Tag: รัก

รักแท้คือการเสียสละ

August 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 15,553 views 2

รักแท้คือการเสียสละ

การเสียสละคือนิยามหนึ่งของคำว่า “รักแท้” ที่หลายคนมักจะหยิบยกมาใช้ แต่จะเสียสละอย่างไร เสียสละแบบไหนจึงจะเรียกได้ว่าเสียสละเพื่อรักแท้ ลองพิจารณาบทความนี้กันดู

หากเราเสียสละเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งการครอบครอง สิ่งนั้นไม่เรียกว่าเสียสละ แต่เรียกว่าการลงทุนโดยหวังผลกำไร มีคนมากมายที่เสียสละเพื่อที่จะสร้างภาพให้อีกฝ่ายหลงเข้าใจว่าจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป ซึ่งความเสียสละเช่นนั้นก็มักจะหมดไปเมื่อไม่ต้องการครอบครองสิ่งนั้นอีก อาจจะเกิดจากความเบื่อ ความเคยชิน หรืออะไรก็ตามที่ทำให้ไม่มีสิ่งผลักดันให้เสียสละ

หากเรามองเพียงแค่ว่าการเสียสละนั้นเป็นสิ่งดี เราก็อาจจะถูกกิเลสหลอกก็ได้ จึงควรศึกษาและค้นให้ลึกว่าที่เราและเขาเสียสละนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะอยากได้อยากเสพอะไรจึงพยายามเสียสละเช่นนั้น

ความเสียสละแท้จริง คือการเสียสละความสุข เพื่อความไม่ทุกข์ใดๆทั้งปวง

เสียสละการครอบครอง ยินดีที่จะเมตตาโดยไม่ต้องไปมีสิทธิ์ใดในร่างกายและจิตใจของผู้อื่น

เสียสละการผูกมัด เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระไม่ต้องผูกพันกันด้วบภพชาติอีกต่อไป

ผู้ที่เสียสละตัวตนได้อย่างแท้จริง คือผู้ที่มีรักแท้ ยอมไม่หลงเสพหลงสุข เพราะรู้ดีว่าท้ายที่สุดแล้วนั้นคือทุกข์อย่างมหันต์ ยอมไม่ครอบครองเพราะรู้ดีว่าจะกลายเป็นทุกข์ของกันและกัน ยอมไม่ผูกมัดใดๆ เพราะรู้ว่าอิสระคือสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่า

เพราะรู้ดีว่าแม้จะเป็นความรักที่ดี มีว่าที่คู่ครองที่ดีแสนดีเพียงใด แต่การผูกมัดกันด้วยคำหวานและคำสัญญาเหล่านั้น คือสิ่งที่จะทำร้ายกันไปชั่วกาลนาน

ในเมื่อรักแท้คือการเสียสละ เราจะต้องอยากได้อะไรอีก เราเป็นเพียงผู้ให้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องได้รับอะไร สละให้ ยกให้ ทำให้ โดยไม่ต้องหวังอะไรตอบแทน ไม่หวังคำขอบคุณ ไม่หวังความเห็นใจ ไม่หวังแม้ความรักตอบ ไม่หวังสิ่งใดคืนกลับมาเลย นับประสาอะไรกับการครอบครอง ซึ่งก็คงจะเป็นสิ่งที่ห่างไกลสำหรับผู้ที่เสียสละอย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

27.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

August 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,839 views 0

ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

ในบทความนี้จะชี้ให้เห็นเลยว่าการมีสิ่งที่รักนั้นคือความทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีสุขเลยแม้น้อย แต่กระนั้นคนที่หลงในสุขลวงยังพยายามยกสุขลวงเหล่านั้นขึ้นมาเป็นสาระ เป็นประโยชน์ ให้ตนได้เสพสุขในสิ่งที่รักเหล่านั้น

ในปิยชาติกสูตร มีเรื่องราวว่า บุตรของคฤหบดีคนหนึ่งตาย จึงทำให้คฤหบดีเกิดความทุกข์มาก ว่าแล้วก็ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เล่าความตามที่เป็น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ความโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ เป็นของเกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

แต่คฤหบดีกล่าวว่า ความยินดี ความดีใจก็เกิดจากสิ่งที่เป็นรักด้วย แล้วก็เดินจากไป ไปพบกับกลุ่มนักเลงอยู่ไม่ไกล เข้าไปเล่าความที่กล่าวโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า นักเลงก็เห็นด้วยกับคฤหบดี เมื่อคฤหบดีเห็นว่าความเห็นของตนนั้นตรงกับพวกนักเลง จึงจากไป

