Tag: สมมุติโลก

ทำบุญสวยชาติหน้า? กิเลสหนาสวยชาตินี้

November 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,896 views 9

ทำบุญสวยชาติหน้า? กิเลสหนาสวยชาตินี้

ทำบุญสวยชาติหน้า? กิเลสหนาสวยชาตินี้

เราอยู่ในยุคสมัยที่อุดมไปด้วยความรู้ที่ช่วยให้สนองกิเลสได้ง่ายเพียงแค่ควักเงินจ่าย อยากได้อะไรก็ใช้เงินซื้อ ไม่ว่าจะความสุข ความสวยความงาม หรือแม้แต่ความดีก็ตาม

การปรับแต่งรูปร่างหน้าตาในยุคปัจจุบันกลายเป็นเรื่องปกติที่สังคมยอมรับ เราสามารถผ่าตัดปรับเปลี่ยนหน้าได้ตามต้องการเท่าที่กำลังเงินจะอำนวย จึงมีคำกล่าวที่ว่า “ทำบุญสวยชาติหน้า ทำหน้าสวยชาตินี้” ข้อความนี้จะเป็นจริงหรือไม่อย่างไร ลองมาอ่านบทวิเคราะห์กันดู

ในพระพุทธศาสนานั้นมีความรู้ที่จะช่วยให้บุคคลผู้ต้องการความงามนั้นสร้างความงามอยู่เช่นกัน นั่นคือการเจริญพรหมวิหาร ๔ (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) จะทำให้มีโภคทรัพย์มาก โดยทั่วไปหมายถึงทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบต่างๆในชีวิต ไม่ว่าจะฐานะ มิตรสหาย หรือกระทั่งองค์ประกอบทางด้านร่างกายก็ตาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลพลอยได้เพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับทรัพย์ทางโลกุตระ

และการเจริญพรหมวิหารนั้นไม่ได้หมายความว่า ทำชีวิตนี้แล้วไปให้ผลในชีวิตหน้า แต่หมายถึงทำเท่าไหร่ก็ให้ผลเท่านั้นทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป นั่นหมายความว่า ถ้าเราเจริญพรหมวิหารเราก็จะมีโภคทรัพย์ที่จะเจริญไปโดยลำดับ เราอาจจะเคยสังเกตเห็นคนที่เขาไม่สวยไม่งาม แต่กลับมีเสน่ห์ น่าเข้าใกล้ น่าพูดคุย น่าคบหา เหมือนมีธรรมรังสีเปล่งประกายออกมา จนบางครั้งหลงชอบใจทั้ง ๆ ที่องค์ประกอบทางร่ายกายของเขาไม่ใช่สิ่งที่เราเคยชอบใจเลยสักนิด

จึงสรุปไว้ก่อนเลยว่า “ทำบุญชาตินี้ ก็งามในชาตินี้แหละ

แต่หลายคนรู้สึกไม่พอใจที่จะต้องทำดีเพื่อรอรับผล ไม่ยินดีรอเวลา ใจร้อน หรือเรียกว่า “โลภ” อยากให้ดีเกิดมากกว่าเหตุปัจจัยที่ควรจะเป็น ที่มันไม่สวยไม่งามมันก็ฟ้องอยู่ในตัวแล้วว่า “เป็นผู้ที่มักโกรธ ผูกโกรธ พยาบาท” ไม่มีพรหมวิหาร ก็ควรจะเร่งสร้างความเจริญขึ้นในจิตใจ

แต่คนส่วนมากไม่ทำเช่นนั้น เขามองข้ามความเจริญทางจิตวิญญาณ แล้วไปสนใจเพียงแค่ร่างกาย บางคนเกิดมามีวิบากกรรมที่ต้องทุกข์ทรมานเพราะร่างกายไม่สมประกอบ การจะผ่าตัดตกแต่งให้ดำรงชีวิตได้อย่างปกตินั้นก็สามารถเอื้อกันได้โดยไม่ผิดอะไร แต่คนที่มีรูปร่างหน้าตาสมบูรณ์ตามปกติดีอยู่แล้ว จะไปเสริมเติมแต่งให้มันมากขึ้น ให้มันสวยขึ้น ให้มันสมใจยิ่งขึ้น อันนี้มันก็เป็นการสนองกิเลส

