Tag: ความเบียดเบียน
การเข้าถึงนรก
วันก่อนแชร์เรื่องที่เขาเอาหมูไปต้มแบบเป็น ๆ แล้วมีเนื้อหาเกี่ยวกับ “นรก..” ก็มีคนถามว่า ” นรก คือการที่จิตตกลงไปเกิดใหม่ในสภาพนี้หรือเปล่า”
ก็ตอบว่า ใช่
นรกคือ จิตที่เกิดสภาพเป็นทุกข์ เดือดร้อนกายใจ ไม่ว่าจะสวมเนื้อหนังแบบใด แต่ถ้าจิตเข้าถึงความทุกข์ร้อนกระวนกระวาย ก็คือจิตไปเกิดในนรก
การเข้าถึงนรก ก็ไม่ใช่แค่ว่าต้องตายจากโลกนี้ไปแล้วไปนรก สภาพของนรกนั้นเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ก็ตามแต่วิบากกรรมของแต่ละคน บางคนก็นรกน้อย บางคนก็นรกมาก ลึกตื้นหนาบางไปตามกรรมกิริยาที่ทำมาและกำลังทำอยู่
นรกคือความเดือดเนื้อร้อนใจ การเดือดเนื้อ หรือเนื้อเดือดอย่างหมูที่ถูกต้มทั้งเป็น ก็เป็นทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ แต่อาการร้อนใจนั้นเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ กำจัดให้หมดไปได้
ดังนั้นศาสนาพุทธจึงมุ่งดับความร้อนใจ อันเป็นนรกเผาใจให้ทุกข์ร้อน และฝึกฝนปฏิบัติเพื่อปรับใจให้ยินดีเต็มใจรับความเดือดเนื้อ ลำบากกาย ด้วยเหตุแห่งวิบากกรรมด้วยความเต็มใจ
เพราะกรรม ทำแล้วจะไม่ส่งผลเป็นไม่มี กรรมทำแล้วต้องรับผลกรรม หนีไม่ได้ แถมมันไม่ต่อรองกับเราอีกต่างหาก ถึงเวลาวิบากกรรมชั่วส่งผล ก็จะมีแต่ทุกข์ร้อนเหมือนตกนรก นั่งห้องแอร์เย็นฉ่ำแต่ร้อนใจอยู่ไม่เป็นสุขก็มี
สรุปก็คือ นรกคือสิ่งที่สร้างขึ้นมาเอง ถ้าไม่อยากตกนรก ก็เลิกสร้างเหตุแห่งนรก คือความเบียดเบียนทั้งหลาย ทางกาย วาจา ใจ ต่อตนเองและผู้อื่น
เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์
เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์
ย้อนไปเมื่อราวๆ 3 ปีก่อน ตอนที่ผมยังไม่รู้จักธรรมะ ผมใช้ชีวิตแสวงหาความสุขโดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือการสร้างความเบียดเบียนให้กับผู้อื่น ผมได้ถูกโลกและกิเลสมอมเมาอยู่จนกระทั่งได้พบกับความจริง 4 ประการ ที่เป็นเหตุให้ผมหลุดออกจากความเวียนวนหลงเบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อตนได้
1.ความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์
ผมรู้จักการไม่กินเนื้อสัตว์ครั้งแรกในชีวิตก็อายุเกือบ 30 ปี ก่อนหน้านี้มีเทศกาลเจ ฯลฯ ก็ไม่ได้สนใจอะไรกับเขาหรอก ไม่ได้รังเกียจอะไรหรอกนะ ยินดีด้วย แต่ก็ไม่ได้คิดสนใจ เพราะไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของมัน จนกระทั่งตนเองได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมกับเครือข่ายคนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาที่วัดป่าสวนธรรม ซึ่งที่วัดก็ไม่กินเนื้อสัตว์ เวลาสามวันที่ร่วมกิจกรรม ทำให้ผมเกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็มีชีวิตอยู่ได้ นี่คือความจริงข้อแรก
2.ความจริงที่ว่า การกินเนื้อสัตว์นำไปสู่การเบียดเบียน
