ขอบคุณที่…ทิ้งฉันไว้กลางทาง

July 12, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,920 views 0

ขอบคุณที่...ทิ้งฉันไว้กลางทาง

ขอบคุณที่…ทิ้งฉันไว้กลางทาง ก่อนที่เราจะทำบาปแก่กันและกันมากไปกว่านี้

เรื่องราวของคู่รักบนเส้นทางอันยาวไกล ไม่มีใครรู้ว่าจุดหมายนั้นอยู่ที่ไหน เราอาจจะพอรู้ได้ว่าความสัมพันธ์นั้นมาถึงจุดไหนเมื่อผ่านสถานะของ เพื่อน คนรู้ใจ แฟน หรือสามีภรรยา ถึงแม้เราจะผ่านช่วงเหล่านั้นมาแล้วแต่การเดินทางของชีวิตคู่ก็ต้องดำเนินต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่คนใดคนหนึ่ง จะถูกทิ้งไว้กลางทางเพียงลำพัง

เมื่อความสัมพันธ์ในรูปแบบคู่รักได้เกิดขึ้น ก็ต้องคอยประคองความสัมพันธ์ ไม่ให้มากเกินไป ไม่ให้น้อยเกินไป คอยเอาอกเอาใจรับใช้ เพื่อให้อีกฝ่ายพอใจ เป็นเหตุแห่งความสุขของกันและกัน เป็นตัวตนของกันและกัน เป็นสิ่งผูกมัดซึ่งกันและกัน เป็นบาปของกันและกัน จนสุดท้ายกลายเป็นอกุศลกรรมที่ผูกกันและกันไว้

แต่ถึงแม้จะเอาพยายามทำตัวเป็นคนดี คิดดี พูดดี ทำดี ก็ไม่ได้หมายความจะต้องได้รับสิ่งที่ดีตลอดเวลา คนเราทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ผลของกรรมไม่ได้ผูกกันด้วยเรื่องดีเพียงอย่างเดียวมันยังมีเรื่องร้ายด้วย คนที่เข้ามาผูกพันจึงถูกเรียกว่า “คู่เวรคู่กรรม” เพราะเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ต้องมาคอยใช้หนี้บาปหนี้กรรมแก่กันและกัน

การพลัดพรากสร้างความทุกข์ให้กับคนที่ยึดมั่นถือมั่น การถูกทิ้งเป็นเพียงฉากละครฉากหนึ่งที่ผลของกรรมลิขิตไว้ เรามักจะเห็นว่ามีหลายเหตุการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นสิ่งที่สมควรจะเกิดขึ้นแล้ว เพราะนั่นเป็นผลของกรรมที่เราทำมาเอง ไม่ใช่จากเหตุอื่นใด

เมื่อผลของกรรมได้พรากคนรักไปจากชีวิตรักในอุดมคติที่เคยฝัน ก็เหมือนกับม้าที่ถูกเปลี่ยนกลางศึก กลายเป็นม้าตัวเก่าที่ถูกทิ้งอย่างไรเยื่อใย ได้แต่มองเขาจากไปพร้อมกับม้าตัวใหม่ที่เขาชอบใจมากกว่า การถูกทำลายคุณค่าในตัวตน ทำลายความหวัง นั้นทำให้ผู้ยึดมั่นถือมั่นทุกข์แสนสาหัส

แต่ถ้าหากเราลองพิจารณาให้ดี การที่ความสัมพันธ์ใดๆ ถูกทำลายไปก่อนจะถึงฝั่งฝันนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ดีก็ได้ การที่เขาออกไปจากชีวิตเรา นอกจากเรื่องของวิบากกรรมซึ่งเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้แล้ว ก็มักจะเป็นเรื่องของกิเลสเป็นส่วนใหญ่

การที่คู่รักต้องพรากจากกันไปเพราะมีคนใหม่ก็มักจะเกิดจากการที่คนเก่าไม่สามารถสนองกิเลสให้ได้ พอคนกิเลสหนาไม่ได้รับการบำเรอให้เกิดสุขก็ต้องไปหาคนใหม่มาบำเรอตน ทำให้คนเก่าที่ไม่สามารถสนองกิเลสได้อย่างใจถูกทิ้งให้กลายเป็นอดีต

