Tag: พระพุทธเจ้า
การทำทาน เจาะจงหรือไม่เจาะจง
คำถามที่สองจากบทความการเลิกรับใช้คนชั่ว “การทำบุญแบบไม่เจาะจงหน่อยค่ะ”
ตอบ : การทำบุญที่เขาหมายถึงคงหมายถึง “ทาน” คือการสละออก
เขาก็สงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะคงจะไม่ชัดเจนในผล ว่าการทานแบบกระจุกหรือกระจายนั้นให้ผลแตกต่างกันอย่างไร
จะยกตัวอย่างที่ใหญ่ที่สุดในศาสนาพุทธ คือการตัดสินใจประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า
หลังจากท่านตรัสรู้แล้ว ได้มีจิตหนึ่งเกิดขึ้นว่า สอนไปก็เหนื่อยเปล่า ท่านก็จะปรินิพพานเลย ว่าแล้วก็มีท้าวสหัมบดีพรหมมาขอให้ท่านแสดงธรรมโปรดสัตว์ โดยให้ข้อมูลส่วนหนึ่งว่า
“ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ ย่อมจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักยังมีอยู่”
จะเห็นได้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่มีธุลีในดวงตาน้อย ไม่ใช่สัตว์ทั้งหมดในโลก นั่นหมายความว่าพุทธมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนคือผู้ที่มีปัญญาพร้อมที่จะเรียนรู้ธรรม (มีกิเลสน้อย)
เช่นเดียวกับการให้ทาน ทานคือการสละเพื่อขัดความหลงติดหลงยึดอันนี้เป็นกิจตน ส่วนการกระจายผลของทานไปยังสิ่งที่สมควรนั้นเป็นกิจท่าน
การขัดกิเลส มันก็มีแต่เรากับกิเลสของเรานี่แหละ ไม่มีคนอื่น ไม่เจาะจงอย่างอื่น เจาะจงแต่กิเลสตัวเอง
ส่วนกิจท่านหรือประโยชน์ท่าน คือการประมาณการกระทำนั้น ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะชีวิตคนเรานั้นมีต้นทุนต่อหนึ่งการกระทำเสมอ
ในอนุตตริยสูตรกล่าวถึงการบำรุงที่เลวและการบำรุงที่ยอดเยี่ยม การบำรุงที่ยอดเยี่ยมคือบำรุงพระพุทธเจ้าและสาวก ส่วนการบำรุงที่เลว คือบำรุงแล้วไม่พาพ้นทุกข์ ก็ที่เหลือทั้งหมดในโลก
ก็ต้องเลือกเอาเองว่าเรามีน้ำอยู่ 1 ถัง เราจะเอาไปรดพืชผัก หรือจะเอาไปรดวัชพืช มันก็เป็นสิทธิ์ที่เราจะเลือกและพิสูจน์ผลนั้น
พระพุทธเจ้าท่านรู้แจ้งแล้ว ท่านก็เอาผลมาบอกว่า บำรุงพระพุทธเจ้าและสาวกจะให้อานิสงส์มาก อันนี้คือลักษณะเจาะจง หรือระบุกลุ่มทานที่ให้ผลมาก
แต่จะไปกระจายอีกทีในกลุ่ม เช่นกรณีที่พระพุทธเจ้าไม่รับผ้าที่พระนางปชาบดีโคตมี ผู้เป็นแม่เลี้ยง นำมามอบให้ แต่ท่านก็แนะนำว่าให้ไปให้แก่หมู่สงฆ์ อันนี้คือการกระจาย
เพราะเวลาศรัทธาใครแล้วจะจิตมันจะปักมั่นที่ผู้นำกลุ่มนั้น ๆ เลยต้องกระจายเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นอีกทีหนึ่ง
