Tag: การยัดเยียด

กรณีการโต้แย้งต่างๆในบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

July 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,421 views 0

หากใครได้ติดตามอ่านความคิดเห็นในบทความแล้วก็จะพบว่ามีคนจำนวนหนึ่งเข้ามาเห็นแย้ง ด้วยเหตุผลก็ตาม ด้วยอารมณ์ก็ตาม

ให้เรียนรู้ว่านี่แหละ ธรรมชาติของการปฏิบัติธรรม จะให้ทุกคนมีความเห็นเดียวกันไม่ได้หรอก แต่ละคนจะมีความเห็นไปตามกรรมของตน

หากอ่านบทความจะเห็นได้ว่าผมยกพระสูตรมาเยอะพอสมควร เพียงแต่ย่อมา และอีกส่วนเป็นสภาวธรรมซึ่งเป็นของส่วนตัว เป็นความเห็นส่วนตัว

แต่ก็ยังมีผู้ที่หวังดีเข้ามาพยายามปกป้องพุทธศาสนาและความเชื่อของเขาโดยการยัดเยียดความคิดเห็นของเขา และยัดเยียดความผิดมาให้ผม

จะสังเกตุได้ว่าผมก็อยู่ของผมดีๆนั่นแหละ แต่ก็มีคนแชร์เอาไปตีความ เอาไปข่ม เอาไปยำกันเสียสนุกเลย

ตรงนี้เองเรียกว่า “มานะ” คือความยึดดี การมีความยึดดีนี้จะไม่ยอมให้สิ่งดีของตัวเองด้อยค่าลงและมักจะยัดเยียดดีของตนให้ผู้อื่น

และยังมี “อติมานะ” คือการดูหมิ่นกัน จะสังเกตุได้ว่าบางคนก็ดูหมิ่นผมทั้งที่ยังไม่เคยศึกษา ไม่เคยรู้จักกันเลย บางคนก็ดูหมิ่นผิดเรื่องผิดประเด็น อาจจะเพราะเคยมีปมจากที่อื่น

บางคนยังมีอาการของ การโอ้อวด(สาเฐยยะ) หัวดื้อ(ถัมภะ) แข่งดีเอาชนะ(สารัมภะ) ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี (อิสสา) ร่วมเข้าไปด้วยอีกต่างหาก

ทั้งหมดนี้เป็นอาการของกิเลสทั้งนั้น ผมเองไม่เคยบังคับให้ใครเข้ามาอ่านหรือเข้ามาแสดงความคิดเห็น การกระทำเหล่านั้นเป็นเจตนาของแต่ละคน เป็นกรรมของแต่ละคน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นกรรมที่เกิดจากกิเลส

นั่นหมายถึงสิ่งที่พวกเขาได้รับคงหนีไม่พ้น อกุศลกรรม บาป เวร ภัย ฯลฯ สรุปแล้วคือเข้ามาพิมพ์โต้แย้งก็ไม่ได้มีผลดีเกิดขึ้นมาเลยสักอย่าง ซึ่งก็ไม่รู้จะทำไปทำไม ทำไปก็ไม่มีผลเจริญอย่างใดเลย

เพราะไม่ว่าเขาจะมีความเห็นอย่างไร ก็ลบความจริงในการปฏิบัติของผมไม่ได้ มันเป็นของจริงในจิตอยู่เช่นนั้น การกระทำของผู้ที่เห็นแย้งเพื่อสนองมานะตนจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีประโยชน์ กับใครเลย

ผมก็ยังมีความสุขกับการละเว้นเนื้อสัตว์อยู่เหมือนเดิม แต่เขากลับได้กิเลสเพิ่ม ยิ่งด่า ยิ่งข่ม ยิ่งดูถูก เขาจะยิ่งสะสมกิเลสมากขึ้น สะสมเชื้อทุกข์มากขึ้น เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นในเวลาเดียวกัน เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ไม่ควรทำ

