Tag: เนื้อสัตว์

กินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต : ๑ บุฟเฟ่ต์กามทะลัก

June 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,080 views 0

บุฟเฟ่ต์กามทะลัก

กินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต : ๑ บุฟเฟ่ต์กามทะลัก

เมื่อเราคิดจะทำสิ่งดีอะไรสักอย่าง ก็มักจะมีเหตุผลมากมายเกิดขึ้นมาในความคิด ซึ่งส่วนใหญ่ก็ล้วนจะเป็นเหตุผลที่มากั้นขวางการเข้าถึงสิ่งที่ดีนั้น การลดเนื้อกินผักก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งดี ที่มีเหตุผลมากมายมาค้านแย้งเสมอ หนึ่งในเหตุผลเหล่านั้นก็คือ “ฉันต้องกินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต

เราสามารถกินเนื้อสัตว์และใช้ประโยชน์ของธาตุเหล่านั้นเพื่อดำรงชีวิตได้จริง แต่ในทุกวันนี้ดูเหมือนว่าเราจะกินเนื้อสัตว์เกินความจำเป็นในการดำรงชีวิตไปเสียแล้ว

ในเมืองใหญ่ เราสามารถเห็นร้านอาหารแบบบุฟเฟต์เนื้อสัตว์มากมาย ตั้งแต่ห้องแถวข้างทาง ไปจนถึงระดับโรงแรม เป็นการขายแบบที่เรียกได้ว่าอยากจะกินเท่าไหร่ก็กิน ยัดได้เท่าไหร่ก็ยัด แต่จ่ายราคาเดียว ซึ่งโดยมากแล้ว เมื่อใครสักคนตัดสินใจที่จะไปกินบุฟเฟ่ต์ เขาเหล่านั้นมักจะคาดหวังว่าจะต้องได้กินสิ่งที่ตัวเองอยากกินอย่างเต็มที่ เรียกได้ว่าต้องกินให้ยิ่งกว่าคุ้ม

การกินเนื้อสัตว์แบบบุฟเฟ่ต์นี่เองคือความมัวเมาในเนื้อสัตว์อย่างมาก เพราะไม่ได้กินเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่เพียงอย่างเดียว แต่กินเพื่อสนองกามตัณหาในตัวเองด้วย เป็นความใคร่อยากเสพเนื้อสัตว์ในปริมาณที่ไม่จำกัด คนที่กินแบบไม่ประมาณ ไม่จำกัด ไม่สำรวมระวังว่าสิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิตไปมากแล้ว คือความหลงมัวเมาเสพติดในกามรสของเนื้อสัตว์ที่หนักหนามาก

ความโลภอยากได้กำไรในการค้า สร้างค่านิยมที่มอมเมาสังคมให้เห็นว่าการกินเนื้อสัตว์มากๆ เป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ใครเขาก็ทำกัน ทำให้คนจำนวนมากที่ไม่ได้ศึกษาในเรื่องของกิเลส ถูกมอมเมาด้วยความเห็นทางโลก มองเรื่องหยาบที่ไม่ควรทำเป็นเรื่องปกติที่ทำได้ทั่วไป

ทั้งที่จริงแล้วการแสดงความกระหายอยากที่จะไปกินบุฟเฟ่ต์เนื้อสัตว์ นั้นคือการแสดงความตะกละที่เกินงาม ข้ามเขตของคำว่า “ฉันต้องกินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต” ไปเสียแล้ว เพราะในความเป็นจริงเราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ปริมาณมากก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ ดังนั้นคนที่กินเนื้อสัตว์แบบบุฟเฟ่ต์ จะยังอ้างเหตุผลนี้ได้อย่างไร? เราเพียงแค่เอาคำพูดที่น่าฟัง เหตุผลที่น่าเชื่อ นิยามที่สวยหรูมาบังหน้า สุดท้ายก็ไปหาเนื้อสัตว์มากินบำเรอกาม จนความอยากทะลักออกมา ปรากฏให้เห็นเป็นความอยากเสพแบบไม่รู้จักประมาณให้เหมาะควรเช่นนั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

16.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แล้วชาวพุทธจะหาเนื้อสัตว์กินได้อย่างไร?

June 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,124 views 0

แล้วชาวพุทธจะหาเนื้อสัตว์กินได้อย่างไร?

แล้วชาวพุทธจะหาเนื้อสัตว์กินได้อย่างไร?

