Tag: ความเจริญ

การปฏิบัติธรรมต้องมีลำดับ

March 1, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,689 views 0

การปฏิบัติธรรมต้องมีลำดับ

การปฏิบัติธรรมต้องมีลำดับ

การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานั้นต้องมีลำดับขั้นตอน มีความเจริญในมรรคผลสืบต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่ใช่การปฏิบัติเพื่อหวังบรรลุธรรมในทันที แบบไม่มีขั้นตอน ไม่มีลำดับ

เหมือนกับการจะได้ผลไม้สักหนึ่งลูก ต้องเริ่มจากการเตรียมดิน ถางวัชพืช ก็มีมรรคคือการถางวัชพืชและผลคือวัชพืชหายไป จนกระทั่งผสมดินเพื่อเตรียมปลูกก็จะมีมรรคผลเป็นลำดับ จนกระทั่งเพาะเมล็ด เลี้ยงดู ใส่ปุ๋ย รดน้ำ ก็จะมีมรรคผลเกิดขึ้นโดยลำดับ มีความเจริญโดยลำดับ มีความสำเร็จโดยลำดับ จนกระทั่งสุดท้ายได้ผลไม้นั้นมากินเป็นผลสูงสุดที่คาดหวังไว้ ก็เกิดขึ้นได้เพราะมีการปฏิบัติโดยลำดับ

หากเราต้องการแค่ผลไม้ จะใช้เงินซื้อมาหรือหาเก็บเอาก็ได้ แต่ผลทางโลกุตระนั้นไม่ได้หากันง่ายๆ ความเจริญทางจิตวิญญาณนั้นต้องทำเอาเอง ต้องมีการถากถางกิเลสหยาบๆ ออกไปก่อน ปฏิบัติจนกระทั่งเกิดผลเจริญงอกงามขึ้นในจิตใจตนเองเรื่อยๆ ปลดเปลื้องกิเลสในใจตนเองออกไปเรื่อยๆ โดยลำดับ

การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานั้นไม่ได้หมายความว่าทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ ทำอยู่เรื่องเดียวทั้งปีทั้งชาติจะบรรลุผล เหมือนกับการปลูกผลไม้ จะถางหญ้าอยู่อย่างเดียวทั้งปีทั้งชาติไม่ให้หญ้าขึ้นเลยนั้นก็ได้ผลเพียงแค่หญ้าไม่ขึ้น แต่ยังไม่ปลูกต้นไม้ จึงไม่มีวันได้ผลไม้ เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรมที่ผิด หลงเอาความสงบของจิตใจโดยการกดข่ม ฝืนทน กำหนดจิต เพ่งจิต รวมจิต ฯลฯ มาเป็นผล ก็คงจะได้ผลเพียงแค่วัชพืชไม่ขึ้น แต่จะให้ได้ผลไม้มากินก็คงไม่ใช่ เช่นเดียวกันกับการหวังให้ได้ความสงบในจิตใจชั่วครู่ก็คงหวังได้ แต่จะให้จิตนั้นหลุดพ้นจากกิเลสก็คงจะเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน

การปฏิบัติธรรมของพุทธนั้น จำเป็นต้องรู้จักเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย รู้ว่าอะไรหยาบ อะไรละเอียด ปฏิบัติจากหยาบไปก่อนแล้วค่อยไปละเอียด กิเลสหยาบๆ เอาออกให้ได้ก่อน สิ่งที่เบียดเบียนมาก เป็นภัยมาก อาการทางร่างกาย ทางวาจา หยุดให้ได้ก่อนแล้วค่อยไปดับกิเลสในใจที่หลงผิด ไม่ใช่จะไปละเอียดได้โดยไม่ผ่านหยาบ ปฏิบัติลัดชั้นตอน ปฏิบัติไม่มีลำดับ ก็เรียกได้ว่าหลงทาง

– – – – – – – – – – – – – – –

1.3.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ค่าสนองตัณหา : ความเสื่อมในความมั่งคั่งและความเจริญในความจน

February 8, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,876 views 0

ค่าสนองตัณหา : ความเสื่อมในความมั่งคั่งและความเจริญในความจน

ค่าสนองตัณหา : ความเสื่อมในความมั่งคั่งและความเจริญในความจน

เราเคยนึกกันหรือไม่ว่า ความอยากแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นของเรานั้น ต้องถูกสนองไปด้วยทรัพยากรเท่าไหร่ ผลาญเงินกันไปกี่บาท กี่ครั้งกี่หนแล้วที่เราต้องจ่ายเงินให้กับการบำบัดความทุกข์ที่เรียกว่าความอยาก(ตัณหา)

หากเรามีเงินมากมายมหาศาล เรื่องราวต่อไปนี้คงจะไม่ใช่เรื่องน่าสนใจเลย แต่ในความจริงนั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะร่ำรวยเงินทอง และเหล่าคนผู้ที่แสวงหาความเจริญทางจิตใจ ย่อมละทิ้งหนทางที่จะเจริญไปในทางโลก คือไม่ยินดีในความร่ำรวยเงินทอง เพราะรู้ดีว่า การมีเงินมากคือภาระ และร้ายยิ่งกว่านั้นคือเราจะไม่สามารถรับรู้ถึงโทษภัยของความอยากได้ง่ายนัก เพราะมีทรัพยากรที่นำมาใช้สนองความอยากเหล่านั้นให้สงบลงไปนั่นเอง

