Tag: ยึดมั่นถือมั่น

Always ฉันจะยึดมั่นถือมั่นในรักนั้นตลอดไป

December 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,267 views 0

Always ฉันจะยึดมั่นถือมั่นในรักนั้นตลอดไป

Always ฉันจะยึดมั่นถือมั่นในรักนั้นตลอดไป

ความยึดมั่นถือมั่นในความรักที่ตนเองมีอย่างไม่เสื่อมคลาย แม้ว่าคนรักจะจากไปแล้ว หรือแม้เขาจะไม่รักเราแล้ว ก็ยังภักดีอย่างไม่เปลี่ยนแปลง คือความโรแมนติกของความรักที่จะสร้างความฉิบหายให้แก่จิตวิญญาณไปชั่วนิจนิรันดร์

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นจากการได้ฟังเพลง always ของ Bon Jovi เนื้อหาของเพลงนั้นกล่าวถึงผู้ที่ยังยึดมั่นถือมั่นในความรัก ยังหวังและรอคอยที่จะได้รักนั้นกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าในปัจจุบันสภาพคู่รักของเขานั้นจะพังทลายไปหมดแล้วก็ตาม

หากเราดูหนังรักสักเรื่อง การที่พระเอกเฝ้ารอคอยนางเอกแม้ว่าจะไม่มีหวังว่าเธอจะกลับมา ก็คงจะเป็นอะไรที่ทำให้หลายคนซาบซึ้งใจในความมั่นคงต่อความรัก ซึ่งเราจะรู้สึกดีกับมันก็ต่อเมื่อมันเป็นเพียงแค่ละครเท่านั้น

เมื่อความปักมั่นในความรักเกิดขึ้นในชีวิตจริงแล้ว หลายคนที่ได้พบเห็นผู้ผิดหวังในความรัก ยังเฝ้าบ่นพร่ำเพ้อ เฝ้ารอคอยว่ารักนั้นจะกลับมา จมอยู่กับอดีตที่เคยหวาน อยู่กับภาพฝันลวงๆ มีอาการอมทุกข์ เศร้าหมอง หดหู่ ฯลฯ เพียงแค่ได้ยินได้ฟังเรื่องราวหรือพบเห็นก็รู้สึกทุกข์แล้ว

นับประสาอะไรกับตัวผู้ที่ยึดมั่นในความรักเหล่านั้น แน่นอนว่าเขาเป็นทุกข์ แต่ก็เป็นความทุกข์ที่ซับซ้อนเพราะมันปนกับสุขลวงที่เขาสร้างขึ้น เหมือนกับคนที่เสพติดความเจ็บปวด (masochist) แอบสุขเพียงแค่ได้ฝัน แต่ต้องทุกข์เพราะไม่สามารถคว้าฝันมาได้แต่ถึงกระนั้นก็ยังยินดีที่จะเสพสุขลวงที่ต้องโดนฟาดด้วยทุกข์จริงเช่นนี้ตลอดไป

ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตเราไม่จำเป็นจมอยู่กับอดีตเลย ไม่จำเป็นต้องพยายามกอดเก็บสิ่งที่จากไปแล้ว แต่การที่เขายังจมอยู่กับอดีตนั้น เป็นเพราะติดในรสสุขของสิ่งนั้น จึงไม่อยากพรากจากไป แต่ถึงแม้จะไม่อยากถึงเวลาก็จะต้องจาก เมื่อไม่ได้เสพสมใจจึงออกอาการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ตนยึดไว้ว่าจะเป็นสิ่งที่จะเรียกร้องให้คนรักที่จากไปกลับมา อาจจะเป็นการพยายามยืนยันว่าจะรักตลอดไป, การตามง้อตามเอาใจ, ทำทีเป็นประชดรัก, การทำร้ายตัวเอง, จะให้เขาสั่งให้ทำอะไรก็ยอม ฯลฯ ทั้งหมดก็เป็นเพียงการเรียกร้องให้เขากลับมาสนใจด้วยวิธีต่างๆกัน

