Tag: ถูกกล่าวหา
เมื่อถูกกล่าวหา
เวลาเราอยู่นิ่ง ๆ นี่มันก็เหมือนจะไม่มีทุกข์อะไรนะ แต่เวลามีคนมากล่าวหาใส่ความเราหรือคนที่เรารักนี่สิ ใจมันก็มักจะไม่อยู่เฉย ดิ้น เดือด จนอาจจะถึงขั้นด่ากลับไปได้
ผมก็เคยเจอกรณีที่คนเขามากล่าวหาด้วยความเข้าใจผิดสมัยทำโรงทาน เขาก็กล่าวหาจริงจัง เอาเรื่องเลยนะ หาว่าเราไปด่าเขา ๆ แล้วเขาก็ยืนด่าเราสารพัดต่อหน้าฝูงชนนั่นแหละ ว่าเราไม่มีศีลบ้าง หน้าตัวเมียบ้าง หากระโปรงมาใส่บ้าง สารพัดคำดูถูกปรุงมาอย่างเผ็ดร้อน สาดใส่เรานั่นแหละ
แต่ด้วยเราก็รู้ว่าเขาเข้าใจไปผิดไง เราก็ไม่ได้โกรธตามเขา เรารู้ตอนนั้นเลยว่าเอาแล้ว วิบากกรรมมาแล้ว ก็ไม่ได้คิดแค่รับนะ ตอนนั้นก็คิดว่า ทำยังไงดีหนอให้มันดีขึ้น
ก็ทำตามที่พระพุทธเจ้าตรัสนั่นแหละ คือ 1. ไม่โกรธ 2.พูดแต่ความจริง แต่ทำไปแล้วมันไม่คลี่คลายก็วางใจไป สุดท้ายเขาจะให้เราขอโทษ เราก็ตรวจใจไปว่าเรายอมได้ไหม ขอโทษทั้งที่เราไม่ได้ทำผิดอย่างเขาว่าได้ไหม
ก็นึกไปว่า จริง ๆ ส่วนผิดเราก็มีนะ คือไปยืนคุยหน้าโรงทานทำให้เขาเข้าใจผิด ได้ยินผิด จริง ๆ เราก็ไม่ได้พูดถึงเขาหรอก เราคุยกับเพื่อน แล้วอาจจะกวาดสายตาไปโดนเขา อันนี้เราก็ไม่ได้สำรวมจริง ๆ เจตนาก็ไม่มีหรอก แต่ก็ขออภัยเขาไป เขาก็เลยยอมไม่เอาเรื่อง(ที่เขาสร้างเรื่องขึ้นมาเอง)
ในชีวิตก็เคยเจอเรื่องแบบนี้เยอะ เรื่องที่เราไม่ได้ทำหรอก แต่เขาปั้น เขาปรุงขึ้นมากล่าวหาเรา สาดสี ใส่ไข่ เติมรสกันจัดจ้าน จนเรียกว่าได้ยินแล้วงง ว่าเราไปทำขนาดนั้นตั้งแต่เมื่อไหร่ บางเคสมีการมาเดาใจเราแล้วสรุปเพิ่มด้วย
ผมเป็นคนไม่ค่อยชอบการมานั่งแก้ต่างเท่าไหร่ ไม่เคยพยายามพูดเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ตัวเอง รู้สึกว่ามันเสียเวลา มีคนถามค่อยบอกเขาไป ถ้าไม่มีคนถามก็ปล่อยไว้อย่างนั้น เพราะรู้สึกว่าการที่เขาเข้าใจเราผิด หรือใส่ความเรา มันไม่ใช่เรื่องของเรา เพราะยังไงเราก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูดอยู่แล้ว ส่วนที่เขาว่ามันจะเป็นอย่างไรมันก็เป็นเรื่องของเขา
ผมเชื่อว่าการที่เราไม่ต้องมานั่งพะวงกับการปกป้องตัวเองนี่แหละ คืออิสระ คือความผาสุก เราไม่หวงตัวหวงตน ใครจะคิดยังไงกับเราก็ได้ ใครจะเข้าใจเราไปยังไงก็ได้ ใครจะใส่ความเรายังไงก็ได้ มันคือความใจกว้าง ให้อิสระทุกคนคิด เขาจะคิดผิดคิดถูกก็เป็นบาปบุญของเขา ไม่เห็นจะเกี่ยวกับเราตรงไหน
มันจะเกี่ยวก็แค่ตอนเขาเข้ามาถึงตัวเราเท่านั้นแหละ ที่มันจะอันตราย ก็ต้องคอยระวัง หลีกการกระทบกระทั่ง การทำร้ายก็เท่านั้น หลีกไม่ได้ก็รับไป มีพระโมคคัลลานะเป็นไอดอล เราต้องหัดทำตามท่าน ต้องรับให้ได้ทุกอย่าง ต้องทนได้แม้เขาจะมาทำร้ายเรา ฆ่าเรา เราก็ต้องไม่ไปทำร้ายเขากลับ อันนี้เป็นกรรมฐานเอาไว้ฝึกน่ะนะ แต่จะฝึกได้เท่าไหร่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็มีแนวทางที่ถูกให้พัฒนาตนเองนั่นแหละ
