Tag: ความเป็นพาล
การเลือกคบคน (ชิคุจฉสูตร)
การเลือกคบคน (ชิคุจฉสูตร)
พระพุทธเจ้าได้ให้หลักการเลือกคบคนไว้หลายหลักหลายประเด็น ในชิคุจฉสูตรนี้ (พระไตรปิฎก เล่ม 20 ข้อ 466) จะแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. คนที่น่าเกลียด ไม่ควรคบ 2. คนที่ไม่ควรใส่ใจ ไม่ควรคบ 3.คนที่น่าคบหา
1).คนที่น่าเกลียดเป็นอย่างไร? คือคนที่ทำผิดศีลเป็นประจำ ทำผิดจากคุณงามความดีที่ตนได้ประกาศไว้ มีใจสกปรก เน่าใน ปฏิบัติตนไม่ดี มีกิจกรรมที่ลึกลับปิดบัง ไม่ใช่ผู้ที่ปฏิบัติดีแต่บอกคนอื่นว่าเป็นคนที่ปฏิบัติดีแล้ว ไม่ใช่คนที่มุ่งปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ แต่บอกคนอื่นว่าตนนั้นมุ่งปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ เต็มไปด้วยความอยาก เป็นเหมือนคราบสกปรกเหนียวหนืดกลิ่นเหม็นกำจัดได้ยาก พระพุทธเจ้าบอกว่าคนแบบนี้ “ควรเกลียด”(คือไม่ไปยินดีในสิ่งที่เขาเป็น) ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าไปใกล้ แม้นั่งใกล้ยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตน แม้เราจะไม่ได้ทำตัวแย่เหมือนเขาก็ตาม แต่ชื่อเสียงด้านไม่ดีของเขา นิสัยที่ไม่ดีของเขา จะทำให้คนเข้าใจเราว่าคบคนชั่ว ก็เป็นเหมือนกับคนชั่วนั้น ทำให้คนเข้าใจผิดไปได้ เหมือน พระพุทธเจ้าเปรียบเสมือนงูตกถังขี้ ถ้าเราเข้าใกล้ แม้มันจะไม่กัดเรา แต่ไปใกล้ชิดกัน ก็ทำให้เปื้อนขี้ได้
พระพุทธเจ้าท่านได้เตือนไว้ให้ระวัง คนผิดศีล คนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมแต่สร้างภาพว่าปฏิบัติเหล่านี้ แม้เราจะมีภูมิคุ้มกัน ไม่ได้ทำชั่วอย่างเขา แต่เข้าไปใกล้ ไปคบหา ไปพูดคุย ก็จะทำให้มีภัยเกิดแก่ตัวเอง คนเช่นนี้จริง ๆ ก็รู้ได้ยาก เพราะเขาจะจะแสร้งว่าตนเป็นคนดี ปกปิดบิดเบือนความจริง เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านว่า “เน่าใน” อ้าว แล้วอย่างนี้เขาเน่าในแล้วเราจะไปรู้ได้อย่างไร ก็ต้องคอยสังเกตกันไปว่าเขาดีจริงอย่างที่เขากล่าวอ้างไหม เช่นอ้างว่าจะช่วยสืบสานศาสนา เข็นกงล้อธรรมจักร แต่เขาได้ลดกิเลสไหม ได้ปฏิบัติตนเพื่อลดกามหรืออัตตาไหม ถ้าไม่ใช่ก็แปลว่าตอแหล เพราะการสืบสานศาสนาคือการลดความโลภ โกรธ หลง ถึงจะคงเนื้อแท้ของศาสนาไว้ได้ หรือคนที่มีการงานลึกลับปิดบัง ทำอะไรก็จะต้องแอบคิดแอบทำ ทำกิจกรรมด้วยกันแต่ก็แอบเสพผลประโยชน์มาเพื่อตน ยักยอกประโยชน์ไว้ที่ตนหรือกลุ่มของตน ไม่ชี้แจงให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบทั้งหมด พวกนี้ก็ฝังอยู่ในหลาย ๆ กลุ่มที่มีผลประโยชน์มาก มีโลกธรรมมาก
