ถาม-ตอบ

ไม่รักคนอื่นแล้วไม่รักตัวเองล่ะ จะพ้นทุกข์ไหม?

February 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 656 views 0

มีคำถามในประเด็นของ “การไม่รักใครคือที่สุดของความสุข ไม่มีความเศร้า” ว่า มันต่างอย่างไรกับคนที่รักหรือไม่รักตัวเอง เขาน่าจะหมายความว่า “แล้วทีนี้คนไม่รักตัวเองจะพ้นทุกข์ไหม” ล่ะนะ ก็เดา ๆ เอา

คำของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก

คำว่า อันเป็นที่รักนั้น คือสภาพของอุปาทาน เป็นความยึดมั่นถือมั่น สำคัญมั่นหมายว่านี่คือฉัน นี่ของฉัน เพราะหลงว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นประโยชน์แท้

ถ้าเรายึดไปว่าสัตว์ เช่นสัตว์เลี้ยงจะเชื่องกับเราตลอด แล้ววันหนึ่งเขากัดเรา เราก็เจ็บ และเราก็ยังจะต้องเป็นทุกข์จากความผิดหวังอีกด้วย ถ้าเราไม่ยึดอะไร โดนกัดก็แค่เจ็บ แต่จะไม่ผิดหวัง เพราะไม่ได้ตั้งความหวัง

เช่นกันกับคนที่เรารัก ถ้าเราไปยึดว่าเขาจะดีกับเราตลอด แล้ววันหนึ่งมันมีเหตุปัจจัยให้เขาฉุนเฉียวใส่เรา เราก็จะผิดหวัง เศร้าหมอง เพราะเราไปยึดว่าเขาจะดีกับเราตลอด เราจะผิดหวัง เพราะเราไปตั้งความหวังไว้ผิด

เรื่องสังขารร่างกาย เช่น เราไปยึดว่าเรามีสุขภาพดี เราไม่เคยป่วย เรารักสังขารนี้ แต่พอวันหนึ่งมันป่วยขึ้นมา มันจะทุกข์มากกว่าที่ควรจะเป็นเพราะใจมันผิดหวัง มันไม่เป็นไปตามความยึดที่มี ใจมันก็ดิ้น ปฏิเสธความจริงในปัจจุบัน รำพึงรำพัน เช่นว่า เนี่ย เราไม่เคยป่วยเรา เราก็แข็งแรงมาตลอด ฯลฯ

เรื่องสังขารความคิดเช่น เรารักความเห็นนี้ของเรา เราชอบใจที่ว่าไม่กินเนื้อสัตว์นี่มันดี ไม่เบียดเบียนสัตว์ แต่พอมีคนมาพูดกระทบสิ่งที่เรารัก ทำให้สิ่งที่เรารักลดค่า โดนดูถูก เหยียดหยาม เหน็บแนม เราก็จะขุ่นเคืองใจ เพราะเราไม่อยากให้สิ่งที่เรารักเป็นอย่างอื่น อยากให้เราคิดแบบนั้น อยากให้คนอื่นเคารพในความคิดเรา อยากให้เขาคิดแบบเรา เราก็ทุกข์

ดังนั้นถ้าเราไปไม่ใส่ความรัก คือไม่ไปยึดสิ่งใดมาเป็นของตน ไม่พยายามทำให้สิ่งใดเป็นดั่งใจตน ไม่นิยมชมชอบสิ่งใดเป็นพิเศษ มันก็จะไม่ทุกข์ อันนี้อธิบายเหตุกันก่อน

ส่วนการที่ว่าคนไม่รักตนเองจะพ้นทุกข์ เป็นสุขไหม? อันนี้มันเป็นปัญหาของการสื่อภาษา จะอธิบายได้ทั้งสองแบบก็ได้ คือพ้นทุกข์กับไม่พ้นทุกข์

เช่น ถ้าไม่รักตนเอง ไม่หลงตน ไม่สำคัญตนในความเป็นตน ยังไงก็พ้นทุกข์ เป็นสุข คือสภาพของการสลายอัตตาทิ้ง จะเหลือแต่ปัญญา ก็ใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์

