เชื่อมร้อยความดี ด้วยกระทงกระดาษ
ถ้าใครได้ไปสนามหลวงในช่วงที่โรงทานต่าง ๆ ยังอยู่ในสนามหลวง จะเห็นได้ว่ามีจิตอาสามากหน้าหลายตาที่นำทั้งสิ่งของและแรงงานมาแบ่งปัน แต่ในวันนี้ไม่เหมือนวันนั้น การแบ่งปันสิ่งของทำได้ยากขึ้น แรงงานก็เช่นกัน
ทุกวันนี้คนที่อยากทำดีหลายคนเกิดสภาพตกงาน ถึงจะมาทำดีก็ใช่ว่าจะหางานทำได้เหมือนสมัยก่อน มีเพียงบางกิจกรรมเท่านั้นที่ยังเอื้อให้ทุ่มเททุนทรัพย์และแรงกายแรงใจทำความดีต่อไปได้ หนึ่งในนั้นคือกิจกรรมโรงทาน
แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมาเปิดโรงทานกันได้ง่าย ๆ เหมือนสมัยก่อน ตอนนี้มีทั้งกฎ ระเบียบ หรือข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีสิทธิที่จะร่วมทำความดีได้ คือการพับกระทงกระดาษมาสนับสนุนงานโรงทาน
ผมมองเห็นว่า นัยสำคัญของการพับกระทงกระดาษ คือการเชื่อมร้อยความดี ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถสั่งหรือใช้กระทงกระดาษสำเร็จรูปที่มาจากโรงงานเลยก็ได้ ซึ่งอาจจะมีต้นทุนต่ำกว่าด้วยซ้ำ แต่สิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้เชื่อมร้อยความดี ไม่ได้ร่วมจิตวิญญาณ คือมีแต่วัตถุ ไม่มีพลังความดีที่เกื้อหนุนกัน
การจะได้กระทงกระดาษมาสักหนึ่งชิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีกระบวนการในการพับ ซึ่งต้องสละเวลาและแรงงาน ตรงนี้เองที่เป็นประเด็นสำคัญ ในชีวิตของคนเราทุกคนสามารถเลือกที่จะทำอะไรก็ได้เท่าที่ตนสามารถทำได้ แต่การจะเลือกพับกระทงกระดาษ หรือทำความดีเพื่อคนอื่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกิเลสจะชักจูงเราออกไปทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นเสมอ
หรือถ้ามองง่าย ๆ ตื้น ๆ ประมาณว่า “โรงทานต้องการใช้กระทงกระดาษ ก็เอาเงินเทลงไปเลย ซื้อกระทงกระดาษสำเร็จรูปไปให้เลยแล้วเอาเวลาไปเที่ยวเล่นหาความสุขใส่ตัวดีกว่า” อะไรประมาณนี้ ผมมีความเห็นว่าความดีไม่ได้สร้างได้ด้วยเงิน ศาสนาไม่ได้เกิดขึ้นจากคนโยนเงินลงมา แต่เกิดจากคนพากเพียรทำความดี เงินเป็นองค์ประกอบร่วม แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความดีเท่าไรนัก จิตวิญญาณของคนที่คิดจะทำดีต่างหาก คือความยิ่งใหญ่
เมื่อเห็นดังนั้น ผมจึงให้ความสำคัญกับการพับกระทง แม้ว่ามันจะไม่สวยหรู ต้องใช้เวลา หรือมีต้นทุนในการผลิตและจัดส่งที่มากก็ตาม แต่สิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้ขาดทุนเลย เพราะการที่เราจดจ่ออยู่กับการทำความดี ที่ร่วมกันทำในโอกาสพิเศษนี้ เป็นสิ่งที่เชื่อมร้อยความดี เชื่อมร้อยจิตวิญญาณ เป็นกุศลกรรมที่จะผูกพันกันไปในอนาคตข้างหน้า