…ที่ยกมานี้ก็เพื่อจะเตือนเพื่อนๆว่า เวลามีคนที่เสนอความเห็นที่ต่างให้ระวัง “มานะ” หรือความยึดดีถือดีของเราไว้ให้ดี ถ้าเรายังไม่สามารถปฏิบัติให้เกิดผลจริงจนเห็นด้วยตัวเองได้ ถ้าเราสักแต่ว่าฟังมา เราจะมีความเสี่ยงในการโอ้อวดสิ่งที่ไม่มีในตน แถมยังไปเบียดเบียนผู้อื่นอีก

การไปถกเถียงกับเขาจะยิ่งต่อความยาว สาวความยืด ยิ่งเพิ่มกิเลสของเขา ผมได้ลองให้เห็นแล้วในบทความนั้น ลองศึกษากันดู ไม่ว่าเราจะชี้แจงอย่างไรเขาจะไม่สนใจหรอก เขาแค่อยากแสดงให้เห็นว่าทิฏฐิของเขาถูก ของเราผิดเท่านั้นเอง

ดังนั้นเราจึงไม่ควรให้อาหารกิเลส ไม่ควรให้เขาเสพสมใจในกิเลส ถ้าเขาอยากข่มก็ปล่อยเขา เรายิ่งดิ้นเขายิ่งสะใจ ถ้าเขาอยากแข่งก็ไม่ต้องไปแข่งกับเขา ยิ่งแข่งยิ่งบาป ถ้าเขาจะหยาบมาอย่างไรก็เป็นกรรมของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา

เรื่องของเราคือเรารักษาใจตนเองให้ผาสุกได้ไหม เขามายั่วยวนขนาดนี้เรายอมเขาได้ไหม ยอมเขาไปเถอะ เขาอยากทำกรรมอะไรก็เรื่องของเขา เราเอาแต่เรื่องกุศล เรื่องบาปเราไม่ยุ่ง

ถ้าเราจะเป็นคนดีที่คอยตีคนที่เห็นต่างจากตน มุ่งมั่นกับการปราบคนที่เห็นไม่ตรงกับที่ตนเข้าใจ เราจะกลายเป็นคนดีที่มีแต่ความทุกข์ไปตลอดกาล

กว่าจะถึงธรรมทาน

November 27, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,497 views 0

กว่าจะถึงธรรมทาน

กว่าจะถึงธรรมทาน

…กว่าจะสร้าง กว่าจะให้ กว่าจะรับ กว่าจะเข้าใจ

            ขึ้นชื่อว่าธรรมทานนั้นก็รู้กันดีว่าเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ มีกุศลมาก เป็นบุญมาก มีอานิสงส์มาก แต่การจะให้ธรรมทานนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก กว่าจะสร้างธรรมขึ้นมาในตัวก็ว่ายากแล้ว การจะให้ธรรมนั้นยากยิ่งกว่าและการจะให้ไปจนถึงผลเจริญนั้นยากที่สุด

ก่อนจะให้ธรรมทานนั้นเราต้องมีธรรมนั้นในจิตวิญญาณก่อน เป็นธรรมะแท้ที่เกิดในจิตของเราเป็นของจริงของเรา เมื่อเรามีของจริงแล้วจึงจะสามารถให้ใครก็ได้

แต่การจะให้ธรรมทานนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนักจะเรียกว่ายากสุดยากเลยก็ว่าได้ ก่อนที่เราจะให้นั้นเราต้องบุกป่าฝ่าดงออกจากกองกิเลสของเราก่อน ทำลายดงอัตตาที่ผูกพันตัวเราออกเสียก่อนจึงจะสามารถส่งต่อธรรมทานได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าไม่ทำลายกิเลสของเราก่อนมันก็จะเป็นธรรมที่ไม่ผ่องใสเป็นธรรมที่ปนกิเลสเหมือนกับการให้ของสดปนกับของเน่า และการจะให้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าเราจะมีของดีแค่ไหน ดีที่สุดโลก ดีกว่าที่ใครต่อใครมี ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะยินดีรับธรรมนั้น การให้แก่ผู้ที่ไม่ยินดีรับย่อมไม่ใช่การให้แต่เป็นการยัดเยียดซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย

ถึงแม้ว่าเขาจะเปิดใจรับธรรมนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธรรมนั้นจะทะลุถึงใจเขาทันที เราต้องฝ่าด่านกิเลสที่ผูกมัดเขาและกำแพงอัตตาอันสูงใหญ่ของเขา เหมือนกับว่าเขาเปิดประตูบ้านต้อนรับเราก็จริง แต่ทางเข้าบ้านนั้นเต็มไปด้วยขวากหนาม มีกำแพงปกป้องบ้านอยู่มากมายหลายชั้น

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะให้ธรรมนั้นแล้วเข้าไปถึงจิตใจจนมีผลเจริญทันที โดยส่วนมากเรามักจะต้องผ่าดงกิเลสและกำแพงอัตตาของเขาซึ่งเป็นสิ่งที่ยากลำบากและทำให้ผู้ให้และผู้รับหลายคนบาดเจ็บกันมานักต่อนักแล้ว เพราะการที่เขาบอกว่ายินดีฟังธรรมจากเราไม่ได้หมายความว่าเขาจะยินดีทั้งหมด เหมือนกับเราเข้าบ้านเขาไปแล้วไปรื้อดงกิเลสสุดหวงของเขา ไปทำลายกำแพงอัตตาสุดที่รักของเขา เขาก็อาจจะโกรธแล้วก็ไล่เราออกจากบ้านได้เหมือนกัน

การประมาณเป็นทักษะที่จำเป็นมาก ต้องรู้ว่าเราคือใคร เรากำลังให้อะไร ผู้รับเป็นใคร ผู้รับต้องการอะไร แค่ไหนที่เขาต้องการ เรื่องไหนที่ไม่ควรก้าวล่วง มีหลายครั้งที่เราอาจจะต้องเสี่ยง เมื่อมีการเสี่ยงนั่นหมายถึงผลอาจจะออกมาเป็นได้ทั้งดีและร้าย ธรรมะไม่เคยทำร้ายใคร แต่สิ่งที่ทำร้ายคือกิเลสของเราเอง รวมถึงดงกิเลสและกำแพงอัตตาของเขานั้นคือสิ่งกั้นธรรมะไว้

การที่เราจะให้ธรรมใดก็ตาม แม้ว่าจะเป็นธรรมสั้นหรือยาว ลึกตื้นหนาบาง เล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่ โลกียะหรือโลกุตระ จำเป็นต้องให้ธรรมหรือแสดงธรรมให้นุ่มนวลที่สุด เหมือนกับนักย่องเบาที่ก้าวผ่านดงกิเลสกำแพงอัตตาเข้าไปทำลายกิเลสโดยที่ผู้ฟังไม่รู้ตัวว่ากำลังโดนสอนธรรม เหมือนการผ่าตัดด้วยหมอที่มีความแม่นยำด้วยมีดอันคบกริบผ่ากิเลสออกได้โดยไม่สร้างบาดแผลที่ไม่จำเป็น

ยังมีอีกหลายเทคนิคที่ต้องใช้ต่างกันไปสำหรับต่างคน ต่างจริต ต่างกรรม เช่น บางคนต้องพูดตรงๆแรงๆ บางคนต้องพูดอ้อมๆ บางคนต้องพูดกระทบชิ่ง บางคนพูดไม่ได้ต้องทำให้ดู บางคนพูดไม่ได้เลยทำอะไรก็ไม่ได้ต้องปล่อยวางรอเวลาอย่างเดียวก็มี

การให้นี่ก็ยากแล้วใช่ไหม แต่เราให้ธรรมไปก็เป็นสิ่งดีแล้วถ้าเราให้ไปด้วยใจที่ไม่ยึดติดในผลก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้แล้ว เพราะการจะให้ธรรมจนเกิดผลเจริญนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ได้ดูง่ายดายเหมือนในประวัติศาสตร์สมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเพียงไม่กี่ประโยคก็บรรลุธรรมกันได้แล้ว

สมัยนั้นผู้ให้ธรรมทานก็เก่งที่สุดในโลกและเหล่าสาวกก็ยังเป็นผู้มีบุญบารมีที่ติดตามกันมาหลายภพหลายชาติ ย่อมจะฟังกันได้ง่าย พูดกันไม่กี่ประโยคก็เข้าใจ ต่างกับยุคเราที่อ่านธรรมพระพุทธเจ้าก็แล้ว ฟังธรรมหลวงปู่หลวงพ่อครูบาอาจารย์ก็แล้ว ปฏิบัติกันมาก็แล้ว ยังไม่บรรลุธรรมกันเสียที

