Tag: ความจริง

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

December 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 11,537 views 0

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ณ การประชุมมังสวิรัติ เอเชีย แปซิฟิก ( APVC ) ครั้งที่ 7 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2558

บทคัดย่อ

ธรรมชาติของสัตว์นั้นย่อมเบียดเบียนกันเป็นธรรมดา แต่ธรรมชาติของผู้ที่จะพ้นจากความเป็นสัตว์ ไปสู่ความเจริญโดยลำดับย่อมละเว้นการฆ่าและการเบียดเบียน

สัตว์นั้นล่าและหากินโดยสัญชาติญาณ เพราะความหิวจึงทำให้มันต้องเบียดเบียน การล่าของสัตว์นั้นก็เพียงเพื่อดำรงชีวิตไปวันต่อวัน เป็นการกินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน เป็นไปตามธรรมชาติของผู้ล่า ที่จะต้องล่าเพื่อดำรงชีวิต

แต่มนุษย์นั้นต่างออกไป ในปัจจุบันมนุษย์ไม่ได้ล่าสัตว์ไว้กินเพื่อดำรงชีวิต แต่เป็นการเข้าไปควบคุมชีวิตสัตว์ ควบคุมการเกิด การเติบโต การแก่ และการตายของสัตว์ ให้เป็นไปในความต้องการของตน วางบทบาทไว้เป็นยิ่งกว่าผู้ล่า ให้อยู่เหนือสัตว์ทั้งปวง โดยอ้างสิทธิ์ต่างๆในการควบคุมชีวิตสัตว์เหล่านั้น และเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่มนุษย์ยัดเยียดให้กับสัตว์

การที่มนุษย์ยังเบียดเบียนอยู่นั้นก็เพราะกิเลส เราควบคุมสัตว์เหล่านั้นเพราะกิเลส เรากินสัตว์เหล่านั้นเพราะกิเลส เป็นไปตามธรรมชาติของผู้มีกิเลส แต่ไม่ใช่ธรรมะของผู้ที่จะก้าวสู่ความพ้นทุกข์

ผู้ที่จะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืนโดยลำดับ ย่อมศึกษาเพื่อที่จะละเว้นจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เพราะการเบียดเบียนเหล่านั้นคือเหตุแห่งทุกข์

บทบรรยาย

ธรรมชาติของผู้เบียดเบียน

ธรรมชาติของผู้เบียดเบียน

สัตว์นั้นมีความเบียดเบียนกันเป็นธรรมชาติ นกล่าหนู สิงโตล่ากวาง เราอาจจะได้เห็นภาพที่น่าสยดสยองจากการล่า แต่นั่นก็ไม่น่ากลัวเท่ากับการเบียดเบียนของคน คนนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าสัตว์ ฉลาดกว่าสัตว์ จึงใช้ความฉลาดนั้นในการเบียดเบียนได้มากกว่า

การเบียดเบียนของคนที่มีต่อสัตว์นั้น คือการเข้าไปควบคุมชีวิตสัตว์ตั้งแต่กระบวนการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทำตัวเสมือนพระเจ้าที่ชี้เกิด ชี้เป็น ชี้ตายแก่สัตว์เหล่านั้นได้ อุปโลกน์สิทธิ์ขึ้นมาว่า “ฉันนี้มีอำนาจในการจัดการชีวิตเธอ” สัตว์มันไม่เกิดก็ไปข่มขืนให้มันเกิด สัตว์ใดไม่มีประโยชน์ก็ยัดเยียดความตายให้มัน นี้คือความเบียดเบียนของคนผู้หนาไปด้วยกิเลส

เพราะคนมีความรัก โลภ โกรธ หลง คือรักที่จะเสพสุขในเนื้อสัตว์นั้น โลภอยากได้เนื้อสัตว์มาบำเรอตนตลอดไป ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์ก็จะโกรธและหงุดหงิด เพราะคนนั้นหลงว่าเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นมีคุณ หลงในรสเนื้อสัตว์ จึงทำให้คนต้องเบียดเบียนสัตว์เพื่อมาสนองตัณหาของตน ธรรมชาติของผู้เบียดเบียนจึงเป็นเช่นนี้

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ศาสนาพุทธนั้นไม่ยินดีในความเบียดเบียน แม้ศาสนาใดในโลกต่างก็ไม่ยินดีในความเบียดเบียน กระทั่งกลุ่มคนที่ไม่มีศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาใดๆ ก็ยังมีจิตที่จะเว้นขาดจากการเบียดเบียน ดังนั้นการไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยการกินเนื้อของมัน จึงเป็นศีลธรรมพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ สามารถเข้าใจกันได้โดยสามัญ เป็นเรื่องที่จะทำให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกซึ่งในตอนนี้เราก็จะกล่าวกันเฉพาะการไม่เบียดเบียนในมุมมองของพระพุทธศาสนา

ผู้ไม่ทำร้ายและไม่เบียดเบียน

ในบทโอวาทปาติโมกข์ (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ข้อ ๕๔ ) ได้มีตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต” ศาสนาพุทธไม่ได้กำหนดว่านักบวชคือผู้โกนผมห่มผ้า การเป็นนักบวชนั้นเป็นได้ด้วยการประพฤติตนให้อยู่ในคุณอันสมควร การไม่ทำร้ายเป็นคุณสมบัติหนึ่งของนักบวชในศาสนาพุทธ ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นอยู่แม้จะเป็นผู้โกนผมห่มผ้าก็ไม่เรียกว่าเป็นนักบวช

ที่เข้มข้นไปกว่านั้น คือ “ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ” สมณะหมายถึงผู้สงบจากกิเลส ในศาสนาพุทธนั้นมี สมณะ ๔ คือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เรียกรวมๆว่า พระอริยะ คือสภาพที่เจริญสู่ความพ้นทุกข์โดยลำดับ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา

ท่านทั้งหลายเหล่านี้มีความไม่เบียดเบียนเป็นธรรมดาและบริสุทธิ์ผ่องใสโดยลำดับ หากเราเทียบกับการไม่เบียดเบียนที่เข้าใจกันว่า “การไม่กินเนื้อสัตว์คือการไม่เบียดเบียนสัตว์” ธรรมข้อนี้แม้ปุถุชนยังสามารถเข้าใจได้ เห็นตามได้ ปฏิบัติได้ ลดการเบียดเบียนได้ แล้วพระอริยะที่มีปัญญาห่างไกลกับพวกปุถุชน จะไม่มีปัญญารู้ถึงคุณแห่งการไม่เบียดเบียนนี้เชียวหรือ?