ซึ่งการสนองกิเลสในระดับที่ไปผ่าให้มันสวยขึ้น ไปเติมให้มันใหญ่ขึ้น ฯลฯ เป็นกิเลสในระดับที่หยาบมาก รองลงมาคือพวกที่แต่งเนื้อแต่งตัว รองลงมาก็พวกที่แต่งหน้าแต่งตา ถ้าให้ดีก็ไม่ต้องไปแต่งหน้าแต่งตาให้มันเสียเงินเสียเวลาก็จะดีที่สุด

เพราะคนนั้นไม่พอใจในสิ่งที่ตนมี แล้วหลงว่าร่างกาย เนื้อหนังนั้นเป็นสิ่งเลิศ จึงเกิดการแส่หา ไขว่คว้าสิ่งที่ตนอยากได้อยากเสพมาเป็นของตน ในขั้นเริ่มต้นก็มักจะแต่งหน้า โพสท่า แล้วแต่งรูปให้ดูดี แต่ถ้าสะสมกิเลสไปมาก ๆ ก็จะเริ่มไม่พอใจ จะแต่งหน้าแต่งตาไปทำไม? ผ่าตัดให้มันสวยทีเดียวไปเลยดีกว่าจะได้เสพสมใจ

แท้จริงแล้วมันมีความซ้อนในการเสพความสวยงามอยู่ เพราะถึงจะผ่าตัดมาให้สวยปานใด น้อยคนนักที่จะใช้เวลาทั้งวันในการมองหน้าตาและรูปร่างของตัวเอง โดยส่วนมากก็จะแต่งไปให้คนอื่นเขามองมากกว่า ซึ่งมันมีความหลงโลกธรรมซ้อนเข้าไปว่า สนใจฉันสิ มองฉันสิ ชมฉันสิ จนกระทั่งฝังลึกกลายเป็นอัตตาว่า ฉันสวย ฉันน่าสนใจ ฉันมีคุณค่า แล้วก็หลงมัวเมากับความสุขลวงในคุณค่าของเนื้อหนังเช่นนั้นต่อไป

หลอกตัวเองยังไม่พอ ยังเอากาม (ความสวยงาม) เหล่านั้นไปหลอกคนอื่นต่ออีก ให้เขารัก ให้เขาทุ่มเท ให้เขาหลงงมงายอยู่กับเนื้อหนังที่ถูกตัดต่อปรุงแต่งขึ้นมา อีกฝ่ายก็หลอกซ้อนเข้าไปอีกว่าเนื้อหนังนั้นคือคุณค่า เนื้อหนังนั้นน่าสนใจ ก็บำเรอกิเลสกันไป มันก็เลยหลงวนเวียนกันทั้งสองฝ่าย แก้กันไม่ได้ง่าย ๆ

การทำรูปร่างหน้าตาให้สวยขึ้นเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมาตามกิเลส จริงอยู่ที่ว่า “ทำหน้าสวยชาตินี้” มันก็ดูสวยขึ้นได้จริงตามสมมุติโลก แต่มันก็มีวิบากบาปซ้อนเข้าไปอีก เพราะถูกเติมแต่งด้วยกิเลส ทีนี้พอเริ่มต้นด้วยกิเลส แล้วเอาไปสนองกิเลส สุดท้ายก็เมากิเลส มันจะมีที่ไปที่ไหน มันก็มีแต่นรก(ความเดือดเนื้อร้อนใจ) เท่านั้น

พอไม่ได้ศึกษาธรรมะก็มักจะมองว่าคุ้ม ฉันขอสวยไว้ก่อน เพราะถ้าฉันสวยฉันก็จะได้เสพอะไรอีกหลายอย่าง เช่น หาคู่ได้, มีคนชม, มั่นใจ ฯลฯ นั่นกิเลสทั้งนั้น เป็นการลงทุนที่สุดท้ายยังไงก็ต้องขาดทุน มีแต่เสียกับเสีย มีแต่สุขลวงกับทุกข์แท้ๆ แต่ก็ยังอยากได้อยากมีกัน นี่แหละที่เขาเรียกว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

