วิธีการทำ ขั้นตอนต่างๆ
คิดบวก จนลวงความจริง
คิดบวก จนลวงความจริง
วิธีแก้ปัญหาในชีวิตยอดนิยมวิธีหนึ่งที่ใช้กันในสังคมก็คือ “การคิดบวก” คือการพยายามทำความเห็นให้ไปในแนวทางที่ดี เพื่อที่ตนเองนั้นจะได้ไม่ต้องรู้สึกทุกข์จากความคิดติดลบเหล่านั้น
การคิดบวกเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้กันมากในการบทเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกและการพัฒนาจิตใจในปัจจุบัน มีผลมากกับจิตใจที่อยู่ในภาวะตกต่ำเซื่องซึม เป็นการดึงจิตให้ขึ้นมาจากภวังค์โดยการผลักให้ไปอยู่ในจุดที่สูงสุด ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คืออยู่ในสภาพที่ดีเกินกว่าความเป็นจริง อยู่ในสภาพที่สวยงามที่สุด เพื่อให้จิตใจได้เสพสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในสถานการณ์นั้นๆ
ผลของการคิดบวกนั้นออกมาค่อนข้างดูดี คือสามารถกลายเป็นคนคิดบวก มองโลกสวยงาม ไม่ติดลบ คิดไปในทางที่ดีเสมอๆ ไม่จมอยู่กับทุกข์ ดูเผินๆก็จะเห็นและเข้าใจว่าดี แต่ในความจริงแล้วการคิดบวกนั้นยังซ่อนภัยร้ายอันน่ากลัวไว้อยู่ด้วย
ศาสนาพุทธไม่เคยสอนให้เราคิดบวก ไม่เคยสอนให้เราสะกดจิตตัวเอง ว่าฉันดี ฉันเก่ง ฉันทำได้ เขาไม่ได้คิดไม่ดีกับฉัน เขาไม่ได้ตั้งใจทำร้ายฉัน ฯลฯ แต่สอนให้มองความจริงตามความเป็นจริง ไม่มีการคิดบวกหรือคิดลบใดๆทั้งนั้น มีเพียงแค่ความจริงตามความเป็นจริงตามเหตุปัจจัยในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ใช่การคาดเดาอนาคต และไม่ใช่การยึดมั่นถือมั่นในอดีต
ในปัจจุบันเรามีข้อความ ข้อคิด คำคมที่เสริมพลังในการคิดบวกมากมาย เช่น ชั่ว 7 ที ดี 7 หน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสิ่งนี้ไม่เป็นไปตามความจริง เหมือนคำปลอบคนที่กำลังท้อแท้เท่านั้น เพราะในความจริงแล้ว ชั่วมันก็มาเท่าที่เราเคยทำกรรมไว้ เช่นเดียวกันกับดี ถ้าทำมามาก มันก็จะมามาก ไม่จำเป็นต้องสลับกันมา แต่จะมาตามกรรมของเรา ดังนั้นคนที่คิดบวกเช่นนี้ก็จะเกิดอาการอกหักเมื่อเจอกับสภาพที่มีแต่ชั่วอย่างเดียวไม่มีดีเกิดขึ้นเลย คือตอนแรกก็พอจะคิดบวกได้อยู่แต่พอทุกข์มันกระหน่ำเข้ามามากๆก็จะเกิดอาการท้อใจ เช่นคนที่ชีวิตผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนฆ่าตัวตาย นั่นเพราะเขาเจอแต่ชั่วเข้ามาในชีวิตจากผลของการกระทำของเขานั่นเอง
บางครั้งการคิดบวกนั้นอาจจะทำให้เกิดสภาพที่ตีกลับจากขาดเป็นเกินก็ได้ เช่นคนมีปมด้อย พอไปศึกษาการคิดบวกมากๆก็ตีกลับ กลายเป็นว่าเอาปมด้อยของตัวเองมาเป็นปมเด่น สุดท้ายก็ติดสุขในปมด้อยและเด่นที่จิตของตัวเองปั้นขึ้นมาอีก กลายเป็นว่าสร้างอัตตาขึ้นมาพันอีกชั้นหนึ่ง ห่างไกลความจริงตามความเป็นจริงเข้าไปอีก ซึ่งจริงๆแล้วการแก้ไขปมด้อยก็คือการแก้ไขจิตที่เป็นทุกข์เพราะปมด้อยนั้น ให้เห็นตามความเป็นจริง แต่ไม่จำเป็นต้องผลักปมด้อยให้เป็นปมเด่นแต่อย่างใด
