Tag: โสด
วิ่งสู้ อย่าไปฟัด : หนีรัก หนีนรก หนีกันข้ามภพข้ามชาติ
วิ่งสู้ อย่าไปฟัด : หนีรัก หนีนรก หนีกันข้ามภพข้ามชาติ
โจทย์ของคนโสดที่ต้องการชีวิตที่ผาสุก
ถ้าคนทั่วไปมีคนถูกใจเข้ามา เขาก็จะลองพูดคุย ลองคบหากัน ถ้าถูกใจจริงๆ ก็จะเพิ่มความสัมพันธ์กันต่อไป แต่สำหรับคนโสดที่อยากจะหนีออกจากวนเวียนของคนคู่นั้น ยาก…กว่า..ที่.คิด
ทันทีที่เราตั้งใจว่าจะโสด เพื่อความผาสุกที่ยิ่งกว่า ไม่ใช่โสดเพื่อรอเสพ โสดเพราะไม่มีให้เสพ หรือโสดให้ท่า คือโสดจริงๆ โสดไปจนตายเลย มีความเชื่อมั่นอย่างจริงจังว่าโสดนี่แหละดี เราจะอยู่เป็นโสดตลอดไป ซึ่งแน่นอนว่าในขั้นนี้เรียกว่ามีความเห็นที่ถูกตรงแล้ว คือมีสัมมาทิฏฐิ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีสัมมาสมาธิ เพราะยังเป็นเพียงแค่ความเห็น แต่ยังไม่มีธรรมะนั้นจริงในใจ คือยังอยู่ในขั้นเดินมรรค แต่ยังไม่ได้ผล
เมื่อเราตั้งจิตว่า เราจะโสด ฟ้า(ผลของกรรม) จะส่งโจทย์ เข้ามาทดสอบความจริง ทดสอบธรรมะของเราว่าแท้หรือไม่ และเป็นแบบฝึกหัดให้เราเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามไปอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องปกติที่จะพ่ายแพ้ เพราะกิเลสนี่มันร้ายกว่าเรามาก ในสภาพที่ธรรมะของเรายังไม่เจริญเต็มที่ การจะไปเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราคาดว่าจะแพ้นั้น ไม่ใช่แนวทางที่ดีเลย ดังนั้นเราจึงมาชวนกันหนี! หนีจากตัวเวรตัวกรรม หนีจากโอกาสที่จะได้เสพสมใจกิเลส
เมื่อตั้งใจอย่างจริงจังว่าจะอยู่เป็นโสด เราจะเจอโจทย์ที่โหดตามธรรมที่ควรของเรา ใครที่ยังติดความงามอยู่ ฟ้าก็จะส่งสาวสวยหนุ่มหล่อมา เขาจะเข้ามาในชีวิตเราแบบเนียนๆ เหมือนมาทางด่วนไม่ต้องฝ่ารถติดยังไงอย่างนั้น แล้วเราจะทนได้ไหม เราจะผ่านไปได้ไหม ถ้าคิดว่าไม่ไหวก็หนีก่อน อย่าเพิ่งเข้าใกล้ ไม่อย่างนั้นก็เสร็จอย่างเดียว
ถ้าเราผ่านด่านความงาม (กาม) ก็จะมาเจอกับโลกธรรม คือลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข จะมีใครสักคนที่อัญเชิญสิ่งเหล่านี้มา และทำให้เรารู้ว่าถ้าเราไปครองคู่เขา เราจะได้รับสิ่งเหล่านี้ตลอดชีวิต ถ้าหนักๆ ก็เรียกว่าทั้งหน้าตาดี ทั้งมีฐานะ มีความรู้ มีหน้าที่การงานดี ฯลฯ เข้ามาใกล้ชิด พาให้คิด พาให้เพ้อฝัน ณ จุดนี้เรายังจะโสดไหวอยู่รึเปล่า อุดมการณ์ของเรายังหนักแน่นอยู่รึเปล่า ถ้าไม่ไหวก็หนี!