คุณค่าของคนมันไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตา แต่อยู่ที่คุณงามความดีที่ทำ เป็นคนเบียดเบียนโลกหรือทำประโยชน์ให้โลก บ้านเมืองไม่ได้ต้องการคนสวย แต่ต้องการคนดี ถ้าคนดีไปมัวแต่ห่วงสวยแล้วจะเอาเวลาที่ไหนมาทำดี ก็มีแต่คนดีที่ยังโง่อยู่เท่านั้นแหละ จึงยอมเสียเวลาอันมีค่าไปกับการมัวเมาในเนื้อหนังที่เสื่อมไปตามธรรมชาติทุกวันๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

7.11.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

รักด้วยใจ

June 22, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,597 views 0


รักด้วยใจ

ต่อให้ หน้าตาไม่ดี ฐานะไม่ร่ำรวย

ทำงานต่ำต้อย ไร้การยอมรับ

เขาก็รักอยู่ดี…

…ถ้าความรักเป็นเรื่องของจิตใจจริงล่ะก็ แล้วทำไมยังหลงเสพสุขกับเปลือกนอกอยู่?

ทำไมจึงยังหลงสมมุติโลกว่าต้องเป็นแฟนกันหรือแต่งงานกัน? เป็นเพื่อนกันไปไม่ได้อย่างนั้นหรือ?

…………………..

การที่เราจะรู้ได้ว่าเรารักด้วยใจจริงหรือไม่นั้น ต้องทดสอบด้วยการปลดเปลื้องสิ่งที่ไม่จำเป็นออก ในกรณีที่เราไปรักคนอื่น เราอาจจะต้องค้นใจตัวเองว่า คนดีมีตั้งมากมาย เราไปรัก ไปหลง ไปเสพอะไรกับเป้าหมายคนนี้อยู่ ถ้าเขาหน้าตาไม่ดีล่ะ บ้านจนล่ะ ทำงานที่ดูแล้วไม่น่าเจริญล่ะ เป็นคนที่ผู้อื่นไม่ยอมรับล่ะ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังเป็นคนจิตใจดีนะ เรายังจะรักเขาอยู่หรือไม่ หรือเรายังต้องการปัจจัยพื้นฐานเพื่อเสพสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่

ถ้ามีคนมารักเราก็ลองดูซิว่าเขามาเสพอะไรจากเรากันแน่ คุณสมบัติพื้นฐานทางโลกีย์นั้นอาจจะลดได้ยาก แต่เราก็สามารถใช้ศีลเข้ามาคัดกรองได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราหน้าตาดีเราก็เลิกแต่งตัวแต่งหน้าเสีย ถ้าเราฐานะดีเราก็สร้างนิสัยประหยัดอดออม ถ้าเราหน้าที่การงานดีก็หัดออกไปทำงานฟรี ทำงานจิตอาสาบ่อยๆ หรือถ้าเราเป็นคนที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับมาก ก็ให้เราลดความหลงในตัวตน เช่น ยอมเป็นผู้น้อยสำหรับใครสักคน ยกตัวอย่างเช่น ยอมยกพระพุทธเจ้าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และน้อมรับคำสอนและวิธีปฏิบัติของท่านมาใช้

วิธีที่ยกตัวอย่างมานี้ก็ทำเพื่อที่จะคลายข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วเขารักเราที่ใจหรือรักเปลือกที่ห่อหุ้มเราอยู่ เปลือกแห่งโลกีย์นั้นมีดูเหมือนสิ่งที่น่าได้น่ามี คนเขลาย่อมเข้าใจว่ามีรสหวาน ซึ่งคงไม่มีใครอยากรับเอาคนที่หวังจะเสพสุขแค่เปลือกเข้ามาในชีวิตแน่นอน

แต่เราก็มักจะหลงทำในทิศทางตรงกันข้าม เมื่อมีใครที่เราชอบเข้ามาในชีวิต เราก็จะเริ่มแต่งตัว ทำตัวเองให้ดูดี พรั่งพร้อมไปด้วยกาม ลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งหลายเพื่อให้เขาเข้ามาสนใจ เราใช้ความเป็นโลกีย์ล่อเหยื่อที่เราอยากเสพเข้ามาในชีวิต แล้วเราจะได้พบกับคนที่รักด้วยใจได้อย่างไร?