ในโลกนี้มีความดีมากมายให้ทำก็จริง แต่ดีไหนล่ะที่จะเชื่อมต่อกับคนดีได้มากที่สุด แล้วคนแบบไหนล่ะที่เราเห็นว่าเป็นคนดีมากที่สุด เราก็ทำดีนั้นแหละให้ได้มากที่สุด ตามกำลัง ตามปัญญา ตามองค์ประกอบเหตุปัจจัยของเรา
เพราะถ้าหากเราไม่เพียรทำความดีแล้ว กิเลสก็ย่อมจะลากเราไปทำชั่ว ไปทำในสิ่งที่ไร้สาระและไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร ไม่เกื้อกูลแบ่งปันเสียสละ จนสุดท้ายเหตุการณ์สำคัญผ่านไป ต้องเสียโอกาสในการสร้างประโยชน์เหมือนภาพจิตอาสาตกงานที่ปรากฏเด่นชัดมากขึ้นในทุกวันนี้
ชีวิตก็เช่นกัน หากเกิดมาแล้วมัวหลงระเริงกับการใช้ชีวิตไปตามกิเลส จนสุดท้ายชีวิตหนึ่งได้ผ่านพ้นไป ก็ต้องเสียโอกาสในการสร้างประโยชน์ เหมือนกับชีวิตทั่วไปที่เกิดมา เติบโต หากิน แล้วก็ตายไป พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย
เกริ่นกันมาก็ยาว ในบทความนี้ก็อยากจะขอเชิญชวนทุกท่านร่วมพับกระทงกระดาษแล้วนำส่งมายังโรงครัวต่าง ๆ ในพื้นที่โรงครัวที่หน่วยงานรัฐได้จัดสรรไว้ ซึ่งในตอนนี้อยู่แถวสะพานผ่านพิภพลีลา
27.6.2017
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
รอยทางของพระโพธิสัตว์
รอยทางของพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์คือผู้ที่มาบำเพ็ญ ช่วยเหลือผู้คนให้ข้ามพ้นทะเลแห่งทุกข์ที่ท่วมท้นด้วยกิเลสตัณหา โดยนำพาเหล่าคนผู้หลงผิดเหล่านั้นผ่านรอยทางที่ท่านได้กรุยทางไว้ด้วยความยากลำบาก
พระโพธิสัตว์องค์ที่ใหญ่ที่สุดและมีบารมีมากที่สุดที่หลายคนรู้จักกันคือ พระพุทธเจ้า ท่านก็มาทำหน้าที่ถากถางทางที่รกและวกวนให้เป็นทางเดินสู่การพ้นทุกข์ที่ชัดเจน เรียกว่าสัมมาอริยมรรค
ผ่านไปสองพันกว่าปี ทางที่ท่านเคยถากทาง มีหญ้า มีต้นไม้ มีป่าขึ้นรกทับถมเส้นทาง ทางแห่งความผาสุกนั้นมีอยู่ แต่น้อยคนจะรู้ชัดว่าทางไหนเป็นทางที่แท้จริง เขาเหล่านั้นก็เดินตามทางที่ตนเข้าใจว่าถูกและก็หลงป่ากันไปตามวิบากกรรมของแต่ละคน
ในปัจจุบันนี้มีบุคคลที่ผู้คนส่วนหนึ่งยอมรับและเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นพระโพธิสัตว์ที่มาบำเพ็ญในยุคนี้ ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ได้บำเพ็ญถากถางทางที่รกและเต็มไปด้วยอุปสรรคตามกำลังและบารมีของท่าน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนในโลกจะเห็นพ้องต้องกันว่าทางนั้นเป็นทางที่ถูก ในปัจจุบันมีการสอนธรรมะที่แตกต่างกันมากมายจนเรียกว่า ณ จุดที่ยืนอยู่คุณสามารถเดินได้ทุกทิศทุกทางที่มีผู้คนอ้างว่าเป็นทางที่ถูก ซึ่งในความจริงแล้วมันมีแค่ทางเดียว ทิศเดียว แนวปฏิบัติเดียวเท่านั้น