หากได้ชมซีรี่พระพุทธเจ้าตอนที่ 30 จะมีเนื้อหาตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าไปห้ามการนำสัตว์ไปฆ่าเพื่อบูชายัญ โดยมีบทพูดในละครที่น่าสนใจเช่น “ข้อยอมตายตรงนี้แต่ข้าหลีกทางให้ไม่ได้” , “หากมีบาปเกิดขึ้นในนามของศาสนาข้าจะต้องคัดค้านแน่”

ยอมตายแต่ไม่ยอมให้ฆ่า นั่นหมายถึงแม้เหตุแห่งชีวิต ท่านก็จะไม่สนับสนุนในการฆ่า ในพระไตรปิฏกมีหลักฐานเกี่ยวกับองค์ประกอบของการฆ่าไว้ชัดเจน และการฆ่านั้นถือเป็นเรื่องนอกพุทธ ดังนั้นไม่ว่าจะฆ่าด้วยเหตุผลอะไรย่อมไม่ใช่แนวทางของพุทธ

แต่ในทุกวันนี้เนื้อสัตว์ที่มีขายอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นเนื้อที่มาจากการฆ่า เป็นเนื้อนอกพุทธอยู่แล้ว ดังนั้นไม่มีสิ่งดีใดๆในเนื้อสัตว์นั้นเลย และซ้ำร้ายการค้าขายเนื้อสัตว์ยังเป็นการค้าที่ผิดของพุทธด้วย นั่นหมายถึงชาวพุทธย่อมไม่ยินดีในเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าและไม่ค้าขายเนื้อสัตว์

ในสมัยพุทธกาลนั้น การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นเรื่องสามัญมากๆ ขนาดพระเทวทัตที่ได้ชื่อว่าชั่วที่สุดในโลกก็ยังขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติให้ภิกษุไม่กินเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต ถึงกระนั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่เห็นตามนั้น ทรงตรัสว่าให้กินเนื้อที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าเขาฆ่ามา เพราะแท้จริงแล้วเนื้อสัตว์ที่กินได้โดยไม่มีองค์ประกอบของการฆ่าที่ผิดพุทธเข้าไปเกี่ยวอยู่นั่นมีอยู่ คือเดนสัตว์ที่เหลือจากการถูกล่าโดยสัตว์ และสัตว์ที่ตายของมันเอง

ประโยคในละครที่ว่า “หากมีบาปเกิดขึ้นในนามของศาสนาข้าจะต้องคัดค้านแน่” ยังกำชับแนวทางของพุทธได้ดี แม้จะเป็นคำที่ถูกปั้นแต่งขึ้นมาใหม่ แต่ทิฏฐิยังคงเดิม นั่นคือ นอกจากจะไม่ฆ่าเองแล้ว ยังไม่สนับหนุนให้คนอื่นฆ่า และยังแสดงความกรุณาโดยการคัดค้าน ไม่เพิกเฉยต่อสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม

พระพุทธเจ้ายังเคยถูกกล่าวตู่ว่ากินเนื้อสัตว์ โดยฝ่ายที่ไม่ศรัทธา นั่นหมายถึงว่าปกติแล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่กินเนื้อสัตว์ แล้วฝ่ายที่ไม่ศรัทธาจ้องจะหาทางทำลายชื่อเสียง จึงใช้วิธีป่าวประกาศว่าพระพุทธเจ้าท่านกินเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าท่านให้กินอาหารที่หาได้ง่ายและไม่มีโทษ เนื้อสัตว์ที่ถูกพุทธก็หาได้ยากกว่าพืชผักอยู่แล้ว และเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาก็ยังมีโทษเจือปนอยู่ ท่านได้ตรัสไว้ในสูตรอื่นๆว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาจึงมีส่วนในการเบียดเบียน ทำให้ตนเองนั้นมีโรคมากและอายุสั้น นั่นหมายถึงเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์

บาปแม้น้อยไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า” เป็นสิ่งหนึ่งที่ท่านได้ฝากทิ้งไว้ ในเมื่อเรารู้แล้วว่าเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นมีส่วนแห่งบาปอยู่อย่างเต็มเปี่ยม แล้วเราจะยังยินดีรับเนื้อสัตว์นั้นมากินได้อย่างไร เราไม่รู้สึกผิดบาปเลยหรือ? ไม่ตะขิดตะขวงใจกันเลยหรือ? เรายอมมีส่วนในบาปนั้นเพียงเพื่อจะได้เสพรสสุขลวงจากเนื้อสัตว์เท่านั้นหรือ? เรายินดีในการฆ่าเพียงเพื่อให้ตนได้เสพสุขอย่างนั้นหรือ? เราปล่อยวางเหตุผล แต่เรายังมุ่งเสพกามที่ผิดจากทางของพุทธไปมาก นี่คือทางพ้นทุกข์จริงหรือ?

