Tag: อัตตา

ปล่อย …แต่ไม่วาง

June 26, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,475 views 0

ปล่อย …แต่ไม่วาง

ได้ดูเนื้อหาของ MV นี้ เป็นเรื่องราวของภรรยาที่โดนยัดเยียดข้อเสนอในการหย่าให้ ในเรื่องที่นำเสนอนั้นเป็นสภาพที่ปล่อยได้ตามชื่อเพลง

ซึ่งในชีิวิตจริงก็มีหลายคนที่ “ปล่อย” ได้มาก การที่คนจะปล่อยสิ่งที่เคยรักและผูกพันมาได้นั้นต้องใช้ “อัตตา” หรือความยึดดีเข้ามาเป็นกำลัง ถ้าไม่ติดดี ถ้าไม่รักตัวเองมากพอ ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ก็จะไม่สามารถปล่อยได้

แม้ว่าจะสามารถปล่อยได้ จนต่อมากลายเป็นคนที่แข็งแกร่ง มีความต้านทานกับความเจ็บช้ำ แต่ก็จะเกิดสภาพยึดดีตามไปด้วย

แต่ที่แย่ที่สุดคือ “กาม” ยังไม่ตาย ความอยากเสพรสสุขในการมีคู่นั้นอาจจะยังไม่ได้ถูกทำลายไป เราจึงมักจะเห็นคนที่เคยผิดหวังจากความรัก วนเวียนกลับไปมีความรักใหม่

สุดท้ายจึงวนเวียนชอบรักชังเกลียดกันอยู่แบบนี้ไม่จบไม่สิ้น ชาตินี้จบไป ชาติหน้าก็มาเล่นกันใหม่ เหมือนกับที่เป็นกันอยู่ในชาตินี้…

กินหมาผิดไหม?

June 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,108 views 0

กินหมาผิดไหม?

กินหมาผิดไหม?

ในช่วงเวลาหนึ่งของปี จะมีประเทศหนึ่งทำการฆ่าสัตว์ชนิดหนึ่งเพื่อนำมากิน การกระทำนี้กลายเป็นสิ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้คนหมู่มาก

ลองพิจารณากันอีกทีในบริบทเดิม หากในประเทศนั้นฆ่าสัตว์เพื่อนำมากินโดยไม่กำหนดช่วงเวลา ฆ่าทุกวัน กินทุกวัน ฆ่าทั้งวัน กินทั้งวัน ฆ่ากันเป็นเรื่องปกติ กินกันเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งใดที่ทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจกว่ากัน?

มาเข้าเรื่องกันเลย…เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมานานระหว่างคนรักสัตว์กับผู้กินเนื้อสัตว์ แต่ก็มักหาข้อสรุปใจกันไม่ลงตัวเสียทีว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี… ถ้ากินหมาไม่ได้แล้วทำไมกินสัตว์ชนิดอื่นได้? เหมือนกับปัญหาโลกแตกที่เถียงกันไปก็ไม่มีใครชนะ คนที่คิดจะกินเนื้อสัตว์ก็กินอยู่เหมือนเดิม คนรักสัตว์ก็ยังขุ่นใจเหมือนเดิม

ความเป็นจริงก็คือคนมีกิเลสเขาก็กินทุกอย่างนั่นแหละ จะเป็นหมา แมว หมู วัว กระต่าย ปลา แม้แต่กินบ้านกินเมือง รวมไปถึงกินปัญญา (ทำให้เสียโอกาสในการเรียนรู้) ก็กินกันได้

ไม่แปลกอะไรที่ใครจะกินหมา เพราะเขาติดรสในเนื้อสัตว์นั้น เหมือนกันกับที่คนกินเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆเช่น หมู วัว ไก่ ปลา ฯลฯ จึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะกินเนื้อสัตว์อะไรมันก็มีความอยากในการเสพรสเหมือนๆกัน ซึ่งไม่มีนัยสำคัญของความแตกต่างในด้านกิเลส แต่จะต่างกันในด้านสัญญา คือประเพณีเพราะมีความเชื่อที่ต่างกันไป

ทำไมคนจึงออกมาต่อต้านการกินหมา?