เราสามารถใช้ข้ออ้างว่าการคบกันก็ควรมีความเหมาะสมกันบ้าง นั่นหมายถึงความต้องการพื้นฐานทางโลกีย์ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าเรามีมาตรฐานในการยอมรับการสนองกิเลสขั้นต่ำได้มากน้อยเท่าไหร่ และนั่นก็หมายความว่าเรายังมีกิเลสเท่าไหร่ ถ้ามีมากก็ต้องการมาก ถ้ามีน้อยก็ต้องการน้อย

การรักที่ใจอย่างแท้จริงนั้น จะมองข้ามเปลือกแห่งโลกีย์ที่ห่อหุ้มอยู่ จะสามารถข้ามผ่านสมมุติโลกที่หลอกให้เราหลงเสพหลงติดหลงยึด ไม่ว่าจะเป็นการคบหากันเป็นแฟนหรือคู่แต่งงาน ซึ่งจะก้าวข้ามสิ่งที่ไร้สาระเหล่านั้นไปเสีย เหลือแต่คุณค่าแท้จริงของจิตวิญญาณดวงหนึ่งที่ควรได้รับความรัก

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ไม่มีสิ่งใดในโลกที่ไม่สมควรได้รับความรักเลย เราจึงควรเพิกถอนความหลงติดหลงยึดในตัวบุคคล กระจายความรักออกไปโดยไม่ต้องมีกรอบใดๆมาขวางกั้นพลังแห่งเมตตาอันไม่มีประมาณนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

22.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สุดโต่ง

April 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,605 views 0

สุดโต่ง

สุดโต่ง : ปฏิบัติอย่างสุดโต่งนั้นเป็นอย่างไร

สุดโต่งคืออะไร?

คำว่าสุดโต่งนั้นหมายถึงสิ่งความเอนเอียงไปในทางหนึ่งอย่างเต็มที่ ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ไม่เป็นไปตามที่สังคมยอมรับมักจะมีอาการยึดมั่นถือมั่น เคร่งเครียด ไม่ผ่อนคลาย

ความสุดโต่งนั้นเป็นเพียงความเห็นความเข้าใจ ที่หมายของคำว่าสุดโต่งนั้นต่างกันไปตามความเห็นของแต่ละคน เช่น คนดีทำดีได้ง่าย ถือศีลปฏิบัติธรรมได้เป็นเรื่องปกติ เขาก็มองว่าดีนั้นคือความเป็นกลาง ความชั่วคือทางโต่ง

คนชั่วทำดีได้ยากเพราะมีกิเลสมาขวางกั้นไว้ เขาก็มักจะมองสิ่งดีที่ทำได้ยากได้ลำบากคือความโต่ง ส่วนความชั่วเป็นเรื่องสามัญในโลกที่ใครเขาก็ทำกัน

หรือคนที่ไม่ดีไม่ชั่วคือเป็นกลางๆ ก็มักจะมองว่าสิ่งที่ตนเป็นนั้นพอดีไม่โต่งไปทั้งดีและชั่ว ดังนั้นการมองความโต่งของแต่ละคนจึงแตกต่างกันไป

สุดโต่งไม่ทางสายกลาง

การกระทำที่เราเห็นว่าโต่ง เรามักจะมองว่าไม่เป็นทางสายกลาง ถ้าเป็นทางสายกลางของพระพุทธเจ้านั้นคือ ไม่เสพกามและไม่ติดอัตตา พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่า “พวกเธอจงเสพกามแต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่น”

สรุปในความหมายของศาสนาพุทธก็คือ คนที่ยังเสพกามและยังติดอัตตาอยู่นั่นแหละคือคนที่สุดโต่ง ส่วนคำว่าสุดโต่งในทางสมมุติโลกก็แล้วแต่ใครจะนิยาม

คนเรามักจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล พอสิ่งใดที่ทำได้ยากได้ลำบากสำหรับตนและพวกพ้องนั่นแหละคือสุดโต่ง ทั้งที่จริงๆแล้วคนอื่นเขาทำได้สบาย แล้วทีนี้ด้วยความมีอัตตาก็ยึดเอาตนนั่นแหละ เป็นตรงกลาง ใครทำมากกว่าตนสุดโต่ง ใครทำน้อยกว่าตนก็ต่ำต้อย

สุดโต่งของผู้มัวเมา (มิจฉาทิฏฐิ)

คนที่เห็นผิดและมัวเมาในกิเลสมากๆ ก็จะหมายเอาว่าการที่ทุกคนมีกิเลสเป็นเรื่องทั่วไปที่ไม่น่าใส่ใจ คนเราต่างกรรมต่างวาระถือ เป็นเรื่องธรรมดาใครๆเขาก็ทำกัน คนที่พยายามจะละทางโลกอย่างจริงจังสิที่เป็นความสุดโต่ง