เพราะแท้จริงแล้วประโยชน์ของเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่มีเลย แม้จะทำให้อิ่มท้องได้ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ต้องการพ้นทุกข์สมควรบริโภค แล้วทีนี้ชาวพุทธจะหาเนื้อสัตว์มากินได้อย่างไร? แล้วจำเป็นต้องหากันหรือไม่? หรือแท้จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องใส่ใจเนื้อสัตว์ว่าเป็นอาหารเสียเลยยังจะง่ายกว่าที่ต้องมารู้สึกไม่ดี สงสัย ตะขิดตะขวงใจกับการกินเนื้อสัตว์ในแต่ละครั้ง

– – – – – – – – – – – – – – –

16.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,633 views 0

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

รูปธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย เป็นภาพที่เห็นได้ เป็นอาการที่เห็นได้ เป็นความรู้สึกนึกคิดที่รับรู้ได้ การปฏิบัติใดๆที่ทำให้เกิดผลทางรูปธรรมนั้นทำได้ไม่ยากนัก แต่หากเป็นเรื่องของนามธรรมแล้ว…ใครเล่าจะเข้าใจ

ในบทความนี้จะชี้ให้ชัดถึงความแตกต่างของการกินมังสวิรัติกับการล้างกิเลสในความอยากกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เหตุที่จำเป็นต้องชี้ให้ชัดก็เพื่อคลายสงสัยให้กับผู้ที่ต้องการศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อการลดละกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัติ

ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะข่มวิธีการที่จะพาเข้าสู่การกินมังสวิรัติโดยทั่วไป แต่เพราะเห็นโทษภัยที่ยังแอบซ่อนอยู่ ยังเห็นว่ามีกิเลสอยู่ จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์หากได้นำเสนอปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ไว้ใต้ภาพที่สวยงาม ซึ่งก็ไม่ได้จำเป็นว่าใครจะต้องเห็นตามด้วย ใครยินดีจะลดละเลิกในขีดใดที่ตัวเองทำไหวก็ได้ ได้แค่ไหนก็ขอให้ทำต่อไป การละเว้นเนื้อสัตว์เป็นการไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งแล้วในกึ่งพุทธกาลเช่นนี้

1). มังสวิรัติรูปธรรม

คำว่ารูปธรรมคือสิ่งที่เห็นได้รับรู้ได้ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ในกรณีของมังสวิรัติคือการกินมังสวิรัติให้ได้สมบูรณ์นั่นเอง เพราะโดยความเข้าใจของคนทั่วไปแล้วมักจะหลงใน “รูป” จึงยึดถือและเอารูปเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติ

นั่นคือการยึดมังสวิรัติที่เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติ ยึดสิ่งที่มองเห็นได้เช่น ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่กินส่วนผสมจากสัตว์ ไม่กินสิ่งปรุงแต่งจากสัตว์ ไม่ว่าจะซอส น้ำซุป น้ำปลา น้ำมันหอย ผงปรุงรส หรืออะไรที่เกี่ยวกับซากสัตว์ คนที่ยึดมั่นถือมั่นในรูปธรรมก็จะไม่ยินดีในการที่จะมีส่วนผสมเหล่านั้นร่วมอยู่เลย

เพราะเขาเหล่านั้นยึดว่าความสมบูรณ์ของมังสวิรัติคือรูปธรรมที่สมบูรณ์ หมายถึงการละเว้นทุกอย่างที่เป็นรูปของเนื้อสัตว์หรือผลผลิตจากสัตว์ อันเป็นเหตุแห่งความเบียดเบียน

แน่นอนว่าแนวความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยึดถือและปฏิบัติกันโดยทั่วไปในหมู่นักมังสวิรัติทั่วโลก เป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะยึดสิ่งที่มองเห็นเป็นเครื่องอาศัย เพราะเข้าใจได้ง่าย วัดผลได้ง่าย กำหนดเป็นมาตรฐานได้ง่ายว่าขั้นนี้ ขั้นนั้นโดยใช้รูปธรรมเป็นตัววัด

2). ภัยของมังสวิรัติรูปธรรม

และเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะใช้ “รูป” เหล่านั้นเป็นตัววัดคุณค่าของการกระทำ เพราะเราสามารถมองเห็นได้ เข้าใจได้ ความเห็นความเข้าใจนี้เองเป็นความประมาทอย่างยิ่งยวด เพราะรูปธรรมเป็นแค่ผลจากนามธรรมบางส่วนที่สะท้อนออกมา และไม่ได้หมายความว่าการมีรูปที่สวย การที่สามารถกินมังสวิรัติได้ 100% มาเป็นสิบยี่สิบปีจะมีนามธรรมที่สวยไปด้วย ใครเล่าจะรู้เรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเรื่องลึกซึ้ง ซับซ้อน ละเอียดลออ

