Tag: อนิจจัง
ไตรลักษณ์กับการครองคู่
ไตรลักษณ์กับการครองคู่
ไตรลักษณ์ คือสามัญลักษณะของสิ่งต่างๆ หมายถึงสิ่งเหล่านั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน การเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในลักษณะสามอย่างนี้จะทำให้เราพ้นทุกข์ ในบทความนี้ก็จะนำมาประยุกต์กับเรื่องการครองคู่กัน
ไตรลักษณ์นั้นเป็นสิ่งที่รู้ ท่อง จำกันได้โดยทั่วไป แต่การจะเข้าใจจนกระทั่งเข้าถึงธรรมนั้นจริงๆไม่ใช่เรื่องง่าย แม้เราจะท่องได้ เข้าใจได้ แต่เข้าไม่ถึงธรรมนั้น ไม่รู้แจ้งรู้จริงความเป็นธรรมดาของสิ่งเหล่านั้น ก็ไม่มีวันที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ไปได้
ไม่เที่ยง (อนิจจัง): สิ่งใดๆล้วนไม่เที่ยง การครองคู่ก็เช่นกัน แม้มันจะเห็นเป็นสภาพคู่ แต่มันก็สามารถแปรเป็นอื่นได้ทุกขณะ วิบากกรรมคืออจินไตย เราไม่สามารถคาดเดา หรือคิดคำนวณได้ว่าสิ่งใดจะเกิดกับเราเมื่อไหร่และอย่างไร นั่นหมายถึงกรรมดีที่พยายามทำลงไปแม้มันจะเป็นสิ่งที่ดีที่ควร แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตคู่มีความเที่ยงแท้ได้เลย มันมีการแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เหมือนฟองคลื่น เหมือนพยับแดด ดังนั้นคนที่เข้าใจความจริงในข้อนี้จะไม่ยินดีเข้าไปครองคู่ เพราะไม่รู้จะเข้าไปยึดเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงไปทำไมให้เสียเวลา
เป็นทุกข์ (ทุกขัง) : สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีแต่ทุกข์ ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป การครองคู่ก็เช่นกัน แท้จริงแล้วในการคู่กันนั้นมีแต่ทุกข์ล้วนๆ พากันสร้างบาป เวรภัย เป็นบ่วงของกันและกัน ไม่มีความสุขอยู่ในนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว คนที่ยังมองเห็นว่ามีสุขด้วยทุกข์ด้วย คือคนที่ยังไม่ชัดเจนในธรรม ยังเห็นอธรรมว่าเป็นธรรมอยู่ เหตุเพราะมีอุปาทานยึดมั่นและเข้าใจไปเองว่าสิ่งนั้นเป็นสุข ซึ่งในความจริงแล้วมันมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ดังนั้นคนที่เข้าใจในลักษณะข้อนี้ จะไม่ยินดีเข้าไปครองคู่ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่ามีแต่ทุกข์ เหมือนรู้ว่าเขาจะเอายาพิษมาให้ กินแล้วทุกข์ทรมาน กินแล้วตาย ต่อให้มีรสหวานยังไงก็จะไม่กิน
ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา): สิ่งทั้งหลายล้วนไม่มีตัวตน การครองคู่ก็เช่นกัน ความเห็นผิดของเรานั้นจะสร้างตัวตน(อัตตา) ขึ้นมาเอง ปั้นภาพปั้นภพขึ้นมาหลอกตัวเองและหลอกคนอื่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สร้างสิ่งที่ไม่มีตัวตนแล้วหลงกันไปว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าเสพ ควรมี เป็นศักดิ์ศรี เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาของมนุษย์ การครองคู่นั้นแท้จริงแล้วไม่ได้ประเสริฐอะไรเลย เพราะการครองคู่มีมาตั้งแต่สมัยยังเป็นสัตว์เดรัจฉานตั้งแต่หนอน แมลง จนถึงสัตว์ใหญ่ๆ แต่การไม่ครองคู่ต่างหากที่เป็นสิ่งประเสริฐ สิ่งที่เหนือธรรมชาติ สิ่งที่ทำได้ยาก สิ่งที่ไม่อยู่ในวิสัยของโลก ซึ่งคนที่หลงว่าการครองคู่เป็นอัตตาจะไม่สามารถสลัดความหลงที่มีในตนได้ เพราะหลอกจิตตัวเองมาแล้วไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ หลงกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เสพแล้วก็มัวเมา สั่งสมอุปาทาน เกิดเป็นภพ ชาติ สืบไป ดังนั้นผู้ที่เข้าใจลักษณะของอนัตตาจะไม่เข้าไปครองคู่ เพราะไม่เห็นว่ามันจะเป็นสาระใดๆที่สำคัญในชีวิตที่จะดำเนินไปสู่การพ้นทุกข์นี้เลย
. . . สรุปแล้ว คนที่เข้าใจแจ่มแจ้งในไตรลักษณ์นั้นจะหมดสิ้นความไม่แน่นอน จะมีแต่ความเห็นที่แน่นอน ไม่ใช่คนกำกวม เช่นว่า“ไม่มีคู่ก็ดี มีคู่ก็ได้ ,ยังไงก็ได้, แล้วแต่กรรมลิขิต, ฯลฯ”
จะเหลือแค่คำตอบเดียว คือถ้ามีปัญญารู้ว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนแล้วนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเข้าไปครอบครองให้มันลำบากทำไม ส่วนจะต้องไปครองคู่เพราะสังคมบังคับ เช่นถูก คลุมถุงชน หรือโดนบีบคั้นด้วยตำแหน่งหน้าที่ หรืออยู่ในภาวะจำยอมต่างๆนั้นก็เป็นอีกเรื่อง
– – – – – – – – – – – – – – –
8.10.2558
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)
เวลากับใจคน : กรรม กาล ความรัก และไตรลักษณ์
เวลากับใจคน : กรรม กาล ความรัก และไตรลักษณ์
เวลากับใจคน (https://www.youtube.com/watch?v=zzcv706q54I)
นั่งหาข้อมูลเกี่ยวกับความเห็นความเชื่อกันนานๆ ก็มักจะหัวร้อน เลยเปิดเพลงคลอไปเรื่อยๆ จนยูทูบสุ่มมาเจอเพลงนี้ ถ้าฟังผ่านๆก็เป็นเพลงตามสมัยธรรมดาละนะ แต่ผมฟังแล้วสะดุดประโยคที่ว่า “ เหตุและผลของเวลา เปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นไป แล้วนับประสาอะไรกับใจคน ”
ได้ยินดังนั้นก็คิดทันทีว่าถ้าอธิบายให้คนเมืองที่ยังวนเวียนอยู่ในห้วงแห่งความรักด้วยวิธีนี้น่าจะเหมาะ แม้เพลงนี้จะเป็นเพลงที่ฟังดูแล้วให้อารมณ์ผิดหวังช้ำรักอย่างโหยหวน แต่ก็มีความเข้าใจโลกอยู่บ้าง จึงลองหยิบมาอธิบายประยุกต์กับธรรมะกันดู
…………………………………………………..
เนื้อหาในเพลงนี้แสดงสภาวะของ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา คือเห็นความเปลี่ยนแปลงที่แน่นอน ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากผลของกรรมที่ส่งผลผ่านกาลเวลาไปเรื่อยๆ เมื่อเราได้เสพสุข หมายถึงเรากำลังได้รับผลของกรรมดีที่เราทำมา ผ่านไปวันแล้ววันเล่าจนกระทั่งผลของกรรมดีชุดนั้นหมดลง ก็จะไม่ได้รับสุขเหมือนเคย และเมื่อหลงติดในสุขนั้นก็จะทำให้เกิดทุกข์
เมื่อเกิดทุกข์จากการไม่ได้เสพสิ่งดี ก็มักจะโวยวายเรียกร้องหาความยุติธรรมบนความเข้าใจที่หลงผิด เพราะทุกอย่างที่ได้รับนั้นก็เกิดจากสิ่งที่เราทำมา สิ่งใดที่ไม่ได้ก็เพราะไม่ได้ทำมา สิ่งเหล่านั้นยุติธรรมสมเหตุสมผลในตัวมันอยู่แล้ว มีเพียงผู้ที่หลงผิดเท่านั้นที่มักจะบอกว่ากฎแห่งกรรมไม่ยุติธรรม นั่นเพราะมีความโลภอยากได้มากกว่าตนทำมา