หรือ ถ้าไม่รักตนเอง ทำแต่บาปและอกุศลกรรม ใช้ชีวิตเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น อันนี้มันก็มีแต่ทุกข์และนรกเป็นที่ไป

รักตัวเองก็เช่นกัน มันก็รักได้ทั้งแบบเพิ่มกิเลสและแบบลดกิเลส ถ้ารักให้ถูกต้องลดกิเลส ทำประโยชน์แก่ตน แต่คนทั่วไปเขาจะเข้าใจว่ารักตัวเอง คือการบำเรอตนเอง หาอาหารแพง ๆ อร่อย ๆ มาให้ตนเสพ พาตนเองไปเที่ยว ไปเสพสุขที่ต่าง ๆ อันนี้เขาก็เรียกว่ารักตนเอง

ภาษามันก็ดิ้นกันได้ มันต้องดูว่าเขามีเจตนาทางกาย วาจาใจอย่างไร ทำแล้วหมายให้เกิดอะไร แต่การจะไม่รักตัวเองให้ได้นั้น จะต้องเลิกรักสิ่งอื่น สัตว์อื่น คนอื่นให้ได้ก่อน เพราะตัวเรานี่เป็นสิ่งที่เรารักที่สุด มันต้องมีลำดับของการถอยออกมา คือเลิกรักสิ่งรอบตัวก่อน แล้วมันจะเหลือแต่ความรักตัว รักในความเห็นตัวเอง สุดท้ายจะไปติดแถว ๆ “มานะ” ซึ่งเป็นสังโยชน์เบื้องสูง นั่นคืออาการรักในความเห็นตน มันรัก มันยึด มันก็เลยไม่ไปไหน ไม่เจริญไปมากกว่านั้น

การไม่รักใครคือที่สุดของความสุข ไม่มีความเศร้า

February 7, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 794 views 0

หามาก็นานกับหลักฐานคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวกับการอยู่เป็นโสดนี่มันมีแต่สุข ไม่มีทุกข์ เพราะคนทั่วไปเขาเข้าใจไม่ได้ เขาจะเข้าใจว่าโสดหรือมีคู่จะมีสุขทุกข์คนละมุม แต่จริง ๆ ไม่ใช่เลย อันนั้นก็เข้าใจตามมิจฉาทิฏฐิ แต่ถ้าสัมมาจะเป็นว่าโสดนี่ไม่มีทุกข์เลยมีแต่สุข ส่วนการมีคู่นั้นจริง ๆ มีแต่ทุกข์ สุขไม่มีเลย

วิสาขาสูตร “ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก

ธรรมะนั้นเป็นสิ่งที่ละเอียด ลึกซึ้ง เข้าใจได้ยาก รู้ตามได้ยาก ประณีต เดาเอาก็ไม่ได้ รู้ได้เฉพาะบัณฑิต

ถ้าไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงจนถึงผล เขาจะไม่คิดเหมือนพระพุทธเจ้า เขาจะคิดไปอีกทาง เรียกว่าความเห็นต่างกัน ที่เน้นว่า จนถึงผลนั้น เพราะในขั้นของมรรค ก็ยังไม่แนบแน่น 100% ยังมีส่วนของมิจฉา ยังพลาดได้

ที่ยกมานี้ จะได้เป็นเป้าหมายที่ถูกต้องให้คนที่พยายามปฏิบัติธรรม มันไม่มีอะไรดีกว่าความเป็นสุข ไม่มีความโศกเศร้าหรอก ไม่รักใครเลยนี่แหละ สุข เบาสบาย ไม่ต้องแบก ไม่ต้องหาม ไม่ต้องหวง ไม่ต้องเอาใครมาเป็นของเรา

