Tag: การปรุงแต่ง

อดีต อนาคต ปัจจุบัน: ตรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมดในทุกช่วงเวลา

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,793 views 0

อดีต อนาคต ปัจจุบัน: ตรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมดในทุกช่วงเวลา

อดีต อนาคต ปัจจุบัน: ตรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมดในทุกช่วงเวลา

หลังจากที่เราได้ผ่านการทดสอบจิตใจตัวเองตั้งแต่ระดับ 1-3 มาแล้ว ก็ยังเหลือการทดสอบอีกขั้นหนึ่งซึ่งเรียกว่าการตรวจเวทนา ๑๐๘ ซึ่งจะขออธิบายโดยย่อสำหรับการตรวจกิเลสในระดับนี้

การตรวจเวทนา ๑๐๘ เป็นการตรวจสภาวะ ทุกข์ สุข เฉยๆ ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ต่างกันสองแบบคือแบบเคหสิตะหรือแบบชาวบ้าน และแบบเนกขัมมะหรือแบบนักบวช โดยตรวจผ่านสามช่วงเวลาคืออดีต อนาคต และปัจจุบัน

อธิบายกันให้ง่ายขึ้นคือการที่เรานึกย้อนไปในอดีตในสิ่งที่เราเคยยึดติด เคยชอบใจ เคยถูกใจแล้วเรายังเหลือสุข ทุกข์อยู่อีกไหม และนึกไปถึงอนาคตต่อว่าถ้าเราได้เสพสิ่งนั้นสิ่งนี้เราจะเป็นสุขอยู่ไหม ถ้าเราไม่ได้เสพเราจะเป็นทุกข์ไหม นี่คือลักษณะของการตรวจเวทนาในอดีตและอนาคต

เมื่อเราคิดถึงอดีตและอนาคต สภาวะของความสุข ทุกข์ เฉยๆ จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่นเราคิดถึงเมนูที่เราชอบในอดีต เราก็ไม่ได้กินในปัจจุบันนะ แต่น้ำลายมันอาจจะไหล มันเกิดความอยากขึ้นในปัจจุบัน ในอนาคตก็เช่นกันหากเราคิดถึงเมนูอาหารที่เราติดยึดมากๆ อาจจะทำให้เรามีน้ำลายไหล เกิดอาการอยากกินขึ้นในปัจจุบันนี้เลย

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นของจริง สุข ทุกข์ที่เกิดนั้นเป็นของจริง ไม่ใช่สิ่งลวง เป็นกิเลสจริงๆที่แสดงตัวออกมา แม้จะคิดย้อนไปในอดีตหรือจินตนาการไปในอนาคตแต่สุข ทุกข์ เฉยๆที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน

1.1) วิธีการตรวจอดีต

จากที่ยกตัวอย่างมา เราก็สามารถคิดย้อนไปในเหตุการณ์ต่างๆสมัยที่เรายังกินเนื้อสัตว์ เมนูที่เคยชอบ เหตุการณ์ที่เคยกินต่างๆ ทุกเมนูเนื้อสัตว์ที่เคยอยู่ในความทรงจำ เราก็คิดถึงมันและตรวจอาการตัวเองด้วยสติปัฏฐาน ๔ ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็จะมีอาการเกิดขึ้นเอง เช่นตอนนี้เราเลิกเนื้อสัตว์ได้ 100% แล้วนะ แต่พอคิดย้อนไปถึงตอนกินหมูกระทะกับเพื่อนแล้วมันน้ำลายไหล พอคิดไปถึงเนื้อสัตว์ที่จิ้มน้ำจิ้มเข้าปากแล้วมันก็ยังรู้สึกมีความสุข อันนี้ก็ถือว่ายังมีกิเลสซ่อนอยู่ พอเห็นกิเลสเราก็ใช้สติปัฏฐาน ๔ นี่แหละเป็นตัวพิจารณาหาสาเหตุของกิเลสนั้นๆต่อไป

