Tag: สุข

เสพแต่สุข ทุกข์ไม่เอา

April 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,701 views 0

เสพแต่สุข ทุกข์ไม่เอา

พอได้เสพหลงเป็นสุขไม่ระวัง พอทุกข์ขังเกลียดชิงชังรีบผลักไส

จิตใจโลภหวังแต่เสพไม่เอาภัย ความจริงไซร้สุขและทุกข์อยู่คู่กัน

 

คนเราเวลาได้เสพสุขมักจะประมาท ไม่ทันระวังภัยที่จะเป็นผลตามมา

อย่างเช่นในเรื่องของการมีคู่หรือที่เข้าใจกันไปว่าความรัก

ตอนได้รักมักจะเสพแต่สุข ไม่ระวังตัว ไม่ศึกษาธรรมะ ไม่เข้าใจความจริง

หลงวนเวียนอยู่กับการเสพกามและอัตตาจนมัวเมา

เมื่อหมดวิบากกรรมชุดที่ได้เสพนั้นๆ ก็จะต้องถูกพราก ไม่มีให้เสพสุขเหมือนเดิม

คนเหล่านั้นก็จะทุกข์ ทรมาน โศกเศร้า คร่ำครวญ รำพัน ร้องไห้ เสียใจ

พอตอนเสพสุขมันมัวเมา ก็เสพอย่างไม่ลืมหูลืมตา

พอเป็นทุกข์ขึ้นมา ตาก็ไม่ได้สว่างอะไร แค่เสียของรักแล้วฟูมฟาย

จมอยู่ในกามและอัตตา(ที่ไม่ได้เสพ) เช่นเคย

คนเรานี่มันจะเอาแต่ได้ มันจะเอาแต่สุข พอมันทุกข์มันจะไม่เอา

พยายามจะหนี กดข่ม ปัดทิ้ง เปลี่ยนเรื่อง หาสุขอื่นมาเติม

มันก็วนอยู่อย่างนั้นเอง ถ้าไม่ไปสร้างเหตุให้มันทุกข์แต่แรกก็ไม่ต้องลำบาก

…แต่ใครเล่าจะสนใจ เพราะเวลาสุขจากการได้เสพกามและอัตตา

ธรรมะมันหายไปหมด ศีลธรรมมันเสื่อมไปหมด ทิ้งศีล ทิ้งธรรมกันไปเลย

สร้างเหตุแห่งทุกข์ แล้วผลมันก็ต้องทุกข์ นรกจึงเกิดด้วยเหตุอย่างนี้เอง

 

– – – – – – – – – – – – – – –

5.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โคลนก้นแก้ว

January 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,093 views 0

โคลนก้นแก้ว

โคลนก้นแก้ว

Introduction : บทบรรยายภาพ

มีแก้วใบหนึ่ง มันถูกวางไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ วางหงายอยู่แบบนั้น ฝนตกก็รับน้ำฝน มีโคลนกระเด็นใส่มาบ้างก็รับโคลน แต่โคลนนี่มันหนัก มันจึงตกไปอยู่ก้นแก้ว เมื่อสะสมโคลนมากเข้าก็ทำให้แก้วนั้นเก็บส่วนที่เป็นน้ำได้น้อยลง

และแม้ว่าน้ำจะแห้งไปแล้ว แต่โคลนก็ยังอยู่ รอวันที่ฝนตกอีกครั้งโคลนจึงจะละลาย แต่ถึงแม้จะละลายมันก็ยังอยู่ในแก้วอย่างนั้น คอยรับน้ำใหม่และโคลนใหม่ต่อไป ซึ่งก็เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ

บทที่ ๑ แก้วใบแรกกับหมูดำ

หมูดำมีชีวิตอยู่ในแก้วที่เต็มไปด้วยโคลน ยินดีกับการอยู่ในแก้วใบนั้น เวลาที่แก้วใบนั้นสั่นไหวเพราะอะไรบางอย่างมากระทบ โคลนก็จะกระจายตัวออก เกิดเป็นน้ำโคลนขุ่นๆ

หมูดำมักจะหงุดหงิดทุกครั้งที่โคลนขุ่น แต่ก็ยังใช้ชีวิตอยู่ในแก้วที่เต็มไปด้วยโคลนนั้น มันมองว่าโคลนเป็นเรื่องธรรมดาและเข้าใจว่าการที่โคลนขุ่นกระจายเมื่อมีอะไรมาทำให้แก้วขยับไปมาหรือสั่นไหวนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่โคลนจะขุ่นเช่นกัน

