันเจริญได้ ฯลฯ อีกทั้งคู่เวรคู่กรรมที่จ้องจะเข้ามาลากไปลงนรกกันทุกภพทุกชาติ

สรุปแล้วคนมีคู่ก็ต้องเรียนรู้ความจริงตามความเป็นจริงและรับกรรมตามที่ตัวเองก่อไว้ต่อไป ส่วนคนโสดก็เป็นโอกาสที่จะคิดทบทวน ตัดสินใจว่าจะเอาไหม? จะดีไหม? สุขลวงแป๊ปเดียวทุกข์ชั่วกัปชั่วกัลป์เลยนะ ผูกนิดเดียวต้องตามไปแก้กันทุกภพทุกชาติเลยนะ จะเอาไหม? จะลองไหม? มันทุกข์มากนะ มันเป็นสุขลวงแต่นรกจริงๆนะ ยังจะเอาอีกหรือ?

– – – – – – – – – – – – – – –

23.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

รักแท้คือการเสียสละ

August 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 15,581 views 2

รักแท้คือการเสียสละ

การเสียสละคือนิยามหนึ่งของคำว่า “รักแท้” ที่หลายคนมักจะหยิบยกมาใช้ แต่จะเสียสละอย่างไร เสียสละแบบไหนจึงจะเรียกได้ว่าเสียสละเพื่อรักแท้ ลองพิจารณาบทความนี้กันดู

หากเราเสียสละเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งการครอบครอง สิ่งนั้นไม่เรียกว่าเสียสละ แต่เรียกว่าการลงทุนโดยหวังผลกำไร มีคนมากมายที่เสียสละเพื่อที่จะสร้างภาพให้อีกฝ่ายหลงเข้าใจว่าจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป ซึ่งความเสียสละเช่นนั้นก็มักจะหมดไปเมื่อไม่ต้องการครอบครองสิ่งนั้นอีก อาจจะเกิดจากความเบื่อ ความเคยชิน หรืออะไรก็ตามที่ทำให้ไม่มีสิ่งผลักดันให้เสียสละ

หากเรามองเพียงแค่ว่าการเสียสละนั้นเป็นสิ่งดี เราก็อาจจะถูกกิเลสหลอกก็ได้ จึงควรศึกษาและค้นให้ลึกว่าที่เราและเขาเสียสละนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะอยากได้อยากเสพอะไรจึงพยายามเสียสละเช่นนั้น

ความเสียสละแท้จริง คือการเสียสละความสุข เพื่อความไม่ทุกข์ใดๆทั้งปวง

เสียสละการครอบครอง ยินดีที่จะเมตตาโดยไม่ต้องไปมีสิทธิ์ใดในร่างกายและจิตใจของผู้อื่น

เสียสละการผูกมัด เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระไม่ต้องผูกพันกันด้วบภพชาติอีกต่อไป

ผู้ที่เสียสละตัวตนได้อย่างแท้จริง คือผู้ที่มีรักแท้ ยอมไม่หลงเสพหลงสุข เพราะรู้ดีว่าท้ายที่สุดแล้วนั้นคือทุกข์อย่างมหันต์ ยอมไม่ครอบครองเพราะรู้ดีว่าจะกลายเป็นทุกข์ของกันและกัน ยอมไม่ผูกมัดใดๆ เพราะรู้ว่าอิสระคือสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่า

เพราะรู้ดีว่าแม้จะเป็นความรักที่ดี มีว่าที่คู่ครองที่ดีแสนดีเพียงใด แต่การผูกมัดกันด้วยคำหวานและคำสัญญาเหล่านั้น คือสิ่งที่จะทำร้ายกันไปชั่วกาลนาน

ในเมื่อรักแท้คือการเสียสละ เราจะต้องอยากได้อะไรอีก เราเป็นเพียงผู้ให้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องได้รับอะไร สละให้ ยกให้ ทำให้ โดยไม่ต้องหวังอะไรตอบแทน ไม่หวังคำขอบคุณ ไม่หวังความเห็นใจ ไม่หวังแม้ความรักตอบ ไม่หวังสิ่งใดคืนกลับมาเลย นับประสาอะไรกับการครอบครอง ซึ่งก็คงจะเป็นสิ่งที่ห่างไกลสำหรับผู้ที่เสียสละอย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

27.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

August 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,060 views 0

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

ความรักที่คิดจะครอบครองนั้น เป็นเหตุให้เราสร้างบาปและเป็นทุกข์ได้เสมอ เป็นทั้งการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อความสุข ความเจริญ หรือการพ้นทุกข์ใดๆ

จากละครพระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกตอนที่ ๔๖ หญิงสาวคนหนึ่งได้ตกหลุมรักพระอานนท์จนแสวงหาวิธีที่ผิดในการครอบครองสิ่งที่หลงรักนั้น ซึ่งความอยากที่จะครอบครองสิ่งที่ตนรักไว้เป็นของตนเพียงผู้เดียวนี้เอง คือความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง

ไม่ว่าเราจะคิดครอบครองด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จะครอบครองแค่เสี้ยววินาทีหรือตลอดไปจนชั่วนิรันดร์ มันก็ยังเป็นความเห็นแก่ตัวอยู่ดี คนเรามักจะหาเหตุผลที่ดูดี น่าเชื่อถือ ดูเป็นที่น่ายอมรับให้เกิดการครองคู่ ได้ครอบครองโดยความชอบธรรม นั่นเป็นความเห็นแก่ตัวที่ละเอียดลึกลับซับซ้อน ซ่อนความชั่วไว้ในความดี เหมือนยาพิษที่แทรกลงไปในแต่ละอณูของเกล็ดน้ำตาล

นิยามความรักของพระอานนท์ ต่างจากความรักที่เจ้าคิด” เป็นเนื้อหาในบทพูดตอนหนึ่งของพระพุทธเจ้าในละครตอนนี้ ความรักของพุทธนั้นมีอิสระ ไม่ถูกจำกัดไว้ในเรื่องของครอบครัว คู่รัก ญาติ มิตร ฯลฯ แต่เป็นสิ่งที่แผ่กระจายออกไปให้ทุกคนได้สัมผัส

เช่นเดียวกับในบทละครตอนที่พระพุทธเจ้าบอกกับพระนางยโสธราในตอนที่ ๔๑ ว่า “ถ้าข้ายอมให้ความเศร้าของเจ้าสองแม่ลูก แล้วคนอีกไม่รู้เท่าไหร่ในโลกนี้ที่ทนทุกข์เล่า

ดังนั้นความรักของพุทธคือความรักที่มีให้ทุกคน การนำความรักไปทุ่มเทให้กับคนใดคนหนึ่งจะทำให้คนอื่นๆเสียโอกาส และนั่นหมายถึงเราเองก็เสียโอกาสในการสร้างสิ่งดีงามที่ยิ่งใหญ่ เพียงเพราะไปหลงยึดมั่นผูกพันไว้กับความสัมพันธ์ที่ลวงโลกที่สุด

ความเป็นคู่รักนั้นไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงแปรผันได้ทุกเวลา พบ พราก จาก ลา แล้วก็แสวงหาใหม่ ไม่เคยหยุด ไม่เคยจบสิ้น ไม่เคยมั่นคง เมื่อมีรักก็ย่อมมีทุกข์ การจะหนีทุกข์ในขณะที่หลงรัก หลงผูกพันกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่นั้น เป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งแท้จริงแล้วความสัมพันธ์ในเชิงคู่รักนั้นไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ มันเป็นเพียงสิ่งสมมุติที่คนสร้างขึ้นมาและหลงติดหลงยึดว่ามันดี ว่ามันเป็นสุข หลอกจิตตัวเองโดยสมบูรณ์ว่าได้เสพ ได้รัก ได้เป็นคู่กันแล้วจะเป็นสุข ทั้งที่จริงแล้วสุขเหล่านั้นมันไม่มีตัวตนอยู่จริงเลย มันเป็นเพียงมายาที่เราต่างสร้างขึ้นมาหลอกกันและกัน และหลงวนเวียนอยู่ในเขาวงกตเหล่านั้นกันมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

11.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ฉันยอมรับผิด การปลดปล่อยทุกข์จากความผิดหวังในความรัก

August 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,461 views 0

ฉันยอมรับผิด การปลดปล่อยทุกข์จากความผิดหวังในความรัก

ฉันยอมรับผิด การปลดปล่อยทุกข์จากความผิดหวังในความรัก

ความผิดหวังในความรักนั้นสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ที่หลงติดหลงยึดในความหวังว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นอย่างนั้นและจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป

คนที่ผิดหวังมักจะกอดเก็บทุกข์เอาไว้ พร้อมด้วยกิเลสที่คอยเผาใจ คือความโกรธ ผูกโกรธ อาฆาต พยาบาท ฯลฯ จองเวรจองกรรมอยู่กับผู้ที่ทำให้ต้องพบกับความผิดหวังในความรัก

แต่ถ้าหากเรากลับมาทบทวนดีๆแล้ว ไม่มีใครเลยที่เราสมควรจะโกรธ หรือไปโทษเขา ความผิดหวังที่เราได้รับทั้งหมดนั้นเกิดจากตัวเราเอง เกิดจากกรรมที่เราทำมาเอง มันถูกต้องแล้วที่เราจะต้องได้รับความผิดหวังนั้น มันเป็นผลของกรรมที่เราจะต้องรับ มันสมเหตุสมผลและยุติธรรมที่สุดในโลกแล้วกับสิ่งที่เราได้รับมา