1.2) วิธีการตรวจอนาคต

ในอนาคตก็จะคล้ายๆอดีต แต่จำเป็นต้องใช้การจินตนาการออกไปล่วงหน้าโดยใช้ข้อมูลในอดีตหรือหาใหม่ในปัจจุบันเป็นวัตถุดิบในการปรุงแต่ง เช่นเราไปดูกระทู้พาชิมอาหาร เราจะได้ข้อมูลในปัจจุบัน หากปัจจุบันมีอาการสุขขึ้นมาจากการได้เห็นเมนูเนื้อสัตว์ก็พิจารณาหากิเลสไป แต่หากยังไม่เจอเราก็ใช้การจินตนาการต่อไปว่าถ้าเราได้กินเนื้อสัตว์แบบเขานะ ถ้าเราได้ลิ้มรสจานนั้นจานนี้นะ ถ้าจินตนาการไปแล้วอาการสุขมันออกนั่นแหละกิเลสมันแสดงตัวออกมาแล้ว นี้คือการหากิเลสในอนาคต

….วิธีการตรวจเวทนาเหล่านี้เป็นวิธีของผู้ที่ต้องการบรรลุธรรมไว ต้องการจะหลุดพ้นจากความอยากไว เป็นวิธีของคนขยัน และมักจะมีคนเข้าใจวิธีนี้ผิดว่าเป็นการคิดฟุ้งไปไกลโดยไม่จำเป็น แต่แท้ที่จริงแล้ววิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันอย่างปกติในคนที่เข้าใจเรื่องล้างกิเลส เพราะสุดท้ายการล้างกิเลสใดๆก็ต้องมาจบด้วยตรวจสอบเวทนา ๑๐๘ กันอยู่ดี

เราสามารถใช้เวทนา ๑๐๘ ได้ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยทำไปพร้อมๆกับแบบทดสอบระดับที่ 1-3 เลยก็ได้ คือไปเจอเหตุการณ์เหล่านั้นมาแล้วก็กลับมาใช้เวลาคิดย้อนกลับไปอีก ตรวจหากิเลสซ้ำไปอีกหลายๆครั้ง นี่เองคือลักษณะนิสัยที่ต้องใช้ความเพียรมาก ถ้าคนทั่วไปก็จะปล่อยให้มันผ่านไปเพราะถือว่ามันจบไปแล้ว แต่ผู้มีความเพียรนอกจากจะไม่ปล่อยให้ผัสสะหายไปแล้วยังสามารถนำผัสสะเหล่านั้นกลับมาใช้ตรวจกิเลสของตัวเองได้ใหม่อีกครั้งด้วย

2) สรุปเรื่องเวทนา ๑๐๘

คนที่ตรวจเวทนา ๑๐๘ ตรวจ อดีต อนาคต ปัจจุบันดีแล้ว ตรวจหลายรอบแล้ว ไม่ว่าจะหาเมนูเนื้อสัตว์น่ากินแค่ไหนก็เฉยๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข แม้จะลองกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ไม่สุข รู้สึกเฉยๆ แถมยังมีปัญญารู้ด้วยว่ากินเนื้อเป็นอกุศลอย่างไร แม้ว่าจะไม่ทุกข์แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รู้คุณรู้โทษ ผู้ซึ่งหมดความรู้สึกสุขทุกข์จากความอยากจะอยู่ในสภาพที่เป็นอิสระจากกิเลส

เนกขัมมสิตอุเบกขานั้นคือเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมหรือการล้างกิเลสเป็นการปล่อยวางกิเลสอย่างนักบวช หมายถึงผู้ปฏิบัติธรรมที่รู้และเข้าใจกระบวนการล้างกิเลสอย่างถ่องแท้ รู้แจ้งทุกขั้นตอนในการล้างกิเลส รู้ว่ากิเลสลดอย่างไร และหมดไปอย่างไรได้อย่างชัดเจน

2.1) อดีตและอนาคต

เมื่อเข้าถึงภาวะอุเบกขา ก็จะจบเรื่องของอดีตและอนาคต คือไม่ต้องไปคิดเรื่องความอยากย้อนไปในอดีตหรือไม่ต้องคิดต่อไปแล้วว่าหลังจากนี้จะมีเมนูเนื้อสัตว์ใดๆที่จะมาทำให้เกิดความอยากได้อีก มีคนเขาว่าอร่อยแค่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะกลับไปอยากกินอีกต่อไปแล้ว คือจะเป็นคนที่ไม่มีทั้งอดีตและอนาคตของกิเลสในเรื่องของความอยากกินเนื้อสัตว์ อยู่กับปัจจุบันที่ไม่มีกิเลส จึงกลายเป็นผู้อยู่กับปัจจุบันเป็นปกติ โดยไม่ต้องพยายามใดๆ