สาวกของพระพุทธเจ้าจึงมีการปฏิบัติที่ห่างไกลจากเงินโดยลำดับ ถ้าคนทั่วไปมุ่งหน้าแสวงหาเงินทอง ผู้มาศึกษาใหม่ก็อาจจะลดความโลภได้บ้าง แต่ก็ยังหวงเงินอยู่มาก พัฒนาขึ้นมาก็มีเงินเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ เก่งขึ้นมาอีกก็อยู่ได้โดยไม่ใช้เงินเลย และถ้าเป็นนักบวชนี่ต้องจริงจังถึงขั้นฝึกปฏิบัติด้วยการไม่พึ่งพาเงินเลย ให้พึ่งพาธรรมะนำพาชีวิตตัวเองไปแทน ตั้งแต่เริ่มต้นบวชกันเลยทีเดียว ถือว่าเป็นผู้เอาจริงเอาจังที่จะสละทางโลก

เมื่อเรามีเงินน้อย หรือไม่มีเงินเลย การจะได้บางสิ่งบางอย่างมานั้น จะต้องประหยัดรัดกุมมากขึ้น สมมติว่าเรามีเงินหนึ่งล้านบาท การจะ ”ซื้อขนม” ยี่สิบบาทมากิน ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่จะต้องคิดให้เปลืองสมอง ขนาดเงินตกร้อยหนึ่งก็คงจะยังรู้สึกเฉยๆ ปล่อยวางได้ง่ายๆ

แต่ถ้าทั้งตัวเรามีเงินเหลืออยู่หนึ่งร้อย การจะไป “ซื้อขนม” ยี่สิบบาทกินนั้น ก็ต้องใช้การคิดทบทวนมากขึ้น และสำหรับผู้ที่ไม่มีเงินเป็นของตัวเอง การจะได้มาซึ่งขนมยี่สิบบาทนั้น ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้มาเองโดยธรรม ก็ต้องใช้ความฉลาดของกิเลสตะล่อมเอามาแทนก็จะเป็นการปะทะกันระหว่างธรรมะกับอธรรม คือจะอดทนอดกลั้นต่อความอยากได้ไหม หรือจะอยากจนใช้กลอุบายเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้อยากเสพโดยที่ดูเผินๆแล้วไม่ผิดอะไร

ขนมอย่างเดียวกันแต่การที่เรามีทรัพยากรต่างกันนั้น ทำให้เกิดความแตกต่าง ถ้าเรามีทรัพยากรไม่จำกัด เราก็ไม่ต้องใช้สมองไปสนใจเลยว่าสิ่งใดจำเป็นหรือไม่จำเป็น เราชอบสิ่งไหนเราก็หามาเสพได้ทั้งหมด แต่การมีทรัพยากรน้อยนั้น ต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองให้ดีว่า มันสำคัญจริงไหม ความอยากกินขนมของเรานั้นคุ้มค่ากับเงินที่เราจ่ายไปจริงหรือ? มันเป็นประโยชน์ขนาดที่เราต้องยอมจ่ายไปจริงหรือ?มันเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์จริงหรือ? หรือยิ่งเสพก็ยิ่งอยาก ยิ่งอยากก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งทุกข์ก็ยิ่งต้องหาทางให้ได้เสพ สุดท้ายก็แสวงหาปัจจัยเพื่อให้ตนเองได้เสพสมใจอยาก วนเวียนอยู่เช่นนี้

ดังนั้น “คนรวย” จึงไม่มีเหตุปัจจัยที่ ”เอื้อ” ต่อความเจริญทางจิตใจที่เรียกว่า “ความจน” พระพุทธเจ้าท่านพาสาวกมาจน ให้มีปัจจัยสี่ที่น้อย เพราะจะเป็นการขัดเกลา ให้ใจพอ ให้พอเพียง ให้เกิดปัญญารู้ว่าแค่มีเพียงเท่านี้ก็สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข หากดำรงตนอยู่ในธรรมไม่ใช่ความจนที่เกิดเพราะไม่ขยัน ไม่มีปัญญาหาเลี้ยงชีพ หรือจนเพราะติดเหล้าติดพนัน แต่เป็นความจนที่ตั้งใจให้เกิดเพื่อการขัดเกลาความอยาก

แน่นอนว่าการมีน้อยใช้น้อยนี้ไม่สามารถทำได้สำหรับทุกคน แต่จะต้องเป็นผู้ที่มีศรัทธาตั้งมั่น ตั้งใจขัดเกลาปฏิบัติตนให้หลุดพ้นจากความโลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก ยากตั้งแต่จะรู้จัก ยากแม้แต่จะทำความเข้าใจ ยากที่จะเข้าถึง ยากที่จะรู้จริง

ดังนั้นเมื่อธรรมะนั้นเข้าถึงได้ยาก ต้องขัดเกลา ต้องอดทนอดกลั้น ต้องประหยัด ต้องทรมานกิเลส ต้องทุกข์เพราะต้องสู้กับกิเลส เมื่อมันยากเย็นแสนเข็ญเช่นนี้ คนจึงหันหน้าไปสู่อธรรม เป็นทางที่พาไปเสพสุข ไปมัวเมา ไปหาความมั่งคั่งร่ำรวย เพื่อที่จะได้มีเสพมีใช้อย่างไม่มีวันหมด เหล่านี้คือวิธีแก้ปัญหาแบบโลกีย์ทั่วไป

ไม่ว่าจะชาวบ้าน คนเมือง หรือมหาเศรษฐี ต่างก็สามารถคิดได้ว่าเงินคือคำตอบในชีวิต เพราะความอยากของเขาเหล่านั้นต้องใช้เงินมาเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน และมักจะมีความเห็นว่า เมื่อมีเงินจึงมีความสุข ไม่มีเงินก็เป็นทุกข์เพราะไม่ได้เสพสุข โดยที่เขาไม่ได้รู้ไปถึงต้นเหตุที่แท้จริงว่า “ความอยากคือตัวการทำให้เกิดทุกข์