ในกรณีของบทความตอนนี้คือการรอ รอและหาโอกาสที่จะกลับมาเสพสิ่งที่ตนเคยเข้าใจว่าเป็นสุขอีกครั้ง ถ้ายังไม่หมดความหวังว่าจะได้เสพ ยังไม่คลายความยึดว่าคนรักที่เป็นอดีตนั้นคือที่สุดของความรัก หรือยังไม่เกิดปัญญาเห็นว่าการรอเสพเช่นนี้เป็นทุกข์ ก็จะยังตั้งหน้าตั้งตารอเรื่อยไป อาจเพราะเข้าใจไปเองว่านี่คือรักแท้ นี่คือความรักที่ยิ่งใหญ่ ทั้งที่จริงมันเป็นเพียงแค่ความยึดมั่นถือมั่น เพราะในความจริงสภาพของคู่รักที่เคยรักกันนั้นได้จบไปแล้ว ปัจจุบันมันไม่มีเหลือแล้ว มีแต่คนที่หลงคิดว่าอนาคตจะเป็นอย่างในอดีต

……..

แม้สิ่งที่แสดงออกมาจะดูมั่นคงในความรักอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย ความยึดมั่นถือมั่นไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะเก็บไว้ เราจึงไม่ควรศรัทธาในสิ่งเหล่านั้น เพราะความจริงแล้วการที่มีความยึดมั่นถือมั่นในคนรักเช่นนี้ ก็จะเกิดการจองเวรจองกรรมกันชั่วนิรันดร์

เราอาจจะศรัทธาในการรักและเฝ้ารอคอยตลอดไป แต่นั่นคือการจองเวรจองกรรมกันไปอีกหลายภพหลายชาติ เพราะจิตได้หลงสุขหลงเสพกับคนลักษณะนี้ ในอนาคตเราก็จะหาคนคล้ายๆแบบนี้มาเสพ แม้ในชาติหน้าหรือชาติอื่นๆต่อไป เราก็จะหาสิ่งที่เราหลงมาเสพไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น

แน่นอนว่าการมี “ความอยาก” ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกสนองเสนอไป เมื่อเราอยากแต่ไม่ได้เสพสมใจอยากก็เป็นทุกข์ แม้ได้เสพสมใจอยากแต่ไม่นานก็ต้องถูกพรากไปในขณะที่ตนเองยังหลงสุขกับสิ่งนั้น หรือแม้จะเสพไปก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะสุขอยู่เช่นนั้นตลอดไป เมื่อเสพบ่อยเข้ามันก็จะเบื่อ ทำให้ต้องหาสิ่งที่ยิ่งกว่ามาเสพมาสนองกิเลสตัวเองมากขึ้น ขยับกำลังของความอยากมากขึ้นไปอีก เมื่ออยากมากขึ้นก็ทุกข์มากขึ้น ก็ต้องแสวงหาสิ่งที่จะมาบำเรอความอยากเพื่อกำจัดทุกข์ให้มากขึ้น ทุกข์ซ้ำทุกข์ซ้อนเข้าไปอีก จึงเกิดเป็นเหตุการณ์ดังเช่นการนอกใจคู่ครองของตน ในตอนที่เขาคบกัน เขาก็รักกันจริงนะ แต่อยู่ไปมันสุขไม่พอเสพ ซึ่งก็อาจจะทนไปได้สักพักหนึ่ง แต่พอมันหิวโหยเข้ามากๆมันก็เลยต้องไปหากินข้างนอกเพิ่มเติม ซึ่งเกิดจากความอยากที่มันโตขึ้นนั่นเอง ซึ่งเมื่อเกิดการนอกใจกันแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่ตัดใจกันได้ง่ายๆนะ มันก็ทนกันไปทั้งรักทั้งแค้น จองเวรจองกรรมกันไปอย่างนั้นแหละ

เคยเห็นไหม คนที่เขาจีบกันนานๆ เฝ้ารอคอยกันได้นานๆ นั่นแหละสภาพที่เขาจองเวรจองกรรมกันไว้ ไม่ยอมไปไหนสักที มีคนตั้งมากมายก็ไม่ยอมไปรัก แม้อีกคนจะไม่สนใจก็วนเวียนอยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าวันใดวันหนึ่งอีกฝ่ายใจอ่อนแพ้กิเลสก็จบเกมเมื่อนั้น ก็ร่วมสร้างวิบากกรรมใหม่กันต่อไป