ถ้าเข้าใจไม่ได้ถึงขั้นนี้อย่าเพิ่งสอนหรือบอกใครเลยเรื่องความรัก มันจะเพี้ยนไปทางหาเสพรสรัก นี่บอกตรง ๆ ผมยังเห็นใจนักเขียนดัง ๆ หลาย ๆ คนอยู่เลย ว่าเขาเอาธรรมะไปดัด ๆ ไปแปลงให้มันเอื้อไปในทางมีรัก ให้หมกมุ่นอยู่กับรัก บาปมหาศาลเลยนั่น เขาพาคนหลงมากได้ตามชื่อเสียงของเขา นั่นแหละคือปริมาณของอกุศลวิบากกรรมที่เขาจะได้รับต่อไป

ใช่ว่าเผยแพร่ธรรมะแล้วจะได้บุญกุศลเสมอไปนะ เผยแพร่มิจฉาธรรมนี่นรกกินหัวคูณไปกับปริมาณของความเห็นผิดที่ได้เผยแพร่ไปเลยนะ สรุปคือได้แต่บาปและอกุศล แต่กิเลสมันหลอกว่าได้บุญกุศล เขาก็เลยขยันทำชั่วไปอย่างนั้น …ถ้าที่ทำมันไม่พาพ้นทุกข์ อย่าทำเลยดีกว่า

ก็ตั้งเป้ากันให้ตรง ทำความเข้าใจว่าการไม่มีคนรักกับการมีคนรักนี่มันต่างกันยังกับฟ้ากับเหว สวรรค์กับนรก ไม่เสมอกัน ไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน แล้วก็อย่าไปสลับตำแหน่งกันล่ะ ไม่มีรักนี่สวรรค์ มีรักนี่นรก คนหลงเขาจะกลับหัวกลับหาง เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ไม่เชื่อไปทำโพลดูได้ กลับหัวจากพระพุทธเจ้าเป็นส่วนมากนั่นแหละ ดีไม่ดี ถาม 1000 คน เขาก็ว่ามีรักสุข ไร้รักทุกข์ เศร้าหมองอีกด้วย ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วหมดรักนั่นแหละสุขแท้ แถมยังไร้ความเศร้าหมองอีกด้วย โลกมันก็เป็นอย่างนี้แหละ

การจัดการกับความชิงชังรังเกียจ ในคนที่เข้ามาจีบ

February 5, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 889 views 0

ความเกลียดก็คือความไม่ชอบที่สะสมจนมีดีกรีที่เข้มข้นขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่รำคาญ ไปจนถึงอาฆาตมุ่งร้าย การสะสมความชัง คือการสะสมบาปให้ตัวเอง ให้ระลึกไว้ว่า ยิ่งโกรธ ยิ่งเกลียดใคร ก็ยิ่งสร้างบาป สร้างขยะ ผลักจิตวิญญาณของตนเองให้จมลงสู่ความเป็นคนพาลลึกยิ่งขึ้นโดยลำดับ

ถ้าเกลียดมาก มันก็ผูกมาก มันคือสภาพคู่ของรักและชัง มันจะเป็นเครื่องพาวน พาหลง เดี๋ยวก็เป็นฝ่ายจีบ เดี๋ยวก็เป็นฝ่ายถูกจีบ หลงเล่นอินกับบทบาทวนไปวนมาแบบนี้ไม่รู้จบเพราะความเสพในรสของความชอบความชัง การจะออกจากอารมณ์ติดลบที่ขุ่นมัวเหล่านี้ก็มีเพียงการปฏิบัติไปสู่ความเป็นกลางของจิต คือไม่ชอบ และไม่ชัง

ความชังนั้นมีรสสุขในคนโง่ เคยเห็นไหมที่คนเขาไม่ชอบใคร แล้วเขาตั้งวงนินทาว่าร้ายกัน ดุเด็ดเผ็ดมัน นั่นแหละ ความชังมันมีรสให้คนหลงเสพ หลงว่าชังแล้วเป็นสุข ทั้ง ๆ ที่มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย การโกรธ เกลียด ชิงชัง ให้ร้าย นินทา ไม่ใช่วิถีที่จะพาให้ใครไปพ้นทุกข์ได้เลย

