Tag: กิเลส

Happy ending เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขที่ไม่มีอยู่จริง

July 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,630 views 0

Happy ending เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขที่ไม่มีอยู่จริง

Happy ending เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขที่ไม่มีอยู่จริง

คำว่า “Happy ending” มักจะเป็นคำที่เราได้เห็นในหนังในละครมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก เรื่องราวหลายเรื่องมักจะจบด้วยความสมหวังด้วยการครองคู่ เราได้จดจำสิ่งเหล่านั้นโดยที่ไม่รู้เลยว่านั่นคือสิ่งที่หลอกหลอนเรามาจนถึงทุกวันนี้

การแต่งงานกลายเป็นเป้าหมายหนึ่งในการมีชีวิต เป็นคุณค่า เป็นความสมบูรณ์ ตามที่โลกได้ปั้นแต่งเรื่องราวเอาไว้ และสื่อที่มีอิทธิพลมากกว่านิยาย ละคร ภาพยนตร์ เพลงรัก ก็คือผู้ที่หลงใหลมัวเมาในความสุขลวงเหล่านั้น

คนที่หลงเสพหลงสุขจะเติมพลังความอยากให้แก่กันและกัน ว่าการแต่งงานมีชีวิตคู่ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ สุขอย่างนั้นสุขแบบนี้ จะได้เสพรสแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้คนที่อยู่ในสังคมเหล่านั้นถูกมอมเมาด้วยความหลงผิด เพิ่มความอยากได้ อยากลอง อยากเสพ อยากสัมผัสประสบการณ์ที่เขาว่าดีว่าเลิศทั้งหลาย

แม้กระทั่งการแต่งงานครั้งหนึ่งก็ต้องมีการป่าวประกาศ แห่ขันหมากตีกลองโห่ร้อง จัดงานแต่งงานประดับประดาให้เป็นที่น่าสนใจ เชิญคนมากมายมาร่วมรับรู้เรื่องส่วนตัว ปั้นแต่งภาพให้สวยงามประดุจเจ้าชายเจ้าหญิง เป็นที่น่าจับตามอง เป็นที่น่าหลงใหล เป็นการกระตุ้นกิเลสให้คนอื่นอยากได้อยากมีตามไปด้วย แม้กระทั่งการดึงนักบวชเข้ามายุ่งเรื่องทางโลก ก็กลายเป็นสิ่งที่แสนจะธรรมดาไปแล้วสำหรับยุคนี้

เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้น

หลายคนอาจจะรู้สึกโล่งใจที่ชีวิตได้เป็นฝั่งเป็นฝา ได้ไปถึงจุดหนึ่งที่ใครเขาบอกต่อๆกันมา ว่าจำเป็นสำหรับชีวิต เหมือนจะเป็นตอนจบของละครบทหนึ่ง แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของละครบทใหม่

เรื่องราวในละครต่อจากที่ตอนพระเอกนางเอกได้ครองคู่กันแล้วมักจะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา ละครลวงโลกมักจะจบ happy ending กันตรงที่ได้รักกัน ได้แต่งงานกัน แล้วเหมือนทุกอย่างจะเป็นสุขตลอดกาล เหมือนว่าได้เสพสิ่งเหล่านั้นคือที่สุดของชีวิต แต่แท้ที่จริงแล้ว เราเพียงแค่หลุดจากสภาพทุกข์แบบหนึ่งไปสู่ทุกข์อีกแบบหนึ่งเท่านั้น

ผู้คนมากมายทนทุกข์จากความเหงา เดียวดาย ไร้คุณค่า อยากมีใครสักคนเป็นที่พึ่ง คอยดูแลเกื้อกูล คอยพูดคุยเอาใจ ให้ความรัก ให้ความสำคัญ เมื่อไม่มีใครคนนั้นก็ต้องทุกข์ทรมานอยู่ในนรกของคนโสดที่โหยหาความรักความเอาใจใส่ ไม่สามารถดำรงอยู่ผู้เดียวได้ ไม่สามารถทำใจให้เป็นโสดอย่างแท้จริงได้

เมื่อมีใครสักคนที่ถูกใจเข้ามาในชีวิต ก็เหมือนกับการปล่อยทิ้งปมทุกข์ที่เคยแบกรับไว้ ไม่ต้องเหงา ไม่ต้องเดียวดาย ไม่ต้องหาวิธีแก้ความเหงา ไม่ต้องคิดหาวิธีพึ่งตนเองอีกต่อไป ทิ้งเงื่อนปมแห่งทุกข์อันเก่าไว้ แล้วหันมาผูกปมใหม่ที่เรียกว่าคู่รัก

ในตอนแรกรักนั้นก็มักจะมีความสุขกับการผูกปมความรัก ยิ่งได้รัก ยิ่งใกล้ชิด ยิ่งรู้จักรู้ใจ ดูแลเอาใจใส เป็นคนสนิทกันมากเท่าไหร่ ปมแห่งความสัมพันธ์ก็จะยิ่งพันแน่นและซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่งคบหาดูใจ ความสัมพันธ์ก็ยิ่งแนบแน่นขึ้นไปอีก เหมือนปมเงื่อนที่ทบกันไม่รู้กี่ชั้นต่อกี่ชั้น จนถึงวันที่แต่งงาน เป็นวันที่ปมเหล่านั้นได้ถูกทาเคลือบไว้ด้วยยางเหนียว ย้ำลงไปอีกว่าจะไม่คลายความสัมพันธ์นี้ พัฒนาต่อไปจนมีลูกมีหลาน เหมือนกับมีโซ่เหล็กมาคล้อง ล็อกความสัมพันธ์นั้นให้ยิ่งแน่นหนาขึ้นไปอีก

