เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

January 9, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,438 views 1

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

ย้อนไปเมื่อราวๆ 3 ปีก่อน ตอนที่ผมยังไม่รู้จักธรรมะ ผมใช้ชีวิตแสวงหาความสุขโดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือการสร้างความเบียดเบียนให้กับผู้อื่น ผมได้ถูกโลกและกิเลสมอมเมาอยู่จนกระทั่งได้พบกับความจริง 4 ประการ ที่เป็นเหตุให้ผมหลุดออกจากความเวียนวนหลงเบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อตนได้

1.ความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์

ผมรู้จักการไม่กินเนื้อสัตว์ครั้งแรกในชีวิตก็อายุเกือบ 30 ปี ก่อนหน้านี้มีเทศกาลเจ ฯลฯ ก็ไม่ได้สนใจอะไรกับเขาหรอก ไม่ได้รังเกียจอะไรหรอกนะ ยินดีด้วย แต่ก็ไม่ได้คิดสนใจ เพราะไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของมัน จนกระทั่งตนเองได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมกับเครือข่ายคนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาที่วัดป่าสวนธรรม ซึ่งที่วัดก็ไม่กินเนื้อสัตว์ เวลาสามวันที่ร่วมกิจกรรม ทำให้ผมเกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็มีชีวิตอยู่ได้ นี่คือความจริงข้อแรก

2.ความจริงที่ว่า การกินเนื้อสัตว์นำไปสู่การเบียดเบียน

หลังจากนั้นแม้จะรู้ว่าไม่กินเนื้อสัตว์ก็อยู่ได้ นำไปสู่การปรับเมนูอาหารบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเลิก เพราะยังไม่ชัดในโทษภัยของการกินเนื้อสัตว์ ต้นปี 2556 ได้ไปเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม ในค่ายสุขภาพนั้นไม่กินเนื้อสัตว์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ได้รับจากค่าย ที่ทำให้ยินดีเลิกเนื้อสัตว์คือ สื่อวีดีโอ “ชีวิตร่ำไห้” เป็นการนำเสนอเรื่องราวของการเบียดเบียนสัตว์เพื่อที่จะต้องมาสนองการดำรงอยู่ของมนุษย์ ผมได้เกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า หากเรายังกินเนื้อสัตว์อยู่ สัตว์นั้นจะต้องถูกเบียดเบียนและเป็นทุกข์เพราะเรา นั่นคือสิ่งที่ไม่ควรเลย เมื่อเข้าใจความจริงข้อนี้เพิ่มเติม ผมจึงตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์

3.ความจริงที่ว่า ความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นทุกข์

เมื่อตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์ จึงได้พบความจริงอีกข้อคือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” นั้นเป็นทุกข์ เมื่อเราอยากกินเราก็ต้องไปเสาะหาเนื้อสัตว์มาเสพ แถมยังต้องหาเหตุผลที่ดูดีเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกผิดในการกินเนื้อสัตว์ ซ้ำร้ายบางทียังอาจจะเฉโกออกไปในทิศทางที่เรียกว่า “ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ขยันเสพกาม” อีกด้วย คือปากก็พูดว่าไม่ยึด แต่ก็ไม่หยุดกินเนื้อสัตว์

โชคยังดีที่ผมไม่ได้มีอาการเฉโกเหล่านั้น ตนเองนั้นเป็นคนที่ซื่อสัตย์ยอมรับความจริงตามความเป็นจริง อยากกินก็ยอมรับว่าอยากกิน ยังเลิกไม่ไหวก็ยอมรับว่ายังไม่ไหว ไม่ได้ปั้นแต่งข้ออ้างใดๆมาทำให้ตนได้เสพอย่างดูดี

แต่กระนั้นก็ยังต้องทุกข์เพราะกิเลสที่เคยมี ความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นอร่อย มีคุณค่า ฯลฯ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดขาดได้ในทันที เราจำเป็นต้องปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง เพื่อที่จะถอนลูกศรที่ปักมั่นอยู่ในจิตใจ อันคือ ตัณหา (ความอยากกินเนื้อสัตว์) ให้ออกให้ได้ก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการแก้ปัญหาที่ตัณหา เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ในท้ายที่สุดผมค้นพบว่า “ความอยาก” ที่รุนแรงถึงขนาดต้องเป็นเหตุให้พรากชีวิตสัตว์อื่นนี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าอาย ไม่น่ายึดไว้ ไม่น่าคบหา เราไม่ควรมีมันอยู่ในจิตวิญญาณ ความอยากขั้นนี้มันหยาบเกินไปแล้ว มันเบียดเบียนมากไป มันสร้างทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่น จะยังแบกไว้อีกทำไม ผมจึงตั้งมั่นในการเลิกคบกับความอยากกินเนื้อสัตว์ตลอดกาล