เราสามารถทำให้ “รูป” ของเราสวยได้นานตราบเท่าที่เรายังหลงเสพหลงยึดมันอยู่ เหมือนกับดาราที่ไม่เคยยอมแก่ ไม่ยอมโทรมก็จะยังเสริมแต่งรูปของตนให้ดูงดงามเสมอ นักมังสวิรัติที่เน้นรูปแบบก็เช่นกันตราบใดที่เขายังเสพความดี ยังเสพสุขจากการทำสิ่งดีเขาก็จะพยายามทำให้รูปของการกินมังสวิรัติของเขาสวยขึ้นเรื่อยๆ และคงสภาพไปนานตามอัตตาที่มี

กิเลสในด้านร้ายคือการกินเนื้อสัตว์นั้น เราสามารถใช้ความดีกดข่มมันลงไปได้ไม่ยากนัก เราไม่จำเป็นต้องศึกษาธรรมะหรือหาข้อมูลสุขภาพอะไรให้มากมาย แค่มีจิตใจเมตตาก็สามารถรู้สึกผิดและสร้างความดีขึ้นมากดข่มความชั่วคือการกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว

แต่กิเลสในด้านยึดดี หรืออัตตานี้เองเป็นสิ่งที่ยากจะกำจัด เพราะในเมื่อเราติดอยู่ในการยึดดี เราจะเอาอะไรมากำจัดความยึดดีนั้น? เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วว่าจะเอาความชั่วมากำจัดเพราะมันไม่ได้ง่ายเหมือนกับการคำนวณที่เอา 1+1 แล้วหารสองจึงจะเป็นความพอดี

เมื่อเราสร้างรูปธรรมจนสวยงามแล้วมีความยึดดีในรูปเหล่านั้น การจะออกด้วยความดีในโลกนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเก่งกาจฉลาดเมตตาเพียงใดก็ไม่สามารถออกจากความยึดดีเหล่านี้ได้ คนที่ติดอยู่ในรูปธรรมของมังสวิรัติก็จะตกอยู่ในนรกคนดี มีความทุกข์ร้อนจากการทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ทำร้ายตัวเองด้วยอัตตาอยู่เสมอ แม้จะไม่ยินดีในการกินเนื้อสัตว์แต่มักจะมีอาการยินร้ายเมื่อต้องอยู่ร่วมกับเมนูเนื้อสัตว์หรือคนกินเนื้อสัตว์ ต้องประสบกับความหงุดหงิดขุ่นเคืองใจไปอีกนานแสนนาน

3). การออกจากความยึดติดในรูปธรรม

การจะออกจากความยึดดี ถือดี หรือความหลงในรูปธรรมนั้น ไม่มีความรู้ใดในโลกที่จะสามารถทำให้ผ่านไปได้นอกจากความรู้ของพระพุทธเจ้า

การที่เรายังวนอยู่ในความดี จนเกิดการยึดในสิ่งดีเหล่านั้น แม้จะดีแสนดีเพียงใด แม้จะกินมังสวิรัติตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเพียงคนที่วนเวียนอยู่ในโลกคนหนึ่ง เป็นวิถีทางทำดีแบบโลกๆทางหนึ่ง ยังเป็นความดีแบบที่โลกเขาทำกันโดยทั่วไปอยู่ ไม่ต้องมีศาสนา ไม่ต้องมีศาสดาก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ความดีในระดับศาสดาเอกใดๆในโลกก็สามารถกินมังสวิรัติได้

เพราะการกินมังสวิรัติโดยทั่วไปนั้นเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในระดับสัญชาตญาณเท่านั้น คือเราเห็นเขาฆ่าสัตว์แล้วเราก็สงสารสัตว์นี่ก็เป็นจิตใจเมตตาธรรมดาของคนที่มีจิตใจดีงามทั่วไป ซึ่งแม้แต่คนที่คิดไม่ดีมิจฉาทิฏฐิก็สามารถมากินมังสวิรัติได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นพระเทวทัตที่เคยมาทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามมิให้สาวกกินเนื้อสัตว์เลย (วัตถุ ๕ ,สังฆเภทขันธกะ) การที่พระเทวทัตทูลขอแบบนั้นได้แสดงว่าตัวเองต้องกินเนื้อสัตว์เป็นปกติอยู่แล้ว และนั่นคือคนที่ชั่วที่สุดในจักรวาล ชั่วสุดชั่วที่แม้แต่มหาบุรุษที่ประเสริฐที่สุดในจักรวาลก็ยังสามารถคิดจะฆ่าได้ เขาก็ยังไม่กินเนื้อสัตว์เช่นกัน

ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยยึด “รูปธรรม” เป็นหลักปฏิบัตินั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนดี จิตใจสูง ผ่องใส หรือบรรลุธรรมใดๆแต่อย่างใด เพราะรูปธรรมสามารถเกิดได้จากหลายเหตุและปัจจัย ซึ่งอาจจะมีกิเลสใดๆซ้อนอยู่ก็เป็นได้ เช่นอัตตาเป็นต้น