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” ในความเป็นจริง นรกได้เริ่มก่อตัวตั้งแต่ความอยากได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว มันค่อยๆเติบโตอย่างช้าๆ โดยไม่ให้เรารู้ตัว มันมาในภาพของความสุข เพื่อที่จะหลอกให้เราได้หลงเสพหลงสุขและวนเวียนอยู่ในโลกแห่งตัณหานี้ตลอดไป

ความเหงาเปลี่ยนคนโสดให้เป็นคนคู่ แต่ความทุกข์นั้นไม่ได้หมดไป มันแค่เพียงเปลี่ยนรูปแบบ เหมือนกับการทิ้งปัญหาหนึ่งไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง ในตอนแรกเราก็จะเห็นเหมือนกับว่าเราหนีทุกข์ไปหาสุข แต่ความจริงแล้วเราหนีจากทุกข์น้อยไปหาทุกข์มาก

กิเลสนั้นย่อมล่อลวงเราให้เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นความสัมพันธ์ฉันชู้สาวเป็นเรื่องน่าใคร่น่าเสพ เห็นสิ่งลวงเป็นของที่ควรมีควรได้เห็นความทุกข์เป็นความสุข มันกลับหัวกลับหางกับความจริงทุกประการ

คนโดยส่วนมากในปัจจุบันก็ไม่มีใครยอมรับว่ากิเลสนั้นเป็นผู้ร้าย ไม่เห็นความอยากได้อยากเสพเป็นศัตรู เขามักจะมองเห็นว่าการได้เสพเป็นสุข การไม่ได้เสพเป็นทุกข์ ผู้ที่ไม่หามาเสพคือผู้ที่ทรมานตน ผู้ที่หามาเสพคือผู้ที่ทำชีวิตตนให้เป็นสุข จะมีความเห็นความเข้าใจในลักษณะที่กอดคอเดินไปกับกิเลส เห็นดีกับกิเลส เห็นต่างจากธรรมะ

แล้วทีนี้ความสุขที่ได้รับจากกิเลสนี่มันเป็นความสุขลวงทั้งหมด ที่ดูเหมือนสุขมันเกิดเพราะมีกิเลสมาก ถ้าไม่ได้เสพตามใจกิเลส มันก็จะตีให้เป็นทุกข์ สร้างความทุกข์ให้กับเรา พอได้เสพมันก็ไม่ทุกข์จากกิเลส มันก็เลยเป็นสภาพสุขดังที่เห็น และสุขนั้นก็เป็นสุขลวงอย่างแท้จริง เพราะถ้าไม่ตามใจกิเลส มันก็จะไม่เกิดสุข ต้องให้อาหารกิเลสไปเรื่อยๆเพื่อจะเสพสุข ซึ่งสุขนั้นไม่เที่ยง มันเสื่อมสลาย และแท้ที่จริงแล้วมันไม่มีอยู่จริง

ถ้าสามารถล้างกิเลสได้จริงจะค้นพบเลยว่ารสสุขในการมีคู่นั้นไม่มีเลย การดูแลเอาใจใส่ มีคนเกื้อกูล หยอกล้อรักใคร่หรือกิจกรรมของความเป็นคู่รักทั้งหลายมันไม่มีสุขเลยแม้แต่นิดเดียว ที่มันเกิดสุขเหล่านั้นเพราะพลังของกิเลสมันลวง มันพาให้หลงว่าการได้เสพแล้วความทุกข์ลดลงนั้นเป็นความสุข ให้หลงเข้าใจว่านั่นคือสุขแท้ในชีวิต ให้คนไขว่คว้าหาสุขลวงเหล่านั้น

ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ “Happy ending” อย่างแน่นอน เพราะเหมือนกับคนที่ลอยคออยู่กลางทะเล ทิ้งห่วงยางเพื่อที่จะไปเกาะเรือแห่งความหวัง โดยที่หารู้ไม่ว่า เรือลำนั้นเป็นของลวง เป็นสิ่งไม่จริง ไม่ยั่งยืน รอวันที่จะผุพังและจมหายไป และมีทิศทางพาให้ลอยห่างฝั่งออกไปอีก หันหัวเรือไปทางโลก หันหลังให้ทางธรรม ยิ่งพึ่งพาเรือไปไกลเท่าไหร่ก็จะยิ่งใกล้นรกมากเท่านั้น

เรื่องราวของชีวิตนั้นไม่เหมือนในละคร มันไม่ได้ถูกตัดจบทันทีที่สมหวัง แต่มันจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ การไม่ทุกข์ในวันนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทุกข์ในวันหน้า วันใดวันหนึ่งที่กุศลกรรมหมดรอบ ก็จะเป็นวันที่วิบากบาปได้ซัดเข้ามาในชีวิตเหมือนพายุที่ก่อตัวรออยู่ข้างหน้า

เรือลำน้อยที่เกาะไว้ค่อยๆผุพังไปเรื่อยๆ ในขณะที่คลื่นแห่งอกุศลกรรมจะซัดกระหน่ำเข้ามาอย่างไม่ลดละ แรงเท่าที่เราได้เคยทำกรรมเหล่านั้นไว้ กรรมที่เคยไปหลอกลวงใครว่าการมีคู่เป็นสุข การแต่งงานเป็นสุข การผูกพัน ผูกภพผูกชาติเป็นสุข ผลกรรมแห่งการมอมเมาผู้อื่นด้วยความหลงผิดจนกระทั่งกลายเป็นแรงผลักดันให้คนอื่นอยากได้อยากเสพ จะกลับมาเล่นงานให้เราได้เรียนรู้ทุกข์จนสาสมใจในวันใดวันหนึ่ง ไม่ชาตินี้ ก็ชาติหน้า หรือชาติอื่นๆต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

20.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คู่ครองกับกรรมเก่า

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,463 views 0

คู่ครองกับกรรมเก่า

เจอคู่ครองไม่ดี อย่ามัวโทษแต่กรรมเก่า

กิเลสตัวต้นเหตุ มันซ่อนอยู่ในกรรมนั้น

………….