ซึ่งไม่ว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตามทางที่ถูก ทางเหล่านั้นก็จะถูกลบเลือนด้วยกาลเวลา พระโพธิสัตว์ท่านก็จะบำเพ็ญของท่านไปเรื่อย ๆ นำพาคนที่ดำเนินรอยตามไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็จะห่างไกลจากคนที่ยังไม่เริ่มเดินตามหรือคนที่หลงทางไปเรื่อย ๆ เช่นกัน และกาลเวลาที่ผ่านไปก็จะสร้างหญ้ารก ต้นไม้ทึบ ป่าแน่นหนาขึ้นมาอีกครั้ง รอยทางของพระโพธิสัตว์ได้หายไปอีกครั้ง และหายไปจนกว่าจะมีองค์ใหม่เกิดขึ้นมาบำเพ็ญ ก็เส้นทางเดิมนั่นแหละ เส้นทางเดียวกับพระโพธิสัตว์องค์ก่อน เส้นทางเดียวกับพระโพธิสัตว์รุ่นปู่ รุ่นพ่อ รุ่นพี่ ฯลฯ
ทางที่ถูกถากถางด้วยความลำบากลำเค็ญ เพื่อที่จะนำพาคนที่แสวงหาทางพ้นทุกข์ได้เดินตามไป ทางนั้นมีอยู่ แต่ไม่ได้ถูกแสดงอยู่อย่างถาวร มันจะคงอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น คนที่พากเพียรปฏิบัติไปตามท่านเหล่านั้นทัน ก็จะพบกับความผาสุก คนที่ปฏิบัติตามไม่ทัน ไม่พากเพียร ไม่เดินตาม สุดท้ายก็จะพลัดกลุ่ม หลงป่าในที่สุด ถ้าไม่หลงผิดเดินไปผิดทางก็บำเพ็ญเพียรตามภูมิปัญญาของตัวเองเพื่อรอพระโพธิสัตว์องค์ใหม่ ที่จะเกิดมาแล้วเดินตามท่านอีกที
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นผู้ที่ทำให้ผู้คนเห็นภาพของพระโพธิสัตว์ได้ชัดเจน ซึ่งท่านได้ใช้เวลาทั้งชีวิตของท่านสร้างเส้นทางให้เราเดินตาม และแน่นอนว่าเส้นทางนั้นไม่ได้คงอยู่ตลอดไป ในขณะที่โลกจะหมุนไปสู่กลียุค ยุคที่มีความโลภ โกรธ หลงอย่างรุนแรง ความพอเพียงนั้นคือสิ่งที่ขัดต่อกิเลส ดังนั้นโลกจะไม่เจริญไปสู่ความพอเพียง แต่จะตกลงไปสู่ความเสื่อม นั่นหมายถึงทางแห่งความพอเพียงที่พ่อหลวงได้สร้างไว้ ในวันใดวันหนึ่งก็จะถูกกิเลสตัณหาฝังกลบ ทางแห่งความพอเพียงนั้นมีอยู่ แต่คนที่มองเห็นทางนั้นอาจจะไม่มีแล้ว กิเลสตัณหานั้นเหมือนหญ้า ต้นไม้ และป่าที่ปิดทับเส้นทาง
ในวันนี้ผู้คนต่างตั้งใจที่จะติดตามท่านไปไม่ว่าจะชาติไหน ๆ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะติดตามท่านไปได้ จะมีเฉพาะผู้ที่เดินตามท่านทันเท่านั้น หมายถึงผู้ที่ปฏิบัติจนถึงความพอเพียงได้อย่างที่ท่านสอนจริง ลดโลภ โกรธ หลงได้จริง แม้วันนี้จะผ่านมาไม่นานจากวันที่ท่านได้จากเราไป แต่ความผิดเพี้ยนก็มีให้พบเห็นมากขึ้นเป็นระยะ เช่นบอกว่าปฏิบัติตามท่าน พอเพียงตามท่าน แต่ยังเอามาก โลภมาก สะสมมาก นี่คือลักษณะของผู้ติดตามที่หลงทาง คือติดตามท่านไม่ทันเลยหลงป่าที่เต็มไปด้วยกิเลส แต่ยังเข้าใจว่าตามทันอยู่
โลกนี้ก็เหมือนป่าที่เต็มไปด้วยกิเลส ทางที่จะหลุดพ้นมีทางเดียวเท่านั้น พระโพธิสัตว์ท่านมาถากถางทางให้เห็น แล้วท่านก็จากไป ป่านั้นกว้างใหญ่ ใครเล่าจะรู้ว่าพระโพธิสัตว์เกิดที่ไหนบ้าง รอยทางไหนบ้างที่เป็นทางที่แท้จริง ในยุคนี้ยังมีทางที่ชัดเจนเหลืออยู่ ยังมีหลักฐานที่ตรวจสอบแล้วตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ยังพากเพียรปฏิบัติได้ทันอยู่ แต่วันใดวันหนึ่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายได้จากไปแล้ว ทางที่ถูกต้องเหล่านั้นก็จะเลือนหายไปตามกาลเวลาเช่นกัน