การยับยั้งความชัง คือไม่ให้อาหารมัน คือไม่สร้างความชังเพิ่ม ไม่ต้องไปชักชวนใครให้ไปชังเขาเพิ่ม ให้รับรู้ตามจริงว่าเขาก็เป็นคนแบบนั้น เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น แล้วก็เลิกยุ่งไป ห่างไป หรือถ้าเขาดูจะเป็นคนใจกว้างพอที่เราจะพูดบอกได้ ก็ลองพูด ลองแจ้งเขาว่าที่เขาทำนี่มันเบียดเบียนเราอย่างไร มันทำให้เราต้องระวัง เป็นอยู่ไม่ผาสุกอย่างไร ก็ปรับภาษาเอาตามที่เหมาะ แต่ถ้าพูดไม่ได้หรือพูดแล้วไม่ดีขึ้น ก็ให้ทำตัวเองให้ดี ถือศีลให้มากขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าอยากห่างไกลคนผิดศีล ก็ให้มีศีล ดังนั้นถ้าอยากห่างไกลคนมาจีบ ก็ตั้งตนเป็นคนโสดให้มันมั่น ๆ แน่น ๆ พยายามลดสิ่งที่จะดึงดูดเขา เท่าที่จะทำไหว โดยภาพรวมแล้ว ในเรื่องคู่ชู้สาว กามจะเป็นกิเลสที่เด่นชัดขึ้นมา ดังนั้นการแต่งตัวให้เหมาะสม ไม่แต่งเติมความสวยงาม ไม่แสดงความสำคัญว่าตนงามหรือดูดี ไม่มัวเมาในร่างกายของตน คนธาตุเดียวกันย่อมจะดึงดูดกัน เราก็เปลี่ยนตัวเองไปเป็นธาตุที่เจริญขึ้น สูงขึ้น ถ้าปฏิบัติศีล ๕ อยู่ก็พยายามขยับขึ้นไปศีล ๘ จะพ้นภัยมากขึ้น เพราะมันก็จะแตกต่างกันไปโดยธรรม ไม่เข้ากัน ไม่เหมาะกัน เดี๋ยวเขาก็จะหายไป

การพิจารณาออกจากความชัง คือการพิจารณาประโยชน์ของการที่เขามาจีบที่มีต่อตัวเรา เช่น เราก็จะได้หัดล้างอัตตา ได้ล้างความน่ารังเกียจในใจเรา ซึ่งมันแอบเหม็นเน่าอยู่ในใจเรา แล้วเราไม่ยอมล้าง การเข้ามาจีบของเขาก็เป็นเพียงแค่เครื่องกระทุ้ง เหมือนมือที่มาเปิดถังขยะเปียก ที่หมักหมมเหม็นเน่ามานาน กลิ่นเหม็นที่คลุ้งหรือความทุกข์ไม่ได้มาจากคนเปิด แต่มาจากการหมักขยะเปียกหรืออัตตาของเรานั่นแหละ

พิจารณาโทษของความชังของเรา ว่าจะทำให้เกิดทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่อตนเองอย่างไรบ้าง เช่น ชังเขาไป เราก็ไม่เจริญ เราจะยิ่งต่ำลงไปอีก และในมุมของการพิจารณากรรม การชังยังสร้างวิบากร้ายผูกเวรผูกกรรมกับเขาไว้อีก ต้องเจอแบบนี้อีกหลายภพหลายชาติจะเอาอีกหรือ? ทุกข์ซ้ำ ๆ นี่มันสุขอย่างไร?

