Tag: เสียสละ

รักที่มากกว่า

September 15, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,990 views 0

รักที่มากกว่า

รักที่มากกว่า

คำว่ารักเป็นคำที่คนนิยม มีการตีความหมายของคำว่ารักออกมาหลายแง่ หลายมุม หลายนิยาม หลายความเข้าใจ จนยากที่จะเข้าใจว่ารักจริงๆเป็นเช่นไร

แม้จะเคยได้พบกับความรัก แต่รักของเรากับเขาก็อาจจะไม่เหมือนกัน ทั้งๆที่เราก็รักกัน แต่ทำไมมันไม่เหมือนกัน เพราะเรานิยามต่างกัน? เพราะเราเข้าใจต่างกัน? หรืออาจจะเป็นเพราะว่าเรามีกิเลสที่ต่างกัน…

คำว่า “รัก” นั้นอาจจะเป็นดอกไม้ หรือมีดที่ฉาบไว้ด้วยน้ำผึ้งก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะใช้มัน ซึ่งความรักนั้นถ้าแบ่งตามใจคน ก็คงจะอวดอ้างว่ารักของตนนั้นยิ่งใหญ่ บริสุทธิ์ เป็นรักแท้หาที่ใดเปรียบได้ แต่ถ้าแบ่งตามกิเลสเราก็จะเห็นได้ชัดจากการกระทำที่ออกมา โดยไม่ต้องไปคิดวิเคราะห์หรือหลงไปในคำพูดที่เป็นคำลวง

รักหยาบๆ ….. เป็นรักที่หามาเสพเพื่อตน ใช้คำว่ารักเพื่อที่จะได้ใครสักคนมาบำรุงบำเรอกิเลสตัวเอง

เช่น จริงๆก็ไม่ได้ชอบเขามากหรอก แต่เขาหล่อและรวย คิดว่าน่าจะดูแลเราได้เลยคบกันไป

…หรือเช่น ชอบเขามาก ก็เลยใช้คำว่ารัก ป้อนคำหวาน ในนามแห่งความรัก ทำดีไปจนกว่าเขาจะยอมให้เสพสมใจ

…หรือเช่น เราก็ไม่ได้ชอบเขาหรอก แต่บังเอิญว่าเหงา อยากหาคนมาบำเรอความใคร่เลยคบกันไป

…หรือเช่น ชอบเขามาก อยากได้เขามาเป็นของตัว จนสามารถยอมใช้ร่างกายตัวเองแลกกับการมีเขาไว้ในชีวิต

…หรือเช่น เขาก็ไม่ได้นิสัยดีอะไรมากมายหรอก แต่ทำงานเก่งขยันเอาใจเราทุกอย่าง เราคบเขาไว้ก็ดีก็เลยบอกรักเขาเพื่อให้เขาทำอย่างที่เราอยากเสพไปเรื่อยๆ

ความรักที่เกิดจากเหตุเหล่านี้ก็เป็นเรื่องหยาบ เรื่องกาม เรื่องหน้าตา เรื่องสังคม เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นรักที่วนเวียนอยู่กับการเสพกิเลส เสพโลกธรรม ยากจะหาความสุขเพราะจิตคิดแต่จะเอา ไม่วันใดก็วันหนึ่งก็ต้องพบกับความพราก ความไม่ได้ ความเสียไปแบบไม่หวนกลับ คนที่มีรักแบบนี้ยังต้องทนทุกข์อยู่มากตามความหนาของกิเลส ตามความอยากได้อยากมี

รักดีๆ….. เป็นความรักที่เกิดจากการเกื้อกูลกันมา พึ่งพากันและกัน สนับสนุนช่วยเหลือดูแล คนที่มีความรักแบบนี้จะลดการอยากได้อยากมีในกันและกันในระดับหยาบลงไปแล้ว แต่จะมีสภาพเหมือนเพื่อน เหมือนพี่น้อง จะเริ่มเข้าใจสาระแท้ของคำว่ารักได้มากขึ้น เริ่มจะมองเห็นคุณค่าแท้ในตัวคนมากขึ้น มองข้ามกาม คือความหล่อสวย มองข้ามโลกธรรม คือความรวย มีชื่อเสียง มีตำแหน่งการงานดี เหล่านี้ไปได้บ้างแล้ว จึงทำให้รักที่มีนั้นค่อนข้างราบรื่น ไม่หวือหวา เป็นไปเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน

รักที่มากกว่า…. เป็นความรักที่เสียสละ คำว่าเสียสละ คือสละโดยที่ไม่หวังจะได้อะไรกลับมา เรามักจะถูกทำให้สับสนเมื่อเห็นภาพพ่อบุญทุ่มเสียสละให้ผู้หญิงคนหนึ่งตลอด นั่นอาจจะเป็นเพราะเขามีแผนเพื่อที่จะเสพผู้หญิงคนนั้นในสักวันหนึ่ง เป็นความหยาบที่ซ้อนเข้าไปในการเสียสละ

การเสียสละที่แท้จริง คือการยอมลำบาก ยอมทน ยอมเจ็บ ยอมเหนื่อย เพื่อคนที่รักได้

เช่น แม้คนรักจะต้องตกงานหรือพิกลพิการ แต่ก็ยังดูแลกันไปไม่ทิ้งกัน ไม่โกรธ แม้สิ่งที่เคยมีเคยได้จะไม่มีอีกต่อไป แต่ก็ยังดูแลด้วยความรักและเข้าใจในกรรมที่เขาทำมา

เช่น แม้จะโดนต่อว่า ดุด่าจากฝ่ายตรงข้าม ก็ยอมเจ็บ ยอมโดนด่าโดยไม่โกรธเคือง ยอมให้อภัย สละความโกรธออกไป เพื่อที่จะไม่ไปส่งเสริมกิเลสของตนเองและคู่ครอง

หรือเช่น ยอมสละให้เขาไปกับคนใหม่ที่เขาถูกใจ โดยที่ไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาต เข้าใจและยอมปล่อยเขาไปตามที่เขาอยากจะไป

รักแท้ …. ความรักที่แท้จริงนั้น เป็นความรักที่เข้าใจทุกอย่าง เข้าใจว่าฉันก็เป็นแบบนี้ เธอก็เป็นแบบนั้น เรามีกรรมเป็นของตัวเอง ฉันก็มีของฉัน เธอก็มีของเธอ แต่จะทำอย่างไรเราจึงจะสามารถกุศลสูงสุดได้?

รักที่แท้คือการยอมปล่อย ยอมให้คู่ของตนเป็นไปตามกรรมที่เขาควรจะเป็น ไม่คิดจะเอาเขามาเสพ ไม่แม้แต่อยากจะได้รับสิ่งดีจากเขา ไม่ต้องการคำหวาน คำปลอบโยน กำลังใจ อ้อมกอด หรืออนาคตใดร่วมกัน ไม่คิดจะเอาเขามาผูกไว้ด้วยการคบหาเป็นแฟน หรือการแต่งงาน ที่เราเห็นชัดแล้วว่าจะนำมาซึ่งความทุกข์

ยอมแม้แต่จะไม่ไปรักเขา ยอมให้จิตเราเลิกผูกพันกับเขา ยอมให้เราเลิกยึดมั่นถือมั่นในตัวเขา แม้ว่าเขาหรือเธอคนนั้นจะเป็นดั่งเนื้อคู่ที่ผูกภพผูกชาติกันมานานแสนนาน แต่ก็จะยอมที่ปล่อยความสัมพันธ์นี้ให้เป็นอิสระ ให้เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีกิเลสใดๆมาเจือปนให้หม่นหมอง

ไม่หลงรัก ไม่ผลักไส ไม่ดูด ไม่ผลัก ไม่รัก ไม่เกลียด ไม่ชอบ ไม่ชัง ก็คงจะเหลือสาระแท้ เหลือแต่ประโยชน์ เหลือแต่กุศลร่วมกันเท่าที่พอจะทำได้ เป็นรักที่เข้าใจถึงสาระแท้ของชีวิตว่าควรจะต้องทำอะไรให้พ้นทุกข์ เข้าถึงความสุขแท้

เป็นรักที่นำมาซึ่งที่สุดของประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน เพราะตนเองก็ไม่ต้องมาทุกข์ยากลำบากเพราะวิบากกรรมของคู่ครอง เพราะแค่วิบากกรรมของตัวเองก็หนักจะแย่อยู่แล้ว ไหนจะกิเลสของตัวเองอีก และประโยชน์ท่าน ก็คือ สามารถเอาเวลาที่เคยไปทำเรื่องไร้สาระมาสร้างประโยชน์กับคนผู้อื่น สังคม สิ่งแวดล้อม ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

รักแท้ที่เกิดนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการเสพสมใจในชาตินี้ภพนี้ แต่เป็นไปเพื่อกุศล เป็นประโยชน์ทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็คงจะรู้แล้วว่าตัวเองพอใจอยู่ที่รักแบบไหน ความรู้สึกนั้นแหละคือระดับกิเลสของตัวเอง หนาบ้าง บางบ้างแล้วแต่ใครจะขัดกิเลสกันมาเท่าไหร่