4.ความจริงที่ว่า การหลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นยิ่งกว่าสุข

หลังจากได้ปฏิบัติธรรมเพื่อถอนตัณหา คือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ออกจากจิตใจแล้ว จึงค้นพบความจริงอีกข้อที่ปรากฏขึ้นมาภายหลัง ข้อนี้ไม่ใช่เหตุเหมือนกับความจริง 3 ข้อแรก แต่เป็นผลจากการเห็นความจริงในการปฏิบัติ 3 ข้อแรก

จากตอนแรกที่เคยเข้าใจว่า ถ้าเราขาดเนื้อสัตว์เราจะต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ เราต้องสละสุขจากการเสพ กลายเป็นผู้ที่ขาดทุนชีวิตเพราะไม่ได้เสพสุขตามที่โลกเข้าใจ

แต่ความจริงนั้นไม่ใช่เลย การหลุดพ้นจากความอยากนั้นยิ่งกว่าสุขที่เคยเสพเสียอีก จะเอาสุขเดิมมาแลกก็ไม่ยอม เพราะมันเทียบกันไม่ได้ เหมือนเอาเงิน 1 บาท ไปซื้อโลก มันซื้อไม่ได้อยู่แล้ว คุณค่ามันเทียบกันไม่ได้ จะเปรียบเทียบไปมันก็จะด้อยค่าเกินจริงไป เพราะคุณค่าของการหลุดพ้นจากความอยากนั้นยากที่จะหาสิ่งใดมาเทียบได้

เราไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่จำเป็นต้องไปทำอกุศลเพราะต้องหาสิ่งที่เบียดเบียนมาบำเรอตน เราจะเป็นอิสระจากความอยาก ไม่จำเป็นต้องสร้างเหตุผลอะไรมาเพื่อให้ได้เสพสมใจอีกต่อไป มีแต่กุศลและอกุศลตามความจริงเท่านั้น

จะเหลือเพียงแค่ทำสิ่งที่เป็นกุศลตามความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็อยู่ได้ เป็นความจริงข้อหนึ่งที่เน้นการพึ่งตน เลี้ยงง่ายกินง่าย มักน้อย ใจพอ มีเพียงแค่พืชผักก็พอเลี้ยงชีวิต ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์มาเป็นส่วนเกินให้เสียเงิน เสียสุขภาพ เสียเวลาหา เสียเวลาประกอบอาหาร และความจริงที่ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทาน ถ้าเรากิน เขาก็ยังต้องฆ่าเพื่อมาขาย ดังนั้นเมื่อเราไม่มีความอยาก เราก็ไม่จำเป็นต้องกินให้เป็นการส่งเสริมการฆ่า เป็นการหยุดอกุศลกรรม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี

เมื่อเราไม่มีความอยาก เราจะมีจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น โอนอ่อนไปตามกุศล หลีกหนีจากอกุศล ไม่ใช่ลักษณะที่ยึดว่าจะต้องกินอะไรหรือไม่กินอะไร แต่จะเป็นไปเพื่อกุศล เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียน เป็นไปเพื่อความพราก เป็นไปเพื่อความมักน้อย ขัดเกลา เกื้อกูล ตลอดจนสิ่งต่างๆที่นำมาซึ่งความเจริญทางจิตวิญญาณทั้งหลาย

….พอผมได้พบเจอความจริงตามนี้ มันก็เลิกกินเนื้อสัตว์ไปเอง ไม่รู้จะหาเหตุผลไปกินทำไม เพราะดูแล้วไม่เห็นมีอะไรดีเลย ไม่กินก็อยู่ได้ กินก็ไปเบียดเบียนทั้งตนเองและสัตว์อื่นอีก

สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหานั้นคือ “ตัณหา” เพราะความอยากกินเนื้อสัตว์ จะสร้างเหตุที่จะต้องไปกินเนื้อสัตว์อีกเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น ทั้งๆที่ความจริงมันไม่จำเป็น แต่ตัณหาก็สร้างความลวงขึ้นมาบังความจริง ให้มันจำเป็น ให้มันสุขเมื่อได้เสพ ให้มันเป็นคุณค่า ให้มันเป็นชีวิตจิตใจของคน ให้มันยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์นั้นต่อไป