พิจารณาไตรลักษณ์ว่า ที่เขามาจีบนี่มันไม่เที่ยง เดี๋ยวมาแล้วเดี๋ยวก็ไป เขาไม่จีบไปถึงชาติหน้าหรอก อย่างเก่งก็ได้แค่ตามจีบแค่ชาตินี้ ก็ทน ๆ เอา แล้วการจะไปยึดให้มันเที่ยงคือให้มันผาสุกแบบตลอดเวลานี่มันเป็นไปไม่ได้ ชีวิตมันจะเป็นอะไรก็ได้ มีคนมาจีบก็ได้ ไม่มาจีบก็ได้ มันจะเป็นทุกข์เพราะว่ามันยึดสภาพที่เป็นสุข ยึดสวรรค์ และให้เข้าใจว่าเขามาจีบนี่เขาเป็นทุกข์นะ ไม่ใช่เราต้องเป็นทุกข์ ที่เราทุกข์เพราะเรายึด แต่ถ้าเราไม่ยึดว่าจะมาจีบหรือไม่มา ยังไงก็ได้ ก็เหลือแค่เขาที่เป็นทุกข์ เพราะเขาอยากได้เรา เขาก็ต้องเสียเวลาเสียสมองไปปรุงเรื่องไร้สาระมาจีบเรา อันนี้ก็น่าเห็นใจเขา เราก็ต้องเมตตาเขา ใจกว้างให้มาก ๆ ให้เข้าใจเขา ยอมรับความจริงว่าเป็นกรรมที่เราทำมา เราก็ต้องชดใช้ โดยผ่านสิ่งที่เขาแสดง เรากระทบแล้วเราก็รับทราบ เห็นใจ เข้าใจ วางใจ เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็ยึดไว้เป็นตัวตนหรือเป็นสุขเป็นทุกข์ของเราไม่ได้เลย จะไปกำหนดว่าเจอแบบนี้ฉันจะรักเท่านี้ หรือเจอแบบนี้ฉันจะเกลียดเท่านั้น มันก็ไม่มีวันจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป แม้อยากจะยึดมั่นถือมั่น แต่มันก็จะเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าเราจะโกรธเกลียดชังชิงแค่ไหน สุดท้ายมันก็จะสลายหายไปอยู่ดี เหตุการณ์เป็นแค่สมมุติ บาปหรือความชิงชังเป็นของจริง

เราก็ต้องขยันพิจารณาธรรมที่ได้ฟังและศึกษามานี่แหละซ้ำ ๆ ไม่เข้าใจก็ไปอ่าน ไปฟัง ไปถามใหม่ แล้วเอามาประมวลผลให้เหมาะกับกิเลสตัวเอง วันหนึ่งถ้าปัญญาถึงรอบ วิบากที่กั้นไว้หมด ขยันตักออกเดี๋ยวมันก็หมดของมันเอง แต่ถ้าไม่เอากิเลสออก มันก็เหม็นเน่าอยู่อย่างนั้น เขามาจีบทีไรก็ขุ่นข้องหมองใจไปทุกที

5.2.2563

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ถูกเพื่อนร่วมงานที่มีครอบครัวอยู่แล้วมาตามจีบ คุกคาม ฯลฯ ต้องทำอย่างไร?

February 4, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 778 views 0

การจีบกันนั้นเป็นการเบียดเบียนอย่างหนึ่ง ไม่ทำให้หลง ก็ทำให้โกรธ น้อยคนที่จะรู้สึกเฉย ๆ ไม่ยินดียินร้าย คนจีบเขาก็หวังจะให้หลงรักเขานั่นแหละ ทีนี้ก็ใช่ว่าทุกคนจะชอบการจีบหรือการเข้าหาในลักษณะต่าง ๆ มันก็เลยกลายเป็นความอึดอัด สุดท้ายก็สะสมกลายเป็นความโกรธเกลียด เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สรุป การจีบไม่สร้างประโยชน์ใด ๆ กับใครเลย จะสร้างแต่ผลอันเป็นความมัวเมา หดหู่ เศร้าหมองในท้ายที่สุด

ถ้าคนทั่วไป ไม่ค่อยเจอกัน มันก็ไม่เท่าไหร่ ถ้าเป็นเพื่อนร่วมงานมาจีบนี่มันก็อาจจะทำตัวลำบาก เพราะเกรงใจบ้าง กลัวบ้าง ฯลฯ ยิ่งถ้าเป็นหัวหน้ามีตำแหน่งสูงกว่ายิ่งไปกันใหญ่ คนที่เขามีความกำหนัด ใคร่อยาก เขาก็แสดงท่าทีลีลาต่าง ๆ เพื่อยั่วเย้า  หรือเกี้ยวพาราสีเป็นธรรมดา แน่นอนว่าเขาต้องมุ่งหวังผลคือได้เสพสมใจ เขาก็ใช้ทุกวิถีทางที่เขามีนั่นแหละ เข้ามาเป็นกรอบมาบีบให้เราอยู่ในสถานการณ์น่าอึดอัดต่าง ๆ

