เกิดมาสวย ใช่ว่าดี

July 25, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,843 views 1

เกิดมาสวย ใช่ว่าดี

หลงรูปตัวเองก็ทำให้ตนเองเสียเวลา

คนอื่นมาเห็นแล้วหลงรูปก็ทำให้คนอื่นเสียเวลา

ทำให้คนอื่นหลงรูปก็ทำให้คนอื่นเสียเวลา

….

การทำให้ตนเองและผู้อื่นหลงอยู่ในกามคุณเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย เพราะเป็นการทำให้คนหลงมัวเมาอยู่ในสิ่งไร้สาระ ติดอยู่กับเปลือก เสียเวลาในชีวิตเพื่อบำรุงบำเรอกามเหล่านี้

ตนเองหลงในความสวยงามของตัวเองก็ทำให้เสียเงินเสียเวลาไปกับการเฝ้าบำรุงให้ความสวยงามนั้นคงทน หรือให้มีความงามเพิ่มมากขึ้น ไปยึดติดกับสิ่งที่จะต้องเสื่อมสลายไปในวันใดวันหนึ่ง หวังว่ามันจะต้องสวยอยู่อย่างนี้ตลอดไป ซึ่งสุดท้ายก็ต้องเป็นทุกข์เพราะความแก่และความเสื่อมจากความงามเหล่านั้นได้ขยับเข้ามาใกล้ทุกวันๆ

แม้แต่ความสวยงามของตัวเองยังเป็นภัยต่อผู้อื่น ผู้ที่ได้พบเห็นความงามก็มักจะหลงในรูป เอาไปเฝ้าฝัน พร่ำเพ้อ เกิดความใคร่อยากจะเสพและอยากครอบครองความสวยงามเหล่านั้นมาเป็นของตน ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ เสียเวลา เสียพลังงานไปคิดเรื่องที่ไร้สาระ เช่นคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะได้ครอบครองความงามนี้ คิดว่าถ้าได้ครอบครองแล้วจะเป็นสุขแบบนั้นแบบนี้ พูดเรื่องที่ไร้สาระ เช่นพูดหยอกล้อ กระเซ้าเย้าแหย่ ยั่วยวน จีบ ป้อนคำหวาน โกหก โอ้อวด ฯลฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งการครอบครองความงามนั้น ทำเรื่องที่ไร้สาระ เช่นการพยายามเอาใจ ไปรับไปส่ง ซื้อของไปให้ จนกระทั่งการขอคบหา ขอแต่งงานหรือการสมสู่เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่มีจิตยินดีในความสวยความงาม หลงในความงามของตนว่าถ้าเรายิ่งงามก็จะยิ่งมีคนสนใจมาก ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขโลกีย์ มีบริวารมาก จึงพยายามปั้นแต่งเสริมความงามให้คนรักคนหลง เพื่อที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองอยากได้อยากมี เป็นการหลอกตนเองและหลอกผู้อื่นไปในเวลาเดียวกัน ทำให้เสียทรัพย์ เสียเวลาไปกับการบำเรอกิเลส ยั่วกิเลส สนองกิเลส ทำให้ห่างไกลความพ้นทุกข์ไปเรื่อยๆเพื่อแลกกับการเสพสุขลวงที่ได้รับชั่วครั้งชั่วคราว

– – – – – – – – – – – – – – –

25.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คำพิพากษา : เมื่อวันที่ชีวิตได้เผชิญหน้ากับผลของกรรม

July 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,864 views 0

คำพิพากษา : เมื่อวันที่ชีวิตได้เผชิญหน้ากับผลของกรรม

คำพิพากษา : เมื่อวันที่ชีวิตได้เผชิญหน้ากับผลของกรรม

เราต่างล้วนถูกพิพากษาให้เกิดมาในโลกนี้ ให้เป็นคนแบบนี้ ให้ต้องเจอเรื่องราวแบบนี้ และนี่คือการพิพากษาของศาลที่เที่ยงตรงที่สุดในโลกชื่อว่ากรรม

ในชีวิตของเราอาจจะเคยเจอคำสั่ง คำตัดสิน บีบบังคับ ยัดเยียด บทลงโทษ คราวเคราะห์ โชคดี หรือเหตุการณ์อะไรก็ตามแต่ ล้วนแต่เป็นคำพิพากษาของกรรม หรือที่เรียกกันว่า ผลของกรรม