การคิดบวกว่าทำดีมากๆ ช่วยคนมากๆ ทำทานมากๆ แล้วจะพ้นทุกข์นั้นก็เช่นกัน คนดีที่คิดบวกมักจะเข้าใจเช่นนี้ แต่ความจริงผลของกรรมก็ไม่จำเป็นต้องออกมาตามใจเช่นนั้น เราจะได้รับดีในชาตินี้ก็ได้ ไม่ได้รับดีในชาตินี้ก็ได้ คือทำดีไปแล้วจะได้รับผลแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าตอนไหน ที่นี้คนที่คิดบวกทำดีเพื่อหวังผล มักจะมีจิตโลภซ้อนอยู่ตรงที่ว่าถ้าฉันทำดีมากพอฉันก็จะพ้นทุกข์ไปได้ ซึ่งความจริงมันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ ใครจะรู้ว่าเราทำกรรมชั่วมาเท่าไหร่ แล้วดีที่ทำไปมันอาจจะไม่มากพอจะมาขั้นให้ชั่วนั้นหยุดหรือพักการส่งผลก็ได้และสุดท้ายคนที่ทำดีเพราะคิดบวกก็จะอกหัก
หรือการคิดบวกว่า ถ้าเราคิดดี พูดดี ทำดีกับเขาแล้ว เขาจะต้องดีตอบเราในวันใดวันหนึ่งอย่างแน่นอน เราทำดีจะต้องได้รับผลดี หรือถ้าเราทำผิดแล้วเราทำดีมากๆ เขาก็จะให้อภัย ข้อนี้เหมือนจะดี เหมือนจะถูกตรง แต่ยังมีความเอนเอียงเข้าข้างตนเองอยู่
ในความเป็นจริงแล้ว ถึงเราจะคิดดี พูดดี ทำดีกับใคร ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องดีตอบ ถึงเราจะทำดีทั้งชาติ เขาก็อาจจะไม่ได้ทำดีอะไรตอบแทนเราเลยก็ได้ หรือเขาจะหันมาทำชั่วใส่เรา ทำร้ายเราก็เป็นไปได้ นั่นเพราะกรรมที่เราทำมามันหนักหนามากกว่าดีที่เราทำในชาตินี้ ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้ากับพระเทวทัต มีการจองเวรจองกรรมกันมานับชาติไม่ได้ กว่าจะมาซึ้งในรสพระธรรมก็ตอนชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ก่อนหน้านั้นท่านทำดีเท่าไหร่ก็ยังโดนทำร้าย นั่นก็เกิดจากกรรมที่ท่านทำมา
ทีนี้คนที่พยายามคิดบวก แต่ไม่เข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ก็จะคิดดี พูดดี ทำดีแบบหวังผล ไม่รอคอย ไม่ให้อภัย คิดว่าทำดีไปมากๆ แล้วมันก็จะต้องเกิดผลดี แต่สุดท้ายไม่ว่าจะทำเท่าไหร่มันก็ไม่ดี แถมอาจจะยิ่งแย่ขึ้น ซึ่งก็ทำให้คนคิดบวกอกหักอีกเช่นเคย
ในความจริงนั้น ดีที่ทำไปแล้วก็เป็นกุศลกรรมที่ได้สั่งสมลงไปแล้ว ส่วนผลดีจะเกิดขึ้นแบบไหนเมื่อไหร่นั้นไม่มีใครรู้ เป็นเรื่องอจินไตยที่ไม่ควรคิด แต่ควรทำความเข้าใจว่ามูลเหตุของการเกิดสิ่งดีและร้ายในชีวิตนั้นเกิดจากอะไร ก็จะมีแต่เรื่องกรรมเท่านั้นที่ส่งผลให้เราได้รับดีและร้ายนั้นในปัจจุบัน ถ้าเราหยุดทำสิ่งที่ร้าย หันมาทำดี ชีวิตในปัจจุบันและอนาคตก็จะมีแนวโน้มที่จะเจอสิ่งดีมากขึ้น