ดังนั้นการเบียดเบียนจึงไม่ใช่วิสัยอันสมควรของพระอริยะ หากท่านเหล่านั้นได้รับรู้แล้วว่ากรรมใดๆที่ตนได้ทำ ไปมีส่วนเบียดเบียนโดยที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ท่านก็จะเว้นจากอกุศลกรรมเหล่านั้นเสีย

พระอริยะไม่เบียดเบียน

ย้ำกันไปอีกจากพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๙ “บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะเพราะเบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง บุคคลที่เราเรียกว่าเป็นอริยะเพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง” จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าไม่เรียกผู้ที่ยังเบียดเบียนสัตว์อื่นว่าเป็นพระอริยะ ซึ่งเป็นสภาพที่ย้ำและยืนยันว่าศาสนาพุทธไม่ยินดีในการเบียดเบียน และไม่ยอมรับผู้ที่เบียดเบียนอย่างไร้สำนึกเข้าเป็นสาวกในศาสนา

ไม่เบียดเบียน ชักชวนผู้อื่นให้ไม่เบียดเบียน กล่าวชมการไม่เบียดเบียน

สรุปกันด้วยข้อความตอนหนึ่งจากพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ ข้อ ๑๔๕๙ มีเนื้อหาว่าด้วย สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่ชอบใจในการถูกเบียดเบียนและทำร้าย แม้เราก็ไม่ชอบใจในสิ่งเหล่านั้น ดังนั้นเราจึงไม่ควรทำสิ่งที่เราไม่ชอบกับใครเลย ข้อความที่ตัดมาตอนท้ายคือ “อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนั้นแล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้นจากปาณาติบาตด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นปาณาติบาตด้วย กายสมาจารของอริยสาวก ย่อมบริสุทธิ์โดยสามส่วนอย่างนี้

แปลความให้สอดคล้องกับเนื้อหาได้ว่า สาวกพระพุทธเจ้าเห็นว่าผู้ใดก็ไม่ชอบใจการทำร้ายและการเบียดเบียน ซึ่งเป็นเหตุให้ชีวิตสัตว์ตกร่วง(ปาณาติบาต) ตนเองก็จะไม่ทำร้ายและเบียดเบียน ชักชวนให้ผู้อื่นไม่ทำร้ายและเบียดเบียน ทั้งยังต้องพูดชมในประโยชน์ของการไม่เบียดเบียน ดังเช่นว่าถ้าพบเห็นใครไม่เบียดเบียน เช่นจัดกิจกรรมงดเนื้อสัตว์มากินผัก ก็ย่อมจะสรรเสริญและชอบใจในการไม่เบียดเบียนนั้น ความประพฤติของสาวกพระพุทธเจ้าต้องประกอบด้วยสามส่วนนี้ จึงจะเรียกว่า “พระอริยะ

ดังจะเห็นได้ว่า ศาสนาพุทธแท้ๆ ไม่ยินดีในการเบียดเบียนเลยแม้น้อย ไม่มีการทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หรือทำผิดแล้วไม่แก้ไข มีแต่ความเห็นที่ยินดีในการไม่เบียดเบียน ไม่ใช่ผู้ที่ยังเบียดเบียนอยู่แล้วอ้างตนเป็นสาวก ซึ่งยังขัดกับหลักธรรมที่ยกมาข้างต้น

เพราะเห็นผิดจึงหลงเบียดเบียน

เพราะเห็นผิดจึงหลงเบียดเบียน

การที่คนเรานั้นยังเบียดเบียนสัตว์อื่นมาเพื่อความสุขของตนอยู่นั้นคือความเห็นผิด การที่เรามีความเห็นผิดเช่นนั้นเพราะเรา เห็นประโยชน์ในการเบียดเบียนมากกว่าโทษ และการที่เห็นเช่นนั้นได้เพราะมีกิเลสเป็นตัวสร้างความลวงให้เห็นผิดเป็นถูก จึงเกิดสภาพหลงติดหลงยึดในขั้นอบาย กาม โลกธรรม อัตตา โดยลำดับ

การติดเนื้อสัตว์ในระดับอบาย คือความหยาบและหนักหนา มีความต้องการกินเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก เช่นบุฟเฟ่ต์ ทั้งหลาย มีงานเลี้ยงก็ระดมเนื้อสัตว์มากินกันอย่างไม่อั้น อย่างนี้คือความเห็นผิดที่จมลึกมาก

ในขั้นกาม คือติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์ คนที่หลงติดในขั้นนี้จะต้องการเนื้อสัตว์ไม่มากเท่าระดับอบาย แต่จะต้องการความพิถีพิถัน ความอร่อย เรียกว่าถ้ามีของอร่อยอยู่ต่างประเทศก็สามารถเดินทางไปกินได้ แสวงหาแต่เนื้อสัตว์ที่ว่าอร่อย ถ้าไม่ถูกใจก็เป็นทุกข์

ในขั้นโลกธรรม คือความหลงในโลก ตนเองก็ไม่ได้ติดเนื้อสัตว์มากนัก แต่ก็กลัวจะเข้าสังคมไม่ได้ กลัวคนอื่นนินทา กลัวว่าจะเป็นคนดีเกินหน้าเกินตาใคร สารพัดความกลัวที่ไม่กล้าหลุดจากความชั่วในสังคม เขาพาทำชั่วอะไรก็ทำไปกับเขาอย่างนั้น เพราะกลัวไม่เป็นที่ยอมรับ

ในขั้นอัตตา คือความเห็นว่าเนื้อสัตว์นั้นเป็นคุณประโยชน์ที่ชีวิตสมควรได้รับ มีสารอาหารที่มีคุณค่า ฯลฯ มีความเห็นความเข้าใจว่าเนื้อสัตว์ดี เนื้อสัตว์เป็นตัวตนของเรา ถ้าเป็นระดับหยาบๆก็จะเป็น ฉันเป็นสัตว์กินเนื้อ, ฉันเกิดมาเพื่อกินเนื้อ ฯลฯ พ่อแม่บางคนไม่กินเนื้อสัตว์ได้อย่างปกติแล้ว แต่กลับมีความเห็นว่าลูกต้องกินเนื้อสัตว์เพื่อความเจริญเติบโต นี่คือความเห็นที่ยังหลงว่าเนื้อสัตว์เป็นอัตตาอยู่ ยังไม่มีปัญญาเห็นความจริง แค่กดข่มความอยากไว้เฉพาะในตนเท่านั้น แต่ไม่รู้ไม่เห็นโทษตามความเป็นจริง

เมื่อมีกิเลสบังตา จึงมีข้ออ้างขึ้นมาเพื่อที่จะให้ได้เสพตามที่กิเลสสั่ง ถ้าข้ออ้างทั่วไปก็เช่น คนเราต้องกินให้ครบห้าหมู่ ,คนกินได้ทั้งพืชและสัตว์, เดี๋ยวขาดวิตามินขาดสารอาหาร, หากินยาก ฯลฯ หรือถ้าเป็นคนดีมีศีลธรรมขึ้นมาแต่มีความเห็นผิดก็มักจะมีความเห็นเช่นว่า กินเขาไปแล้วเราไปทำดีเขาได้บุญ, กินเขาแล้วไปไถ่ชีวิตเพื่อนเขา, กินเขาแล้วทำบุญส่งไปให้เขา ก็เป็นลักษณะของความเห็นผิดที่เกาไม่ถูกที่คัน ผิดแล้วไม่แก้ไข ซ้ำยังไปแก้ไขที่ปลายเหตุ ไม่แก้ต้นเหตุ