2.2) อดีต

รู้ในส่วนของอดีตคือรู้ว่าอดีตเราทำบาปมาเท่าไหร่ ทำอกุศลมาเท่าไหร่ ตรงนี้ก็จะรับรู้และยอมรับวิบากกรรมเหล่านี้ไว้ ในส่วนของอดีตนี้เองก็มีความไม่เที่ยงในตัวของมัน คือมีอกุศลกรรมเก่าที่เราทำไว้ และมันจะค่อยๆถูกชดใช้ไปเรื่อยๆ จะถูกเปลี่ยนมาสร้างเป็นทุกข์ โทษ ภัยให้เราเรื่อยๆ และที่มันไม่เที่ยงนั้นก็หมายถึงว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง เช่นวันที่เราเลิกกินเนื้อสัตว์เรามีอกุศลอยู่ 100% แต่พอเวลาผ่านไปเราก็ใช้ชีวิตไปพร้อมกับใช้วิบากกรรมไปเรื่อยๆ มันก็จะลดลงมาโดยลำดับ

2.3) อนาคต

และรู้ในส่วนของอนาคต คือรู้ว่าต่อจากนี้ไม่มีการสะสมบาปต่อไปอีกแล้ว ไม่มีการล้างกิเลสต่อไปอีกแล้ว สิ้นบุญสิ้นบาปกันไป เหลือแต่กุศลและอกุศล ในสองส่วนนี้ก็ไม่เที่ยงเช่นกัน กุศลก็สามารถเพิ่มได้เรื่อยๆ เช่นวันนี้เรามีกุศล 100% แต่ผ่านไปหนึ่งปีเราละเว้นเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆกุศลก็เพิ่มโดยลำดับ

และอกุศลก็เป็นส่วนที่ไม่เที่ยงเช่นกัน ในบางครั้งบางโอกาสอาจจะมีเหตุที่จำเป็นให้เราต้องอนุโลมกลับไปกินเนื้อ แต่การอนุโลมนั้นก็อยู่บนพื้นฐานของกุศลและอกุศล เช่นถ้าเรากินเนื้อเราจะรอดชีวิต สามารถไปสร้างกุศลได้อีก 100 หน่วย แต่ถ้าต้องกินเนื้อจะเป็นอกุศล 10 หน่วย ถ้าปล่อยตายก็ไม่ได้อะไรเลย อันนี้ผู้ที่พ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ก็จะสามารถกินได้โดยไม่มีบาป เพราะไม่ได้อยากกิน แต่กินเพราะพิจารณาดีแล้วว่าถ้ารอดตายไปจะทำกุศลได้มากกว่า เป็นกุศลมากกว่า ในกรณีนี้ก็จะคล้ายกับอรหันต์จี้กงที่กินเหล้าสอนคน เพราะท่านได้ประเมินแล้วว่ามันมีกุศลมากกว่าหากใช้วิธีนี้

คนที่สามารถรู้แจ้งในอดีต รู้แจ้งในอนาคต รู้แจ้งในเรื่องอดีตและอนาคตได้ จะพ้นความกังวลหลายอย่างในชีวิตไปได้ เพราะคนที่ตั้งใจจะเลิกตลอดชีวิต จะเลิกนับเวลาว่าตัวเองกินมังสวิรัติมาตั้งแต่เมื่อไหร่และไม่สนใจว่าจะต้องกินไปถึงเมื่อไหร่ เพราะไม่มีทั้งอดีตและอนาคต มีแต่ปัจจุบันคือไม่กิน และจะเป็นปัจจุบันแบบนี้ไปเรื่อยๆ คือไม่กินเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน

ซึ่งจะเป็นสภาพผลของการปฏิบัติศีล หรือที่เรียกกันว่ามีศีลเป็นปกติในชีวิต นั่นคือสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างปกติ และมีความสุขโดยไม่ต้องระวังและเคร่งเครียดมาก เพราะรู้ชัดแจ้งว่าตนเองไม่ได้อยากกินเนื้อสัตว์ ส่วนจะเผลอไปกินโดยไม่รู้นั้นก็แค่เลิกกินหรือถอยออกมาตามที่เห็นสมควร แต่จะไม่ทุกข์ ไม่กลับไปจมในอัตตาใดๆ เพราะรู้ดีว่าการกินเนื้อสัตว์ด้วยความอยากกับการกินแต่ไม่อยากนั้นต่างกันอย่างไร

ผู้ที่บรรลุธรรมจะมีสภาพเหมือนคนธรรมดาที่ไม่ได้เคร่งเครียด เหมือนไม่ได้ถือศีล แต่จะมีศีลไว้ยึดอาศัย ไม่ใช่ว่าสำเร็จวิชาเข้าใจธรรมแล้วทิ้งศีลกลับไปกินเนื้อ ที่ต้องยกตัวอย่างนี้เพราะมีบุคคลบางพวกมักตีกิน ใช้สภาวะสุดท้ายเข้ามาหลอกคนอื่นว่าตนเองนั้นบรรลุธรรมแล้วเลยไม่ยึดมั่นถือมั่นจึงถือว่ากลับไปกินเนื้อสัตว์ได้

ดังนั้นหากจะยืนยันว่าคนที่เข้าใจเรื่องความอยาก รู้แจ้งเรื่องกิเลสจริงนั้นจึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ยาก ดูได้ยาก สังเกตได้ยาก และเข้าใจได้ยาก ไม่สามารถใช้ตรรกะทั่วไปเข้ามาอธิบายสภาวะของจิตใจได้อย่างชัดเจน ทำได้เพียงอธิบายด้วยภาษาเท่าที่ทำได้เท่านั้น การที่เข้าใจและเข้าถึงได้ยากนั้นไม่ใช่ว่าอธิบายธรรมไม่ได้ แต่หมายถึงยากที่คนทั่วไปจะเข้าถึงธรรมที่เป็นโลกุตระ คนที่บรรลุธรรมจริงๆจะสามารถพูดได้ ขยายได้ ชี้แจงได้ แสดงธรรมให้เข้าใจได้ง่ายได้ แต่ปัญหาคือคนฟังจะไม่เข้าใจหรือเข้าใจได้ยากเพราะไม่มีสภาพของธรรมนั้นในตนเอง จึงเกิดช่องว่างแบบนี้ให้คนเอาไปตีกินว่าตนเองบรรลุธรรมนั่นเอง

สรุป

การตรวจเวทนานี้เองคือด่านสุดท้ายของการตรวจสอบกิเลสทั้งหมด ซึ่งเราจำเป็นต้องแม่นยำในเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ ไม่เช่นนั้นเราก็จะตรวจหากิเลสไม่เจอ ถึงกิเลสจะแสดงอาการอยู่ก็มองไม่เห็น เพราะกิเลสนั้นมีสามระดับ คือหยาบ กลาง ละเอียด และอยู่ในลักษณะสามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ การจะเห็นกิเลสที่ละเอียดก็ต้องผ่านชั้นของกิเลสกลางมาก่อน และก่อนจะเห็นกิเลสกลางก็ต้องผ่านกิเลสหยาบมาก่อน และกิเลสที่อยู่ในระดับความละเอียด ส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะของอรูปภพ คือไม่มีรูปมีร่างให้เห็นแล้ว บางครั้งก็แทบจะไม่มีอาการใดๆให้เห็นเด่นชัดเลย มีเพียงอารมณ์ขุ่นมัวเล็กน้อยเท่านั้น

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาถูกทางก็จะมีอินทรีย์พละแกร่งกล้าขึ้นเรื่อยๆ และสามารถเรียนรู้ถึงกิเลส หยาบ กลาง ละเอียดได้ตามลำดับกำลังของตน การที่เราจะเริ่มต้นจากกิเลสละเอียดนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมีไว้เพื่อขัดเกลากิเลสไปตามลำดับ คือ หยาบ กลาง ละเอียด มีความลาด ลุ่ม ลึกไปตามลำดับเหมือนมหาสมุทร ไม่ชันเหมือนเหว