– – – – – – – – – – – – – – –

15.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เปลี่ยนแปลง เราเปลี่ยนตัวเองเพื่อใคร

August 10, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,021 views 0

เปลี่ยนแปลง เราเปลี่ยนตัวเองเพื่อใคร

เปลี่ยนแปลง เราเปลี่ยนตัวเองเพื่อใคร

ชีวิตที่ดำเนินมาจนถึงวันนี้มีแต่การเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครที่ไม่มีเปลี่ยนแปลง นิสัย ความเชื่อ ความเข้าใจ ความคาดหวัง แม้แต่ฝันในวัยเด็ก หรือสิ่งที่เราเคยยึดมั่นว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง กลับเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เราเคยสังเกตกันบ้างไหมว่าทำไมเราจึงเปลี่ยนแปลง แล้วอะไรทำให้เราเปลี่ยน…

ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดได้จากแรงกระตุ้นทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกคือครอบครัว มิตรสหาย คนรัก สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ส่วนภายในก็คือ ความตั้งใจของตัวเอง

เปลี่ยนเพราะกิเลส….

การเปลี่ยนแปลงในบางครั้งเกิดจากแรงผลักดันของกิเลส ความอยากได้อยากมีอยากเป็น จนเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มีกิเลสเป็นตัวผลักดันนั้น ผลย่อมออกมาไม่สวยงามอย่างแน่นอน

เช่น บางคนเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดูดี ด้วยการออกกำลังกาย แต่งตัวสวย กินอาหารดี กินผักผลไม้ เปลี่ยนบุคลิก โดยมีความตั้งใจของตัวเองอันเกิดจากความอยากจะพ้นสภาพทุกข์ใจของความไม่สวย ไม่งาม ไม่แข็งแรง ดูไม่ดี ไม่มั่นใจ ฯลฯ บวกกับแรงของกิเลสที่อยากสวยอยากงาม ดูดี ในเวลาเดียวกัน รวมถึงมีแรงกระตุ้นจากภายนอก เช่น สังคมบอกว่าผอมจึงจะสวย แต่งหน้าจึงสวย ต้องมีรูปร่างแบบนี้จึงจะดูดี เพื่อนทักว่าโทรม ครอบครัวทักว่าดูแลตัวเองหน่อย แฟนชอบแซวว่าอ้วน… ดูเผินๆอาจจะเป็นเพราะแรงกระตุ้นจากภายในและภายนอก แต่ความจริงมันคือแรงกระตุ้นของกิเลส

เพราะมีกิเลสจึงมีทุกข์ เก็บเอาคำพูดของคนอื่นมาเป็นทุกข์ของตัวเอง การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เป็นการเปลี่ยนเพื่อหนีจากทุกข์แบบหนึ่งไปเจอทุกข์อีกแบบหนึ่งเท่านั้น

ทุกข์ใหม่ที่จะเจอหลังจากการเปลี่ยนแปลงแบบมีกิเลสนี้จะมีอะไรบ้าง เช่น เราต้องเสียเวลาแต่งหน้า ต้องลำบากออกกำลังกายเกินความจำเป็น ต้องเสียเงินซื้อเสื้อผ้าเครื่องสำอางใหม่ โดยไม่รู้เลยว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อกิเลสเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ไม่มีสาระ ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะการหนีจากทุกข์หนึ่งไปเจออีกทุกข์หนึ่งก็เหมือนหนีเสือปะจระเข้

กิเลสมักจะหลอกให้เราหลงทางว่าเราเปลี่ยนไปในทางที่ดี เราจึงควรตรวจสอบให้ดีว่าความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นจริงหรือไม่ เป็นไปเพื่อสะสมกิเลสหรือลดกิเลส แต่ถ้าไม่มั่นใจก็ลองปรึกษาเพื่อนหรือถามผู้รู้เพิ่มเติมก็ได้

เปลี่ยนเพราะเข้าใจในกิเลส….