การจะรู้จักคนผิดศีลหรือคนเน่าในนี้ได้ จะต้องใช้แว่นคือธรรมะในการส่อง การเรียนรู้ปริยัติและปฏิบัติจะทำให้สามารถรู้จักความเป็นพาลในคนพาลเหล่านี้ได้ เพราะโดยทั่วไปในสังคมนั้น คนพาลมักจะแสร้งว่าตนเป็นคนดีเสมอ ที่เจ็บปวดกันมามากมายก็เพราะหลงเชื่อคนเหล่านี้นี่แหละ แต่ก็ผิดที่เราเองที่ดูเขาไม่ออก คนพาลมีมากมายกว่าคนดีอยู่ ยังไงชีวิตก็ต้องเจอ เพียงแต่เราจะรู้ทันหรือไม่ทันเขาเท่านั้นเอง ซึ่งพอคบหาคนพาลไป แม้เขาจะแสร้งทำเป็นคนดีได้ แต่ไม่นานเขาก็จะหลุดทำชั่ว ผิดศีล เริ่มจะเน่าใน(มีความเห็นผิด) เมื่อรู้แล้ว จึงไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ แต่ถ้าหากเราไม่มีปัญญา เราไม่รู้ทันกลอุบายของเขา เราก็ติดกับดักเขาเลย แย่น้อยที่สุดก็เหมือนงูตกถังขี้เลื้อยผ่าน แต่ถ้ามันกัดขึ้นมาก็ยิ่งแล้วใหญ่ ทั้งเจ็บปวด ทั้งเหม็น ทั้งติดเชื้อ เอาจริง ๆ แค่ถังเก็บขี้หรือบ่อขี้ก็ไม่มีคนอยากเข้าใกล้อยู่แล้ว ยิ่งเป็นงูยิ่งไม่น่าเข้าใกล้ไปใหญ่ เป็นภาษาที่นำมาสื่อสภาวะ คือบ่อขี้และงูน่าเกลียด ไม่น่าคบ ไม่น่าใกล้ ยิ่งรู้สึกว่าน่าห่างไกลสองสิ่งนี้เท่าไหร่ กับคนพาลเช่นนี้ก็ควรจะรู้สึกอยากห่างไกลเท่านั้นเช่นกัน การห่างไกลสิ่งที่เน่าเหม็นและอันตราย คือความปลอดภัยและเป็นอยู่ผาสุก พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ว่า การห่างไกลคนพาลคือมงคลชีวิตนั่นเอง
2).คนที่ไม่ควรใส่ใจเป็นอย่างไร? ในพระไตรปิฎกจะใช้ภาษาว่า “คนที่ควรวางเฉย” แต่จะปรับมาเป็นภาษาที่น่าจะปฏิบัติได้ง่ายขึ้น แต่สภาวะใกล้เคียงกัน วางเฉย คือไม่เอาภาระ ไม่ต้องหยิบขึ้นมา ไม่ต้องไปสนใจ จึงปรับคำเป็นคนที่ไม่ควรใส่ใจ
คนที่เราไม่ควรใส่ใจ คือคนที่ขี้โกรธ อะไรนิดอะไรหน่อยก็น้อยใจ ถูกต่อว่า ตำหนิ ติเตือนแม้เล็กแม้น้อยก็โกรธ หงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ เจ้าคิดเจ้าแค้น อาฆาต พยาบาท โกรธแบบเน่าในหมักหมม สะสมความโกรธเกลียด ชิงชังอยู่เสมอ คนเช่นนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ว่าไม่ควรไปยุ่ง ไม่ควรไปคบ ไม่ควรแม้จะไปนั่งใกล้ ๆ คบไปก็พาให้เจอแต่เรื่องน่าปวดหัว เดี๋ยวก็ด่าคนนั้น เดี๋ยวนินทาคนนี้ ไป ๆ มา ๆ ก็วนมาด่าเรา นินทาเรานี่แหละ จะคบหาหรือเข้าใกล้ไป ก็มีแต่พลังลบ พลังกิเลสพุ่งพล่านเต็มไปหมด เคยเจอไหม คนที่ถูกติหรือมีคนทำไม่ถูกใจนิดเดียว แผลเล็กนิดเดียว แต่เอามาขยายกันใหญ่เท่าตึก และแม้เหตุการณ์จะจบไปนานแล้วก็ตาม เขาก็มักจะพูดต่อไปยาวทั้งจำนวนครั้งและความยาวนาน คนแบบนี้อยู่ด้วยก็ซวยเปล่า ๆ คนพวกนี้ท่านเปรียบเหมือนบ่อขี้ ถ้ามีไม้ไปกวนหรือมีอะไรไปกระทบ ก็จะส่งกลิ่นเหม็นฟุ้ง ดังนั้นหากเจอคนที่เดี๋ยวก็โกรธคนนั้น เดี๋ยวก็ถือสาคนนี้ เอาง่าย ๆ ว่า ถ้าเขามักจะสนใจแต่ความผิดของคนอื่น ก็ให้ห่าง ๆ ไว้ เพราะคนโกรธนี่เขาจะไม่มองตัวเอง ไม่แก้ปัญหาที่ตัวเอง เขาจะมุ่งแก้ปัญหาที่คนอื่น วันใดวันหนึ่งเขาก็จะมุ่งมาแก้ปัญหาที่เรา แม้บางทีความจริงมันจะไม่ใช่ปัญหาก็ตามที น่าปวดหัวไหมล่ะ?
การไม่ใส่ใจ การวางเฉยต่อท่าทีของผู้ที่มักโกรธ ก็เปรียบเหมือนการไม่ให้อาหารความชั่ว แม้เขาโกรธมา เราไม่ส่งเสริม(ไม่กอดคอไปนรกด้วยกัน) ไม่ผลักไส(เดี๋ยวจะเข้าตัว) แค่เราไม่ใส่ใจ ไม่ต้องไปเพิ่ม ไม่ต้องไปยุ่ง ไม่ต้องเอาภาระ คนขี้โกรธสอนกันไม่ได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะตอนที่เขากำลังโกรธ หงุดหงิด หรือกำลังนินทาใคร ตอนนั้นพลังของกิเลสกำลังพลุ่งพล่าน จึงไม่ใช่เวลาที่ธรรมะจะเติบโตได้ แม้มีธรรมที่เลิศยิ่งกว่าน้ำทิพย์ ราดรดลงไปก็เหมือนราดน้ำไปบนเหล็กร้อนแดงฉาน น้ำก็จะระเหยหายไปหมดนั่นแหละ เสียเวลาเปล่า ๆ ดังนั้นอย่าไปใส่ใจคนขี้โกรธ
3).คนที่น่าคบหาเป็นคนอย่างไร? คือ เขาเหล่านั้นเป็นคนที่มีศีล ประพฤติตามธรรม ไม่เบียดเบียน กล่าวแต่ธรรมที่พาพ้นทุกข์ พูดเรื่องที่พาให้ละ หน่าย คลาย จากความโลภโกรธหลง ท่านว่าถ้าเจอคนอย่างนี้ ให้เข้าไปคบหา ไปศึกษา ไปใกล้ชิด เพราะแม้ว่าเราจะปฏิบัติตนได้ไม่ถึง ไม่เป็น ไม่เหมือนอย่างคนมีศีลเหล่านั้นก็ตาม แต่เราก็จะมีชื่อเสียงที่ดีกระจายไปไกล ว่าเราคบคนดี เราคบคนมีศีล มีคนปฏิบัติถูกตรงเป็นมิตร ก็จะเป็นพลังบวกที่จะดึงดูดสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต คนดีเขาก็จะไม่ระแวงเพราะเราก็คบคนที่ดีมีศีล เป็นการยืนยันธรรมะในตัวเราอีกชั้นหนึ่ง นอกจากเราจะพยายามทำดีแล้ว เรายังคบหาคนดีอีก มันจะเต็มรอบ รูปจะสวย จะเป็นกุศลสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แต่ถ้าเราไปคบคลผิดศีล คนเน่าใน คนตอแหล เสแสร้ง แกล้งทำ และคนขี้โกรธ คนเหล่านี้ก็ทำให้เราเสียชื่อเสียงบ้าง สร้างปัญหาให้เราบ้าง คนอื่นเขาจะระแวงเรา ไม่มั่นใจในตัวเรานัก ทำอะไรก็ขัดข้องเพราะมีศรัทธาที่ไม่เต็มต่อกัน ความไม่มั่นใจจะดลให้เกิดความผิดพลาดและเสื่อมศรัทธาต่อกันได้ เพราะมีการคบหาคนพาลเป็นเหตุนั่นเอง