ผู้ที่เรียนรู้การล้างกิเลสก็ให้ทบทวนไปตามลำดับของการตรวจสอบ 1-3 จนกระทั่งใช้การตรวจเวทนา ๑๐๘ นี้เป็นเครื่องมือในการตรวจหากิเลส ถ้าเจอก็พิจารณาโทษไป ถ้าไม่เจอก็ค้นหาต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งจะมั่นใจได้เอง จะรู้ได้เองว่าเราพ้นจากความอยากแล้ว ไม่มีอดีตและอนาคตใดทำร้ายเราได้อีกแล้ว เราพ้นจากกิเลสทั้งสามภพแล้ว

เมื่อมั่นใจได้เช่นนี้ก็อาจจะมีผัสสะมาทดสอบบ้าง ซึ่งก็ตรวจใจซ้ำเข้าไปอีก ถ้าตรวจแล้วตรวจอีกยังไงก็ไม่เจอความอยากก็ขอแสดงความยินดีด้วย

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)

สวยสมัยนิยม

November 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,041 views 0

สวยสมัยนิยม

สวยสมัยนิยม

…ความสวยงามที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัยตามกิเลสของคน

ในแต่ละยุคสมัยนั้นคนเรามักมีนิยามความสวยต่างกันไป เช่นยุคเรเนซองส์เขาก็มักจะมองผู้หญิงอวบอ้วนสมบูรณ์ว่าสวย แต่ในยุคสมัยนี้กลับไม่คิดเช่นนั้น การที่เรามองและวิจารณ์ไปว่าสิ่งใดสวยหรือไม่สวย น่าดูหรือไม่น่าดูนั้น มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนอย่างมาก

เช่นในยุคสมัยหนึ่งของจีน นิยมใส่รองเท้าดัดเท้าให้เล็ก โดยมีเหตุผลต่างๆนาๆ ทำให้เชื่อว่าเป็นสิ่งที่สวยและดูดี เมื่อมีคนคิดว่าสวยก็กลายเป็นแฟชั่น ค่านิยม หลายคนทำตามด้วยความหลง หลงไปว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้มีคุณค่า สิ่งนี้สังคมยอมรับ ทั้งๆที่เป็นเรื่องของกิเลสที่ปรุงแต่งกันไปเอง หากคนสมัยนี้มองกลับไปแล้วก็คงต้องสงสัยว่าทำกันไปได้อย่างไร ทั้งลำบาก ทั้งเจ็บ ทั้งทรมาน และที่สำคัญ มันไม่เห็นสวยตรงไหนเลย

นี่คือความคิดที่ผิดยุคผิดสมัย หากเราคิดว่าไม่สวยในสมัยนั้น ณ ที่ตรงนั้นของจีน เราก็จะเป็นคนตกยุค แต่ถ้าใครมาทำสิ่งนั้นในสมัยนี้ก็จะกลายเป็นคนหลงยุค

ในยุคนี้ก็มีความสวยที่สมัยนี้นิยมเหมือนกันในกรณีเรื่องเท้าในยุคนี้ก็มีเติมแต่งกันด้วยการใส่รองเท้าส้นสูง ที่เพิ่มความสูงและความสวยงาม รวมทั้งการทาเล็บเท้าด้วยสีต่างๆ ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ไร้สาระและไม่จำเป็นทำให้ชีวิตลำบาก เสียเงิน เสียสุขภาพและเสียเวลา แต่คนที่หลงว่ามันทำให้สวย หลงในความสวยก็ยังยินดีจะหา จะเอาสิ่งเหล่านั้นเขามาในชีวิตตนเหมือนสมัยที่จีนทำการดัดเท้าเพราะเชื่อว่ามันสวย

ยังมีความเข้าใจเรื่องความสวยอีกมากมายในยุคนี้ที่เป็นเรื่องตลกที่ทุกคนให้ความสำคัญอย่างจริงจังจนเรื่องไร้สาระกลายเป็นเรื่องจำเป็น เช่นการแต่งหน้าแต่งตาที่ดูจะสิ้นเปลืองแต่คนก็ยังยอมเอาเงินไปซื้อ การยอมฉีดสารเคมีต่างๆเพื่อให้ได้มาซึ่งความแต่งตึง การศัลยกรรมที่ดูแล้วยังไงก็น่าจะเจ็บปวดแต่ทำไมคนถึงยอมแลก หรือแม้แต่การแต่งตัวจนโป๊จนเกือบเปลือยสร้างค่านิยมโชว์เนื้อหนังซึ่งจริงๆ เนื้อหนังก็เป็นของสามัญที่ทุกคนก็มีแต่กลับสร้างให้เป็นเรื่องแปลกและน่าดู แม้จะดูเพี้ยนสุดๆแต่คนในยุคนี้ก็ยังทำกันไปได้

หากคนในอนาคตมองย้อนกลับมาก็อาจจะสงสัยและงงๆว่าคนในยุคนี้ทำไปได้อย่างไร ทั้งการแต่งหน้า ทั้งศัลยกรรม ทั้งการล่อลวงด้วยเนื้อหนัง ท่วงท่า ลีลาทั้งหลาย พวกเขาเป็นสุขกับของหยาบ กิเลสหยาบอย่างนี้ได้อย่างไร ทำไมคนยุคนี้ถึงได้ปรุงแต่งกิเลสกันออกมาได้แบบนี้ นี่คือสภาพที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่มีสิ่งใดคงทนถาวร แม้แต่เรื่องของความเชื่อในเรื่องความสวยงาม

…เราหลงในความสวยนั้นอย่างไร?

คนส่วนใหญ่นั้นหลงมัวเมาไปกับความสวยงามตามยุคสมัย เชื่อปักใจว่าสิ่งเหล่านั้นคือความสวย คือคุณค่า คือความสุข สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่กิเลสหลอก เรียกว่าเป็นอุปาทานหมู่ ซึ่งหลายคนก็ยินดีที่จะแต่งหน้า แต่งตัว ฉีดสารพิษ รวมไปถึงศัลยกรรมตกแต่งให้ร่างกายตัวเองเป็นไปตามความนิยมในยุคสมัยนั้น

กิเลสที่หลอกเราอยู่นั้นหากกล่าวกันกว้างๆก็คืออวิชชา แต่การรับรู้ว่ามันคือความไม่รู้หรือความหลงนั้นไม่สามารถช่วยให้เราเห็นกิเลสได้ ซึ่งจะยกตัวอย่างของรูปแบบและกิเลสที่ฝังอยู่ในความอยากสวยอยากงามกันด้วยกิเลสใน 4 หมวดหมู่ นั่นคือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม และอัตตา

อบายมุข … เป็นความหลงในความสวยในระดับมัวเมา เมามายไปกับการทำให้เกิดความสวยเช่น คนที่เสพติดศัลยกรรม เสพติดการแต่งหน้า ต้องซื้อเสื้อผ้าทุกอาทิตย์ ต้องไปสปา ต้องไปเข้าคอร์สเสริมความงาม เหล่านี้เป็นความหลงกับความสวยในระดับหยาบ ในระดับที่ต่ำ อยู่ในขุมนรกที่ลึกที่สุด ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา

กามคุณ … คือการหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทั่วไป ซึ่งในกรณีของความงามนั้นก็คือผิวงาม เสียงงาม กลิ่นงาม เอาง่ายๆว่าโดยรวมขอให้ดูดีไว้ก่อน ผู้ที่ติดกิเลสในระดับของกามนั้นจะมัวเมาน้อยกว่าระดับอบายมุข ซึ่งจะไม่เน้นการเสริมความงามที่ต้องทรมาน หรือเติมแต่งจนลำบาก แต่ยังมีความอยากแต่ง อยากสวย ซึ่งถ้าบำรุงบำเรอกิเลสมากๆ ก็จะเสื่อมลงไปสู่อบายมุขได้เช่นกัน