หรือที่หนักไปกว่านั้นคือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไปเลย เช่น สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม, มันเป็นแค่ธาตุ ๔ , กินเพื่อบำรุงขันธ์ ฯลฯ จริงๆถ้าเป็นสมัย 30-40 ปีที่อินเตอร์เน็ตยังไม่เข้ามาก็พอจะรับฟังได้ แต่การกล่าวอ้างเช่นนี้ในยุคสมัยนี้ถือว่าเป็นคนล้าสมัย เหมือนกับรถที่เติมได้แต่น้ำมันเบนซิน 95 ทั้งๆที่ในปัจจุบันเขาเติม e85 กันได้มากมายแล้ว นั่นคือในยุคก่อนๆนั้นเราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ทางโภชนาการของอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ได้ง่ายนัก เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องกินอะไรทดแทนเนื้อสัตว์ไม่ให้ร่างกายขาด แต่สมัยนี้ค้นไปยังไงก็มีข้อมูล แถมพืชผักหลายชนิดยังให้คุณค่ามากกว่าเนื้อสัตว์ด้วย ดังนั้นคนที่ยังเบียดเบียนอยู่โดยที่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้คือคนที่ตั้งใจล้าสมัยเพื่อให้ตัวเองได้เสพรสเนื้อสัตว์สมใจ ไม่ฉลาด ไม่มีปัญญาขวนขวายในความไม่เบียดเบียน ไม่มีคุณสมบัติของผู้เจริญ

ต้องแก้ความเห็นผิดด้วยความจริง

ต้องแก้ความเห็นผิดด้วยความจริง

การที่คนเรานั้นยังเห็นผิดอยู่ก็เพราะยังไม่รู้แจ้งความจริงตามความเป็นจริง การแสดงความเป็นจริง ก็เช่น การเสนอให้เห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ไปเบียดเบียนสัตว์อย่างไร เบียดเบียนตนเองอย่างไร หรือเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมอย่างไร เอาผลกระทบ เอาความจริงมานำเสนอให้เห็นจริงกัน

เพราะถ้ายังมีความลวงอยู่ก็จะไม่มีความจริง ธรรมชาติของกิเลสนั้นจะลวงคนให้เบียดเบียนกันเป็นธรรมดา เราจึงต้องใช้ธรรมะ ใช้ความจริงที่ชี้ให้เห็นว่าการเบียดเบียนเป็นโทษเข้าไปแก้ความเห็นผิดนั้น

เมื่อคนเราไม่เห็นความจริงว่าการกินเนื้อสัตว์เบียดเบียนอย่างไร ก็จะไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป( หิริโอตตัปปะ ) การที่คนไม่มีความละอายเหล่านั้นเพราะไม่มีศีล ในปัจจุบันคนมีศีลเพียงแค่หยาบๆ เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ก็จะไม่ฆ่าอยู่เช่นนั้น แต่ถ้าให้คนอื่นฆ่ามากินก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการหยุดนิ่ง ไม่พัฒนา ในขณะที่ค่ารวมๆกิเลสในโลกนั้นสูงขึ้น เหมือนน้ำทะเลที่กำลังจะละลายท่วมพื้นโลก เหล่าคนผู้ประมาทตั้งบ้านอยู่ชายฝั่งและเห็นว่าแค่นี้ก็เพียงพอ เหมือนคนที่เห็นว่าแค่ไม่ฆ่าก็เพียงพอ

การไม่มีอธิศีลคือความเสื่อมของชาวพุทธ อธิศีลคือการพัฒนาการไม่เบียดเบียนโดยลำดับ อย่างที่ยกมาในพระไตรปิฎกก่อนหน้านี้ นอกจากเราจะไม่ฆ่าแล้วเรายังต้องชักขวนให้คนอื่นไม่ฆ่า ซ้ำยังต้องกล่าวชมประโยชน์ในการไม่ฆ่าและไม่เบียดเบียนอีกด้วย เมื่อคนไม่มีการพัฒนาศีล ก็จะจมลงในความเสื่อมไปเรื่อยๆ ทำให้แก้ไขความเห็นผิดได้ยาก จึงต้องเบียดเบียนและเวียนวนไปตามวิถีโลกต่อไป

คนเห็นผิดมากกว่าคนเห็นถูก

คนเห็นผิดมากกว่าคนเห็นถูก

เป็นเรื่องธรรมดาที่ในโลกนี้จะมีคนเห็นผิดมากกว่าคนเห็นถูก จึงมีคำเปรียบดังจำนวนขนโคที่มากกว่าจำนวนเขาโค ดังนั้นการที่เราจะหวังว่าให้ทุกคนไม่เบียดเบียนนั้น จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แม้พระพุทธเจ้าที่เป็นบุรุษที่เก่งที่สุดในจักรวาลก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนในโลกเป็นคนดีได้ทั้งหมด ดังนั้นผู้ที่ชักชวนให้คนอื่นลดการเบียดเบียนจึงต้องทำใจยอมรับความธรรมดาเหล่านี้ด้วย

ความยึดมั่นถือมั่น เบียดเบียนผู้อื่นอย่างไร

ความยึดมั่นถือมั่น เบียดเบียนผู้อื่นอย่างไร

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งนั้นจะไม่ทุกข์ เป็นไม่มี” ไม่ว่าเราจะยึดในสิ่งใดทั้งร้ายและดี สิ่งเหล่านั้นต่างก็สร้างทุกข์ทั้งสิ้น

การยึดชั่วเป็นสิ่งที่เห็นโทษภัยได้ง่าย จึงละได้ง่าย แต่การยึดดีนั้นเห็นโทษได้ยาก เข้าใจได้ยาก จึงละได้ยากเพราะความดีนั้นเป็นสิ่งที่คนแสวงหา เป็นเป้าหมายของมนุษย์ทุกคนผู้หวังความผาสุก แต่เมื่อได้มาซึ่งสิ่งที่ดีหรือมีความดีนั้นในตนแล้ว ถ้ายังยึดดี ทำดีแล้ววางดีไม่เป็น ต้องการให้เกิดดีตลอด ก็ยังเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ได้

หลายคนมักจะเมตตาสัตว์ แต่กลับไม่เมตตาคนด้วยกัน อาจเพราะเรามีความรักในสัตว์นั้นมาก โลภอยากให้คนอื่นมาเอาดีอย่างเรา และโกรธเมื่อเขาไม่สามารถทำดีได้อย่างใจเรา สุดท้ายก็เพราะเราหลงยึดดี ทำให้เกิดการถกเถียงจนกระทั่งทะเลาะเบาะแว้ง แข่งดีเอาชนะกันระหว่างคนที่กินเนื้อสัตว์กับคนไม่กินเนื้อสัตว์

การพยายามเอาชนะกันด้วยความดีก็ยังเป็นสิ่งชั่วอยู่ดี ถ้าให้ดีคือไม่ต้องแข่งดีเอาชนะกันเลยจะดีกว่า ใครทำดีได้ก็ทำไป ใครทำไม่ได้ก็ศึกษาโทษของความชั่วนั้นไป การที่เรายังแข่งดีเอาชนะคนอื่นด้วยความยึดดีของเรานั้น คือการเบียดเบียนกันด้วยทิฏฐิ ยังเป็นผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ และยังเบียดเบียนตนด้วยความเห็นผิดอยู่นั่นเอง