การจะออกจากความยึดในรูปหรือการจะสามารถมองเห็นความยึดในรูปธรรมเป็นกิเลสได้ ต้องใช้ธรรมะที่มากกว่าธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่อยู่ในโลก ไม่ไปกับโลก ต้องเป็นธรรมะที่เหนือโลก หลุดจากโลก พ้นจากโลก สวนกระแสโลก หรือโลกุตระธรรม

4). มังสวิรัตินามธรรม

การเริ่มต้นของมังสวิรัตินามธรรมจากแตกต่างออกไปจากมังสวิรัติรูปธรรม เพราะการปฏิบัตินามธรรม หรือที่เรียกสั้นๆว่า “นาม” หรือจะระบุให้ตรงประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” การปฏิบัตินี้จะไม่ได้เริ่มต้นที่ “รูป” แต่จะเริ่มที่ “นาม

รูปนั้นคือสิ่งที่ถูกรู้ คือสิ่งที่เห็น แต่นามนั้นต่างออกไป มันมองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเพียงพลังงานที่มีอยู่ รับรู้ได้ว่ามีอยู่ผ่านการกำหนดรู้ในรูป ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น “เรายังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ และยังมีเมนูเนื้อสัตว์ที่ชอบ วันหนึ่งเราได้เงินโบนัส จึงอยากจะใช้เงินนั้นสนองตัณหาตัวเอง จึงได้เกิดความคิดว่า ไปกินเนื้อย่างบุฟเฟต์ร้านนั้นดีกว่า เขาว่าเนื้อนุ่ม ชุ่มมัน หอม หวาน อร่อย”

จากตัวอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรา“คิด” ว่าถ้าได้กินเนื้อย่างเราจะมีความสุข เรา“พูด”กับตัวเองในใจว่าเราจะไปกินเนื้อย่าง เราพาร่างกายตัวเองไป “กิน” เนื้อย่าง สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “รูป” และรูปทั้งหมดนี้เกิดจาก “นาม” คือพลังงานของความอยากที่เป็นตัวผลักดันเรา ให้เราคิด พูด ทำ เพื่อสนองกิเลส

ความอยากเหล่านี้มองไม่เห็น ทำได้เพียงรับรู้ผ่านรูปที่เกิดขึ้นมา ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยเริ่มต้นที่นามธรรมจึงเป็นเรื่องที่ยากสุดยาก เพราะแทบจะกลับหัวกลับหางกับรูปธรรม แต่ผลที่เราจะได้รับนั้น มั่นคง ยั่งยืน และสุขยิ่งกว่าแน่นอน

5). การปฏิบัติของมังสวิรัตินามธรรม

ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า นามธรรมของเรื่องนี้ก็คือความอยากกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นความติดอยู่กับกิเลสในหมวดของกามคุณ๕ เป็นส่วนใหญ่

การปฏิบัติในทางนามธรรมนั้นจะต้องชัดเจนลงไปเลยว่า เราจะปฏิบัติกันที่ความอยาก ทำลายความอยาก เพราะรู้ผลแน่ชัดแล้วว่าถ้าทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้สิ้นเกลี้ยงทั้งหมด ก็จะไม่เกิด “รูป” คือการไปกินเนื้อสัตว์อีก เพราะไม่มีความอยากเลยไม่ต้องลำบากไปกิน

เทียบให้เห็นภาพแบบโลกๆก็เหมือนกับคนที่ไม่มีความอยากทำงานมันก็จะเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า ไม่สดใส การจะไปกินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีความอยากกินมันก็จะไม่ไปกินเท่านั้นเองแต่จะต่างกันคือคนที่ไม่มีความอยากในแบบเหนือโลกจะไม่ขุ่นมัว ไม่เชื่องช้า สดใส จิตควรแก่งานอยู่ตลอดเวลา ลักษณะเหล่านี้เป็นผลมาจากการปฏิบัติทางนามธรรมซึ่งหาตัวอย่างมายกให้เห็นได้ยาก

คำว่า “ไม่มีความอยาก” นั้นไม่เหมือนกับคำว่า “ไม่อยาก”เพราะคำว่าไม่อยากนั้นยังมีอาการผลักไสอยู่ ยังรังเกียจอยู่ ยังมีการเกิดของอัตตาอยู่ แต่การไม่มีความอยากนั้นต่างออกไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่อยาก แต่ทั้งความอยากและความไม่อยากมันไม่มีเหลือ เนื้อสัตว์จึงกลายเป็นเหมือนกับอากาศสำหรับคนที่ปฏิบัติทางนามธรรม มันมีอยู่แต่เหมือนมันไม่มีอยู่ เนื้อสัตว์นั้นไม่ได้ทำให้เกิดทุกข์หรือสุขใดๆในใจอีกต่อไป