ในการเสพสมใจของเขานั้นเป็นไปได้หลายระยะ ตั้งแต่เราออกอาการเมื่อเขาแซว จนถึงขั้นเรายอมตกเป็นของเขา แม้เขาจะมีครอบครัวแล้วก็ตาม การสาสมใจนั้นเกิดขึ้นเพราะมีการตอบสนองเป็นอาหาร กิเลสจะมีกิเลสเป็นอาหาร ดังนั้นถ้าเราควบคุมอาการไม่ได้ ก็หมายถึงเรายังไปให้อาหารกิเลสเขาอยู่ คนที่ยังยั่วขึ้นอยู่ ก็ยังเป็นเหยื่ออยู่ดีนั่นเอง

การปฏิบัติก็เริ่มจากเบาไปก่อน คือถ้าลองพูดคุยกันได้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้น มันเป็นโทษ มันเบียดเบียนอย่างไร ถ้าประเมินแล้วว่าพูดแล้วไม่อันตราย ก็พูด บอกเตือนสิ่งดีมันก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่มั่นใจในการควบคุมสติของตัวเองก็ให้หาเพื่อนหรือผู้ใหญ่ที่มีศีลธรรม ไว้ใจได้ มาช่วยอยู่เป็นเพื่อนหรือมาช่วยแก้ปัญหา แต่ถ้ายิ่งทำยิ่งแย่ ยิ่งเละก็ลองอ่านต่อไป

สิ่งที่ต้องทำคือพิจารณาประโยชน์ของตนเองให้มาก ว่าเราจะสามารถทำงานอยู่อย่างผาสุกต่อไปได้จริงไหม หากเรายังอยู่กับคนที่เขามีความอยากมีคู่ขนาดที่ยอมผิดศีลนั้น บางงานนั้นมีคุณประโยชน์ก็จริง มีผลตอบแทนมากก็จริง แต่สิ่งที่แลกไปบางทีมันก็ไม่คุ้ม คือได้ประโยชน์นิดหน่อย ได้เงินจำนวนหนึ่ง ได้กุศลเล็กน้อย แต่เขาก็จะเอาสิ่งเหล่านั้นนั่นแหละมาล่อเรา ให้เราหลงไปตามสิ่งที่เขาล่อลวง ถ้าเราเมากับโลกธรรมที่เขาล่อลวงไว้ เราก็หลงต่อไป ยังเป็นมิจฉาชีพ เพราะมอบตนในทางที่ผิด รับใช้คนผิดศีล แต่ถ้าเราไม่ได้ยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น เราจะมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงมากขึ้น

พระพุทธเจ้าให้ห่างไกลคนพาล คบบัณฑิต ชีวิตจึงจะอยู่ผาสุก คนที่เขามีคู่อยู่แล้ว แล้วยังมาตามจีบ หรือทำท่าทีหมาหยอกไก่กับคนอื่น อันนี้เขาก็ผิดศีลของเขาอยู่แล้ว เขานอกใจไปแล้ว เขาต่ำกว่าศีล ๕ นะ คนไม่มีศีล คบไว้ไม่เจริญหรอก คนไม่มีศีลก็คือคนพาลนั่นแหละ เพราะเดี๋ยวก็ทำบาป เดี๋ยวก็ทำชั่ว เดี๋ยวก็พาให้เราเดือดร้อน