หมูดำจึงอยู่ในแก้วที่เต็มไปด้วยโคลนขุ่นเช่นนั้นต่อไป ยินดีรับสุขและทุกข์แบบนั้นต่อไปเพราะมันเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา

บทที่ ๒ แก้วใบที่สองกับหมูขาว

หมูขาวมีชีวิตอยู่ในแก้วที่เต็มไปด้วยโคลนเช่นกัน แต่กลับไม่ยินดีที่โคลนจะฟุ้งกระจาย มันจึงศึกษาหาวิธีที่จะทำให้โคลนไม่ฟุ้งกระจาย ซึ่งโคลนที่ฟุ้งกระจายเป็นเหตุให้มันต้องหงุดหงิดทุกครั้งที่เป็นแบบนั้น

หมูขาวมีวิธีมากมายที่จะทำให้โคลนหยุดฟุ้ง และสามารถทำให้โคลนตกตะกอนทุกครั้งที่มีอะไรมากระทบแก้วหรือทำให้แก้วสั่นไหวมันฝึกฝนที่จะอยู่ร่วมกับโคลนที่ฟุ้งเหล่านั้นโดยการพยายามควบคุมการฟุ้งกระจายของโคลนให้ได้ มันเก่งถึงขนาดที่ว่าหยุดการสั่นไหวของแก้วเพื่อไม่ให้โคลนฟุ้งเลยก็ได้

แน่นอนว่ามันสามารถทำได้จริง มันจึงมีความสุขอยู่ในแก้วที่มีน้ำใสแต่เต็มไปด้วยโคลนก้นแก้วได้ เพราะมันเข้าใจและยอมรับว่าการที่โคลนฟุ้งก็เป็นเรื่องธรรมดา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันจึงเรียนรู้วิธีการทำให้โคลนเหล่านั้นหยุดฟุ้งกระจายด้วยเหตุนี้เอง

แต่หมูขาวบางตัวกลับไม่ใช้วิธีเหล่านั้นในการหยุดโคลนที่ฟุ้ง มันเฝ้าดูการขยับตัวของโคลน จนกระทั่งฟุ้งกระจาย และสุดท้ายก็สงบลง หมูขาวพวกนี้มองว่าการฟุ้งของโคลนเป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน แต่ไม่จำเป็นต้องไปหยุดมัน เพียงแค่ดูแล้วรู้ตามความจริงว่ามัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป พวกมันก็จะรู้สึกเป็นสุขที่ได้รู้อยู่เช่นนี้ มองดูโคลนที่ฟุ้งและตกตะกอนเช่นนี้แล้วเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา

หมูขาวทั้งสองตัวเลยยินดีอยู่กับแก้วที่เต็มไปด้วยโคลนเช่นนี้ เพราะแม้ว่าจะเกิดการฟุ้งกระจายของโคลนแต่มันก็สามารถทำให้ตกตะกอนได้ หรือถึงจะทำไม่ได้ มันก็เพียงแค่ดูแล้วรู้ความเป็นไปของโคลนเหล่านั้น ไม่ไปหงุดหงิดกับโคลน มันจึงมีความสุขอยู่กับแก้วที่เต็มไปด้วยโคลนนอนก้น

บทที่ ๓ แก้วใบที่สามกับหมูเด็ก

หมูเด็กมีชีวิตอยู่ในแก้วใบที่สาม แก้วของมันมีโคลนเหมือนกับแก้วใบอื่น แต่มันไม่ยินดีในการอยู่ในแก้วที่เต็มไปด้วยโคลนนั้น

หมูเด็กเข้าใจว่าการที่โคลนฟุ้งนั้นเกิดเพราะมีโคลน ถ้าไม่มีโคลนถึงจะมีอะไรมาทำให้แก้วสั่นไหวสักเท่าไรโคลนก็จะไม่ฟุ้งกระจายให้ต้องหงุดหงิดใจ

หมูเด็กมีวิธีการจัดการกับโคลนให้ตกตะกอนเช่นเดียวกับหมูขาว แต่มันรู้ว่าวิธีเหล่านั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือโคลนต่างหาก มันจึงศึกษาโคลน เหตุใดจึงมีโคลนเข้ามาในแก้ว แล้วจะกำจัดโคลนออกจากแก้วได้อย่างไร

เป็นคำถามที่แทบจะหาคำตอบไม่ได้เพราะไม่มีใครคิดจะเอาโคลนออกจากแก้วเลย หมูตัวอื่นต่างยินดีที่จะใช้ชีวิตอยู่ในแก้วที่เต็มไปด้วยโคลน