เขาเพียงเข้าใจกันแค่ว่า ถ้าเรา “สนองความอยาก” เราจะเกิด “ความสุข” ซึ่งในความเป็นจริงความสุขนั้นก็คือความทุกข์ที่ถูกคลายลงเท่านั้น เป็นเพียงสภาพของปิศาจ(ตัณหา) ที่สงบเพราะได้เครื่องบรรณาการเท่านั้นเอง แท้จริงแล้วปิศาจตัวนั้นยังอยู่ มันยังคอยเรียกร้องอยู่เสมอ ถ้าไม่ให้ตามที่มันสั่ง มันก็จะทรมานเรานี่คือความทุกข์ที่เกิดเมื่อไม่ได้เสพที่ตามอยาก

ดังนั้นคนที่ใช้เงินมาบำเรอสุขตัวเองมากๆ ก็ไม่ต่างอะไรจากคนที่เลี้ยงปิศาจในจิตใจของตัวเองจนมันอ้วน มันแข็งแกร่ง มันฉลาด มันสอนให้เราไปเอาเปรียบ ไปหาเงินมามากๆ ทำสิ่งที่ได้กำไรมากๆ ไม่ว่าจะผิดกฎหมาย, ผิดศีลธรรม, เป็นอบายมุข, มอมเมาคน, เป็นสิ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ฯลฯ ทั้งหมดนั้นไม่ใช่สิ่งที่มันสนใจ มันต้องการเพียงแค่ได้รับการสนองทุกๆความต้องการของมันเท่านั้น

ในทุกวันนี้ เราเสียเงินให้กับการสนองความอยากเท่าไหร่ นั่นคือเรากำลังให้อาหารปิศาจในจิตใจของเรา เลี้ยงให้มันอ้วน ให้มันแข็งแกร่ง ให้มันบีบคั้นเราให้ทุกข์มากขึ้นเมื่อไม่ได้เสพ ให้เราต้องหามาเสพ ให้เราเป็นยิ่งกว่าคนติดยา ให้ตกเป็นทาสของปิศาจนั้น

เรามักจะไม่ได้มองการสนองความอยากเป็นตัวเงินที่เสียไป ว่าวันนี้ฉันเสียเงินให้กับความอยากไปเท่านั้นเท่านี้ แต่มักจะมองว่าวันนี้ฉันซื้อความสุขไปเท่านั้นเท่านี้ คือไปมองในด้านที่เป็นผลจากการสนองความอยาก ไม่ได้มองความอยากเป็นปัญหา ซ้ำร้ายยังไปมองว่าการสนองความอยากที่ได้ทำลงไปนั้นเป็นประโยชน์ หรือถึงจะเป็นทุกข์เพราะไม่ได้สิ่งสนองตามความอยาก ก็จะไม่โทษความอยาก แต่จะโทษเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ไม่ได้สมใจในสิ่งที่อยากได้อยากเสพนั้น เช่น เงินไม่พอ ของไม่มีขาย แบบที่ชอบไม่มี ไม่มีเวลาไปซื้อ ฝากเขาซื้อแล้วไม่ยอมซื้อให้ ฯลฯ

ความอยากของเด็กที่อยากกินไอติมสักแท่ง เพียงแค่ไม่กี่สิบบาท ก็คงพอจะทำให้หายทุกข์จากความอยากไปได้เป็นครั้งคราว แต่ความอยากของเด็กคนเดิมที่โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ผ่านมาหลายสิบปี ไอติมแท่งเดียวมันพอให้หายอยากไหม? หรือต้องใช้บ้าน ใช้รถ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ใช้ชื่อเสียง ใช้คำสรรเสริญเยินยอ ใช้คู่ครอง และสิ่งต่างๆ อีกมากมายเข้ามาบำบัดความอยาก สิ่งเหล่านั้นผลาญเงินไปเท่าไหร่ นี่คิดแค่เรื่องเงินนะ ยังไม่คิดเรื่องเวลา สุขภาพ ปัญญา หรือเรื่องกรรมอีก

หากเรายังมุ่งหน้าแสวงหาเงินมาบำบัดทุกข์บำเรอสุขลวงอยู่เช่นนี้ ยากนักที่เราจะเห็นความร้ายกาจของความอยาก ศาสนาพุทธไม่เคยสอนให้คนมุ่งหน้าไปสู่ความรวยเพื่อขัดเกลา แต่ให้พากันจนเพื่อขัดเกลาตนเอง เพราะความจน ความประหยัดนี่แหละที่จะทำให้เห็นร่างของปิศาจที่แอบซ่อนอยู่ในจิตใจของเรานี้ได้ชัดเจนขึ้น

เพื่อที่เราจะได้แก้ปัญหากันอย่างถูกจุด ไม่ใช่การหลงว่าการทำตามความอยากนั้นคือการทำให้หมดปัญหา ทำให้เกิดความสุข แต่การทำลายความอยากอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ต่างหากคือสิ่งที่ควรศึกษา ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว เราก็คงจะเป็นทาสที่คอยวิ่งตามคำสั่งของความอยาก ไม่ว่าจะรวยหรือจนถ้ายังมุ่งแก้ปัญหาทุกข์จากความอยากด้วยการหามาเสพอยู่ ก็ไม่มีวันพ้นไปจากทุกข์ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

7.2.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

December 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 11,536 views 0

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ณ การประชุมมังสวิรัติ เอเชีย แปซิฟิก ( APVC ) ครั้งที่ 7 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2558

บทคัดย่อ

ธรรมชาติของสัตว์นั้นย่อมเบียดเบียนกันเป็นธรรมดา แต่ธรรมชาติของผู้ที่จะพ้นจากความเป็นสัตว์ ไปสู่ความเจริญโดยลำดับย่อมละเว้นการฆ่าและการเบียดเบียน

สัตว์นั้นล่าและหากินโดยสัญชาติญาณ เพราะความหิวจึงทำให้มันต้องเบียดเบียน การล่าของสัตว์นั้นก็เพียงเพื่อดำรงชีวิตไปวันต่อวัน เป็นการกินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน เป็นไปตามธรรมชาติของผู้ล่า ที่จะต้องล่าเพื่อดำรงชีวิต

แต่มนุษย์นั้นต่างออกไป ในปัจจุบันมนุษย์ไม่ได้ล่าสัตว์ไว้กินเพื่อดำรงชีวิต แต่เป็นการเข้าไปควบคุมชีวิตสัตว์ ควบคุมการเกิด การเติบโต การแก่ และการตายของสัตว์ ให้เป็นไปในความต้องการของตน วางบทบาทไว้เป็นยิ่งกว่าผู้ล่า ให้อยู่เหนือสัตว์ทั้งปวง โดยอ้างสิทธิ์ต่างๆในการควบคุมชีวิตสัตว์เหล่านั้น และเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่มนุษย์ยัดเยียดให้กับสัตว์

การที่มนุษย์ยังเบียดเบียนอยู่นั้นก็เพราะกิเลส เราควบคุมสัตว์เหล่านั้นเพราะกิเลส เรากินสัตว์เหล่านั้นเพราะกิเลส เป็นไปตามธรรมชาติของผู้มีกิเลส แต่ไม่ใช่ธรรมะของผู้ที่จะก้าวสู่ความพ้นทุกข์

ผู้ที่จะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืนโดยลำดับ ย่อมศึกษาเพื่อที่จะละเว้นจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เพราะการเบียดเบียนเหล่านั้นคือเหตุแห่งทุกข์

บทบรรยาย

ธรรมชาติของผู้เบียดเบียน

ธรรมชาติของผู้เบียดเบียน

สัตว์นั้นมีความเบียดเบียนกันเป็นธรรมชาติ นกล่าหนู สิงโตล่ากวาง เราอาจจะได้เห็นภาพที่น่าสยดสยองจากการล่า แต่นั่นก็ไม่น่ากลัวเท่ากับการเบียดเบียนของคน คนนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าสัตว์ ฉลาดกว่าสัตว์ จึงใช้ความฉลาดนั้นในการเบียดเบียนได้มากกว่า

การเบียดเบียนของคนที่มีต่อสัตว์นั้น คือการเข้าไปควบคุมชีวิตสัตว์ตั้งแต่กระบวนการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทำตัวเสมือนพระเจ้าที่ชี้เกิด ชี้เป็น ชี้ตายแก่สัตว์เหล่านั้นได้ อุปโลกน์สิทธิ์ขึ้นมาว่า “ฉันนี้มีอำนาจในการจัดการชีวิตเธอ” สัตว์มันไม่เกิดก็ไปข่มขืนให้มันเกิด สัตว์ใดไม่มีประโยชน์ก็ยัดเยียดความตายให้มัน นี้คือความเบียดเบียนของคนผู้หนาไปด้วยกิเลส

เพราะคนมีความรัก โลภ โกรธ หลง คือรักที่จะเสพสุขในเนื้อสัตว์นั้น โลภอยากได้เนื้อสัตว์มาบำเรอตนตลอดไป ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์ก็จะโกรธและหงุดหงิด เพราะคนนั้นหลงว่าเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นมีคุณ หลงในรสเนื้อสัตว์ จึงทำให้คนต้องเบียดเบียนสัตว์เพื่อมาสนองตัณหาของตน ธรรมชาติของผู้เบียดเบียนจึงเป็นเช่นนี้

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ศาสนาพุทธนั้นไม่ยินดีในความเบียดเบียน แม้ศาสนาใดในโลกต่างก็ไม่ยินดีในความเบียดเบียน กระทั่งกลุ่มคนที่ไม่มีศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาใดๆ ก็ยังมีจิตที่จะเว้นขาดจากการเบียดเบียน ดังนั้นการไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยการกินเนื้อของมัน จึงเป็นศีลธรรมพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ สามารถเข้าใจกันได้โดยสามัญ เป็นเรื่องที่จะทำให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกซึ่งในตอนนี้เราก็จะกล่าวกันเฉพาะการไม่เบียดเบียนในมุมมองของพระพุทธศาสนา

ผู้ไม่ทำร้ายและไม่เบียดเบียน

ในบทโอวาทปาติโมกข์ (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ข้อ ๕๔ ) ได้มีตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต” ศาสนาพุทธไม่ได้กำหนดว่านักบวชคือผู้โกนผมห่มผ้า การเป็นนักบวชนั้นเป็นได้ด้วยการประพฤติตนให้อยู่ในคุณอันสมควร การไม่ทำร้ายเป็นคุณสมบัติหนึ่งของนักบวชในศาสนาพุทธ ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นอยู่แม้จะเป็นผู้โกนผมห่มผ้าก็ไม่เรียกว่าเป็นนักบวช

ที่เข้มข้นไปกว่านั้น คือ “ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ” สมณะหมายถึงผู้สงบจากกิเลส ในศาสนาพุทธนั้นมี สมณะ ๔ คือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เรียกรวมๆว่า พระอริยะ คือสภาพที่เจริญสู่ความพ้นทุกข์โดยลำดับ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา

ท่านทั้งหลายเหล่านี้มีความไม่เบียดเบียนเป็นธรรมดาและบริสุทธิ์ผ่องใสโดยลำดับ หากเราเทียบกับการไม่เบียดเบียนที่เข้าใจกันว่า “การไม่กินเนื้อสัตว์คือการไม่เบียดเบียนสัตว์” ธรรมข้อนี้แม้ปุถุชนยังสามารถเข้าใจได้ เห็นตามได้ ปฏิบัติได้ ลดการเบียดเบียนได้ แล้วพระอริยะที่มีปัญญาห่างไกลกับพวกปุถุชน จะไม่มีปัญญารู้ถึงคุณแห่งการไม่เบียดเบียนนี้เชียวหรือ?