ทั้งนี้การคิดบวกก็ยังไม่ใช่แนวทางที่สมควรอยู่ดีสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม แต่ควรจะคิดเห็นตามความเป็นจริง เมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหาหรือประสบทุกข์ การแก้ปัญหาที่ดีจึงไม่ใช่การคิดบวกหรือการมองโลกให้สวย แต่เป็นการมองให้เห็นความจริงของปัญหาว่าทุกข์จากอะไร เหตุแห่งทุกข์คืออะไร จะต้องดับเหตุอะไรบ้างทุกข์จึงดับ แล้วจะปฏิบัติอย่างไรให้ทุกข์นั้นดับไป นี่คือสิ่งที่สมควรเรียนรู้ ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ไม่ใช่การคิดลบหรือคิดบวกอะไรทั้งนั้น
ถึงแม้ว่าความจริงจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเข้าถึงความจริงนั้นได้ การคิดบวกจึงเหมือนยารสหวานที่จำเป็นต้องใช้กับเด็ก แม้จะมีโทษภัยอยู่แต่ก็พอจะแก้ปัญหาไปได้บ้าง แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่จิตใจเข้มแข็งแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกินยารสหวานแบบเด็กอีกต่อไป ควรจะหันมากินยาขม มาศึกษาความจริงตามความเป็นจริง มาศึกษาการแก้ปัญหาให้แจ่มแจ้ง ให้ลึกถึงต้นเหตุ เพื่อที่ปัญหาเหล่านั้นจะได้ถูกแก้ไขอย่างแท้จริง
– – – – – – – – – – – – – – –
3.12.2558
ตรวจใจ ในเรื่องคู่ : ความรักบนทางสายกลาง
ตรวจใจ ในเรื่องคู่ : ความรักบนทางสายกลาง
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เรากำลังมีความรักที่อยู่บนความเป็นกลาง ไม่โต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง หากปราศจากหลักธรรมที่จะเข้ามาใช้ตรวจและชี้วัดสภาพของจิตใจในขณะนั้นก็คงยากที่จะรู้
การใช้หลักทางสายกลางเข้ามาประยุกต์จะเป็นเครื่องมือที่ชี้วัดได้ง่าย ว่าสภาวะที่เราเป็นอยู่นั้นกำลังไปในทิศทางของกุศลหรืออกุศล เป็นบุญหรือเป็นบาป เพิ่มกิเลสหรือลดกิเลส โดยการทำความเข้าใจกับทางโต่งทั้งสองด้าน
1). โต่งไปด้านกาม
กามคือสภาพดูดดึง ด้วยความหลงสุข เข้าไปรัก เข้าไปเสพ เข้าไปหลงใหล เข้าไปผูกพัน …
แม้จะยังเป็นคนโสด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่บนทางสายกลาง หากเขาอยู่ลุ่มหลงอยู่ในกาม ยังอยากมีความรัก ชอบคนนี้ อยากได้คนนั้น แอบปลื้มคนโน้น และยังเห็นว่าการครองคู่เป็นสุข ยังเห็นว่าชีวิตจำเป็นต้องมีคู่ เห็นการมีคู่เป็นสิ่งที่น่าหลงใหล อยากได้อยากมีคู่ครองด้วยความหลงสุขใดๆก็ตาม ก็ถือว่ายังเป็นโสดที่หลงอยู่กับกาม
ในส่วนของคนคู่ คือสภาพของการหลงในคู่ของตน หลงเสพ หลงสุข หลงติด หลงยึด สิ่งใดๆก็ตามในคู่ครองของตน ในความเป็นคู่ของตน ไม่ยอมห่าง ไม่ยอมวาง ไม่ยอมคลายความสัมพันธ์ เกาะเกี่ยวแนบแน่นเป็นของกันและกันอยู่แบบนั้น คู่ที่จะพ้นจากกามได้ จะมีความสัมพันธ์ที่พัฒนาไปสู่ความเป็นเพื่อนไปโดยลำดับ ละเว้นการแตะเนื้อต้องตัว การสมสู่ และอยู่กันแบบเพื่อน จนกลายเป็นเพื่อนกันจริงๆ ปฏิบัติต่อกันเหมือนเพื่อนทั่วๆไป ไม่เหลือสัญลักษณ์ใดๆของความเป็นคู่อีกเลย
2). โต่งไปด้านอัตตา
อัตตาคือสภาพของการผลัก ด้วยความยึดดี เกลียดรัก เกลียดคนชั่ว เกลียดคนเจ้าชู้ เกลียดการมีคู่…