สรุปคือต้องเจาะจงให้ถูกกลุ่มแล้วกระจายแจกจ่ายไปในกลุ่มนั้น ๆ
ถ้าไม่เจาะจงให้ถูกกลุ่มตั้งแต่แรก รับรอง ถึงจะให้ทานแบบไม่เจาะจงก็ไม่พ้นทุกข์หรอก
รักที่พาเจริญ ต้องไม่ทำร้าย
รักที่พาเจริญ ต้องไม่ทำร้าย
ความเห็นที่ว่าการมีรักนั้นก็พากันให้เจริญได้ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปทั้งทางโลกทางธรรม จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ ไม่มีการทำร้ายกัน ไม่อย่างนั้นแล้ว วาทกรรมเหล่านั้นก็เป็นเพียงแค่คำลวงของมารที่จะล่อใจคนให้หลงเสพหลงสุข ลวงให้เห็นกงจักรเป็นดอกบัวเท่านั้นเอง
การทำร้ายนั้นมีหลากหลายมิติ ถ้าแบ่งชั้นต้นก็เป็นการทำร้ายร่างกายและจิตใจ ในมิติของการทำร้ายจิตใจก็จะมีรายละเอียดที่ลึกซึ้งแตกต่างกันไป
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำร้ายร่างกาย
การทำร้ายร่างกายนั้นเป็นการทำร้ายที่หยาบที่สุด เห็นได้ชัด ไม่ใช่ความปกติของคนดีมีศีล แต่เป็นธาตุของคนทุศีลที่หมายทำร้ายผู้อื่น เพื่อให้สาแก่ใจตน การทำร้ายกันในคู่รักมักจะมีความจัดจ้านรุนแรง ไม่เหมือนกับพ่อแม่ที่ตีลูกไป ตัวเองก็เสียใจไป การลงโทษลงทัณฑ์ โดยการทำร้ายในนามแห่งความรักนั้น มักจะมีความรุนแรงกว่าเหตุการณ์ปกติในชีวิตทั่วไป ใครไม่เคยเจอการทำร้ายกัน ก็อาจจะได้มาเจอกับคนรักที่ทำร้ายนี่แหละ บางคนพ่อแม่ไม่เคยตี แต่ก็มาโดนคู่รักทำร้าย อันนี้ก็เป็นตัววัดความไม่เจริญอย่างหยาบ การทำร้ายร่างกาย จะยิ่งทำให้เสื่อมจากความดีงามไปเรื่อย ๆ จนเป็นทำร้ายกันรุนแรงขึ้น ถึงขั้นฆ่ากันตายมีให้เห็นเป็นตัวอย่างกันมามากมาย
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำร้ายจิตใจ
ในการทำร้ายจิตนั้น เบื้องต้นก็เป็นการทำร้ายร่างกายที่มีผลต่อจิตใจ อันนี้ก็เป็นอย่างหยาบ ละเอียดขึ้นมาหน่อยก็เป็นการใช้คำพูด ภาษา ในการทำร้ายจิตใจกัน ละเอียดขึ้นมาอีกก็เป็นการชักสีหน้า ออกอาการไม่พอใจ กดดันอีกฝ่าย ทำร้ายจิตใจกัน หรือเย็นชาสุด ๆ ก็กลายเป็นไม่พูด ไม่สนใจ กดดันโดยการคว่ำบาตร ก็เป็นการทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย การกระทำเหล่านี้จะมีเจตนาเป็นตัวกำหนดว่าตั้งใจทำให้อีกฝ่ายเป็นทุกข์ ต้องการสั่งสอน ลงทัณฑ์ ใช้อำนาจแห่งความรักในการทำร้ายกัน ถ้าไม่ได้มีเจตนาแฝงว่าทำไปเพื่อเสพสมใจตน ทำไปเพื่อให้เขายอมตน หรือทำไปเพื่อต้องการเอาชนะ ต้องการเพียงจะสื่อสาร อยากให้เขาปรับตัว ให้พ้นทุกข์โดยไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ส่วนใหญ่แล้ว มักจะทำร้ายจิตใจผู้อื่นเพื่อเอาใจตนเองเป็นหลัก คือเอาแบบฉัน ฉันถูกที่สุด เธอผิด อะไรแบบนี้