ต่อมากเมื่อเข้าใจเรื่องของกรรมมากขึ้นก็พยายามทำดีสร้างกุศลเพื่อจะได้เสพผลใหม่ พอผลของกรรมดีส่งผลก็มักจะหลงสุข ยึดติดในสุขนั้นแล้วประมาทต่อกิเลสจนสร้างเชื้อทุกข์ สร้างบาปสร้างอกุศลกลายเป็นกรรมชั่วใหม่ที่จะรอให้ผลชั่วต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุเหล่านี้จึงเกิดสภาพของความไม่เที่ยงเพราะผลของกรรมที่เปลี่ยนแปลง ไม่มีผลของกรรมใดที่จะไม่มีวันหมดผล ได้รับแล้วก็หมด หมดแล้วก็ต้องมาสร้างใหม่ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันแบบนี้
เมื่อเวลาหมุนไปเรื่อยๆ ผลของกรรมที่ได้รับก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และในแต่ละวันเราก็สร้างกรรมใหม่ไปเรื่อยๆ แม้เราจะใช้ชีวิตเหมือนเดิมทุกวัน แต่ผลที่ได้รับมันจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะในชีวิตของเรามีเหตุและปัจจัยหลายอย่างให้เกิดเหตุการณ์อย่างหนึ่งขึ้นมา ทั้งกรรมเก่าของเรา กรรมในปัจจุบันของเรา กรรมของผู้อื่น กรรมของโลก สังเคราะห์รวมกันเกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ต่างๆ มีฉาก มีนักแสดง มีบทพูด ฯลฯ ดังที่เราได้เห็นนั่นเอง
ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นและพยายามทำดีเพื่อให้ตนได้รับแต่ผลของกรรมดีมาเสพ เพราะกลัวความทุกข์จากผลกรรมชั่วหรือการกระทำที่ไม่ดีของตนนั้น จึงมักจะต้องเป็นทุกข์จากความยึดมั่นถือมั่นในผลดีที่จะต้องเกิดกับตน อกหักอกพังเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ดีมาเสพสมใจ บางครั้งทำดีแต่กลับได้รับกรรมชั่ว และจะต้องทนทุกข์ไปอีกนานเพราะความไม่แจ่มแจ้งในเรื่องกรรมและผลของกรรม
ไม่ว่าดีและร้ายที่เกิดขึ้น ก็เหมือนน้ำที่หมุนเวียนอยู่ในโลก น้ำทะเลระเหยไปเป็นเมฆ เมฆกลั่นตัวเป็นฝน ตกลงดินไหลลงแม่น้ำจนถึงทะเล ระเหยไปเป็นเมฆ มันเป็นน้ำเหมือนเดิมแต่สถานะของมันไม่เที่ยง แปรผันอยู่ตลอดเวลา กรรมดีกรรมชั่วก็เช่นกัน มันสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียน ถูกสร้างขึ้นมาและรับผลให้จบลงไป สลับไปมาทั้งดีและร้าย ดังนั้นวิถีแห่งโลกียะจึงยึดเอาเป็นสาระไม่ได้
และการคงอยู่เช่นนี้แหละคือความทุกข์ มีทั้งทุกข์ที่เลี่ยงได้และเลี่ยงไม่ได้ แต่การดำรงอยู่ยังไงก็ต้องทนทุกข์ ยิ่งมีกิเลสก็ยิ่งทุกข์ และยิ่งทุกข์มากขึ้นเมื่อเสียของรัก เพราะไม่ได้เสพสุขอย่างเดิม
เพราะความจริงแล้วทุกสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะยึดมั่นถือมั่นได้เลย กิเลสไม่ใช่ตัวตนของเรา ความอยากและรสสุขเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่มีจริง เป็นเพียงสิ่งที่เราหลงสร้างขึ้นมาเอง จึงไม่มีอะไรที่ควรยึดและหลงเอามาเป็นตัวเป็นตนเลย
. . . เรากำลังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นทุกข์และเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาว่ามันเป็นความสุขของเรา เป็นความภูมิใจของเรา เป็นคุณค่าของเรา และที่แย่ที่สุดคือเรายึดสิ่งที่เป็นทุกข์และเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะมาเป็นตัวตนของเรา