เพราะธรรมทานไม่ใช่เรื่องง่ายแค่เปิดซีดีฟัง เปิดยูทูปฟัง หรืออ่านหนังสือธรรมะ การแสดงธรรมแบบสดๆ การถามตอบในเรื่องธรรมกันแบบสดๆจะมีพลังงานที่ต่างกันออกไป เป็นเรื่องสดใหม่ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจากบุญของผู้พูดและบุญของผู้ฟัง เกิดเป็นธรรมนั้นๆ ธรรมที่ถูกปรุงแต่งให้เข้ากับเหตุการณ์ เข้ากับยุคสมัย เข้ากับคน เข้ากับจริต ตรงประเด็นของกิเลส ทำลายอัตตาได้

ยังมีเบื้องหลังอีกมากมายที่เรามองไม่เห็นเกี่ยวกับการบรรลุธรรมจากการฟังธรรม คนที่บุญบารมีถึงรอบที่ควรแค่ใบไม้หล่นก็บรรลุธรรมได้ ฟังธรรมไม่กี่ประโยคก็บรรลุธรรมได้ ถึงจะไม่ตั้งใจแต่ก็จะมีเหตุดลให้เข้าใจธรรมหรือให้ได้มาฟังธรรมนั่นก็เพราะเขามีบุญบารมีที่ควรจะได้รับธรรมนั้น เพราะเขาทำมาเขาจึงได้รับสิ่งนั้น

ส่วนคนที่บุญน้อยบารมีน้อย สะสมมาน้อย ทำมาน้อย แม้ว่าจะมีครูบาอาจารย์อยู่ตรงหน้า มีพระอริยะคอยสั่งสอน หรือมีพระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้ได้ฟัง ก็จะไม่เข้าใจธรรม ไม่บรรลุธรรม ฟังเท่าไรก็ไม่เข้าใจ ยิ่งฟังยิ่งงง เพราะเขาสะสมบุญบารมีมาน้อย ปฏิบัติธรรมมาน้อย ฟังธรรมมาน้อย เขาจึงไม่มีโอกาสได้รับธรรมนั้น เพราะเขาไม่ได้ทำมาเขาจึงไม่มีสิทธิ์รับสิ่งนั้น

ดังนั้นการให้ธรรมเป็นทานจนถึงผล จึงเป็นเรื่องสุดวิสัย เป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาผลได้ เพราะเราไม่รู้ว่าตอนนั้นเขาบุญเปิดหรือบาปเปิดอยู่ เราอาจจะต้องลองโยนหินถามทางไปก่อนถามแหย่ไปก่อน สังเกตว่าเขาอยากฟังเราไหม หรือแค่อยากจะบ่นระบายปัญหาในชีวิตเท่านั้นไม่ได้ต้องการคำปรึกษา หรือถ้าหากต้องการคำปรึกษาเราจะพูดเรื่องอะไร เขาสนใจเรื่องอะไร ลองเกริ่นหัวข้อไปก่อนเขาสนใจก็ค่อยพูด เขาไม่สนใจก็ผ่านไปก่อน คนที่วิบากบาปยังส่งผลอยู่ยัดให้ตายก็ยัดไม่เข้า พูดไปก็เปลืองเวลาแถมยังเป็นโทษทั้งสองฝ่ายอีก

ทั้งหมดนี้คือความยากของการเกิดธรรมทาน ตั้งแต่การสร้างธรรมะนั้นในตัว การให้ธรรมะนั้นออกไปกับคนอื่น และการแสดงธรรมให้แจ่มแจ้งจนเกิดผลเจริญทางจิตใจ เป็นสิ่งที่ยากสุดยาก แต่ผลที่ได้นั้นก็คุ้มสุดคุ้มเพราะสามารถให้ธรรมนั้นไปเจริญในจิตใจของผู้อื่นจนเขาใช้ธรรมนั้นเป็นเครื่องมือดับทุกข์ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

27.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์