พระพุทธเจ้ายังสรุปไว้ในตอนท้ายว่า “บุรุษคบคนเลว ย่อมเลวลง คบคนที่เสมอกัน ย่อมไม่เสื่อมในกาลไหนๆ คบคนที่สูงกว่า ย่อมพลันเด่นขึ้น เพราะฉะนั้น จึงควรคบคนที่สูงกว่าตน ฯ”
จะเห็นได้ชัดเลยว่าท่านให้เลือกคบคน ท่านก็ไม่ได้บังคับ ให้อิสระ อยากเลวก็คบคนเลว ถ้าจะประกันความผาสุกก็ให้คบหาคนที่เสมอกัน แล้วถ้าอยากได้ความเจริญรุ่งเรือง ก็ให้คบคนที่สูงกว่า มีศีลมากกว่า มีใจที่พ้นทุกข์ได้มากกว่า ก็จะมีความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมเด่นขึ้นมาทันที ดังนั้น ท่านจึงและนำให้คบหาคนที่สูงกว่าไว้ในชีวิต
เพราะคนที่ไม่คบคนสูงกว่า ไม่มีคนสูงกว่าให้ศรัทธา ไม่นับถือว่าใครสูงกว่าตน คนพวกนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน แต่เขาจะไม่มีวันเจริญไปมากกว่าที่เขาเคยเป็นมา เรียกกันง่าย ๆ ว่า “โง่เท่าเดิม” ธรรมะหรือความเจริญในศาสนาพุทธนั้นจะเรียนรู้เองไม่ได้ มันจะติดเพดานกิเลส ต้องมีคนที่สูงกว่าคอยชี้นำเป็นลำดับ ๆ ไปตามฐานของแต่ละคน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอวิชชาสูตร(เล่ม 24 ข้อ 61) ว่าผู้ที่พ้นทุกข์ได้นั้นต้องเริ่มจากการคบหาสัตบุรุษ คือผู้ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ที่รู้ธรรมรู้ทางปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ และทำความพ้นทุกข์ พ้นกิเลส พ้นกาม พ้นอัตตา พ้นความมัวเมาในสิ่งเสพติดต่าง ๆ ตั้งแต่หยาบไปจนละเอียดโดยลำดับ เป็นที่นำพาไป การสัตบุรุษจึงเป็นต้นเหตุแห่งความเจริญทางธรรม
จากเนื้อหาในชิคุจฉสูตร (พระไตรปิฎก เล่ม 20 ข้อ 466 ) จะสรุปความได้ว่า เราจะต้องเลือกคบคน คนที่คบแล้วเป็นภัยก็อย่าไปคบหา อย่าไปสนิท อย่าไปนั่งใกล้ คนเหล่านี้มีแต่จะสร้างความฉิบหาย มีแต่จะทำความเดือดร้อนให้แก่เรา และเราควรจะแสวงหาคนดีมีศีล เพื่อคบหาและศึกษาเพื่อความเจริญ เพื่อความพ้นทุกข์และความไม่เสื่อมของเรา การพรากจากคนพาลและการเข้าใกล้คนดี คือประโยชน์ตนเองและประโยชน์ผู้อื่นในเวลาเดียวกัน
27.2.2563
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์