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำให้หวั่นไหว
การที่จะเจริญไปในทิศทางแห่งความผาสุกได้นั้น ใจจะต้องไม่หวั่นไหว การที่จะมีความรักแล้วต้องทนอยู่กับความหวั่นไหว จะเรียกว่าเป็นความเจริญนั้นเป็นไปไม่ได้เลย คนจะหวั่นไหวกันตอนไหน ก็เช่น ตอนเขามาจีบ ก็ตอนเขาบอกรัก หรือบอกเลิกกันนั่นแหละ คำเหล่านั้นล้วนเป็นคำที่มีเจตนาทำให้คนหวั่นไหว จิตใจสั่นคลอน อ่อนแอ ยอมรับรัก ยอมเป็นทาสรัก ยอมสารพัดยอม ยอมพลีกาย พลีใจให้กับการกระทำหรือคำพูดที่พาให้หวั่นไหว ให้ใจหลงเคลิ้ม อันนี้ก็เป็นการทำร้ายของมารที่แฝงมา คนดีมีศีลจะไม่ทำให้ใครหวั่นไหว จะไม่ล่อลวง จะไม่จีบ สุภาพบุรุษที่แท้จริงนั้นจะไม่จีบใคร ไม่เกี้ยวพาราสี เพราะเป็นเหตุที่จะทำให้คนหวั่นไหว เป็นทุกข์ กระวนกระวายใจ ก็เป็นการทำร้ายกันในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น เป็นมิติที่คนทั่วไปยากจะเข้าใจแล้ว เพราะเขามองว่าการจีบกันรักกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในทางธรรมนะนั้น การทำให้หวั่นไหว ให้เกิดความใคร่อยาก ให้เกิดความกลัวที่จะไม่ได้เสพ ก็มีแต่มารเท่านั้นแหละ ที่จะทำสิ่งนั้น
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำให้หลง
การทำให้หลง เป็นการทำร้ายจิตใจกันอย่างลึกซึ้งแบบข้ามภพข้ามชาติ ทำให้อ่อนแอ เป็นทาส ขาดอิสรภาพ เหมือนคนตาบอด มืดมัว เศร้าหมอง อยู่แต่ในกรอบที่มารกำหนดไว้ คือรักแต่ฉัน หลงแต่ฉัน เชื่อแต่ฉัน ทุ่มเทชีวิตให้ฉัน การทำให้อีกฝ่ายอ่อนแอและไม่พึ่งตนเอง คือการทำลายศักยภาพของการเป็นมนุษย์ เป็นเบื้องต้นของการกระทำของมาร คือแสร้งว่า ฉันจะให้ความรัก ให้ความปลอดภัย ให้ความสุข ให้ความเจริญ เธอจงมาพึ่งฉัน อยู่กับฉัน ฯลฯ จะมีการหว่านล้อมให้หลงรัก หลงเชื่อใจ จนยอมทิ้งชีวิตจิตใจฝากไว้กับคน ๆ นั้น ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ให้พึ่งตน ให้มีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง คือปฏิบัติให้ตนมีความเป็นพุทธะ ธรรมะ สังฆะในตนนั่นแหละเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่เอาคู่รักเป็นที่พึ่ง แต่รักที่ทำร้าย เขาจะไม่ให้ไปพึ่งคนอื่น เขาจะให้พึ่งพาแต่เขา เขาจะให้หลงแต่เขา ให้รักแต่เขา ให้มัวเมาแต่เขา
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำลายอิสระในการทำดี
ความเจริญกับการทำดีนั้นเป็นของคู่กัน ถ้าความรักหรือคู่รักนั้นมาขัดขวางการทำดี นั่นก็แสดงว่า ความรักนั้นกำลังขัดขวางทางเจริญ การทำดีนั้นก็มีเรื่องของการทำทาน การถือศีลให้เกิดความลดละกิเลสได้ แต่ความรักผีที่แฝงตัวมาจะกั้นไม่ให้คนทำทาน ไม่ให้คนเสียสละ บางคนเสียเงินพอทนได้ แต่จะให้ไปปฏิบัติธรรม ทำดีกัน 5 วัน 10 วัน นี่เขาจะไม่ปล่อย เขาจะไม่ยินดี เขาจะกั้น สารพัดเหตุผล บ้านต้องดูแล งานต้องทำ เงินต้องหา ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่องค์ประกอบเหตุปัจจัยมันอาจจะไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น หรือในเรื่องถือศีล คู่รักกับศีล ๘ ในข้อประพฤติพรหมจรรย์จะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกัน เพราะเป็นธาตุตรงข้าม ผีกับมาร แค่ถือศีล ๕ ก็ว่ายากแล้ว ศีล ๘ นี่ยิ่งยากไปใหญ่ เขาจะไม่ยอม คนที่เขามีกิเลส มีความอยากมาก ๆ เขาจะไม่ยอมให้คู่ถือศีล ๘ เขาจะกั้นจากความดีที่เลิศกว่า จะจำกัดอิสระ ขังไว้ในความดีน้อย ๆ ความดีที่ต้องมีฉันเป็นกำแพง มีฉันเป็นเพดาน ดีไม่ดีเอาลูกมาผูกไว้อีก ดังที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกบุตรว่า บ่วง เพราะท่านรู้ว่านี่คือสิ่งที่จะผูกมัดท่านไว้ มารก็จะทำแบบนี้เช่นกัน เขาจะมัดคู่ไว้ด้วยการมีลูก คือสร้างบ่วง สร้างห่วงขึ้นมาให้มันมีเหตุที่จะต้องอยู่รับผิดชอบ ให้อยู่เล่นละครพ่อแม่ลูกไปกับเขา กั้นไม่ให้เราเหลือเวลาเอาไปทำความดีแก่ผองชนมาก ๆ ให้เราทำดีแต่ในคอกแคบ ๆ ที่เรียกว่าครอบครัว
รักที่พาให้เจริญต้องไม่ผูกมัด
ความยึดมั่นถือมั่น คือการทำร้ายจิตใจตนเองและผู้อื่น ความเจริญนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อผู้มีความรักนั้น รักอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น นั่นหมายความว่า ถ้าคู่ของเขา พร้อมจะจากไป ก็ยินดี ยอมให้ไปโดยไม่เหนี่ยวรั้ง เคารพสิทธิ์ เคารพความคิด คือ ถึงบทที่จะต้องจากกัน หรือมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็ไม่ยึด ยื้อ รั้ง กันไว้ ไม่ตรงก็ไม่ขังเขาไว้ ก็ปล่อยไปตามทางที่เขาเลือก ไม่ใช่เป็นไปตามใจที่เราเลือก ให้อิสระกับเขา ไม่ผูกมัดเขา ปล่อยวางจากเขา อันนี้คือความเจริญ ส่วนความเสื่อมก็คือไปล่อลวง อ้อนวอน หลอกล่อเขาไว้ให้อยู่กับตน พยายามจะผูกมัดเขาไว้ด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ อันนี้ความรักผี พาให้เป็นทุกข์ ตัวเองก็เป็นทุกข์ คนอื่นก็เป็นทุกข์ แสดงให้เห็นความคับแคบในใจ จะเอาแต่ใจตน ใจไม่กว้าง คิดจะรักต้องใจกว้าง ให้อิสระ เคารพความเห็นของคนอื่น ให้สิทธิ์เขาเลือกที่จะเดินเข้ามาหรือจากไป โดยไม่ยึดมั่นถือมั่น