ดังนั้นการเบียดเบียนจึงไม่ใช่วิสัยอันสมควรของพระอริยะ หากท่านเหล่านั้นได้รับรู้แล้วว่ากรรมใดๆที่ตนได้ทำ ไปมีส่วนเบียดเบียนโดยที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ท่านก็จะเว้นจากอกุศลกรรมเหล่านั้นเสีย

พระอริยะไม่เบียดเบียน

ย้ำกันไปอีกจากพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๙ “บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะเพราะเบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง บุคคลที่เราเรียกว่าเป็นอริยะเพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง” จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าไม่เรียกผู้ที่ยังเบียดเบียนสัตว์อื่นว่าเป็นพระอริยะ ซึ่งเป็นสภาพที่ย้ำและยืนยันว่าศาสนาพุทธไม่ยินดีในการเบียดเบียน และไม่ยอมรับผู้ที่เบียดเบียนอย่างไร้สำนึกเข้าเป็นสาวกในศาสนา

ไม่เบียดเบียน ชักชวนผู้อื่นให้ไม่เบียดเบียน กล่าวชมการไม่เบียดเบียน

สรุปกันด้วยข้อความตอนหนึ่งจากพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ ข้อ ๑๔๕๙ มีเนื้อหาว่าด้วย สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่ชอบใจในการถูกเบียดเบียนและทำร้าย แม้เราก็ไม่ชอบใจในสิ่งเหล่านั้น ดังนั้นเราจึงไม่ควรทำสิ่งที่เราไม่ชอบกับใครเลย ข้อความที่ตัดมาตอนท้ายคือ “อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนั้นแล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้นจากปาณาติบาตด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นปาณาติบาตด้วย กายสมาจารของอริยสาวก ย่อมบริสุทธิ์โดยสามส่วนอย่างนี้

แปลความให้สอดคล้องกับเนื้อหาได้ว่า สาวกพระพุทธเจ้าเห็นว่าผู้ใดก็ไม่ชอบใจการทำร้ายและการเบียดเบียน ซึ่งเป็นเหตุให้ชีวิตสัตว์ตกร่วง(ปาณาติบาต) ตนเองก็จะไม่ทำร้ายและเบียดเบียน ชักชวนให้ผู้อื่นไม่ทำร้ายและเบียดเบียน ทั้งยังต้องพูดชมในประโยชน์ของการไม่เบียดเบียน ดังเช่นว่าถ้าพบเห็นใครไม่เบียดเบียน เช่นจัดกิจกรรมงดเนื้อสัตว์มากินผัก ก็ย่อมจะสรรเสริญและชอบใจในการไม่เบียดเบียนนั้น ความประพฤติของสาวกพระพุทธเจ้าต้องประกอบด้วยสามส่วนนี้ จึงจะเรียกว่า “พระอริยะ

ดังจะเห็นได้ว่า ศาสนาพุทธแท้ๆ ไม่ยินดีในการเบียดเบียนเลยแม้น้อย ไม่มีการทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หรือทำผิดแล้วไม่แก้ไข มีแต่ความเห็นที่ยินดีในการไม่เบียดเบียน ไม่ใช่ผู้ที่ยังเบียดเบียนอยู่แล้วอ้างตนเป็นสาวก ซึ่งยังขัดกับหลักธรรมที่ยกมาข้างต้น

เพราะเห็นผิดจึงหลงเบียดเบียน

เพราะเห็นผิดจึงหลงเบียดเบียน

การที่คนเรานั้นยังเบียดเบียนสัตว์อื่นมาเพื่อความสุขของตนอยู่นั้นคือความเห็นผิด การที่เรามีความเห็นผิดเช่นนั้นเพราะเรา เห็นประโยชน์ในการเบียดเบียนมากกว่าโทษ และการที่เห็นเช่นนั้นได้เพราะมีกิเลสเป็นตัวสร้างความลวงให้เห็นผิดเป็นถูก จึงเกิดสภาพหลงติดหลงยึดในขั้นอบาย กาม โลกธรรม อัตตา โดยลำดับ

การติดเนื้อสัตว์ในระดับอบาย คือความหยาบและหนักหนา มีความต้องการกินเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก เช่นบุฟเฟ่ต์ ทั้งหลาย มีงานเลี้ยงก็ระดมเนื้อสัตว์มากินกันอย่างไม่อั้น อย่างนี้คือความเห็นผิดที่จมลึกมาก

ในขั้นกาม คือติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์ คนที่หลงติดในขั้นนี้จะต้องการเนื้อสัตว์ไม่มากเท่าระดับอบาย แต่จะต้องการความพิถีพิถัน ความอร่อย เรียกว่าถ้ามีของอร่อยอยู่ต่างประเทศก็สามารถเดินทางไปกินได้ แสวงหาแต่เนื้อสัตว์ที่ว่าอร่อย ถ้าไม่ถูกใจก็เป็นทุกข์

ในขั้นโลกธรรม คือความหลงในโลก ตนเองก็ไม่ได้ติดเนื้อสัตว์มากนัก แต่ก็กลัวจะเข้าสังคมไม่ได้ กลัวคนอื่นนินทา กลัวว่าจะเป็นคนดีเกินหน้าเกินตาใคร สารพัดความกลัวที่ไม่กล้าหลุดจากความชั่วในสังคม เขาพาทำชั่วอะไรก็ทำไปกับเขาอย่างนั้น เพราะกลัวไม่เป็นที่ยอมรับ