เพราะหมานั้นเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับคน จึงเกิดความรักจนกระทั่งหลงได้ง่าย เมื่อหลงก็เกิดความลำเอียง ทั้งลำเอียงเพราะรักและหลงนั่นแหละ ที่ลำเอียงเพราะรักนั้นเกิดจากเราได้เสพความน่ารักผูกพันอะไรกับมันสักอย่าง ในส่วนลำเอียงเพราะหลง เช่น หลงยึดว่าทุกคนต้องรักอย่างตน, หลงไปว่ามีสัตว์เลี้ยงสัตว์กิน, หลงเข้าใจไปว่าเป็นสามัญสำนึกว่าทุกคนต้องไม่กินหมา

พอลำเอียงปุ๊ป มันก็จะทนไม่ได้ เมื่อเห็นสิ่งที่ตนรักนั้นถูกทำร้าย แม้ว่าจะไม่ใช่หมาที่ตนเลี้ยงก็ตาม แต่ความลำเอียงเพราะหลงนั้นจะทำให้รู้สึกเดือดร้อน บ้างก็ทนไม่ไหว ต้องออกมาประณามหยามเหยียดคนที่คิดและเข้าใจไม่เหมือนตนเองหรือกลุ่มของตน

ทั้งที่จริงๆแล้ว สัตว์มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น เราเองที่ไปแบ่งว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราแบ่งมันด้วยความเห็นผิดของเรา เช่นว่า สัตว์นั้นกินได้ สัตว์นี้กินไม่ได้ ทั้งๆที่ความจริงแล้วเราเองที่ไปเอามันมาเลี้ยง เราเองที่ไปเอามันมากิน เราตัดสินทุกอย่างเอง ใช้อำนาจที่มีในการสร้างความชอบธรรมในการฆ่า ในนามของมนุษย์ผู้มีปัญญาล้ำเลิศข้าขอบัญญัติว่า สัตว์ชนิดนี้เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเรา สัตว์ชนิดนี้เกิดมาเป็นทาสอารมณ์ของเรา ซึ่งแท้จริงแล้วไม่มีสัตว์ใดเลยที่เราควรเบียดเบียน สัตว์มันก็อยู่ของมันดีๆ เราไปยุ่งกับมันเอง

จะดีไหมหากเราจะขยายขอบเขตความรักความเมตตาของเราไปให้กับสัตว์อื่นด้วย ค่อยๆกระจายออกไป เริ่มจากหมาที่เรารัก หมาของคนอื่น แมว วัว หมู ไก่ ปลา พัฒนาสร้างความรักให้เติบโตเรื่อยไปจนรักสัตว์ได้ทุกชนิดเลย มันจะสุขแค่ไหนที่ได้อยู่ร่วมโลกกับสิ่งที่เรารักอย่างสบายใจ จะดีแค่ไหนหากเรากลายเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ใดเลย

คนรักหมาปะทะคนรักสัตว์

โดยมากแล้วทุกคนต้องการเป็นคนดี และเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคนรักหมาออกมาปกป้องสิ่งที่ตนรัก และกล่าวติ ข่ม ด่า ดูถูก ฯลฯ คนที่มาทำร้ายความเชื่อที่ตนมี แม้ว่าพวกเขาเองจะไม่ได้รับความเดือดร้อนใดๆเลย แต่การเห็นภาพความเชื่อที่ว่าหมาเป็นสัตว์เลี้ยง เป็นเพื่อน เป็นเหมือนครอบครัวถูกทำลายนั้นเป็นภาพที่พวกเขารับไม่ได้

