มังสวิรัติ การกินมื้อเดียว
มหาอำนาจผู้เบียดเบียน
มหาอำนาจผู้เบียดเบียน
หลายวันก่อนระหว่างไปทำธุระในเมือง ผมเห็นรถขนหมูจอดอยู่ข้างทางใกล้ ๆ กับที่ที่ต้องแวะ จึงเดินไปดู เห็นสภาพของหมูแล้วก็รู้สึกเห็นใจ แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ผมก็ทำได้แค่มองมัน มันก็ทำได้แค่มองผม …จนถึงป่านนี้หมูเหล่านั้นก็คงจะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว
คนเป็นสัตว์ที่มีอำนาจ สร้างอำนาจ บ้าอำนาจ พยายามควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามที่คนคิด แม้แต่การสร้างกฎ สร้างค่านิยม หรือสร้างอธรรมมาหลอกลวงตนเองและผู้อื่นว่าเป็นธรรม จนหลงแบบมืดบอดสนิท ว่าสิ่งที่เบียดเบียนที่เห็นกันอยู่ชัด ๆ คือสิ่งที่ไม่เบียดเบียน
คนแต่ละคนก็มีอำนาจเป็นของตัวเอง อย่างน้อยก็มีอำนาจในการทำลายชีวิตสัตว์ เงินคือตัวแทนของอำนาจนั้น เมื่อคุณมีเงิน ก็หมายถึงคุณมีอำนาจที่จะส่งเสริมการทำลายชีวิตสัตว์ได้ เพื่อแลกมาซึ่งการบำเรอสุขตนหรือสนองค่านิยมของตน บางคนหลงว่าเนื้อสัตว์นี่เป็นของดีของเลิศ คนจนไม่มีเนื้อดี ๆ กิน ต้องรวยถึงจะซื้อเนื้อแพง ๆ มากินได้ เนื้อสัตว์จึงเป็นสิ่งแสดงความบ้าอำนาจของคนในทางหนึ่ง ดังที่เห็นเขาอวดกันว่าไปกินเนื้อนั้นเนื้อนี่ราคาหลักพัน หลักหมื่น หลัก…
อำนาจลักษณะนี้แม้มี แม้เด่นดังเพียงไร ก็ยังเป็นอำนาจที่ยังหลงยุค ยังไม่พ้นยุคค้าทาสบำเรอกามบำเรออัตตาตน ยังใช้อำนาจใด ๆ ที่ตนมีเพื่อเป็นไปในทางส่งเสริมให้ข่มเหงรังแกสัตว์อื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขส่วนตน ยังเป็นผู้มีอำนาจที่ยังเบียดเบียนอยู่
อำนาจที่ยังล้าสมัย ป่าเถื่อน เบียดเบียนเช่นนั้น ไม่ได้นำมาซึ่งการสร้างสรรค์ใด ๆ ไม่เป็นไปเพื่อความเจริญในธรรม แต่เป็นไปเพื่อความเสื่อม ตกต่ำ เป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่นในท้ายที่สุด
ผู้มีอำนาจที่แท้จริง คือผู้ที่สามารถหยุดความบ้าอำนาจในตนได้ สามารถหยุดอำนาจชั่วที่กำลังจะไปเบียดเบียนผู้อื่นได้ จริงอยู่ที่ว่าเราไม่มีอำนาจจะไปช่วยสัตว์ทั้งหมดได้ แต่เราสามารถสร้างอำนาจเพื่อช่วยจิตที่ยังหลงทางของเราได้ ให้ออกจากความมัวเมาลุ่มหลงว่าค่านิยมการกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นเรื่องธรรมดา
ซึ่งมันก็ใช่ ที่เขาว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่มันเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ยังยินดีในการฆ่าสัตว์ เพราะเมื่อเขาใช้เงินซื้อเนื้อสัตว์มา ก็ย่อมยินดีให้สัตว์นั้นตาย ย่อมยินดีให้โรงฆ่าสัตว์คงอยู่ ย่อมยินดีให้มีการล่าล้างทำลายสัตว์ในทุก ๆ วัน เพื่อที่จะให้เขาได้มีเนื้อสัตว์กิน ไม่ขาดแคลน ความยินดีในสิ่งเหล่านั้นล้วนเกิดจากสภาพจิตที่หลงทาง หลงว่าการเบียดเบียนที่รับรู้และเห็นอยู่ตรงหน้านั้นไม่มีผลร้าย ไม่มีผลเสียต่อตนและผู้อื่น ไม่มีภัยแก่ตน แม้ตนจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็ตาม
ผู้ที่ยังยินดีในการกินเนื้อสัตว์ ก็คือผู้ที่ยังยินดีให้เขาฆ่าสัตว์ หมายถึงจิตยังเสมอกันกับผู้ฆ่า แต่ผู้ที่มีอำนาจในตน มีอำนาจหยุดการเบียดเบียน จะไม่ยินดีในการฆ่า ไม่ส่งเสริมให้ฆ่า และยินดีในธรรมที่ไม่เบียดเบียนที่ผู้คนได้แสดงอยู่ เหล่านี้เป็นเพียงอำนาจเบื้องต้นของพุทธศาสนิกชนในฐานศีล ๕ ในทุกวันนี้ศาสนาพุทธได้ตกต่ำถึงขนาดดึงมาตรฐานศีล ๕ ตกต่ำตามไปด้วย ดังนั้นถ้ายึดเอาตามหลักทั่วไปตอนนี้ก็เรียกได้ว่าตกต่ำจนน่ากลัว เพราะผู้มีอำนาจที่ยินดีในการเบียดเบียนย่อมฉุดดึงธรรมลงต่ำเป็นธรรมดา
ดังนั้นเราควรจะตระหนัก และตรวจจิตตนว่า เรายังยินดีในการฆ่าหรือไม่ เรายังยินดีที่ได้รับของที่เขาฆ่ามาหรือไม่ เรายังยินดีในการส่งเสริมผู้คนหรือกิจกรรมที่ฆ่าสัตว์หรือไม่ ถ้าเรายังยินดีอยู่ ยังอยากให้เขาคงอยู่ ยังต้องพึ่งการมีอยู่ของเขา เมื่อไม่ได้กินเนื้อสัตว์เรารู้สึกเป็นทุกข์ ทรมาน โหยหวน โหยหา คร่ำครวญถึงเมนูเนื้อสัตว์เหล่านั้น นั่นหมายถึงเรายังโดนอำนาจของกิเลสครอบงำ ยังเป็นมหาอำนาจที่เป็นทาสของกิเลส เพราะกิเลสจะพาให้ยินดีในการเบียดเบียน ไม่ยินดีในการไม่เบียดเบียน สุดท้ายก็ยังคงต้องเป็นทาสของเหล่าผู้คนที่มีจิตต่ำกว่าศีล ๕ เป็นหุ้นส่วนของคนพาล เพียงเพื่อจะได้เนื้อสัตว์มาบำเรอตน
10.10.61
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ยังยินดีกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ก็ยังยินดีในการฆ่า
ยังยินดีกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ก็ยังยินดีในการฆ่า
ภาพนี้กำลังนึกถึงการสื่อสารให้ง่ายและกระชับขึ้นอีก แต่ก่อนก็เคยเขียนภาพลักษณะนี้ไปบ้างแล้ว แต่ก็รู้สึกว่ายังมากไปนิด ทั้งรายละเอียดและเรื่องราว อันนี้ก็เป็นแบบเดิมที่ตัดทอนรายละเอียดลงอีก ให้เข้าใจง่าย ซึ่งจะเข้าใจได้จริงหรือไม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็ลองวาดไปครับ
ดูการ์ตูนอื่น ๆ ได้อีกที่เพจ Veggie kitchen
เลือกกิน เลือกกรรม
เลือกกิน เลือกกรรม
ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา มีความรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดทำไปแล้วเป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ หรือสิ่งใดเป็นไปเพื่อความทุกข์และเสื่อมถอย นั่นเพราะมีความรู้ในเรื่องกรรมและผลของกรรมอย่างแจ่มแจ้ง
พระพุทธเจ้านั้นท่านเป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง กรรมใดที่กระทำลงไปแล้ว จะให้ผลดีร้ายเช่นไร ท่านรู้ได้ทั้งหมด ท่านยังตรัสไว้ด้วยว่า “บาปแม้น้อย อย่าทำเสียเลยดีกว่า” ท่านยังเปรียบไว้อีกว่า “เราไม่ควรดูหมิ่นในบาปที่เล็กน้อย แม้น้ำหยดทีละหยดก็ทำให้หม้อเต็มได้ บาปนั้นก็เช่นกัน” นั่นหมายถึง แม้อกุศลกรรมเพียงเล็กน้อยก็มีผล การกระทำใด ๆ ล้วนมีผลทั้งหมด และมีผลต่างกันไปตามเหตุของกรรมนั้นๆ
ศาสนาพุทธนั้นปฏิบัติไปเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ปฏิบัติไปเพื่อสั่งสมความทุกข์ให้กับตนเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ใน “อนายุสสสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๑๒๕)” ว่าด้วยเหตุที่ทำให้อายุสั้นและอายุยืน หนึ่งในเหตุที่ทำให้อายุสั้นนั้นคือกินของที่ย่อยยาก และเหตุที่ทำให้อายุยืนนั้นคือกินของที่ย่อยง่าย ซึ่งพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ปฏิบัติไปเพื่อให้เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น การที่ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอายุยืนจะเป็นประโยชน์มาก เรื่องนี้คงจะไม่มีใครเห็นแย้ง ดังนั้นเพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ก็ควรจะเลือกกินของที่ย่อยง่ายเป็นหลัก หากไม่ได้ยึดว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราของเราก็ควรจะเลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายนี้และเพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์จากการที่ร่างกายนี้ยังทำงานได้ดีอยู่
เช่นเดียวกับคนที่มีอาการแพ้อาหารบางอย่าง การ “เลือกที่จะไม่กิน” อาหารที่แพ้นั้น ก็ถือว่าเป็นปัญญาทั่วไป ไม่ทำความลำบากให้แก่ตน เพราะถ้ากินไปแล้วป่วยหรือเสียชีวิต ก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใดเลย เพราะการทำความลำบากให้แก่ตนนี้เป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้อายุสั้นตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้
เช่นเดียวกับคนที่เลือกเฟ้นอาหารที่มีคุณค่า เลือกอาหารที่ไร้สารพิษ และ “เลือกที่จะไม่กิน” อาหารหรือวัตถุดิบที่มีสารพิษมากเช่น เนื้อสัตว์ พืชผักรวมถึงวัตถุดิบอื่นๆ ที่มีโอกาสที่จะมีสารพิษตกค้าง แม้แต่การเลือกที่จะไม่กินอาหารขยะ , ขนม นม เนย ฯลฯ ก็เป็นการทำความสบายให้แก่ตน ให้ตนได้มีสุขภาพดี อายุยืน อย่างน้อยก็ลดเหตุปัจจัยในการเกิดโรคลงได้ การทำความสบายให้แก่ตนนี้เป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้อายุยืนตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้
ในส่วนของฆราวาสนั้นก็คงไม่ได้ปฏิบัติยากเท่าไหร่ ผู้ที่อยากเป็นอยู่อย่างผาสุกก็จะเลือกสิ่งที่ย่อยง่ายและไม่มีโทษให้กับตนเอง และจะเลือกสิ่งดีเหล่านั้นแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นด้วยเช่นกัน
แล้วทีนี้นักบวชล่ะจะทำอย่างไร ในเมื่อนักบวชควรจะเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย แล้วจะเลือกกินสิ่งที่ดีมีประโยชน์อย่างไร
นักบวชในพระพุทธศาสนานั้นมีจะกระบวนการหนึ่งที่เรียกว่าเป็นการพิจารณาอาหาร คือพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ และพิจารณาลงไปให้ลึกถึงกิเลสภายใน สิ่งใดเสพแล้วลดกิเลส สิ่งใดเสพแล้วเพิ่มกิเลส และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ให้เข้าถึงสิ่งนั้น สิ่งใดที่เป็นโทษให้ละเว้นสิ่งนั้นเสีย นี่คือการเลือกอย่างชัดเจน
คำว่าผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่ายนั้นหมายรวมถึงผู้ที่ไม่ทำตนให้เป็นภาระด้วย ดังที่กล่าวมาข้างตน ถ้ากินไม่เลือกแล้วเกิดผลให้เจ็บป่วย เป็นโรค ก็ไม่ควรเรียกว่าเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย เพราะการเจ็บป่วยนั้นจะทำให้เป็นผู้เลี้ยงยากบำรุงยากในทันที
จริงอยู่ที่นักบวชนั้นไม่ควรเลือกที่จะรับตามที่สมมุติโลกนั้นเข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามเลือกที่จะกิน ทุกกรรมกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างกินนั้น ล้วนมีผลทั้งหมดทั้งสิ้น มือที่เอื้อมไปตักของที่ย่อยยากและมีโทษมากเช่นเนื้อสัตว์ ก็ควรกำหนดรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ ไม่เป็นไปเพื่อความสบาย ทุกการขยับ การตัก การนำเข้าปาก การเคี้ยว ล้วนมีผลทั้งหมดทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่าไม่มีความรู้เรื่องกรรม ไม่มีสติมากพอจะจับเจตนาซึ่งอาจจะปนเปื้อนด้วยกิเลส ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า อันนี้เราทำบาปกรรมอยู่ จึงสะสมบาปกรรมที่ไม่รู้ตัวว่าทำไปเรื่อย ๆ ซึ่งตรงกับที่ยกไว้ข้างต้นว่า บาปแม้น้อยก็สะสมกลายเป็นบาปที่เต็มรูปได้ เมื่อบาปเต็มที่ กิเลสก็เต็มขั้น กามก็โต อัตตาก็แกร่งกล้า ถ้าไม่สึกไปแสวงหากาม ก็แสวงหากามในคราบผ้าเหลืองนั่นแหละ
พระพุทธเจ้าตรัสเหตุของการเกิดตัณหาใน “ตัณหาสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๙)” ไว้สี่ข้อ โดยรวมแล้วก็คือปัจจัยสี่ หนึ่งในนั้นคือ ตัณหาเกิดด้วยการบิณฑบาต นั่นก็หมายถึงกิเลสมันเกิดก็เพราะเรื่องห่วงกินนี่แหละ ดังนั้นนักบวชก็ควรจะพิจารณาในการกินของตน ว่ากินสิ่งใดแล้วกิเลสมันเพิ่มก็ไม่ควรกิน กินสิ่งใดแล้วร่างกายเป็นทุกข์ ทำให้อายุสั้น ก็ไม่ควรกิน กินสิ่งใดแล้วเป็นไปเพื่อส่งเสริมความมัวเมา ก็ไม่ควรกิน
ที่บอกว่าควร “เลือกกิน” นั้นเพราะ นักบวชนั้นพึงรู้เองว่าสิ่งใดสมควรหรือไม่สมควร เพราะไม่มีใครมาบังคับใครให้ใครตักอะไรใส่ปากได้ มือก็เป็นของท่าน ปากก็เป็นของท่าน กรรมก็เป็นของท่าน ท่านล้วนกำหนดกรรมของท่านเอง
การจะกินทุกอย่างนั้น ก็ดูจะเป็นคนละโมบไปเสียอีก เพราะหากผู้ศรัทธาเขาเอาอาหารมาพันอย่าง ก็ต้องกินทุกอย่างจนพุงแตกกันเลยเชียวหรือ ส่วนการจะกินเพื่อให้เขาศรัทธา ให้เขาดีใจปลื้มใจนี่มันก็ควรจะประมาณให้เหมาะสมเป็นบางกรณี ไม่ใช่กินให้เขาทุกวันจนตัวเองอ้วน เดินลำบาก ขยับลำบาก ป่วยเป็นโรค อันนี้ก็เป็นการทำให้ตนเองเป็นทุกข์ไปเปล่า ๆ มันต้องเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์เพื่อตนเป็นหลัก ไม่ใช่มุ่งเอาใจคนอื่นเป็นที่ตั้ง
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อย่าพรากประโยชน์ตน เพื่อผู้อื่นแม้มาก” หมายถึงไม่จำเป็นต้องไปทำเพื่อใครขนาดที่ตนเองต้องทนทุกข์ทรมาน ต้องกิเลสเพิ่ม ต้องอายุสั้น ต้องเสียโอกาสในการปฏิบัติธรรม แม้สิ่งเหล่านั้นจะดูเหมือนมีประโยชน์มากก็ตามที
ถ้าเขามีมาวางให้เลือก ก็เลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ว่า เขาเอาไก่ทอดมาวาง เอาผัดผักมาวาง มีแค่สองอย่างนี้ ว่าแล้วก็ตักไก่ทอดใส่ปากก่อนเลย อันนี้ต้องอ่านจิตตัวเองดี ๆ ว่าทำไมมันไปเอาของที่มันมีโทษก่อน เพราะแม้ในทางโลก เขาก็รู้กันอยู่แล้วว่า เนื้อสัตว์ทอดนั้นเป็นอาหารที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ นา ๆ อันนี้ปัญญาโลก ๆ ก็รู้ได้ คนที่รักษาสุขภาพเขาก็รู้ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ถึงปัญญาโลกุตระหรอก ถ้าปัญญาโลกุตระนี่ไม่มีแล้วที่จะกินสิ่งที่เป็นโทษ มีแต่กินสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้น
…
สรุปรวมแล้วศาสนาพุทธนั้น “เลือก” ที่จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อเว้นขาดจากสิ่งชั่ว ที่ให้โทษ ที่ทำให้เป็นทุกข์ทำ ฯลฯ มุ่งทำสิ่งที่ดี และทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส เพราะรู้ชัดว่าสิ่งที่ทำนั้นจะเกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งในปัจจุบันและอนาคตทีเดียว
1.10.2559
ซื้อกิน ฆ่า ค้าขาย เสมอกัน
ซื้อกิน ฆ่า ค้าขาย เสมอกัน
การฆ่าสัตว์นั้น ถือเป็นสิ่งที่อยู่นอกพุทธ เพราะความเป็นพุทธจะเริ่มต้นที่การตั้งใจมั่นว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ ตั้งแต่การไม่ไปฆ่าด้วยตนเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่สนับสนุนให้ใครฆ่า ไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นฆ่า แนะนำให้ผู้อื่นเว้นขาดจากการฆ่า และยินดีชื่นชมในการไม่ฆ่า ไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียน ด้วยใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส
ผู้ที่ตั้งใจฆ่าสัตว์นั้น คือผู้ตั้งใจที่จะเบียดเบียนชีวิตสัตว์ โดยเฉพาะผู้ที่ฆ่าสัตว์เป็นประจำ ฆ่าสัตว์เป็นอาชีพ ฆ่าสัตว์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ชาวพุทธจะเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็นคนไม่มีศีล ซึ่งการไม่มีศีลนั้นก็คือไม่มีปัญญา ไม่รู้คุณค่าของการมีศีลและโทษชั่วของการผิดศีล เมื่อไม่มีศีล หิริโอตตัปปะย่อมไม่สามารถเจริญหรือพัฒนาไปได้ ผู้ที่ทำผิดศีลฆ่าสัตว์อยู่เป็นประจำจึงเป็นผู้อยู่นอกพุทธ เป็นคนต่ำ เป็นคนชั่ว เป็นผู้เบียดเบียนอยู่นั่นเอง
เมื่อเราได้ยินข่าวว่าธุรกิจนั้นโกงหรือเอาเปรียบ เราก็มักจะร่วมกันคว่ำบาตร ไม่สนับสนุนธุรกิจนั้น ๆ เรียกว่าถ้ารู้ว่าเขาชั่ว หรือแม้แต่เขาไม่ได้ชั่วเอง แต่ไปสนับสนุนคนชั่ว เข้าข้างคนชั่ว เราก็ไม่อยากจะคบหากับเขาแล้ว แม้จะเป็นธุรกิจที่ผลิตสินค้าที่เราเคยใช้ เคยชอบ เราก็พร้อมจะเลิกซื้อ เลิกคบค้ากับธุรกิจนั้น ๆ เพราะไม่อยากคบหาหรือสนับสนุนคนที่เราคิดว่าชั่ว
นั่นเพราะเรามีความรู้สึกผิดและมีความเกรงตัวต่อบาปในระดับที่แตกต่างกัน เขาทำชั่ว แต่เราไม่ไปชั่วกับเขา อันนี้แสดงว่าเรามีปัญญารู้สิ่งดีสิ่งชั่วและพยายามออกจากสิ่งชั่วนั้น
กลับมาที่ประเด็นหลัก นั่นคือเรื่องของการซื้อเนื้อสัตว์มากิน น่าแปลกที่คนส่วนมากรู้อยู่แล้วว่าเนื้อสัตว์ในทุกวันนี้ มาจากการเลี้ยงสัตว์ในระบบที่โหดร้ายทารุณ ไปจนถึงการฆ่าที่เรียกได้ว่าถ้าเห็นแล้วคงจะทำให้หดหู่ใจกันเลยทีเดียว
ทำไมคนเราถึงไม่เลิกซื้อเนื้อสัตว์ ทั้งที่รู้ว่าเขากักขังทรมานมันมา ฉุดกระชากลากมันมา ทำร้ายและฆ่ามันมา คนที่เขาฆ่านี่เขาก็ไม่มีศีล ผิดศีลขั้นต่ำหมดทุกข้อ ตั้งแต่ฆ่าสัตว์ ขโมยเนื้อที่เขาไม่ได้ให้ เสพกาม(กินเนื้อสัตว์)ที่เขาไม่อนุญาต โกหกว่าเป็นเจ้าของชีวิตสัตว์ มัวเมาว่าสัตว์นั้นเป็นอาหารของมนุษย์ เป็นสิ่งสมควรถูกกิน เป็นการอาชีพที่เสียสละ ฯลฯ ถึงเขาจะเห็นผิดและทำชั่วได้ขนาดนี้ คนส่วนมากก็ยังคบค้าสมาคมกับเขาอยู่
ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ข้อ ๓๘๐ “อหิริกมูลกสูตร” มีคำตอบที่พระพุทธได้ตรัสเปรียบไว้ว่า ผู้ที่ “ไม่มีหิริ”, “ไม่มีโอตตัปปะ”, “มีปัญญาทราม” ย่อมคบค้าสมาคมกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนถึงไม่เลิกซื้อเนื้อสัตว์กินทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเขาฆ่ามา เพราะคนเหล่านั้นมีหิริโอตตัปปะและปัญญาทรามเสมอกับคนที่ฆ่าสัตว์นั้นเอง
คนที่เขาฆ่าสัตว์นั้น เขาก็ไม่มีหิริโอตตัปปะและมีปัญญาทราม เมื่อเขาคบค้าสมาคมกับผู้ค้าขายเนื้อสัตว์ นั่นหมายถึงผู้ค้าขายเนื้อสัตว์ ย่อมมีหิริโอตตัปปะและปัญญาทรามเสมอกัน จึงได้คบค้าสมาคมกัน และผู้ที่ค้าขายเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะขายส่ง ขายปลีก หรือทำอาหารขายเป็นจาน ๆ ย่อมคบค้าสมาคมกับผู้ซื้อ นั่นหมายถึงผู้ที่ซื้อเนื้อสัตว์กินก็ย่อมมี หิริโอตตัปปะและปัญญาทรามเสมอกับผู้ค้าขายเนื้อสัตว์และผู้ที่ฆ่าสัตว์นั้นเช่นกัน
ซึ่งจะไปสอดคล้องกับ “วณิชชสูตร” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๒ ข้อ ๑๗๗) การค้าขายเนื้อสัตว์และการค้าขายชีวิตสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำ ผู้ที่กระทำอยู่นั้นถือเป็นเรื่องนอกพุทธ ไม่ก่อให้เกิดความเจริญ ไม่ทำให้เกิดกุศล ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ที่จะไปค้าขายสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่สมควร
จากที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น เมื่อเราเกิดความรู้สึกว่าธุรกิจใด ๆ นั้นไม่เหมาะสม เราก็เลิกคบ เลิกสนับสนุน เพราะเรามีปัญญาเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ดี เป็นสิ่งชั่ว เราเลยตีตัวออกห่าง แต่ที่เราไม่เลิกซื้อเนื้อสัตว์กิน เพราะข้างในจิตใจของเรานั้นยังคิดว่าสิ่งนั้นเหมาะสม ยังเป็นสิ่งดีที่ควรสนับสนุน นั่นเพราะเรามีหิริโอตตัปปะและปัญญาเสมอกันกับคนที่ฆ่าสัตว์เหล่านั้นนั่นเอง
แม้เรื่องราวเหล่านี้จะไม่มีเผยแพร่อยู่ในคำสอนของอาจารย์ส่วนมากในปัจจุบัน แต่หลักฐานคือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีในพระไตรปิฎกนั้น ก็มีมากพอให้เราพิจารณาว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สิ่งใดเป็นไปเพื่อความเกื้อกูลสัตว์ทั้งปวง สิ่งใดเป็นไปเพื่อเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย หิริโอตตัปปะนั้นจะเจริญได้ก็ต่อเมื่อมีศีล ศีลคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วเพื่อให้ผู้ศรัทธาได้ศึกษาและปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความผาสุกในชีวิต
เมื่อเราศึกษาศีลจนเข้าใจแจ่มแจ้งในคุณค่าของศีลนั้น เราจะแบ่งปันประโยชน์ของศีลนั้นให้กับผู้อื่น แนะนำให้ผู้อื่นมีศีล เราจะสรรเสริญผู้มีศีล คบหาผู้ที่มีศีล ห่างไกลคนที่ไม่มีศีล เว้นแต่จะเอื้อประโยชน์แก่เขาเป็นกรณี ๆ เมื่อมีศีล หิริ โอตตัปปะจึงเจริญได้ เมื่อมีศีล ก็จะย่อมมีปัญญา เมื่อนั้นก็จะเห็นได้เองว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร
ยิ่งสังคมนั้นมีความเจริญในด้านศีลธรรมมากเท่าไหร่ การกินเนื้อสัตว์ก็จะลดลงไปมากเท่านั้น จากคำกล่าวที่ได้อ้างอิงมา จะเข้าใจได้เลยว่า ยากนักที่ชาวพุทธผู้ตั้งมั่นในศีล ๕ จะคบค้าสมาคมกับคนไม่มีศีล นั่นเพราะไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่คนมีหิริโอตตัปปะและมีปัญญา จะไปคบค้าสมาคมกับคนที่ไม่มีหิริโอตตัปปะและมีปัญญาทรามได้
28.8.2559