ถ้าเสพกันแล้วใจพอไม่มักมากก็ไม่มีปัญหามากนัก แต่เอาเข้าจริงถ้าคนเขารอเสพมาหลายภพหลายชาติ บางทีมันคาดหวังมากนะ มันจะกินอย่างตะกละตะกลาม คืออยากได้มากๆ หวังว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องดีสมกับที่ลงทุนรอคอยมานาน แต่พอได้คบจริงแล้วมัน “ดีไม่พอกับใจ” ก็มีหลายคู่ จีบกันนานๆ สุดท้ายก็เลิกกันง่ายๆก็หลายคู่ เลิกกันแล้วกลับมาคบกันอยู่กันได้ไม่นานก็หลายคู่ ส่วนที่คบกันอยู่ได้ก็สะสมความยึดมั่นถือมั่นกันต่อไป รอเวลาที่จองเวรจองกรรมกันต่อในชาตินี้และชาติต่อไปอย่างไม่จบไม่สิ้น

การยึดมั่นถือมั่นแม้ในช่วงเวลาที่สั้น แต่ก็เป็นกรรมที่ทำลงไปด้วยเจตนา อันเป็นเหตุให้เกิดผลของกรรม เราจองเวรจองกรรมเขา คือรอที่จะได้มารักกันด้วยความจริงจังมากเท่าไหร่และนานแค่ไหน เราจะต้องพบกับทุกข์มากและนานเท่านั้น ทั้งในขณะที่เฝ้ารอคอยความรักก็ตาม หรือในตอนที่ต้องได้รับผลของอกุศลกรรมนั้นๆก็ตามนั่นหมายถึงเราอาจจะต้องเกิดสภาพเช่นนี้อีกทั้งในชาตินี้และชาติอื่นๆต่อไป นับประสาอะไรกับคนที่เป็นคู่ชีวิตกันเพราะความอยากมี นั่นแหละคือสุดยอดของความยึดมั่นถือมั่นเลยทีเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

29.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น

December 17, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,815 views 0

ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น

ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น

            คำว่าปล่อยวางนั้นมักจะเป็นคำที่นิยมใช้เมื่อชีวิตเจอกับอุปสรรคที่เป็นดั่งกำแพง ไม่สามารถทำอะไรได้ ทำได้แค่ปล่อยวางเท่านั้น การปล่อยวางตามความเข้าใจเช่นนี้เป็นสมมุติที่ใช้กันโดยทั่วไปในสังคม แต่สำหรับการปฏิบัติธรรมนั้นยังมีมิติหนึ่งที่ล้ำลึกกว่า

การปล่อยวางในทางธรรมนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้ชีวิตไปเจอกับปัญหาและอุปสรรค แต่เป็นการปล่อยวางกิเลสตัณหาตั้งแต่ปัญหาเหล่านั้นยังไม่มาถึงโดยใช้ศีลเป็นเครื่องกั้นให้เห็นอุปสรรค แล้วปฏิบัติไตรสิกขาเพื่อที่จะปล่อยวางปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อถือศีล

การที่เราจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริงนั้น เราต้องรู้ก่อนว่าเรายึดมั่นถือมั่นในอะไร ถ้าไม่รู้ว่าตนเองถืออะไรไว้ ก็จะไม่สามารถปล่อยวางสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะกิเลสนั้นเป็นเหมือนยางเหนียวติดแน่นไปกับจิตใจเรา มองดูเผินๆก็จะเป็นเหมือนตัวเราของเรา เหมือนเปลือกที่ห่อหุ้มเรา แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เรา

ถ้าเราไม่รู้ว่ายึดมั่นถือมั่นอะไรไว้ การปล่อยวางนั้นก็คงจะเป็นได้แค่ วาทกรรมที่ดูดีเท่านั้น เพราะกิเลสตัวเองยังไม่มีปัญญาเห็นแล้วจะเอาปัญญาที่ไหนไปปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น

