ทำไมต้องนำมังสวิรัติมาเป็นการปฏิบัติธรรม

November 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,624 views 0

ทำไมต้องนำมังสวิรัติมาเป็นการปฏิบัติธรรม

ทำไมต้องนำมังสวิรัติมาเป็นการปฏิบัติธรรม

หลายคนคงจะสงสัยว่าทำไมจึงต้องหยิบยกการกินมังสวิรัติมาเป็นหัวข้อในการปฏิบัติธรรม ซึ่งคนส่วนมากมักจะเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมนั้นต้องไปฝึกสติ นั่งสมาธิ เดินจงกรม การฝึกขยับร่างกายเพ่งกสิณ ฯลฯ

การนำมังสวิรัติมาปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่แค่การฝึก แต่เป็นการเข้าสู่สนามรบจริง เข้าสู่สนามชีวิตจริง เจอกิเลสจริง สู้กับกิเลสจริง ทำลายกิเลสจริง เราจะทำการฝึกปฏิบัติไปพร้อมกับการเรียนรู้ความพ่ายแพ้ต่อกิเลสนับครั้งไม่ถ้วน จนกว่าจะชนะมันในวันใดวันหนึ่ง ชาติใดก็ชาติหนึ่งซึ่งเป็นการชนะครั้งสุดท้าย

จริงๆแล้วเราสามารถนำสิ่งอื่นมาเป็นหัวข้อปฏิบัติธรรมก็ได้ เช่น ความโกรธ ความโลภ เรื่องปวดหัวในที่ทำงาน เรื่องวุ่นวายในครอบครัว ปัญหาชีวิต ฯลฯ แต่ปัญหาพวกนั้นมันไม่ได้มาให้เราได้ฝึกปฏิบัติทุกวันเหมือนอย่างการกินมังสวิรัติ

พระไตรปิฎกในบทของอาหาร ๔ ว่าด้วยเรื่องอาหารที่จำเป็นต่อความเจริญของชีวิต ในข้อ ๑ จะเป็นอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันเพื่อเป็นพลังงานให้ร่างกาย และในข้อ ๒ คือเราต้องมีผัสสะเป็นอาหาร ซึ่งเราจะเน้นหนักในข้อนี้

ผัสสะ คือสิ่งกระทบ คือการกระทบ คือการที่มีเหตุการณ์บางอย่างเข้ามากระทบแล้วตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเปิดรับ หรือรับรู้สิ่งนั้นได้ การมีผัสสะนั้นทำให้เรารู้ว่าเรายังมีกิเลสหลงเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด ถ้ามีกิเลสมาก แล้วเกิดผัสสะจิตใจจะเกิดทุกข์ กระวนกระวายมาก เหมือนกับคนที่เสพติดเนื้อสัตว์แล้วหันมากินมังสวิรัติ เมื่อเจอเนื้อสัตว์ก็จะเกิดความอยากรุนแรง เกิดทุกข์แรง

การปฏิบัติธรรมด้วยเหตุอื่นๆนั้นสามารถทำได้ เช่นความโกรธ เมื่อเรามีผัสสะเข้ามาเราก็สู้กับความโกรธนั้น หาเหตุแห่งความโกรธนั้น ดับความโกรธนั้นด้วยวิถีแห่งสัมมาอริยมรรค แต่ปัญหาก็คือเมื่อไหร่ล่ะที่เราจะเกิดความโกรธ แล้วใครจะมาช่วยทำให้เราเกิดความโกรธ แล้วถ้าความโกรธนั้นเกิดขึ้นจริงเราจะหยุดได้ ดับได้ ปล่อยวางได้จริงหรือไม่ ซึ่งถ้าเราหยิบยกเรื่องเหล่านี้มาเป็นแบบฝึกหัดปฏิบัติธรรม ก็ขอยืนยันเลยว่ายาก เพราะเราจะควบคุมปริมาณผัสสะที่เข้ามาไม่ได้ ควบคุมความรุนแรงไม่ได้ และความโกรธนั้นเป็นโจทย์ที่ต้องเจอในชีวิตอยู่แล้ว เหมือนสนามรบจริงๆ ถึงเราไม่อยากเข้าร่วมก็ต้องเข้าร่วมอยู่ดี