ทำอย่างไรจึงจะทำให้เขาเลิกกินเนื้อสัตว์

ทำอย่างไรจึงจะทำให้เขาเลิกกินเนื้อสัตว์

การชักชวนให้เขาเห็นโทษในการเบียดเบียน ชี้นำให้เขาเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นหากเป็นผู้ที่ศรัทธากัน เห็นตรงกัน ยอมฟังกันบ้างก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรนัก

แต่คนส่วนมากมักจะไม่ต้องการเลิกกินเนื้อสัตว์ เขามักจะพยายามหลบเลี่ยงการได้รับข้อมูลว่าดังเช่นว่าเนื้อสัตว์เป็นโทษ เนื้อสัตว์ได้มาจากการเบียดเบียน หรือเรียกว่า “ไม่อยากฟัง” แล้วเราจะทำอย่างไรกับคนที่ไม่อยากฟัง เราไม่ได้จะไปยัดเยียดเขานะ แต่เราอยากช่วยเขาให้พ้นภัยจากการเบียดเบียนและหันมาประพฤติตนสู่ความผาสุก

พระพุทธเจ้าตรัสเหตุแห่งความเห็นที่ถูกต้องไว้สองประการ 1.คือการยอมฟังความเห็นที่แตกต่างบ้าง 2.คือการทำใจในใจโดยแยบคายพิจารณาลงไปถึงที่เกิด การที่เขาไม่ยอมฟัง ก็เรียกได้ว่าปิดประตูสู่ความเห็นที่ถูกแล้ว ทีนี้เราจะทำอย่างไร ให้เขาได้เห็นคุณค่าของการไม่เบียดเบียนแม้จะไม่ยอมรับฟังก็ตาม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน ค่อยสอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง” นั่นหมายถึงก่อนที่เราจะไปสอนใครให้เห็นประโยชน์ของการไม่เบียดเบียน เราก็ควรจะทำตนเองให้เป็นผู้ไม่เบียดเบียนเสียก่อน ถ้ายังตบยุง ทำร้ายสัตว์อยู่ก็ยังพร่องอยู่ ไปสอนใครเขาก็ไม่เชื่อ เพราะเขายังเห็นว่าเรายังเบียดเบียนอยู่ แม้ในที่สุดจะเบียดเบียนผู้อื่นด้วยความยึดดีก็จะต้องไม่ทำ

พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ได้มีโศลกธรรมว่า “ความบริสุทธิ์เท่านั้น ที่จะชนะทุกสิ่งทั้งโลกในที่สุด” นั่นหมายความว่า เราทำความไม่เบียดเบียนนี้ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์เถอะ แล้วธรรมะจะชนะอธรรมเอง หากเราเป็นผู้ไม่เบียดเบียนที่บริสุทธิ์แท้ เขาจะเกิดปัญญารับรู้ถึงความสงบเย็นของเราได้เอง แล้วเขาก็จะหันมาศรัทธาเรา ยอมรับฟังเรา และยอมทำใจในใจให้เห็นตามเราในที่สุด

ทีนี้จะต้องทำความไม่เบียดเบียนไปนานเท่าไหร่จึงจะเห็นผล ไม่อยากให้เขาต้องกินเนื้อสัตว์และเบียดเบียนสัตว์อยู่อย่างนี้ เพราะต้องก่อกรรมที่เบียดเบียนสะสมไปทุกวัน ความเห็นนี้เกิดจากใจของเราที่เร่งผล อยากให้เกิดสิ่งดีไวๆอย่างใจเรา คุณหมอเขียว ใจเพชร กล้าจน ได้มีคำกล่าวไว้ว่า “ให้โอกาสกันหลายๆชาติหน่อย” เป็นคำที่เอ่ยมาจากความเมตตาอย่างนับชาติไม่ได้ คือช่วยชาตินี้ไม่ได้ก็ไปช่วยชาติหน้า หรือไม่ก็ชาติต่อๆไป ให้โอกาสเขาได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน ไม่ยัดเยียด อดทน รอคอย ให้อภัย ทำตนเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น หน้าที่ทำความเข้าใจเป็นเรื่องของเขา เขาจะเอาหรือไม่เอาก็ได้ เราก็ไม่ต้องไปทุกข์เพราะเขาไม่เอาดี และควรเป็นสุขทุกครั้งเมื่อได้ทำดี คือทำดีอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเกิดดี ทำดีแล้ววางดีไปเลย ไม่ต้องรอรับผลใดๆ ปล่อยให้มันเป็นไปตามวิบากกรรมของเขา

ปัญหาการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ต้องแก้ที่ต้นเหตุ

ปัญหาการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ต้องแก้ที่ต้นเหตุ

พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ว่า การดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ถ้าไม่ดับที่เหตุ ผลมันก็ไม่ดับ ความทุกข์นั้นเกิดจากการที่เราอยากกินเนื้อสัตว์ นั่นหมายถึงเหตุแห่งทุกข์คือ ความอยากเสพอะไรสักอย่างในเนื้อสัตว์ ดังนั้นการดับทุกข์ต้องดับ ความอยากเสพสิ่งนั้น ด้วยการทำความเห็นผิดที่ว่าเนื้อสัตว์เหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าเสพให้เป็นความเห็นถูกที่ว่าเนื้อสัตว์มันก็เป็นของมันเช่นนั้น ไม่จำเป็นต้องไปหลงติดหลงยึดมัน ไม่มีมันก็ได้

หรือสรุปรวมได้ว่า ควรจะมาศึกษาในอริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพื่อการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งเป็นเหตุเกิดของการเบียดเบียนทั้งหมดทั้งสิ้นในโลกนี้

สรุป

สรุป…

คนที่เลี้ยงกิเลสไว้ย่อมเป็นผู้ที่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่เสมอ เป็นธรรมชาติของผู้เบียดเบียนที่จะหมุนเวียนไปสู่ความเสื่อม เหมือนกับการวนลงไปฐานเจดีย์ที่ยิ่งกว้างและไกลจากยอด ส่วนธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียนย่อมศึกษาและปฏิบัติตนเพื่อการลดล้างกิเลส คือการเวียนไปสู่ความเจริญ เหมือนกับการวนขึ้นไปยังยอดเจดีย์ที่ยิ่งสูงก็ยิ่งน้อย นั่นคือเมื่อเราเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นน้อย ทุกข์ก็จะน้อยลงไปด้วย และเวียนไปจนถึงจุดสูงสุดที่จะเหลือแต่ธรรมะ ไม่มีชาติ ไม่มีการเกิดและดับของกิเลสอีกต่อไป