จึงเห็นได้ว่าการอยากครอบครองความรัก ความหลงผิดที่เข้าใจว่าหากมีคู่ที่ดีจะได้เสพสุขได้เท่าที่ใจต้องการ หรือแม้แต่ความอยากในการมีคู่ครองก็ตาม สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า ไม่มีค่า ไม่มีสาระ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้เป็นทุกข์ และเป็นเพียงภาพลวงของกิเลสที่หลอกให้เราหลงยึดมั่นจนสิ่งลวงเหล่านั้นเป็นกลายเป็นตัวเราของเราเท่านั้นเอง
. . . คนที่คิดว่าตนเองนั้นหลุดพ้น ลองสังเกตกรรมของตัวเราดีๆ เช่นชาตินี้ต้องรับกรรมอะไรจากเรื่องคู่บ้าง ต้องทุกข์ขนาดไหนจากเรื่องคู่บ้าง นั่นแหละคือส่วนกรรมที่เราอาจจะต้องรับต่อไป หากเชื้อทุกข์หรือกิเลสยังไม่ดับไป การที่ไม่มีคู่ หรือยังโสดไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส
หากกิเลสยังอยู่ ก็ยังเป็นเชื้อให้เกิดความทุกข์ในชาตินี้หรือชาติต่อๆไปอีก ถึงแม้จะเข้าใจว่าตนเองกำจัดกิเลสไปได้แล้ว ก็ยังสามารถศึกษาเพื่อเพิ่มเติมปัญญาเข้าไปได้อีก เผากิเลสที่หลงเหลือเศษไปอีก เผาไปเรื่อยๆ ให้มันยิ่งสร้างปัญญาที่เห็นโทษในการมีคู่ตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น สะสมปัญญานี้เป็นอริยทรัพย์เก็บไว้ป้องกันตัวเองจากความทุกข์ในชาติหน้าภพหน้า
. . . จะได้ไม่ต้องมาทนทุกข์แบบในชาตินี้อีก
– – – – – – – – – – – – – – –
30.6.2558
นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส
นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส
ทุกข์เกิดมาจากอะไร ทำไมเราจึงต้องทุกข์ ยิ่งใช้ชีวิตนานวันไปยิ่งพบกับทุกข์มากขึ้น ยิ่งค้นยิ่งหาก็ยังไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ แล้วมันทุกข์จากอะไร เพราะเราอยากได้ อยากมี อยากเป็น ใช่ไหมเราจึงต้องทุกข์
ความอยากหรือตัณหานั้นเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ทุกชีวิต ตื่นลุกออกจากเตียงก้าวออกไปเผชิญชีวิตในสังคมเมือง ออกไปทำงานตามล่าหาเงิน หาความสำเร็จ หาความมั่งคั่ง มาบำเรอความอยาก ที่เรามักจะเรียกให้มันดูดีว่า “ความฝัน”
อารมณ์ต่างๆในชีวิต เช่น ความโกรธ ขุ่นเคือง ไม่พอใจ ฯลฯ อารมณ์เหล่านี้เกิดจากการที่เราไม่ได้สมใจอยาก บางคนสามารถใช้วิธีทางสมถะตบความทุกข์เหล่านี้ออกจากใจได้ สามารถดับความโกรธ ความขุ่นเคือง ความไม่พอใจได้ เขาเหล่านั้นเชื่อว่านี่คือทางแห่งการพ้นทุกข์ แต่จริงๆแล้ว เพียงแต่ตบความคิด ดับความคิด หยุดฟุ้งซ่าน แค่ทำใจให้โล่ง โปร่งสบายได้ ยังมาไม่ถึงคำว่า “พุทธ” เลย
วิถีแห่งสมถะ มีมาก่อนพระพุทธศาสนาจะกำเนิดอยู่แล้ว เป็นวิถีแห่งฤาษี พราหมณ์ ในอดีตสมัยพุทธกาลก็มีกันอยู่มาก พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ทดลองแล้วและพบว่ามันไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีคนที่หลงทางอยู่มากมาย เข้าใจว่าการทำสมถะ ดับความคิด ตบความคิดได้ นั่นคือทางแห่งพุทธะ ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ใกล้เคียงเลย…