ไม่เหมือนกับการกินมังสวิรัติ คือเราสร้างสนามซ้อมขึ้นมา แต่ซ้อมกับกิเลสจริงๆของเรานี่แหละ เราสามารถรู้ได้เลยว่าเราจะสู้กับความอยากกินเนื้อสัตว์ของเรา เมื่อไหร่ เท่าไหร่ แค่ไหน อย่างไร เช่น วันละประมาณ 3 มื้อ หรือในมื้อเย็นต้องไปกินเลี้ยงกับเพื่อนๆ จะสู้กิเลสอย่างไร ซึ่งเมื่อเราหัดปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ จะสามารถประมาณกำลังของผัสสะให้เหมาะกับกิเลสได้ง่าย เจริญได้ง่าย ไม่ยากเกินไป ทั้งยังเป็นประโยชน์ในด้านสุขภาพ และสร้างกุศลจากการละเว้นมากมาย

สนามปฏิบัติธรรมมังสวิรัตินั้นจะเกิดขึ้นมาไม่ได้หากเราไม่ถือเป็นสิ่งที่ควรละเว้น ไม่ได้ถือศีลมังสวิรัติ ไม่ได้บำเพ็ญตบะงดเว้นเนื้อสัตว์ เมื่อเราไม่มีเครื่องกั้นกิเลส เราก็จะไม่เห็นกิเลส แม้ว่าจะใช้ชีวิตผ่านไปนานเท่าไหร่ก็จะไม่เห็นกิเลส แตกต่างจากคนที่ตั้งศีลมังสวิรัติไว้ในใจ เขาเหล่านั้นจะเห็นกิเลสอย่างชัดเจนเมื่อมีผัสสะ มีเนื้อสัตว์ตรงหน้า มีสเต็ก มีหมูปิ้ง มีเนื้อย่าง มีอาหารทะเล สิ่งเหล่านี้คือผัสสะที่เข้ามากระตุ้นให้กิเลสเกิดอาการอยากเสพ เมื่อกิเลสไม่ได้เสพสมใจก็จะออกอาการทุกข์ทรมานใจ กระทั่งส่งผลไปถึงทรมานกายเลยก็สามารถทำได้ เช่นเมื่อไม่ได้กินเนื้อก็ออกอาการหมดแรง น้ำลายไหล หิวกระหาย ท้องร้อง ไม่สบาย ฯลฯ อาการเหล่านี้เป็นอาการที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเอง เกิดจากกิเลสสร้างขึ้นมา ไม่ใช่สภาวะตามธรรมชาติ เป็นสภาพลวงตาที่กิเลสสร้างขึ้นมาให้หลงว่าการได้เสพเนื้อสัตว์นั้นจะสร้างสุขให้และเมื่อไม่ได้เสพเนื้อสัตว์เราก็จะเป็นทุกข์

การปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติเพื่อทำลายความอยากเสพเนื้อสัตว์จึงเป็นเหมือนทั้งสนามซ้อมและสนามแข่งจริง เพราะถึงแม้ว่าเราจะพลาดท่าพ่ายแพ้ให้กับพลังของกิเลส กลับไปเสพเนื้อบ้าง แต่ก็ไม่มีผลเสียรุนแรง ไม่เหมือนกับเรื่องของความโกรธ ถ้าเหตุการณ์ใดเกิดแล้วทำให้โกรธจนคุมสติไม่อยู่ สร้างบรรยากาศที่ไม่พอใจออกไป แสดงสีหน้าไม่พอใจออกไป แสดงอาการไม่พอใจออกไป เช่น ด่า ว่า กล่าว แขวะ ประชด ลงไม้ลงมือ ฯลฯ ก็อาจจะเกิดผลเสียที่รุนแรงตามมาได้

ดังนั้นการนำมังสวิรัติมาเป็นโจทย์ในการปฏิบัติธรรมนั้น เพื่อให้ผู้เริ่มปฏิบัติธรรมได้เข้าใจกระบวนการของการล้างกิเลส โดยใช้การปฏิบัติที่สอดร้อยเข้าไปในชีวิตประจำวัน โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มกิจกรรมใดๆเข้าไปในชีวิต มีแค่เพียงการลดการเสพ ลดความอยากลงไปเท่านั้น ผิดพลาดก็ไม่เสียหายมาก แต่ถ้าล้างกิเลสได้ก็เจริญมาก