12.6.2017
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ปลาข้างทาง
ปลาข้างทาง
เช้าเมื่อวานฝนตกลงมาอย่างหนัก และค่อย ๆ ซาไปในตอนสาย ระหว่างที่ผมกำลังเดินออกจากบ้านเพื่อที่จะไปขึ้นรถประจำทาง ก็พบกับปลาตัวหนึ่งนอนอยู่ข้างทาง
ปลาตัวนี้ตัวไม่ใหญ่นัก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปลาจะมาอยู่บนถนนหลังฝนตก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เจอได้บ่อย ๆ ปลาจะมาตามท่อที่น้ำล้นและติดอยู่บนถนนเมื่อน้ำลด
ผมยืนดูปลาตัวนี้สักพัก ก็คิดว่าจะเอาอย่างไรกับมันดี มันก็อยู่ข้างทาง รถก็วิ่งผ่านมาใกล้ ๆ เห็นท่าจะรอดยาก ไม่ตายเพราะรถก็ตายเพราะมด แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าพกถุงพลาสติกไว้ใส่ของกันฝน ก็เลยเอาปลาใส่ถุงแบบรวมน้ำ ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าจะเอาไปปล่อยที่บึงสาธารณะใกล้บ้าน แต่พอคิดไปคิดมาก็นึกขึ้นได้ว่า เหมือนบึงเขาจะไม่ให้ปล่อยสัตว์น้ำ สุดท้ายก็เลยปล่อยปลาลงท่อไป
จากเหตุการณ์นี้ก็นึกขึ้นได้ว่า หากจะปล่อยปลาให้ถูกธรรม ก็คงจะต้องปล่อยแบบนี้ คือมีปลามานอนพะงาบพะงาบต่อหน้าแล้วช่วยมัน ทำแบบนี้ไม่มีผลเสียกับใคร และไม่ผิดธรรมด้วย ส่วนที่ซื้อปลาไปปล่อยนั้น พวกเขาผิดตั้งแต่ซื้อขายชีวิตสัตว์แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า อย่าทำการค้าที่ผิด มันจะไม่พ้นทุกข์ หนึ่งในนั้นคือค้าขายชีวิตสัตว์ (มิจฉาวณิชชา ๕) ดังนั้นเมื่อเราไปข้องเกี่ยวกับกระบวนการขายชีวิตสัตว์ ไม่มีทางเลยที่เราจะได้มันมาอย่างถูกธรรม มันผิดแน่ ๆ และไม่ควรประเมินว่าผลสุดท้ายมันจะดีกว่า ในเมื่อกระดุมเม็ดแรกมันผิด เม็ดต่อ ๆ ไปมันก็ติดผิดไปเรื่อย จะดีกว่าไหมที่เราจะแก้ความเห็นผิดตั้งแต่แรก ให้มันไม่ต้องผิดซ้ำผิดซ้อนกันไปอีก
เพราะพุทธทุกวันนี้แทบจะไม่รู้ผิดรู้ถูกกันแล้ว เอาแต่ตามที่ใจเห็นว่าดี เอาแต่ตามที่ประเพณีเห็นว่าควร ส่วนจะถูกธรรม ถูกตามที่พระเถระ(เถรวาท) ได้รวบรวมไว้หรือไม่นั้นชาวพุทธส่วนมากไม่ได้สนใจแล้ว ซึ่งมันก็ไม่แปลกว่าทำไมบ้านเมืองมีแต่เรื่องน่าสลด นั่นเพราะกระดุมเม็ดแรกมันติดไว้ผิด เม็ดต่อมาจนถึงปัจจุบันก็ผิดหมดนั่นแหละ หากใครได้ศึกษาและตรวจสอบตามหลักฐานจนพบว่าสิ่งที่ตนเองมีความคิดเห็นหรือความเข้าใจที่ผิด ก็ให้รีบเร่งแก้ไขความเห็นผิดนั้น เพราะการแก้ตัวไม่ได้ช่วยให้ความเห็นผิดนั้นกลับเป็นถูกได้ แม้จะเถียงชนะโลก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะชนะมารและพ้นจากความเห็นผิดไปได้
6.5.2560
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์