– – – – – – – – – – – – – – –

จะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กล่าวถึงสุขเลยแม้แต่นิดเดียว ท่านตรัสถึงแต่เรื่องทุกข์ เพราะจริงๆแล้วมันมีแต่เรื่องทุกข์ ทีนี้คฤหบดีก็ยังมีกิเลส ยังมีความหลงติดหลงยึด ยังมีความไม่รู้อยู่มาก เห็นว่าในทุกข์เหล่านั้นยังมีสุขอยู่ เห็นสุขลวงเป็นสุขจริง จึงได้เผยความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ)ออกมา ซ้ำยังไปหาคนที่เห็นตรงกันกับตนเพื่อยืนยันความถูกต้องในความเห็นของตนอีก

คนที่เห็นผิด ไปคุยกับคนที่เห็นผิด มันก็เห็นผิดเหมือนกันหมด ถึงแม้คนอีกร้อยล้านคนทั่วโลกจะเห็นตามคฤหบดี แต่ก็ใช่ว่าความเห็นเหล่านั้นจะเป็นความเห็นที่ถูก ถึงจะไปเห็นตรงกับคนที่มีชื่อเสียง คนที่ได้รับการเคารพนับถือ แต่ถ้ายังมีความเห็นที่ขัดกับพระพุทธเจ้า ก็ยังเรียกว่าเห็นผิดอยู่ดี

ทีนี้เราลองกลับมาสังเกตตัวเองดูว่าเราเห็นตามพระพุทธเจ้าหรือคฤหบดี เห็นตามบัณฑิตหรือคนพาล ความเห็นเราไปในทิศทางไหน ไปทางเห็นทุกข์หรือไปทางเห็นสุขในสิ่งที่รัก เรายังจะหาเหตุผล หาหนทาง เจาะช่อง เว้นที่เหลือไว้ให้ความเห็นผิดเหล่านั้นทำไม ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสความจริงสู่การพ้นทุกข์ ดังนั้นผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าคือผู้ที่หันหัวไปในเส้นทางทำทุกข์ทับถมตน

ในเรื่องนี้กล่าวถึงสิ่งที่รัก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดและกินความกว้างมาก เพราะหมายถึงทุกสิ่งที่เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพสุขจากสิ่งนั้นก็ยังต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น แล้วเรื่องของการมีคู่ การเป็นคู่รัก การแต่งงาน เป็นเรื่องหยาบๆ ที่เห็นได้ชัด เจาะจงชัดเจนเลยว่ามีการเข้าไปรัก เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพ เข้าไปยึดมั่นถือมั่น คงไม่ต้องบอกกันเลยว่าเป็นการแสวงหาทุกข์มาสู่ชีวิตตนเองขนาดไหน

เพราะขนาดสิ่งที่รักในทุกวันนี้ก็เยอะมากยากเกินจะสลัดออกแล้ว ยังโหยหา ยังแสวงหาสิ่งอื่นเพื่อที่จะรักอีก มันมีทิศทางที่พอกหนาขึ้นเรื่อยๆ กิเลส ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่นที่พอกชั้นหนาขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไข เมื่อถูกความหลงผิดครอบงำจึงไม่ง่ายที่จะรู้ว่าสิ่งใดคือความเห็นที่ถูก สิ่งใดคือความเห็นที่ผิด

ในยุคสมัยนี้ เรายังโชคดีที่ยังมีธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ ยังมีแนวทางปฏิบัติ ยังมีความเห็นที่ถูกตรงที่ท่านได้กล่าวไว้ให้เป็นหลักฐานในการเทียบว่า เรามีความเห็นถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์หรือไม่ ถ้าใครยังมีความเห็นไปในแนวทางของคฤหบดีว่า “ รักมันไม่ได้มีแต่ทุกข์ มันมีสุขด้วย” ก็ควรจะเพียรศึกษาให้มาก เพราะทิศทางของท่านนั้นยังไม่ตรงไปสู่การพ้นทุกข์ หากใช้ชีวิตต่อไปบนทางที่ไม่ตรงเช่นนั้น ก็จะเสียเวลาไปเปล่าๆ เนิ่นช้าไปเปล่าๆ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมใด วินัยใด เป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้น วินัยนั้น ไม่ใช่ของเราคถาคต” ดั้งนั้นการจะอ้างว่า มีคู่เพื่อเรียนรู้ มีคู่เพื่อพัฒนาจิตใจ มีคู่เพื่อเจริญไปด้วยกัน ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุผลของกิเลสที่แนบเนียนที่สุด จึงต้องถูกแย้งด้วยคำตรัสนี้อย่างชัดเจน