เมื่อเราได้รับทุกข์จากคนที่คบหากัน แล้วมีทีท่าว่าจะจับมือใครดมไม่ได้ว่าต้นเหตุมันมาจากใคร สุดท้ายก็โยนความผิดทั้งก้อนไปให้กรรมเก่าของเรานั่นแหละ เพราะเราเคยทำกรรมมาก็เลยต้องมารับผลกรรม

การยอมรับกรรมที่ตนเองทำมานั้นก็เป็นเรื่องดีเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ก็ยังดีไม่สุดถ้ายังไม่สืบสาวไปถึงต้นเหตุว่าเราทำกรรมอะไรมา เช่นการที่เราต้องมาทุกข์เพราะเรื่องคู่ นั้นก็เพราะเราเอาเขาเข้ามาในชีวิตเอง เราอยากได้อยากเสพเขาเอง ไม่ใช่กรรมเก่าแต่ปางก่อนที่ไหน กรรมในชาตินี้ของเราเองที่ตามใจกิเลสจนให้เขาเข้ามามีบทบาทในชีวิตจิตใจ เพราะเราหลงยึดเขาไว้เอง

เราไม่สามารถโทษกรรมเก่าได้เลยหากเราไม่โดนบังคับให้คบ ไม่โดนคลุมถุงชน หรือโดนเอาปืนกรอกปากบังคับให้แต่งงาน แต่เราโดนกิเลสมันหลอกให้หลงไปคบหา ไปแต่งงาน เพราะหวังจะได้เสพสุข

ผู้ร้ายตัวจริงมันคือกิเลสนี่เอง ถ้าเราเอาแต่โทษกรรมและยอมรับกรรมให้มันจบไป แน่นอนว่าผลของกรรมนั้นจะหมดไปในวันใดวันหนึ่ง แต่กิเลสตัวบงการมันไม่ได้หายไปกับผลของกรรมนั้นๆ มันอยู่กับเราตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ยังรอคอยโอกาสล่อลวงเราด้วยสุขหลอกๆ และทำให้เราเป็นทุกข์อยู่เสมอ

ดังนั้นถ้าโยนปัญหาทุกอย่างให้กรรมแล้วรู้ไม่ทันว่ากิเลสอยู่เบื้องหลัง ก็เหมือนกับการจับผู้ร้ายผิดตัว สุดท้ายกิเลสก็ลอยนวล และเราก็ต้องรับผลของกรรมนั้นไปโดยไม่รู้ไม่เห็นเหตุ รู้ได้แต่ผลของกรรมทำให้ทุกข์ รู้ได้แค่ทำไม่ดีกับคนนั้นคนนี้มาเลยต้องมารับกรรม แต่ไม่รู้ว่าเหตุอะไรที่ผลักดันให้ทำสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้น นั่นหมายถึงไม่รู้กิเลส ไม่รู้ไปถึงเหตุแห่งทุกข์ สุดท้ายก็ไม่รู้จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร

– – – – – – – – – – – – – – –

2.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,376 views 0

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

หลายคนอาจจะเคยรู้สึกว่าโลกไม่ยุติธรรม กฎแห่งกรรมไม่มีจริง ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดีสักที เพียรทำดีเท่าไหร่ก็ไม่เกิดผลดีดังใจหวัง ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น?

ถ้าคุณเคยมีความรู้สึกเหล่านี้….

  • ทำดีกับใครสักคนหนึ่ง แล้วเขาไม่ดีตอบ ไม่เห็นคุณค่า
  • ช่วยให้คำปรึกษาให้เขาคลายทุกข์ แต่เขากลับไม่เอาดีตามเรา
  • แนะนำสิ่งที่ดีให้กลับเขา แต่เขากลับเมินเฉย หันไปเอาทางผิดอีกด้วย
  • ทำดีเป็นตัวอย่าง แต่ก็ไม่มีใครสนใจใยดี
  • เป็นคนดีในสังคม แต่กลับโดนหาว่าไม่มีคุณค่า โดนหาว่าบ้า
  • . . . หรือการทำสิ่งดีใดๆก็ตาม ที่อยากให้เกิดผลดี แต่รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่เกิดผลดีเสียที

ในบทความนี้เราจะมาขยายเรื่องกรรมในมุมของการทำดีแล้วไม่ได้ดี ซึ่งจะมีเนื้อหาที่แบ่งเป็นหัวข้อด้วยกัน 6 ข้อ

1). ทุกข์เพราะไม่เข้าใจเหตุ

ทุกข์จากการทำดีแล้วไม่เกิดผลดีสมดังใจหมาย คือขุมนรกที่คอยเผาใจคนดี ให้หมดกำลังใจในการทำดี ให้ลังเลในความยุติธรรมของกรรม ให้หลงผิดในเส้นทางธรรม นั่นเพราะมีความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมที่ไม่ชัดเจน จึงไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่สมเหตุสมผลได้ ทั้งที่จริงทุกสิ่งที่เกิดนั้นสมเหตุสมผลที่สุดแล้ว แต่ที่เราไม่เข้าใจเพราะเราไม่รู้ว่า “เหตุ” ทั้งหมดนั้นมันมีอะไรบ้าง และมักเดาว่าสิ่งต่างๆไม่มีเหตุ พอไปเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผลก็เลยเป็นทุกข์เพราะไม่สามารถทำความเข้าใจและยอมรับสิ่งนั้นได้