ถึงเขาจะดูเป็นคนดีที่มีเมตตาเช่นนั้น ก็ใช่ว่าจะบริสุทธิ์จากบาป(กิเลส)เสมอไป เหตุการณ์ที่เรามักจะเห็นได้ก็คือมีคำถามว่า “ทำไมหมากินไม่ได้ แล้วหมูกินได้?” แน่นอนว่าการถามแบบนี้จะกระตุกต่อมคนดีอย่างรุนแรง ซึ่งแม้เขาจะเป็นคนดีขึ้นมาได้ แต่ก็ใช่ว่าเขาจะรับสิ่งดีได้ทุกอย่าง

เมื่อเป็นคนดีขึ้นมาแล้ว ก็มักจะเกิดอาการยึดดี ไม่ยอมชั่ว เมื่อไม่ยอมชั่วก็จะเกิดอาการบ่ายเบี่ยง ผลักภาระไปให้สัตว์ที่น่าสงสารเช่น หมูเป็นสัตว์ที่เกิดขึ้นมาเพื่อถูกฆ่าอยู่แล้ว, หมาเป็นสัตว์เลี้ยง ฯลฯ นานาความคิดที่แสดงออกมาเพื่อที่จะนำเสนอให้เห็นว่าการกินหมู วัว ไก่ ปลา ฯลฯ เป็นความชอบธรรมที่ใครๆเขาก็ทำกันไม่ผิดอะไร

ซึ่งแท้จริงแล้วก็เหมือนกับคนที่เขากินหมานั่นแหละ เขาก็มีเหตุผลมากมายมาตอบว่าทำไมถึงกินหมา ซึ่งน่าเชื่อเสียด้วย หลักฐานคือเกิดเป็นเทศกาลกินหมาจริงๆ เพราะคนเขาเชื่อแบบนั้น

กลับมาที่คนเป็นสัตว์กินตามกิเลส ถ้ามีกิเลสมากเท่าไหร่ก็เบียดเบียนมากเท่านั้น เขาก็กินเนื้อสัตว์มากเท่าที่เขาอยากกินนั่นแหละ เราไม่จำเป็นต้องสงสัยว่าทำไมจึงยังกินเนื้อสัตว์ หรือไปดูถูกใครหากเขายังหลงติดหลงยึดในสุขจากการกินเนื้อสัตว์อยู่ เพราะถ้าเขาไม่หลงสุขในการกินเนื้อสัตว์ เขาก็ไม่ต้องฆ่าหมามากิน เขาก็ไม่ต้องกินหมู วัว ไก่ ปลา ฯลฯ และเขาก็ไม่จำเป็นต้องลำบากคิดหาเหตุผลใดๆมาแสดงความชอบธรรมในการเบียดเบียนด้วย

คนมีกิเลสก็เหมือนคนมีแผลเหวอะหวะ จะจับหรือแค่สะกิดก็มักจะต้องเจ็บปวด ดังเช่นคนที่กินเนื้อสัตว์อยู่แต่ก็มีจิตใจเมตตาไม่เห็นด้วยกับการกินหมา แม้ว่าเขาจะมีจิตเมตตาเช่นนั้น แต่เขาก็ยังมีกิเลสอยู่ เขายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ เมื่อคนรักสัตว์เพียงแค่ถามหรือหยิบยกประเด็นลำเอียงมาสนทนา เขาก็จะมีอาการเจ็บปวดเมื่อถูกรุกรานความเชื่อในส่วนที่ชั่วของเขานั่นเพราะโดยปกติแล้วไม่มีใครอยากให้คนอื่นมาว่าหรอก ว่าสิ่งที่เขาคิดและทำอยู่นั้นไม่ดี เบียดเบียน และยังชั่วอยู่