โลกธรรม … คือการหลงไปในโลก ในเรื่องของโลก เช่นสังคมเขาว่าต้องสวยแบบนี้ ต้องงามแบบนี้ ต้องหุ่นดีแบบนี้ก็เชื่อตามเขา เขาว่าอย่างไรก็ตามเขา พอไม่เป็นเหมือนอย่างเขาก็จะไม่มีความมั่นใจ คนที่ถูกกิเลสในระดับโลกธรรมจูงไปนั้น จะไม่มีความอยากสวยเป็นส่วนตัวสักเท่าไรนัก แต่ความกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าไม่สวยนั้นยังรุนแรงอยู่ โลกธรรมยังเป็นแรงผลักดันให้กิเลสโตไปถึงขั้นอบายมุขได้เช่นกัน เพราะคนที่สนใจเสียงคนรอบข้างได้ ก็อาจจะโดนสังคมพาลงไปสู่อบายมุขได้เช่นกัน

อัตตา … คือรากแท้ของกิเลส คือความหลงว่าต้องสวย หลงว่าเกิดมาแล้วต้องงาม ต้องดูดีจึงจะมีคุณค่า รวมถึงความรู้สึกมั่นใจลึกๆว่าฉันสวย ฉันดูดี ฉันมีคนนิยม คือมีตัวเราของเรา ความรู้สึกเหล่านี้ทั้งหมดคือสิ่งที่ยึดไว้ให้ตัวเรานั้นยังแสวงหาการเติมเต็มความสวยความงามให้คงอยู่ตลอด ซึ่งแท้จริงแล้วกิเลสนี้คือต้องการการยอมรับ ต้องการความสนใจ ต้องการมีตัวตน พอมีต้องการมีตัวตนก็เลยสร้างตัวตน เกิดมาเป็นคนสวย แม้ไม่สวยก็จะทำให้สวย จนยึดเป็นตัวเป็นตนต่อไปอีกที ยึดมั่นถือมั่นกันไม่ปล่อยไม่วาง ก็เลยต้องเกิดมาเสพความสวยที่ตัวเองยึดไว้กันไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว

…เราจะออกจากความหลงนั้นอย่างไร

ความหลงในความสวยนั้น หากเรายังไม่เห็นสิ่งนั้นว่าเป็นกิเลส ไม่เห็นว่าเป็นภัย ยังคงเห็นว่าการปรุงแต่งให้ความสวยนั้นคงอยู่หรือสวยยิ่งขึ้นเป็นความสุข เป็นความจำเป็นในชีวิต ก็จะไม่สามารถออกจากกิเลสได้

ในขั้นแรกต้องศึกษาให้รู้จริงด้วยใจตัวเอง ยอมรับด้วยใจตัวเองว่าความอยากสวยเหล่านี้ล้วนเป็นกิเลส ล้วนเป็นสิ่งเศร้าหมอง ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และไม่มีตัวตนอยู่จริง สิ่งที่เราเห็นทั้งหมดนั้นคือตัวตนที่เราสร้างขึ้นมาเองทั้งนั้น จริงๆแล้วความสวยไม่มีอยู่ เหมือนกับความสวยที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยนั่นแหละ

เมื่อเห็นความอยากสวยนั้นเป็นกิเลสก็ให้เพียรพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าความอยากสวยนั้นเป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นประโยชน์อย่างไรหากจะทำลายความอยากสวย จะมีกรรมอะไรบ้างที่เราต้องรับหากยังยึดติดกับความสวยเหล่านั้น

เพียรพยายามไปจนกระทั่งปัญญานั้นเต็มรอบก็จะสามารถดับกิเลสนั้นๆได้เอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหากเราได้เพียรพิจารณาอย่างถูกตัวถูกตรงกิเลส คือติดกิเลสตัวไหนก็พิจารณาตัวนั้น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม พิจารณาไล่มาเรื่อยๆจะจบที่อัตตาเอง

เมื่อพิจารณาจนหมดความยึดมั่นถือมั่นในความสวย ก็จะสามารถออกจากนรกแห่งความสวย หลุดจากวงจรของความสวยสมัยนิยม ไม่ต้องทุกข์เพราะความไม่สวย ไม่ต้องมารับกรรมจากความสวย ไม่ต้องสนใจเรื่องไร้สาระเหล่านี้อีกต่อไป เมื่อไม่มีเหตุให้ทุกข์ก็ไม่เป็นทุกข์ และความหมดทุกข์นั่นเองก็คือความสุขที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

20.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์