รักที่พาเจริญต้องไม่หลอกหลอน
รักที่พาให้หลง คือความรักที่ทำให้จิตเกิดความหลอกหลอน วนเวียนเสพสุขกับความทรงจำ ที่แม้ปัจจุบันจะไม่เหลืออะไรแล้ว แต่ความสุข ความเศร้า บทละครมันยังวิ่งวนเวียนหลอกหลอนอยู่ในหัว คิดถึงทีไรก็เป็นสุข สุขที่ได้เสพความทรงจำ หอมหวานอยู่ในภพที่ฝังตัวเองไว้ ติดตรึงใจ หลอกหลอนไม่รู้ลืม ความรักที่พาให้เจริญจะไม่สร้างผลแบบนี้ จะมีเฉพาะความรักแบบผี หรือรักด้วยกิเลสเท่านั้น ที่สร้างผลที่จะหลอกคนให้หลงหลอนอยู่ในภพแห่งความฝัน
รักที่พาเจริญต้องไม่ทำให้เกิดทุกข์
ในมิติที่ละเอียดลึกซึ้งที่สุดคือ รักแล้วต้องไม่มีทุกข์ในใจเลย จึงจะเจริญได้ ถ้ายังมีทุกข์อยู่แสดงว่ายังไม่เจริญ ความเจริญคือความไม่ทุกข์ ไม่ใช่การจมอยู่กับทุกข์ อันนั้นเรียกว่าเสื่อม ไม่เจริญ ถดถอยไปเรื่อย ๆ อันนี้ต้องใช้สติไปจับอาการทุกข์ของตัวเองกันดี ๆ ว่ามีทุกข์เกิดมากเท่าไหร่ ทุกข์ขนาดไหน ในชีวิตประจำวัน ความกังวล ระแวง หวั่นไหว นั้นก่อให้เกิดทุกข์ แค่คู่ครองไม่รับโทรศัพท์ คู่ครองกลับบ้านไม่ตรงเวลา คู่ครองไปคุยกับคนอื่น มันจะผาสุกไหม มันจะทำใจให้เบิกบานได้ไหม ถ้ากระทบกับความไม่ได้ดั่งใจแล้วใจยังมั่นคงอยู่ในความผาสุกได้ก็เจริญ แต่ถ้าหวั่นไหว ทุกข์ทนข่มใจไปตามสถานการณ์ ที่เหมือนกับเรือที่ลอยอยู่ท่ามกลางทะเลที่แปรปรวนด้วยลมพายุ แม้จะทรงตัวอยู่ได้ ก็ใช่ว่าจะทนอยู่ได้ตลอดไป ก็อาจจะต้องพ่ายแพ้อับปางลงสักวัน ไม่เหมือนกับคนที่ปฏิบัติจนไม่ทุกข์ อันนั้นเขาไม่ติดโลก ไม่ติดทะเล เหมือนลอยอยู่ในอากาศ ความแปรปรวนใด ๆ ล้วนไม่มีผล ไม่น่ายึดไว้ ก็แค่ไปหาสภาพที่ดีกว่าอยู่ ไปหาที่สงบจากความแปรปรวน สงบจากความโลภ โกรธ หลง เพราะการอยู่กับคนที่มีกิเลสมาก ๆ รังแต่จะสร้างปัญหาให้ แม้จะไม่ทุกข์ใจ แต่ก็เป็นความลำบากกายที่ต้องทนรับไว้ เป็นภาระ เป็นบ่วง ดังนั้น คนที่เจริญ เขาจะไม่ยึดสภาพคู่ครองไว้ เพราะมันเป็นสภาพที่ไม่น่าเสพ เป็นภาระ เป็นความลำบาก พอไม่ยึดติด มันก็ไม่มีความสำคัญแบบมีกิเลสเป็นตัวแปรในตัวบุคคล ที่เหลือก็แค่ประเมินว่าที่ไหน ตรงไหน ตนเองจะทำประโยชน์ได้ดีกว่าเท่านั้นเอง
…ก็ลองพิจารณากันดู ประตูแรกของการจะข้ามพ้นความหลงในความรักก็คือ ยอมรับว่ามันทุกข์ ยอมรับว่ามีแล้วมันก็ไม่ได้พาเจริญกันอย่างที่เขาว่ากันหรอก ก็มีแต่กามแต่อัตตานั่นแหละที่จะเติบโตขึ้น พากิน พาเสพ พาเมา พาโลภ โกรธ หลง พายึดกันอยู่ทุกวี่วัน จะหาความเจริญมาจากไหน?