ถ้าเรามีภูมิคุ้มกันเช่น เราเคยคบกับคนหน้าตาดีมา เราก็หน้าตาดีและมีฐานะ เราอาจจะไม่อยากเสพสองสภาพแรกสักเท่าไหร่เลยผ่านมาได้ง่ายๆ แต่ถ้าเรามาเจอกับคนดีล่ะ คนดีที่เขามีชีวิตดีๆ พยายามทำดี พร้อมทั้งอุดมไปด้วยลาภ สักการะต่างๆ เราจะทนไหวไหม เขาก็เป็นคนดีนะ นิสัยดีนะ มีธรรมะด้วย เราจะหวั่นไหวไปร่วมหัวร่วมหางกับเขา หรือเราจะหนี!
สุดท้ายแม้เราเป็นคนที่ไม่สนใจหน้าตา ลาภ ยศ ความดี ฯลฯ อะไรเลยก็ตาม แต่ถ้าเรามาเจอคนที่แสวงหาทางพ้นทุกข์ เพื่อที่จะบรรลุมรรคผลเหมือนเราล่ะ เขาจะเดินไปทางเดียวกับเราเลยนะ เราจะรับเขาเข้ามาในชีวิตของเราไหม เราจะเลิกพึ่งตนไปพึ่งเขาหรือไม่ หรือเราจะหนีห่างออกมาในระยะที่สมควร ไม่เกินเลยไปกว่าเพื่อน
ถึงจะบอกว่าหนี … แต่ในความจริงมันก็ยากจะหนีพ้น เพราะโจทย์จะเข้ามากระทุ้งกระแทกกระทั้นให้กิเลสนั้นออกอาการ คนปากหนักใจแข็งที่ไม่คิดว่าจะรักใครอีกก็อาจจะหวั่นไหวได้ เราหนีไปที่ไหนเขาก็จะตามไป ถึงคนหนึ่งไม่ตาม แต่ก็จะมีอีกคนหนึ่งตามมา จะมีคนเข้ามาใกล้ชิดเราอยู่เสมอ เราหนีเข้าป่า ก็จะมีคนเข้ามาหาในป่า เราหนีเข้าวัด เราก็จะเจอกับคนแบบนั้นในวัด เอาเป็นว่าไปไหนก็จะเจอ นั่นเพราะเรานั่นแหละที่เป็นตัวดึงดูดเขาเข้ามา เป็นผลของกรรมของเราเองที่จะเข้ามาทดสอบความแท้ ของความโสดของเรา
ดังนั้นในการปฏิบัติก็ควรจะหลีกเลี่ยงก่อนเป็นอันดับแรก เพราะยากนักที่ลูกหนูจะสู้กับสิงโตได้ ถึงจะใกล้ตัวก็ควรวางใจให้ห่างเอาไว้ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้สู้ ถ้าวันหนึ่งเราเติบโต เรามีอินทรีย์บารมีแก่กล้า ก็ต้องกลับมาเผชิญหน้าสู้กันเพื่อพิสูจน์มรรคผลกันอยู่ดี
ใครที่ไม่แน่ใจก็ยังไม่ต้องรีบพิสูจน์กันมาก เพราะโดนลากลงนรกกันมาเยอะแล้ว ถึงจะบวชเป็นพระแก่พรรษา มีลูกศิษย์มากมาย เขาก็จับสึกเอาไปเป็นคู่ได้ ถ้าเราไม่ใช่ของแท้แล้วไปพัวพันเข้ามากๆ นี่เขาลากลงนรกเลยนะ พอคนหลงแล้วนี่มันหลงเลย มันถอนตัวยาก กว่าจะเห็นโทษของกิเลสนี่ก็ไม่ง่าย ดีไม่ดีตีกลับเห็นกิเลสว่าเป็นของดี เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นว่าการมีคู่นั้นดี รู้อย่างนี้เรามีคู่ไปตั้งนานแล้ว จะมาทนโสดอยู่ทำไม! มันตีกลับไปแบบนี้ก็ได้นะ
– – – – – – – – – – – – – – –
21.7.2559
โสดก่อนซวย
โสดก่อนซวย : ชิงโสดก่อนแต่ง หรือแต่งก่อนแล้วจำยอมโสด (ตายก่อนตายในมุมของการมีคู่)
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ตายก่อนตาย หมายถึง ทำให้กิเลสนั้นตายก่อนจะถึงวันตายของเรา โสดก่อนซวยก็เช่นกัน หมายถึงให้เรามีความยินดีในความโสดของเราก่อนจะถึงวันซวยของเรา…