หากคนนั้นยังมี “ความอยากกินเนื้อสัตว์” ก็ไม่มีทางหนีทุกข์พ้น ถึงจะกดข่มไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นทุกข์ แม้จะได้กินก็ทุกข์เพราะสะสมอุปาทานและอกุศลวิบากเพิ่ม สรุปคือหากยังมีตัณหาถึงจะได้เสพหรือไม่ได้เสพก็ต้องรับความทุกข์ไปตลอดกาล

– – – – – – – – – – – – – – –

2.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทักทาย ๒๕๕๙ : 2016

January 3, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,331 views 0

ผ่านปีเก่าเข้าปีใหม่กันอีกครั้ง ในปีที่ผ่านมาก็มีบทความมากมายเช่นปีก่อนๆ คือมีประมาณ 200 บทความต่อปี เรียกได้ว่าประมาณ 3 วันจะได้อ่านสัก 2 บทความ แต่ในปีนี้อาจจะลดปริมาณงานเขียนบทความเพราะเหตุผลที่ต้องแบ่งเวลาไปกับการเรียนรู้การเกษตรเพื่อการพึ่งตน แต่ก็ไม่ได้ทิ้งงานบทความ ในทางกลับกันก็จะใช้เวลาให้มากขึ้นเพื่อพยายามขัดเกลาเนื้อหาและเรียบเรียงให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

สรุปเหตุการณ์สำคัญก่อนหน้านี้ คือ ได้รับเชิญไปบรรยายในงาน ประชุมมังสวิรัติเอเซียแปซิฟิก APVC และได้บรรยายในหัวข้อ ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ในปี  ๒๕๕๙ : 2016 นี้มีเหตุการณ์สำคัญดังนี้

3.1.2016 ได้รับเชิญไปพูดคุยในรายการ โลกียะถึงโลกุตระ : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ ซึ่งจะออกอากาศต้นปีทางช่องบุญนิยมทีวี สามารถรับชมก่อนได้ใน youtube

จากโลกียะถึงโลกุตระ : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

January 3, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,866 views 2

ได้รับเชิญไปร่วมพูดคุยในรายการ “จากโลกียะถึงโลกุตระ” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากคนที่เคยสุขตามโลก มาเป็นคนที่พยายามออกจากโลกเดิมๆที่มีกิเลส ในตอนนี้ก็จะพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นมาของ “ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์” ว่าเป็นใคร ทำไมถึงมาเขียนบทความธรรมะ ทำไมถึงหันมาปฏิบัติธรรม รับชมได้ครับ มีทั้งหมด 2 ตอน

– – – – – – – – –

จากโลกียะถึงโลกุตระ คุณดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ ตอน 1

จากโลกียะถึงโลกุตระ คุณดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ ตอน 2

Always ฉันจะยึดมั่นถือมั่นในรักนั้นตลอดไป

December 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,267 views 0

Always ฉันจะยึดมั่นถือมั่นในรักนั้นตลอดไป

Always ฉันจะยึดมั่นถือมั่นในรักนั้นตลอดไป

ความยึดมั่นถือมั่นในความรักที่ตนเองมีอย่างไม่เสื่อมคลาย แม้ว่าคนรักจะจากไปแล้ว หรือแม้เขาจะไม่รักเราแล้ว ก็ยังภักดีอย่างไม่เปลี่ยนแปลง คือความโรแมนติกของความรักที่จะสร้างความฉิบหายให้แก่จิตวิญญาณไปชั่วนิจนิรันดร์

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นจากการได้ฟังเพลง always ของ Bon Jovi เนื้อหาของเพลงนั้นกล่าวถึงผู้ที่ยังยึดมั่นถือมั่นในความรัก ยังหวังและรอคอยที่จะได้รักนั้นกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าในปัจจุบันสภาพคู่รักของเขานั้นจะพังทลายไปหมดแล้วก็ตาม

หากเราดูหนังรักสักเรื่อง การที่พระเอกเฝ้ารอคอยนางเอกแม้ว่าจะไม่มีหวังว่าเธอจะกลับมา ก็คงจะเป็นอะไรที่ทำให้หลายคนซาบซึ้งใจในความมั่นคงต่อความรัก ซึ่งเราจะรู้สึกดีกับมันก็ต่อเมื่อมันเป็นเพียงแค่ละครเท่านั้น

