การสะสมว่ายากแล้ว การเลิกสะสมนั้นยากกว่า
การสะสมว่ายากแล้ว การเลิกสะสมนั้นยากกว่า
ในชีวิตเรานั้นตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงตอนนี้ อาจจะรู้จักแค่คำว่าสะสม ไม่ว่าจะสะสมการเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ สะสมทรัพย์สินเงินทอง สะสมสิ่งของ สะสมบ้านและรถ สะสมบริวาร สะสมบารมีชื่อเสียง สะสมความรัก สะสมความสุข ฯลฯ
เป็นเรื่องสามัญที่คนเขาทำกันทั่วไปในโลก จะว่ายากก็ยาก เพราะกว่าจะได้มาในแต่ละอย่างที่หวังไว้นั้น บางทีเอาทั้งชีวิตไปแลกก็ไม่พอ
ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ถ้ามีพลังของกิเลสเป็นตัวผลักดันแล้วล่ะก็ เราก็จะยินดีถวายชีวิตเพื่อที่จะให้ได้สิ่งเหล่านั้นมาเสพมาสะสม กิเลสจะทำให้เรายินดีเผาพลังชีวิตไปเพื่อให้ได้ความสุขที่ได้สะสมสิ่งเหล่านั้น
แต่การเลิกสะสมนั้นยากกว่าการสะสมมากนัก มีนักสะสมที่เก่งมากมาย รวบรวมของหายากมาไว้กับตัว เราสามารถเห็นนักสะสมทั้งสิ่งของ ความรู้ความสามารถ ทรัพย์สินเงินทอง สิ่งของ โลกธรรมได้ไม่ยากนัก เพราะมีตัวอย่างให้เห็นโดยทั่วไปในโลก แต่เรากลับไม่สามารถหาคนที่เลิกสะสมได้ง่ายนัก
การเลิกสะสมจึงเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากในโลก ใครที่มีความรู้สึกที่อยากจะเลิกสะสม อยากสละ ไม่อยากเอามาเป็นภาระ เขาเหล่านั้นก็คือผู้พ้นภัยจากการสะสมจากสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง
การจะสะสมนั้นต้องมีกลยุทธ์ในการแสวงหา มีขั้นตอนในการหามาครอบครอง เช่นอยากรวยก็ต้องเรียนในเรื่องที่ทำรายได้สูงๆ อาชีพที่รายได้ดี มีการเติบโตเจริญก้าวหน้าที่รวดเร็วหรือถ้าอยากรวยลัดก็เล่นพนัน หวย หุ้น ถ้าระดับหยาบๆ รวยลัดและมักง่ายก็ขายของเถื่อนหรือขโมยของกันเลย
การเลิกสะสมนั้นก็ต้องมีกลยุทธ์ในการสละออกเหมือนกัน เพราะในปัจจุบันนี้ สิ่งที่คนเราสะสมล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไร้สาระและมอมเมาคน หากเราสละออกอย่างไม่มีศิลปะ สิ่งที่เราคิดว่าสละแล้วพ้นจากตัวของเราอาจจะไปก่อเวรภัยสร้างภาระให้กับคนอื่นก็ได้ การสละออกต้องใช้ปัญญาและศิลปะอย่างมาก ไม่ใช่แค่ปัดให้พ้นตัวเราเพียงอย่างเดียวแต่ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย
ตอนที่เราสะสมมันจะมีกิเลสมาสร้างสุขลวงให้ แต่ตอนที่เราเลิกสะสมแล้วมันจะไม่มีกิเลสตัวเดิมนั้น ไม่มีความรู้สึกอะไรให้อยากเก็บไว้ ดังนั้นสิ่งที่เก็บสะสมไว้ก็จะกลายเป็นภาระทันที แต่เรามักจะไม่สามารถโยนภาระออกไปทันทีได้ เพราะวิบากบาปที่เราสะสมมาจะทำให้เราสลัดออกได้ไม่ง่ายนัก เราจึงต้องเรียนรู้การสละออกอย่างไม่ให้เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่น
ซึ่งการสละออกอย่างไม่เป็นโทษ นั้นยากกว่าการแสวงหาและสะสมมากนั้น ต้องมีศิลปะและชั้นเชิงอย่างมากเพราะต้องรักษาความเป็นกุศลไว้ ส่วนการสะสมนั้นไปในทางอกุศลอยู่แล้ว จะมากจะน้อยก็อกุศลอยู่ดี ดังนั้นทุกวันนี้จึงมีผู้รู้ทั้งหลายออกมาเผยแพร่วิธีให้เป็นนักสะสมกันมากขึ้น เพราะมันไม่ต้องระวังอะไร แค่มีให้สะสมก็พอ ยิ่งสะสมได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี เป็นประโยชน์ต่อตัวเองเท่าไหร่ยิ่งดี เป็นอกุศลเท่าไหร่ก็ไม่รู้ เพราะเห็นอกุศลเป็นกุศล เห็นสิ่งชั่วเป็นสิ่งดี เหมือนเห็นกงจักรเป็นดอกบัวนั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
5.2.2558
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)