Dinh (Author's Website)
การมีคู่/อัตตา
การมีคู่ คือการแสดงความเป็นเจ้าของ ความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ คือลักษณะหนึ่งของ อัตตา
ถ้าเราไม่เข้าไปเป็นเจ้าของสิ่งใด ก็คงจะไม่มีเหตุให้ต้องมีความทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้น
ช่วงนี้มีแมวจรแวะเวียนเข้ามาพักที่บ้าน ผมเองก็ไม่เคยเกิดความรู้สึกว่าเราจะต้องดูแลอะไรมันมากนัก ก็อยู่กันไปตัวใครตัวมัน ไม่สร้างความเป็นเจ้าของ แม้จริง ๆ เราจะมีอำนาจในการล่อลวงก็ตามที (เคยเลี้ยงมา)
ก็เลยนึกถึงการมีคู่นี่แหละ การมีคู่นี่คือจะเข้าไปเป็นเจ้าของอีกฝ่าย ไม่ให้คนอื่นได้ไป ฉันเป็นเจ้าของเธอคนเดียว ก็เหมือนกับการเลี้ยงสัตว์นั่นแหละ แต่เป็นสัตว์มนุษย์ บำเรอด้วยรักและการตามใจ
เพราะติดเสพในตัวตนของอีกฝ่าย เลี้ยงคนก็ติดคน เลี้ยงแมวก็ติดแมว ติดความเสพในรสสุขของอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในความเป็นคู่ ในความเป็นเจ้าของ ในความเป็นของของฉันเพียงคนเดียว เขารักฉันเพียงคนเดียว ฉันคนเดียวที่มีสิทธิ์จะครอบครองเขา
พอคิด ๆ ไป อันนี้มันก็ชัดเลยว่า การไปมีคู่คือสภาพอัตตาเต็มบ้อง คือไปเอาบุคคล เป็นตัว ๆ มาเป็นตัวเราของเราเลย มีแมวก็แมวเป็นตัว ๆ มีคนก็คนเป็นตัว ๆ หยาบ ๆ เห็นได้ด้วยตา เป็นอัตตาก้อนใหญ่ ๆ ที่ใคร ๆ ก็เห็นได้
คนที่เขาไม่ได้มีศีล ไม่มีธรรม เขาก็ไม่ได้เสพแค่อัตตาเดียวหรอก เขาก็ต้องเสพหลาย ๆ อัตตา หลาย ๆ ตัวตน มีชู้ มีเมียเยอะ มีนั่นมีนี่เล็ก ๆ น้อย ๆ เต็มไปหมด
พอพัฒนาศีลธรรมขึ้นมา ศรัทธาเพิ่มขึ้นมา มีความเห็นไปในทางที่จะพาไปพ้นทุกข์มากขึ้น ก็จะลดลงมาเหลืออัตตาเดียว คือไปตกลงกันว่าเธอเสพฉัน ฉันเสพเธอ จับคู่กันบำเรอกามแก่กัน อันนี้ก็ยังดีขึ้นมากว่าขั้นก่อน ก็ไม่ได้เบียดเบียนไปทั่ว เหลือแต่เบียดเบียนกันเองนี่แหละ มีกันเอง ยึดกันเอง
ต่อมาพัฒนาลดละตัวตนไปเรื่อย ๆ มันก็ไม่เหลือคู่ไง ตัวตนข้างนอกมันหยาบ มันเป็นทุกข์ มันกำหนดไม่ได้ มันไม่ยั่งยืน สุดท้ายทุกข์จะสอนว่า การมีคู่นี่มันเป็นทุกข์มาก ๆ เลย ก็เลยต้องปฏิบัติสู่การละวางความยึดอัตตาในความเป็นคู่
ละวางความเป็นกันและกัน ละวางความเป็นเจ้าของ ปล่อยสัตว์เข้าป่า ปล่อยคู่เป็นอิสระจากความผูกพัน ปล่อยให้พ้นไปจากความหลง อันนี้เป็นบุญกุศลมากเชียวหละ เงินก็ไม่ต้องเสีย เสียแต่อัตตา …เพียงแต่คนเขาไม่ชอบทำแบบนี้กัน มันสวนทาง
คนส่วนใหญ่เขาก็ยึดอัตตา ยึดเขาหรือเธอมาเป็นตัวตน มันก็แบก มันก็หนัก ส่วนคนทวนกระแสเขาก็ไปอีกทาง ก็หัดละวางตัวตน ก็เริ่มจากที่มันไกล ๆ ตัวเราก่อน คือวางตัวคนอื่นนั่นแหละ ไม่ได้เกี่ยวกับชีวิตเรา ไม่ต้องเอามาแบกก็ได้
กุศลสูงสุดของความสัมพันธ์คือ อย่าไปเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใครเลย
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
15.8.2563
การกำจัดคนทุศีลออกจากหมู่คนดี
มีคนถามเข้ามาว่า เขาไปรู้เรื่องชู้สาวระหว่างพระกับสีกา เขาจะทำอย่างไรดี?