คนโสดที่โต่งไปทางด้านอัตตาจะมีความชิงชังในการมีความรัก การมีคู่รัก ซึ่งอาจจะเกิดได้จากสองประเด็น กรณีแรกคือเห็นโทษชั่วของกาม ปฏิบัติเพื่อออกจากกามได้จริง จึงมาติดอัตตา มายึดดีถือดี ไม่ยอมมีคู่เพราะเห็นว่าเป็นทางชั่ว ในกรณีนี้เป็นความเจริญเพราะออกจากกามได้ ซึ่งจะต้องล้างความยึดดีในลำดับต่อไป
ในอีกกรณีที่สองเกิดจากความผิดหวังช้ำรัก จนเกลียดคู่ เกลียดการมีคู่ เป็นการผลักเพราะไม่ได้เสพสมใจ ในกรณีนี้จะทำให้คนหลงไปว่าตนนั้นหลุดพ้นจากความรัก ทั้งที่จริงๆแล้วยังอยากมีความรักดีๆอยู่ เพียงแค่ไม่อยากทุกข์เพราะความรัก มักจะมีความเห็นในกรณีที่ว่า ถ้ารักไม่ดีไม่มีดีกว่า ถ้าไม่สุขกว่าอยู่คนเดียวจะไม่มี ลักษณะนี้จะมีทั้งกามและอัตตาปนอยู่ จึงตั้งกำแพงอัตตาไว้เพื่อให้ได้เสพกามที่มากกว่าเป็นทางเสื่อม
อัตตาในมุมของคู่รักคือสภาพที่อยู่กันไปทั้งรักทั้งชัง หรืออยู่อย่างไม่มีความสุขเพราะยึดดีเกลียดชั่ว ในกรณีแรกคือคนที่ทั้งรักทั้งชัง คือกามก็มี อัตตาก็จัด คือยังอยากเสพสุขจากคู่ แต่ก็พบกับความไม่ถูกใจหลายอย่างในการมีคู่ ในอีกกรณีคือคนที่ยึดดีเกลียดชั่ว อาจจะเกิดจากการได้ฟังข้อปฏิบัติใดๆมาแล้วเกิดอาการรังเกียจการมีคู่ รังเกียจความเป็นคู่ รังเกียจกิจกรรมใดๆของคนคู่ จึงทำให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ มองทุกอย่างไม่ดีไปหมด เพราะเขานั้นเกลียดชั่ว ยึดดี ไม่ยอมให้เกิดสิ่งชั่ว จะเสพแต่ดี จึงทำให้เกิดสภาพของการโต่งไปในด้านอัตตา
. . . จากที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นการตรวจใจโดยภาพกว้าง ซึ่งการที่เราจะมีความรักบนทางสายกลางได้นั้น เราต้องเว้นขาดจากทางโต่งทั้งสองทาง คือไม่โต่งไปในด้านหลงสุขในกาม และไม่โต่งจนทรมานตนเองและผู้อื่นด้วยความยึดดี
– – – – – – – – – – – – – – –
27.8.2558
สมรภูมิคนดี
สมรภูมิคนดี : บททดสอบที่จะประดังเข้ามาเพื่อพิสูจน์ความดีที่แท้จริง (กรณีศึกษามังสวิรัติ)
คนทุกคนย่อมพยายามผลักดันตนเองไปสู่ความดีที่ตนเห็นว่าดีกันทุกคน เส้นทางแห่งความดีนั้นไม่ใช่เส้นทางที่เดินได้ง่าย มีบททดสอบมากมายที่จะเข้ามาพิสูจน์ว่า สิ่งที่เราเห็นว่าดีนั้นดีจริงแท้หรือไม่
ในบทความนี้จะยกตัวอย่างคนที่พยายามลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ พยายามที่จะทำตนเองให้ดีขึ้น ให้เบียดเบียนสัตว์อื่นน้อยลง เป็นทางสู่ความดีทางหนึ่งด้วยเนื้อหาต่างๆรวม 7 ข้อ
1). การทดสอบความตั้งมั่น(บททดสอบกาม – การเสพติดเนื้อสัตว์)
คนที่คิดจะพยายามทำดีในชีวิต เช่นในเรื่องของการลดเนื้อกินผัก จะเจอบททดสอบแรกที่ท้าทายความดี คือจะละเว้นเนื้อสัตว์ได้จริงไหม จะกินได้นานเท่าไหร่ ถ้าโดนยั่วยวนด้วยเมนูเนื้อสัตว์ต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะงานเลี้ยง รวมญาติ งานรื่นเริง หรือสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดต่างๆ เราจะยังตั้งมั่นอยู่ไหม เราจะกลับไปกินไหม เราจะหาเหตุผลไปกินไหม และที่สำคัญที่สุดคือเรายังเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นมีคุณค่ามีประโยชน์ในชีวิตเราอีกไหม เรายังหลงว่ามันเป็นของดีอีกไหม เรายังมีความเข้าใจว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่บำรุงร่างกายอยู่ไหม เรายังยินดีให้คนที่รักกินเนื้อสัตว์อยู่อีกไหม เรายังเหลือเยื่อใยใดๆกับเนื้อสัตว์อยู่อีกไหม จะมีเหตุการณ์ต่างๆที่จะเข้ามาทดสอบความตั้งมั่นของผู้ที่จะลดเนื้อกินผักตลอดช่วงเวลาที่คิดจะทำดี
2). ออกสู่โลกภายนอก ( เตรียมเข้าสู่บททดสอบอัตตา )
เมื่อเราเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว แต่ถ้าอยากให้เกิดสิ่งดีมากขึ้น เป็นกุศลมากขึ้น ก็จะต้องทำหน้าที่เชิญชวนให้ผู้อื่นสนใจที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์ด้วย ซึ่งสิ่งที่จะขวางกั้นไม่ให้เราได้เป็นคนดีขึ้นอย่างใจหวัง นั่นก็คืออัตตา หรือความยึดดีถือดี อัตตาจะทำให้เราต้องเป็นทุกข์เมื่อไม่ได้อย่างใจ ทำให้เราแข็งกระด้าง ทำให้เราไม่เมตตา ทำให้เราต้องสร้างศัตรู ทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จในการชักชวนผู้อื่นให้ศึกษาเพื่อละเว้นการกินเนื้อสัตว์
ผู้ที่เข้ามาทดสอบจะเป็นไปตามธรรม เป็นไปตามสิ่งที่เราทำ ถ้าเราลดเนื้อกินผักอยู่ในภพ คือ กินโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร โจทย์ก็มักจะน้อย แม้จะลดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ดี สามารถออกจากกามได้ แต่ก็ยากที่จะวัดเรื่องอัตตาได้
และถ้าเราเริ่มออกจากภพ ออกจากถ้ำ ออกจากที่มั่น เริ่มอธิศีลขึ้นไปอีกระดับ พยายามสร้างกุศลขึ้นไปอีก คือการพยายามชักชวนผู้อื่นให้ลดเนื้อกินผัก ก็จะเริ่มมีโจทย์ที่มากขึ้นมาตามธรรมเช่นกันและนี่คือการก้าวสู่คนดีที่ดียิ่งขึ้นอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากขึ้น เพราะต้องพร้อมรับความเห็นที่แตกต่างที่จะประดังเข้ามามากขึ้น
ซึ่งความหนักของบททดสอบนั้นจะมากและแรงขึ้นเรื่อยๆตามความดีที่ทำ ยิ่งทำดีมาก ยิ่งมีบารมีสูงมาก โจทย์ก็ยิ่งยาก ยิ่งหนัก ยิ่งแก้ยาก ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเข้ามาทดสอบว่าเราดีจริงหรือไม่ เราจะทำดีได้มากกว่านี้ หรือจะเลิกล้มลงตรงนี้
3). การต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น( รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง )
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การเอาชนะกัน การเถียงกัน เป็นการสู้รบที่ไม่มีวันจบสิ้น เราไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนเห็นเหมือนเราได้ ขนาดบุรุษที่เก่งที่สุดในโลกก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนศรัทธาได้
เราจึงต้องกำหนดเป้าหมายให้ดีว่า การทำดีของเรานั้นไม่ใช่เพื่อเอาชนะใคร ไม่ใช่เพื่อข่มเหงใคร ไม่ใช่เพื่ออวดในคุณความดีที่ตนได้ แต่เป็นการทำดีเพื่อจะสร้างเหตุในการขัดเกลาตนเองให้เป็นคนดีที่ดียิ่งขึ้น การต่อสู้ภายนอกนั้นไม่มีวันจบสิ้น การเถียงเอาชนะกันมีแต่จะเสื่อมศรัทธาต่อกัน เขาก็ยังกินเนื้อเหมือนเดิม เราก็ได้ศัตรูเพิ่ม ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเอาผลแพ้ชนะทางโลกเป็นเป้าหมาย การเพิ่มคนลดเนื้อกินผักไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่เป็นการเพิ่มคนดีขึ้นมาอีกหนึ่งคน นั่นคือทำตัวเราให้ดียิ่งๆขึ้น ไม่ใช่การไปทำคนอื่นให้ดีอย่างใจเรา
การต่อสู้ภายในนั้นมีวันสิ้นสุด เพราะแท้จริงแล้ว เราไม่ได้สู้กับใครเลย เราสู้กับใจตัวเองเท่านั้น สู้กับความยึดดีถือดี ความเอาแต่ใจ ความคาดหวัง เราสู้กับกิเลสของตัวเราเองเท่านั้น คนที่วุ่นวายอยู่กับการต่อสู้ภายนอก จะเป็นคนดีที่มีแต่ความทุกข์ใจ ต้องสู้กับคนที่เห็นต่างไปชั่วกัปชั่วกัลป์
4). ผู้เข้ามาทดสอบ(บททดสอบอัตตา – การยึดดีถือดี )
กรรมจะลิขิตขีดเขียนสร้างเหตุการณ์และผู้ที่เข้ามาทดสอบความยึดดีถือดีด้วยลักษณะและลีลาที่ต่างกัน ซึ่งอาจจะเข้ามาเพื่อกระทบแค่ครั้งเดียว ,มาๆหายๆ , มาแบบกัดไม่ปล่อย, ลากเราไปรุมขยี้ ฯลฯ ก็เป็นรูปแบบการเข้ามาของบททดสอบต่างๆ ซึ่งเราควรพึงระลึกไว้เสมอว่า สิ่งที่เข้ามากระทบทั้งหมดนั่นคือผลของกรรมที่เราทำมา เรากำลังได้รับผลกรรมของเรา เพื่อที่จะขัดเกลาจิตใจให้ดียิ่งขึ้น และใช้หนี้กรรมชั่วให้หมดไป โดยจะยกตัวอย่างลักษณะของผู้ที่เข้ามาคร่าวๆดังนี้
นักเลง คนพาล –มักจะมาในลักษณะหาเรื่อง เพ่งโทษ มีการดูถูก ประชด เยอะเย้ย ฯลฯ คือขอให้ได้ข่มก็พอใจ ถ้าเจอคนลักษณะนี้ก็ให้วางเฉยเสีย อย่าไปถือโทษโกรธเคือง เขามาวัดโทสะเรา ว่าเราจะโกรธไหม จะแค้นไหม จะขุ่นเคืองไหม เราก็เจริญเมตตาจิตไป และค้นหาเหตุแห่งความโกรธว่าการที่เขามาว่า มาด่าเรานั้น เราจะโกรธทำไม เรายึดดีถือดียังไงเราจึงต้องไปโกรธเขา
คนที่พูดกันไม่รู้เรื่อง – อาจจะเป็นคนที่รีบสรุป อ่านน้อย ฟังน้อย หรือเข้าใจผิด มักจะพูดคนละประเด็น หรือพูดกันเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจ พอจะคุยกันได้ ไม่ทะเลาะกันรุนแรง แต่มักจะหาข้อสรุปไม่ได้ ยิ่งคุยก็ยิ่งงง เจอแบบนี้ก็ตรวจดูว่าหงุดหงิดขุ่นเคืองใจไหม พยายามจะไปยัดเยียดความรู้ให้เขาไหม ก็ล้างความยึดดีถือดีของเราไป บางครั้งก็ต้องปล่อยวางกับเรื่องที่หาคำตอบไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนเรื่องได้ก็เปลี่ยน เลี่ยงได้ก็เลี่ยง
ผู้คมกฎ – เป็นคนที่เข้ามาบัญญัติ ข้อกำหนดว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำแค่นี้ไม่ได้ ทำแบบนี้ไม่เรียกว่าเป็นมังสวิรัติ ถ้าทำแบบนี้ผิด แบบนี้ถูก อาจจะพ่วงท้ายด้วยการประณามหยามเหยียดได้ในบางกรณี ก็กลับมาตรวจใจเราว่าขุ่นเขืองไหม สิ่งที่เขาแนะนำเป็นกุศล สมควรทำจริงหรือไม่ เหมาะสมกับฐานจิตของเราหรือไม่ ถ้าเขาแนะนำเกินก็ไม่เป็นไร เราก็ปฏิบัติเหมือนเดิมตามฐานจิตของเรา เท่าที่เราจะทำไหวในขีดที่เราจะพัฒนาขึ้นไปได้โดยลำดับ
ผู้ไม่เห็นด้วย –คนทั่วไปที่เข้ามาแสดงความเห็นในมุมที่แตกต่าง มักจะมีข้อมูล มีเหตุผล มีที่อ้าง เราจะวางใจได้ไหม ถ้าเขามีข้อมูลที่แย้งกับของเรา เราจะลองศึกษาของเขาดูบ้างได้ไหม เราจะเมตตาให้ความรู้กับเขาโดยที่ไม่ไปแข่งดีเอาชนะกับเขาได้ไหม และถ้าเขาไม่เอาดีตามเรา เราจะปล่อยวางได้ไหม จะยอมปล่อยให้เขาเชื่อในแบบของเขาได้ไหม
ผู้ที่เห็นว่าดีแต่ไม่เอาด้วย – คนที่เข้ามาเห็นดีกับเราในบางส่วน แต่ไม่ยินดีจะเอาด้วย ไม่ร่วมด้วย มักจะมีข้ออ้าง ข้อหลบเลี่ยงในการไม่เอาดี นั่นเพราะเขายังไม่เห็นว่าทำแบบเรานั้นดีพอที่เขาจะเอา มักจะมีภพที่เข้าใจว่าดีกว่ายึดอาศัยอยู่ เข้าใจว่ามีสิ่งที่ดีกว่าที่เราทำ ซึ่งมักจะเข้ามาชมแกมข่ม ลูบหลังแล้วตบหัว มักจะมีแนวทางของตัวเองอยู่ มักประกาศตนอยู่เนืองๆว่ามีดีกว่า ซึ่งอาจจะทำให้เรางงว่าจะมายังไงกันแน่ ก็ลองตรวจใจตัวเองว่าขุ่นเคืองใจไหม เขามาข่มจะยอมให้เขาข่มได้ไหม ยอมให้เขาเผยแพร่ความเห็นของเขาได้ไหม บอกเขาไป เตือนเขาไปแล้วเขาข่มกลับ เราวางใจได้ไหม
คนดีที่เห็นต่าง – เป็นโจทย์ที่ยากกว่าคนทั่วไป เช่นการนำคำพูดของคนที่ปฏิบัติดี มีชื่อเสียง น่าเคารพ น่านับถือมาอ้างอิง ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่เราเชื่อและปฏิบัติอยู่ จะทำอย่างไรในเมื่อคุณความดีของเราก็สู้เขาไม่ได้ เราจะทุกข์ทรมานจากความยึดดีไหม เราจะแสวงหาคำตอบเหล่านั้นไหม เราจะอึดอัดขัดเคืองกับการไม่สามารถโต้แย้งใดๆได้หรือไม่ เพราะบางครั้งมันก็ไม่สมควรไปโต้แย้งในบางประเด็น เราจะวางใจได้หรือไม่ ลองพิจารณาทบทวนตามที่เขาว่าได้ไหม สำรวจตัวเองอีกครั้งได้ไหมว่าสิ่งที่เราคิดและทำอยู่นั้น เราถูกจริงดีจริงเป็นประโยชน์จริงหรือไม่ แม้จะมีคนดีที่เห็นต่าง เราจะยังมั่นคงอยู่ในคุณความดีที่เราทำได้จริงได้หรือไม่
คนดีที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยบางประเด็น – เป็นโจทย์ที่ยากที่สุดก็คือการที่คนดีที่เห็นตรงกันแล้วมาเห็นต่างกันในบางประเด็นนี่แหละ โจทย์นี้จะวัดความยึดดีถือดีของเราได้อย่างรุนแรงที่สุด ในเมื่อเขาก็เห็นอย่างเรา และปฏิบัติได้อย่างเรา แต่มีบางประเด็นที่เห็นต่างกันไป เราจะยอมรับได้ไหม เราจะยินดีฟังไหม เราจะยึดว่าของเราดีกว่าของเขา จนไม่ฟังไหม คนดีที่เห็นตรงกันจะแนะนำสิ่งที่แตกต่างกันด้วยความหวังดี เรียกว่าการชี้ขุมทรัพย์ให้กัน แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะยอมรับ เพราะชี้ผิดก็มี ชี้ถูกก็มี ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วยิ่งคนดีมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งยึดดี อย่าคิดว่าคนดีจะวางดีกันง่ายๆ ยิ่งเก่ง ยิ่งสะสมบารมีมากก็จะยึดมั่นถือมั่นมากเป็นธรรมดา ดังนั้นเราจึงต้องมุ่งล้างความยึดมั่นถือมั่นในความดีนี้