ความโสดนั้นเป็นสถานะของคนที่พึ่งตน เป็นอิสระ เป็นค่ามาตรฐานของคน เกิดมาก็ได้มาเลยไม่ต้องแสวงหา ไม่มีบ่วง ไม่มีเครื่องผูก ตรงกันข้ามกับสถานะ “แต่งงาน” ที่ต้องผูกพันพึ่งพากัน เป็นสิ่งยึดมั่นของกันและกัน เป็นบ่วงของกันเลยกัน เป็นเจ้ากรรมนายเวรของกันและกัน สร้างวิบากที่ผูกมัดไว้ด้วยกัน ในบทความนี้เราจะแทนด้วยความ “ซวย”
ซวย นั้นหมายถึงเคราะห์ร้าย อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงจะงงว่าทำไมถึงตีความว่าการแต่งงานเป็นความซวย ทั้งๆที่เวลาใครเขาแต่งงานก็มีแต่คนแสดงความยินดี ไม่เห็นมีใครเสียใจ ได้ทั้งลาภ(เงินใส่ซอง) ยศ(สามี-ภรรยา) สรรเสริญ(คำยินดี คำชม) สุข(สุขลวงตามอุปาทานที่แต่ละคนสร้างมา) การแต่งงานคือความซวยอย่างไร ก็ขอเชิญให้ลองพิจารณาเนื้อหาต่อจากนี้กัน
๐. ทางสู่ความผาสุกที่แท้จริง
ศาสนาพุทธแม้จะไม่ได้ห้ามการมีคู่ แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้คนแต่งงานหรือครองคู่กัน พระพุทธเจ้าเปรียบคู่ครองกับบุตรนั้นเป็นเหมือนบ่วงถ่วงความเจริญในธรรม ดังนั้นเส้นทางธรรมของคนโสดกับคนคู่จึงแตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะแตกต่างกันเท่าไหร่ โจทย์หนึ่งในการปฏิบัติธรรมนั้นคือต้องก้าวข้าม “ความอยากมีคู่” เป็นโจทย์ที่ถูกบังคับให้แก้ปัญหา ไม่ว่าจะคนโสดหรือคนคู่ก็ตาม ซึ่งรายละเอียดจะถูกขยายไว้ในบทวิเคราะห์ต่อไปนี้
๑.ชิงโสดก่อนแต่ง
ความโสดเป็นสถานะแรกที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ไม่ได้หมายความว่าสถานะนี้จะคงอยู่ตลอดไป เพราะ “ความอยากมีคู่” ทำให้คนมากมายพยายามที่จะทิ้งความโสดไป บ้างก็สละโสดได้ บ้างก็สละไม่ได้ ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่ควรสละไม่ใช่ความโสด แต่เป็นความอยากมีคู่ต่างหาก
เมื่อเราเลือกสละความผาสุกเพื่อที่จะได้เสพสุขลวงตามกิเลส นั่นก็หมายถึงธรรมะพ่ายแพ้ต่ออธรรม แต่ถ้าหากเราพยายามที่จะรักษาความโสดไว้และผลักไสความอยากมีคู่ออกไป นั่นก็หมายถึงธรรมะนั้นมีกำลังเหนืออธรรม
มีคนจำนวนมากใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือหาคู่ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการหลีกหนีการมีคู่ ผู้ที่ประพฤติตนเป็นคนโสด พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นผู้รู้ ดังนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้ คือรู้โทษชั่วของการมีคู่ จึงพยายามที่จะทำลายเหตุของความอยากมีคู่ หรือกิเลสที่เข้ามาฝังอยู่ในจิตวิญญาณของตน ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้เขาเหล่านั้นพลาดพลั้งเผลอใจไปมีคู่ในอนาคตได้