นั่นหมายถึง การจะไปมีคู่เพื่อประโยชน์ใดๆนั้น ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ มีแต่พาให้หลงทาง พาให้เสียเวลา สร้างทุกข์และบาป เวร ภัย ให้กับตนเองและผู้อื่น ให้หลงวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี้

ดังนั้นการแสวงหาสุขในรักและการมีคู่จึงไม่ใช่สิ่งที่สมควรกระทำ ผู้แสวงหาสุขในรักและการมีคู่ คือผู้ที่มีความเห็นตามคฤหบดี และเมื่อไม่ได้เห็นตามบัณฑิต การพ้นทุกข์ย่อมไม่มี

– – – – – – – – – – – – – – –

4.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

รักด้วยใจ

June 22, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,598 views 0


รักด้วยใจ

ต่อให้ หน้าตาไม่ดี ฐานะไม่ร่ำรวย

ทำงานต่ำต้อย ไร้การยอมรับ

เขาก็รักอยู่ดี…

…ถ้าความรักเป็นเรื่องของจิตใจจริงล่ะก็ แล้วทำไมยังหลงเสพสุขกับเปลือกนอกอยู่?

ทำไมจึงยังหลงสมมุติโลกว่าต้องเป็นแฟนกันหรือแต่งงานกัน? เป็นเพื่อนกันไปไม่ได้อย่างนั้นหรือ?

…………………..

การที่เราจะรู้ได้ว่าเรารักด้วยใจจริงหรือไม่นั้น ต้องทดสอบด้วยการปลดเปลื้องสิ่งที่ไม่จำเป็นออก ในกรณีที่เราไปรักคนอื่น เราอาจจะต้องค้นใจตัวเองว่า คนดีมีตั้งมากมาย เราไปรัก ไปหลง ไปเสพอะไรกับเป้าหมายคนนี้อยู่ ถ้าเขาหน้าตาไม่ดีล่ะ บ้านจนล่ะ ทำงานที่ดูแล้วไม่น่าเจริญล่ะ เป็นคนที่ผู้อื่นไม่ยอมรับล่ะ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังเป็นคนจิตใจดีนะ เรายังจะรักเขาอยู่หรือไม่ หรือเรายังต้องการปัจจัยพื้นฐานเพื่อเสพสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่

ถ้ามีคนมารักเราก็ลองดูซิว่าเขามาเสพอะไรจากเรากันแน่ คุณสมบัติพื้นฐานทางโลกีย์นั้นอาจจะลดได้ยาก แต่เราก็สามารถใช้ศีลเข้ามาคัดกรองได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราหน้าตาดีเราก็เลิกแต่งตัวแต่งหน้าเสีย ถ้าเราฐานะดีเราก็สร้างนิสัยประหยัดอดออม ถ้าเราหน้าที่การงานดีก็หัดออกไปทำงานฟรี ทำงานจิตอาสาบ่อยๆ หรือถ้าเราเป็นคนที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับมาก ก็ให้เราลดความหลงในตัวตน เช่น ยอมเป็นผู้น้อยสำหรับใครสักคน ยกตัวอย่างเช่น ยอมยกพระพุทธเจ้าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และน้อมรับคำสอนและวิธีปฏิบัติของท่านมาใช้

วิธีที่ยกตัวอย่างมานี้ก็ทำเพื่อที่จะคลายข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วเขารักเราที่ใจหรือรักเปลือกที่ห่อหุ้มเราอยู่ เปลือกแห่งโลกีย์นั้นมีดูเหมือนสิ่งที่น่าได้น่ามี คนเขลาย่อมเข้าใจว่ามีรสหวาน ซึ่งคงไม่มีใครอยากรับเอาคนที่หวังจะเสพสุขแค่เปลือกเข้ามาในชีวิตแน่นอน

แต่เราก็มักจะหลงทำในทิศทางตรงกันข้าม เมื่อมีใครที่เราชอบเข้ามาในชีวิต เราก็จะเริ่มแต่งตัว ทำตัวเองให้ดูดี พรั่งพร้อมไปด้วยกาม ลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งหลายเพื่อให้เขาเข้ามาสนใจ เราใช้ความเป็นโลกีย์ล่อเหยื่อที่เราอยากเสพเข้ามาในชีวิต แล้วเราจะได้พบกับคนที่รักด้วยใจได้อย่างไร?