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

อธรรมของชาย ธรรมะสอนหญิง : เมื่อความจริง ทำลายความเชื่อของผู้หญิงช่างฝัน

November 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,949 views 3

เมื่อความจริง ทำลายความเชื่อของผู้หญิงช่างฝัน

อธรรมของชาย ธรรมะสอนหญิง : เมื่อความจริง ทำลายความเชื่อของผู้หญิงช่างฝัน

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งนั้นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” นี้คือคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่จะพาให้เห็นภาพรวมในการแก้ปัญหาของเรื่องนี้

คนที่หลงในความรักก็จะเชื่อว่าความรักของพวกเธอนั้นดี ฉันคิดว่าฉันเป็นคนดี ฉันคิดว่าเขาเป็นคนดี รักของพวกเรานั้นมั่นคง ยืนนาน ถาวร ไม่จบง่ายๆเหมือนคู่ของคนอื่น และมันจะเป็นเช่นนั้นไปจนกว่า….จะถึงวันที่พบกับ”ความจริง

เรามักจะถูกทำให้เชื่อด้วยเงื่อนไขบางอย่างที่เราได้ตั้งไว้เท่าที่ปัญญาของเราจะมี เช่น…

ถ้าเขาอดทนจีบเราได้ถึงสามเดือน หนึ่งปี ห้าปี สิบปี คือเขารักเราจริง

ถ้าเขาเอาใจเราได้ตามที่เราเอาแต่ใจ คือเขารักเราจริง

ถ้าเขามาง้อทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ผิด คือเขารักเราจริง

ถ้าเขายอมให้อภัยแม้เราจะทำผิดแค่ไหน คือเขารักเราจริง

ถ้าเขารักครอบครัวเรา รักสัตว์เลี้ยงของเรา รักงานอดิเรกของเรา ฯลฯ คือเขารักเราจริง

ถ้าเขาอ้อนวอนขอร้องที่จะแต่งงานกับเรา คือเขารักเราจริง

ถ้าเขายินดีมีลูกกับเรา คือเขารักเราจริง

ภาคฝัน

ผู้หญิงหลายคนต่างรู้สึกยินดีเมื่อมีคนที่ถูกใจเข้ามาจีบ เข้ามาเอาใจ ยอมง้อก่อน ยอมให้อภัย รักครอบครัวของเรา ขอเราแต่งงาน มีลูก สร้างครอบครัวกับเรา แล้วหลงเชื่อจนหลงยึดไปว่าสิ่งเหล่านั้นคือความรัก ทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความรักเลยแม้แต่นิดเดียวก็ได้

เพราะการที่เขามาจีบ เอาใจ ง้อ ให้อภัย จนกระทั่งแต่งงานมีลูก เขาก็อาจจะแค่อยากเอาชนะเรา อยากเสพเรา อยากให้เรายอมให้เขาหมดตัวหมดใจก็ได้ นั่นอาจจะเป็นการพิสูจน์ศักยภาพของตัวเองอย่างหนึ่งของเขาก็ได้ ซึ่งหมายความว่าเรากลายเป็นแค่เป้าหมายให้เขาเข้ามาท้าทาย เป็นยอดเขาให้เขาปีนขึ้นมาแล้วปักธง พอเขาถึงยอดก็อาจจะไม่หยุดแล้วไปหาภูเขาอื่นขึ้นอีกก็ได้ เพราะการที่ผู้ชายจะแต่งงานจนมีลูก ก็มักจะไม่ได้ลำบากอะไรมากมาย ตั้งท้องก็ไม่ต้อง คลอดก็ไม่ต้อง ให้นมก็ไม่ต้อง แถมบางคนยังไม่ต้องเลี้ยงลูกอีก เรียกได้ว่าแทบไม่ต้องลำบากอะไรเลยในการสร้างลูก เพียงแค่เอาชนะใจหญิงสาวผู้อ่อนโลกแล้วเอาธงไปปักให้ได้เท่านั้นเอง

มีผู้ชายจำนวนมากที่ได้ทำลายวิมานในจินตนาการของผู้หญิงช่างฝันจนเหลือแต่เศษซากของความฝัน ที่เคยคิดว่าเขาดี เคยคิดว่าเขาจะอยู่กับเราตลอดไป แต่สุดท้ายก็ต้องผิดหวังช้ำรักอย่างซ้ำซากมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน แต่พวกเธอก็ไม่เคยจำ ไม่เคยเข็ด ยังคงเชื่อมั่นว่าจะต้องมีเจ้าชายในฝันที่จะมาทำให้ความรักนั้นเป็นสุขยั่งยืนนิรันดร์อย่างที่พวกเธอฝันไว้

แม้จะพลาดพลั้งเสียทีให้กับผู้ชายคนก่อนไป แต่ก็จะตั้งหน้าตั้งตาหาคนใหม่เข้ามาแทนที่ในลักษณะที่เรียกว่าต้องมากกว่าของเก่า เช่น ถ้าคนแรกจีบกัน 1 เดือน คนต่อไปก็ต้องจีบกัน 1 ปี ตั้งมาตรฐานสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เท่าที่จะมีปัญญาตั้งได้

แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันวิบากบาปได้ ฟ้าจะส่งเทพบุตรมาร ที่มีคุณสมบัติครบพร้อมในการเอาชนะใจเรา และมีความสามารถมากพอในการขยี้ฝันให้แหลกสลายในเวลาเดียวกัน เราจะเรียกชายที่เข้ามานี้ว่า “คู่เวรคู่กรรม

คู่เวรคู่กรรมคือ ผู้ที่มีกรรมสอดคล้องกับที่เราต้องรับ เขาจะเสนอตัวเข้ามาเพื่อทำหน้าที่จัดส่งผลกรรมนั้นๆให้เราได้รับ ซึ่งในตอนแรกมักจะมาในรูปของความสุข เป็นกุศลที่เกริ่นนำทางมา เป็นรสหวาน เป็นวิบากกรรมดีที่เคยสะสมร่วมกันมา ทำให้ได้มาเจอกันอีกในชาตินี้ ซึ่งจะมีความสามารถในการเจาะทะลุทุกเหตุผลและทำลายกำแพงใจของผู้หญิงคนนั้นได้

ภาคเทพ (เทวดา)

ต่อให้นานเป็นสิบปีเขาก็จะรอเราได้ ทนจีบ คอยรับคอยส่ง อดทนดูแลเอาใจอยู่ได้ด้วยใจเป็นสุข ถึงทะเลาะกันก็ยอมกันให้อภัยกันได้ เข้ากับครอบครัวได้ดี ดีแสนดี มีศีลมีธรรม มีแนวโน้มที่จะได้แต่งงานกัน และอาจจะได้แต่งงานกันในที่สุด สุดท้ายก็อาจจะผลิตทายาทออกมาเป็นบ่วงคล้องคอผูกกันไว้ทั้งสองฝ่าย ไม่ให้หลุดออกจากกันได้โดยง่าย ในทางโลกจะเรียกกระบวนการนี้ว่า “ชีวิตคู่เป็นสุข” หรือ “happy ending”ในทางธรรมจะเรียกว่า “บ่วง” หรือ “ภาระ” หรือ “bad never ending (ซวยไม่รู้จบ)