เมื่อเขาเหล่านั้นรู้แจ้งชัดเจนในโทษภัยของการมีคู่ จึงจะสามารถละหน่ายความอยากมีคู่นั้นได้ นั่นหมายถึงไม่จำเป็นต้องไปมีคู่ ก็สามารถเกิดปัญญารู้แจ้งโทษชั่วได้ เรียกว่าชิงโสดก่อนแต่ง คือประพฤติตนให้รู้แจ้งเห็นจริงในคุณค่าของความโสดและโทษภัยของการมีคู่ก่อนที่จะหลงไปแต่งงานเพราะความอยากมีคู่ พวกเขาจึงไม่ต้องสร้างกรรมกับใคร ไม่ต้องเบียดเบียนกัน ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นกัน ไม่ต้องพากันหลงเสพหลงสุขให้มัวเมา ทำให้พวกเขาไม่ต้องรับวิบากบาปเหล่านั้น เบาสบายไปอีกชาติ ปัญญาก็มี ทุกข์ก็ไม่ต้องรับ
๒.แต่งก่อนแล้วจำยอมโสด
คนที่ “หลง” มาจนถึงขั้นแต่งงาน มีทั้งคนที่พ่ายแพ้ต่อกำลังของกิเลส จนถึงคนที่หลงมัวเมาว่ากิเลสนั้นเป็นของดี ยอมเป็นทาสกิเลสกันเลยก็มี เขาเหล่านั้นมักมีความเชื่อว่า การครองคู่ก็สามารถเจริญในธรรมได้เช่นกัน และแน่นอนว่าลึกๆในใจย่อมเชื่อว่าทางที่ตนเลือกนั้นดีกว่าอยู่เป็นโสด
โดยทั่วไปคนที่จะแต่งงานกันนั้นจะมีกิเลสมากกว่าคนโสดอยู่แล้ว เพราะกว่าคนจะรู้จักกัน คบหากัน จนถึงขั้นแต่งงานกัน จะมีระดับชั้นของความยึดมั่นถือมั่นที่แตกต่างกัน ถ้าแค่รู้จักกันก็ยึดว่ารู้จักกัน คบหากันก็ยึดว่านี่แฟนฉัน แต่งงานกันก็ยึดว่านี่ผัวฉันเมียฉัน ไม่มีใครยึดผู้อื่นมาเป็นคู่ตั้งแต่แรก กิเลสมันจะค่อยๆโต ค่อยๆผูกพัน ค่อยๆยึด จนแต่งงาน มีลูกมีหลานนั่นแหละ เรียกว่ากิเลสสุกงอมจนเห็นผลเป็นรูปธรรมได้แล้ว ดังนั้นจะบอกว่าแต่งงานแล้วเจริญในธรรมนี่ไม่จริงอย่างแน่นอน มีแต่เสื่อมกับเสื่อมมากเท่านั้นเอง
การเจริญในธรรมของคนโสดกับคนคู่นั้นต่างกัน คนโสดเหมือนกับต้องพยายามห้ามตนไม่ให้หลงเข้าไปเขาวงกต แต่คนมีคู่นั้นจะต้องพาตนเองออกจากเขาวงกตเพราะหลงเข้าไปเรียบร้อยแล้ว นี่เป็นโจทย์ที่แตกต่างกันในการปฏิบัติ
ตั้งแต่เริ่มคิดจะมีคู่ ก็เอาตัวมาจ่อรออยู่หน้าเขาวงกตแล้ว พอมีคู่ก็พากันเดินเข้าเขาวงกต ทุกก้าวที่เดินไปก็โปรยตะปูเรือใบเอาไว้ด้วย ตะปูเหล่านั้นคือความยึดมั่นถือมั่นที่สร้างไว้ ป้องกันไม่ให้กลับไปหาความโสดได้ง่าย และยิ่งสะสมความหลงเสพหลงสุขตามกิเลสมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งไกลจากปากทางเข้ามากเท่านั้น
แล้วถ้าไปจนถึงขั้นแต่งงาน มีคนมายินดี ให้ลาภยศสรรเสริญสุขเข้ามากๆ ก็จะยิ่งเป็นวิบากบาปที่ต้องรับไว้ เพราะที่เขาเข้ามาแสดงความยินดีนั้น เพราะเขาไม่มีปัญญารู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นโทษ เห็นคนมีคู่แสดงท่าทางว่ามีความสุข เขาก็หลงไปว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี การนำเสนอชีวิตรักจนถึงการจัดงานแต่งงานจึงเป็นการสร้างกรรมที่ลวงคนให้หลงยินดีในการครองคู่ นั่นหมายถึงต้องรับผลกรรมที่ทำให้คนอื่นหลงมัวเมาในสุขลวงเหล่านี้ด้วย ยิ่งเผยแพร่ไปมากเท่าไหร่ ยิ่งจัดงานยิ่งใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งจะต้องรับผลของกรรมมากเท่านั้น ถึงแม้โลกจะถือว่าการแต่งงานเป็นเรื่องมงคล แต่ในทางธรรมนั้นไม่ใช่อย่างแน่นอน