วันหนึ่งหมูเด็กได้เจอนกกระจอกที่บินผ่านมา นกกระจอกผู้เห็นโลกกว้างได้แนะนำเกี่ยวกับโคลน เหตุที่มาของโคลน การกำจัดโคลน และวิธีปฏิบัติสู่การกำจัดโคลนอย่างถูกวิธี และยังบอกอีกด้วยว่าถ้าหมูเด็กสามารถกำจัดโคลนได้หมดก็จะมีสิทธิ์ที่จะคว่ำแก้วใบนั้น ไม่ต้องรับทั้งน้ำและโคลนอีกต่อไป

หมูเด็กได้ฟังคำแนะนำและเห็นด้วยกับนกกระจอก เพราะรู้แน่ชัดในตัวเองแล้วว่าโคลนนี่แหละที่ทำให้ตัวเองหงุดหงิด ไม่มีความสุข จึงพากเพียรปฏิบัติตามคำแนะนำของนกกระจอกจนกระทั่งวันหนึ่งมันสามารถกำจัดโคลนเหล่านั้นได้จนหมดสิ้น

เมื่อไม่มีโคลนในแก้ว หมูเด็กก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ในแก้วได้อย่างมีความสุข ไม่มีทุกข์ใดๆเกิดขึ้นอีก แน่นอนว่ามันเองก็ไม่ได้ยึดติดความความสุขในแก้วนั้นจึงถอยออกมามองน้ำใสในแก้วอยู่ห่างๆ แม้ว่าจะมีสิ่งที่มากระทบให้แก้วสั่นไหว มันก็จะไม่ได้รับผลนั้นอีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

3.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เกิดมาทำไม?

August 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,734 views 0

เกิดมาทำไม?

เกิดมาแล้วก็ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม… รู้แค่เกิดมาแล้ว มีสุข มีทุกข์ มีหน้าที่ตามที่เขาอยากให้ทำ และดำเนินชีวิตไปตามทางที่กิเลสจะพาไป จนวันหนึ่งมีคนถามคำถามนี้กับเรา… “เกิดมาทำไม?”

เป็นคำถามที่ชวนให้คิด… เกิดมาทำอะไร แล้วทำไมถึงเกิดมา…

เกิดมาทำอะไร?… ในเมื่อเกิดมาแล้วทั้งที จะต้องเรียนรู้ ทำงานไปเรื่อยๆ และสุดท้ายก็เกษียณอายุงาน กลายเป็นคนแก่นั่งอยู่บ้านอย่างนั้นหรือ ในเมื่อเห็นปลายทางแบบนั้นแล้ว มันก็ไม่เห็นจะน่าเดินไปตรงไหน ชีวิตในกรอบสังคมช่างน่าเศร้า เหมือนทุกข์ที่วนเวียนไม่รู้จบตั้งแต่เกิดจนตาย สุดท้ายก็ตายไปโดยที่ไม่รู้ว่าเกิดมาทำอะไร

ทำไมถึงเกิดมา?… แล้วอะไรล่ะทำให้เราเกิดมาแบบนี้ หน้าตาแบบนี้ นิสัยแบบนี้ มีครอบครัว และสังคมแบบนี้ อะไรเล่าเป็นตัวกำหนด จะตอบว่าความบังเอิญก็ดูจะมักง่ายและคลุมเครือเกินไป สุดท้ายก็ต้องไปตามหาคำตอบว่าเราเกิดมาได้อย่างไร

ใช้เวลาตามหาคำตอบกันอยู่นานหลายปี จนพบว่าเราเกิดมาเพื่อใช้เวลาที่มีเรียนรู้ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิถีปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์ ซึ่งก็คือการล้างกิเลส เป็นหน้าที่หลักที่ต้องทำไปพร้อมกับสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและโลกในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่

ส่วนทำไมเราถึงเกิดมานั้น “กรรม” เป็นสิ่งที่ทำให้แต่ละชีวิตมีความแตกต่างกันออกไป และก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า หน้าที่มันยังไม่จบ ความอยากมันยังไม่หมดมันก็ต้องเกิดมาเสพต่อ เหมือนเราชอบขนม ถ้าวันนี้ได้กินขนม พรุ่งนี้มันก็อยากกินอีก…เกิดความอยากสะสมมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนต้องพยายามหามาเสพให้ได้ แม้จะตายก็ต้องเกิดมาสนองความอยากกันต่อไป ถ้ายังเหลือความอยากอยู่ก็ยังต้องเกิดอยู่เรื่อยไป

เกิดมาทำไม?