แม้เราจะสามารถดับความคิดขุ่นเคือง เศร้าหมอง โกรธ ฯลฯ ได้ แม้เราจะบอกว่ามันเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปได้ แม้จะรู้ว่ามันเป็นอนิจจัง ความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ในระดับทั่วไป แน่นอนว่าศาสนาพุทธก็สอนให้ดับปัญหาเหล่านั้นที่ปลายเหตุด้วยส่วนหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันเราก็มุ่งเน้นมาที่ต้นเหตุ คือสมุทัย เหตุแห่งทุกข์
ทุกข์มันเกิดจากตรงไหน เกิดจากการที่เราโกรธ ขุ่นเคืองใจอย่างนั้นหรือ? ผู้มีปัญญาตื้นเขินก็จะมองเห็นได้เพียงแค่นั้น และดับความคิดเพียงแค่นั้น จนสุดท้ายหลงเข้าใจผิดว่าการบรรลุธรรมก็มีแค่นั้น ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น เพราะเหตุแห่งทุกข์จริงๆเราต้องขุดค้นลงไป ว่าเราโกรธเพราะอะไร ที่เราโกรธเพราะเราไม่ได้เสพสมใจในเรื่องใด
และขุดค้นลงไปอีกว่า การที่เราอยากเสพในเรื่องนั้นๆ เราอยากเสพเพราะอะไร เราอยากได้อยากมีอะไร เราติดสุขอะไรในรสชาติ ติดอะไรในอารมณ์ของสิ่งนั้น พิจารณาลึกลงไปเรื่อยๆ ลึกกระทั่งจนไปถึงเหตุเกิด หรือที่เกิดของความทุกข์ นั่นคือสมุทัย ไม่ใช่ปลายเหตุคือความโกรธที่เราเห็นได้ทั่วไป
เพราะเหตุแห่งทุกข์นั้นมักจะซ่อนอยู่ภายในลึกๆ แม้ว่าจะค้นเจอแล้วครั้งหนึ่งอาจจะไม่ได้หมายความว่าจะเจอทั้งหมด และไม่ได้หมายความว่าที่เราเจอคือต้นเหตุจริงๆ เราต้องเฝ้าพิจารณาหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า หารากที่เหลือของมันและขุดรากถอนโคนมันออกมาด้วยวิธี …นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส
หลังจากที่เราได้เจอกับกิเลสของเราแล้ว วิธีการที่จะดับกิเลสนั้น ไม่ใช่การทำลายมันด้วยการตบทิ้ง หรือการกดข่ม หรือการดับใดๆ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเราได้เจรจากับกิเลส ได้ใช้เวลาคุยกับกิเลสให้มาก ให้ตัวเราและกิเลสได้ทำความเข้าใจว่า ฉันไม่ใช่เธอ และเธอก็ไม่ใช่ฉัน เราไม่ใช่กันและกัน เธอไม่จำเป็นต้องอยู่กับฉันตลอดไปก็ได้ เราจะใช้เวลาเจรจานานตราบเท่าที่กิเลสจะยอมใจอ่อน เดินจากเราไป อาจจะใช้เวลา 1 วัน 1 เดือน 1 ปี 1 ชาติ 1 กัป หรือ 1 อสงไขยก็เป็นได้
ยกตัวอย่างเช่น เราโกรธเพื่อน เพราะว่าเพื่อนพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบ ถ้าสายสมถะหรือสายฤาษีก็จะตบความโกรธทิ้งไป ดับความคิดที่โกรธทิ้งไป แล้วเข้าใจไปเองว่าตนบรรลุธรรม แต่ในทางพุทธ เราจะย้อนกลับมาที่ใจตัวเองว่า… ทำไมเราถึงโกรธเพื่อน
เพราะเขาพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใช่ไหม?
แล้วเราไม่ชอบคำพูดเหล่านั้น
หรือเราไม่ชอบเรื่องราวในคำพูดเหล่านั้น?
หรือเรื่องราวเหล่านั้นมันทำร้ายทำลายใจเรา?
แล้วเรามีเรื่องอะไรให้ต้องเจ็บ?
เพราะเราเคยมีแผลเก่าในใจใช่ไหม?
แผลเก่าในใจนั้นคืออะไร?
เป็นเพราะมีใครคนหนึ่งเคยฝากแผลใจให้กับเราไว้ใช่ไหม?
แล้วเราเจ็บปวดเพราะอะไร
เพราะเราคาดหวังว่าเขาจะต้องทำดีกับเราใช่ไหม?
พอเขาไม่ทำดีกับเรา ทำร้ายเรา เราก็ผิดหวังใช่ไหม?
นั่นเป็นเพราะเราหวังมากเกินจริงใช่ไหม?
เขาก็เป็นของเขาแบบนั้นแล้วเราจะไปหวังอะไรกับเขา
เราหวังเพราะเราอยากเสพดีใช่ไหม?
อยากเสพดีเพราะเราติดว่าดีเป็นสุขใช่ไหม?
….