ทีนี้ยิ่งเดินก็ยิ่งไกล ยิ่งลึกเข้าไปในเขาวงกต ทางที่ผ่านก็มีแต่ตะปูเรือใบที่เผลอวางไว้โดยไม่รู้ตัว แม้คิดจะถอยหลังกลับ แต่กิเลสก็ไม่ยอมให้กลับไปง่ายๆ เดินไปข้างหน้าเสพสุขนั้นดูเหมือนจะสบายกว่าถอยหลงแล้วยอมทนทุกข์ ซึ่งโดยมากก็มักจะคิดเช่นนั้น
แน่นอนว่าคนมีคู่ก็คงไม่มีใครอยากกลับไปหาความโสด แต่โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ คนเราต้องพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจเป็นธรรมดา วันหนึ่งเมื่อวิบากกรรมส่งผล อาจจะทำให้รักนั้นเกิดปัญหา ทะเลาะรุนแรง,รักจืดจาง,มือที่สาม หรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุพิกลพิการ ป่วยหรือตายก็ได้ มีปัญหาอีกสารพัดที่จะทำให้ชีวิตคู่นั้นสั่นคลอน บางคู่ก็ประคองต่อไปได้ บางคู่ก็ต้องจบตรงนั้น
แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อเขาวงกตนั้นไม่มีทางออก มันมีแต่ทางเข้า เข้าทางไหนมันก็ต้องออกทางนั้นจึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง คนจำนวนหนึ่งยินดีที่จะหลงวนเวียนในเขาวงกตนั้นต่อไปเรื่อยๆ เจอคนใหม่ก็พากันหลงต่อไป ถึงไม่เจอก็รออยู่ตรงนั้นจนกว่าจะเจอ จมอยู่กับความอยากปริมาณมหาศาลที่ไม่มีทางออก เขาวงกตนี้เรียกว่าวัฏสงสารน้อยๆ (เฉพาะเรื่องคนคู่)
ซึ่งการจะออกนั้นคือต้องกลับไปทางที่เข้ามา ยึดมั่นถือมั่นในอะไรก็ต้องทุกข์เพราะสิ่งนั้น สร้างไว้เท่าไหร่ก็ต้องรับเท่านั้น เหมือนกับการที่ต้องทนเจ็บปวดลุยเหยียบตะปูเรือใบเพื่อกลับไปที่ปากทางเข้า แล้วเข้ามาทางไหนก็จำไม่ได้ กี่แยกกี่ซอยที่วกวนผ่านพ้นมา เสียเวลาหลงทางมากขึ้นไปอีก ถึงแม้จะกลับออกไปได้ แต่ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของความอยากมีคู่ เดี๋ยวก็จะพากันเข้ามาหลงสุขในเขาวงกตนี้ใหม่ (กี่ชาติๆ ก็ยังไม่เข็ด)
นี่คือความซวยของคนคู่ คือต้องทุกข์เพราะตนเองหลงสุขในกิเลส อยากได้ก็เป็นทุกข์ พยายามหามาก็เป็นทุกข์ ได้เสพก็เพิ่มเชื้อทุกข์(ความยึดมั่นถือมั่น) เสียไปก็ทุกข์ วนเวียน อยาก แสวงหา เสพ สูญสลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นอีกวนเวียนไปอย่างนี้ไม่จบไม่สิ้น
ซึ่งสุดท้ายทุกคนก็ต้องไปคนเดียว สถานะสุดท้ายยังไงก็ต้องจบที่โสด ไม่โสดตอนเป็นก็โสดตอนตาย เวลาตายเราก็ไปของเราคนเดียว ไม่มีใครไปด้วย ซึ่งในกรณีนี้เป็นการถูกบังคับให้โสด ต้องโสดด้วยความจำยอม ผู้บังคับคือวิบากกรรมของเราเอง ต่างจากผู้ที่ประพฤติตนเป็นโสด เป็นผู้ที่ขีดเส้นกรรมด้วยตัวเอง ยินดีที่จะเป็นโสดด้วยตนเอง จึงไม่ต้องพบกับทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลง ความผิดหวัง หรือการพลัดพรากใดๆเลย