8.1.2563
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
จะเป็นโสดหรือมีคู่ ก็มีสุขทุกข์เหมือนกัน จริงหรือไม่?
ถาม จะเป็นโสดหรือมีคู่ ก็มีสุขทุกข์เหมือนกัน จริงหรือไม่?
ตอบ ไม่จริง
ในสมัยพุทธกาล เคยมีชาวบ้านมาเถียงพระพุทธเจ้าอยู่เหมือนกันในประเด็นนี้ ชาวบ้านมาอวดภูมิว่า ถึงแม้การมีความรักจะเป็นทุกข์ แต่ก็มีสุขอยู่
พระพุทธเจ้าท่านตอบเพียงว่า ความรักนั้นมีแต่ทุกข์ ไม่มีสุขอยู่เลย ชาวบ้านก็ยังเถียงอยู่เช่นนั้น สุดท้ายก็เดินหนีจากพระพุทธเจ้าไปถามความเห็นกลุ่มคนที่อยู่แถวนั้น คนกลุ่มนั้นก็เห็นด้วยกับชาวบ้านคนนั้น ก็เออออกันไปว่ารักนั้นมีทั้งสุขและทุกข์ซิ ถึงจะถูกต้อง
นั่นคือความเห็นผิดของผู้ที่มีมิจฉาทิฏฐิ จะเห็นสภาพสองสภาพเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่มันไม่เหมือนกันเลย แต่เขาจะพยายามทำให้เหมือนกัน จะได้เป็นข้ออ้างว่า จะเป็นอะไรก็เหมือนกันนั่นแหละ ทำให้มันดูธรรมดา ให้มันดูเป็นธรรมชาติไป กลบเกลื่อน ๆ ไป ให้กลายเป็นเรื่องธรรมดา
ความรู้โลกีย์ก็แบบนี้ โสดก็ทุกข์แบบหนึ่ง มีคู่ก็ทุกข์แบบหนึ่ง แต่เขาไม่เข้าใจดีกรี หรือระดับของความทุกข์ที่แตกต่างกัน ก็เลยตีขลุมไปว่ามันคล้าย ๆ กัน
เพราะจริง ๆ มันไม่เหมือนกันเลย ในบทธรรมที่รู้กันโดยทั่วไปเช่น มีรัก 100 ก็ทุกข์ 100 มีรัก 1 ก็ทุกข์ 1 ไม่มีรักไม่ทุกข์เลย คนเขาจะไม่เข้าใจว่าถ้าไม่มีรัก ไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก มันจะไม่ทุกข์อย่างไร
นี่คือสภาพของความลึกซึ้งของพุทธ ที่เดาเอาไม่ได้ รู้ตามได้ยาก เข้าถึงได้เฉพาะบัณฑิต ดังนั้น จะเอาความรู้โลก ๆ มาเถียง มันก็เหมือนชาวบ้านมาเถียงกับพระพุทธเจ้านั่นแหละ แม้ตัวเองจะยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเองถูก แต่สุดท้ายมันจะไม่พ้นทุกข์ เพราะมีความคิดเห็นและปฏิบัติไปคนละทางกับที่พระพุทธเจ้าตรัส
ในความเป็นจริงแล้ว การมีคู่นั้น จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์มากกว่าการอยู่เป็นโสดมากมายมหาศาลยิ่งนัก มีเหตุให้กังวลระแวงหวั่นไหวมากกว่าการอยู่เป็นโสดมากมาย
จะยกตัวอย่างเช่น เอาแค่คู่ไม่พูดด้วยตั้งแต่เช้าจรดเย็น ไม่มองหน้า ระหว่างคนที่มีคู่ กับคนโสดใครจะทุกข์กว่ากัน
หรือมีคนมาพูดไม่ถูกใจ ระหว่างคนคนนั้นเป็นเพื่อนทั่วไป กับคนนั้นเป็นคู่ครอง อันไหนเราจะมีอาการขุ่นเคืองใจมากกว่ากัน