ภาคมาร

แต่ความสุขลวงที่เกิดขึ้นในชีวิตคู่รักเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง ให้จำไว้เลยว่ายิ่งสุขเท่าไหร่ก็จะยิ่งทุกข์เท่านั้น ทุกๆความสุขที่เสพไปคือกุศลกรรมเก่าที่เคยได้ทำมา เราจะได้เสพเท่าที่เราเคยทำกรรมดีไว้ และเมื่อเปลี่ยนจากคนโสดมาคบกันเป็นคนคู่จนแต่งงาน คือความเสื่อมจากธรรม เมื่อคนมีกิเลสสองคนมารวมกันก็จะเริ่มพากันเสพตามกิเลส หลงกาม เมาอัตตา ทั้งกิน ทั้งเที่ยว ทั้งสมสู่ มีแต่กิจกรรมเสริมกิเลส นั่นหมายความว่า พอมาเข้าคู่กับคู่เวรคู่กรรมแล้ว ก็จะมีแนวโน้มไปทางชั่ว

สุดท้ายพอกุศลหมด แต่อกุศลที่ทำมาเต็มไปหมด ก็จะเกิดสภาวะที่เรียกว่าสวรรค์ล่ม เทวดาตกสวรรค์ จากที่เคยเสพสุขกันบนสวรรค์ก็ร่วงลงมาบนโลก นั่นก็คือสภาพของความจริง คือต้องพบกับการพลัดพราก การเสื่อมสลายของทุกสิ่ง ความรักก็เช่นกัน

ตอนที่เราก็หลงสุข ก็หลงว่าคู่ของเราดี ทั้งที่จริงๆมันอาจจะยังไม่ถึงเวลาก็ได้ ซึ่งเมื่อมีความเห็นว่าคู่ของเราเป็นคนดีตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันและน่าจะตลอดไป นั่นแหละคือความประมาท คือไม่รู้ไม่สนใจเลยว่าวันหนึ่งชั่วมันจะเกิดหรือไม่เกิด ขอฉันเสพฉันสุขในปัจจุบันก็พอ เป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดที่ว่าหลงเข้าใจว่าความสุขในการเสพกามในปัจจุบันคือของแท้

คู่เวรคู่กรรมบางคนอาจจะหมดเวรหมดกรรมตั้งแต่ตอนเป็นแฟน แต่บางคนต้องโดนสมสู่แล้วทิ้งถึงจะหมดกรรมชั่วชุดนั้น บางคนหนักกว่าต้องไปแต่งงานกันกว่าจะออกฤทธิ์ชั่วให้เห็น ที่หนักกว่านั้นคือรอให้มีลูกก่อน และจะไม่ค่อยรอให้ลูกโตกันหรอก พอมีแล้วก็ให้โอกาสใช้เวรใช้กรรมกันเลยในขณะที่ยังลำบากอยู่นั่นแหละ คือมีเหตุให้เลิกกัน ทะเลาะ หักหลัง มีชู้ ป่วย ตาย ฯลฯ ตามวิบากกรรมของแต่ละคน และที่ชั่วที่สุดคือรักกันไปจนแก่ตายนี่แหละ อภิมหาชั่วเลย คือหลอกล่อมัวเมากันด้วยสุขลวงแล้วหลงกันข้ามภพข้ามชาติเลย

คนโดนทิ้งตอนเป็นแฟนก็ยังมีโอกาสตาสว่างได้ไว คนโดนทิ้งตอนโดนสมสู่ไปแล้ว โดนทิ้งตอนแต่งงานไปแล้ว โดนทิ้งตอนมีลูกไปแล้ว ก็ยังมีโอกาสตาสว่างได้แม้จะมีความทุกข์มากเพราะยึดมั่นถือมั่นมากตามระยะเวลาที่ได้สะสมมาแต่ก็จะสามารถที่จะเห็นธรรมะได้ แต่คนที่พากันให้หลงมัวเมาในรักจนแก่ตายนั้น ไม่มีโอกาสตาสว่างได้เลย นี้จึงเรียกว่าชั่วที่สุด

ด้วยลีลาที่เรียกว่าเกินปัญญาจะคาดเดา เหมือนเสือที่หลอกหมูว่าตนเองนั้นไม่มีภัย ทำตัวเป็นเสือกินพืชกินผักหลอกให้หมูนั้นตายใจ หลงว่าเสือนั้นจะไม่กินตน เสือนั้นกินผักได้ เสือนั้นเชื่องกับตน เสือจะปกป้องตน เสือรักตน โดยหารู้ไม่ว่าที่เสือมันอดทนกินพืชผักอยู่นั้น มันก็รอให้ถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะกินหมูตัวนั้นเท่านั้นเอง

สรุปว่าเทพบุตรมาร(คู่เวรคู่กรรม)ที่เข้ามาเอาชนะใจของเราได้นี่แหละ คือคนที่จะมีผลในการทำลายใจของเราในท้ายที่สุด ขึ้นอยู่กับเมื่อไหร่จะหมดกรรมที่ทำมาร่วมกัน หากจะคิดว่าทำดีสู้ มันสู้ไม่ไหวอยู่แล้ว เพราะเวลาคู่กันแล้วชั่วมันเยอะกว่าดี ถ้าให้ดีคือไม่ต้องไปคู่กันแล้วทำดีต่อกัน นั่นจึงเรียกว่าดี

ภาคนรก

ทีนี้พอผิดหวังช้ำรักนี่มันหลุดกันไม่ได้ง่ายๆหรอก ตามสัจจะมันต้องลงนรกกันก่อน คือต้องได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจให้สาสมกับความยึดมั่นถือมั่นที่สะสมมาเสียก่อน ถ้าวิบากกรรมที่ส่งผลชุดนั้นยังไม่หมด ก็ไม่มีวันจะตาสว่างเห็นธรรมในทุกข์เหล่านั้นได้ ได้ฟังธรรมะก็จะไม่เข้าหู ถึงมีผู้รู้มาแนะนำก็จะไม่เข้าใจ มันจะตัน จะตื้อไปหมด

ต่อเมื่อหมดวิบากกรรมชั่วชุดนั้นแล้ว จะมีสัญญาณให้รู้สึกถึงความคลี่คลาย จะได้รับธรรมะที่ทำให้ใจสบายขึ้น เช่นพ่อแม่ปลอบ เพื่อนแนะนำ ได้ฟังธรรมะครูบาอาจารย์แล้วจิตใจผ่อนคลายจากทุกข์ได้ จะไม่จมอยู่กับทุกข์นั้นๆ มีโอกาสในการพิจารณาธรรมที่เป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น และหากสามารถปฏิบัติธรรมจนกระทั่งดับเหตุแห่งทุกข์นั้นๆได้ก็ถือว่าคุ้มค่า