หากเขาไม่ยึดความเชื่อว่าหมาเป็นสัตว์เลี้ยง หมูเป็นสัตว์ที่ควรกิน วัวก็ควรถูกกิน ไก่ก็ควรถูกกิน ปลาก็ควรถูกกิน สัตว์หลายๆอย่างที่น่าอร่อยก็ควรถูกกิน หากเขาถูกลิดรอนความเชื่อเหล่านี้ เขาจะไม่มีความสุขในการกิน แม้จะได้กินเขาก็จะไม่รู้สึกเหมือนเดิมเพราะความติดดียึดดี ความอยากเป็นคนดีทำให้รู้สึกเช่นนั้นได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้รู้สึกผิดในการกินเนื้อสัตว์อื่นๆนอกจากหมา เขาจึงจำเป็นต้องปกป้องความยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้นไว้ เหตุที่แท้จริงนั้นก็เพราะความหลงสุขในการเสพเนื้อสัตว์เหล่านั้น ไม่ว่าจะติดรส ติดว่าคนอื่นเขาก็กินกัน ติดความเชื่อว่ามันมีประโยชน์ บำรุงอย่างนั้นอย่างนี้ หรือแม้แต่ความเชื่อที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์กินเนื้อก็ตาม

ดังนั้นคนรักสัตว์ที่มีประสบการณ์จึงไม่ควรปะทะคารมโดยตรง การกระตุ้นสามัญสำนึกใช่ว่าจะใช้ได้กับคนทุกกลุ่ม เราควรมีเมตตาในการประมาณฐานของกลุ่มคน เช่น เขายังไม่เก่ง ยังไม่เคยศึกษา เราก็ค่อยๆชวนเขาลดไปก่อน อย่าเพิ่งไปกระตุกต่อมคนดีของเขา เพราะถ้ามากจนไปกระทบอัตตาของเขา เขาก็อาจจะไม่ไว้หน้าเราเหมือนกัน

เมื่อเกิดการผิดใจกัน ย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้น คนกินเนื้อสัตว์ก็ยังกินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม คนรักสัตว์ก็ต้องมาขุ่นใจกับคนที่ไม่ยอมเอาสิ่งที่ดีเหมือนเดิม

ผู้มีปัญญาจะไม่หาข้อแม้ใดๆในการเบียดเบียนสัตว์ มนุษย์ ความเชื่อ หรือสิ่งใดๆรวมทั้งตนเองด้วย เพราะรู้ว่าการเบียดเบียนนั้นไม่มีผลอะไรนอกจากการสร้างทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่นเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

23.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โอกาสและอัตตา

June 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,366 views 0

โอกาสและอัตตา

โอกาสและอัตตา

จากละครซีรี่พระพุทธเจ้า ในช่วงที่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งนำโดยท่านโกณฑัญญะ เดินทางมาเพื่อเป็นศิษย์พระพุทธเจ้า จากคนที่เคยเป็นอาจารย์ ต่อมากลายเป็นเพื่อนร่วมสำนัก และสุดท้ายก็กลายเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เป็นสงฆ์คนแรกของศาสนาพุทธ

เรื่องนี้ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่า สถานะนั้นไม่เที่ยงเลย จากคนที่เคยมีหน้าที่สั่งสอน ต่อมากลายเป็นเพื่อนที่มีสถานะเท่าเทียม สุดท้ายกลายมาเป็นลูกศิษย์ (แม้ในเรื่องจะนำเสนอว่าไม่รับเป็นศิษย์ ให้เป็นเพื่อนปฏิบัติธรรมแทน แต่ภายหลังก็เป็นศิษย์ คือ สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั่นเอง)

นั่นแสดงให้เห็นถึงปัญญาของท่านโกณฑัญญะ ที่ก้าวข้ามความยึดมั่นถือมั่นใน “ตัวตน” จนทำให้ได้รับ “โอกาส” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกถ้าท่านยังยึดมั่นถือมั่นว่าตนเองเป็นอาจารย์ ก็คงจะไม่มีวันยอมเป็นลูกศิษย์ ของอดีตลูกศิษย์

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะยอมละวางตัวตน ความหลงติดหลงยึดในบทบาทและหน้าที่ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งที่ขัดขวางความเจริญทันทีหากเรายังยึดมั่นถือมั่นมันไว้ในวันที่หลายสิ่งได้เปลี่ยนไปจากเดิม