ในขั้นอัตตา คือความเห็นว่าเนื้อสัตว์นั้นเป็นคุณประโยชน์ที่ชีวิตสมควรได้รับ มีสารอาหารที่มีคุณค่า ฯลฯ มีความเห็นความเข้าใจว่าเนื้อสัตว์ดี เนื้อสัตว์เป็นตัวตนของเรา ถ้าเป็นระดับหยาบๆก็จะเป็น ฉันเป็นสัตว์กินเนื้อ, ฉันเกิดมาเพื่อกินเนื้อ ฯลฯ พ่อแม่บางคนไม่กินเนื้อสัตว์ได้อย่างปกติแล้ว แต่กลับมีความเห็นว่าลูกต้องกินเนื้อสัตว์เพื่อความเจริญเติบโต นี่คือความเห็นที่ยังหลงว่าเนื้อสัตว์เป็นอัตตาอยู่ ยังไม่มีปัญญาเห็นความจริง แค่กดข่มความอยากไว้เฉพาะในตนเท่านั้น แต่ไม่รู้ไม่เห็นโทษตามความเป็นจริง

เมื่อมีกิเลสบังตา จึงมีข้ออ้างขึ้นมาเพื่อที่จะให้ได้เสพตามที่กิเลสสั่ง ถ้าข้ออ้างทั่วไปก็เช่น คนเราต้องกินให้ครบห้าหมู่ ,คนกินได้ทั้งพืชและสัตว์, เดี๋ยวขาดวิตามินขาดสารอาหาร, หากินยาก ฯลฯ หรือถ้าเป็นคนดีมีศีลธรรมขึ้นมาแต่มีความเห็นผิดก็มักจะมีความเห็นเช่นว่า กินเขาไปแล้วเราไปทำดีเขาได้บุญ, กินเขาแล้วไปไถ่ชีวิตเพื่อนเขา, กินเขาแล้วทำบุญส่งไปให้เขา ก็เป็นลักษณะของความเห็นผิดที่เกาไม่ถูกที่คัน ผิดแล้วไม่แก้ไข ซ้ำยังไปแก้ไขที่ปลายเหตุ ไม่แก้ต้นเหตุ

หรือที่หนักไปกว่านั้นคือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไปเลย เช่น สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม, มันเป็นแค่ธาตุ ๔ , กินเพื่อบำรุงขันธ์ ฯลฯ จริงๆถ้าเป็นสมัย 30-40 ปีที่อินเตอร์เน็ตยังไม่เข้ามาก็พอจะรับฟังได้ แต่การกล่าวอ้างเช่นนี้ในยุคสมัยนี้ถือว่าเป็นคนล้าสมัย เหมือนกับรถที่เติมได้แต่น้ำมันเบนซิน 95 ทั้งๆที่ในปัจจุบันเขาเติม e85 กันได้มากมายแล้ว นั่นคือในยุคก่อนๆนั้นเราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ทางโภชนาการของอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ได้ง่ายนัก เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องกินอะไรทดแทนเนื้อสัตว์ไม่ให้ร่างกายขาด แต่สมัยนี้ค้นไปยังไงก็มีข้อมูล แถมพืชผักหลายชนิดยังให้คุณค่ามากกว่าเนื้อสัตว์ด้วย ดังนั้นคนที่ยังเบียดเบียนอยู่โดยที่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้คือคนที่ตั้งใจล้าสมัยเพื่อให้ตัวเองได้เสพรสเนื้อสัตว์สมใจ ไม่ฉลาด ไม่มีปัญญาขวนขวายในความไม่เบียดเบียน ไม่มีคุณสมบัติของผู้เจริญ

ต้องแก้ความเห็นผิดด้วยความจริง

ต้องแก้ความเห็นผิดด้วยความจริง

การที่คนเรานั้นยังเห็นผิดอยู่ก็เพราะยังไม่รู้แจ้งความจริงตามความเป็นจริง การแสดงความเป็นจริง ก็เช่น การเสนอให้เห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ไปเบียดเบียนสัตว์อย่างไร เบียดเบียนตนเองอย่างไร หรือเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมอย่างไร เอาผลกระทบ เอาความจริงมานำเสนอให้เห็นจริงกัน

เพราะถ้ายังมีความลวงอยู่ก็จะไม่มีความจริง ธรรมชาติของกิเลสนั้นจะลวงคนให้เบียดเบียนกันเป็นธรรมดา เราจึงต้องใช้ธรรมะ ใช้ความจริงที่ชี้ให้เห็นว่าการเบียดเบียนเป็นโทษเข้าไปแก้ความเห็นผิดนั้น

เมื่อคนเราไม่เห็นความจริงว่าการกินเนื้อสัตว์เบียดเบียนอย่างไร ก็จะไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป( หิริโอตตัปปะ ) การที่คนไม่มีความละอายเหล่านั้นเพราะไม่มีศีล ในปัจจุบันคนมีศีลเพียงแค่หยาบๆ เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ก็จะไม่ฆ่าอยู่เช่นนั้น แต่ถ้าให้คนอื่นฆ่ามากินก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการหยุดนิ่ง ไม่พัฒนา ในขณะที่ค่ารวมๆกิเลสในโลกนั้นสูงขึ้น เหมือนน้ำทะเลที่กำลังจะละลายท่วมพื้นโลก เหล่าคนผู้ประมาทตั้งบ้านอยู่ชายฝั่งและเห็นว่าแค่นี้ก็เพียงพอ เหมือนคนที่เห็นว่าแค่ไม่ฆ่าก็เพียงพอ

การไม่มีอธิศีลคือความเสื่อมของชาวพุทธ อธิศีลคือการพัฒนาการไม่เบียดเบียนโดยลำดับ อย่างที่ยกมาในพระไตรปิฎกก่อนหน้านี้ นอกจากเราจะไม่ฆ่าแล้วเรายังต้องชักขวนให้คนอื่นไม่ฆ่า ซ้ำยังต้องกล่าวชมประโยชน์ในการไม่ฆ่าและไม่เบียดเบียนอีกด้วย เมื่อคนไม่มีการพัฒนาศีล ก็จะจมลงในความเสื่อมไปเรื่อยๆ ทำให้แก้ไขความเห็นผิดได้ยาก จึงต้องเบียดเบียนและเวียนวนไปตามวิถีโลกต่อไป