ซึ่งจริงๆก็เป็นเรื่องที่ดีแล้วที่เราถูกทิ้ง เราไม่ได้ถูกคนดีทิ้งไป แต่เราถูกคนกิเลสหนาทิ้งไป คนกิเลสหนาก็ชั่วตามปริมาณของกิเลสที่มี คนที่ทิ้งคู่รักที่บำเรอตนไม่ได้ไปหาคนใหม่เพื่อจะสนองตนเองได้มากกว่า คือคนที่เสพไม่เคยพอ นั่นหมายถึงการที่เขาทิ้งไปคือ คนชั่วหนึ่งคนหายไปจากชีวิตเรา เราก็ควรจะยินดีที่ได้พ้นจากภาระ ที่ต้องคอยสนองกิเลสแก่กันและกัน ไม่ต้องสะสมบาปกันไปให้ชีวิตมันทุกข์ไปมากกว่านี้

การที่นักรบเปลี่ยนม้ากลางศึก ม้าตัวเก่าที่ถูกทิ้งก็มีโอกาสไปทำประโยชน์ให้ตัวเอง ดูแลตัวเอง แต่ม้าตัวใหม่ก็ต้องไปทำบาปร่วมกันนักรบคนนั้น ไปเป็นเครื่องมือที่เอื้อให้ไปทำร้ายทำลายผู้อื่น เรียกได้ว่าไปร่วมบาปกันนั่นเอง

เพราะจริงๆแล้วเราไม่รู้หรอกว่าความเป็นคู่รักนั้นจะไปสิ้นสุดลงตรงไหนแบบใด เราต้องเวียนว่ายตายเกิดตามไปผูกพัน ไปรัก ไปทุกข์กันอีกกี่ชาติกว่าจะจบ ต้องได้อีกเท่าไหร่กว่าจะสมใจหมาย เหมือนกับการเดินทางที่ไม่มีจุดหมาย ไม่รู้ว่าต้องเสพสุขจากความเป็นคู่รักอีกแค่ไหนถึงจะพอ แม้จะทำได้เพียงแค่ยึดเขาไว้เป็นของตนแล้วก็หลงคิดไปว่าเขาจะต้องอยู่กับเราตลอดไป

ดีเสียอีกที่เขาทิ้งเราตั้งแต่วันนี้ เพราะเราได้รู้จุดจบ ได้เรียนรู้ว่าชีวิตคือความพลัดพราก คู่รักนั้นไม่ยั่งยืน มีแล้วเป็นทุกข์ และมันก็ไม่ได้เป็นตัวเป็นตนอะไรของเราเลย ขาดเขาเราก็ยังอยู่ได้ ยังกินได้ ยังนอนได้ ยังหายใจได้ จริงๆแล้วเขากับเราไม่เกี่ยวกันเลยด้วยซ้ำ เราไปหลงเอาเขามาผูกเป็นคู่ไว้เอง พอเขาทิ้งเราหนีไปเราก็เสียใจ ทั้งที่จริงๆแล้วเขาไม่ใช่ของของเราตั้งแต่แรก ไม่มีใครมีกันและกันตั้งแต่แรก มีแต่คนที่หลงว่าการมีคู่เป็นสุข แล้วก็มาเจอกันร่วมเสพสุขบำเรอกิเลส ชาติแล้วชาติเล่า สร้างบาป สร้างอกุศลกันมากมาย ยิ่งเสพยิ่งหิว ได้เท่าไหร่ก็ไม่เคยอิ่ม จึงต้องหาคนมาเสพเพิ่ม ทำร้ายคู่ชีวิต วนเวียนกันล้างแค้นเอาคืนกันไม่จบไม่สิ้น

จะดีไหมหากเราจะ ”ขอบคุณ” ที่เขาได้ทิ้งเราไว้ก่อนที่จะผูกพันกันไปมากกว่านี้ ก่อนที่เราจะทำบาปร่วมกันไปมากกว่านี้ ก่อนที่เราจะผูกภพผูกชาติกันไปมากกว่านี้

จะดีไหมหากเราจะใช้ “การถูกทิ้งครั้งนี้เป็นโอกาส” ในการเลิกผูกปม เลิกจองเวรจองกรรม เลิกไปผูกพันกับใครให้ต้องคอยมาแก้ มาคอยแบกทุกข์กันอีก

จะดีไหมหากเราจะใช้ “อิสระที่ได้กลับคืนมา” ในครั้งนี้ ศึกษาให้เห็นเหตุและผลของเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ให้รู้ลึกถึงความเป็นมาว่าทำไมเราจึงต้องทนทุกข์ขนาดนี้ เหตุแห่งทุกข์คืออะไร และจะดับทุกข์นั้นได้ไหม แล้วจะดับด้วยวิธีอะไร

เราไม่จำเป็นต้องแบกรับภาระใดๆอีก ไม่ต้องคอยสนองกิเลสใคร ไม่ต้องให้ใครมาบำเรอกิเลสเรา นั่นหมายถึงเราไม่ต้องสร้างบาปใดๆแก่กันและกันอีก การที่เราถูกทิ้งนั้น หากจะมีอะไรเกิดขึ้นมาอีกก็คงจะมีแต่เรื่องดี เพราะเราได้ใช้กรรมชั่วไปหมดแล้ว ถูกทิ้ง ถูกทำให้ทุกข์ไปแล้ว รับกรรมไปแล้ว ผลของกรรมนั้นก็หมดไป เราก็ไม่ต้องสร้างเพิ่ม ไม่ต้องพยายามหาเหาใส่หัว ไม่ต้องไปแกว่งเท้าหาเสี้ยนให้ต้องลำบากทีหลัง

สรุปได้ว่า ดีแล้วที่ทิ้งฉัน ขอบคุณที่ทิ้งกันไว้ที่ตรงนี้ ดีแล้วที่ไม่ต้องพากันไปลงนรกอีก ขอบคุณที่เข้ามาให้ได้ชดใช้กรรมชั่วที่เคยทำไว้ และเห็นใจจริงๆกับบาปครั้งนี้ที่เธอได้ทำไว้ เพราะเธอคงต้องได้รับมัน “เหมือนกับที่ฉันได้เคยทำชั่วไว้หนักหนาจนมีผลของกรรมให้ต้องทนทุกข์เพราะโดนทิ้งในชาตินี้เช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

12.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คู่ครองกับกรรมเก่า

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,585 views 0

คู่ครองกับกรรมเก่า

เจอคู่ครองไม่ดี อย่ามัวโทษแต่กรรมเก่า

กิเลสตัวต้นเหตุ มันซ่อนอยู่ในกรรมนั้น

………….

เมื่อเราได้รับทุกข์จากคนที่คบหากัน แล้วมีทีท่าว่าจะจับมือใครดมไม่ได้ว่าต้นเหตุมันมาจากใคร สุดท้ายก็โยนความผิดทั้งก้อนไปให้กรรมเก่าของเรานั่นแหละ เพราะเราเคยทำกรรมมาก็เลยต้องมารับผลกรรม

การยอมรับกรรมที่ตนเองทำมานั้นก็เป็นเรื่องดีเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ก็ยังดีไม่สุดถ้ายังไม่สืบสาวไปถึงต้นเหตุว่าเราทำกรรมอะไรมา เช่นการที่เราต้องมาทุกข์เพราะเรื่องคู่ นั้นก็เพราะเราเอาเขาเข้ามาในชีวิตเอง เราอยากได้อยากเสพเขาเอง ไม่ใช่กรรมเก่าแต่ปางก่อนที่ไหน กรรมในชาตินี้ของเราเองที่ตามใจกิเลสจนให้เขาเข้ามามีบทบาทในชีวิตจิตใจ เพราะเราหลงยึดเขาไว้เอง

เราไม่สามารถโทษกรรมเก่าได้เลยหากเราไม่โดนบังคับให้คบ ไม่โดนคลุมถุงชน หรือโดนเอาปืนกรอกปากบังคับให้แต่งงาน แต่เราโดนกิเลสมันหลอกให้หลงไปคบหา ไปแต่งงาน เพราะหวังจะได้เสพสุข

ผู้ร้ายตัวจริงมันคือกิเลสนี่เอง ถ้าเราเอาแต่โทษกรรมและยอมรับกรรมให้มันจบไป แน่นอนว่าผลของกรรมนั้นจะหมดไปในวันใดวันหนึ่ง แต่กิเลสตัวบงการมันไม่ได้หายไปกับผลของกรรมนั้นๆ มันอยู่กับเราตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ยังรอคอยโอกาสล่อลวงเราด้วยสุขหลอกๆ และทำให้เราเป็นทุกข์อยู่เสมอ

ดังนั้นถ้าโยนปัญหาทุกอย่างให้กรรมแล้วรู้ไม่ทันว่ากิเลสอยู่เบื้องหลัง ก็เหมือนกับการจับผู้ร้ายผิดตัว สุดท้ายกิเลสก็ลอยนวล และเราก็ต้องรับผลของกรรมนั้นไปโดยไม่รู้ไม่เห็นเหตุ รู้ได้แต่ผลของกรรมทำให้ทุกข์ รู้ได้แค่ทำไม่ดีกับคนนั้นคนนี้มาเลยต้องมารับกรรม แต่ไม่รู้ว่าเหตุอะไรที่ผลักดันให้ทำสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้น นั่นหมายถึงไม่รู้กิเลส ไม่รู้ไปถึงเหตุแห่งทุกข์ สุดท้ายก็ไม่รู้จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร

– – – – – – – – – – – – – – –

2.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทางสายกลางของพุทธ

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,115 views 0

ดูละครซีรี่พระพุทธเจ้า ตอนที่ 35 เป็นบทที่แสดงการเทศนาครั้งแรก เนื้อหาที่สื่อมานั้นเข้าใจได้ง่าย ซึ่งผมจะหยิบยกในเรื่องของทางสายกลางในมุมทางโต่งสองด้านมาขยายกัน

อย่าให้ร่างกายอดอยาก หรืออย่าสนองกิเลสของมัน จงแน่วแน่อยู่ตรงกลาง” คือบทแปลในละครตอนนี้ เป็นสภาวะของทางสายกลางที่ถูกปั้นแต่งให้ดูเป็นบทพูดที่เรียบง่าย แต่ความจริงนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก ปฏิบัติได้ยาก

ทางสายกลางของพุทธไม่ใช่การอยู่ตรงกลางระหว่างทางโลกและทางธรรม แต่เป็นกลางบนทางธรรม ไม่เข้าไปในส่วนสุดโต่งสองด้าน คือทางกามสุขัลลิกะ (อย่าสนองกิเลสของมัน) และ อัตตกิลิมถะ (อย่าให้ร่างกายอดอยาก)

นั่นคือไม่เสพทั้งกามและไม่ทรมานตัวเองด้วยอัตตาที่ยึดดีถือดี นี่คือความโต่งที่ต้องเลี่ยง ซึ่งในทางปฏิบัติมันจะไม่ง่ายเพราะเดี๋ยวก็เซไปข้างหนึ่งที เซไปอีกข้างหนึ่งที หรือไม่ก็ไปติดอยู่ข้างใดข้างหนึ่งจนไปไหนไม่ได้

ผู้ปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาจึงควรไม่เอาตัวไปหมกกับการเสพสุขทั้งหลาย (กาม) และไม่ยึดดีถือดีจนสร้างความทุกข์ทรมานให้กับร่างกายและจิตใจของตน(อัตตา)

ผู้ที่ศึกษาอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา หรือไตรสิกขานั้น จะสามารถเข้าใจสภาวะของทางโต่งสองด้านและทางสายกลางได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อถือศีลใดๆแล้ว จะได้เรียนรู้ขอบเขตของความโต่งและทางสายกลางว่าจุดใดคือโต่งไปทางกาม จุดใดคือโต่งไปทางอัตตา และจุดใดคือตรงกลาง ซึ่งเมื่อปฏิบัติศีลนั้นจนชำระกิเลสในใจได้แล้วก็จะเข้าใจสภาพของทางสายกลางในศีลนั้นๆอย่างถ่องแท้

– – – – – – – – – – – – – – –

4.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,661 views 0

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

หลายคนอาจจะเคยรู้สึกว่าโลกไม่ยุติธรรม กฎแห่งกรรมไม่มีจริง ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดีสักที เพียรทำดีเท่าไหร่ก็ไม่เกิดผลดีดังใจหวัง ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น?

ถ้าคุณเคยมีความรู้สึกเหล่านี้….

  • ทำดีกับใครสักคนหนึ่ง แล้วเขาไม่ดีตอบ ไม่เห็นคุณค่า
  • ช่วยให้คำปรึกษาให้เขาคลายทุกข์ แต่เขากลับไม่เอาดีตามเรา
  • แนะนำสิ่งที่ดีให้กลับเขา แต่เขากลับเมินเฉย หันไปเอาทางผิดอีกด้วย
  • ทำดีเป็นตัวอย่าง แต่ก็ไม่มีใครสนใจใยดี
  • เป็นคนดีในสังคม แต่กลับโดนหาว่าไม่มีคุณค่า โดนหาว่าบ้า
  • . . . หรือการทำสิ่งดีใดๆก็ตาม ที่อยากให้เกิดผลดี แต่รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่เกิดผลดีเสียที

ในบทความนี้เราจะมาขยายเรื่องกรรมในมุมของการทำดีแล้วไม่ได้ดี ซึ่งจะมีเนื้อหาที่แบ่งเป็นหัวข้อด้วยกัน 6 ข้อ

1). ทุกข์เพราะไม่เข้าใจเหตุ

ทุกข์จากการทำดีแล้วไม่เกิดผลดีสมดังใจหมาย คือขุมนรกที่คอยเผาใจคนดี ให้หมดกำลังใจในการทำดี ให้ลังเลในความยุติธรรมของกรรม ให้หลงผิดในเส้นทางธรรม นั่นเพราะมีความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมที่ไม่ชัดเจน จึงไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่สมเหตุสมผลได้ ทั้งที่จริงทุกสิ่งที่เกิดนั้นสมเหตุสมผลที่สุดแล้ว แต่ที่เราไม่เข้าใจเพราะเราไม่รู้ว่า “เหตุ” ทั้งหมดนั้นมันมีอะไรบ้าง และมักเดาว่าสิ่งต่างๆไม่มีเหตุ พอไปเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผลก็เลยเป็นทุกข์เพราะไม่สามารถทำความเข้าใจและยอมรับสิ่งนั้นได้

2). กิเลสในคนดี

ความไม่เข้าใจในเรื่องกรรมบวกกับพลังของกิเลสจึงทำให้เกิดทุกข์มากขึ้น เรามักจะมีอาการอยากให้เกิดดีมากกว่าเหตุปัจจัยที่มี เป็นความโลภที่ผลักดันให้อยากได้ดีเกินจริง พอเห็นคนอื่นไม่เอาดีตามก็มักจะเกิดอาการไม่พอใจ โกรธ ผูกโกรธ พยาบาท ฯลฯ เพราะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งดีนั้น ซ้ำร้ายอาจจะมีอาการแข่งดีเอาชนะ ถือตัวถือตน ยกตนข่มคนอื่น ดูถูกดูหมิ่นเขาอีกที่เขาไม่เอาดี และเมื่อเห็นคนที่ไม่ได้ทำดีแต่กลับได้ดีก็อาจจะไปอิจฉาเขาอีกด้วย อาการเหล่านี้คือลีลาของกิเลส ที่ซ่อนตัวอยู่ในความดีที่ยังทำให้เป็นทุกข์อยู่นั่นเอง

3). กรรมเขากรรมเรา

ถ้าเราตระหนักว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน เรามีกรรมเป็นของตัวเอง กรรมดีที่เราทำก็เป็นของเรา กรรมที่เขาไม่เอาดีก็เป็นของเขา กรรมเรากับเขาไม่ได้ปนกัน กรรมเป็นของใครของมัน เราจะไม่ทุกข์ใจเลยหากว่าเราทำดีแล้วไม่เกิดผลดี เพราะความจริงนั้นมันมีความดีเกิดขึ้นมาตั้งแต่เราทำดีแล้ว ส่วนเขาจะเอาดีหรือไม่ก็เป็นกรรมของเขาไม่เกี่ยวกับเราเลย