เราจะยอมรับได้อย่างไร หากคนที่เคยอยู่ใต้การปกครองของเราเปลี่ยนมาเสมอเราและก้าวข้ามเราไป ในขณะที่อัตตาทำงานมันจะพยายามแสดงตัวตนว่าฉันเก่งกว่า ฉันแน่กว่า ฉันรู้มากกว่า จนต้องแสดงความคิดออกมาโดยผ่านคำพูด ท่าทาง ลีลา น้ำเสียง แล้วเราจะมีปัญญารู้ทัน “อัตตา” ของเราอย่างไร

อัตตาเป็นสิ่งที่ขวางกั้นโอกาสในการเรียนรู้ แทนที่เราจะได้เรียนรู้ว่าคนอื่นนั้นแตกต่างจากเราอย่างไร? เขามีความรู้ตามที่เขาได้เปิดเผยไว้จริงหรือไม่? เขาเก่งกว่าเราจริงหรือไม่? แล้วเขาทำเช่นนั้นได้อย่างไร? เราจะไม่มีวันรู้เลยหากเราถูกขวางกั้นด้วยความคิดประมาณว่า “ฉันเก่งกว่า ฉันเป็นถึง…”

ความเจริญทางโลกยังพอมีรูปลักษณ์ให้พอหยิบยกเป็นหลักฐานได้ แต่ความเจริญทางธรรมนั้นเป็นเรื่องนามธรรมทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงอย่างถี่ถ้วนซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากจะประมาณได้

อย่ากระนั้นเลยหากเราฝึกละวางอัตตาของเราตั้งแต่ทีแรก ก็ไม่ต้องมาคอยระวังว่าอัตตาจะมาทำให้ตนเองนั้นพลาดพลั้งเสียโอกาสต่างๆ แต่โดยมากแล้วกว่าจะเห็นอัตตาของตนก็มักจะสายไปเสียแล้ว ดังเช่นพระเทวทัตถ้าท่านวางอัตตาได้เสียตั้งแต่ทีแรกก็คงจะเป็นหนึ่งในผู้พ้นทุกข์ในสมัยของพระพุทธเจ้าไปแล้ว แต่นั่นก็ไม่สูญเปล่าเสียทีเดียว ความผิดพลาดของท่านก็จะเป็นสิ่งที่คนรุ่นหลังจะได้นำมาศึกษาและเรียนรู้เช่นกัน

ผู้ที่คิดว่าตนเองรู้แล้ว ก็จะปิดโอกาสในการเรียนรู้ของตน ส่วนผู้ที่คิดเสมอว่าตนเองนั้นยังไม่รู้แน่ชัด ก็ยังมีโอกาสในการเรียนรู้ต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

23.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต : ๒ ติดใจ ติดรส ติดกาม

June 19, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,488 views 0

กินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต : ๒ ติดใจ ติดรส ติดกาม

กินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต : ๒ ติดใจ ติดรส ติดกาม

ในทุกวันนี้ แม้เนื้อสัตว์จะเป็นวัตถุดิบหลักประกอบอาหารที่คนส่วนใหญ่บริโภคกันในแต่ละวัน ปรุงแต่งรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสกันให้น่าเสพน่าหลงใหลถึงกระนั้นก็ตาม แท้จริงแล้วเนื้อสัตว์ก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตเลย

เรามักจะมีเหตุผลที่อ้างเพื่อจะไม่ลดเนื้อสัตว์แล้วหันมากินผักแทนด้วยเหตุผลดังเช่นว่า “ฉันต้องกินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต” เป็นความปักมั่นที่ยึดเอาเนื้อสัตว์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นตัวเป็นตน เป็นอัตตา ทั้งที่จริงแล้วการเสพสุขจากการกินเนื้อสัตว์นั้นมาจากเสพกามในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสทั้งหลายนั้นเอง แต่พอยึดติดมากเข้าก็กลายเป็นตัวเป็นตนไปเลย