สมมุติว่าเราหยุดตรงนี้ เราหยุดตรงที่เราติดว่า “เกิดดีจึงจะเป็นสุข” เราก็คุยกับกิเลส ก็คือพิจารณาโทษของการติดดี และประโยชน์ของการไม่ไปติดดี พิจารณากรรมและผลของกรรมว่าถ้าเรายังติดดีอยู่ อนาคตเราต้องรับอะไรบ้าง รวมทั้งพิจารณาว่าการติดดีนั้นเป็นทุกข์อย่างไร ถึงจะติดดีอย่างไรในความจริงมันก็ไม่เที่ยง ไม่สามารถเกิดดีหรือเป็นดังใจเราได้เสมอไป รวมถึงความดีที่เรายึดไว้ แท้จริงมันก็ไม่ได้มีตัวตนอยู่อย่างที่เราคิด เราคิดไปเองว่าความติดดีคือเรา เราคือความติดดี จริงๆแล้วมันไม่ใช่ของกันและกัน เราและความยึดว่าต้องเกิดดีนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกันกับเราเลย
แล้วเราก็ใช้เวลาของเรานั่งจับเข่าคุยกับกิเลสในตัวเองต่อไป คุยไปเรื่อยๆ คุยไปทุกครั้งที่เจอกัน เจอกิเลสเมื่อไหร่เราก็เจรจา หาเหตุผล หาความจริงตามความเป็นจริงมาเรื่อยๆ พิจารณาไปแม้ว่าเราจะพ่ายต่อกิเลส โดยไม่ลดความพยายาม หน้าด้านคุยกับกิเลสไปจนถึงวันหนึ่งกิเลสก็จะยอมถอย เก็บกะเป๋าออกจากจิตใจเรา วันนั้นคือวันที่ปัญญาของเรามากพอที่จะไล่กิเลส ทำลายกิเลส หรือที่เรียกว่าฆ่ากิเลสนี้ลงได้
กิเลสจะไม่มีวันกลับมาได้อีกต่อไป ไปแล้วก็ไปเลย ถึงกิเลสจะวนกลับมา เพียงแค่เราพูดหรือใช้การพิจารณาเพียงเล็กน้อย กิเลสก็ยอมล่าถอย ไม่เข้าใกล้เราอีกต่อไปนั่นคือเรามีปัญญามากพอที่จะพ้นภัยจากกิเลสนั้นๆ
ทั้งหมดนี้คือลักษณะของการวิปัสสนา ซึ่งถ้าใครทำวิปัสสนาอย่างถูกตรงก็จะเข้าใจกระบวนการนี้ได้ดี แต่ถ้าใครหลงผิดไปว่าสมถะของตนนั้นคือวิปัสสนา อาจจะไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะเขาเข้าใจได้เพียงแค่ว่า แค่ดับความคิดก็จบแล้ว ทำไมต้องคิด ทำไมต้องทำขนาดนี้ ซึ่งเขาเองอาจจะไม่ได้สังเกตว่า วิธีที่เขาทำนั้น ความอยากมันไม่ได้หายไป ความอยากมันไม่ได้ตาย มันดับ แล้วมันก็เกิดใหม่ เกิดและดับไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น อย่างเก่งก็ดับได้แบบอัตโนมัติ กดดับไปแบบไม่รู้ตัว กดข่มดับจิตไปทั้งชาติ เกิดมาชาติหน้าก็ต้องมาเจอกิเลสใหม่อยู่ดีเพราะยังตัดตัณหาไม่ขาด กิเลสไม่ตาย ก็ต้องเจอกันใหม่อยู่ดี
ด้วยวิธีนี้เราจะสามารถดับตัณหา หรือความอยากที่มีกิเลสปนเปื้อนได้ และสามารถรู้ได้เองว่ากิเลสของตนนั้น “ลด” ไปเท่าไหร่ กิเลสลดก็รู้ กิเลสเพิ่มก็รู้ กิเลสดับก็รู้ เป็นลักษณะของความรู้แจ้ง ไม่ใช่แบบมั่ว คิดเอาเอง หรือคาดเอาไปเอง ไม่รู้อะไรเลย ศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ ผู้ไม่รู้ ผู้หลับใหลมัวเมา ผู้เฉยๆ
หากเราได้ใช้เวลาในชีวิตประจำวัน เฝ้าคุยกับกิเลสของตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องขุ่นเคืองใจใดๆ ที่เข้ามาในชีวิตเรา เราจะจับเข่าคุยกับกิเลสทุกครั้งที่ว่างจากการทำงาน หรือกระทั่งพิจารณาสอดร้อยไปในกิจกรรมการงาน เราก็มีโอกาสที่จะเป็นผู้พ้นทุกข์จากกิเลส เพราะเราได้กำจัดเหตุแห่งทุกข์นั้นสิ้นไปแล้ว
– – – – – – – – – – – – – – –
28.9.2557