ตอบ เราก็เปิดเผยความจริงในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อเราและผู้อื่น
ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็จะมีคนชั่วคนผิดศีลปนเข้ามาหาผลประโยชน์ในกลุ่มคนดีอยู่เสมอ ดังนั้น จึงต้องมีการกำจัดหรือชำระกันอยู่เป็นประจำ
ในสมัยพุทธกาลนี้ยังง่าย เพราะคนที่ทำผิด เมื่อถูกถาม ก็ยอมรับตามความเป็นจริง ถ้าใครได้อ่านพระไตรปิฎก ก็จะคุ้นเคยกับคำถามของพระพุทธเจ้าที่ถามประมาณว่า “เธอทำอย่างที่เขากล่าวหาจริงหรือ” ผู้ถูกถามที่ทำผิดจริงก็จะตอบว่า “เป็นจริงเช่นนั้นพระเจ้าข้า”
แต่ในสมัยนี้ไม่ง่าย ความวกวนของกิเลสยิ่งทำให้คนมีมารยา ไม่ซื่อสัตย์ ปกปิด หมกเม็ด บิดเบือน ใช่ว่าจะจับได้ไล่ทันกันได้ง่าย ถามไปก็ไม่ตอบตามจริง เอาหลักฐานไปอ้างก็บิดเบือน ดีไม่ดีโจทย์ผู้กล่าวหากลับหรือไม่ก็ทำร้ายจนถึงฆ่าตัดตอนกันได้เลย
ดังนั้นคนที่จะชี้มูลความผิดในยุคปัจจุบันจึงต้องใช้ความระมัดระวังกันมากขึ้น การชี้ความผิดเป็นสิ่งดี แต่ก็ต้องระวังตัวด้วย เพราะคนชั่วสมัยนี้ร้ายลึก
ถ้าหลักฐานไม่แน่น เขาก็ดิ้นหลุดได้ง่าย คนชั่วที่มีอำนาจ มีบริวาร ก็จะมีคนหลงผิดคอยช่วยให้เขาได้พ้นข้อกล่าวหานั้น ดังนั้นจะชี้ความผิดคนชั่ว ทุศีล เน่าใน ฯลฯ พวกนี้ หลักฐานต้องแน่น และพยายามหาหมู่มวลที่มีกำลัง ปกป้องคุ้มครองตัวเองได้เป็นพวก
…ว่ากันตรง ๆ ผมก็ไม่ได้พูดทุกอย่างที่รู้หรอก ความจริงหลายเรื่องก็ระดับที่ทำลายศาสนาได้ แต่เราก็พูดตรง ๆ ไม่ได้ พูดหรือแสดงออกตรง ๆ เมื่อไหร่ก็ตายวันนั้นแหละ คือความจริงบางอย่างโลกก็รับไม่ได้ เขาอยากจะเชื่อแบบนั้น พอเราโผล่ขึ้นมาขัดแย้งความเชื่อของเขา คนหลงนี่เขาปรับใจไม่ได้ง่าย ๆ นะ เขายึดยังไง เขาก็ยึดแบบนั้นเลย
ถ้าคนทุศีลหรือพระทุศีล มีอำนาจหรือบารมีไม่มาก แค่ระดับบุคคลก็พอจะชี้โทษกันได้ แต่ถ้าคนมีอำนาจมาก ก็ต้องมีอำนาจมากพอที่จะคุ้มครองตนในระหว่างกระบวนการชี้โทษได้
เลิกช่วยคนไม่ดีไม่ได้
คำถามจากบทความ “เลิกรับใช้คนชั่ว” ถามว่า “รู้ว่าเขาไม่ดีแต่เลิกช่วยไม่ได้ เพราะคิดว่าเราเคยทำมา คงต้องช่วยต่อๆไปจนกว่าจะหมดวิบากนี้ใช่มั้ยคะ”
ตอบ วิบากกรรมจะหมดก็ต่อเมื่อไม่สร้างกรรมเช่นนั้น ขึ้นมาใหม่
ทีนี้มาดูกรรมใหม่หรือกรรมที่ตัดสินใจทำในปัจจุบัน เรารู้แล้วว่าเขาไม่ดี แต่เราเลิกช่วยไม่ได้ อันนี้ต้องมาตรวจอคติลำเอียงของเรา ว่าเรามีความ ชอบ โกรธ หลง กลัว อะไรรึเปล่า ถ้ามีอาการ 4 อย่างนี้ คืออาการของกิเลสปัจจุบัน ไม่ได้เกี่ยวกับวิบากกรรมเก่าขนาดนั้นหรอก เกี่ยวกับใจที่หลงผิดในปัจจุบันนี่แหละ