เมื่อประเมินจากความคุ้มค่าในการเลือกข้อปฏิบัตินี้มาเป็นกรรมฐาน จึงได้สร้างกลุ่มปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติขึ้นมา และเผยแพร่แนวทางและวิธีการเหล่านี้ออกไปเพื่อเป็นตัวเลือกหนึ่งในผู้ที่สนใจปฏิบัติธรรม แต่ไม่มีเวลาว่างไปวัด ไม่มีเวลาทำทาน ไม่มีเวลาฟังธรรม ได้ลองปฏิบัติโดยใช้การปรับเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนที่กิเลส เปลี่ยนมิจฉาทิฏฐิ ได้เรียนรู้และเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องไปที่ไหน หรือพึ่งพาใคร เพราะเราปฏิบัติที่ใจ ใจที่มีกิเลส มีกิเลสตรงไหนก็ปฏิบัติตรงนั้น เราถือศีลให้เห็นกิเลส

เมื่อเห็นกิเลสก็พิจารณาโทษของกิเลสไปเรื่อยๆนั้น จึงเรียกว่าการปฏิบัติธรรม คือทำตนเองให้มีธรรมะ การจะมีธรรมะได้นั้นต้องกำจัดความหลงผิดในธรรม คือความไม่เป็นธรรม ความลำเอียง ความโง่ ความมัวเมา ฯลฯ เมื่อปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติจนเข้าใจแล้ว ก็จะสามารถประยุกต์ใช้กระบวนการทำลายกิเลส ไปใช้กับกิเลสตัวอื่นได้เช่น ความโกรธ ความโลภ ความหลงเสพ หลงติด หลงยึด ฯลฯ เพื่อความเจริญอื่นๆสืบไป

– – – – – – – – – – – – – – –

6.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Related Posts

  • วิธีปล่อยวางความรัก วิธีปล่อยวางความรัก ...ทั้งในทางโลกและในวิถีทางแห่งพุทธศาสนา ในบทความนี้จะมาไขรหัสการปล่อยวางความรัก ว่าปล่อยวางอย่างไรจึงจะวางได้จริง บางคนยอมปล่อยแต่ไม่ยอมวาง ถึงอยากวางก็วางไม่ลง มันยังขุ่นใจหงุดหงิดใจอยู่ […]
  • อดีต อนาคต ปัจจุบัน: ตรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมดในทุกช่วงเวลา อดีต อนาคต ปัจจุบัน: ตรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมดในทุกช่วงเวลา หลังจากที่เราได้ผ่านการทดสอบจิตใจตัวเองตั้งแต่ระดับ 1-3 มาแล้ว ก็ยังเหลือการทดสอบอีกขั้นหนึ่งซึ่งเรียกว่าการตรวจเวทนา ๑๐๘ […]
  • พ่อครัวแม่ครัว จะกินมังสวิรัติได้อย่างไร? พ่อครัวแม่ครัว จะกินมังสวิรัติได้อย่างไร? หลายคนที่คิดจะมากินมังสวิรัตินั้นมักจะประสบปัญหาเกี่ยวกับความไม่สอดคล้องในด้านของอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นพ่อครัวแม่ครัว พ่อบ้าน แม่บ้าน […]
  • กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น เป็นระดับที่สองต่อจาก “กินร่วมโต๊ะ” แต่ก็จะยากขึ้นกว่าเดิมมาก ยังคงต้องใช้พื้นฐานเดิมคือ ”สติสัมปชัญญะ”ความรู้ตัวพร้อมแบบทั่วไป และ "สติปัฏฐาน ๔" คือรู้ กาย เวทนา จิต […]
  • กินร่วมโต๊ะ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมโต๊ะกับผู้อื่น กินร่วมโต๊ะ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมโต๊ะกับผู้อื่น การตรวจสอบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาได้ระดับหนึ่ง ซึ่งสามารถประคองสติได้ดี และเข้าใจในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ เข้าใจกาย เวทนา จิต ธรรม […]

ฝากความคิดเห็น : Leave a Reply