เข้าหาบัณฑิต คือเข้าหาหมู่มิตรที่ปฏิบัติดี มิตรดีจะช่วยเพิ่มกำลังใจและกำลังปัญญา จะมีพลังในการต้านความชั่ว ต้านคนผิดศีล จะเป็นอยู่ผาสุกต้องเลือกกลุ่มในการร่วมใช้ชีวิต ให้เป็นกลุ่มมีศีลธรรม เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนสู่ความพ้นทุกข์ กุญแจที่จะไขรหัสสู่ความสำเร็จของคำถามนี้คือการเข้าหาบัณฑิตนี่แหละ ก็เข้าหา ปรึกษา เป็นลำดับ มันจะมีปัญหาขึ้นมาเรื่อย ๆ ก็แก้ไปเรื่อย ๆ โดยพึ่งพาปัญญาของมิตรดี ปัญหาก็จะคลายไปเรื่อย ๆ

แต่ถ้าคลุกอยู่กับหมู่คนพาลมันก็มีแต่เรื่องแบบนี้แหละ เรื่องชู้สาว เรื่องผิดศีล ดีไม่ดีเขาลวงเราไปข่มขืนอีก ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ นะ คนพาลนี่เขาอัตตาจัดมาก เขามีความอยากเอาชนะจัดมาก ๆ ยิ่งเราทำแข็งข้อ เขาก็ยิ่งสู้ ยิ่งทำตัวเป็นดีแสนดีดั่งนักบวช เขายิ่งอยากปราบเรา อยากพิชิตเรา แล้วก็ใช่ว่าเราจะไปสอนเขาได้นะ บางทีเขาไม่ได้เราด้วยการยอมของเรา เขาก็ใช้กำลังอำนาจของเขาบีบเราให้เราต้องจำนนได้เลย ดีไม่ดีเขาฆ่าเราปิดปากด้วย คบคนพาลมีแต่เสีย เสียเวลา เสียแรงงาน เสียทรัพย์ เสียชีวิต

แต่หมู่มิตรดีนี่ก็ต้องเลือกนะ ไปเข้าสำนักผิดหนีเสือปะจระเข้อีก กลายเป็นว่าหลงไปในหมู่นักปฏิบัติธรรมเมากาม ปฏิบัติธรรมหาคู่ มันจะไม่พ้นเรื่องบาปที่น่าปวดหัวเหล่านี้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่าพรากประโยชน์ตนเพื่อผู้อื่นแม้มาก หมายถึง ต้องยึดประโยชน์ตัวเองไว้เป็นหลักก่อน ต้องเอาตัวเราพ้นทุกข์ให้ได้ก่อนแล้วถึงจะไปช่วยคนอื่น แม้คุณประโยชน์ในการช่วยคนอื่นนั้นจะดูเหมือนมีคุณมากก็ตามที เหมือนกับเรือร่ม เราก็ต้องเอาตัวรอดให้ได้ก่อน ถึงจะไปช่วยคนอื่น เราว่ายน้ำไม่เป็น ไม่มีอุปกรณ์ ไปช่วยคนอื่นมันก็จะพากันตายเปล่า ๆ มันไม่เหมือนการเสียสละนะ การเสียสละ คือเรามี แต่เราสละสิ่งนั้นให้ อันนี้ประโยชน์ตนเรายังไม่มี เรายังพาชีวิตเราเองไปพ้นทุกข์ยังไม่ได้เลย แล้วเราจะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร

ในความเห็นของผม ถ้าต้องคลุกอยู่กับกลุ่มคนผิดศีลเป็นประจำ ผมไม่อยู่หรอก เขาจะพาเราฉิบหาย แต่ถ้ามันมีภาระมาก มันออกไม่ได้ ก็ลองปรึกษาขอความช่วยเหลือกับผู้ใหญ่ในที่ทำงานที่มีศีลธรรม ถ้าเขาช่วยจัดการจนคลี่คลายก็พอทนอยู่ไปได้ แต่ถ้าอยู่แล้วโดดเดี่ยวไม่มีหวัง ไม่มีมิตรดี ไม่สามารถทำให้เจริญขึ้นได้ ก็ลองพิจารณางานอื่น ๆ ดู อย่างน้อยเราก็เจริญขึ้นเพราะพ้นจากมิจฉาอาชีวะอีกหนึ่งเรื่อง

3.2.2563

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์