๑…เปลี่ยนตัวเองเพราะทุกข์ของตัวเอง

เมื่อคนเราเจอทุกข์เข้ามากๆ และทนกับทุกข์นั้นๆไม่ไหว ก็จะเป็นไปดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” เมื่อถึงจุดที่เราได้เข้าใจทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ วิธีดับทุกข์ จนกระทั่งเข้าใจวิถีปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์เมื่อเข้าใจได้ดังนี้แล้ว จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง เช่น วิธีคิด วิถีชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมไปจากเดิม เพราะเห็นชัดเจนแล้วว่าสิ่งเดิมที่เคยคิด เคยมี เคยเป็นนั้นเป็นทุกข์ และก็จะไม่ยินดีที่จะไปสร้างทุกข์ใหม่อีกด้วย เป็นการดับทุกข์ที่เหตุ คือการดับกิเลสของตัวเองแทนที่จะไปหาสุขลวงมาแก้ทุกข์ที่มี หรือจะเรียกได้ว่าไม่ไปหาทุกข์ใหม่มากลบทุกข์เก่า

การออกจากทุกข์เช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเมื่อคิดแล้วจะหลุดพ้นจากทุกข์นั้นได้ทันทีเสมอไป ต้องปฏิบัติอย่างตั้งมั่น ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นจนกระทั่งเกิดผล คือเข้าใจเหตุปัจจัยในการเกิดทุกข์ จนกระทั่งถึงความรู้สึกเบื่อหน่ายจากสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นไว้ เมื่อเราไม่ได้ยึดสิ่งเดิมไว้ เราก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ด้วยความเต็มใจ พอใจ และเป็นสุขจากการเปลี่ยนแปลงนั้น

๒…เปลี่ยนตัวเองจากการเห็นทุกข์ของผู้อื่น

สำหรับบางคนก็ไม่จำเป็นต้องเจอทุกข์เอง ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เช่นเห็นคนเมาแล้วขับรถจนเกิดอุบัติเหตุ แล้วก็สามารถใช้ทุกข์ของคนอื่นมาพิจารณา จนตัวเองเลิกกินเหล้าเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่ไม่กินเหล้าได้ โดยไม่ต้องรอให้เจออุบัติเหตุแบบนั้น

เห็นคนชิงดีชิงเด่นในที่ทำงานแล้วรู้สึกว่าพวกเขาทุกข์และชีวิตวุ่นวาย เมื่อพิจารณาเห็นทุกข์ ก็สามารถออกจากความอยากเด่น อยากดัง อย่างแย่งชิงตำแหน่งได้โดยไม่ต้องลงสนามไปเล่นกับเขาให้ตัวเองทุกข์

คนที่เห็นความโหดร้ายของอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์แล้วย้อนกลับมาดูตัวเองว่าถ้าเรายังกินเขาอยู่ ต่อไปชาติใดชาติหนึ่งเราก็ต้องโดนแบบนั้นบ้าง ก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ ออกจากกิเลสนั้นๆได้โดยไม่ต้อง เสียเวลาทุกข์เพราะวิบากกรรมที่ไม่อยากจะทำ

บางคนเห็นคนอื่นเป็นมะเร็งจากสาเหตุที่กินเนื้อสัตว์มาก โดยเฉพาะการปิ้งย่าง เมื่อรับรู้และเห็นถึงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินผักได้

หรือคนที่ติดบุหรี่ แต่ไปเห็นอาการป่วยของคนที่ติดบุหรี่เหมือนกัน เห็นความทุกข์ ทรมาน อันเกิดจากบุหรี่ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง ตัดบุหรี่ออกจากชีวิตได้โดยไม่ต้องรอให้ตัวเองป่วย

หรือกระทั่งคนที่เคยอยากมีคู่ พอเห็นคนอื่นเขาทุกข์จากเรื่องคู่ เรื่องครอบครัว ก็ไม่อยากมีเอาเฉยๆ ยอมเปลี่ยนแปลงมาเป็นคนโสดอย่างเต็มใจ

ลักษณะนี้ก็เรียกว่าเห็นทุกข์จึงเห็นธรรม แต่ดีตรงที่ไม่ต้องเจอทุกข์หนักกับตัวเอง คือผู้ที่มีบุญบารมีสะสมมา เป็นสิ่งที่เคยบำเพ็ญเพียรกับเรื่องเหล่านั้นมานาน แค่มีเหตุปัจจัยมากระตุ้นให้ระลึกได้ ก็เพียงพอที่จะสามารถเห็นและเข้าใจความเป็นจริงได้โดยไม่ต้องทนทุกข์ เพียงแค่เห็นคนอื่นทุกข์ก็สามารถเข้าใจและละเหตุแห่งทุกข์ก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะเกิดตัวเองได้

และผู้ที่มีบุญบารมีมากกว่านั้นคือไม่มีอาการติดสิ่งเหล่านั้นมาตั้งแต่เกิดเลย ไม่ว่าใครจะพาทำ เติม เสริมแต่ง ยั่วเย้า จะมอมเมาอย่างไรก็ไม่ไปติดเหมือนคนอื่นเขา ถึงจะติดก็ติดแค่เปลือก ใช้เวลาสักพักก็หลุดจากกิเลสเหล่านั้นได้ไม่ยาก ต่างจากคนทั่วไปที่เวลามีกิเลสแล้วก็ยิ่งจะยึดมั่นถือมั่น ยิ่งพอกพูนสะสมกิเลสเข้าไปเรื่อยๆ