แต่เรามักหลงเอากรรมของเราไปปนกับกรรมของเขา เอามาผูกกัน เอามาเกี่ยวโยงกันให้เป็นเรื่องเป็นราว แท้จริงแล้วเมื่อเราไม่ทำชั่วทำแต่ความดี ก็จะมีผลของการทำดีเกิดขึ้นกับเรา ผลใดที่เกิดหลังจากนั้นเป็นผลของกรรมจากหลายเหตุปัจจัยที่มาสังเคราะห์กัน เราก็รับแต่ผลของกรรมในส่วนของเรา ถ้าเผลอทำดีปนชั่ว เราก็แค่รับกรรมดีกรรมชั่วนั้นมาเป็นของเรา ไม่ต้องไปแบกกรรมของคนอื่นไว้ด้วย ทำดีแล้ววางดีเลย ปล่อยวางผลไปเลย จะเกิดอะไรขึ้นมันเรื่องของคนอื่น เมื่อเราได้ทำดีที่ได้ทบทวนแล้วว่าดีจริงไปแล้ว ก็จบเท่านั้น ไม่ต้องสนใจว่าผลจะเกิดดีตามที่ทำหรือไม่ ไม่ต้องทำดีเพื่อหวังผลให้เกิดดี

4). ทำดีไม่ได้ดีเพราะมีชั่วมากั้นไว้

การที่เราทำดีแล้วไม่เกิดผลดีให้เห็นนั้น เพราะมีกรรมชั่วของเรามากั้นไว้ ไม่ให้เราได้เห็นผลดีตามที่เราทำ กรรมชั่วเก่าของเราทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับกรรมของใครเลย กรรมอาจจะจัดสรรคนที่เหมาะสมต่อการชดใช้กรรมชั่วของเรา ให้เขาได้แสดงตามบทละคร ให้เราได้ชดใช้กรรมชั่วของเราโดยมีเขามาเล่นในบทบาทคนชั่วที่คล้ายเราในอดีต ให้เราได้รับกรรมของเราและเขาก็จะได้เรียนรู้ดีรู้ชั่วตามกรรมของเขาต่อไป

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครจะไม่เอาดีตามเรา แม้ในชาตินี้เราก็เคยไม่เอาดีตามที่คนอื่นแนะนำมามากมาย พ่อแม่บอกให้ขยันเรียน เพื่อนบอกให้แก้นิสัยเสีย ฯลฯ การไม่เอาดีในอดีตของเรานั้นสร้างกรรมไว้มากมาย นี่แค่ชาตินี้ชาติเดียวนะ เวลากรรมส่งผลก็อาจจะเอาส่วนของชาติก่อนๆมาด้วยเหมือนกัน ดังนั้นการที่เราคิดหวังว่าจะทำดีแล้วให้เกิดดีโดยคิดเข้าข้างตัวเองว่า ชาตินี้ฉันก็ไม่เคยดื้อ ชาตินี้ฉันก็เป็นคนว่าง่าย แต่ทำไมไม่มีใครยินดีฟังในสิ่งดีที่ฉันพูดเลย ฯลฯ นั่นเพราะไม่รู้เหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่เกิดสิ่งดี และเหมาเอาเองว่าถ้าตนเองทำดีจริงแล้วจะต้องเกิดดีทุกครั้ง พอกรรมเขาเล่นกลไม่ให้เป็นอย่างนั้น คนดีที่ไม่เข้าใจเรื่องกรรมก็อกหักอกพังกันไป

5). ทำดีแล้วได้ดีอย่างใจทุกครั้งไม่มีประโยชน์

การที่เราทำดี แนะนำสิ่งดี ช่วยเหลือ สงเคราะห์ ฯลฯ แล้วเกิดดีขึ้นทุกครั้งเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใดๆต่อการพ้นทุกข์ เพราะหากผลดีเกิดทุกครั้งก็จะไม่มีอะไรขัดใจ พอไม่มีอะไรขัดใจก็ไม่มีทางที่จะได้เห็นกิเลส ไม่เห็นความโลภของตัวเองที่อยากได้ดีเกินจริง ไม่เห็นความโกรธ ไม่เห็นความอิจฉาในการทำดีของผู้อื่นฯลฯ