คนเห็นผิดมากกว่าคนเห็นถูก

คนเห็นผิดมากกว่าคนเห็นถูก

เป็นเรื่องธรรมดาที่ในโลกนี้จะมีคนเห็นผิดมากกว่าคนเห็นถูก จึงมีคำเปรียบดังจำนวนขนโคที่มากกว่าจำนวนเขาโค ดังนั้นการที่เราจะหวังว่าให้ทุกคนไม่เบียดเบียนนั้น จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แม้พระพุทธเจ้าที่เป็นบุรุษที่เก่งที่สุดในจักรวาลก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนในโลกเป็นคนดีได้ทั้งหมด ดังนั้นผู้ที่ชักชวนให้คนอื่นลดการเบียดเบียนจึงต้องทำใจยอมรับความธรรมดาเหล่านี้ด้วย

ความยึดมั่นถือมั่น เบียดเบียนผู้อื่นอย่างไร

ความยึดมั่นถือมั่น เบียดเบียนผู้อื่นอย่างไร

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งนั้นจะไม่ทุกข์ เป็นไม่มี” ไม่ว่าเราจะยึดในสิ่งใดทั้งร้ายและดี สิ่งเหล่านั้นต่างก็สร้างทุกข์ทั้งสิ้น

การยึดชั่วเป็นสิ่งที่เห็นโทษภัยได้ง่าย จึงละได้ง่าย แต่การยึดดีนั้นเห็นโทษได้ยาก เข้าใจได้ยาก จึงละได้ยากเพราะความดีนั้นเป็นสิ่งที่คนแสวงหา เป็นเป้าหมายของมนุษย์ทุกคนผู้หวังความผาสุก แต่เมื่อได้มาซึ่งสิ่งที่ดีหรือมีความดีนั้นในตนแล้ว ถ้ายังยึดดี ทำดีแล้ววางดีไม่เป็น ต้องการให้เกิดดีตลอด ก็ยังเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ได้

หลายคนมักจะเมตตาสัตว์ แต่กลับไม่เมตตาคนด้วยกัน อาจเพราะเรามีความรักในสัตว์นั้นมาก โลภอยากให้คนอื่นมาเอาดีอย่างเรา และโกรธเมื่อเขาไม่สามารถทำดีได้อย่างใจเรา สุดท้ายก็เพราะเราหลงยึดดี ทำให้เกิดการถกเถียงจนกระทั่งทะเลาะเบาะแว้ง แข่งดีเอาชนะกันระหว่างคนที่กินเนื้อสัตว์กับคนไม่กินเนื้อสัตว์

การพยายามเอาชนะกันด้วยความดีก็ยังเป็นสิ่งชั่วอยู่ดี ถ้าให้ดีคือไม่ต้องแข่งดีเอาชนะกันเลยจะดีกว่า ใครทำดีได้ก็ทำไป ใครทำไม่ได้ก็ศึกษาโทษของความชั่วนั้นไป การที่เรายังแข่งดีเอาชนะคนอื่นด้วยความยึดดีของเรานั้น คือการเบียดเบียนกันด้วยทิฏฐิ ยังเป็นผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ และยังเบียดเบียนตนด้วยความเห็นผิดอยู่นั่นเอง

ทำอย่างไรจึงจะทำให้เขาเลิกกินเนื้อสัตว์

ทำอย่างไรจึงจะทำให้เขาเลิกกินเนื้อสัตว์

การชักชวนให้เขาเห็นโทษในการเบียดเบียน ชี้นำให้เขาเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นหากเป็นผู้ที่ศรัทธากัน เห็นตรงกัน ยอมฟังกันบ้างก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรนัก

แต่คนส่วนมากมักจะไม่ต้องการเลิกกินเนื้อสัตว์ เขามักจะพยายามหลบเลี่ยงการได้รับข้อมูลว่าดังเช่นว่าเนื้อสัตว์เป็นโทษ เนื้อสัตว์ได้มาจากการเบียดเบียน หรือเรียกว่า “ไม่อยากฟัง” แล้วเราจะทำอย่างไรกับคนที่ไม่อยากฟัง เราไม่ได้จะไปยัดเยียดเขานะ แต่เราอยากช่วยเขาให้พ้นภัยจากการเบียดเบียนและหันมาประพฤติตนสู่ความผาสุก

พระพุทธเจ้าตรัสเหตุแห่งความเห็นที่ถูกต้องไว้สองประการ 1.คือการยอมฟังความเห็นที่แตกต่างบ้าง 2.คือการทำใจในใจโดยแยบคายพิจารณาลงไปถึงที่เกิด การที่เขาไม่ยอมฟัง ก็เรียกได้ว่าปิดประตูสู่ความเห็นที่ถูกแล้ว ทีนี้เราจะทำอย่างไร ให้เขาได้เห็นคุณค่าของการไม่เบียดเบียนแม้จะไม่ยอมรับฟังก็ตาม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน ค่อยสอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง” นั่นหมายถึงก่อนที่เราจะไปสอนใครให้เห็นประโยชน์ของการไม่เบียดเบียน เราก็ควรจะทำตนเองให้เป็นผู้ไม่เบียดเบียนเสียก่อน ถ้ายังตบยุง ทำร้ายสัตว์อยู่ก็ยังพร่องอยู่ ไปสอนใครเขาก็ไม่เชื่อ เพราะเขายังเห็นว่าเรายังเบียดเบียนอยู่ แม้ในที่สุดจะเบียดเบียนผู้อื่นด้วยความยึดดีก็จะต้องไม่ทำ

พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ได้มีโศลกธรรมว่า “ความบริสุทธิ์เท่านั้น ที่จะชนะทุกสิ่งทั้งโลกในที่สุด” นั่นหมายความว่า เราทำความไม่เบียดเบียนนี้ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์เถอะ แล้วธรรมะจะชนะอธรรมเอง หากเราเป็นผู้ไม่เบียดเบียนที่บริสุทธิ์แท้ เขาจะเกิดปัญญารับรู้ถึงความสงบเย็นของเราได้เอง แล้วเขาก็จะหันมาศรัทธาเรา ยอมรับฟังเรา และยอมทำใจในใจให้เห็นตามเราในที่สุด

ทีนี้จะต้องทำความไม่เบียดเบียนไปนานเท่าไหร่จึงจะเห็นผล ไม่อยากให้เขาต้องกินเนื้อสัตว์และเบียดเบียนสัตว์อยู่อย่างนี้ เพราะต้องก่อกรรมที่เบียดเบียนสะสมไปทุกวัน ความเห็นนี้เกิดจากใจของเราที่เร่งผล อยากให้เกิดสิ่งดีไวๆอย่างใจเรา คุณหมอเขียว ใจเพชร กล้าจน ได้มีคำกล่าวไว้ว่า “ให้โอกาสกันหลายๆชาติหน่อย” เป็นคำที่เอ่ยมาจากความเมตตาอย่างนับชาติไม่ได้ คือช่วยชาตินี้ไม่ได้ก็ไปช่วยชาติหน้า หรือไม่ก็ชาติต่อๆไป ให้โอกาสเขาได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน ไม่ยัดเยียด อดทน รอคอย ให้อภัย ทำตนเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น หน้าที่ทำความเข้าใจเป็นเรื่องของเขา เขาจะเอาหรือไม่เอาก็ได้ เราก็ไม่ต้องไปทุกข์เพราะเขาไม่เอาดี และควรเป็นสุขทุกครั้งเมื่อได้ทำดี คือทำดีอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเกิดดี ทำดีแล้ววางดีไปเลย ไม่ต้องรอรับผลใดๆ ปล่อยให้มันเป็นไปตามวิบากกรรมของเขา

ปัญหาการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ต้องแก้ที่ต้นเหตุ

ปัญหาการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ต้องแก้ที่ต้นเหตุ

พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ว่า การดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ถ้าไม่ดับที่เหตุ ผลมันก็ไม่ดับ ความทุกข์นั้นเกิดจากการที่เราอยากกินเนื้อสัตว์ นั่นหมายถึงเหตุแห่งทุกข์คือ ความอยากเสพอะไรสักอย่างในเนื้อสัตว์ ดังนั้นการดับทุกข์ต้องดับ ความอยากเสพสิ่งนั้น ด้วยการทำความเห็นผิดที่ว่าเนื้อสัตว์เหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าเสพให้เป็นความเห็นถูกที่ว่าเนื้อสัตว์มันก็เป็นของมันเช่นนั้น ไม่จำเป็นต้องไปหลงติดหลงยึดมัน ไม่มีมันก็ได้

หรือสรุปรวมได้ว่า ควรจะมาศึกษาในอริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพื่อการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งเป็นเหตุเกิดของการเบียดเบียนทั้งหมดทั้งสิ้นในโลกนี้

สรุป

สรุป…

คนที่เลี้ยงกิเลสไว้ย่อมเป็นผู้ที่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่เสมอ เป็นธรรมชาติของผู้เบียดเบียนที่จะหมุนเวียนไปสู่ความเสื่อม เหมือนกับการวนลงไปฐานเจดีย์ที่ยิ่งกว้างและไกลจากยอด ส่วนธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียนย่อมศึกษาและปฏิบัติตนเพื่อการลดล้างกิเลส คือการเวียนไปสู่ความเจริญ เหมือนกับการวนขึ้นไปยังยอดเจดีย์ที่ยิ่งสูงก็ยิ่งน้อย นั่นคือเมื่อเราเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นน้อย ทุกข์ก็จะน้อยลงไปด้วย และเวียนไปจนถึงจุดสูงสุดที่จะเหลือแต่ธรรมะ ไม่มีชาติ ไม่มีการเกิดและดับของกิเลสอีกต่อไป

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ปฏิบัติธรรมที่ไหนดี?

November 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,225 views 0

ปฏิบัติที่กิเลสสิดี
ถ้าไม่เอาธรรมะไปปฏิบัติต่อกิเลส
แล้วจะปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไร?

กิเลสมีตรงไหนก็ปฏิบัติตรงนั้น
มีกิเลสเรื่องไหนก็ปฏิบัติเรื่องนั้น
ให้มันถูกตัวถูกตนของกิเลส

ปฏิบัติธรรมไม่เห็นตัวตนของกิเลส
ก็เหมือนคนตาบอดถือปืนเดินเข้าป่าหมายจะล่าสัตว์
ได้ยินเสียงอะไรขยับก็ยิงออกไป
ในทิศทางที่เดาเอาเองว่าใช่
พอเสียงนั้นเงียบไป จึงเข้าใจว่าสัตว์นั้นตาย
ก็หลงดีใจว่าเรานี่เป็นผู้ล่า เราชนะสัตว์นั้นแล้ว

แต่สัตว์นั้นคืออะไรไม่รู้…
ยิงไปทางไหนก็ไม่รู้…
แล้วกำลังอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้…
ว่าแล้วก็หลงป่าไปในที่สุด….

กิเลสจะถูกเห็นได้ก็ต่อเมื่อมีศีล
และจะชัดยิ่งขึ้นเมื่อเพิ่มอธิศีล
หากคนไม่มีอธิศีล สักแต่ว่าถือศีล
ก็จะเสื่อมจากความเจริญในที่สุด

การปฏิบัติธรรมที่ไม่มีศีล
ย่อมไม่มีมรรคผลใดๆเกิดขึ้น
เหมือนนักปฏิบัติธรรมตาบอด
แต่หมายจะไล่ล่าทำลายกิเลส
ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้เลย
แม้แต่จะจินตนาการ…