2). กิเลสในคนดี

ความไม่เข้าใจในเรื่องกรรมบวกกับพลังของกิเลสจึงทำให้เกิดทุกข์มากขึ้น เรามักจะมีอาการอยากให้เกิดดีมากกว่าเหตุปัจจัยที่มี เป็นความโลภที่ผลักดันให้อยากได้ดีเกินจริง พอเห็นคนอื่นไม่เอาดีตามก็มักจะเกิดอาการไม่พอใจ โกรธ ผูกโกรธ พยาบาท ฯลฯ เพราะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งดีนั้น ซ้ำร้ายอาจจะมีอาการแข่งดีเอาชนะ ถือตัวถือตน ยกตนข่มคนอื่น ดูถูกดูหมิ่นเขาอีกที่เขาไม่เอาดี และเมื่อเห็นคนที่ไม่ได้ทำดีแต่กลับได้ดีก็อาจจะไปอิจฉาเขาอีกด้วย อาการเหล่านี้คือลีลาของกิเลส ที่ซ่อนตัวอยู่ในความดีที่ยังทำให้เป็นทุกข์อยู่นั่นเอง

3). กรรมเขากรรมเรา

ถ้าเราตระหนักว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน เรามีกรรมเป็นของตัวเอง กรรมดีที่เราทำก็เป็นของเรา กรรมที่เขาไม่เอาดีก็เป็นของเขา กรรมเรากับเขาไม่ได้ปนกัน กรรมเป็นของใครของมัน เราจะไม่ทุกข์ใจเลยหากว่าเราทำดีแล้วไม่เกิดผลดี เพราะความจริงนั้นมันมีความดีเกิดขึ้นมาตั้งแต่เราทำดีแล้ว ส่วนเขาจะเอาดีหรือไม่ก็เป็นกรรมของเขาไม่เกี่ยวกับเราเลย

แต่เรามักหลงเอากรรมของเราไปปนกับกรรมของเขา เอามาผูกกัน เอามาเกี่ยวโยงกันให้เป็นเรื่องเป็นราว แท้จริงแล้วเมื่อเราไม่ทำชั่วทำแต่ความดี ก็จะมีผลของการทำดีเกิดขึ้นกับเรา ผลใดที่เกิดหลังจากนั้นเป็นผลของกรรมจากหลายเหตุปัจจัยที่มาสังเคราะห์กัน เราก็รับแต่ผลของกรรมในส่วนของเรา ถ้าเผลอทำดีปนชั่ว เราก็แค่รับกรรมดีกรรมชั่วนั้นมาเป็นของเรา ไม่ต้องไปแบกกรรมของคนอื่นไว้ด้วย ทำดีแล้ววางดีเลย ปล่อยวางผลไปเลย จะเกิดอะไรขึ้นมันเรื่องของคนอื่น เมื่อเราได้ทำดีที่ได้ทบทวนแล้วว่าดีจริงไปแล้ว ก็จบเท่านั้น ไม่ต้องสนใจว่าผลจะเกิดดีตามที่ทำหรือไม่ ไม่ต้องทำดีเพื่อหวังผลให้เกิดดี

4). ทำดีไม่ได้ดีเพราะมีชั่วมากั้นไว้

การที่เราทำดีแล้วไม่เกิดผลดีให้เห็นนั้น เพราะมีกรรมชั่วของเรามากั้นไว้ ไม่ให้เราได้เห็นผลดีตามที่เราทำ กรรมชั่วเก่าของเราทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับกรรมของใครเลย กรรมอาจจะจัดสรรคนที่เหมาะสมต่อการชดใช้กรรมชั่วของเรา ให้เขาได้แสดงตามบทละคร ให้เราได้ชดใช้กรรมชั่วของเราโดยมีเขามาเล่นในบทบาทคนชั่วที่คล้ายเราในอดีต ให้เราได้รับกรรมของเราและเขาก็จะได้เรียนรู้ดีรู้ชั่วตามกรรมของเขาต่อไป

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครจะไม่เอาดีตามเรา แม้ในชาตินี้เราก็เคยไม่เอาดีตามที่คนอื่นแนะนำมามากมาย พ่อแม่บอกให้ขยันเรียน เพื่อนบอกให้แก้นิสัยเสีย ฯลฯ การไม่เอาดีในอดีตของเรานั้นสร้างกรรมไว้มากมาย นี่แค่ชาตินี้ชาติเดียวนะ เวลากรรมส่งผลก็อาจจะเอาส่วนของชาติก่อนๆมาด้วยเหมือนกัน ดังนั้นการที่เราคิดหวังว่าจะทำดีแล้วให้เกิดดีโดยคิดเข้าข้างตัวเองว่า ชาตินี้ฉันก็ไม่เคยดื้อ ชาตินี้ฉันก็เป็นคนว่าง่าย แต่ทำไมไม่มีใครยินดีฟังในสิ่งดีที่ฉันพูดเลย ฯลฯ นั่นเพราะไม่รู้เหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่เกิดสิ่งดี และเหมาเอาเองว่าถ้าตนเองทำดีจริงแล้วจะต้องเกิดดีทุกครั้ง พอกรรมเขาเล่นกลไม่ให้เป็นอย่างนั้น คนดีที่ไม่เข้าใจเรื่องกรรมก็อกหักอกพังกันไป

5). ทำดีแล้วได้ดีอย่างใจทุกครั้งไม่มีประโยชน์

การที่เราทำดี แนะนำสิ่งดี ช่วยเหลือ สงเคราะห์ ฯลฯ แล้วเกิดดีขึ้นทุกครั้งเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใดๆต่อการพ้นทุกข์ เพราะหากผลดีเกิดทุกครั้งก็จะไม่มีอะไรขัดใจ พอไม่มีอะไรขัดใจก็ไม่มีทางที่จะได้เห็นกิเลส ไม่เห็นความโลภของตัวเองที่อยากได้ดีเกินจริง ไม่เห็นความโกรธ ไม่เห็นความอิจฉาในการทำดีของผู้อื่นฯลฯ

