กรณีศึกษา

ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

July 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,241 views 0

จากกระทู้หนึ่งในพันทิพ “เมื่อสามีเที่ยวผู้หญิง” (http://pantip.com/topic/33977989)

การเกิดเป็นคนได้นี่มันไม่ยากเท่าไหร่หรอก ก็เกิดกันทั่วบ้านทั่วเมือง แต่จะเป็นคนที่มีความเป็นมนุษย์ที่เรียกว่าสัตว์ประเสริฐได้อย่างไร มันยากตรงนั้น

ศีล ๕ คือคุณสมบัติขั้นต่ำของความเป็นมนุษย์ ถ้าต่ำกว่านั้นก็เรียกได้ว่าทิ้งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไปแล้ว ไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป ยอมเสื่อมเพื่อให้ได้เสพมากกว่ารักษาศีลธรรม

โดยเฉพาะศีลข้อ ๓ นี่มันวัดความเป็นมนุษย์กันอย่างชัดเจนมาก ว่าเราสามารถทำร้ายใจคนที่เราเคยบอกว่ารัก และเขารักเราได้ไหม เราจะยอมให้ความใคร่อยากกระหายที่จะเสพเมถุนเหล่านั้นมาทำลายคุณธรรมในตัว เราไหม

คุณที่ละทิ้งศีลเพื่อเสพกามทั้งหลายคือคนที่ทำลายคุณค่าในตัวเอง เป็นตราบาปที่จะติดตัวไปแม้ตายก็ยังตามไปหลอกหลอนกันต่อในชาติหน้าและชาติ ต่อๆไป ดังที่ภรรยาเจ้าทุกข์ในกระทู้นี้ได้รับ ก็ต้องเป็นหนึ่งในกรรมที่เธอเคยทำมาตั้งแต่ชาติปางก่อนเช่นกัน

คงไม่ต้องพยากรณ์กันให้ปวดหัวว่าอนาคตของสามีคนนี้จะไปที่ไหน เพราะไม่รู้เหมือนกัน… รู้แค่ไปชั่วแน่นอน ทำกรรมชั่วมันก็ต้องไปชั่ว ให้ได้รับชั่วก็สมเหตุสมผลแล้ว

ความซวยคนของมีวิบากกรรมบังตาก็คือการยังเอาคนชั่วกลับเข้ามาในชีวิต การให้อภัยก็เรื่องหนึ่ง แต่การผิดศีลก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องลองตรวจใจตัวเองว่า เราอยากเสพอะไรขนาดนั้นถึงยอมรับคนกิเลสหนาคนนั้นกลับเข้ามาในชีวิตเพื่อ สร้างโอกาสให้เขาได้ทำร้ายจิตใจเราอีกครั้ง

อย่าไปเดาอนาคตว่าเขาจะแก้ไขตัวเองได้หรือไม่ได้ ถ้าแก้กิเลสไม่เป็น ล้างกิเลสไม่ได้ อย่าไปหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี การเอาคนกิเลสหนาเข้ามาในชีิวิตนั้นจะมีแต่ความซวย ดังนั้นหากอนาคตจะต้องเจอกับความผิดหวัง ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก

น่าปวดหัวเรื่องผัวเมีย

July 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,214 views 0

จากกระทู้ในพันทิพในหัวข้อ  “อายุ 25 แฟนไม่ทำการบ้านค่ะ !!!!!
(http://pantip.com/topic/33980169)
ดูเอาเถอะใครที่ว่ามันไม่ทุกข์ นี่แค่ความอยากไม่เท่ากันนะ คนนึงไม่อยากสมสู่ คนนึงอยากสมสู่ พอสนองกันไม่ได้ชีวิตรักก็เริ่มร้าว

สุดท้ายส่วนใหญ่ก็มาตกม้าตายกันตรงความใคร่นี่แหละ พิจารณาให้ดีเถอะ เราหาคู่มาทำไม เอามาสนองความใคร่ของเราอย่างนั้นหรือ มันจะดีหรือที่เราฉุดเขาให้มัวเมาในกาม นี่มันการพากันลงนรกชัดๆ ไม่ใช่พากันเจริญเลยสักนิด

หลายคนให้เหตุผลที่ดูดีมากมายเพื่อมีรัก แต่กลับปกปิดเหตุผลที่แท้จริงไว้ข้างใน แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่น่าอาย ไม่มีใครกล้าเปิดเผยกัน แต่ความจริงก็คือความจริง ความอยากมันก็ทำงานของมันไปเช่นนั้น สร้างทุกข์ไปเรื่อยๆเมื่อไม่ได้สมอยาก

นี่ถ้าไม่มีโลกออนไลน์ เราคงไม่ได้เรียนรู้เรื่องนี้กัน ต้องขอบคุณจริงๆ ที่เปิดเผยเรื่องราวกันได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน

ความคาดหวังของพ่อแม่

July 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,974 views 0

ความคาดหวังของพ่อแม่

ความคาดหวังของพ่อแม่

เมื่อเป็นพ่อแม่เรามักอยู่กับความหลงผิด เพราะเราต่างสร้างอนาคตให้ลูก แต่หลายสิ่งเกิดขึ้นตามโชคชะตาของแต่ละคน

บทละครที่ถ่ายทอดเรื่องราวของพระเจ้าสุทโธทนะ ในละครซีรี่พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก ตอนที่ ๔๒ แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ที่มีพลังมากกว่าความยึดมั่นถือมั่นใดๆในโลก

คนที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรืออาจจะรวมไปถึง เจ้านาย คู่รัก เพื่อน ฯลฯ ก็ย่อมมีความหวังให้คนที่ตนรักและดูแลเป็นไปในทางที่ตนเข้าใจว่าดี ตามความยึดมั่นถือมั่นของตนเอง

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งจะต้องเป็นไปตามนั้น เพราะผลของกรรมนั้นมีพลังมากกว่า หากเรายึดมั่นถือมั่นสิ่งใดให้เป็นไปตามใจของเราแล้ว สุดท้ายทุกอย่างก็จะพังทลายลงด้วยพลังแห่งกรรมที่มีอำนาจเหนือใครในโลก

มนุษย์พยายามฝืนกรรมลิขิตได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปตามนั้นเสมอไป เพราะถึงแม้เราจะฝืน เราจะพยายามเท่าใด ทุกชีวิตก็ล้วนอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมที่ทำมา อย่างเช่นเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านมีกรรมที่จะต้องเป็นพระพุทธเจ้า อะไรก็มาห้ามท่านไม่ได้ มันถูกกำหนดไว้เช่นนั้น เพราะท่านทำกรรมมาเช่นนั้น

ความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ตนคิดและเข้าใจว่าดีนั้น คือสิ่งที่ทำให้ไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริง ไม่มีไหวพริบ ขาดความแววไวต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะตนได้ยึดสิ่งที่ตนว่าดีไปแล้วจึงไม่เปิดใจยอมรับสิ่งอื่นๆ ทั้งที่จริงทุกสิ่งผันเปลี่ยนหมุนเวียนไปไม่หยุดตามวิบากกรรมที่ได้ทำมา

พ่อแม่ที่มองแค่เพียงว่าบุตรนี้คือของของตน ต้องเป็นไปตามแนวทางของตน ต้องเป็นไปตามที่ตนต้องการ คือผู้ที่สร้างทุกข์ให้ตนเองเพราะความยึดมั่นถือมั่น นั่นเพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาเป็นใครมาเกิด เขามีกรรมของเขามาอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างมีเบื้องหลังเสมอ เขามีกรรมเป็นของเขา เรามีกรรมเป็นของเรา ซึ่งดูๆไปแล้วเหมือนจะมีความสัมพันธ์ที่เกาะเกี่ยวกันแต่แท้ที่จริงแล้ว เราแต่ละคนมีกรรมแยกกันไป

ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราควรปล่อยปละละเลย เพราะการเลี้ยงดูบุตรก็เป็นกรรมดีของเราเช่นกัน การเลี้ยงดูบุตรเป็นหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ดังนั้นเราก็ควรจะสร้างกรรมดีของตน โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าผลนั้นจะเกิดดีหรือไม่ เพราะผลที่เกิดนั้นจะถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจากหลายเหตุปัจจัยและไม่ว่าผลที่เกิดจะเป็นเช่นไร กรรมดีของเรานั้นได้ทำไว้แล้ว สะสมไว้แล้ว เป็นประโยชน์แล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร

July 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,458 views 1

ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร

ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร

ภาวนา คือการทำให้เกิดผลเจริญ แล้วเจริญอย่างไร? แล้วอะไรเจริญ?อะไรคือตัววัดความเจริญ? ก็วนกลับมาที่หลักใหญ่ของพุทธนั่นคือการหลุดพ้นจากกิเลสคือความเจริญ

ภาวนานั้นคือการทำให้เกิดผลเจริญ แต่เราจะเจริญจากอะไร? ก็เริ่มจากทานและศีลนั่นเอง หมายถึงว่าทำทานและปฏิบัติศีลอย่างไรให้ลดกิเลสได้ ซึ่งจะไปตรงกับสัมมาทิฏฐิที่ยังมีกิเลสหมักหมมอยู่ (สัมมาทิฏฐิที่เป็นสาสวะ ๑๐) จะขอยกตัวอย่างมาในข้อ ๑ คือ ทานที่ให้แล้วมีผล (อัตถิ ทินนัง)