เราสามารถใช้ข้ออ้างว่าการคบกันก็ควรมีความเหมาะสมกันบ้าง นั่นหมายถึงความต้องการพื้นฐานทางโลกีย์ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าเรามีมาตรฐานในการยอมรับการสนองกิเลสขั้นต่ำได้มากน้อยเท่าไหร่ และนั่นก็หมายความว่าเรายังมีกิเลสเท่าไหร่ ถ้ามีมากก็ต้องการมาก ถ้ามีน้อยก็ต้องการน้อย

การรักที่ใจอย่างแท้จริงนั้น จะมองข้ามเปลือกแห่งโลกีย์ที่ห่อหุ้มอยู่ จะสามารถข้ามผ่านสมมุติโลกที่หลอกให้เราหลงเสพหลงติดหลงยึด ไม่ว่าจะเป็นการคบหากันเป็นแฟนหรือคู่แต่งงาน ซึ่งจะก้าวข้ามสิ่งที่ไร้สาระเหล่านั้นไปเสีย เหลือแต่คุณค่าแท้จริงของจิตวิญญาณดวงหนึ่งที่ควรได้รับความรัก

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ไม่มีสิ่งใดในโลกที่ไม่สมควรได้รับความรักเลย เราจึงควรเพิกถอนความหลงติดหลงยึดในตัวบุคคล กระจายความรักออกไปโดยไม่ต้องมีกรอบใดๆมาขวางกั้นพลังแห่งเมตตาอันไม่มีประมาณนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

22.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ยามรัก ยามชัง ผูกเงื่อน แก้เงื่อน

June 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,590 views 0

ยามรัก ยามชัง ผูกเงื่อน แก้เงื่อน

ยามรัก เหมือนผูกเงื่อนในบึงน้ำ

เย็น สบาย ค่อยๆผูก ค่อยๆพัน

ยามชัง เหมือนแก้เงื่อนบนกองไฟ

ร้อน ทรมาน ยิ่งรีบแก้ ก็ยิ่งพันแน่น

……………………….

คนเราโดยทั่วไปนั้น เมื่อยามหลงรักก็เหมือนกับการผูกเงื่อน ค่อยๆผูกความสัมพันธ์ ค่อยๆยึดมั่นถือมั่นเอาเขาคนนั้นมาเป็นตัวตนของเรา เป็นคู่ของตน กลายเป็นคนรู้ใจ เป็นแฟน เป็นสามีภรรยา เป็นเงื่อนที่มัดแน่นและซับซ้อนขึ้น

การผูกเงื่อนเมื่อยามหลงรักนั้นก็เหมือนกับการผูกอยู่ในบึงน้ำที่สงบเย็น อยู่ในห้วงแห่งการเสพสุขต่างๆที่พาให้หลงไป ยิ่งสุขก็ยิ่งเสพ ยิ่งเสพก็ยิ่งผูก ยิ่งผูกก็ยิ่งจะพัน และพันไปพันมาซับซ้อนมากเท่าที่จะมากได้ เช่น เราจะไม่แยกจากกัน เราจะดูแลกันไปจนตาย เราจะรักกันชั่วนิรันดร์

แต่พอถึงวันหนึ่งที่ไม่ได้เสพสมใจหมาย สิ่งนั้นไม่ได้ดีดังใจฝัน เวลาจะออกมันไม่ง่าย เราไม่สามารถแก้เงื่อนที่ผูกไว้ได้ง่ายเหมือนตอนที่ผูก เพราะตอนผูกก็ผูกด้วยความหลง เลยไม่รู้ว่าจะแก้ยังไง แถมยังต้องแก้บนความเกลียดชัง ความไม่พอใจที่เหมือนกับไฟที่คอยเผา ให้ต้องเร่งรีบทำทุกอย่างเพื่อที่จะหลุดพ้นจากความไม่พอใจนั้นๆ

การแก้ความยึดมั่นที่ผูกมาไม่ได้ง่ายเพียงแค่การตัด เพราะถ้าเราสามารถตัดความยึดมั่นถือมั่นได้ง่ายเพียงแค่คิดก็คงจะไม่มีใครทุกข์ แต่เงื่อนแห่งนามธรรมที่เต็มไปด้วยกิเลสนี้ต้องตัดด้วยปัญญาเท่านั้น แต่จะเอาปัญญามาจากไหน? เคยสร้างมันขึ้นมาหรือไม่? เมื่อไม่มีแล้วจะเอามาใช้ได้อย่างไร? สุดท้ายมันก็ต้องทนแก้เงื่อนไปบนกองไฟอยู่นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

15.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)