แต่ในอีกกรณีหนึ่งคือผู้ที่คลายจากวิบากกรรมชุดนั้นแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีความเจริญในทางธรรม เพียงแค่ปล่อยให้ทุกข์เกิดแล้วดับไปตามธรรมชาติ แล้วปล่อยโอกาสแห่งการศึกษาให้ลอยไป ใช้ชีวิตเหมือนปกติ เป็นคนช่างฝันเหมือนสมัยก่อน พร้อมกับตั้งเงื่อนไขของชายคนต่อไปเท่าที่ปัญญาจะมี เพราะยังอยากเสพสุขในการมีคู่อยู่ นั่นจึงเป็นเหตุที่พวกเธอจะต้องวนเวียนอยู่ในสวรรค์ลวงและนรกจริงเช่นนี้ตลอดไปนั่นเอง

สรุป

เราทุกคนที่วิบากกรรมชั่วที่ไล่ล่าอยู่ตลอดเวลา ถ้าจะพอป้องกันได้ก็คงจะมีแต่ศีล คู่เวรคู่กรรมคือผู้ที่จะพยายามเข้ามาพรากศีลไปจากเรา พรากความโสดไปจากเรา เข้ามาสร้างสุขลวงให้เราหลงเสพหลงสุขตามที่เราเคยไปหลอกล่อใครต่อใครไว้ในชาตินี้และชาติก่อนๆ จนเราต้องหลงมัวเมากับความรัก

และสุดท้ายก็พังทิ้งอย่างไร้เยื่อใย เหมือนกับการแก้แค้นของใครบางคนที่ตามมาทวงคืนกันข้ามภพข้ามชาติ ความผิดหวัง ความทุกข์ต่างๆที่ได้รับมานั้นคือสมบัติของเราเอง ที่รอเพียงจะมีเหตุปัจจัยที่เหมาะสมในการรับผลของกรรมนั้นในช่วงเวลาที่สมควร

วิบากกรรมที่ไล่ล่าเรานั้น มันอาจจะมาถึงในอีกกี่วัน กี่เดือน กี่ปี กี่ชาติ ก็ได้ในการส่งผล ให้พึงระลึกไว้เถอะว่า กรรมที่เราทำมา มันตามมาล้างแค้นเราแน่ “แค้นนี้จะอีกกี่ปีกี่ชาติก็ยังไม่สาย” และวันนั้นคือวันที่คนผู้ประมาทจะต้องเสียใจ

ผู้มีคู่จึงต้องทนทุกข์อยู่กับความกังวลกับชีวิตคู่ในอนาคต และต้องเจอกับการจากพรากกับคู่เป็นที่แน่นอนในที่สุด ต่างจากคนโสดที่ไม่ต้องมีความกังวลใดๆเหล่านี้เลย คนโสดจึงเป็นคนที่ผาสุกที่สุด

– – – – – – – – – – – – – – –

30.11.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

หาคู่บรรลุธรรม : เมื่อความฝันกับความจริงเป็นคนละเรื่องกัน

November 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,897 views 0

หาคู่บรรลุธรรม

หาคู่บรรลุธรรม : เมื่อความฝันกับความจริงเป็นคนละเรื่องกัน

ความรักของคนทั่วไปนั้นมักจะไม่มีความซับซ้อนอะไรมาก ตรงไปตรงมา แค่อยากได้ก็หามาเสพ แต่ความรักของนักปฏิบัติธรรมส่วนมากนั้นซับซ้อน มักจะถูกซ่อนไว้ด้วยเหตุผลอันน่าอภิรมย์เสมอ เป็นความอยากที่ซ่อนไว้ใต้ภาพฝันอันสวยงามว่า จะสามารถเจริญไปได้พร้อมๆกับการเสพสุขจากการมีคู่

ซึ่งแท้จริงแล้วการมีคู่นั้นไม่ใช่ความเจริญหรือความประเสริฐแต่อย่างใด มันเป็นเพียงความธรรมดา เป็นไปตามธรรมชาติของความเป็นสัตว์การมีคู่นั้นมีมาตั้งแต่เป็นสัตว์เล็กจนถึงสัตว์ใหญ่ ฯลฯ นั่นหมายถึงเป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์ที่จะมีคู่ ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องผิดธรรมชาติ ไม่ใช่สาระสำคัญของชีวิต ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจแต่อย่างใด

ธรรมะนั้นคือสิ่งที่จะพาให้คนหลุดพ้นจากธรรมชาติ ไม่ต้องมีชาติ มีชรา มรณะ ฯลฯ หลุดพ้นจากความเป็นสัตว์อย่างที่เคยเป็นมา ซึ่งหากปฏิบัติอย่างถูกตรงโดยลำดับจะสามารถงดเว้นเรื่องคนคู่ได้ จนกระทั่งยินดีที่จะไม่มีคู่ครอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ สวนกระแสธรรมชาติอย่างรุนแรง ไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจกันได้โดยทั่วไป และไม่ใช่สิ่งที่จะปฏิบัติกันได้ทุกคน

การหาคู่มาเพื่อความเจริญในธรรมนั้น มีขีดสูงสุดที่จะเจริญได้คือการยอมพรากจากคู่ของคน คือไม่เข้าไปคบหาเชิงชู้สาว ไม่สมสู่กัน ไม่บำเรอกามและไม่สนองอัตตากันและกัน สุดท้ายก็คือไม่ผูกกันด้วยกิเลส นั่นหมายถึงว่าท้ายที่สุดก็ต้องกลับมาเป็นโสดอยู่ดี

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าความเจริญสูงสุดของการมีคู่คือการกลับมาเป็นโสด เป็นสัจจะที่ไม่สามารถลบล้างได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ผู้ตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต, ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง” ซึ่งก็ชี้ให้เห็นชัดอยู่แล้วว่าการไปแสวงหาคู่เป็นความเสื่อม ความโสดคือความเจริญ

แล้วคนที่เข้าใจว่าจะหาคู่เพื่อความเจริญในธรรม ร่วมสร้างกุศลคืออะไร? ก็คือคนที่ไม่เห็นโทษภัยของการมีคู่ หลงคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งดี น่าใคร่น่าเสพ ก็เลยหาคู่มาบำเรอตน ไม่บำเรอกามก็บำเรออัตตา แล้วก็หลงมัวเมาอยู่กับสวรรค์ลวงๆที่ตนสร้างมา ว่ามีคู่สุขจริงหนอ มีคู่ดีจริงหนอ มีคู่ประเสริฐจริงหนอ ว่าแล้วก็ตั้งจิตน้อมเข้าหาประโยชน์ของการมีคู่ สะสมหมักหมมกิเลสพอกใส่ตัวเองด้วยความหลงผิด เห็นว่ากงจักรนั้นเป็นดอกบัว ก็มีแต่จะสะสมทุกข์ บาป เวร ภัย ให้กับตัวเองเท่านั้นเอง

ทั้งที่ความจริงแล้ว สุขกว่าการมีคู่นั้นยังมีอีกมากมาย แต่ก็มาหลงสุขอยู่กับการมีคู่ เหมือนนักเดินทางที่อยากเดินไปให้ถึงเป้าหมายแต่ก็มาหยุดตรงที่จุดชมวิวข้างทางไม่ยอมไปไหน ถ้าจะให้เกิดความเจริญก็จะต้องกล้าที่จะเดินออกไป กล้าที่จะยอมทิ้งสุขที่น้อยเหล่านั้นไปหาสุขที่มากกว่า สุขที่ไม่ต้องได้ ไม่ต้องมี ไม่ต้องเป็นอะไร