เราไม่มีทางได้รับกรรมที่เราไม่ได้ทำมา เช่นเดียวกันกับสิ่งที่เราได้รับจะต้องเป็นสิ่งที่เราทำมาแน่นอน เราถูกพิพากษาให้ได้รับทั้งสิ่งดีและสิ่งร้ายในชีวิตโดยไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือเรียกร้องใดๆได้ เพราะคำพิพากษาของกรรมนั้นเป็นที่สุดของการตัดสินว่าเราจะต้องได้รับสิ่งดีหรือสิ่งร้ายนั้น

แต่หลังจากได้รับการพิพากษามาแล้วจะทำอย่างไรกับสิ่งนั้นก็จะเป็นสิทธิ์ของเราที่จะเลือก ยกตัวอย่างเช่น เราถูกพิพากษาให้ถูกทำร้าย แต่เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปโกรธหรือทำร้ายเขาตอบ หรือเราถูกพิพากษาให้ได้รับลาภก้อนโต แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ทั้งหมด เราสามารถแบ่งปันแจกจ่ายไปในที่ที่สมควรแก่การได้รับประโยชน์จากทรัพย์นั้นได้เช่นกัน

การพิพากษาของกรรมนั้นจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่คุ้นเคยจนเราหลงลืมไปว่าแต่ละสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกช่วงเวลานั้นเกิดจากผลของกรรมที่เราทำมา ซึ่งเมื่อหลงลืมก็อาจจะทำให้พลั้งเผลอประมาทในเรื่องของกรรมไปได้ เช่นไปทำกรรมชั่วโดยที่ไม่ได้ระลึกถึงภัยของสิ่งนั้น

ความถี่และความรุนแรงของผลการพิพากษานั้นขึ้นอยู่กับคุณธรรมในตัวคน ถ้าเราเป็นคนดี มีความละอายต่อบาป โทษทัณฑ์เพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เราเลิกทำชั่วได้แล้ว แต่ถ้าเราเป็นคนดีบ้างไม่ดีบ้าง ไม่มีความละอายต่อบาป การพิพากษาก็มักจะถูกเลื่อนไปจนกระทั่งสะสมพลังงานให้มากพอที่จะสร้างความทุกข์ให้กับเราได้

คนดีได้รับทุกข์เพียงเล็กน้อยก็สำนึกผิด รีบทบทวนตัวเองเพื่อละเว้นสิ่งชั่ว ส่วนคนที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็จะมองทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นเมื่อได้รับทุกข์ก็มักจะมองข้ามการปรับปรุงตนเอง มองข้ามโทษภัยของการทำกรรมชั่ว จึงประมาททำชั่วสะสมกรรมชั่วเหล่านั้นไว้ จนได้รับคำพิพากษาโทษที่หนัก ทำให้ทุกข์ทรมานมาก จึงจะเรียนรู้ผลของกรรมที่ทำมา

คำพิพากษานั้นแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเราทำกรรมอะไรมา เราจึงต้องโดนพิพากษาให้รับผลของกรรมเหล่านั้น เมื่อรู้ชัดแล้วว่าเราเคยทำชั่วมามาก ก็ควรจะละเว้นชั่ว ทำแต่ดี เพื่อที่เราจะไม่ต้องมาสร้างทุกข์เพื่อวนเวียนรับทุกข์ให้เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

22.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

July 21, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,965 views 0

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

บังเอิญมีเรื่องให้พิมพ์บทความนี้ขึ้นมา มีบางสิ่งที่ปลุกผมให้ตื่นจากฝัน ด้วยความปวดคันที่หน้าแข้ง ผมค่อยๆยกขาขึ้นมาดูและพบว่ามียุงตัวหนึ่งกำลังดูดเลือดอยู่…

ยุงตัวนี้ดูดเลือดจนบินแทบไม่ไหว มันดูดเสร็จก็บินลงมาบนเตียง แล้วก็บินหนีได้ทีละนิดละหน่อย มันคงจะอิ่มจนขยับตัวลำบาก พอนึกได้ก็เลยหยิบกล้องมาถ่ายรูปไว้เสียหน่อย

ประเด็นที่ชาวมังสวิรัติ นักกินเจ หรือผู้ที่พยายามลดเนื้อกินผัก มักจะถูกกล่าวหาอยู่เสมอ คือไม่กินเนื้อสัตว์แล้วแต่ยังฆ่าสัตว์กันหน้าตาเฉย ยกตัวอย่างเช่นการตบยุง ซึ่งเป็นกรณีกล่าวหายอดฮิตนั่นเอง

ผมเองไม่ได้ตบยุงมากว่าสองปีแล้วตั้งแต่เริ่มลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก การใช้วิถีปฏิบัติธรรมเข้ามาขัดเกลาความอยากกินเนื้อสัตว์ ได้ขัดเกลาความโกรธเกลียดและความอาฆาตไปพร้อมๆกัน