การทำดีแล้วได้ผลดีนั้นเป็นเรื่องของโลก แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะพาให้พ้นจากวิสัยของโลก การไปสู่โลกุตระไม่ได้ไปด้วยการทำดี แต่จะไปได้ก็ต่อเมื่อทำลายกิเลสซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดให้ติดอยู่กับโลก ดังนั้นการทำดีแล้วไม่ได้อย่างใจหวังนี่แหละเป็นเครื่องมือในการขัดเกลากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง

การทำดีแล้วได้ผลดีอาจจะได้ประโยชน์ในด้านความสุข ความสบาย แต่ไม่ใช่ประโยชน์ในด้านการพ้นทุกข์ เพราะความสุขความสบายที่ได้รับมานั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วรอวันดับไป ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร และส่วนมากก็เป็นเพียงสุขลวงที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกซ้อนไว้อีกที

6). ทำดีไม่เท่ากับล้างกิเลส

การทำดีนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ชาวโลกยอมรับ แต่การมุ่งทำแต่ความดีเพื่อให้พ้นทุกข์นั้นไม่ใช่หลักของพุทธศาสนา แม้ว่าแนวคิดและข้อปฏิบัติของลัทธิอื่นทั่วโลกจะมุ่งสอนให้คนหยุดชั่วทำดี แต่ในหลักการของพุทธยังมีมิติที่ล้ำลึกกว่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่หลุดโลก(โลกียะ) อยู่เหนือโลก ไม่อยู่ในวิสัยของโลก พ้นจากโลกไปแล้ว นั่นคือสภาพของโลกุตระที่เกิดจากการชำระล้างกิเลสในสันดานให้หมดไปโดยลำดับ

การล้างกิเลสไม่ได้ทำให้เกิดผลดีโดยตรง ที่เห็นได้ง่ายเหมือนกับการทำดีที่สังคมเข้าใจโดยทั่วไป เพราะเป็นการเข้าไปทำลายกิเลสซึ่งเป็นเชื้อชั่ว ทำลายเชื้อที่ทำให้เกิดทุกข์เป็นหลัก เมื่อทำลายกิเลสเรื่องใดได้ ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องไปทำความชั่ว ไปสร้างทุกข์ในเรื่องนั้นๆ แม้จะไม่เกิดดีให้เห็น แต่ก็ไม่มีทุกข์ นั่นหมายถึงจะไม่ตกต่ำไปสู่ความทุกข์ ส่วนจะทำความดีตามสมมุติโลกหรือตามที่สังคมเข้าใจนั้นหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มุ่งกำจัดทุกข์เป็นหลัก เรียนเรื่องทุกข์และสืบหาต้นเหตุของปัญหาเหล่านั้นจนกระทั่งทำลายมันทิ้งจนหมด เราอาจจะเคยเห็นคนดี ทำดี ปฏิบัติตัวดี แต่หนีไม่พ้นทุกข์ ซึ่งข้อปฏิบัติของพุทธจะมาอุดรอยรั่วตรงนี้ จะทำให้คนดีที่ทำดี ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะความยึดดีและความไม่เข้าใจในเรื่องของกรรม

การล้างกิเลสจะทำให้คนเป็นคนดีแท้ แม้อาจจะไม่ดีอย่างออกหน้าออกตาหรือดีอย่างที่โลกเข้าใจ แต่จะดีเพราะไม่มีชั่วปนอยู่ ไม่มีความหลงผิดปนอยู่ เป็นความดีแบบที่พ้นไปจากโลก ไม่หลงวนอยู่ในโลก แม้จะยังต้องอยู่ในสังคมแต่ก็จะสามารถอนุโลมให้เกิดดีไปด้วยกันได้ แต่ก็จะไม่ยึดดีในแนวทางของโลก เพราะรู้ดีว่าโลกุตระนั้นสุขยิ่งกว่า ดีเยี่ยมยิ่งกว่า และสมบูรณ์ที่สุดจนหาอะไรเปรียบไม่ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

3.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

อย่ามัวแต่โทษกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าแต่ปางก่อนไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป

July 2, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,660 views 0

อย่ามัวแต่โทษกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าแต่ปางก่อนไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป

อย่ามัวแต่โทษกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าแต่ปางก่อนไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป

แม้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเลยมาจนถึงทุกวันนี้ จะสะสมลงเป็น “กรรม” ที่เรียกว่ากรรมเก่า เพราะทำลงไปแล้วเกิดผลแล้ว สะสมผลนั้นไปแล้ว และจะรอวันให้ผลในวันใดวันหนึ่ง แต่กรรมเก่านั้นก็ไม่สามารถลิขิตขีดเขียนให้ทุกอย่างเป็นไปตามเส้นทางของมันได้เสมอไป

เมื่อเราเจอเหตุการณ์ใดๆ บางครั้งเรามักจะเหมาว่าเป็นเหตุจากกรรมเก่าเสียทั้งหมดซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้นไปเสียทั้งหมด แต่ถ้าหากเราโยนทุกอย่างให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า เราก็คงจะต้องวนเวียนใช้กรรมและสร้างกรรมเช่นนี้ตลอดไปอย่างแน่นอน

ในบทความนี้จะมานำเสนอความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องกรรม ในมุมของกรรมเก่า ให้เข้าใจกันมากขึ้นเพื่อเสริมให้เกิดความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์

1). กรรมเก่า เก่าแค่ไหน?

