Tag: บาป

โอวาทปาติโมกข์ ๓

March 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,121 views 0

โอวาทปาติโมกข์ ๓

๑. ไม่ทำบาปทั้งปวง
๒. ทำกุศลให้ถึงพร้อม
๓. ทำจิตใจให้ผ่องใส

– – – – – – – – – – – – – – – –
๑). การไม่ทำบาปนั้นหมายถึงการไม่ส่งเสริมและไม่สนองตามกิเลสใดๆเลย เพราะ “บาป” นั้นเองคือการสะสมกิเลส ซึ่งตรงข้ามกับ “บุญ” ที่หมายถึงการชำระกิเลส

๒). การทำกุศลนั้นหมายถึงการทำความดี ทำสิ่งดีที่ ตรงข้ามกับการทำอกุศลคือการทำสิ่งที่ชั่ว แน่นอนว่าเมื่อเราไม่ทำบาป ไม่ทำตามกิเลสแล้ว เรายังต้องทำสิ่งที่ดีอีกด้วย ไม่ใช่ว่าไม่ทำชั่วแล้วไม่ทำสิ่งดีอะไรเลย

๓). การทำจิตใจให้ผ่องใส ให้ขาวรอบ ไม่มีความขุ่นมัว ไม่มีกิเลสปน ซึ่งหมายถึงการชำระกิเลสซึ่งเป็นที่ทำให้เกิคความเศร้าหมองและเป็นสิ่งไม่จำเป็นในชีวิตให้หมดไปจากใจ

….เกิดมาเป็นมนุษย์ ทั้งชีวิตทำได้แค่ 3 อย่างนี้ก็เป็นยอดมนุษย์แล้ว

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

January 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,327 views 0

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

…ทำอย่างไรถึงเรียกว่ารักตัวเอง เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ไม่ทำร้ายตัวเอง

รักตัวเอง” เป็นประโยคสั้นๆ ที่เข้าใจกันได้อย่างหลากหลาย เรามักจะใช้ประโยคนี้ในการปลอบใจตัวเอง เยียวยาจิตใจที่กำลังเศร้าหมองด้วยการให้คุณค่ากับตัวเอง

การรักตัวเองนั้นสามารถแสดงออกได้หลายลีลาท่าทาง แน่นอนว่าหลายคนก็ต่างพูดว่าตนนั้นรักตัวเอง ทำเพื่อตนเอง หรือกระทั่งทำเพื่อผู้อื่นเพื่อให้ตนเองมีความสุข และอื่นๆอีกมากมาย

ทำไมทุกคนที่บอกว่ารักตัวเองถึงมีวิถีชีวิตต่างกัน มีวิธีคิดต่างกัน มีเป้าหมายที่ต่างกัน แล้วรักตัวเองแบบไหนถึงจะเรียกว่ารักจริง เราจะลองมาเรียนรู้ที่จะรักตัวเองกันได้อย่างแท้จริงเสียที จาก 3 ลีลาความรักตัวเอง รักด้วยกาม รักด้วยอัตตา รักด้วยอนัตตา จะเป็นแบบไหนลองมาอ่านกัน

1). รักตัวเอง (กาม)

ความรักตัวเองในมุมของกามหรือการหา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จนกระทั่งหา คน สัตว์ สิ่งของมาเสพ จะเป็นมุมที่เห็นได้ทั่วไปเช่น คนที่คิดว่าเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้มันสุดๆ กิน เที่ยว เล่น ให้มันสุขสุดๆ เพราะเข้าใจว่ารักตัวเองเลยพยายามหาสิ่งมาบำเรอความสุขให้กับตัวเอง เข้าใจว่าต้องทำให้ตัวเองเป็นสุขจากการเสพจึงจะเรียกว่ารักตัวเอง

ความรักตัวเองในมุมของกามเช่นนี้ ยังอยู่ในลักษณะที่เห็นแก่ตัวอยู่มาก เช่น เราชอบกินเนื้อสัตว์ เรารักตัวเองมากจึงพยายามหาเนื้อสัตว์มาเสพสุข พร้อมทั้งหาข้อมูลอ้างอิงว่าเนื้อสัตว์นั้นดี มีคุณค่า ให้ความสุข หาธรรมะมาอ้างว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ผิด ยึดมั่นถือมั่นเนื้อสัตว์เป็นตัวเป็นตน เป็นสิ่งจำเป็น เป็นของสำคัญ จะให้ตัดเนื้อสัตว์ออกจากชีวิตก็ไม่ได้ เพราะรักตัวเอง กลัวอด กลัวไม่ได้เสพสุข กลัวขาดสารอาหาร เมื่อเรารักตัวเองมากๆ จนเข้าขีดของความเห็นแก่ตัว จึงยินดีที่จะเบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ตัวเองได้เป็นสุข

แม้แต่การรักผู้อื่นก็เช่นกัน ในมุมของการเอาใจผู้อื่น บางครั้งก็เกิดจากความรักตัวเองมาก จนสามารถใช้การล่อลวง ใช้คำหวาน ใช้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เข้าไปทำให้ผู้อื่นหลงงมงายจนยอมตกลงปลงใจกับเรา จนกระทั่งเราได้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเหล่านั้นมาเสพ นั่นเพราะเรารักตัวเองมาก เราจึงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้คนอื่นมาเสพ

การรักตัวเองแล้วบำเรอสุขจากการเสพให้ตัวเองนั้น ไม่ใช่ความรักตัวเองเลย แต่เป็นความหลงในกิเลส หลงว่ากิเลสเป็นตัวเราก็เลยเอาอาหาร ทรัพย์สินเงินทอง เวลา สุขภาพ ฯลฯ ไปให้กับกิเลสโดยหลงเข้าใจว่านั่นคือตัวเรา หลงไปว่าตัวเราชอบกินเนื้อสัตว์ ตัวเราชอบเที่ยว ตัวเราชอบแต่งตัว ตัวเราอยากได้รถโก้และบ้านหลังโต ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นคำสั่งจากกิเลส

การรักตัวเองแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไรก็ได้ แค่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกิเลสนำพา ตรงไหนสุขก็ไปเสพ ตรงไหนทุกข์ก็หนี แสวงหาที่เสพสุขวนเวียนสะสมบาปสะสมอกุศลอยู่เรื่อยไป เพราะความรักตัวเองเช่นนี้ คือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง นำวิบากบาปมาให้ตนเองอย่างแท้จริงเป็นทางแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

การจะบอกว่ารักตัวเองแล้วยังแสวงหาสุขลวงจากกิเลสมาเสพ นั่นหมายถึงการทำทุกข์ทับถมตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วจะเรียกว่ารักตัวเองได้อย่างไร

2). รักตัวเอง (อัตตา)

ความรักตัวเองในมุมของอัตตา เป็นอีกมุมหนึ่งที่เห็นได้เป็นประจำ กามและอัตตาจะยังมีผสมปนเปอยู่ในจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่เสมอ ไม่ได้หมายความว่ามีอัตตาแล้วจะไม่มีกาม ทางโต่งทั้งสองด้านนี้จะเติมพลังให้แก่กันอยู่เสมอ ผลัก-ดูด, รัก-ชัง, ชอบ-ไม่ชอบ สลับกันไปมาเช่นนี้เสมอ

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่น คือมีตัวเราของเรา เห็นกิเลสเป็นตัวเป็นตนของเรา เช่นเรารักตัวเองมาก เห็นว่าตัวเองเป็นคนดี เข้าวัด ทำบุญ แต่พอมีคนมานินทา เหน็บแนม ก็รู้สึกโกรธนั่นก็เพราะว่าเรารักตัวเองมากเกินไป รักจนยึดเป็นตัวเป็นตน รักจนไม่ยอมให้ใครมาแตะต้องได้

หรือการที่เรามีความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ความเชื่อความเข้าใจแบบใดแบบหนึ่ง เราก็จะรักและยึดมั่นสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวเรา กอดมันไว้กับเรา ถ้ามีใครเห็นด้วยเราก็จะยินดีกับเขา แต่พอมีคนที่ไม่เห็นด้วยพร้อมทั้งการแสดงท่าทีหรือความเห็นที่แตกต่าง ความเห็นเหล่านั้นก็กระทบกับเกราะแห่งรัก(อัตตา,รักลวง) ก่อนที่จะเข้ามาถึงใจเรา นั่นคือเมื่อเรารักตัวเองมาก เราก็จะ”ไม่ฟัง” ไม่ยินดีรับฟัง ไม่อยากฟังอะไรที่ขัดกับความเห็นของเรา เขาพูดอะไรก็จะไม่สนใจ คิดแต่เพียงว่า ฉันก็เชื่อของฉันแบบนี้, ฉันได้ของฉันแบบนี้, ของเธอไม่ดีหรอก หรือถ้าหนักๆเข้าก็อาจจะถล่มอีกฝ่ายด้วยความรักตัวเองจนเกินจะระงับไว้ได้นั่นเอง

คนที่มีความเห็นผิดก็มักจะยึดเอาความเห็นผิดไว้เป็นที่พึ่ง เป็นหลักยึด เป็นคติ เป็นข้อปฏิบัติ และเห็นสิ่งที่ผิดเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะควรอยู่แล้ว นั่นคือเกิดสภาพยึดไปแล้ว และเป็นการยึดความเห็นผิดอีกต่างหาก อัตราส่วนของคนที่ยึดความเห็นผิดต่อความเห็นที่ถูกต้องก็ราวๆ จำนวนเส้นขนวัวทั้งตัวเมื่อเทียบกับ 2 เขาวัว ซึ่งนั่นหมายความว่าโอกาสที่จะได้รับฟังความเห็นที่ถูกก็น้อยยิ่งกว่าน้อย และเมื่อคนที่ยึดความเห็นผิดเป็นตัวเป็นตน เมื่อได้ฟังความเห็นที่ต่างจากที่ตัวเองยึดไว้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกแต่ก็จะเป็นผิดทั้งหมด

ความรักตัวเองในมุมของอัตตาจะส่งผลให้กลายเป็นคนที่ติดอยู่ในภพ ติดอยู่ในความเชื่อหนึ่งๆ ตัวตนหนึ่งๆ สภาพหนึ่งๆ รูปแบบหนึ่งๆ กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว คือเห็นแต่เรื่องของตัวเองเป็นสำคัญ เรื่องของคนอื่นไม่สำคัญ ของตนสำคัญที่สุด คนอื่นผิด ฉันถูก หรือคนอื่นอาจจะผิดไม่มาก แต่ฉันถูกเสมอ

การรักตัวเองแบบมีอัตตาก็จะสามารถรักและเมตตาคนอื่นได้เช่นกัน แต่จะเป็นสภาพที่ซับซ้อนของกิเลส นั่นคือไปยึดเหตุการณ์ รูปแบบ ลักษณะแทน เช่น ฉันจะต้องเป็นคนมีเมตตา ฉันจะต้องมีน้ำใจ ฉันจะต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ ซึ่งอาจจะมีความซ้อนตรงที่แอบเสพความสุขจากการได้เป็นผู้ให้เหล่านั้นเช่น เสพติดการได้รับคำชม ได้ชื่อเสียง ได้ความเคารพ ลักษณะเหล่านี้จะซับซ้อนและสังเกตได้ยาก เป็นอัตตาที่ซ่อนตัวอยู่ในโลกธรรม

ความรักตัวเองในมุมของอัตตา แม้ว่าจะไม่ได้หาวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของภายนอกมาเสพเหมือนกาม แต่ก็ยังเสพเหตุการณ์อยู่ ยังติดดียึดดีอยู่ รักความเป็นตัวของตัวเอง รักนิสัย รักศักดิ์ศรี รักลาภ ยศ สรรเสริญ รักความสุข จึงหาเหตุการณ์เหล่านี้มาบำเรอสุขให้ตนอยู่

แม้จะสามารถรักตัวเองจนดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นผู้มีรายได้มาก มีตำแหน่งใหญ่โต มีคนยกย่องนับถือ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการรักตัวเองอย่างแท้จริง เพราะการหาเหตุการณ์ใดๆมาเสพให้สมใจตัวเอง ไม่ว่าจะความสำเร็จ ความมั่งคั่ง ความนิยม ซึ่งมักจะต้องแลกมาด้วยการทำบาป

บาป” นั้นหมายถึงการสะสมกิเลส เสริมกิเลส บำรุงกิเลส ซึ่งจะตรงข้ามกับ “บุญ” ที่หมายถึงการชำระกิเลส ลดกิเลส ล้างกิเลส ทำลายกิเลส

หากเราได้สิ่งเหล่านั้นมาเสพจนกระทั่งเกิดความสุขจากสิ่งนั้น เหตุการณ์นั้น สภาพนั้น และเมื่อไม่ได้เสพสมดังใจหมายก็ผิดหวังเป็นทุกข์เศร้าโศกเสียใจ ก็ให้รู้ไว้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เหตุการณ์ที่มาโดยกุศลกรรม แต่หากเป็นผลจากพลังของกิเลสที่ผลักดันเราให้ยึดมั่นถือมั่นในการจะได้เหตุการณ์ใดๆจนแสวงหามาเพื่อให้ได้เสพสมใจให้สมกับอัตตาที่มีนั่นเอง

3). รักตัวเอง (อนัตตา)

เมื่อเห็นแล้วว่าการรักตัวเองด้วยการหามาเสพด้วยวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ หรือแม้กระทั่งสร้างเหตุการณ์ต่างๆที่ทำให้สมใจนั้น เป็นการทำตามกระแสของกิเลสทั้งนั้น กิเลสจะพาให้เราเสพสิ่งต่างๆ ให้เรายึดมั่นถือมั่นและหามาเสพไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนหลงว่าเป็นความสุข เป็นการให้รางวัลชีวิต เป็นเป้าหมายในชีวิต เป็นคุณค่าของชีวิต เป็นความหมายของการเกิดมา เป็นตัวเป็นตน เป็นการรักตัวเองโดยการสนองตัวเองให้เสพสุขไปกับสิ่งเหล่านั้น

สิ่งที่จะกล่าวกันต่อไปนี้ อาจจะขัดใจกันสักหน่อย นั่นคือสิ่งที่คนแสวงหาทั้งหมดไม่ว่าจะกามหรืออัตตา ต่างก็เป็นการทำทุกข์ทับถมตนทั้งสิ้น สร้างอกุศลคือความชั่ว สะสมไปเป็นอกุศลกรรม คือกรรมชั่วที่จะส่งผลให้เราทุกข์ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ในวันใดวันหนึ่ง นั่นก็เพราะเรามีการสะสมกิเลสซึ่งเป็นเชื้อทุกข์ที่ร้ายสุดร้ายเข้าไปในจิตวิญญาณ

ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์จากทั้งกามและอัตตา ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะสะสมกิเลสไปเรื่อยๆ ได้เสพก็ติดสุข ไม่ได้เสพก็ทุกข์จนต้องหามาเสพ นั่นหมายถึงว่าทุกๆวันของชีวิตการคือสะสมบาป เวร ภัย ทุกข์ให้กับตัวเอง ดังนั้นจึงเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าการรักตัวเองไม่ได้

ไม่ว่าจะกามหรืออัตตา ต่างก็เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน หลายคนบอกว่าที่ฉันเสพมันก็สุขนะ ได้กินของอร่อย ได้ท่องเที่ยว ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ฯลฯ ซึ่งมันก็สุขจริง แต่เป็นสุขลวงแถมด้วยความทุกข์แท้ๆ ได้เสพก็สุขนิดหน่อยแต่สุดท้ายก็จะทุกข์มาก ทุกข์เพราะความอยากเสพ ทุกข์เพราะวิบากบาปในการหามาเสพ เหมือนยาเสพติดหยุดไม่ได้ ถึงจะรู้ว่ามีโทษแต่ก็สุขจนหยุดเสพไม่ได้ จึงกลายเป็นทุกข์แท้ๆเลยทีเดียว

ความไม่เที่ยงนั้นคือสภาพสุขที่ได้เสพ โอกาสที่จะได้เสพ หรือความสุขเหล่านั้นต่างไม่เที่ยง ไม่คงที่ สุขไม่นานก็จางคลาย เช่นเรากินอาหารที่อร่อย ความอร่อยนั้นอยู่ตรงไหน เรากินทุกวันมันจะอร่อยเหมือนวันแรกไหม สุขที่เกิดขึ้นมันไม่เที่ยงเลย มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา

และความไม่มีตัวตน นั่นหมายถึงสภาพสุขจากการเสพนั้นแท้จริงไม่มีตัวตน มันไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้สุขจากการเสพนั้น แต่กิเลสทำให้เราสุข แต่เป็นสุขลวงๆ แล้วเราก็หลงยึดสุขน้อยทุกข์มากนั้นเป็นตัวเราของเรา ยึดกิเลสเป็นตัวเรา ทั้งที่มันไม่ใช่ตัวเรา เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ เราไม่จำเป็นต้องกินสามมื้อ เราไม่จำเป็นต้องแต่งหน้าแต่งตัว เราไม่จำเป็นต้องกินเหล้า เราไม่จำเป็นต้องมีบ้านใหญ่โต เราไม่จำเป็นต้องมีคู่ครอง เราไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งใหญ่โต เราไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียง เราไม่จำเป็นต้องร่ำรวยมั่งคั่ง เราไม่จำเป็นต้องมีคนนับหน้าถือตา แต่เพราะเรามีตัวตนของกิเลสเป็นของเรา เราจึงเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจำเป็น เชื่อว่าเป็นสาระของชีวิต เชื่อว่าเป็นความสุข ความเจริญ ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นมันไม่มีตัวตน ไม่มีสาระอะไรเลย

ความรักตัวเองในมุมของอนัตตา คือความรักแบบไม่มีตัวตน นั้นคือไม่มีตัวตนของกิเลสในจิตวิญญาณ ไม่มีกาม ไม่มีอัตตา เพราะทำลายทั้งกามและอัตตาจึงเข้าสู่สภาวะของอนัตตา แต่ไม่ได้หมายถึงแค่ไม่มีตัวเรา ไม่ใช่อนัตตาแบบท่องจำที่ทำกันโดยทั่วไป “ทุกสิ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป,ทุกสิ่งไม่ใช่ตัวเราของเรา” ท่องแบบนี้มันก็ท่องได้ เป็นสมถะ เอาไว้กดอาการของจิตได้ดีแต่ทำลายกิเลสไม่ได้

การปฏิบัตินั้นจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สภาวะของอนัตตานั้นเป็นผลของการปฏิบัติ ไม่ใช่วิถีทางปฏิบัติ(มรรค) ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดเอาอนัตตามาเป็นตัวปฏิบัติ เพราะการจะรักตัวเองได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องเว้นจากทางโต่งสองด้าน คือกามและอัตตา โดยปฏิบัติยึดหลักทางสายกลาง จนเกิดเป็นผลที่เรียกว่า “อนัตตา

ความรักตัวเองด้วยอนัตตานี้เองจะเป็นความรักที่สร้างแต่กุศลอยู่ฝ่ายเดียว ทำแต่กุศลกรรม มีแต่การสร้างอนาคตที่ดี ไม่มีการสะสมบาป หรือสะสมอกุศลกรรมใดๆให้ตัวเองต้องได้รับทุกข์ โทษ ภัย ในอนาคตทั้งในชาตินี้และชาติหน้า นี่คือความรักตัวเองอย่างแท้จริงเพราะได้ส่งต่อสิ่งที่ดีให้กับตัวเองในอนาคต สร้างกรรมดีให้กับตัวเองในอนาคต จึงจะมีแต่เจริญไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่มีถอยหลัง ไม่ตกต่ำ ไม่กลับมาชั่ว ปิดนรก ปิดทางฉิบหายได้สนิท ไม่ว่าจะในชาตินี้หรือชาติหน้าจนกระทั่งชาติอื่นๆต่อไป