คนที่พ้นอคติ 4 จะมีอิสระในการตัดสินใจว่าจะช่วยหรือไม่ช่วย อันนี้เอาภายในใจก่อน ภายในใจจะไม่แพ้เหตุผลข้างนอก ปรับไปปรับมาได้อย่างไม่มีอาลัยอาวร ไม่ช่วยคือไม่ช่วย ไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง ช่วยก็ช่วยต่อเมื่อมันเป็นประโยชน์จริง ๆ ไม่ได้ยึดมั่นหรือชิงชังรังเกียจ
ขนาดสงฆ์ที่ว่าปฏิบัติตนเพื่อความเกื้อกูลผองชน ยังสามารถคว่ำบาตร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับฆราวาสที่ประพฤติไม่ดีได้เลย นับประสาอะไรกับคนธรรมดา ที่มีอิสระ ไม่มีกฏ ไม่มีวินัยอะไรมาบังคับ ก็ตัดสินใจเองตามองค์ประกอบได้เลยว่าจะเลือกคบหรือไม่คบใคร
ถ้าเราไปช่วยโดยไม่พ้นอคติ 4 เราก็ไม่มีวันพ้นวิบากเหล่านี้ มันจะมัด จะพันไปเรื่อย ๆ หมดชาตินี้ ไปต่ออีกทีชาติหน้า มีมาให้รับอย่างไม่จบไม่สิ้น เพราะเราไม่กำจัดเหตุ เมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล ทำแล้วก็ต้องรอรับ ไม่ได้ทำก็ไม่ต้องรับ จะรับก็แค่ส่วนที่เคยทำมา
จะคิดว่าเราเคยทำมานั่นก็ใช่ แต่เราจะทำต่อไปไหม? นั่นก็อีกเรื่อง ถ้าเราไม่ได้ถูกบังคับข่มขู่ให้ทำหรือถึงขั้นไม่ทำแล้วคอขาดบาดตายอะไรแบบนี้ ก็ให้ตั้งสติตรวจใจดี ๆ ให้มันชัดในใจถึงกิเลสที่พาให้เกิดความลำเอียงต่าง ๆ แล้วกำจัดไปโดยลำดับ
ส่วนวิบากกรรมนี่มันก็ไม่ได้หมดกันง่าย ๆ หรอก คนเราทำดีทำชั่วสะสมเหตุมาหลายชาติ ขนาดพระพุทธเจ้าบำเพ็ญมาตั้งมากมาย วิบากกรรมสมัยที่ท่านเคยทำบาปก็ยังตามมาทวง ขนาดคนที่ดีที่สุดยังโดนกรรมตามมาทวง นับประสาอะไรกับคนทั่วไป
ดังนั้นจะไปตั้งจิตว่าทำให้มันหมด หรือรอให้มันหมด นี่มันจะทุกข์เสียเปล่า ๆ ก็ตั้งใจปฏิบัติล้างความหลงผิด ลำเอียง ยึดมั่นถือมั่น โลภ โกรธ หลง ฯลฯ ไปดีกว่า เพราะไม่ว่ายังไงผลกรรมมันก็ต้องรับอยู่แล้ว ถึงเวลาเขามาให้รับก็รู้เอง หรือมันหมด มันพักไปก็รู้เองว่ามันหมด มันไม่หมดก็รู้ว่ามันไม่หมด ก็รู้ไว้แค่นี้แหละ
ถ้าปฏิบัติธรรมเจริญได้เป็นลำดับ จะเลิกรับใช้คนชั่ว เลิกส่งเสริมคนชั่วได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ไกลคนชั่วไปเรื่อย ๆ คนชั่วจะเข้าถึงยากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นผลของสัมมาอาชีวะ ที่เป็นกำลังเสริมให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น คือ ไม่มอบตนในทางที่ผิด
การทำทาน เจาะจงหรือไม่เจาะจง
คำถามที่สองจากบทความการเลิกรับใช้คนชั่ว “การทำบุญแบบไม่เจาะจงหน่อยค่ะ”