ดังนั้นถ้าจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริง อันดับแรกต้องรู้ไปถึงเหตุก่อนว่าถืออะไรไว้ ไอ้ที่ไปหลงสุขหลงเสพมันไปหลงตรงไหน ติดอะไร เพราะอะไร สุขยังไง เมื่อเห็นเหตุแล้วก็ค่อยทำความจริงให้แจ่มแจ้งท่ามกลางความลวงของกิเลส ให้มันพ้นสงสัยกันไปเลยว่าที่เราไปหลงสุขอยู่นั้นมันลวง ความจริงคือมันไม่มีสุขเลย

เมื่อเห็นจริงได้ดังนั้น สุดท้ายเราก็จะปล่อยจะคลายได้ด้วยปัญญาของตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าจะเอาความฉลาดของกิเลสที่ไหนไปยึดสุขลวงเหล่านั้นไว้อีก กลายเป็นสภาพปล่อยวางเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นในกิเลสนั้น เป็นการปล่อยวางอย่างพุทธ ไม่ใช่การปล่อยวางที่ปากแต่ยังหนักใจแบบที่ประพฤติและปฏิบัติกันโดยทั่วไป

– – – – – – – – – – – – – – –

17.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความรัก บนทางโต่งสองด้าน

November 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,248 views 0

ความรัก บนทางโต่งสองด้าน

ความรัก บนทางโต่งสองด้าน

ความทุกข์ทั้งปวงเกิดจากการที่เราหลงไปในทางโต่งสองด้าน ความรักก็เช่นกัน หากยังหลงมัวเมาอยู่กับทางโต่งทั้งสองด้านนั้น ก็ไม่มีวันที่จะพ้นจากทุกข์ไปได้เลย

ทางโต่งสองด้าน ข้างหนึ่งคือ “กาม” ข้างหนึ่งคือ “อัตตา” ความเป็นกลางบนความรักไม่ใช่การมีคู่โดยไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่เป็นความรักที่ไม่เข้าไปหลงเสพหลงสุขมัวเมาในสุขลวงทั้งหลายและไม่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี สรุปคือต้องออกจากความ “ยึดชั่ว” และ “ยึดดี” ให้ได้จึงจะเรียกว่า “กลาง

โดยปกติแล้วคนเรามักจะยึดชั่ว ลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับกาม เข้าใจว่าการมีคู่ ได้เสพความเป็นคู่นั้นเป็นสุข จึงยินดีมัวเมาอยู่ในกามเหล่านั้น การจะออกจากกามนั้นต้องพยายามทวนกระแสแรงดึงดูดของกาม ซึ่งจะต้องมีแรงดึงจากอัตตา คือต้องใช้ความยึดดีเพื่อช่วยให้หลุดออกจากกาม

แต่เมื่อยึดดีเข้ามากๆก็มักจะเกินพอดี ด้วยแรงแห่งความยึดดี จึงไหลตกไปสู่ทางโต่งในด้านอัตตา แล้วหลงมัวเมาอยู่กับความยึดดี ยึดมั่นถือมั่นความโสด ดูถูกดูหมิ่น รังเกียจการมีคู่ ซึ่งหากยังมีกิเลสในด้านกามที่สะสมไว้มาก การยึดดีนั้นจะทำให้เกิดความทรมานอย่างมาก คืออยากมีคู่แต่ก็กดข่มไว้ด้วยความยึดดี สุดท้ายเมื่อกามโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะตบะแตก โดนกามดูดกลับไปทางโต่งด้านกาม แล้วจะยิ่งร่วงลงไปในกามที่ลึกกว่าเดิม เหมือนหนังยางที่ยืดจนตึง เมื่อปล่อยก็จะดีดตัวพุ่งออกไปอย่างรุนแรง

กามและอัตตาจึงเป็นทางโต่งที่คนหลงวนไปวนมา อยากมีรักก็มุ่งเสพกาม พออกหักผิดหวังก็หันมายึดดี มีอัตตายึดความโสด พอโสดไม่ได้เสพสักพักก็โหยหวนวนกลับไปหากาม ซึ่งเป็นธรรมชาติของโลกีย์ที่จะมีความวนเวียนเช่นนี้