เมื่อความปักมั่นในความรักเกิดขึ้นในชีวิตจริงแล้ว หลายคนที่ได้พบเห็นผู้ผิดหวังในความรัก ยังเฝ้าบ่นพร่ำเพ้อ เฝ้ารอคอยว่ารักนั้นจะกลับมา จมอยู่กับอดีตที่เคยหวาน อยู่กับภาพฝันลวงๆ มีอาการอมทุกข์ เศร้าหมอง หดหู่ ฯลฯ เพียงแค่ได้ยินได้ฟังเรื่องราวหรือพบเห็นก็รู้สึกทุกข์แล้ว

นับประสาอะไรกับตัวผู้ที่ยึดมั่นในความรักเหล่านั้น แน่นอนว่าเขาเป็นทุกข์ แต่ก็เป็นความทุกข์ที่ซับซ้อนเพราะมันปนกับสุขลวงที่เขาสร้างขึ้น เหมือนกับคนที่เสพติดความเจ็บปวด (masochist) แอบสุขเพียงแค่ได้ฝัน แต่ต้องทุกข์เพราะไม่สามารถคว้าฝันมาได้แต่ถึงกระนั้นก็ยังยินดีที่จะเสพสุขลวงที่ต้องโดนฟาดด้วยทุกข์จริงเช่นนี้ตลอดไป

ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตเราไม่จำเป็นจมอยู่กับอดีตเลย ไม่จำเป็นต้องพยายามกอดเก็บสิ่งที่จากไปแล้ว แต่การที่เขายังจมอยู่กับอดีตนั้น เป็นเพราะติดในรสสุขของสิ่งนั้น จึงไม่อยากพรากจากไป แต่ถึงแม้จะไม่อยากถึงเวลาก็จะต้องจาก เมื่อไม่ได้เสพสมใจจึงออกอาการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ตนยึดไว้ว่าจะเป็นสิ่งที่จะเรียกร้องให้คนรักที่จากไปกลับมา อาจจะเป็นการพยายามยืนยันว่าจะรักตลอดไป, การตามง้อตามเอาใจ, ทำทีเป็นประชดรัก, การทำร้ายตัวเอง, จะให้เขาสั่งให้ทำอะไรก็ยอม ฯลฯ ทั้งหมดก็เป็นเพียงการเรียกร้องให้เขากลับมาสนใจด้วยวิธีต่างๆกัน

ในกรณีของบทความตอนนี้คือการรอ รอและหาโอกาสที่จะกลับมาเสพสิ่งที่ตนเคยเข้าใจว่าเป็นสุขอีกครั้ง ถ้ายังไม่หมดความหวังว่าจะได้เสพ ยังไม่คลายความยึดว่าคนรักที่เป็นอดีตนั้นคือที่สุดของความรัก หรือยังไม่เกิดปัญญาเห็นว่าการรอเสพเช่นนี้เป็นทุกข์ ก็จะยังตั้งหน้าตั้งตารอเรื่อยไป อาจเพราะเข้าใจไปเองว่านี่คือรักแท้ นี่คือความรักที่ยิ่งใหญ่ ทั้งที่จริงมันเป็นเพียงแค่ความยึดมั่นถือมั่น เพราะในความจริงสภาพของคู่รักที่เคยรักกันนั้นได้จบไปแล้ว ปัจจุบันมันไม่มีเหลือแล้ว มีแต่คนที่หลงคิดว่าอนาคตจะเป็นอย่างในอดีต

……..

แม้สิ่งที่แสดงออกมาจะดูมั่นคงในความรักอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย ความยึดมั่นถือมั่นไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะเก็บไว้ เราจึงไม่ควรศรัทธาในสิ่งเหล่านั้น เพราะความจริงแล้วการที่มีความยึดมั่นถือมั่นในคนรักเช่นนี้ ก็จะเกิดการจองเวรจองกรรมกันชั่วนิรันดร์

เราอาจจะศรัทธาในการรักและเฝ้ารอคอยตลอดไป แต่นั่นคือการจองเวรจองกรรมกันไปอีกหลายภพหลายชาติ เพราะจิตได้หลงสุขหลงเสพกับคนลักษณะนี้ ในอนาคตเราก็จะหาคนคล้ายๆแบบนี้มาเสพ แม้ในชาติหน้าหรือชาติอื่นๆต่อไป เราก็จะหาสิ่งที่เราหลงมาเสพไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น