การที่มีความเห็นแบบนั้นเพราะต้องการตั้งกำแพงเอาไว้ไม่ให้ใครเข้ามาล้วงกิเลสตน เอาง่ายๆ คืออย่าเอาสิ่งที่พาให้เกิดความเจริญมาข้องแวะกับกองกิเลสของฉัน ฉันจะอยู่ในภพของฉัน ฉันจะเสพของฉันไปเรื่อยๆ อย่าพยายามชี้ให้ฉันเห็นถึงกิเลส อย่าบอกว่าสิ่งที่ฉันติดฉันยึดคือสิ่งไม่ดี เพราะฉันมีความสุขกับมันอยู่ ซึ่งเป็นสภาพของผู้ติดภพที่เต็มไปด้วยกิเลส

ถ้าเขามองจากก้นเหว ปากเหวก็ดูจะสูงเทียมฟ้า แต่แท้ที่จริงแล้วปากเหวนั้นก็แค่ระดับพื้นดิน ยังมีต้นไม้ ภูเขา ท้องฟ้า จักรวาล ดวงดาวอีกมากมายที่อยู่สูงและไกลออกไป

คนที่มัวเมาในกิเลสก็ยังคงต้องอยากจะเสพไปตามกิเลสอยู่ เหมือนกันกับคนส่วนมากในสังคมที่ใช้ชีวิตไปตามกิเลส แล้วก็ใช้ศาสนาเข้ามาช่วยเพียงแค่ทำให้จิตใจสงบ และใช้ตรรกะต่างๆเข้ามาเป็นเกราะป้องกันตัวเองไม่ให้มีสิ่งใดเข้ามากล้ำกราย ไม่ว่าสิ่งนั้นจะร้ายหรือดี เขาก็เพียงแค่ต้องการจะอยู่ในภพที่เขาอยู่

ซึ่งมันก็ไม่แปลกอะไร เพราะโลกเรามีคนหลายแบบ คนกิเลสน้อยก็มี คนกิเลสหนาก็มี มันเห็นไม่ตรงกันอยู่แล้ว เพราะคนกิเลสน้อยก็ว่าคนกิเลสหนานั้นมันทุกข์ คนกิเลสหนาก็ว่าคนกิเลสน้อยนั้นสุดโต่ง ซึ่งก็ถูกของเขา เพราะเขาทำไม่ได้ ถ้าหากเขาทำเขาก็จะทุกข์ทรมาน

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความคนกิเลสน้อยสุดโต่ง เพราะเขาเหล่านั้นสามารถละสิ่งที่เป็นภัยได้โดยไม่ยากไม่ลำบาก เรียกว่าทำได้แบบสบายๆ แล้วถ้าทำได้แบบสบายมันจะเรียกว่าสุดโต่งได้อย่างไร?

ยิ่งถ้าบอกว่าความเจริญที่ได้ละสิ่งที่ไม่ประโยชน์นั้นว่า “สุดโต่ง” ยิ่งสะท้อนความเสื่อมโทรมของสังคมที่ตกเป็นทาสของกิเลส ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ คนส่วนมากก็ตกเป็นทาสกิเลสกันอยู่แล้ว ยิ่งกึ่งพุทธกาลแบบนี้คงไม่มีผู้มีบุญบารมีลงมาเกิดกันมากมายหรอก ที่มาเกิดนี่ก็เด็ดๆกันทั้งนั้น

ทิ้งโลกไปทางธรรมสุดโต่งจริงหรือ

ต้องเข้าใจก่อนว่าทิ้งโลกนี้ไม่ได้หนีเข้าป่า แต่เป็นการทิ้งโลกที่เคยมีกิเลสแล้วหันหน้าเข้าหาธรรมเพื่อศึกษาธรรม พระพุทธเจ้าไม่เคยสั่งให้สาวกเข้าป่าปลีกวิเวก สาวกที่บรรลุธรรมท่านก็สั่งให้ไปสร้างประโยชน์แก่หมู่ชน และให้แยกกันไป อย่าไปที่เดียวกันธรรมกับโลกจึงอยู่คู่กันด้วยประการนี้เอง