ผู้ที่ไม่ศึกษาและปฏิบัติอย่างถูกตรงจนเกิดผล จึงไม่สามารถพ้นไปจากทางโต่งทั้งสองด้านได้เลย เพราะทั้งกามและอัตตานั้นเป็นพลังของกิเลสที่มีพลานุภาพมากเท่าที่เคยสะสมความหลงผิดไว้ ซึ่งมันก็จะคอยดึงให้เอนไปในทางโต่งข้างใดข้างหนึ่งอยู่เสมอ ไม่สามารถมีความเป็นกลางที่หลุดพ้นจากทางโต่งทั้งสองด้านนั้นได้

ความเป็นกลางคือสภาพของการยึดอาศัยสิ่งที่ดีที่สุด เป็นกุศลมากที่สุด เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นคือเลือกที่จะอาศัยสภาพของ “ความโสด” ในการดำรงชีวิต ซึ่งจะเข้ากับหลัก “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” และสอดคล้องกับหลาย ๆ คำตรัสของพระพุทธเจ้า เช่น คู่ครองและบุตรคือบ่วง,บัณฑิตย่อมประพฤติตนเป็นโสด ฯลฯ รวมทั้งเป็นความเจริญไปในทางปฏิบัติของศาสนาพุทธด้วย

– – – – – – – – – – – – – – –

4.11.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

นายกิเลสและทาสผู้หลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์

October 12, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,621 views 0

นายกิเลสและทาสผู้หลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์

คนลวงตน สับสน วิกลจริต

หลงความคิด ทุกชีวิต เป็นทาสฉัน

ทั้งกักขัง ทั้งเข่นฆ่า อย่างเมามัน

แล้วเหมาเอา นายทาสนั้น คือฉันเอย

 

แท้ที่จริง คนเป็นทาส วิปริต

ไม่ฉุกคิด ใครเป็นทาส นิ่งทำเฉย

ยังหลงเสพ หลงสุข กันตามเคย

แล้วอ้างเอ่ย มันเป็นทาส ประหลาดจริง

– – – – – – – – – – – – – – –

บทขยาย

ความหลงที่หลอกลวงคนได้ร้ายแรงที่สุดคือ หลงว่าตนนั้นเป็นผู้ประเสริฐ หลงว่าตนนั้นเป็นใหญ่กว่าสัตว์อื่นใดทั้งปวง หลงว่าตนนั้นเป็นเหมือนกับนายทาส ที่สามารถบงการทุกชีวิตให้เป็นไปดั่งใจได้ทั้งหมด

อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้เกิดขึ้นมาสนองกามตัณหาของคนผู้หลงผิดโดยตรง หลงผิดในตนยังไม่พอ ยังหลงผิดบิดเบือนธรรมชาติเสียอีก สัตว์ก็อยู่ของมันดีๆ ไปจับมันมา เอามันมาขัง เอามันมาฆ่า ไปยุ่งเกี่ยววุ่นวายกับชีวิตมัน ทั้งๆที่มันก็ไม่ได้เรียกร้อง ไม่ได้ยินยอม ไม่ได้ต้องการ อุปโลกน์กันเอาเองว่าฉันนี่แหละนายใหญ่ของโลกเป็นผู้บงการชีวิตของสัตว์ใหญ่น้อย

และหลงกันว่าสัตว์เหล่านั้นต้องเกิดขึ้นมาบำเรอตน “พวกเธอต้องตายเพื่อบำรุงบำเรอฉัน บำเรอร่างกายฉัน บำเรอกามฉัน บำเรออัตตาฉัน เพราะฉันประเสริฐที่สุด สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เธอถูกฆ่าเป็นกรรมของเธอ แต่ฉันกินเธอไม่เกี่ยวกัน เพราะฉันไม่ได้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกักขังและเข่นฆ่านั้น ฉันเชื่อว่าฉันไม่มีกรรมใดๆเกี่ยวข้องเลย

ก็เป็นความหลงผิดของคนที่ไม่ได้ศึกษา ไปตัดตอนเอาแต่เฉพาะที่ตัวเองต้องการ ตอนเสพก็สุขหนักหนา แต่พอบอกว่ามีกรรมชั่วก็จะไม่รับ ทำเป็นไม่ยุ่งไม่เกี่ยว ตีหน้าซื่อเสพกามอย่างผู้วิเศษ ก็หลงกันไป มอมเมากันไป เบียดเบียนกันไป กรรมมีผลก็เห็นว่าไม่มีผล นี้เป็นความเห็นผิดที่ฝังอยู่ในอัตตาของคน

