Tag: การหลงผิด

การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา

April 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,817 views 0

การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา

สรุปขั้นตอนปฏิบัติธรรมแบบรวบรัด การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา

สรุปหลักปฏิบัติที่เป็นขั้นตอนที่สั้นและรวบรัดนั่นคือการทำลายกามด้วยอัตตา และทำลายอัตตาด้วยอุเบกขาตามลำดับ ด้วยหลักใหญ่เพียงเท่านี้ก็สามารถทำลายกิเลสในเรื่องนั้นๆได้สิ้นเกลี้ยง

ในตอนแรกเราก็มักจะติดกามกันอยู่ คือการที่ยังไปเสพสุขลวงที่เกิดจากกิเลสยังเป็นความชั่วและเป็นบาปที่หยาบอยู่ และการจะออกจากสุขลวงเหล่านั้นจะต้องใช้อัตตาคือความยึดดีเข้ามาช่วยทำลายกาม เรียกว่าต้องเป็นคนดีก่อนแล้วจึงจะไม่ไปเสพสิ่งที่ชั่ว ต้องติดดีขนาดที่ว่าเว้นขาดจากการเสพกามทั้งทางกาย วาจา ใจ คือใช้อัตตาทำลายกามให้สิ้นเกลี้ยงไปก่อนเลย

ทีนี้พอออกจากกามได้ก็จะเหลืออัตตาไว้ กลายเป็นคนติดดี ยึดดี ถือดี คือชั่วไม่ทำแล้ว ทำแต่ดี แต่ก็ยังมีความยึดดีที่เคยใช้ออกจากชั่วนั้นเป็นสิ่งที่สร้างทุกข์ที่ทรมานตนและทำร้ายผู้อื่นอยู่ ดังนั้นเมื่อออกจากกามได้เด็ดขาดแล้ว จึงต้องใช้อุเบกขา หรือการไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ปล่อยวางตัวตนเสียก็จะสามารถทำลายอัตตาได้

เมื่อไม่มีทั้งกามและอัตตา ก็จะถือว่าจบกิจในเรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องๆไป เรื่องไหนทำได้ถึงที่สุดก็คือจบ เช่นกินมังสวิรัติ กินจืด กินมื้อเดียวได้โดยไม่มีกามและอัตตาก็ถือว่าจบในเรื่องนั้นๆไป

นรกของกาม

กามนั้นเป็นสิ่งที่มีภัยมาก พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ละกามเสียก่อน จนกระทั่งให้เว้นขาดจากกามไปเลย กามนั้นส่งผลทั้งกาย วาจา ใจ แม้ว่าเราจะหักห้ามร่างกายไม่ให้ไปเสพกามได้แล้ว แต่ถ้าความรู้สึกลึกๆมันยังสุขอยู่ ใจมันยังอยากเสพอยู่ ก็เรียกได้ว่ายังไม่พ้นจากพลังของกาม ซึ่งกามในระดับของใจนั้นฝังลึกติดแน่น สามารถวัดได้คร่าวๆ จากความรู้สึกยินดี เราเมื่อได้เสพหรือเห็นผู้อื่นเสพกามนั้นๆแล้วเกิดอาการอยากบ้าง เป็นสุขบ้าง อยากเสพอีกบ้าง

ความยากของอัตตา

กามนั้นเป็นเรื่องหยาบที่ยังเป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่นที่เห็นได้ชัดเจนอยู่ จึงสามารถกำจัดได้ไม่ยากนัก แต่อัตตานั้นเป็นเรื่องยาก เห็นได้ยาก ล้างได้ยาก การจะล้างอัตตาโดยไม่ศึกษาธรรมะนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถึงจะติดอัตตาอยู่ก็อาจจะจับอาการของตัวเองไม่ได้ง่ายๆ เพราะมันมีความลึก ความละเอียด ความซับซ้อนอยู่มาก นี้เองคือความยากของอัตตา

ความหลงผิดในอนัตตา

การลัดขั้นตอนไม่เป็นไปตามลำดับนั้น จะทำให้เกิดความหลงผิด และจมหนักยิ่งกว่าเดิม เช่นเรายังติดกามอยู่ แต่เราก็ดันไปพิจารณาอุเบกขา เจอของอร่อยก็พิจารณา “ไม่ใช่ตัวเราของเรา, อย่าไปยึดมั่นถือมั่น, อย่ามีตัวตน,ฯลฯ” ว่าแล้วก็ไปกินของอร่อยอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ไปเสพกามอยู่นั่นเอง เป็นสภาพอนัตตาหลอกๆที่จิตปรุงขึ้นมาเพื่อให้ได้เสพกามเท่านั้น กลายเป็นทิฏฐิเช่นว่า เสพสุขจากกามอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น …ซึ่งมันก็เหมือนคนทั่วไปที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย แถมยังมีกรรมอันเป็นมิจฉาทิฏฐิสะสมไว้เป็นทุนให้ต้องใช้วิบากในภายภาคหน้าอีก

อุเบกขาธรรมะ

การหลงผิดแบบแย่สุดแย่เข้าไปอีกคือการไม่ได้คิดจะปฏิบัติอะไรเลย กามก็ไม่ล้าง อัตตาก็ไม่ล้าง แต่ใช้การอุเบกขาให้ดูเหมือนเป็นผู้มีอนัตตาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำอะไรสักอย่าง คือมองไปว่าการปฏิบัติธรรมก็มีตัวตน จึงทำตนให้ไม่ต้องมีตัวตนตั้งแต่แรก อุเบกขาการปฏิบัติธรรมทั้งหมดไปเลย ใช้ชีวิตไปตามปกติอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น(แบบคิดไปเอง) ทีนี้พอปล่อยวางธรรมะ ทั้งที่ยังมีกิเลสหนา มันก็ไปนรกอย่างเดียวเท่านั้นเอง ซึ่งจริงๆแล้วอุเบกขามันมีเอาไว้จบในตอนท้าย เป็นตัวจบของกิเลส ไม่ใช่ตัวเริ่ม ใครเอาอุเบกขามาทำตั้งแต่เริ่มจะไม่ได้ทำอะไรเลย กลายเป็นอนัตตาแบบคิดไปเอง เรียกว่าเป็นปัญญาแบบเฉโก คือมีความฉลาดที่พาไปในทางฉิบหาย

– – – – – – – – – – – – – – –

30.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)