คำว่ากรรมเก่านั้นเป็นคำกว้างๆ แม้จะเอ่ยมาก็ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร เพราะกรรมเก่ามีตั้งแต่กรรมเก่าตั้งแต่ชาติปางก่อน ชีวิตก่อน จนกระทั่งถึงกรรมเก่าที่พึ่งจะทำลงไปเมื่อไม่กี่วินาทีที่ผ่านมานี้ ทั้งหมดเรียกว่ากรรมเก่าทั้งสิ้น เพราะผ่านพ้นไปแล้ว ทำไปแล้ว แก้ไม่ได้แล้ว เมื่อทำไปแล้วก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องคอยรับผลกรรมนั้นไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม

2). กรรมเก่านั้นรู้ได้ยาก

กรรมเก่าที่สะสมมาก่อนจะมาถึงชีวิตนี้นั้นรู้ได้ยากมาก แม้กรรมในชาตินี้ที่ทำลงไปก็ยังรู้ได้ยากเช่นกัน แต่เราก็สามารถรู้ได้จากทุกสิ่งที่เข้ามากระทบเรา นั่นก็คือผลของกรรมที่เราทำมา กรรมจะทำหน้าที่ส่งผลเท่ากับที่เราทำมา ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป โดยมีสัดส่วนที่แบ่งไว้อย่างพอเหมาะพอควรแก่ฐานะ

นั่นหมายถึงทุกสิ่งที่เข้ามาทำให้เราเกิดสุข เกิดทุกข์ นั่นคือสิ่งที่ยุติธรรมและสมควรที่สุดที่เราจะได้รับ และผลของกรรมนั่นเองก็คือกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เราทำมา เราอาจจะสามารถระลึกถึงเหตุการณ์ของกรรมเก่าที่ทำในชาตินี้ได้บ้าง ในส่วนของกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อนเราอาจจะพอรู้ได้จากความสุขทุกข์ที่ได้รับมา นั่นคือสิ่งที่เราทำมาทั้งนั้น แต่ทั้งหมดนั้นก็ไม่สำคัญเท่ากับเราได้เรียนรู้อะไรจากการรับผลกรรมเหล่านั้น

3). เห็นกรรม ไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์

บางคนเมื่อเจอความทุกข์ จะใช้เรื่องกรรมเข้ามาเป็นตัวช่วยให้ปล่อยวาง เช่นเมื่อรู้ว่าเราทำมา คิดว่าเราทำมา ก็สามารถปล่อยวางได้ ยิ่งระลึกถึงเหตุการณ์ร้ายๆที่เราทำมาสมัยก่อนก็ยิ่งจะทำให้เกิดความสลดใจ ยอมรับความผิดบาปของตัวเองได้ง่าย แต่กระนั้นก็ยังมีกรรมที่สืบสาวราวเรื่องได้ยาก เช่นกรรมที่สะสมมาเนิ่นนานจนมาเกิดผลเอาชาตินี้ แม้จะตรวจไปเท่าไหร่ก็หาที่มาไม่ได้ จึงมักจะทำได้เพียงคิดว่าเราก็ทำเช่นนั้นมา และทำใจยินดีรับกรรมจนหมดผลนั้นไป

เราใช้วิธีเหล่านั้นในการเข้าใจผลของกรรม เป็นวิธีที่ดีที่สามารถทำให้ใจสงบและปล่อยวางได้ แต่ก็ยังไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะไม่ได้ตรวจให้ลึกลงไปถึงเหตุเกิด เรียกได้ว่าเห็นทุกข์เกิดอยู่ แต่ไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ กลับไปมอง“ผลของกรรม”ที่เกิดขึ้นเป็น“เหตุแห่งทุกข์

วิบากกรรม หรือผลของกรรม ชื่อก็บอกแล้วว่ามันคือผล คือสิ่งที่สุกงอม คนที่มองเห็นเพียงว่าผลของกรรมที่ได้รับคือเหตุแห่งทุกข์ จะไม่สามารถศึกษากรรมที่เกิดในแต่ละครั้งให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ มักจะทำอยู่ในวิถีของสมถะ คือการใช้ความเข้าใจกรรมมาเป็นอุบายช่วยในการทำจิตให้สงบนิ่ง

ในเมื่อวิบากกรรม คือผล มันก็ต้องมีเหตุ เหตุที่ว่าคือทำไมเราจึงไปสร้างกรรมดีหรือกรรมชั่วจนต้องมารับผลกรรมเหล่านั้น ในส่วนของกรรมชั่วก็คือกิเลส กิเลสคือเหตุให้สร้างกรรมชั่ว ส่วนจะเป็นกิเลสชนิดไหน ลีลาใดก็ลองวิเคราะห์จากผลของกรรมของตัวเองได้ ในส่วนของกรรมดีก็คือปัญญา ผู้มีปัญญาก็จะสร้างกรรมดี หรือกุศลกรรม เพื่อใช้อาศัยให้เกื้อหนุนความสุข ความเจริญ ตลอดจนเป็นสิ่งเกื้อหนุนสู่การหลุดพ้นจากกิเลส

ดังนั้นแม้จะเห็นว่าผลของกรรมนั้นคือสิ่งที่เราทำมาจนทำให้เราต้องเกิดทุกข์ แต่ก็ยังเป็นระดับของความเข้าใจในกรรมที่ยังตื้นเขิน เพราะในผลของกรรมแต่ละอย่างก็ยังมีเหตุของสิ่งนั้น เราจึงควรศึกษาให้เห็นเหตุของกรรมดีกรรมชั่วนั้น พระพุทธเจ้าสอนว่าดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ถ้าเราไม่แจ่มแจ้งในเหตุของกรรม ก็จะไม่สามารถดับทุกข์ได้เลย