จะสังเกตว่าคนคู่มักจะทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องที่คนอื่นเขาก็งงกันว่าเรื่องแค่นี้ต้องทะเลาะ ต้องงอน ต้องโกรธกัน นี่แหละคือความโง่ของคนคู่ที่มองไม่เห็นทุกข์ที่มากกว่าการอยู่เป็นโสด เพราะในความจริงมันทุกข์มากกว่า ส่วนความสุขนั้นไม่มีเลย
เพราะความสุขเหล่านั้นเกิดจากกิเลสปั้นขึ้นมาเมื่อได้เสพสมใจ เช่นเขาสวย เขาเอาใจ เขาดีกับเราแล้วสุขใจ ถ้าคนเสพติดตรงนี้เขาจะเป็นสุข แต่ถ้าคนไม่เสพติด ไม่มีตัณหา ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่หลง เขาจะไม่เป็นสุข เพราะจริง ๆ มันไม่มีรสสุข แต่คนเขลาปั้นรสสุขขึ้นมาหลอกตัวเองและผู้อื่น คือกิเลสมันหลอกอยู่ ก็เหมือนที่ชาวบ้านเถียงพระพุทธเจ้านั่นแหละ ที่เขาเห็นว่าสุขเพราะเขาหลง ที่พระพุทธเจ้าบอกว่ามีแต่ทุกข์ เพราะท่านเห็นความจริงตามความเป็นจริง
มันก็ต่างกันแบบนี้นี่เอง ต่างกันที่ปัญญาในการมองเห็นทุกข์ สุข ในเหตุปัจจัยที่ต่างกัน
ไปแต่ผู้เดียว เด็ดเดี่ยวเหมือนนอแรด
ระหว่างค้นหาพระไตรปิฎกในหมวดคนคู่ ก็มาเจอ “ขัคควิสาณสูตร ที่ ๓” (25,296) ในภาพรวม ท่านกล่าวเปรียบถึงถ้าเจอกับสภาพที่ไม่ดี อยู่คนเดียวจะดีกว่า ซึ่งแน่นอนว่า ถ้ามันแย่ เราก็ต้องห่าง แต่อะไรล่ะที่มันไม่ดี แล้วอะไรที่มันดี ที่ควรใกล้ ในบทนี้มีทั้งไปแต่ผู้เดียว และเก็บเกี่ยวคนดีมาเป็นเพื่อน จะยกเป็นช่วง ๆ มาลองวิเคราะห์กันครับ
“พ.ความเยื่อใยย่อมมีแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกัน ทุกข์นี้ย่อมเกิดขึ้นตามความเยื่อใย บุคคลเล็งเห็นโทษอันเกิดแต่ความเยื่อใย พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น”
… ส่วนนี้จะทำให้เห็นภาพรวมของสภาพไม่ดี เป็นทุกข์ เป็นบาป เป็นอกุศล คนที่มีปัญญาเห็นโทษดังนั้น ให้ละออกเสีย มีของไม่ดี อย่ามีเลยดีกว่า
“พ.บุคคลข้องอยู่แล้ว ด้วยความเยื่อใยในบุตรและภริยา เหมือนไม้ไผ่กอใหญ่เกี่ยวก่ายกัน ฉะนั้นบุคคลไม่ข้องอยู่เหมือนหน่อไม้ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น”
… ถ้ามองไผ่กอใหญ่ก็จะเห็นถึงความวุ่นวาย ลมพัดมาก็เสียดสีกันบ้าง ชนกันบ้าง เสียงดัง เหมือนกับเรื่องคู่มันวุ่นวาย ถ้าใครยังไม่มี ยังไม่ถึงวัย ยังเป็นหน่อไม้อยู่ ก็ไม่ต้องไปมี ไม่ต้องไปยุ่ง ไปคนเดียว ฉายเดี่ยวเหมือนนอแรด