เรื่องการมีคู่แท้จริงแล้วก็เหมือนเรื่องโกหก แม้มันจะเคยเกิดขึ้นจริง แต่มันก็ไม่ใช่ของจริง มันเปลี่ยนแปลง แตกหัก เสื่อมสลาย ไม่คงทน ตายไปก็จำไม่ได้ คงเหลือแต่กรรมและกิเลสที่ตกทอดมาเป็นพลังที่หลอกให้คนหลงไปว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่าได้น่ามี เป็นตัวเราของเรา ให้คนหลงไขว่คว้า พยายามแสวงหาคู่กันทุกชาติอย่างไม่จบไม่สิ้น เกิดมาชาติไหนก็ยังต้องหาคู่มาเสพ เพราะยังไม่สามารถหลุดพ้นจากธรรมชาติ ไม่หลุดพ้นจากความเป็นสัตว์

การบรรลุธรรมแท้จริงแล้วก็คือการเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นสิ่งที่ไร้สาระเป็นสิ่งไร้สาระตามจริง เหมือนกับการที่เห็นเรื่องการมีคู่ไม่ใช่สาระใดๆในชีวิต ถ้ายังไม่สามารถเข้าใจความจริงในระดับนี้ ก็อย่าพึ่งไปคิดให้ไกลเกินตัวว่าจะหลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะเพียงแค่เรื่องคู่ยังหลุดพ้นไม่ได้ แล้วเรื่องอื่นที่ยากกว่าจะผ่านไปได้อย่างไร

– – – – – – – – – – – – – – –

31.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สายลมเมื่อวันวาน

October 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,117 views 1

สายลมเมื่อวันวาน

สายลมเมื่อวันวาน

(เรียบเรียงได้ตอนฟังเพลง : วันนี้เมื่อปีก่อน (Today, Last Year) – Moderndog )

เมื่อวันที่การเปลี่ยนแปลงมาถึง

คงไม่มีใครทุกข์ใจกับความเจริญ

และคงไม่มีใครดีใจกับความเสื่อมสลาย

สิ่งใดที่เกิดขึ้นมา สุดท้ายมันก็ต้องดับลงไป

ทิ้งไว้แต่คนที่ยึดมั่นถือมั่นในรสสุขเหล่านั้น

พยายามที่จะกอดเก็บอดีตที่สวยงามไว้

เหมือนกับการห้ามสายลมไม่ให้พัดไป

ทั้งที่จริงแล้ว สายลมไม่เคยหยุดนิ่ง

เฝ้าใฝ่ฝันถึงอนาคตว่าวันหนึ่งจะต้องดีเหมือนเดิม

เหมือนกับเฝ้าฝันว่าสายลมนั้นจะพัดหวนกลับมา

ทั้งที่จริงแล้ว สายลมเดิมนั้นไม่เคยพัดกลับมา

จมดิ่งอยู่ในอดีต ล่องลอยไปกับอนาคต

ไม่มีปัจจุบันสำหรับผู้ปล่อยใจให้หลงทาง

อดีตเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ทุกอย่างมันจบไปแล้ว

แม้มันจะเคยมีอยู่ แต่มันก็เป็นเพียงความจำ

อนาคตเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง และไม่รู้ว่าจะถึงวันไหน

แม้มันน่าจะเกิดขึ้น แต่มันก็เป็นเพียงการคาดเดา

ไม่มีความจริงในอดีตและอนาคต

มีแต่ความจริงในปัจจุบัน ทีนี่ เวลานี้เท่านั้น

สิ่งที่มีอยู่ในตอนนี้คือของจริง เป็นจริงตามความเป็นจริง

อย่าเอาความจำมาเป็นความจริงในปัจจุบัน

เพราะความจำเป็นเพียงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในอดีต

อย่าเอาการคาดเดามาเป็นความจริงในปัจจุบัน

เพราะไม่ว่าจะวาดฝันไว้สักเท่าไร มันอาจจะไม่เกิดขึ้น

ผู้ที่พ้นจากความหลงยึดในอดีตและอนาคตเท่านั้น

จึงจะเป็นผู้ที่อยู่ในปัจจุบัน เป็นผู้มีความจริง

และมีเพียงความจริงในปัจจุบันเท่านั้น

ที่จะทำให้ก้าวผ่านความทุกข์ไปได้

ปล่อยให้สายลมพัดผ่านไป

อย่างที่มันควรจะเป็น

ปล่อยการยึด

วางการยื้อ

🙂

.

บทขยาย

เมื่อคนเราพบกับความทุกข์ ความผิดหวัง อย่างเช่นในเรื่องของความรัก ก็มักจะปล่อยให้จิตใจหลงไปกับอดีตและอนาคต

อดีตก็คือการหวนคิดถึงวันเก่าๆ เสียใจ เสียดาย ฉันเคยสุขเช่นนั้น เราเคยเป็นของกันและกันแบบนั้น เธอเป็นรักแรกของฉัน เป็นคนแรกของฉัน เราเคยเป็นเนื้อคู่กันตั้งแต่ชาติปางก่อน วันนั้นฉันน่าจะทำแบบนั้น ฉันไม่น่าตัดสินใจแบบนี้เลย ฯลฯ ซึ่งเป็นการจมอยู่ในอดีต แล้วก็หลงเอาอดีตมาเป็นปัจจุบัน เข้าใจว่าปัจจุบันต้องเป็นอย่างในอดีต คือมีความยึดในอดีต ทั้งๆที่ความจริงในปัจจุบันทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ปัจจุบันคือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นและเป็นอยู่ เป็นความจริง เป็นเรื่องจริง อดีตมีแค่ความจำและความรู้ที่ได้เรียนรู้มา แต่ไม่ใช่ความจริง

อนาคตก็เช่นกัน เรามักเฝ้าฝันถึงอนาคตที่สวยงาม หวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น หวังว่าวันหนึ่งเขาจะกลับมา หวังว่าวันหนึ่งทุกอย่างจะจบลงด้วยดี ฯลฯ แล้วเสพสุขกับความฝันเหล่านั้นอยู่ในภพที่ตัวเองสร้างขึ้น ปั้นขึ้น แต่งขึ้น เหมือนหลงในนิทาน เมาไปในเรื่องราวของนิยายเพ้อฝัน หลงไปในอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่ จะมีจริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ มีแต่การคาดเดา ความน่าจะเป็น แต่ก็ไม่มีความจริงอยู่ในนั้น เพราะสิ่งนั้นยังไม่ได้เกิดขึ้น มันจึงเป็นเพียงภาพฝันที่จับต้องไม่ได้ ไม่มีอยู่จริง

ปัจจุบันเท่านั้นที่เป็นความจริง ผู้ที่ยอมรับความจริงตามความเป็นจริงที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถละหน่ายคลายจากความหลงติดหลงยึดในอดีตและอนาคตได้

– – – – – – – – – – – – – – –

9.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)