หลังจากนั้นแม้จะรู้ว่าไม่กินเนื้อสัตว์ก็อยู่ได้ นำไปสู่การปรับเมนูอาหารบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเลิก เพราะยังไม่ชัดในโทษภัยของการกินเนื้อสัตว์ ต้นปี 2556 ได้ไปเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม ในค่ายสุขภาพนั้นไม่กินเนื้อสัตว์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ได้รับจากค่าย ที่ทำให้ยินดีเลิกเนื้อสัตว์คือ สื่อวีดีโอ “ชีวิตร่ำไห้” เป็นการนำเสนอเรื่องราวของการเบียดเบียนสัตว์เพื่อที่จะต้องมาสนองการดำรงอยู่ของมนุษย์ ผมได้เกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า หากเรายังกินเนื้อสัตว์อยู่ สัตว์นั้นจะต้องถูกเบียดเบียนและเป็นทุกข์เพราะเรา นั่นคือสิ่งที่ไม่ควรเลย เมื่อเข้าใจความจริงข้อนี้เพิ่มเติม ผมจึงตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์
3.ความจริงที่ว่า ความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นทุกข์
เมื่อตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์ จึงได้พบความจริงอีกข้อคือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” นั้นเป็นทุกข์ เมื่อเราอยากกินเราก็ต้องไปเสาะหาเนื้อสัตว์มาเสพ แถมยังต้องหาเหตุผลที่ดูดีเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกผิดในการกินเนื้อสัตว์ ซ้ำร้ายบางทียังอาจจะเฉโกออกไปในทิศทางที่เรียกว่า “ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ขยันเสพกาม” อีกด้วย คือปากก็พูดว่าไม่ยึด แต่ก็ไม่หยุดกินเนื้อสัตว์
โชคยังดีที่ผมไม่ได้มีอาการเฉโกเหล่านั้น ตนเองนั้นเป็นคนที่ซื่อสัตย์ยอมรับความจริงตามความเป็นจริง อยากกินก็ยอมรับว่าอยากกิน ยังเลิกไม่ไหวก็ยอมรับว่ายังไม่ไหว ไม่ได้ปั้นแต่งข้ออ้างใดๆมาทำให้ตนได้เสพอย่างดูดี
แต่กระนั้นก็ยังต้องทุกข์เพราะกิเลสที่เคยมี ความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นอร่อย มีคุณค่า ฯลฯ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดขาดได้ในทันที เราจำเป็นต้องปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง เพื่อที่จะถอนลูกศรที่ปักมั่นอยู่ในจิตใจ อันคือ ตัณหา (ความอยากกินเนื้อสัตว์) ให้ออกให้ได้ก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการแก้ปัญหาที่ตัณหา เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
ในท้ายที่สุดผมค้นพบว่า “ความอยาก” ที่รุนแรงถึงขนาดต้องเป็นเหตุให้พรากชีวิตสัตว์อื่นนี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าอาย ไม่น่ายึดไว้ ไม่น่าคบหา เราไม่ควรมีมันอยู่ในจิตวิญญาณ ความอยากขั้นนี้มันหยาบเกินไปแล้ว มันเบียดเบียนมากไป มันสร้างทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่น จะยังแบกไว้อีกทำไม ผมจึงตั้งมั่นในการเลิกคบกับความอยากกินเนื้อสัตว์ตลอดกาล
4.ความจริงที่ว่า การหลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นยิ่งกว่าสุข
หลังจากได้ปฏิบัติธรรมเพื่อถอนตัณหา คือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ออกจากจิตใจแล้ว จึงค้นพบความจริงอีกข้อที่ปรากฏขึ้นมาภายหลัง ข้อนี้ไม่ใช่เหตุเหมือนกับความจริง 3 ข้อแรก แต่เป็นผลจากการเห็นความจริงในการปฏิบัติ 3 ข้อแรก
จากตอนแรกที่เคยเข้าใจว่า ถ้าเราขาดเนื้อสัตว์เราจะต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ เราต้องสละสุขจากการเสพ กลายเป็นผู้ที่ขาดทุนชีวิตเพราะไม่ได้เสพสุขตามที่โลกเข้าใจ
แต่ความจริงนั้นไม่ใช่เลย การหลุดพ้นจากความอยากนั้นยิ่งกว่าสุขที่เคยเสพเสียอีก จะเอาสุขเดิมมาแลกก็ไม่ยอม เพราะมันเทียบกันไม่ได้ เหมือนเอาเงิน 1 บาท ไปซื้อโลก มันซื้อไม่ได้อยู่แล้ว คุณค่ามันเทียบกันไม่ได้ จะเปรียบเทียบไปมันก็จะด้อยค่าเกินจริงไป เพราะคุณค่าของการหลุดพ้นจากความอยากนั้นยากที่จะหาสิ่งใดมาเทียบได้
เราไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่จำเป็นต้องไปทำอกุศลเพราะต้องหาสิ่งที่เบียดเบียนมาบำเรอตน เราจะเป็นอิสระจากความอยาก ไม่จำเป็นต้องสร้างเหตุผลอะไรมาเพื่อให้ได้เสพสมใจอีกต่อไป มีแต่กุศลและอกุศลตามความจริงเท่านั้น
จะเหลือเพียงแค่ทำสิ่งที่เป็นกุศลตามความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็อยู่ได้ เป็นความจริงข้อหนึ่งที่เน้นการพึ่งตน เลี้ยงง่ายกินง่าย มักน้อย ใจพอ มีเพียงแค่พืชผักก็พอเลี้ยงชีวิต ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์มาเป็นส่วนเกินให้เสียเงิน เสียสุขภาพ เสียเวลาหา เสียเวลาประกอบอาหาร และความจริงที่ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทาน ถ้าเรากิน เขาก็ยังต้องฆ่าเพื่อมาขาย ดังนั้นเมื่อเราไม่มีความอยาก เราก็ไม่จำเป็นต้องกินให้เป็นการส่งเสริมการฆ่า เป็นการหยุดอกุศลกรรม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี
เมื่อเราไม่มีความอยาก เราจะมีจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น โอนอ่อนไปตามกุศล หลีกหนีจากอกุศล ไม่ใช่ลักษณะที่ยึดว่าจะต้องกินอะไรหรือไม่กินอะไร แต่จะเป็นไปเพื่อกุศล เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียน เป็นไปเพื่อความพราก เป็นไปเพื่อความมักน้อย ขัดเกลา เกื้อกูล ตลอดจนสิ่งต่างๆที่นำมาซึ่งความเจริญทางจิตวิญญาณทั้งหลาย
….พอผมได้พบเจอความจริงตามนี้ มันก็เลิกกินเนื้อสัตว์ไปเอง ไม่รู้จะหาเหตุผลไปกินทำไม เพราะดูแล้วไม่เห็นมีอะไรดีเลย ไม่กินก็อยู่ได้ กินก็ไปเบียดเบียนทั้งตนเองและสัตว์อื่นอีก
สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหานั้นคือ “ตัณหา” เพราะความอยากกินเนื้อสัตว์ จะสร้างเหตุที่จะต้องไปกินเนื้อสัตว์อีกเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น ทั้งๆที่ความจริงมันไม่จำเป็น แต่ตัณหาก็สร้างความลวงขึ้นมาบังความจริง ให้มันจำเป็น ให้มันสุขเมื่อได้เสพ ให้มันเป็นคุณค่า ให้มันเป็นชีวิตจิตใจของคน ให้มันยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์นั้นต่อไป
หากคนนั้นยังมี “ความอยากกินเนื้อสัตว์” ก็ไม่มีทางหนีทุกข์พ้น ถึงจะกดข่มไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นทุกข์ แม้จะได้กินก็ทุกข์เพราะสะสมอุปาทานและอกุศลวิบากเพิ่ม สรุปคือหากยังมีตัณหาถึงจะได้เสพหรือไม่ได้เสพก็ต้องรับความทุกข์ไปตลอดกาล
– – – – – – – – – – – – – – –
2.1.2559
โสด ไม่เบียดเบียน
โสด ไม่เบียดเบียน