แม้เราจะมีเหตุผลที่ดูดีมากมายในการฆ่ายุง เช่นมันทำร้ายเรา มันเข้ามาใกล้ตัวเรา เราตบไปด้วยความเคยชิน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรมีในตนเลย เราไม่ควรจะเหลือเหตุผลในการเบียดเบียนชีวิตอื่นเลย ไม่จำเป็นเลยว่าเขามาทำร้ายเราแล้วเราจะต้องทำร้ายเขากลับ มันไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย

เราไม่จำเป็นต้องปกป้องตัวเองด้วยการฆ่า เพราะเราสามารถใช้การป้องกันได้ สมัยนี้ก็มีวิธีป้องกันมากมาย ไม่ให้ยุงเข้ามาใกล้เรา

แต่สุดท้ายแล้วถึงมันจะเข้ามาใกล้และกัดเรา เราก็ไม่จำเป็นจะต้องตอบโต้ใดๆกลับคืนเลย มันกัดแล้วก็แล้วไป จะพามันไปปล่อยนอกมุ้งนอกหน้าต่างก็ได้ถ้าทำได้ ปฏิกิริยาตอบโต้ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นมีใจเป็นตัวสั่ง มันไม่ใช่ระบบอัตโนมัติ แต่มันเกิดเพราะสติเราไม่ทันกิเลส มันเลยสั่งให้เราตบยุงอย่างไม่ทันรู้ตัว ไม่ทันเหยียบเบรก รู้ตัวอีกทียุงก็ตายคามือแล้ว

แม้ว่าการถือศีลนั้นจะหยุดการฆ่าได้เพียงแค่หยุดร่างกายเอาไว้ แต่ใจยังรู้สึกอาฆาตแค้น ก็ยังดีกว่าลงมือฆ่า แต่ถ้าจะให้ดีคือพัฒนาจิตใจ ปฏิบัติธรรมโดยใช้ศีลนี่แหละเป็นกรอบในการกำจัดเหตุแห่งการฆ่าทั้งกาย วาจา ไปจนถึงใจ ผู้ใดที่ชำระล้างกิเลสที่เป็นเหตุแห่งการฆ่าได้ ก็จะไม่มีเหตุผลในการฆ่าและเบียดเบียนสัตว์อีกเลย

และเมื่อนั้นเราก็จะเป็นผู้ที่ละเว้นเนื้อสัตว์โดยไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ เพราะบริสุทธิ์ด้วยศีล ศีลจะเป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้เราทำบาป ไม่ให้เราสร้างอกุศล ไม่ให้เราต้องพบเวรภัยต่างๆอีกมากมาย

– – – – – – – – – – – – – – –

21.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ธรรมชาติ?

July 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,423 views 1

ธรรมชาติ?

ธรรมชาติ?

มีหลายคนให้เหตุผลว่าธรรมชาติของคน กินได้ทั้งพืชและสัตว์ กล่าวว่าการกินสัตว์นั้นเป็นไปตามธรรมชาติ

แต่ธรรมชาติที่ว่านั้นกลับไม่ใช่ธรรมชาติของสัตว์ ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็น สัตว์ส่วนมากเกิดและตายในวงจรอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เกิดแล้วก็ตาย ตายแล้วก็เกิด วนเวียนอยู่เช่นนั้นไม่จบไม่สิ้น

จริงอยู่ที่ว่าในโลกนี้มีเนื้อสัตว์บางอย่างทีี่กินได้โดยไม่ผิดบาป นั่นคือเนื้อที่มาจากสัตว์ที่ตายเอง และเดนสัตว์ที่ถูกผู้ล่ากินเหลือ เนื้อสัตว์เหล่านี้เป็นไปตามธรรมชาติ

แต่เนื้อสัตว์ที่ได้มาทุกวันนี้ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ควรแล้วหรือที่เราจะกล่าวอ้างหาความถูกต้องในการกินเนื้อสัตว์โดยไม่พิจารณา ให้ถี่ถ้วนว่าตรรกะเหล่านั้นมันช่างขัดแย้ง ขัดแข้งขัดขากันในตัวเอง

ในเมื่อเราไม่ได้เคารพธรรมชาติเสียหมด เรากลับเลือกเฉพาะธรรมชาติที่เราได้เสพ เลือกรับรู้เฉพาะที่เราเห็นว่าเราได้ประโยชน์ แต่กลับมองข้ามธรรมชาติของสิ่งอื่น มองข้ามธรรมชาติตามความเป็นจริง ความย้อนแย้งที่ไม่เข้ากันเช่นนี้ ไม่เป็นไปตามธรรมชาติเลย