เมื่อเข้าใจความต่างของผลแล้วจึงจะสามารถเริ่มปฏิบัติในทางนามธรรมได้ เพราะหากยังแยกนามธรรมกับรูปธรรมไม่ออก ต่อให้มีทฤษฏีอีกกี่บท ขนพระไตรปิฏกมาเปิดอ้างอิงกันแค่ไหน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะยังแยกสิ่งที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับปัญหาจริงๆที่ทำให้เกิดไม่ออก

การปฏิบัตินั้นไม่มีขั้นตอนที่เข้าใจยากนัก เพียงแค่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติไตรสิกขาจนสามารถทำลายกิเลสสามภพก็สามารถดับนามธรรมได้แล้ว ขั้นตอนมันก็มีแค่นี้ มันย่อได้เหลือเท่านี้ แค่สองบรรทัดก็สามารถบอกทางเดินและผลได้แล้ว แต่การปฏิบัติจริงต้องใช้เวลาไม่รู้กี่ร้อยปี หรือกี่ล้านล้านล้านชาติ ไม่รู้จะต้องเกิดอีกสักกี่ครั้งถึงจะรู้ กว่าจะเข้าใจ กว่าจะปฏิบัติ กว่าจะเห็นผล นานแสนนานเลยทีเดียวนี่ยังต้องเสียเวลากับการไปติดรูปธรรมอีกนะ ไปหลงรูป ไปเข้าใจว่ารูปนั้นเป็นที่สุดของการปฏิบัติ ก็เนิ่นช้าเข้าไปอีก

6). สมดุลรูปนาม

การปฏิบัติทางรูปธรรม แม้จะเป็นมังสวิรัติ 100% ละเว้นเนื้อสัตว์สมบูรณ์แบบผู้คนต่างยกย่องสรรเสริญ แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะสามารถมังสวิรัติ 100% ได้ทางนามธรรม จะมั่นใจได้อย่างไรในเมื่อยังมีความอยากและไม่อยากอยู่ การที่ตัณหายังไม่ดับ นั่นหมายถึงชาติยังไม่ดับ ภพยังไม่ดับ การวนเวียนกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติก็จะต้องดำเนินสลับสับเปลี่ยนกันต่อไปตามกิเลสที่ผกผัน แปรเปลี่ยนทิศทางการมีอัตตายึดในสิ่งที่ต่างกันออกไป ตามความเห็นความเข้าใจ

เพราะเมื่อนามยังไม่ดับ ก็จะยังมีเชื้อของกิเลสที่จะสะสมพลังงานกิเลสให้มากขึ้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่งพลังกิเลสที่สะสมมาก็จะส่งผลให้เกิดรูป คือการกลับไปกินเนื้อสัตว์อีก แม้ว่าจะหลงรูปธรรมกดข่มความชั่วไว้ได้ในชาตินี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชาติหน้าจะข่มได้ ไม่มีใครรู้ว่าเราจะไปเกิดในยุคไหนสมัยไหน หากเรายังยึดติดในรูป เราก็จะไปหลงดีในรูปของยุคสมัยนั้น และถ้าเกิดยุคนั้นไม่มีรูปดีๆให้ยึดมั่นถือมั่นเลย มันก็ไปยึดรูปเลวๆเท่านั้นเอง

แต่นามธรรมจะต่างออกไป เพราะนามดับจึงไม่เกิดรูป คือเมื่อดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยง ไม่มีความอยากเหลือก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่เราไปหลงติดหลงยึดเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ภพกี่ชาติก็จะไม่มีวันหลงมัวเมาไปในเนื้อสัตว์ ถึงจะติดก็ติดตามโลก แต่ถ้าคิดจะออกก็ออกได้ทันที เพราะจริงๆมันไม่มีนามนั้นอยู่แล้ว ไม่มีเชื้อกิเลสนั้นเหลืออยู่แล้ว ถึงแม้มีกิเลสใหม่เข้ามามันก็จะไม่มีอะไรให้ยึดเกาะ ก็เกาะได้แค่ผิว ได้แค่เปลือก ไม่เข้าไปถึงจิตใจ ไม่เข้าไปยึดในจิตใจ

ไม่เหมือนกับการปฏิบัติที่รูปธรรม เพราะนามคือความอยากกินเนื้อสัตว์ยังอยู่ ทีนี้พอกิเลสใหม่วิ่งเข้ามาก็จะเข้าไปสะสมรวมกับของเก่าทันที ส่งผลให้กลายเป็นสภาพที่เรียกว่าตบะแตกนั่นเอง

ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเลยว่าถ้าเราปฏิบัติที่นามธรรมแล้วจะเกิดปัญหาเหล่านั้น เพราะการดับทุกข์นั้นต้องดับที่เหตุ เหตุของการกินเนื้อสัตว์นั้นคือความอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปเบียดเบียนชีวิตอื่น และเหตุของความอยากกินนั้นก็เกิดจากการติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อดับเหตุแห่งอุปาทานเหล่านี้ได้ก็จบภารกิจ

ผู้มีนามธรรมที่ปราศจากกิเลสจึงมีสมดุลของรูปนาม นามไม่มี รูปไม่เกิด และมีความยืดหยุ่นในรูปสูงกว่าผู้ที่กินมังสวิรัติในทางรูปธรรม เพราะหากเราเน้นเพียงรูปธรรม ก็จะมีความแข็ง ตึง เครียด กฎ การยึดมั่นถือมั่น เพราะสิ่งเหล่าเป็นสิ่งที่สามารถสนองให้เสพสมใจในรูปธรรมได้หรือที่เรียกว่า “อัตตา” นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ผู้เลี้ยงง่ายไม่กินเนื้อสัตว์

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,342 views 0

ผู้เลี้ยงง่ายไม่กินเนื้อสัตว์

ผู้เลี้ยงง่ายไม่กินเนื้อสัตว์

…ความเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย ไม่ได้หมายความว่าต้องมักง่าย

การเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่ายนั้นเป็นการทำตัวให้เป็นที่น่ายกย่องสรรเสริญดังที่อ้างอิงในบทของวรรณะ ๙ ซึ่งในธรรมข้อนี้เอง มีหลายคนเอามาตีความว่าการเลี้ยงง่ายบำรุงง่ายหมายความว่าไม่เรื่องมาก เขาให้อะไรก็กิน…จนกระทั่งกลายเป็นมักง่ายในที่สุด

การที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่นั้นไม่ถือว่าเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย หากว่าเรามองง่ายๆเพียงแค่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีขยายอยู่ในตลาดอยู่แล้ว ถ้ามองเพียงแค่นั้นก็เป็นการมองที่ตื้นเขินไปมากทีเดียว

การจะได้เนื้อสัตว์มานั้นต้องเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพาะพันธุ์ให้มันออกลูกออกหลานมาแล้วต้องใช้ทุนใช้เวลาอย่างมากในการทำให้มันโตจนมีน้ำหนักที่ขายได้ และกว่าจะได้ขายก็ไม่ได้หมายความว่ามันโตแล้วจะกลายเป็นเบคอน เป็นชิ้นเนื้อได้เอง มันจะต้องถูกผูก ถูกจูงลากมา ถูกบังคับขืนใจ โดนเขาทำร้าย โดนเขาฆ่า เหล่านี้เป็นองค์ของการฆ่าทั้งนั้น ผิดศีลข้อ ๑ ในกระบวนการฆ่าตั้งแต่แรก จะฆ่ามันก็ไม่ง่ายนะเวลาสัตว์มันกลัวมันก็วิ่งหนี ลำบากทั้งสัตว์ทั้งคนฆ่านั่นแหละ ฆ่าเสร็จไหนจะต้องชำแหละอีก ก็มีขั้นตอนกันมากมายกว่ามันจะเติบโตจนมาถึงปากเรา แบบนี้มันง่ายไหม?

เรามาลองดูผักกันบ้าง ผักนี่ก็หยอดเมล็ด ฝังดินกลบแล้วก็รดน้ำ รอเวลาเติบโตตามชนิดของมัน บางชนิดครึ่งเดือนก็ได้กินแล้ว เวลาเด็ดผักนี่ก็สะดวก เดินเข้าไปเด็ดได้เลย มันไม่วิ่งหนีนะ ยิ่งเด็ดก็ยิ่งงอกมาให้เรากิน ทุนที่ใช้ก็มีแค่ค่าน้ำ ค่าปุ๋ย ดีไม่ดีทำเองหรือหามาเองจะไม่เสียอะไรเลยด้วยซ้ำ เพราะดิน อากาศ และแสงแดดเป็นของฟรี แบบนี้มันง่ายกว่าไหม?