สัตว์โลกนั้นเบียดเบียนกันด้วยความอยากเป็นธรรมดา เพื่อที่เราจะเบียดเบียนกันได้อย่างสบายใจ เราจึงสร้างความลวงขึ้นมาบดบังความจริง ดังเช่นว่าการมีครอบครัวเป็นสุข เพื่อปิดบังความจริงที่ว่าการมีครอบครัวนั้นเบียดเบียน คับแคบ เป็นทุกข์ แต่ก็ต้องทำเพราะเหตุแห่งความอยากนั้นเอง
เมื่อเราอยากได้อยากเสพอะไรมากๆ เราจะพยายามหาข้อดีของมัน พยายามปั้นแต่งประโยชน์ต่างๆนาๆ เพื่อที่จะได้เสพสิ่งนั้นโดยไม่ต้องรู้สึกผิด ซึ่งเป็นธรรมชาติของกิเลสที่จะสร้างความลวงให้คนหลงผิดติดยึดในสิ่งที่เป็นภัยต่อชีวิตมากขึ้น
แท้จริงแล้วการมีครอบครัวนั้นคือความเบียดเบียน เป็นความคับแคบ เป็นบ่วงที่คล้องคอไว้ เป็นภาระของชีวิต แม้เราจะพยายามปั้นข้อดีมากมายของการมีครอบครัว แต่ความจริงก็คือความจริง ว่าการมีครอบครัวนั้นไม่สบายเท่าความเป็นโสด
เมื่อเราอยู่เป็นโสด เราก็ไม่จำเป็นต้องเบียดเบียนทรัพย์สิน ร่างกาย เวลา และจิตใจของใคร เราต่างอยู่เป็นอิสระในพื้นที่ที่เรามี ไม่ไปก้าวก่ายชีวิตใครโดยไม่จำเป็น
แต่เมื่อเรามีครอบครัว เราก็จำเป็นต้องเบียดเบียนทรัพย์สิน ร่างกาย เวลา และจิตใจของกันและกัน พากันเสพสุขตามกิเลสก็เป็นการพากันไปทางเสื่อม ทะเลาะเบาะแว้งกันก็เป็นการพากันทำชั่ว การมีครอบครัวจึงกลายเป็นเบียดเบียนกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งเรามักจะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เป็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด เมื่อถูกชี้โทษของการมีครอบครัวให้เห็นดังนี้แล้ว กิเลสข้างในก็ยังจะสามารถสร้างเหตุผลที่สวยงามและประโยชน์มากมายของการมีครอบครัวขึ้นมาได้ ทั้งหมดนั้นเพราะเรามีความอยาก คือตัณหา คือความแส่หา คือความใคร่อยากเสพ พออยากเสพสุขมากๆ แล้วมีคนมาบอกว่าสิ่งนั้นเป็นโทษเป็นภัย …ด้วยกำลังจิตที่น้อย ต่อต้านกิเลสไม่ไหวจึงไม่สามารถทำใจในใจพิจารณาตามให้ทันว่าเหตุเกิดแห่งความทุกข์นั้นคือที่ใด
เมื่อได้รับข้อมูลว่าการมีครอบครัวเป็นทุกข์ แทนที่จะพิจารณาไปถึงที่เกิดว่า “ความอยากของเรานี้สร้างทุกข์” แต่มักจะเห็นและเข้าใจว่า “การถูกห้ามไม่ให้มีครอบครัว และการถูกชี้โทษนี่แหละเป็นทุกข์” ซึ่งเป็นการมองปัญหาคนละจุด กรณีแรกคือการมองกิเลสเป็นปัญหา กรณีที่สองคือมองธรรมะเป็นปัญหา พอมองธรรมะเป็นสิ่งผิด สุดท้ายก็เลยจับมือกับกิเลส ถล่มธรรมะจนสิ้นซาก ตอกตะปู ปิดฝาโลง ฝังความเจริญในทันที
แค่มีความอยากก็เบียดเบียนตนเองด้วยความเห็นผิดมากพออยู่แล้ว การที่เราจะไปหาคนผู้โชคร้ายมาสนองความอยากของเรา มาสนองความเชื่อที่ผิดของเรา นั่นยิ่งเป็นการเบียดเบียนที่มากกว่า
น่าสงสารว่าที่คู่ครองที่ต้องมาแบกรับความอยากปริมาณมหาศาลของเรา เพราะแค่กิเลสของตัวเองก็มากมายพออยู่แล้ว ยังต้องมาบำรุงบำเรอกิเลสของกันและกันอีก นี่มันจะพาชั่วเบียดเบียนกันเข้าไปใหญ่
ดังนั้นการเป็นประพฤติตนให้เป็นโสดจึงเป็นสุขที่สุด เพราะไม่ต้องเบียดเบียนตนเองด้วยความเห็นผิด ไม่ต้องเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกิเลสของเรา และไม่ไปสร้างตัวอย่างของความสุขที่หลอกลวงให้สังคมและโลกได้หลงผิดตามๆกันไปอีกด้วย
– – – – – – – – – – – – – – –
1.12.2558