ถ้าหากเราบอกว่าไม่เกี่ยวข้องจริงๆ ก็ต้องไม่ไปเกี่ยวเลยทั้งกาย วาจา ใจ คือไม่ต้องไปเอาเนื้อสัตว์เหล่านั้นเข้ามาในชีวิตเลย มันถึงจะไม่เกี่ยวข้องจริงๆ

บ้างก็อ้างว่าฉันไม่ได้ติด ฉันไม่ได้หลง ฉันกินเพื่อเลี้ยงชีวิต แต่ก็ไม่คิดจะหัดพรากหัดละเสียบ้าง ยังจมอยู่กับกาม ด้วยเหตุแห่งการมีลาภ ยศ สรรเสริญ ก็เลยมีสิ่งเหล่านั้นมาบำเรอตนทุกวันไม่ขาด มีเงินก็ซื้อ มีคนเอามาให้ก็รับ ไม่เคยคิดจะพราก หาสารพัดข้ออ้างในการไม่พรากเช่น เกรงใจเขา, ไม่อยากเรื่องมาก, มันก็แค่อาหาร เอ่ยอ้างสารพัดข้อแก้ตัวที่กิเลสสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างน่าฟัง

พอไม่หัดพราก ก็แยกไม่ออกแล้วอันไหนกาม อันไหนอัตตา อันไหนอุเบกขา สรุปว่าสุดท้ายกามก็ติด อัตตาก็จัด อุเบกขาก็คิดเอาเองว่าตนมี เช่นว่าปล่อยวางทุกอย่างแล้วก็กินเนื้อเหล่านั้นไปทั้งๆที่หลีกเลี่ยงได้ ไม่ก็หลงว่าอย่าไปมีตัวตน ถ้าเลือกกินจะมีตัวตน เป็นข้ออ้างของกิเลสผสมข้อธรรมะ ทำให้น่าเชื่อถือขึ้นในอีกระดับหนึ่ง

แล้วก็หลงไปว่าฉันนี่แหละไม่ยึดมั่นถือมั่น ฉันนี่แหละหลุดพ้น แต่กับแค่เนื้อสัตว์ยังไม่ยอมพราก กอดไว้ หวงไว้ รักษาไว้ ฉันจะเสพ ฉันจะต้องมีมันในชีวิต ฉันต้องเลี้ยงชีวิตด้วยสิ่งนั้น ฉันเป็นนายมัน มันเป็นทาสของฉัน ก็ผูกพันกันไว้เช่นนั้น

แท้จริงแล้วการที่คนเราต้องกินเขาเพื่อเลี้ยงชีพนี่แหละคือความเป็นทาส ไม่มีเขาเราก็เป็นทุกข์ ไม่มีเขาเราก็ขาดใจตาย นี่คือความเป็นทาส คอยรับความสุขจากเนื้อสัตว์ที่ถูกเขาฆ่ามา เสพสุขจากกองเลือดและกองกระดูก ให้สัตว์เหล่านั้นเย้ยหยันได้ว่า “โถ…มนุษย์หลงตนว่าเป็นผู้เจริญ แต่กลับต้องคอยเสพสุข ประทังชีวิตจากซากเนื้อที่ไร้วิญญาณของพวกเรา ช่างน่าสงสารยิ่งนัก

ความจริงนั้นปรากฏให้เห็นกันชัดเจนอยู่แล้วว่าใครกันที่เป็นใหญ่ ใครกันที่เป็นทาส ผู้ที่ถูกกิเลสหลอกให้หลงเสพหลงสุขจนโงหัวไม่ขึ้น ถึงขั้นยึดติดว่าเนื้อสัตว์เป็นตัวเป็นตน เป็นสิ่งจำเป็น เป็นสิ่งที่ควรเสพ เป็นคุณค่า เป็นสิ่งที่น่าได้น่ามีนั้นไม่มีทางพ้นจากความเป็นทาสไปได้เลย

– – – – – – – – – – – – – – –

12.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)