หมายถึงการทำทานนั้นมีผลให้ลดกิเลสได้จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าทานใดๆที่ทำแล้วไม่มีผลลดกิเลส เช่น ทำทานแล้วยังโลภ ขอนั่นขอนี่ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำทานแล้วอยากให้คนมาชื่นชม ทำทานแล้วหวังสวรรค์ หรือหวังจะเป็นเทวดา พรหม ฯลฯ แบบนี้เรียกว่าทำทานแล้วเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีผลเจริญ ไม่มีการภาวนา

ในเรื่องของศีลก็เช่นกัน การปฏิบัติศีลที่สามารถชำระกิเลสได้ คือถือศีลไปทั้งร่างกาย วาจา จนถึงใจ ทำลายกิเลสที่หมักหมมในสันดานได้ก็เรียกว่ามีผลเจริญ

ดังนั้นภาวนาคือสภาพของการปฏิบัติทานและศีลอย่างสัมมาทิฏฐิจนสามารถละกิเลสในสันดาน ทำให้ ความโลภ โกรธ หลง จางคลายและสลายหายไปอย่างถาวรโดยลำดับ

ซึ่งการที่ทานและศีลจะมีผลเจริญได้นั้นจะสามารถทำได้โดยสองวิธีนั่นคือสมถะและวิปัสสนา การทำสมถะคือใช้อุบายมาบริหารจิต กดข่ม อดทน ใช้การล่อหลอกจิตไม่ให้หลงตามกิเลสไป ส่วนวิปัสสนาคืออุบายให้เกิดปัญญา พิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งใดควรละเว้น สิ่งใดควรเข้าถึง สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ ทำให้เจริญถึงขนาดที่ทำลายกิเลสที่คอยมาลวงว่าสิ่งชั่วที่ยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นสิ่งดี ให้แหลกสลายไปจนสามารถเกิดปัญญารู้ความจริงตามความเป็นจริงได้

การเจริญสติ คือการทำให้กำลังของสติเจริญขึ้น สามารถฝึกได้หลายวิธี หากมองโดยภาพรวมแล้วก็คือลักษณะหนึ่งของการทำสมถะ คือมีหลักอยู่ที่การสร้างอุบายขึ้นมาให้กลับมารู้สึกตัว ให้อยู่กับปัจจุบัน ให้รู้ตัวทั่วพร้อมในขณะนั้นๆ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการฝึกสมถะ คือสร้างกำลังจิตให้สามารถกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ไม่หลงตามกิเลสต่างๆที่มาล่อลวง

ผู้ที่เจริญสติมากเข้าก็จะสามารถเรียนรู้ค่ามาตรฐานของจิต คือรู้ว่าปกติเป็นเช่นนี้ แล้วเมื่อมีสิ่งกระทบเกิดขึ้นให้จิตใจแกว่งก็จะสามารถใช้อุบายต่างๆที่ได้ร่ำเรียนมาเช่นการกำหนดลมหายใจ การขยับร่างกาย การใช้ข้อธรรมต่างๆ เข้ามาเป็นอุบายล่อให้จิตนั้นกลับสู่ค่ามาตรฐาน กลับเป็นปกติได้

ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กิเลสตายได้ เพราะเป็นการทำให้กิเลสที่กำเริบนั้นสงบลงไปเป็นครั้งคราว หากฝึกจนเก่งก็จะสามารถสงบกิเลสที่กำเริบโดยอัตโนมัติ บางทีก็หายไปโดยที่ไม่ทันรู้ตัว จนบางครั้งอาจทำให้ผู้ฝึกปฏิบัติหลงไปได้ ซึ่งการแก้ปัญหาของจิตใจเช่นนี้ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์อย่างยั่งยืนได้ เพราะไม่ได้ดับเหตุที่เกิด

เหตุคือกิเลสมันกำเริบได้อย่างไร จริงอยู่ที่มันมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่ปัญหาคือทำไมมันจึงเกิดขึ้นอีก แล้วเราจะดับเหตุที่เกิดนั้นได้อย่างไร แล้วเหตุที่เกิดนั้นคืออะไร ถ้าไม่ศึกษาอริยสัจ ๔ ให้ถ่องแท้ก็คงจะไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้

แต่กระนั้นการเจริญสติก็ยังมีผลดีในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยควบคุมใจไม่ให้สร้างปัญหาให้ตนเองและผู้อื่นได้ การฝึกสติ ทำสมาธิ ทำสมถะด้วยวิธีต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มกำลังให้กับจิต ให้จิตแข็งแกร่ง ทนทานต่อสิ่งเร้า ซึ่งจะเอื้อให้การวิปัสสนานั้นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้การเจริญสติโดยทั่วไปนั้นต่างจากสติปัฏฐาน ๔ เนื่องจากมีความเห็นความเข้าใจในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน การเจริญสติโดยมากมุ่งเน้นไปในทางสมถะ เป็นอุบายทางจิต สะสมกำลังของจิต แต่สติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นสติที่ระลึกรู้กิเลส ชำแหละกิเลส ให้รู้ว่ากิเลสใดที่มีในจิตใจ โดยเริ่มตั้งแต่เห็นกายของกิเลส โดยการรู้ความผิดปกติของกายนอกจนมาเห็นกายกิเลสข้างในที่เป็นต้นเหตุของปัญหา เห็นกิเลสในเวทนา เห็นกิเลสในจิต และไปจบที่เห็นว่าธรรมใดที่จะมากำจัดกิเลสนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของญาณปัญญา

ภาวนาและการเจริญสติต่างกันอย่างไร

สรุปดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าต่างกันที่ผล แต่หากผู้ที่ปฏิบัตินั้นไม่สามารถปฏิบัติจนถึงระดับชำระกิเลสได้ ก็จะมองเห็นว่าเหมือนกัน ไม่ต่างกัน ซึ่งแท้ที่จริงมันมีความต่างในขอบเขตของผลที่เจริญจากการปฏิบัติหากจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับการเดินขึ้นเขาที่เต็มไปด้วยหมอก มองจากข้างล่างมันก็ดูเหมือนกัน มีเพียงวิธีเดียวที่จะรู้ว่ายอดเขาไหนสูงกว่าคือเดินให้สุด ให้พ้นม่านหมอกที่บังตาไว้ ก็จะเห็นได้เองว่าต่างกันเช่นไร

ซึ่งในปัจจุบันมีวิถีการปฏิบัติที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามทิฏฐิของแต่ละคน แต่หลักยึดเดียวที่จะบอกได้ว่าสิ่งนั้นถูกทางหรือผิดทางคือลดกิเลสได้จริงไหม? กิเลสจางคลายได้จริงไหม? กิเลสตายจริงไหม? แล้วจะตรวจสอบกันอย่างไร ก็ตรวจสอบกันจากทานและศีลนั่นแหละ

ว่าสามารถให้ทานจนกิเลสออกไปได้จนหมดตัวหมดตนไหม ที่มันให้ไม่ได้นั่นเพราะมีกิเลสมันขวางกั้น ถือศีลแล้วยังทุกข์ใจอยู่อีกไหม เพราะทุกข์ที่เกิดเมื่อถือศีลก็คือทุกข์จากกิเลส การเจริญสติทำให้รู้เท่าทันกิเลส และการทำให้เกิดผลเจริญหรือภาวนานั้นคือสภาพผลเจริญที่เกิดจากการปฏิบัติทานศีลอย่างสัมมาทิฏฐิจนมีผลชำระล้างกิเลสได้จริงจนมีสภาพสุดท้ายคือไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในจิตใจในเรื่องที่ได้ปฏิบัตินั้นอีกเลย

ตัวอย่างประกอบให้เห็นภาพชัดขึ้น

ยกตัวอย่างความโกรธแล้วกันนะ ภาวนามีผลเจริญถึงระดับที่ดับความโกรธได้สนิท เพราะเข้าไปดับที่เหตุ แต่ถ้าทำไม่ถึงก็คือไม่ถึงนะ ใช่ว่ามันจะทำได้ง่ายๆ มันมีผล ไม่ใช่ไม่มี แต่มันอยู่ที่ทำให้มีผลจนกิเลสตายได้รึเปล่า พอดับแล้วมันก็จะไม่เกิดอีก ไม่โกรธอีก ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องๆหนึ่ง สำหรับคนๆหนึ่งก็ได้ ไม่ใช่ต้องทำได้ทุกเรื่อง

การ เจริญสติโดยมากจะสร้างตัวรู้ สร้างความระลึกรู้ ไปรู้ความโกรธ ไปรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วจะทำอะไรต่อจากนั้นก็แล้วแต่จะสอนกัน บ้างก็ข่มให้ดับ บ้างก็ดูจนความโกรธมันหายไปแบบนั้นแหละ บ้างก็ใช้ธรรมะตบทิ้ง เช่นทุกอย่างไม่มีตัวตน ความโกรธไม่ใช่ของเรา สุดท้ายไม่ว่าจะอะไรก็คือไม่เข้าไปโกรธตามถ้ามีสติมากพอ

ต่างกันตรงที่ภาวนาดับที่เหตุ(ของการเกิดความโกรธ) การเจริญสติโดยทั่วไปนั้นจะไปดับที่ผล(ความโกรธ)

การ จะทำให้เกิดผลเจริญคือทำลายกิเลสได้ต้องมีสติเป็นตัวตั้งอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าแค่มีสติแล้วจะรู้ทุกอย่าง มันมีขั้นตอนต่อจากนั้นอีกมากกว่าจะถึงการทำลายกิเลสในเรื่องๆนั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

27.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)