ถ้าการทิ้งเรื่องโลกมาสนใจธรรมเป็นเรื่องสุดโต่ง ศาสนาพุทธก็คงจะเป็นศาสนาที่สุดโต่งที่สุด เพราะตามประวัติศาสตร์นั้น เจ้าชายสิทธัตถะเพียงแค่รู้ว่าลูกเกิด ท่านก็หนีไปบวชแล้ว หรือปัจเจกพระพุทธเจ้าที่เพียงแค่มองผู้หญิงที่มีเจ้าของแล้วรู้สึกผิด ก็ออกบวชแล้ว

ถ้าเป็นคนธรรมดาเขาไม่เข้าใจนะ เขาไม่มีปัญญารู้ว่ามันเป็นโทษอย่างไร แต่นี่ระดับพระพุทธเจ้า สะกิดนิดเดียวรู้เลย รู้แล้วออกได้ทันทีด้วย ไม่ติดไม่วนอยู่ เรียกว่าสุดโต่งไหม?

ถึงจะเป็นคนสมัยนั้นเขาก็ว่าโต่งนั่นแหละ อะไรกัน…เหตุนิดหน่อยก็ทิ้งแล้ว คนกิเลสหนาเขาไม่ทิ้งหรอก เขาก็เมาลูก มองสาวอยู่นั่นแหละ จะเห็นได้ว่าคำว่าโต่งถ้ามันมาจากความเห็นของคนกิเลสหนามันก็แสดงตัวตนเขาอยู่แล้วว่าทำเช่นนั้นไม่ได้ แต่ทางโต่งที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นมีอยู่ นั่นคือให้เว้นขาดจากการเสพกามและการทรมานตัวเองด้วยอัตตา ความโต่งสองทางนี้ท่านให้เว้นเสีย

สุดโต่งแต่เจริญ

ดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าความโต่งที่เป็นความเห็นของบุคคลนั้นต่างกันไปตามทิฏฐิ ซึ่งจะเอามายึดมั่นถือมั่นเป็นหลักเกณฑ์วัดอะไรไม่ได้ อ้างอิงอะไรไม่ได้เลย เพราะถ้าสังคมกิเลสหนา มันก็จะว่าการลดกิเลสเป็นทางโต่ง เช่น ในยุคนี้เขาก็ว่าการสมสู่มีคู่แต่งงานนั้นดี ยิ่งผู้หญิงแต่งตอน 25-30 ยิ่งดี แต่ถ้าเป็นสังคมยุคพระศรีอริยเมตตรัย กว่าจะได้แต่งงานก็อายุ 500 ปีโน่น มันโต่งไหมล่ะ สมมุติสัจจะและศีลธรรมโดยสามัญสำนึกมันเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยนั่นแหละ เอามาวัดอะไรไม่ได้หรอก

เรื่องคู่นี่ยิ่งชัด พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่าโง่ไปมีคู่ กามนั้นแสบเผ็ดร้อนยิ่งกว่าถ่านที่เผาไหม้ ยิ่งกว่าหอกแหลมที่ทิ่มแทง ยิ่งกว่ายาพิษใด แม้ในฐานศีล ๕ จะยังมีคู่ได้ แต่ท่านไม่เคยบอกว่าให้ครองคู่กันจึงจะเจริญ ท่านให้ละให้เว้นเสีย แต่ถ้าในสมัยนี้คนเขาก็มองคนที่จะเป็นคนโสดไปตลอดไม่มีคู่เป็นความโต่งนะ โต่งแต่สัมมาทิฏฐิมันน่างงไหม?

ในยุคนี้ผู้ที่ตั้งใจจะปฏิบัติเพื่อลด ละ เลิก สิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ไม่ใช่คุณค่าแท้ ก็มักจะถูกมองว่าสุดโต่งทั้งๆที่นั่นคือทางสายกลางที่พาไปสู่ความเจริญ แม้คนจะมองว่าโต่งแต่มันไปเจริญ แล้วมันไม่ดีอย่างไรล่ะ

ก็มีแต่คนที่พ่ายแพ้ต่อกิเลสเท่านั้นแหละที่ไม่เห็นว่าการพยายามละเว้นจะกิเลสนั้นเป็นสิ่งที่ดี ยังของยอมวนเวียนเสพสมใจกันอยู่ในทะเลที่เต็มไปด้วยยางเหนียว

– – – – – – – – – – – – – – –

10.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)