4). รำไม่ดีโทษปี่โทษกรรม

พอเราไม่เห็นเหตุแห่งกรรมนั้นๆ ว่าเกิดจากอะไร ก็มักจะมีความเห็นไปในแนวทางที่ว่า “ทุกสิ่งที่เกิดนั้น เกิดจากกรรมเก่า” โดยมากจะเป็นเรื่องของทุกข์ เมื่อเราเจอทุกข์เราก็มักจะโยนปัญหาทั้งหมดให้เป็นเรื่องของกรรม เจอเหตุการณ์ เจอสิ่งร้ายอะไรก็โยนให้เป็นเรื่องของกรรมเก่าทั้งหมด ทั้งๆที่บางครั้งบางเหตุการณ์ก็เกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดอันเป็นผลมาจากความเห็นผิด เพราะมีกิเลสเป็นสิ่งที่พาให้หลง

ดังนั้นเมื่อเราโยนทุกอย่างให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า โดยเฉพาะโยนไปที่กรรมเก่าแต่ปางก่อน ก็อาจจะทำให้ไม่ได้แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดในตัวเอง เพราะไปโทษว่าทุกสิ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เสียหมด

5). กรรมลิขิต แต่เราเป็นคนเลือกเดิน

ผลของกรรมนั้น ลิขิตขีดเขียนเส้นทางของชีวิตให้ก้าวเดิน เป็นเหมือนบทละครที่บีบบังคับให้เราเล่นไปตามกรรมที่ทำมา แม้กรรมจะลิขิตไว้เช่นนั้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหลงเล่นละครไปตามกรรมเก่านั้นเสมอไป

ในแต่ละวินาทีของชีวิต เราจะได้รับโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงเส้นทางของกรรม เราสามารถขีดเขียนทางเดินของเราใหม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรายังเป็นคนที่กินเนื้อสัตว์อยู่เป็นประจำ แล้วมีคนมาบอกว่าการลดเนื้อกินผักนั้นดี เป็นสิ่งที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทั้งยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย เมื่อได้รับข้อมูลดังนี้ เรามีสิทธิที่จะตัดสินใจเลือกเปลี่ยนแปลงกรรมได้

ทางที่ชัดเจนนั้นมีอยู่แค่สองทางคือกุศลและอกุศล หรือดีและชั่ว ถ้าเราตัดสินใจว่า ที่เขาเสนอมามันก็ดีนะ แม้เราจะยังรู้สึกขัดใจอยู่บ้าง แต่ก็อยากจะลองศึกษาเพิ่ม อยากจะลองทำดูสักครั้ง ตรงนี้เป็นการสร้างกรรมดี เกิดมโนกรรมที่ดี แม้จะยังไม่ได้เลิกกินเนื้อสัตว์แต่ก็มีทิศทางที่ไปสู่ความดีงาม

แต่ถ้าเราได้ฟังแล้วคิดว่า จะเลิกกินทำไมอร่อยจะตาย เนื้อสัตว์เป็นเพียงธาตุ เราต้องการโปรตีน อันนี้ก็จะไปทางอกุศล คือมีแนวโน้มจะเสพเหมือนเดิม ตามใจกิเลสเหมือนเดิม ทำตัวปล่อยไปตามกรรมเดิม คือมีความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์เหมือนเดิม ที่จริงแล้วจะว่าเหมือนเดิมก็คงไม่ใช่ เพราะจริงๆแล้วเมื่อมีสิ่งที่ดีเข้ามาในชีวิตแล้วเรามีอาการต่อต้าน นั่นหมายถึงเราต้องเพิ่มความชั่วขึ้นมาเพื่อไม่เอาความดีนั้น นั่นหมายถึงเรากำลังสร้างกรรมชั่วที่จะยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์มากขึ้นนั่นเอง

ทุกวินาทีเราสามารถเปลี่ยนแปลงกรรมของเราได้ว่าจะทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว แม้กิเลสที่สะสมมาจะเขียนบทให้เราเอาแต่สิ่งชั่วเป็นหลัก แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่พยายามจะเลิกยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

ผู้ที่ไม่เคยคิดจะฝืนกิเลส ไม่เคยคิดที่จะต่อต้านกิเลส ก็จะคิดว่าตนเองนั้นถูกกรรมทำให้ไหลไปตามความชั่ว ซึ่งเป็นผู้ประมาท เหมือนปลาที่ตายลอยตามน้ำไปสู่ความฉิบหาย แม้สุดท้ายจะอ้างว่าเพราะกรรมทำมา แต่นั่นก็คือชั่วที่ตนทำมาอยู่ดี แล้วเหตุอะไรที่เราต้องหลงทำชั่วตั้งมากมายจนต้องลำบากคอยรับกรรมชั่วที่ทำให้ทุกข์ ทำให้ไร้สติ ทำให้หลงเช่นนี้ เราจึงควรศึกษาในเหตุแห่งกรรมชั่วนั้น เพื่อที่จะทำลายเหตุนั้นในท้ายที่สุด

6). กรรมเก่าที่หนีไม่พ้น

ในส่วนกรรมเก่าที่หนีไม่พ้นนั้นก็มีอยู่ แม้เราจะป้องกันเต็มที่ด้วยกำแพงศีล สร้างกุศล ใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยความไม่ประมาทก็อาจจะมีวันหนึ่งที่ผลของกรรมสุกงอม สร้างเป็นเหตุการณ์ให้เราได้รับทุกข์ที่ไม่มีวันจะป้องกันได้ก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น เรากำลังเดินทางไปต่างจังหวัด ขับรถไปด้วยความเร็วปกติ ทำตามกฎจราจร ขับด้วยความระมัดระวัง แต่แล้วกลับมีรถสวนมาชนเข้าอย่างจัง กรณีเช่นนี้เป็นลักษณะของกรรมเก่าอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะถ้าเราเองไม่มีความประมาทซึ่งเป็นกิเลส เหตุหนึ่งของความซวยแล้ว ก็เรียกว่าไม่ได้สร้างกรรมชั่วใหม่ ดังนั้นสิ่งที่กระทบก็เป็นผลจากชั่วเก่าที่เคยทำมานั่นเอง