สรุปก็คือคนที่แต่งงานสุดท้ายก็ต้องกลับไปเป็นโสดอยู่ดีนั่นเอง ไม่ว่าจะเพราะกรรมบังคับ หรือเพราะการเจริญในทางธรรมก็ตาม นั่นหมายถึงแต่งงานไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ได้แต่ความยึดมั่นถือมั่นและวิบากบาปสารพัดติดตัวมา แม้จะกลับมาประพฤติตามธรรมอยู่เป็นคนโสด แต่ก็จะมีวิบากบาปมากกว่าการตั้งใจอยู่เป็นโสดตั้งแต่แรก เรียกว่าเริ่มต้นที่ติดลบก็ว่าได้ ในส่วนปัญญาแม้จะรู้เรื่องคู่มากแต่ถ้าไม่รู้เท่าทันความอยากมีคู่ของตัวเองมันก็ยังไปเทียบกับคนที่ปฏิบัติตนให้เป็นโสดไม่ได้
การเป็นโสดนั้น ไม่ได้และไม่ต้องเสียอะไร ไม่ทำร้ายและไม่เบียดเบียนใคร ใครที่เข้าใจแล้วพาตนเองให้เป็นโสดก่อนก็จะได้พบกับความผาสุกก่อน ต่างจากคนคู่ที่มุ่งทำร้ายทำลายกัน(เช่นการสมสู่กัน) หลอกลวงกันด้วยความหลงและสร้างความยึดมั่นถือมั่นให้แก่กัน ซึ่งเป็นไปเพื่อการจองเวรกันชั่วกาลนาน ดังนั้นใครโสดได้ก่อนก็ไม่ต้องซวยทีหลัง ส่วนคนที่อยากสละโสดก็ต้องพบกับความซวยกันต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
21.4.2559
คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า
คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า
ผมพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับปัญหาคนคู่ ปัญหาความรักไว้ค่อนข้างเยอะ และได้รับความเห็นเกี่ยวกับความทุกข์ เมื่อออกจากนรกคนคู่ไม่ได้มาหลายครั้ง
เป็นสภาพของ “คนในอยากออก” ซึ่งก็เป็นคนที่พลาดโดนกิเลสหลอกให้ไปมีคู่นั่นแหละนะ ตอนแรกหลายคนก็เข้าใจว่าจะต้องเป็นสุข อย่างน้อยๆก็สุขมากกว่าทุกข์ แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้นหรอก มันเป็นสภาพกล้ำกลืนฝืนทน ทนอยู่ไปทั้งรักทั้งชัง จะเลิกก็เสียดาย จะรักมันก็ไม่เต็มที่มันวันที่คบกันแรกๆ มันมีความรังเกียจชิงชังอยู่ด้วย
ส่วน “คนนอกอยากเข้า” นี่ก็เป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น อยากได้อยากเสพเหมือนคนอื่นเขา เห็นคนอื่นเขาสร้างภาพว่ารักกัน แต่งงานกันแล้วมันจะเป็นสุข ก็คิดว่าไปว่าทั้งหมดของชีวิตคู่ต้องสุขแน่ๆ แต่ก็ไม่รู้หรอกว่าจริงๆ คู่อื่นเขาก็แสดงให้เห็นแค่ตอนสุขนั่นแหละ ตอนเขาทะเลาะกันเป็นทุกข์กัน เขาไม่ค่อยเอาออกมาพูดให้อับอายขายขี้หน้ากันหรอก
น้อยคนนักที่จะยอมเปิดเผยเรื่องราวชีวิตคู่ที่เจ็บช้ำ เพราะคนเรามักจะอยากมองอยากรับรู้แต่เรื่องที่สวยงาม แล้วกดข่มความทุกข์ไว้ แน่นอนว่ามันจะกดข่มได้แค่ประมาณหนึ่ง จึงมีคนจำนวนหนึ่งออกมาประกาศความจริงว่าชีวิตคู่มันห่วย แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเก็บงำความจริงไว้ ปล่อยให้ชีวิตรักเป็นภาพสวยๆ ที่มีดอกไม้บานเต็มทุ่งท่ามกลางหุบเขาอะไรแบบนั้น
ทีนี้คนนอกที่ศึกษาจนรู้เห็นตามความเป็นจริงว่ามีแต่ทุกข์หรือโอกาสที่จะเกิดทุกข์นั้นสูงกว่า ก็จะทำให้ละหน่ายคลายความเห็นผิดว่าการครองคู่มีแต่สุขไปได้บ้างตามความรู้จริงนั้นๆ
แต่ก็มีคนนอกจำนวนมากที่อยากเข้ามามีชีวิตคู่เพราะความประมาท เช่นประมาทในผลของกรรม หลงคิดว่าตนเองนั้นเก่ง มีธรรมะ มีปัญญา เป็นคนดี แล้วจะสามารถพาชีวิตคู่ให้เจริญได้ ไม่ทำผิดพลาดเหมือนคู่คนอื่นหรอก แบบนี้คือโดนกิเลสหลอกซ้อนเข้าไปอีก คือหลงในเรื่องคู่ยังไม่พอ ยังหลงว่าตนจะต้องบริหารจัดการชีวิตคู่ให้สุขและเจริญสุดๆได้อีก
มันไม่มีอะไรยืนยันเลยว่าเป็นคนดี ทำดี แล้วชีวิตคู่จะดี ผลของกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่สามารถคิดคำนวณได้) เราเคยทำกรรมชั่วมาแค่ไหนไม่รู้ แต่มันจะรู้เอาตอนได้รับผลนี่แหละ
ซึ่งผลของมันก็แสดงให้เห็นแล้ว กับคนที่อยู่ในสภาพของคนในอยากออก จริงๆ พวกเขาเหล่านั้นก็เป็นผู้ที่ประมาทมาก่อน เคยตัดสินใจผิดพลาดมาก่อน หรือด้วยเหตุอะไรก็ตาม ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็เคยเชื่อว่ารักนั้นจะต้องสวยงาม แต่ในความจริงคือมันไม่สุขสมหวัง หรืออาจจะสุขอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ไม่สุขอีกหลายช่วงก็เป็นได้ เอาเป็นว่าถ้าออกได้ก็เป็นสุขกว่านั่นแหละ
การแก้ปัญหาตอนยังโสดนั้นยังง่ายเพราะมีตัวแปรน้อย กิเลสก็น้อย แต่ถ้ามาแก้ปัญหาตอนมีคู่แล้ว ตัวแปรนั้นมาก กิเลสก็มากกว่าด้วย ไหนจะกิเลสตัวเองที่โตขึ้น …คู่ครอง ลูกหลาน พ่อแม่ ญาติ วุ่นวายไปหมด คนเดียวก็เอาตัวรอดจากกิเลสยากอยู่แล้ว ยังต้องประมาณคนในครอบครัวอีก
ใครว่าการมีคู่คือทางพ้นทุกข์จะลองก็ได้นะ แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยแนะนำให้ใครไปมีคู่นะ ท่านไม่ได้บอกว่านั่นคือทางพ้นทุกข์ ซึ่งหากต้องการพิสูจน์สัจจะก็ถือเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล ไปลองชิมทุกข์ จนกระทั่งถึงนรกทั้งเป็นสำหรับบางคน แต่ได้เป็นทุกข์แน่นอน..อันนี้รับประกัน
ส่วนความสุขแท้หรอ? ไม่มีหรอก มีแต่สุขลวงๆที่ตนเองปั้นขึ้นมา ซึ่งวันหนึ่งผลของกรรมจะแสดงให้เห็นเองว่าสุดท้ายแล้วก็โดนกิเลสหลอก อีกชาตินึงละ ว้าาา… แย่จัง~(อันนี้ยังดี บางคนโดนหลอกไปหลายชาติเลย จะตายแล้วก็ยังหลงอยู่)
เสียเวลาชีวิตไปตามความหลง หลงน้อยก็พ้นได้ไว หลงมากไปมีลูกมีหลาน คุณเอ๋ย ยาวเลยทีนี้ เวลาจะใช้เพื่อธรรมะไม่มีหรอก เพราะในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ มีลูกหนึ่งคนเขาว่าจนไป 20 ปี มันก็มัวแต่หาเงินอย่างเดียวนั่นแหละ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปหาธรรม
ดังนั้นคนในก็ให้หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสใช้หนี้กรรมไป เผื่อวันนึงทำดีจนเห็นผล เขาจะปล่อยให้พ้นคุกคนคู่นี้ ส่วนคนนอกที่อยากเข้าก็ศึกษาให้มันเห็นจริงก่อน ค่อยๆดูไป อย่าพึ่งรีบไปเข้าคุกนัก เพราะเข้าแล้วมันออกไม่ง่าย คุกที่ชื่อครอบครัวนี่มันเหมือนบ่วง ที่ทั้งแน่น ทั้งเหนียว ทั้งหนัก…
เพราะรักมากกว่า จึงยินดีที่จะ…โสด
เพราะรักมากกว่า จึงยินดีที่จะ…โสด
เมื่อความรักเจริญถึงขีดสุด จะสามารถก้าวข้ามสามัญสำนึกทั่วไปได้ เป็นรักที่ไม่ไหลไปตามกระแสโลก กลายเป็นรักที่อยู่เหนือโลก เพราะอยู่เหนืออิทธิพลของกิเลส
รักนั้นยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน แต่มันจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป มันจะไม่เหมือนอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ความรักที่คนทั่วไปเข้าใจนั้น ต้องเสพสุข ต้องครอบครอง ต้องผูกพัน ฯลฯ แต่เมื่อความรักนั้นได้พัฒนาขึ้นนั้น การเสพสุข การครอบครอง การผูกพันใดๆ ที่เกิดขึ้นเพราะความอยากนั้น กลับเป็นสิ่งที่ไร้ค่าไปในทันที
เพราะการยึดมั่นถือมั่นในการมีกันและกันนั่นเอง คือเหตุแห่งทุกข์ คือความรักที่คับแคบ เป็นรักที่เห็นแก่ตัว เพราะตนต้องการเสพ ตนจึงยึดไว้ ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองอดอยาก ไม่อยากพราก ไม่ปล่อยให้เขาได้ไปทำสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่า แต่เมื่อรักนั้นพัฒนาขึ้น รักมากขึ้น รักตนเองและผู้อื่นมากกว่ารักกิเลส ความเบียดเบียน ความหลงติดหลงยึด ความเห็นแก่ตัวใดๆ ย่อมไม่มีในบุคคลนั้นเลย คงเหลือไว้แต่ความเมตตา เกื้อกูล หวังประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับคนที่ตนรักเท่านั้น
และเมื่อรักนั้นไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่มีคนที่จะต้องยึดไว้เพื่อรัก แต่จะเป็นใครก็ได้ที่ยินดี เหมาะสม ควรแก่กาลที่จะได้รับความเมตตาเกื้อกูล ได้ประโยชน์เหล่านั้น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเมื่อรักได้เจริญถึงขีดสุดแล้ว คนผู้ที่มีความเห็นดังนั้นจึงเลือกที่จะเป็นโสด เพราะความเป็นโสดนั้น คือสถานะที่จะสามารถสร้างประโยชน์ได้มากที่สุด เพราะไม่ผูกตัวเองไว้กับใครคนใดคนหนึ่ง เป็นอิสระทั้งจากภาระทางโลก และภาระทางใจ เพื่อที่จะนำเวลา ทุนทรัพย์ และแรงงานที่เหลืออยู่มาสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
15.4.2559