Tag: อิทธิพล

กรณีศึกษา ไลฟ์โค้ชที่ไม่มีศีล

July 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,414 views 0

ช่วงก่อนนี้มีเรื่องราวในสังคมเกี่ยวกับไลฟ์โค้ชที่ทำงานไม่โปร่งใส ไม่ทำงานไปตามที่ตนได้ประกาศไว้ มีอาการหมกเม็ด ไม่ชัดเจน สังคมจึงพากันจับตาในประเด็นนี้ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในโลกโซเชียล เป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย

เรื่องราวเงียบหายไปพร้อมข้อกังขาราว ๆ 1 สัปดาห์ ไลฟ์โค้ชผู้ถูกกล่าวหาจึงได้มาแจ้งหลักฐาน ซึ่งในหลักฐานนี้เอง ก็ได้เป็นตัวมัดตัวเองอีกทีว่า เขาพูดไม่จริง

ก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ เขายังประกาศอยู่เลยว่าได้รับเงินบริจาคราว ๆ 8 แสน ซึ่ง ตัวเลขในบันทึกของบัญชีกลับไม่เป็นไปแบบนั้น ตัวเลขรวมที่แจ้งในบัญชีประมาณ 1.3 ล้าน แต่ก็ยังมีประเด็นอื่นที่หนักกว่า

คือในใบบันทึกรายการ ต้นเดือนเมษายน มีบันทึกว่าถอนเงินมาประมาณ 200,000 บาท ในการถอน 4 ครั้ง ใน 2 วัน และ 3 วันต่อมามีการโอนเงินรวม 1 ล้าน เข้าบัญชีของไลฟ์โค้ช ผู้นั้น ทั้งหมดนี้คือกิจกรรมในเดือนเมษายน

ซึ่งดูจากการเบิกถอนก็ 1.2 ล้านเข้าไปแล้ว แม้เงินตั้งต้นในบัญชีเดิมจะมีเกือบแสน แต่ 8 แสน กับ 1.1 ล้าน ก็ยังมีส่วนต่างที่มากอยู่

ปัญหาก็คือเรื่องศีลธรรม การที่เมืองไทยมีคนที่ไม่มีศีลธรรม แต่มีอิทธิพลในโลกโซเชียลอยู่นั้น จะเป็นพลังที่ชักนำคนไปสู่ทางเสื่อม ยิ่งคนไม่มีศีลธรรมเด่นดังเท่าไหร่ยิ่งเสื่อมไวเท่านั้น

ซึ่งจากหลักฐานนั้น เขาก็รู้อยู่แล้วว่าเงินมันเกินล้าน เพราะมันมีการทำกิจกรรมโอนเงิน แล้วใครจะเข้าไปจัดการบัญชีเขาได้ ก็มีแต่เขานั่นแหละ แต่เขาก็เลือกที่จะไม่พูด พูดไม่หมด พูดไม่จริง อันนี้เขาก็ฟ้องตัวเองอยู่แล้วว่าเขาไม่มีศีล

คนจะแสวงหาความเจริญก็ควรจะเลือกคบคนมีศีล ให้คนมีศีลได้เป็นผู้นำ และหมั่นตรวจสอบความจริงกันด้วยใจปรารถนาดี ว่าเขาหรือเธอเหล่านั้นยังมั่นคงในศีลธรรมอยู่ไหม

แรก ๆ อาจจะไม่รู้ ไม่รู้ก็คือไม่รู้ ก็คบกันไป ศึกษากันไป ตรวจสอบกันไป แต่พอได้ผลชัด ได้หลักฐานชัด ว่าคิดไม่ซื่อ จิตไม่ตรง ประพฤติชั่ว ก็เลิกคบกันไป เป็นการสร้างมงคลในชีวิตคือห่างไกลคนพาล

คนพาลซื่อ ๆ แสดงออกกันชัด ๆ ยังพอรู้ได้ง่าย แต่คนพาลหมกเม็ดเน่าในอันนี้รู้ยาก พาหลง ร้ายลึกยิ่งกว่านักเลงหัวไม้

ก็หยิบกรณีนี้มาวิจารณ์กันไว้ ใครจะเข้าไปคบหากับคนไม่มีศีลก็เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่ในมุมมองของผม ผมก็ไม่เอาด้วยหรอก แล้วใครไปเชื่อมต่อกับคนชั่ว ผมก็ไม่เอาด้วยเหมือนกัน เหมือนคนดีมาหาเรา แต่คนนั้นยังคบกับคนชั่ว อันนี้แปลก ๆ แสดงว่ามันมีอะไรไม่ชอบมาพากล เขาดีจริงหรือเปล่า? หรือเขาแกล้งดี? ถ้าคบคนพาลอยู่ คนอื่นเขาจะไม่ไว้วางใจ ก็ต้องยอมรับกรรมไป

ไลฟ์โค้ช กับการแสวงหาโลกธรรม

July 2, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,157 views 0

ในยุคนี้เราอาจจะได้ยินคำว่า Influencer หรือ ผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล ซึ่ง Influencer โดยส่วนมากอาจจะไม่ใช่ไลฟ์โค้ช แต่ในความเป็นไลฟ์โค้ช ก็มีองค์ประกอบของ Influencer อยู่ในตัว

สรุปในภาษาง่ายว่า Influencer มีความสามารถในการจูงจมูกคน เช่น โพสรูปของกิน ก็ทำให้คนอยากกินตามได้มาก ให้ความเห็นอะไรก็ทำให้คนคล้อยตามได้มาก แม้จะไม่ได้เรียกตัวเองว่าไลฟ์โค้ช แต่โดยฟังชั่นการทำงานก็มีการเหนี่ยวนำคนไปในจุดใดจุดหนึ่ง แต่จะต่างกันตรงไม่ตั้งตนให้เป็นที่พึ่ง
กรณีของไลฟ์โค้ช โดยส่วนมากนั้นจะชัดเจนว่า ฉันเป็นพี่เลี้ยง ฉันเป็นที่พึ่ง ฉันเป็นผู้ช่วยเธอได้ ซึ่งมีทั้งการให้ข้อมูลโน้มน้าวและความเป็นผู้มีอิทธิพลต่อผู้ศรัทธามากเช่นกัน