ตอบ : การทำบุญที่เขาหมายถึงคงหมายถึง “ทาน” คือการสละออก
เขาก็สงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะคงจะไม่ชัดเจนในผล ว่าการทานแบบกระจุกหรือกระจายนั้นให้ผลแตกต่างกันอย่างไร
จะยกตัวอย่างที่ใหญ่ที่สุดในศาสนาพุทธ คือการตัดสินใจประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า
หลังจากท่านตรัสรู้แล้ว ได้มีจิตหนึ่งเกิดขึ้นว่า สอนไปก็เหนื่อยเปล่า ท่านก็จะปรินิพพานเลย ว่าแล้วก็มีท้าวสหัมบดีพรหมมาขอให้ท่านแสดงธรรมโปรดสัตว์ โดยให้ข้อมูลส่วนหนึ่งว่า
“ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ ย่อมจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักยังมีอยู่”
จะเห็นได้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่มีธุลีในดวงตาน้อย ไม่ใช่สัตว์ทั้งหมดในโลก นั่นหมายความว่าพุทธมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนคือผู้ที่มีปัญญาพร้อมที่จะเรียนรู้ธรรม (มีกิเลสน้อย)
เช่นเดียวกับการให้ทาน ทานคือการสละเพื่อขัดความหลงติดหลงยึดอันนี้เป็นกิจตน ส่วนการกระจายผลของทานไปยังสิ่งที่สมควรนั้นเป็นกิจท่าน
การขัดกิเลส มันก็มีแต่เรากับกิเลสของเรานี่แหละ ไม่มีคนอื่น ไม่เจาะจงอย่างอื่น เจาะจงแต่กิเลสตัวเอง
ส่วนกิจท่านหรือประโยชน์ท่าน คือการประมาณการกระทำนั้น ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะชีวิตคนเรานั้นมีต้นทุนต่อหนึ่งการกระทำเสมอ
ในอนุตตริยสูตรกล่าวถึงการบำรุงที่เลวและการบำรุงที่ยอดเยี่ยม การบำรุงที่ยอดเยี่ยมคือบำรุงพระพุทธเจ้าและสาวก ส่วนการบำรุงที่เลว คือบำรุงแล้วไม่พาพ้นทุกข์ ก็ที่เหลือทั้งหมดในโลก
ก็ต้องเลือกเอาเองว่าเรามีน้ำอยู่ 1 ถัง เราจะเอาไปรดพืชผัก หรือจะเอาไปรดวัชพืช มันก็เป็นสิทธิ์ที่เราจะเลือกและพิสูจน์ผลนั้น
พระพุทธเจ้าท่านรู้แจ้งแล้ว ท่านก็เอาผลมาบอกว่า บำรุงพระพุทธเจ้าและสาวกจะให้อานิสงส์มาก อันนี้คือลักษณะเจาะจง หรือระบุกลุ่มทานที่ให้ผลมาก
แต่จะไปกระจายอีกทีในกลุ่ม เช่นกรณีที่พระพุทธเจ้าไม่รับผ้าที่พระนางปชาบดีโคตมี ผู้เป็นแม่เลี้ยง นำมามอบให้ แต่ท่านก็แนะนำว่าให้ไปให้แก่หมู่สงฆ์ อันนี้คือการกระจาย
เพราะเวลาศรัทธาใครแล้วจะจิตมันจะปักมั่นที่ผู้นำกลุ่มนั้น ๆ เลยต้องกระจายเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นอีกทีหนึ่ง
สรุปคือต้องเจาะจงให้ถูกกลุ่มแล้วกระจายแจกจ่ายไปในกลุ่มนั้น ๆ
ถ้าไม่เจาะจงให้ถูกกลุ่มตั้งแต่แรก รับรอง ถึงจะให้ทานแบบไม่เจาะจงก็ไม่พ้นทุกข์หรอก