“พ.ถ้าว่าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปรกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้ พึงครอบงำอันตรายทั้งปวง เป็นผู้มีใจชื่นชม มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น หากว่าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปรกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว”
… แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ส่งเสริมให้ไปคนเดียวตลอด ไม่ได้ให้หลีกหนีผู้คน ถ้าเจอคนดี มีปัญญา พาทำกรรมดี ก็ให้อยู่ร่วมกัน พึ่งพากัน แต่ถ้าหาคนมีปัญญาไม่ได้ ไปคนเดียวเถอะ โดดเดี่ยวดั่งนอแรด
“พ.เราย่อมสรรเสริญสหายผู้ถึงพร้อมด้วยศีลขันธ์เป็นต้น พึงคบสหายผู้ประเสริฐสุด ผู้เสมอกัน กุลบุตรไม่ได้สหายผู้ประเสริฐสุดและผู้เสมอกันเหล่านี้แล้ว พึงเป็นผู้บริโภคโภชนะไม่มีโทษเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น”
… พระพุทธเจ้าท่านแนะนำให้คบคนมีศีล คนที่เก่งกว่า มีศีลมากกว่า มีปัญญามากกว่า หรือผู้ที่เสมอกัน แต่ถ้าชีวิตนี้มันอับจนหนทาง ไม่มีบารมี ไม่เจอคนที่สูงกว่า ไม่เจอคนเสมอกัน ก็อยู่กินใช้สิ่งที่ไม่เป็นโทษ คือใช้ชีวิตไม่หลงระเริงไปตามกิเลส แล้วก็เด็ดเดี่ยวดั่งนอแรดกันไป
จะเห็นได้ว่า ในศาสนาพุทธไม่ได้มีคำสอนมิติเดียว ใช่ว่าจะให้หนีผู้คนออกป่าหาความสงบไปเสียหมด อันนั้นมันคือกรณีที่หมดปัญญา หมดบารมีหาคนเก่งกว่าไม่ได้แล้วเท่านั้น ถึงจะปลีกตัวออกไปคนเดียว ถ้าหาคนเก่งกว่าหรือเสมอกันได้ ท่านก็ให้อยู่เกื้อกูลกัน พึ่งพากัน อันนี้เป็นปัญญาของพุทธที่ต่างจากฤๅษี ถ้าสายฤๅษีนี่เข้าถ้ำไปคนเดียวเลย สายพุทธนี่จะหาคนมีปัญญาแล้วร่วมกันทำกุศล
จริง ๆ ยุคนี้ก็มีครูบาอาจารย์อยู่มาก แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นผิด หลงป่ากันไปเยอะ ถ้าเอามาเทียบพระไตรปิฎกหลาย ๆ บทจะเห็นว่ามีความขัดแย้งสูง แต่ถ้าเอาบางบทมา มันก็ดูเหมือนจะใช่ ในความจริงแล้วยังมีครูบาอาจารย์ที่มีความสามารถมากอยู่ แต่การจะไปอยู่ผู้เดียวทั้ง ๆ ที่มีคนเก่งอยู่ นั่นก็สื่อให้เห็นว่าเขาไม่มีปัญญารู้ว่าใครเก่งกว่าเขา ไม่เห็นใครเก่งเสมอเขา เขาก็ฉายเดี่ยวไปเหมือนนอแรดตาบอดกันเลยล่ะนั่น คือปฏิบัติถูกบางบท แต่ภาพรวมไม่ครบทุกบท
แต่ก็ห้ามกันไม่ได้หรอก วิบากกรรมเขาเป็นแบบนั้น การได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกที่มนุษย์จะพึงเห็นได้เลยนะเอ้อ (อนุตตริยสูตร) ดังนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา