ข้อคิด
กี่การเคลื่อนไหว ที่ขยับเคลื่อนไปเพราะกิเลส
กี่การเคลื่อนไหว ที่ขยับเคลื่อนไปเพราะกิเลส
ในชีวิตที่ดำเนินไปในทุกวันนี้ เราเสียเวลา เสียทรัพย์สิน เสียพลังงานให้กับกิเลสกันไปเท่าไหร่ เราขยับจากความปกติสุขออกไปนำทุกข์มาใส่ตนเพราะกิเลสกันขนาดไหน
เรารู้หรือไม่ว่า การที่เราก้าวเดินออกไปหาสิ่งของบางอย่างมาบำเรอกามและอัตตาเหล่านั้น เป็นสภาพที่ตกอยู่ใต้คำสั่งของกิเลส เช่น ไปหากาแฟมากิน หาบุหรี่มาสูบ หาขนมมาขบเคี้ยว ไปเที่ยว ซื้อสิ่งของ ฯลฯ หลายสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิต กิเลสก็สามารถสร้างเหตุผลให้มันจำเป็นได้
การมีสมาธิคือเราจดจ่อในสิ่งที่เป็นกุศลไม่เดินไปตามคำสั่งกิเลสที่เป็นอกุศล การมีสติหมายถึงเรารู้ทันลีลาอาการของกิเลส การมีปัญญาคือเราสามารถรู้แจ้งโทษชั่วของกิเลสอย่างชัดเจนทุกเหลี่ยมทุกมุม จนกิเลสยอมแพ้เพราะไม่สามารถทำให้เราคล้อยตามได้อีกต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
1.12.2558
ความสงบ เกิดจากจิตที่สงบจากกิเลส
ความสงบในความหมายของศาสนาพุทธ ไม่ใช่ความสงบภายนอกที่เอาแต่แสวงหาที่สงบเงียบ เช่นไปวัดแล้วสงบ เข้าป่าแล้วสงบ
แต่เกิดจากการทำใจในใจให้สงบ สงัดต่อกิเลส ทำลายความแส่หา(ตัณหา) และความยึดมั่นถือมั่น(อุปาทาน) ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสังคมเมืองหรือในป่าหรืออยู่ที่ใดก็ตาม ก็จะไม่มีเหตุปัจจัยใดๆที่จะมาเคลื่อนจิตที่สงบของผู้ฝึกดีแล้วให้เคลื่อนออกจากความสงบนั้นได้เลย
ผิดกับผู้ที่แสวงหาความสงบภายนอก เขามักจะใช้ความสงบจากสิ่งแวดล้อมภายนอกทำให้จิตใจนั้นสงบ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของโลกที่การปลีกวิเวก ไม่เจอคน ไม่กระทบใคร ไม่มีผัสสะ แล้วจะเกิดความสงบ
แต่การแสวงหาของสงบของพุทธไม่ได้เหมือนกับการหนีสังคมออกไปหาความสงบ แต่ปฏิบัติอยู่กับ “ผัสสะ” อยู่ในโลกในสังคมที่มีการกระทบกระทั่งกัน เพื่อทำลายความอยากและความยึด
เพราะเป้าหมายของศาสนาพุทธนั้นไม่ใช่การไขว่คว้าหาที่สงบ หรือทำความสงบเป็นช่วงๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ยั่งยืน พระพุทธเจ้าท่านสอนให้กำจัดเหตุแห่งความไม่สงบก็คือกิเลส
ซึ่งการจะเห็นกิเลสของตนได้ก็ต้องเข้ามาอยู่ในสังคม ปะทะกับอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตา ให้เห็นกันชัดๆว่าติดอะไร อะไรที่มันสกปรกก็เช็ดตรงนั้นให้สะอาด ไม่ใช่ไปเข้าป่าเข้าถ้ำไม่เจออะไร สงบ ดิ่ง เงียบ จมลงลึกไปแล้วก็หลงเข้าใจว่านั่นคือสงบของพุทธ
ไปแสวงหาความสงบนอกกาย หลีกเลี่ยงการกระทบกับโลกและสังคมแล้วกิเลสมันจะแสดงตัวได้อย่างไร มันก็ซ่อนตัวอยู่ในจิตนั่นแหละ มันจะออกมาก็ต่อเมื่อมี “ผัสสะ” เท่านั้น ดังนั้นการปฏิบัติแสวงหาความสงบที่ไม่มีผัสสะจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะได้สัมผัสความสงบที่แท้จริง อย่างเก่งก็สงบเป็นช่วงๆตามกำลังของจิตที่ได้ฝึกมา แต่จะให้สงบแบบถาวรก็จะเป็นไปไม่ได้ เพราะปฏิบัติผิดทาง
ชี้กันให้ชัดอีกครั้งว่าความสงบของพุทธนั้นเกิดจากการสงบจากกิเลสเป็นหลัก ไม่ใช่การหาความสงบโดยสิ่งแวดล้อมภายนอก
ปฏิบัติธรรมที่ไหนดี?
ปฏิบัติที่กิเลสสิดี
ถ้าไม่เอาธรรมะไปปฏิบัติต่อกิเลส
แล้วจะปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไร?
กิเลสมีตรงไหนก็ปฏิบัติตรงนั้น
มีกิเลสเรื่องไหนก็ปฏิบัติเรื่องนั้น
ให้มันถูกตัวถูกตนของกิเลส
ปฏิบัติธรรมไม่เห็นตัวตนของกิเลส
ก็เหมือนคนตาบอดถือปืนเดินเข้าป่าหมายจะล่าสัตว์
ได้ยินเสียงอะไรขยับก็ยิงออกไป
ในทิศทางที่เดาเอาเองว่าใช่
พอเสียงนั้นเงียบไป จึงเข้าใจว่าสัตว์นั้นตาย
ก็หลงดีใจว่าเรานี่เป็นผู้ล่า เราชนะสัตว์นั้นแล้ว
แต่สัตว์นั้นคืออะไรไม่รู้…
ยิงไปทางไหนก็ไม่รู้…
แล้วกำลังอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้…
ว่าแล้วก็หลงป่าไปในที่สุด….
กิเลสจะถูกเห็นได้ก็ต่อเมื่อมีศีล
และจะชัดยิ่งขึ้นเมื่อเพิ่มอธิศีล
หากคนไม่มีอธิศีล สักแต่ว่าถือศีล
ก็จะเสื่อมจากความเจริญในที่สุด
การปฏิบัติธรรมที่ไม่มีศีล
ย่อมไม่มีมรรคผลใดๆเกิดขึ้น
เหมือนนักปฏิบัติธรรมตาบอด
แต่หมายจะไล่ล่าทำลายกิเลส
ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้เลย
แม้แต่จะจินตนาการ…
เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก
(อ้างถึง : วีดีโอทำคลอดหญิงชาวเอเซีย )
การเกิดเป็นผู้หญิง มีความลำบากมากกว่าชายที่ชัดเจน 5 ประการ สองในนั้นคือต้องเป็นฝ่ายอุ้มท้องและคลอดลูก
ผู้หญิงที่ไม่พึ่งตน ไม่พยายามประพฤติตนเป็นโสด มุ่งแต่จะหาคู่ ฝากฝังชีวิตไว้กับผู้ชาย ใช้ความงามและมารยามัดใจชาย บำเรอชายเหล่านั้นด้วยการสมสู่ ใช้บุตรเป็นเครื่องผูกชายนั้นไว้ ยากนักที่จะหลุดพ้นจากการเกิดเป็นหญิง (ศึกษาเพิ่มได้ใน สังโยคสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๒๓ ข้อ ๔๘)
ถึงจะประพฤติตนเป็นโสดก็ยังเหลือทุกข์ที่มากกว่าชายอยู่ข้อหนึ่ง คือต้องมีประจำเดือน แล้วจะแสวงหาทุกข์ไปทำไม มันไปเสพไปสุขตรงไหนในภพของความเป็นหญิง ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นล้วนไม่จีรัง
ก็แล้วแต่ว่าใครจะตั้งจิตไว้แบบไหนนะ ใครเห็นว่าการเกิดเป็นหญิงเป็นสุขก็ศึกษากันต่อไป มีเวลาอีกหลายภพหลายชาติ
คงจะไม่สรุปว่าผู้ชายสบายกว่าหรอกนะ แต่อย่างน้อยก็ไม่ต้องมีทุกข์ของหญิง 5 ประการ
1.หญิงสาวไปสู่ตระกูลสามี ย่อมพรากจากญาติของตน
2.หญิงย่อมมีระดู (ประจำเดือน)
3.หญิงย่อมมีครรภ์
4.หญิงย่อมคลอดบุตร
5.หญิงย่อมบำเรอชาย
(พระไตรปิฎก เล่ม ๑๘ “อาเวณิกสูตร” ข้อ ๔๖๒-๔๖๖)