ว่ากันตรง ๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยกิเลส ใครก็อยากเด่นอยากดัง อยากได้เงินมาก ๆ อยากได้การยอมรับ อยากมีตัวตนในสังคม ดังนั้นไลฟ์โค้ช ที่ไม่ได้ลดกิเลส ไม่มีธรรม จึงหลงไปกับกระแสโลกธรรม แสวงหา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และบริวาร
ตามที่ผมได้ศึกษามา ส่วนใหญ่เขาก็จะพยายามสร้างเนื้อหาที่จะจับใจคนดู จับหูคนฟัง แต่ด้วยความรู้หรือวาทะศิลป์ที่มี มันจึงมีข้อจำกัด ดังนั้นการนำความรู้อื่น ความเข้าใจของคนอื่นมาหลอมรวมกับตัวเอง แล้วสื่อสาร จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายและได้ผลดี เหมือนกับไป copy ของดี แล้วมา paste ใส่ตัวเองแล้วนำเสนอยังไงอย่างนั้น เรียกง่าย ๆ ว่า ลอกงานมาขาย

หลายปีก่อน อาจจะมีใครเห็นว่ามีคนคนหนึ่งที่เด่นดังมาจากการนำสารพัดคำคมมาเผยแพร่เป็นของตัวเอง ซึ่งเขาก็เด่นได้อยู่ช่วงหนึ่ง สุดท้ายก็ดับไป เพราะเป็นแค่กระแส ไม่ใช่ความจริง

ยุคนี้ก็มีเหมือนกันที่ไลฟ์โค้ช หลายคนนำธรรมะเข้ามาประยุกต์ นำมาใช้นำเสนอข้อมูลของตน ซึ่งดูเผิน ๆ มันก็ดี ดูน่าศรัทธา เขาก็เอามาใช้เพราะรู้ว่ากลุ่มลูกค้าในไทยส่วนใหญ่เขาศรัทธาศาสนาพุทธ เขาก็เอาหลักการพุทธเนี่ยมานำเสนอ ปรุงแต่งให้ขลุกขลิก ใส่ภาพลักษณ์ตนเองเข้าไป
จริง ๆ ธรรมะมันก็ดีนั่นแหละ แต่ปัญหาคือเจตนาที่จะธรรมนั้นมาใช้ เอามาใช้เพื่ออะไร เอามาใช้เพื่อหากิน แลกเงิน แลกชื่อเสียงหรือไม่ เรื่องนี้ดู ๆ ไปสักพักก็จะชัดขึ้นเรื่อย ๆ บางคนไม่ได้หาเงินจากการรับคำปรึกษา แต่เอาโลกธรรมหรือความเด่นดังไปส่งเสริมสินค้าแบบอื่น หรือแม้กระทั่งเอาธรรมะมาสอนเพื่อเสพความยิ่งใหญ่ของตน อยากให้คนเคารพดั่งเทพเทวดา อยากเป็นคนสำคัญ ทั้งหมดนี้ก็ล้วนไปนรกทั้งสิ้น

พระพุทธเจ้าตรัสถึงหลักตัดสินธรรมวินัย โดยภาพรวมคือเป็นไปเพื่อการคลายจากกิเลส ลดกิเลส ดับกิเลส การจากพราก มักน้อย กล้าจน ใจพอเพียง ยอดขยัน เลี้ยงง่าย ฯลฯ

คือ ใครจะธรรมะมาพูดก็ได้ อันนี้เราห้ามไม่ได้ แต่เราก็ดูได้ว่าที่เขาพูดเขาเสนอ ตัวเขาเป็นไปตามหลักเหล่านี้หรือไม่ เขาน้อมใจคนให้เป็นไปตามหลักเหล่านี้หรือไม่ ไม่ใช่พูดธรรม ยกข้อธรรมมาแสดง แล้วก็ทำตรงกันข้าม พูดธรรมะซะโก้หรู แต่เอามาหาเงิน หาบริวาร อันนี้มันก็ไม่ใช่
ไลฟ์โค้ชบางคนนี่ยิ่งทำไปยิ่งดังก็ยิ่งรวยเอา ๆ มันก็ห่างจากหลักพุทธไปเรื่อย ๆ แม้เขาจะเอาหลักพุทธไปพูดปน แต่ตัวตนเขาไม่ใช่ เขาก็แค่เอาธรรมะไปหากินเท่านั้นเอง

จริง ๆ มันก็เป็นตัวที่บอกอยู่แล้วว่าเขาไม่จริง เขาเป็นไลฟ์โค้ชที่แนะนำไปสู่ความจริงที่พ้นทุกข์ไม่ได้ เพราะแค่ตัวเขายังเอาตัวไม่รอดเลย หลงเข้าสู่กระแสโลกธรรมแล้วก็หมุนวนลอยไปกับแรงของกระแสคลื่นกิเลสเหล่านั้น

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลาภสักการะที่พระเทวทัตมี จะเป็นตัวฆ่าพระเทวทัตเอง ไลฟ์โค้ชที่เห็นผิดก็เช่นกัน ยิ่งเด่น ยิ่งดัง ก็จะเป็นเหตุในการทำลายตัวเองได้เท่านั้น แล้วเราก็จะได้เห็นความจริงที่บิดเบี้ยวชัดเจนยื่งขึ้น