ความยากลำบากในการหาเนื้อสัตว์กับผักมันคนละเรื่องอยู่แล้ว ถ้าอยากรู้ก็ทดลองเองก็ได้ ลองเลี้ยงสัตว์ไปพร้อมกับปลูกผักไปด้วยก็ได้ ลองสังเกตดูว่าอันไหนมันง่ายกว่า ผักนี่เราปลูกเองได้ไม่ยาก แต่เลี้ยงสัตว์นี่มันยาก เลี้ยงมาเอง ฆ่ากินเอง พึ่งตัวเองแบบนี้มันไม่ง่ายนะ ตลาดทั่วไปก็มีผักขายเสมอ ประเทศเราไม่เคยขาดแคลนผัก ดังนั้นที่เราคิดว่ากินเนื้อสัตว์คือการเลี้ยงง่ายบำรุงนี่มันมองอย่างมักง่าย มองแบบผิวเผิน ไม่มีปัญญา

เหตุที่ไม่มีปัญญาเพราะมันถูกบังไว้ด้วยกิเลสนั่นแหละ กิเลสมักจะมีเหตุผลมากมายที่ทำให้กินเนื้อสัตว์ได้อย่างสบายใจ ลองเอาเมนูผักกับเนื้อไปวางก็ได้ ให้เลือกกันเอง ลองดูซิว่ามีครบขนาดนี้จะเลือกกินอะไรก่อน การเลือกกินนี่จะบอกว่าไม่คิดไม่ได้นะ ไม่คิดนี่เป็นก้อนหินเลย คนเราจะขยับได้เพราะมีใจเป็นประธาน ใจมันนำพาให้ช้อนไปตักเนื้อเข้าปาก แบบนี้มันตามกิเลสแล้วเฉโก มันฉลาดในเรื่องสะสมกิเลส จะหาวิธีหาทางสนองกิเลสให้ได้แบบนั้นเอง

เว้นแต่จะดูใจตัวเองไม่เป็น ไม่มีญาณรู้สภาพจิตตัวเอง ก็กินเนื้อกินผักไปแบบไม่รู้จักความอยาก มีความอยากก็ไม่รู้ว่ามีความอยาก แล้วก็มักจะตีกินด้วยคำว่าเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย นี่เองคือพลังของกิเลสที่สามารถสร้างเหตุผลได้มากมาย แม้นมีข้อธรรมที่ยากปฏิเสธแสดงอยู่ ก็กลับไม่ยินดีฟังธรรมนั้น จะมัวเมาและยินดีในธรรมที่ทำให้ตัวเองได้กินเนื้อสัตว์ ได้หลงมัวเมาอยู่กับกามในการกินเนื้อสัตว์ ยินดีในการเสพกิเลสต่อไป

ผู้มีปัญญาย่อมเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ละเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ ด้วยใจที่เป็นสุข เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นประกอบด้วยองค์แห่งบาป ซึ่งผลกรรมนั้นย่อมสนองต่อผู้สนับสนุนทั้งกระบวน เราเป็นผู้บริโภคก็อย่าคิดว่าจะรอด จะไปคิดง่ายๆว่าเราไม่ใช่คนฆ่าแล้วกินได้แบบนี้มันเฉโก มันฉลาดเพื่อที่จะให้ได้กินเนื้อ ฉลาดในการลงนรก ฉลาดในการทำบาป

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” เมื่อเรานับถือ ศรัทธาและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ควรจะมีปัญญารู้ว่าสิ่งใดจะเกิดโทษกับตน สิ่งใดจะเป็นประโยชน์กับตน เมื่อการกินเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเบียดเบียนทำให้ตนเองมีโรคมากและอายุสั้น แล้วมันจะเป็นประโยชน์อะไร เป็นคนมีโรคมากนี่มันเลี้ยงง่ายบำรุงง่ายไหม เป็นภาระของคนอื่นเสียอีก

ยิ่งถ้าผู้ศรัทธาในพระพุทธเจ้ายังไม่เชื่อเรื่องกรรมนี่ยิ่งแล้วใหญ่เลย ไปไกลเลย เพราะไม่เชื่อเรื่องกรรมมันฟังธรรมไม่รู้เรื่อง เพราะธรรมหลายบทหลายตอนที่ท่านสอนก็เกี่ยวกับกรรมทั้งนั้น การที่ท่านรู้ว่าการเบียดเบียนทำภัยมาให้นั้นเพราะท่านเห็นกรรมที่ทำมาหลายชาติจนแน่ใจแล้วว่า การเบียดเบียนนี่แหละคือเหตุที่ทำให้คนเรามีโรคมากและอายุสั้นอย่างแน่นอน เป็นเหตุเป็นผลที่ไม่มีทางผิดเพี้ยนไปได้ เพราะเป็นข้อมูลที่ท่านเก็บสะสมมาตลอดเส้นทางการบำเพ็ญเพียรของท่าน

ดังนั้นเหล่าสาวกผู้ศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า ควรจะเป็นผู้มีปัญญาแยกโทษแยกประโยชน์ได้ เป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่ายด้วยสิ่งของที่หาได้ง่ายและไม่มีโทษ ไม่เป็นผู้มักง่ายจนหลงมัวเมาอยู่กับการเสพกามในการกินเนื้อสัตว์

– – – – – – – – – – – – – – –

7.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)