5). การเรียนรู้โลกจากบททดสอบ
เราสามารถเรียนรู้ได้จากทุกอย่างที่ประดังเข้ามาหาเรา ถ้าเขาติมาเราก็ฟังไว้ จะได้นำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขจุดบกพร่อง จุดที่คนถือสา จุดที่เป็นอกุศล ฯลฯ การที่จะมีคนมาช่วยชี้ช่วยบอกจุดบกพร่องของเรานี่ไม่ง่ายนะ เขามาทำให้ฟรีๆ ไม่ต้องจ้าง ต้องขอบคุณเขา ส่วนที่เราเป็นสุขเป็นทุกข์ เราก็กลับมาล้างใจของเรา
6). การขัดเกลาจิตใจตนเองให้ดียิ่งขึ้น
การที่คนเห็นต่างเข้ามาแนะนำ ติชม ด่า ว่า เหน็บแนม ประชด ดูถูก ฯลฯ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากในการปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นคนดียิ่งขึ้นได้ เพื่อให้เราได้นำสิ่งกระทบเหล่านั้นเข้ามาตรวจสอบว่า เราโกรธหรือไม่ เราไม่ชอบใจหรือไม่ เราขุ่นใจหรือไม่ ใจเราสั่นไหวหรือไม่ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร แล้วจะกำจัดอาการเหล่านั้นได้อย่างไร การชมเชย และการให้กำลังใจก็เช่นกัน เราอิ่มใจ ฟูขึ้นในใจหรือไม่ เราลอยหรือไม่ เราเหลิงหรือไม่ เราหลงไปในคำชมเหล่านั้นหรือไม่ ทั้งนินทาและสรรเสริญนี้เองจะเป็นสิ่งที่เข้ามาเป็นวัตถุดิบในการขัดเกลาจิตใจของเรา
7). ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น
เป้าหมายของการขัดเกลาจิตใจคือการทำดีด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเกิดผลดี ซึ่งจะต้องเกิดจากการทำดีอย่างเต็มที่เท่าที่จะมีกำลังพอจะทำได้ แล้ววางผลที่จะเกิดขึ้นนั้นให้ได้ เรามุ่งเน้นการทำดี แต่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ผล เพราะผลเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก
การปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นที่ยากที่สุดคือการปล่อยวางการยึดในบทบาทและหน้าที่ เพราะเรานั้นไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า เราช่วยทุกคนไม่ได้ หากเรายังยึดว่าเราจะต้องช่วยสัตว์ ช่วยทุกคนให้พ้นจากการเบียดเบียน เราเองจะเป็นคนที่ไม่พ้นไปจากทุกข์
การทำดีโดยที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีอัตตา ไม่มีตัวกูของกู จะเป็นการทำดีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะเป็นการทำดีที่พร้อมจะวางดีทุกเมื่อ พร้อมจะพังได้ทุกเมื่อ เมื่อไม่ยึดมั่น ก็ไม่ทุกข์ ไม่ท้อถอย พร้อมจะล้มและพร้อมจะลุกเดินหน้าทำดีต่อไปอีก เป็นคนดีที่เป็นอมตะ ไม่มีวันตายไปจากความดี พร้อมจะทำดีโดยไม่มีเงื่อนไขให้ใจต้องเป็นทุกข์
– – – – – – – – – – – – – – –
9.8.2558