คนเรานั้นสามารถติดใจในรสชาติ จนกระทั่งถึงขั้นหลงระเริงเลยเถิดไปไกลจากการกินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิตไปได้ไม่ยากนัก เพราะความหลงในกามนี้เอง ทำให้เราต้องไปตามหาร้านอาหารชื่อดังที่มีเมนูเนื้อสัตว์ที่อร่อย แสวงหาสถานที่ที่จะปรุงแต่งรสสุขในกามให้ได้เสพ ไม่ว่าจะอยู่เมืองไหน ประเทศใดถ้ามีทุนทรัพย์มากพอก็จะไปแสวงหาเสพให้ได้

เพื่อที่จะให้ตนได้เสพรสอย่างที่ใจหวัง จึงสร้างความยุ่งยากในชีวิตมากกว่ากินๆไปเพียงเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไป กลายเป็นการแสวงหาของกินที่ถูกปาก เริ่มที่จะเข้าสู่การอยู่เพื่อกิน ไม่ใช่กินเพื่ออยู่อีกต่อไป แต่นั่นก็ไม่ได้สร้างความลำบากให้จิตใจของผู้ที่ติดกามในเนื้อสัตว์จนต้องลำบากออกแสวงหามากนัก เพราะเขาเหล่านั้นคาดหวังอยู่เสมอว่าจะได้เสพรสสุขมากกว่าความลำบากที่ต้องจ่ายไป

ยกตัวอย่างเช่น คนไทยที่บินไปญี่ปุ่นเพื่อที่จะได้ลิ้มลองปลาดิบต้นตำรับว่าจะทำให้อร่อยและสุขใจแค่ไหน ลงทุนลงแรงเกินความจำเป็น ดังคำที่ว่า “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” ทั้งที่จริงๆแล้วถ้าอยากกินปลาก็สามารถหากินตามร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยทั่วไปได้ แต่ความใคร่อยากเสพมันจะไม่ยอม มันจะกระหาย มันอยากจะลิ้มรส ที่ว่าเลิศ ว่ายอดขึ้นไปอีก ว่ามันจะมีรสสุขใดอีก ฉันอยากจะเสพรสสุขนั้นเหลือเกิน ว่าแล้วกิเลสก็พาให้เขาเหล่านั้นออกเดินทางออกไปแสวงหาเมนูเนื้อสัตว์ที่จะมาบำเรอกามตนเองได้

รสกามนี้เองคือสิ่งที่ทำให้มีร้านอาหารหลายระดับต่างกันตั้งแต่ร้านข้างทางจนไปถึงโรงแรมหรูมีดาวมากมาย ซึ่งก็ต่างกันในเรื่องของความสามารถในการบำเรอกาม ร้านข้างทางก็พอจะบำเรอกามได้ระดับหนึ่ง ส่วนโรงแรมหรูนอกจากจะบำเรอกามแล้วยังเสริมโลกธรรมและอัตตาอีกด้วย คือนอกจากจะได้เสพรสอร่อยแล้วยังทำให้รู้สึกว่าดูดีมีระดับอีกต่างหาก

เมื่อเนื้อสัตว์นั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อดำรงชีวิต แต่มีไว้เพื่อบำเรอกาม นั่นก็หมายถึงสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นของชีวิต ดังนั้นหากจะอ้างว่า ฉันต้องกินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิตแต่ยังมีพฤติกรรมติดกามในเนื้อสัตว์เช่นนี้ เหตุผลนี้ก็เป็นเหตุผลที่ไม่สมควรยกมาอ้างเลย เพราะเห็นกันชัดเจนอยู่แล้วว่า “ไม่ได้กินเพื่อดำรงชีวิต แต่กินเพื่อบำเรอกาม

– – – – – – – – – – – – – – –

16.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)