อีกตัวอย่างในกรณีกรรมดี เราเกิดมาในครอบครัวของผู้ที่มีจิตใจสูง พร้อมด้วยปัจจัย ๔ และความรู้ ตั้งแต่เราเกิดมาเราก็ไม่ได้ทำกรรมดีอะไรเลย แต่เรากลับได้รับทั้งอาหาร การดูแลเอาใจใส่ การสั่งสอนที่ดี และโอกาสในการเรียนรู้ เราคิดย้อนไปก็หาเหตุไม่ได้ว่าทำไมเราจึงได้รับสิ่งที่ดี ทั้งที่เราเกิดมาก็ไม่เห็นได้ทำอะไรที่สมเหตุสมผลที่จะได้รับสิ่งดีเหล่านั้นเลย ดังนั้นสิ่งที่ได้รับก็เป็นผลจากดีเก่าที่เคยทำมานั่นเอง

7). กรรมเก่าปนกิเลสใหม่

เหตุการณ์แต่ละอย่างที่เกิดขึ้น ก็จะมีส่วนผสมของกรรมเก่าและกรรมใหม่ปนกันอยู่ โดยเฉพาะกรรมที่ปนด้วยกิเลสนั้นรู้ได้ยาก เห็นได้ยาก มักจะถูกมองอย่างเหมารวมไปหมดว่าเป็นกรรมเก่า จะยกตัวอย่างให้เห็นทั้งในมุมผลกรรมชั่วที่กิเลส และผลกรรมดีที่ปนกิเลส

ผลกรรมชั่วที่ปนกิเลสเช่น เมื่อเราต้องการใครสักคนเข้ามาเป็นคู่ครองในชีวิต เราก็จะตั้งความต้องการไว้ว่าต้องหน้าตาประมาณนี้ ต้องมีฐานะประมาณนั้น ต้องมีแนวคิดประมาณนี้ ฯลฯ นี้คือการสร้างกรรมชั่วขึ้นเพราะมีความโลภ ราคะและความหลงเป็นพื้นฐาน ซึ่งเมื่อวันหนึ่งเจอคนที่ตรงใจก็ตัดสินใจเลือก ณ ตอนนี้เป็นการปักมั่นในการเสพสมใจตามกิเลสเป็นการสนองกิเลส สร้างกรรมชั่วสะสมขึ้นมาอีก แล้ววันหนึ่งก็กลับโดนคนที่หมายมั่นทิ้งไปอย่างไร้เยื่อใย ซึ่งกรณีนี้จะโทษกรรมเก่าแต่ปางก่อนทั้งหมดไม่ได้ เพราะมีกิเลสเป็นตัวร่วมตั้งแต่แรก ดังนั้นสิ่งที่ได้รับนี้เป็นผลมาจากกิเลสที่ยังคงสืบเชื้อชั่วอยู่ในจิตมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ผลกรรมดีที่ปนกิเลสเช่น เราเห็นคนแก่ขายล๊อตเตอรี่ ใจเราก็มีเมตตาอยากช่วย จึงช่วยซื้อไป แต่ก็ไม่ได้ซื้อด้วยจิตผ่องใส ยังมีความโลภ อยากได้ อยากถูกรางวัลอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงวันออกฉลาก ก็มีความรู้สึกลุ้น อยากให้เป็นเราที่ถูกรางวัล สุดท้ายเกิดถูกรางวัลขึ้นมา ตรงนี้เป็นผลมาจากกรรมเก่าที่สะสมมาด้วย ไม่ใช่เพียงผลที่ช่วยคนแก่ เพราะผลที่ช่วยคนแก่จ่ายไปแค่ไม่กี่ร้อย แต่เมื่อถูกรางวัลกลับได้มากกว่านั้นหลายเท่า ส่วนต่างนั้นคือส่วนของกรรมเก่าที่ทำมา ซึ่งก็แค่เพียงได้รับกรรมดีที่ทำมาเท่านั้น ไม่ได้พิเศษหรือน่าสนใจแต่อย่างใด สิ่งที่น่าสนใจคือความละโมบ เพ่งเล็งอยากได้ในระหว่างที่ถือครองความหวังนั้นต่างหาก คือกรรมชั่วได้สะสมผลลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะรอวันที่ผลของกรรมชั่วนั้นสุกงอมและได้รับผลของกรรมชั่วนั้นต่อไป

….ดังจะเห็นได้ว่า ในเรื่องของกรรมก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย กรรมและผลของกรรมนั้นเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ที่ยังมีกิเลสปนอยู่ ซึ่งก็เป็นความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์แล้ว

การเรียนรู้เรื่องกรรมให้แจ่มแจ้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาธรรมะ ผู้ที่เรียนรู้กรรมอย่างละเอียดจนไม่มีใครเทียบได้คือพระพุทธเจ้า ท่านรู้ว่ากรรมใดจะให้ผลอย่างไร แบบไหน เท่าไหร่ เป็นข้อมูลที่ท่านศึกษาอย่างละเอียดมามากกว่าสี่อสงไขยกับแสนมหากัป ซึ่งเราไม่จำเป็นจะต้องเรียนรู้กรรมทุกเหลี่ยมทุกมุมอย่างแจ่มแจ้ง เพียงแค่เรียนรู้ว่ากรรมแต่ละอย่างที่เราทำในทุกวันนี้ เกิดจากเหตุอะไร มีอะไรเป็นแรงผลักดัน แล้วจะให้ผลดีร้ายอย่างไร เรียนเกี่ยวกับกิเลสที่ผลักดันให้ทำกรรมชั่วให้แจ่มแจ้งก็เพียงพอแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

30.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)