การยอมรับผิด คือการปลดปล่อยตัวเองออกจากความโกรธเกลียดและความผิดหวังทั้งหลาย ผู้ที่เข้าใจเรื่องกรรมอย่างถ่องแท้จะไม่โทษใครเลย เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ตนเองทำมา เมื่อเข้าใจเช่นนั้นก็จะสามารถยอมรับสิ่งที่ตนเองทำมาได้ด้วยความเต็มใจ ยอมรับผลกรรมนั้นด้วยใจที่เป็นสุข ไม่คิดแค้น ไม่โกรธ ไม่โทษใครอีก

การที่เรายังทุกข์เพราะความผิดหวังในความรักนั่นก็เพราะเราไม่ยอมรับผิด เรามักจะโยนปัญหาออกไปนอกตัวเสมอ พยายามหาคนผิดที่ไม่ใช่เรา บอกกับตัวเองว่าฉันไม่ได้ทำมา คนที่มาทำฉันคนนั้นผิด หรือฉันทำมาแต่ฉันก็ไม่ได้ขนาดนั้น แม้จะคิดและเข้าใจเช่นนั้นแต่ก็ไม่สามารถสลัดทุกข์ออกจากใจได้ แม้จะโยนความผิดบาปให้กับคนอื่นแต่ก็ไม่ทำให้จิตใจสงบและเป็นสุขได้ เพราะความจริงแล้วเรากำลังโกหกตัวเองอยู่

การโกหกว่าเราไม่ใช่ต้นเหตุของความผิดหวังเหล่านั้นคือสิ่งที่ขวางกั้นไม่ให้จิตใจหลุดพ้นจากความทุกข์ ถึงแม้จะโยนความผิดบาปให้กับผู้อื่น แทนที่ปัญหาจะหมดไป แต่กิเลสข้างในกลับโตขึ้น สร้างความโกรธ รังเกียจ พยาบาท สร้างโทสะต่างๆขึ้นมาเผาใจตัวเองให้ทุกข์ซ้ำเข้าไปอีก

ดังนั้นการแก้ปัญหาความทุกข์จากความผิดหวัง ไม่ใช่การหาสาเหตุว่าใครผิด หาไปก็เท่านั้น แม้ว่าเหตุการณ์ในชีวิตจะดูเป็นบทละครที่สร้างให้มีตัวเอกและผู้ร้ายอย่างชัดเจน แต่ความจริงแล้วผู้ร้ายที่สุดก็คือตัวเราเอง เพราะเป็นกรรมของเราเอง ถ้าเราไม่เคยทำชั่วไว้ ก็ไม่มีทางที่ผลของกรรมชั่วนั้นจะกลับมาหาเราได้เลย

เหตุการณ์จะล่อหลอกให้คนที่ไม่เข้าใจกรรมและผลของกรรมอย่างแจ่มแจ้งให้หลงผิดไปโทษคนนั้นที คนนู้นที ที่ทำให้ตนผิดหวังช้ำรักต้องประสบทุกข์ มันเป็นเพียงฉากหน้าของละครที่กรรมได้ลิขิตไว้ หากเราพิจารณาเรื่องกรรมและผลของกรรมให้ถ่องแท้ ก็จะพบว่า เรานี่เองที่เป็นส่วนหนึ่งในการเขียนบทละครนั้น เป็นผลกรรมของเรา เกิดจากสิ่งที่เราเคยทำมา ไม่มากไม่น้อย ไม่ขาดไม่เกิน

ผู้ที่จะสามารถหลุดพ้นจากนรกแห่งทุกข์ได้ คือผู้ที่ยอมรับผิด ยอมรับว่าเป็นกรรมที่ตนเองนั้นทำมาจริงๆ แม้จะสืบสาวราวเรื่องในอดีตไม่ได้ แม้จะเป็นผลกรรมจากชาติปางก่อน แต่ด้วยปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมจะทำให้ไม่สงสัยแม้แต่นิดเดียวว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราทำมาหรือไม่ เพราะมีเพียงคำตอบเดียวว่าสิ่งที่เราได้รับคือสิ่งที่เราทำมา เราไม่มีทางได้รับสิ่งที่เราไม่ได้ทำมา

ดังนั้นการยอมรับผิดด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง จึงทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ หลุดพ้นจากกิเลสที่คอยเผาใจ หลุดพ้นจากการสร้างบาปและอกุศลกรรมจากความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นความผิดของผู้อื่น หลุดพ้นจากบ่วงเวรบ่วงกรรมที่คอยผูกมัดไว้ หลุดพ้นจากความหลงผิดที่เคยเป็นมารกัดกร่อนจิตใจมานานแสนนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

28.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)