การทำดีแล้วได้ผลดีนั้นเป็นเรื่องของโลก แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะพาให้พ้นจากวิสัยของโลก การไปสู่โลกุตระไม่ได้ไปด้วยการทำดี แต่จะไปได้ก็ต่อเมื่อทำลายกิเลสซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดให้ติดอยู่กับโลก ดังนั้นการทำดีแล้วไม่ได้อย่างใจหวังนี่แหละเป็นเครื่องมือในการขัดเกลากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง

การทำดีแล้วได้ผลดีอาจจะได้ประโยชน์ในด้านความสุข ความสบาย แต่ไม่ใช่ประโยชน์ในด้านการพ้นทุกข์ เพราะความสุขความสบายที่ได้รับมานั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วรอวันดับไป ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร และส่วนมากก็เป็นเพียงสุขลวงที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกซ้อนไว้อีกที

6). ทำดีไม่เท่ากับล้างกิเลส

การทำดีนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ชาวโลกยอมรับ แต่การมุ่งทำแต่ความดีเพื่อให้พ้นทุกข์นั้นไม่ใช่หลักของพุทธศาสนา แม้ว่าแนวคิดและข้อปฏิบัติของลัทธิอื่นทั่วโลกจะมุ่งสอนให้คนหยุดชั่วทำดี แต่ในหลักการของพุทธยังมีมิติที่ล้ำลึกกว่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่หลุดโลก(โลกียะ) อยู่เหนือโลก ไม่อยู่ในวิสัยของโลก พ้นจากโลกไปแล้ว นั่นคือสภาพของโลกุตระที่เกิดจากการชำระล้างกิเลสในสันดานให้หมดไปโดยลำดับ

การล้างกิเลสไม่ได้ทำให้เกิดผลดีโดยตรง ที่เห็นได้ง่ายเหมือนกับการทำดีที่สังคมเข้าใจโดยทั่วไป เพราะเป็นการเข้าไปทำลายกิเลสซึ่งเป็นเชื้อชั่ว ทำลายเชื้อที่ทำให้เกิดทุกข์เป็นหลัก เมื่อทำลายกิเลสเรื่องใดได้ ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องไปทำความชั่ว ไปสร้างทุกข์ในเรื่องนั้นๆ แม้จะไม่เกิดดีให้เห็น แต่ก็ไม่มีทุกข์ นั่นหมายถึงจะไม่ตกต่ำไปสู่ความทุกข์ ส่วนจะทำความดีตามสมมุติโลกหรือตามที่สังคมเข้าใจนั้นหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มุ่งกำจัดทุกข์เป็นหลัก เรียนเรื่องทุกข์และสืบหาต้นเหตุของปัญหาเหล่านั้นจนกระทั่งทำลายมันทิ้งจนหมด เราอาจจะเคยเห็นคนดี ทำดี ปฏิบัติตัวดี แต่หนีไม่พ้นทุกข์ ซึ่งข้อปฏิบัติของพุทธจะมาอุดรอยรั่วตรงนี้ จะทำให้คนดีที่ทำดี ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะความยึดดีและความไม่เข้าใจในเรื่องของกรรม

การล้างกิเลสจะทำให้คนเป็นคนดีแท้ แม้อาจจะไม่ดีอย่างออกหน้าออกตาหรือดีอย่างที่โลกเข้าใจ แต่จะดีเพราะไม่มีชั่วปนอยู่ ไม่มีความหลงผิดปนอยู่ เป็นความดีแบบที่พ้นไปจากโลก ไม่หลงวนอยู่ในโลก แม้จะยังต้องอยู่ในสังคมแต่ก็จะสามารถอนุโลมให้เกิดดีไปด้วยกันได้ แต่ก็จะไม่ยึดดีในแนวทางของโลก เพราะรู้ดีว่าโลกุตระนั้นสุขยิ่งกว่า ดีเยี่ยมยิ่งกว่า และสมบูรณ์ที่สุดจนหาอะไรเปรียบไม่ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

3.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)