๓…เปลี่ยนตัวเองเพราะทุกข์ของผู้อื่น

เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากจิตที่เป็นกุศลหรือความคิดที่อยากทำสิ่งดีๆให้กับผู้อื่นเป็นตัวผลักดัน เป็นแรงกระตุ้นจากภายนอกเข้ามาสู่ภายในให้เปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นประโยชน์ภายนอกอีกที

เช่น เราอยากจะช่วยเหลือคนอื่น เราอยากจะเป็นคนดีให้พ่อแม่ภูมิใจ เราอยากเก่งขึ้นเพื่อผู้อื่น เราอยากจะเสียสละเพื่อให้สังคมดีขึ้น เพราะเหตุที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ครอบครัว คนรัก คนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน มิตรสหาย สิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวสะท้อนให้เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วกลายเป็นตัวกระตุ้นจิตสำนึกของเราให้อยากจะเปลี่ยนแปลง พัฒนาตัวเองเพื่อผู้อื่น

และเมื่อเรามีปัญญาที่เห็นปัญหา เห็นทุกข์ของผู้อื่น มีเมตตามากเพียงพอที่จะเห็นใจผู้อื่น มีความตั้งใจมากพอที่จะกรุณา เราจะยอมเสียสละ ยอมลดอัตตาตัวตนของตัวเอง ยอมลดกิเลสที่ตัวเองมีเพื่อคนอื่น เพื่อที่จะขยายขอบเขตที่จะทำสิ่งที่เป็นกุศลได้มากกว่าเดิม เหมือนการลอกคราบเก่าทิ้งไป ให้ตัวเองเติบโตขึ้นเพื่อไปช่วยคนอื่นได้มากขึ้น

เช่น เด็กที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเองมาเป็นเด็กขยัน ทั้งเรียนหนังสือและดูแลพ่อแม่ เพราะพ่อแม่เจ็บป่วยทำงานไม่ได้ มีให้เห็นได้บ่อยๆ ในสังคมไทย

คนทั่วไปที่ยอมสละเงิน ไปช่วยคนอื่นที่ตกยากลำบาก ยอมเปลี่ยนตัวเองจากคนตระหนี่ถี่เหนียว หรือใช้เงินเหล่านั้นเพื่อสนองกิเลสตัวเอง มาเป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สละของตนให้กับผู้อื่น เพราะเห็นความทุกข์ยากของคนอื่นเป็นเหตุ

ผู้ทำงานจิตอาสา เสียสละเวลา ทุน สุขภาพ ฯลฯ ของตัวเอง เพื่อช่วยเหลือสังคม ก็เกิดจากคนธรรมดาทั่วไปที่เข้าใจปัญหาของสังคมจนเปลี่ยนแปลง ปลุกตัวเองขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม

ผู้นำทางการเมืองหลายคนก็เคยเป็นคนธรรมดาสามัญ แต่เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤติ ก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของตน ดังคำที่ว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ”

พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เสียสละประโยชน์คือความสงบของตัวเอง เปลี่ยนตัวเองออกจากฐานที่มั่น มาช่วยเหลือคนและโลก โดยการเผยแพร่ธรรม บางท่านมีเวลาอิสระ ส่วนตัว พักผ่อน น้อยกว่าคนที่ทำงานออฟฟิศทั่วไปเสียอีก หรือแม้แต่ท่านที่อุทิศเวลาทั้งชีวิตให้กับศาสนา ให้กับสังคมและโลกก็มีให้เห็นเหมือนกัน

จะเห็นได้ว่าในขณะที่คนเหล่านี้เสียสละเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม เพื่อให้โลกได้ประโยชน์แล้ว ตัวของเขาเองก็ได้รับคุณค่า ได้บุญกุศลไปในเวลาเดียวกันด้วย เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงและสร้างความสุข สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและโลกอีกด้วย

…สรุปแล้ว การเปลี่ยนแปลงจากสาเหตุใดนั้นก็คงไม่ได้สำคัญเท่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมีปลายทางไปทางไหน ไปสู่ความสุขหรือความทุกข์ ไปสู่สิ่งที่ดีงามหรือจะตกต่ำลงไปอีก การรู้ถึงผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

– – – – – – – – – – – – – – –
10.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์