การถูกกล่าวหานี่คือบททดสอบของชีวิตนะ ว่าเราจะยึดตัวยึดตนมากเท่าไหร่ การไปติคนอื่นก็เรื่องหนึ่ง การถูกคนอื่นติหรือเข้าใจผิดนี่มันก็อีกเรื่องหนึ่ง มันจะวัดความแกร่งของใจเรา วัดความทน วัดปัญญา มันต้องทนได้ทั้งเขามาติเรา ติคนที่เรารัก ติความเห็นความเข้าใจของเรา เขาติได้สารพัดเรื่องนั่นแหละ เราก็มีหน้าที่ทำความเข้าใจให้ถูกตรงอย่างเดียว คือไม่ไปโกรธ อึดอัด ขุ่นเคืองใจเพราะเขามากระทบ
คำติหรือการโดนใส่ร้ายใส่ความนี่เป็นอาหารอย่างดีของความเจริญเลยนะ เป็นโจทย์จริง ๆ ให้ปฏิบัติ ไม่ใช่นั่งนึกเอาเดาเอา แต่ถ้าปรับใจไม่ทันก็เป็นนรกร้ายได้เหมือนกัน ก็มีอยู่แค่สองอย่างนั่นแหละ คือเราจะก้าวข้ามความโกรธ หรือจะร่วงลงไปในนรก มันก็อาจจะไม่ง่ายนักในโจทย์นี้ แต่ถ้าทิศทางเราชัด แม้เราร่วงไปบ้าง เราจะตั้งสติและปีนขึ้นมา
แต่ถ้าใครไม่ไหว ไม่มั่นใจ ไม่ค่อยแกร่ง ก็อย่าไปหาโจทย์ในชีวิตให้มากนัก อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน หมั่นทำความดี ขัดเกลาตัวเองไปในเรื่องที่ทำไหว กระทบโลกให้พอเหมาะกับความเจริญเท่าที่ตนเองจะทำไหว ก็จะไม่ทุกข์หนัก ไม่เสี่ยงต่อการล่วงหล่นมากนัก
เมื่อถูกกล่าวหา ชาวพุทธควรทำอย่างไร?
พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราพึงตั้งตนอยู่ในคุณธรรมสองประการคือ ๑. ความจริง ๒. ความไม่ขุ่นเคือง (พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๕๑๑)
เมื่อเราถูกกล่าวหาแล้วเราก็ควรจะแสดงให้เห็นถึงความจริง ถ้าเขาให้โอกาสเราพูด ให้โอกาสเราพิสูจน์ความจริงเราก็พิสูจน์ การพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจความจริงให้ตรงกันนั้นเป็นสัมมาวาจา แต่ถ้าเขาไม่ให้โอกาสเราก็ต้องปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ยอมให้เขาเข้าใจผิด ทั้งนี้การตั้งตนอยู่ในความจริงก็คือ ผิดก็ยอมรับว่าผิดจริง ไม่ใช่รู้ตัวว่าผิดแล้วทำเฉไฉ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ มีมารยา แต่ถ้าคิดว่าถูกก็ควรรับฟังความเห็นที่แตกต่างบ้าง เพราะเราอาจจะไม่ได้ถูกไปทั้งหมด
และไม่ว่าเขาจะกล่าวหาอย่างไร สาวกของพระพุทธเจ้าไม่ควรแสดงความขุ่นเคืองใจ ไม่ว่าจะออกไปทางโกรธหรือน้อยใจ ประชดประชัน ฯลฯ หรือกระทั่งการโจมตีกลับ ชวนทะเลาะ แข่งดีเอาชนะ การกระทำเหล่านี้นอกจากไม่เป็นไปเพื่อความสุขแล้ว ยังทำให้เกิดความขัดแย้งลุกลามใหญ่โตได้
ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด
ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด
บังเอิญมีเรื่องให้พิมพ์บทความนี้ขึ้นมา มีบางสิ่งที่ปลุกผมให้ตื่นจากฝัน ด้วยความปวดคันที่หน้าแข้ง ผมค่อยๆยกขาขึ้นมาดูและพบว่ามียุงตัวหนึ่งกำลังดูดเลือดอยู่…
ยุงตัวนี้ดูดเลือดจนบินแทบไม่ไหว มันดูดเสร็จก็บินลงมาบนเตียง แล้วก็บินหนีได้ทีละนิดละหน่อย มันคงจะอิ่มจนขยับตัวลำบาก พอนึกได้ก็เลยหยิบกล้องมาถ่ายรูปไว้เสียหน่อย
ประเด็นที่ชาวมังสวิรัติ นักกินเจ หรือผู้ที่พยายามลดเนื้อกินผัก มักจะถูกกล่าวหาอยู่เสมอ คือไม่กินเนื้อสัตว์แล้วแต่ยังฆ่าสัตว์กันหน้าตาเฉย ยกตัวอย่างเช่นการตบยุง ซึ่งเป็นกรณีกล่าวหายอดฮิตนั่นเอง
ผมเองไม่ได้ตบยุงมากว่าสองปีแล้วตั้งแต่เริ่มลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก การใช้วิถีปฏิบัติธรรมเข้ามาขัดเกลาความอยากกินเนื้อสัตว์ ได้ขัดเกลาความโกรธเกลียดและความอาฆาตไปพร้อมๆกัน
แม้เราจะมีเหตุผลที่ดูดีมากมายในการฆ่ายุง เช่นมันทำร้ายเรา มันเข้ามาใกล้ตัวเรา เราตบไปด้วยความเคยชิน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรมีในตนเลย เราไม่ควรจะเหลือเหตุผลในการเบียดเบียนชีวิตอื่นเลย ไม่จำเป็นเลยว่าเขามาทำร้ายเราแล้วเราจะต้องทำร้ายเขากลับ มันไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย
เราไม่จำเป็นต้องปกป้องตัวเองด้วยการฆ่า เพราะเราสามารถใช้การป้องกันได้ สมัยนี้ก็มีวิธีป้องกันมากมาย ไม่ให้ยุงเข้ามาใกล้เรา
แต่สุดท้ายแล้วถึงมันจะเข้ามาใกล้และกัดเรา เราก็ไม่จำเป็นจะต้องตอบโต้ใดๆกลับคืนเลย มันกัดแล้วก็แล้วไป จะพามันไปปล่อยนอกมุ้งนอกหน้าต่างก็ได้ถ้าทำได้ ปฏิกิริยาตอบโต้ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นมีใจเป็นตัวสั่ง มันไม่ใช่ระบบอัตโนมัติ แต่มันเกิดเพราะสติเราไม่ทันกิเลส มันเลยสั่งให้เราตบยุงอย่างไม่ทันรู้ตัว ไม่ทันเหยียบเบรก รู้ตัวอีกทียุงก็ตายคามือแล้ว
แม้ว่าการถือศีลนั้นจะหยุดการฆ่าได้เพียงแค่หยุดร่างกายเอาไว้ แต่ใจยังรู้สึกอาฆาตแค้น ก็ยังดีกว่าลงมือฆ่า แต่ถ้าจะให้ดีคือพัฒนาจิตใจ ปฏิบัติธรรมโดยใช้ศีลนี่แหละเป็นกรอบในการกำจัดเหตุแห่งการฆ่าทั้งกาย วาจา ไปจนถึงใจ ผู้ใดที่ชำระล้างกิเลสที่เป็นเหตุแห่งการฆ่าได้ ก็จะไม่มีเหตุผลในการฆ่าและเบียดเบียนสัตว์อีกเลย
และเมื่อนั้นเราก็จะเป็นผู้ที่ละเว้นเนื้อสัตว์โดยไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ เพราะบริสุทธิ์ด้วยศีล ศีลจะเป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้เราทำบาป ไม่ให้เราสร้างอกุศล ไม่ให้เราต้องพบเวรภัยต่างๆอีกมากมาย
– – – – – – – – – – – – – – –
21.7.2558