มังสวิรัติ การกินมื้อเดียว
กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์
กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์
การลดเนื้อกินผักนั้นเป็นหนึ่งในข้อปฏิบัติที่จะลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นทางแห่งบุญ สร้างกุศลกรรมอันมีแต่ประโยชน์ฝ่ายเดียว ไม่มีโทษใดๆเลย หากผู้ลดเนื้อกินผักนั้นมีความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์
แม้ว่าการลดเนื้อกินผักจะถูกมองว่าไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ หรือหลุดพ้นจากสิ่งใดได้ นั่นก็เป็นเรื่องปกติ เพราะหากผู้ที่ไม่มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า สิ่งเหล่านี้นำมาใช้ปฏิบัติอย่างไร ลดกิเลสอย่างไร เป็นประโยชน์อย่างไร ซึ่งการทำให้ทุกคนมีสัมมาทิฏฐินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการเห็นต่างกันย่อมจะเป็นเรื่องธรรมดา
การลดเนื้อกินผักนั้นมิใช่การทำให้หลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะขอบเขตของมันก็เพียงแค่ทำลายความอยากในการกินเนื้อสัตว์ ดังนั้นประสิทธิผลสูงสุดของมันก็แค่เพียงทำให้ความอยากกินเนื้อสัตว์หมดไป ทำให้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์ ทำให้ไม่ต้องกลายเป็นทาสเนื้อสัตว์ ซึ่งก็เป็นประโยชน์ที่มากเกินพอแล้วสำหรับการดำรงชีวิตในสังสารวัฏนี้
เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้เกิดโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นผู้ที่คิดจะบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ในโลกนี้ ย่อมใช้การไม่เบียดเบียนนี่เอง ยังอัตภาพให้คงอยู่ เพื่อสร้างโอกาสให้ชีวิตได้เรียนรู้ที่จะทำให้เกิดบุญ และกุศลมากยิ่งขึ้น
กินอย่างวัวควาย
การลดเนื้อกินผัก มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบว่า “ถ้าการไม่กินเนื้อสัตว์สามารถหลุดพ้นได้จริง วัวควายกินแต่หญ้าทั้งชีวิตก็หลุดพ้นไปแล้ว”
ต้องทำความเข้าใจอย่างนี้ว่า วัวควายเหล่านั้นมันไม่ได้กินเนื้อสัตว์ ไม่ได้มีความอยากกินเนื้อสัตว์ เอาเนื้อสัตว์ไปให้มันก็ไม่กิน เพราะมันไม่มีสัญญาแบบนั้น มันไม่ได้หลงว่าเนื้อสัตว์กินได้ เป็นของน่าใคร่ เป็นของควรบริโภค ดังนั้นไม่ว่าจะให้เนื้อสัตว์ชั้นดีแค่ไหน มันก็ไม่กิน
แต่กับคนที่มีกิเลส ให้เนื้อสัตว์ไป เขาก็กิน ถ้าลองเอาเนื้อสัตว์ชั้นดีมายั่ว เขาก็อยาก ร้านไหนจัดโปรโมชั่นเนื้อสัตว์หายากราคาถูกเมื่อไหร่ผู้คนก็ต่างกรูกันเข้าไปกิน เดินทางแสวงหาเนื้อสัตว์ชั้นดีมาบำเรอความอยากของตนโดยมีข้ออ้างในการกินเนื้อสัตว์มากมาย เช่น เราต้องการโปรตีน เราต้องการวิตามิน เราต้องกินเพื่ออยู่ ฯลฯ จึงทำให้หมกมุ่นอยู่กับการกินเนื้อสัตว์นั้นเอง
ถามว่า “วัวควายมันมีความอยากเหมือนคนไหม? ” มันไม่มีนะ มันต่างกันตรงนี้ เพราะวัวควายมีขอบเขตของจิต มันเกิดมาโดยมีข้อจำกัดมาก จิตวิญญาณก็พัฒนาไม่ได้มาก กิเลสก็พัฒนาไม่ได้มาก มันเกิดมาเพื่อชดใช้กรรมหรือเพราะจิตนั้นยังไม่พัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์
ดังนั้นการจะเอาวัวควายไปเทียบกับคนในบริบทของการบรรลุธรรมมันไม่สามารถเทียบกันได้ มันคนละบริบท มันคนละอย่าง
การเอาวัวควายไปเทียบกับคนนั้นเพราะไม่รู้ความแตกต่างของการปฏิบัติในจิต วัวควายมันไม่ต้องปฏิบัติอะไรเพราะมันไม่ได้มีความอยากหรือยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ แตกต่างจากคนที่มีความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้น ถ้ามองเห็นเพียงว่าการลดเนื้อกินผักไม่ใช่หนทางขัดเกลาความอยากของตน ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติตนสู่ความพ้นทุกข์ เพราะหากเราไม่ขัดเกลาความอยากแล้ว จะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร?
การจะเข้าใจว่ากินอย่างวัวควายไม่บรรลุธรรมก็เป็นเรื่องจริง หากว่ากินโดยที่ไม่รู้ประโยชน์ สักแต่ว่ากิน ไม่รู้ไปถึงตัณหา อุปาทานก็จะเป็นการกินผักกินหญ้าไปเช่นนั้นเอง แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นอย่างนั้น คนที่กินผักกินหญ้าก็ยังเป็นคนที่ทำคุณประโยชน์ให้โลกมากกว่าเพราะไม่เบียดเบียนตนเองด้วยส่วนแห่งอกุศลกรรม ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น จึงเป็นชีวิตที่กินผักกินหญ้าที่มีประโยชน์ต่อโลก ไม่ตกต่ำไปกว่าสัตว์อย่างวัวควาย ควรค่าที่เกิดมาเป็นคน
กินอย่างมนุษย์
การลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญแล้ว คืองดเว้นการเบียดเบียนสัตว์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อรู้ว่าตนเองนั้นยังเป็นเหตุที่เขาจะต้องฆ่าสัตว์ ก็จะมีความยินดีที่จะงดเว้นเหตุแห่งการเบียดเบียนเหล่านั้นเสีย
เป็นความเจริญของจิตใจที่มีเมตตาขยายขอบเขตออกไปมากกว่าการเลี้ยงชีวิตตนเอง เพราะถ้าเราคนถึงแต่ชีวิตตนเอง มีแต่ความเห็นแก่ตัว เราก็จะใช้สิ่งอื่นมาบำเรอตนโดยที่ไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจะมีต้นเหตุที่มาเช่นไร
ความเห็นแก่ตัวหรือจะเรียกว่าความเห็นแก่กิน หรือการกินโดยไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรองว่าเนื้อสัตว์นั้นเป็นเนื้อที่สมควรหรือไม่ เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมไม่ใช่เนื้อที่สมควรบริโภค เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ควรสนับสนุนด้วยประการทั้งปวง เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมเป็นที่น่ารังเกียจของผู้เจริญ
แต่ความเห็นแก่ตัวนั้นจะทำให้จิตใจคับแคบ สายตาคับแคบ มองเห็นเพียงแค่เนื้อสัตว์นั้นทำให้ชีวิตตนดำรงอยู่ มองเห็นเป็นเพียงวัตถุสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า มองเห็นแค่ในระยะที่ตนเองเอื้อมถึง ไม่มองไปถึงเหตุเกิดที่มาของสิ่งเหล่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ผู้ที่ไม่สามารถมองเห็นเหตุเกิดของสรรพสิ่งทั้งปวงย่อมไม่สามารถดับทุกข์หรือบรรลุธรรมใดๆได้เลย
กินลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญ จึงเป็นการกินผักที่มองไปถึงเหตุเกิด มองไปถึงสิ่งที่ทำให้ต้องไปกินเนื้อสัตว์ นั้นก็คือความอยากได้อยากเสพเนื้อสัตว์ ความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ ความยึดมั่นถือมั่นในคุณค่าลวงที่โลกปั้นแต่งให้กับเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาเหล่านั้น และมุ่งทำลายเหตุเหล่านั้นโดยการไม่ให้อาหารกิเลส ทรมานกิเลส ไม่ตามใจกิเลส
ดังนั้นการลดเนื้อกินผักของผู้มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็คือการไม่ยอมไปกินเนื้อสัตว์นั้นตามที่กิเลสลากให้ไปกิน กิเลสจะหาเหตุผลมากมายให้ได้ไปเสพเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ให้ไปเบียดเบียนโดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิด ให้หลงว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่มีผล
ทุกการกระทำใดๆที่มีเจตนาย่อมสั่งสมเป็นกรรม การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาก็ย่อมมีผลเช่นกัน ซึ่งผลกรรมของมันก็จะต่างกับการกินพืชผักอย่างแน่นอน ดังนั้นผู้ที่มีปัญญาย่อมไม่แสวงหาเหตุผลในการสร้างอกุศลกรรมใดๆให้ตนเอง ไม่หาเหาใส่หัวโดยที่ไม่จำเป็น เพราะหากไม่มีความอยากกินเนื้อสัตว์แล้ว แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีที่ผู้คนต่างใคร่อยาก มาวางอยู่ตรงหน้า จัดให้กินฟรีๆทุกวี่ทุกวัน ก็ไม่มีความหมายใดๆ สำหรับผู้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เลย เป็นความหลุดพ้นจากความเป็นทาส
จึงสรุปได้ว่าการลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์คือการขัดเกลากิเลสที่เกาะกุมอยู่ในจิตใจ ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้อยากจะไปเสพเนื้อสัตว์ แต่การลดเนื้อกินผักอย่างวัวควายก็เป็นธรรมชาติของวัวควาย และเป็นความเข้าใจของผู้ที่ยังเห็นไม่รอบ ยังไม่เห็นกิเลส ยังไม่เห็นตัวตนของความอยากนั้น ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าความอยากนั้นเป็นภัยแก่ตนอย่างไร ยังไม่รู้ว่าตัณหาเป็นเหตุของอุปาทาน ที่จะทำให้เกิด ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
– – – – – – – – – – – – – – –
19.7.2558
กรรมเป็นของตน
กรรมเป็นของตน
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เรามีกรรมเป็นของของตน เราเป็นทายาทของกรรม เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธ์ุ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว เราต้องได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน
เราสามารถเลือกที่จะหยุดกรรมชั่วได้ด้วยตัวเราเอง เจตนาของเราเป็นตัวกำหนดกรรมของเรา ไม่ใช่คนอื่นมากำหนดกรรมของเรา
มีแต่เราเท่านั้นที่จะพาให้ตัวเราเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงได้
การฆ่าที่มีเจตนาทำเพื่อเงิน ไม่ใช่กรรมดีแน่นอน การกินโดยที่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไม่สนใจว่าใครเขาจะฆ่ามา ย่อมไม่ใช่กรรมดีเช่นกัน
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการดับทุกข์ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่การแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นเหตุแล้วปล่อยวางโดยที่ไม่ได้ใช้ปัญญา ไตร่ตรองถึงเหตุหรือที่มาของสิ่งต่างๆ
คนที่ฆ่า เห็นแก่เงินจนยอมทำลายชีวิตผู้อื่นแลกเงิน
คนที่กิน เห็นแก่กินจนยอมเอาเงินไปซื้อเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาแลกเงิน
ดังพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น” ก็คงจะเป็นประโยคสรุปบทความนี้ได้ดี
อาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ ทำง่าย ประหยัด สุขภาพดี
อาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ ทำง่าย ประหยัด สุขภาพดี
จากประสบการณ์ทำอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์กินเอง พบว่าแต่ละอย่างนั้นทำได้ง่าย และประหยัด
ความง่ายเริ่มจากผมมีความจำเป็นต้องไปพักในบ้านที่ไม่มีตู้เย็น ซึ่งผักนี้เอง มันเก็บง่าย เก็บได้หลายวัน ต่างจากเนื้อสัตว์ที่ต้องมีตู้เย็น ผักจึงเป็นความเรียบง่ายของชีวิต นี่ขนาดว่าซื้อผักกินนะ ถ้าปลูกเองจะเรียบง่ายกว่านี้อีก
ความประหยัดนั้นเห็นได้ชัดอยู่แล้ว เทียบมวลของเนื้อสัตว์กับผักพื้นบ้านทั่วไปในตลาดต่อกิโลกรัม ย่อมจะได้มวลของผักมากกว่า อิ่มกว่า แต่ไม่แน่นท้องเท่าเนื้อสัตว์ โดยค่ารวมๆแล้วแม้เราจะกินผักเป็นหลัก แต่ค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย เพราะผักมีราคาถูกกว่าเนื้อสัตว์มากในความอิ่มที่เท่ากัน
ในเรื่องสุขภาพ มีงานวิจัยหลากหลายที่แสดงผลว่าเนื้อสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคภัย เป็นสิ่งที่รู้กันเป็นสามัญในสังคม โดยเฉพาะตามหลักของพระพุทธเจ้าที่ว่า “การเบียดเบียนทำให้เกิดโรคมากและอายุสั้น” ยิ่งสร้างภูมิปัญญาให้กับชาวพุทธได้มั่นใจในการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นเพื่อรักษาสุขภาพและชีวิตด้วย
ดังนั้นการไม่กินเนื้อสัตว์ แล้วหันมากินผัก จะตรงกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ให้กินสิ่งที่หาได้ง่ายและไม่มีโทษ”
การกินผักนั้นหาได้ง่าย ราคาถูก ปลูกเองก็ได้ ไม่มีโทษ ส่วนเนื้อสัตว์แม้จะหาซื้อได้ง่าย แต่ก็เลี้ยงเองไม่ง่าย ฆ่าเองก็บาป ต้องรอซื้อจากที่เขาฆ่ามา ไม่ดีต่อสุขภาพ จึงเป็นสิ่งที่หาได้ยากและมีโทษ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งไม่ควรด้วยประการทั้งปวง
คนเล็กอัตตาใหญ่
คนเล็กอัตตาใหญ่
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่”
ทุกวันนี้นอกจากเราจะไม่เผื่อแผ่กันแล้ว เรายังฉกชิงสิทธิ์ในการมีชีวิตมาจากสัตว์อื่นอีกด้วย
ควรแล้วหรือที่เราจะทำตนให้เป็นยิ่งใหญ่เหนือผู้อื่น เรามีสิทธิ์อะไรในชีวิตของสัตว์อื่นเล่า เขาเคยตกลงกับเราไว้เช่นนั้นหรือ. . .
นอกเสียจากว่าเราหลงไปว่า สัตว์เหล่านั้นเกิดมาเพื่อฉัน สัตว์เหล่านั้นเป็นสิทธิ์ของฉัน เนื้อสัตว์เหล่านั้นคือชีวิตของฉัน
การเห็นและเข้าใจเช่นนี้คือการส่งจิตออกนอก ออกไปเสพและเบียดเบียนสัตว์อื่น เอาเขามาเป็นของตน จนเนื้อสัตว์เหล่านั้นกลายเป็นอัตตาของตน ทั้งที่จริงแล้ว ไม่มีใครมีสิทธิ์ในชีวิตผู้อื่นเลย