แน่นอนว่าการมี “ความอยาก” ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกสนองเสนอไป เมื่อเราอยากแต่ไม่ได้เสพสมใจอยากก็เป็นทุกข์ แม้ได้เสพสมใจอยากแต่ไม่นานก็ต้องถูกพรากไปในขณะที่ตนเองยังหลงสุขกับสิ่งนั้น หรือแม้จะเสพไปก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะสุขอยู่เช่นนั้นตลอดไป เมื่อเสพบ่อยเข้ามันก็จะเบื่อ ทำให้ต้องหาสิ่งที่ยิ่งกว่ามาเสพมาสนองกิเลสตัวเองมากขึ้น ขยับกำลังของความอยากมากขึ้นไปอีก เมื่ออยากมากขึ้นก็ทุกข์มากขึ้น ก็ต้องแสวงหาสิ่งที่จะมาบำเรอความอยากเพื่อกำจัดทุกข์ให้มากขึ้น ทุกข์ซ้ำทุกข์ซ้อนเข้าไปอีก จึงเกิดเป็นเหตุการณ์ดังเช่นการนอกใจคู่ครองของตน ในตอนที่เขาคบกัน เขาก็รักกันจริงนะ แต่อยู่ไปมันสุขไม่พอเสพ ซึ่งก็อาจจะทนไปได้สักพักหนึ่ง แต่พอมันหิวโหยเข้ามากๆมันก็เลยต้องไปหากินข้างนอกเพิ่มเติม ซึ่งเกิดจากความอยากที่มันโตขึ้นนั่นเอง ซึ่งเมื่อเกิดการนอกใจกันแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่ตัดใจกันได้ง่ายๆนะ มันก็ทนกันไปทั้งรักทั้งแค้น จองเวรจองกรรมกันไปอย่างนั้นแหละ

เคยเห็นไหม คนที่เขาจีบกันนานๆ เฝ้ารอคอยกันได้นานๆ นั่นแหละสภาพที่เขาจองเวรจองกรรมกันไว้ ไม่ยอมไปไหนสักที มีคนตั้งมากมายก็ไม่ยอมไปรัก แม้อีกคนจะไม่สนใจก็วนเวียนอยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าวันใดวันหนึ่งอีกฝ่ายใจอ่อนแพ้กิเลสก็จบเกมเมื่อนั้น ก็ร่วมสร้างวิบากกรรมใหม่กันต่อไป

ถ้าเสพกันแล้วใจพอไม่มักมากก็ไม่มีปัญหามากนัก แต่เอาเข้าจริงถ้าคนเขารอเสพมาหลายภพหลายชาติ บางทีมันคาดหวังมากนะ มันจะกินอย่างตะกละตะกลาม คืออยากได้มากๆ หวังว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องดีสมกับที่ลงทุนรอคอยมานาน แต่พอได้คบจริงแล้วมัน “ดีไม่พอกับใจ” ก็มีหลายคู่ จีบกันนานๆ สุดท้ายก็เลิกกันง่ายๆก็หลายคู่ เลิกกันแล้วกลับมาคบกันอยู่กันได้ไม่นานก็หลายคู่ ส่วนที่คบกันอยู่ได้ก็สะสมความยึดมั่นถือมั่นกันต่อไป รอเวลาที่จองเวรจองกรรมกันต่อในชาตินี้และชาติต่อไปอย่างไม่จบไม่สิ้น

การยึดมั่นถือมั่นแม้ในช่วงเวลาที่สั้น แต่ก็เป็นกรรมที่ทำลงไปด้วยเจตนา อันเป็นเหตุให้เกิดผลของกรรม เราจองเวรจองกรรมเขา คือรอที่จะได้มารักกันด้วยความจริงจังมากเท่าไหร่และนานแค่ไหน เราจะต้องพบกับทุกข์มากและนานเท่านั้น ทั้งในขณะที่เฝ้ารอคอยความรักก็ตาม หรือในตอนที่ต้องได้รับผลของอกุศลกรรมนั้นๆก็ตามนั่นหมายถึงเราอาจจะต้องเกิดสภาพเช่นนี้อีกทั้งในชาตินี้และชาติอื่นๆต่อไป นับประสาอะไรกับคนที่เป็นคู่ชีวิตกันเพราะความอยากมี นั่นแหละคือสุดยอดของความยึดมั่นถือมั่นเลยทีเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

29.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)