เมื่อเรารักตัวเอง เราจึงควรเรียนรู้ที่จะรักตัวเองด้วยการเว้นขาดจากทางโต่งสองด้านคือกามและอัตตา จนกระทั่งทำลายกิเลสที่เป็นตัวผลักให้เราไขว้เขวไปในทางโต่งทั้งสองด้านจนสิ้นเกลี้ยง ทีละเรื่อง สองเรื่อง เริ่มจากกิเลสที่ไม่ยากมาก ให้โอกาสตัวเองได้เรียนรู้ความรักที่แท้จริง ความรักที่ไม่มีกาม ไม่มีอัตตา รักที่เป็นอนัตตาอย่างเที่ยงแท้ แน่นอน ไม่มีหลอกลวง เป็นประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้อื่นตลอดไป สะสมอนัตตาในแต่ละเรื่อง เจริญขึ้นไปเรื่อยๆตามลำดับโดยการศึกษาเรียนรู้ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อก้าวข้ามภพของกิเลสทั้งหมด ไปจนกระทั่งเป็นผู้ที่มีแต่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

การรักตัวเองได้อย่างแท้จริง จะทำให้เราไม่ยอมเปิดโอกาสให้ตัวเองไปทำบาป ไม่ชักชวนให้คนอื่นทำบาป ไม่ส่งเสริมให้คนทำบาป ไม่ยินดีในบาปเหล่านั้น ไม่ทำอกุศลกรรมใดๆ ที่จะกลายเป็นสิ่งที่ผูกมัดตัวเองไว้กับทุกข์

– – – – – – – – – – – – – – –

26.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เมื่อรักขม

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,591 views 0

เมื่อรักขม

เมื่อรักขม

…เมื่อความรักที่เคยหอมหวาน กลับกลายเป็นความทุกข์ระทมขมขื่น

จะมีสิ่งใดในโลกบ้าง ที่เที่ยงแท้ ไม่ผันแปร คงที่คงทนได้อยู่ตลอดกาล แม้แต่ความรักที่อ้างนักอ้างหนาว่ายิ่งใหญ่ มั่นคง บริสุทธิ์ก็ยังต้องเปลี่ยนแปลงไปในวันใดก็วันหนึ่ง แล้วเราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้อย่างไร ลองมาศึกษาข้อคิดเห็น 9 ข้อดังต่อไปนี้กันเลย

1). แรกรักก็ว่าหวาน

คนเราเมื่อได้เสพสมใจตามกิเลสก็จะมีความสุข เมื่อคนที่เรารักสามารถปรนเปรอกิเลสของเราได้ จนอิ่มหนำสำราญ โลกของเราก็จะสวยงามเหมือนว่าเป็นสีชมพู อะไรๆก็สวยงามดูดีไปหมด เพราะเรากำลังอยู่ในสภาพแห่งความหลงสุข

จะมีใครบ้างที่ไม่ชอบให้คนมาตามใจ ดูแล เอาใจ ปรนนิบัติ รับใช้ ฯลฯ แต่จะมีใครบ้างที่จะเห็นเบื้องหลังของสิ่งที่เราได้มา ความสุขที่เราได้รับนี่มันไม่ใช่ของฟรีนะ ไม่ใช่ว่าบังเอิญได้มาฟรี แต่มันมีค่าใช้จ่ายของมันอยู่เหมือนกัน ซึ่งการได้มาหรือเสียไป ไม่ได้มาจากแค่เพียงสิ่งที่อยู่ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมอย่างเงินทอง แต่อยู่ในลักษณะของนามธรรมคือกุศลและอกุศลด้วย

สิ่งที่ผลักดันให้เรารู้สึกสุขส่วนหนึ่งก็มาจากกุศลหรือความดีที่เราเคยทำไว้ตั้งแต่ชาติก่อนจนมาถึงชาตินี้เช่นเราดูแลคู่ครองดี เขาก็ดูแลเรากลับดี แต่ความสุขที่เกิดไม่ได้มาจากกุศลเพียงอย่างเดียว มันยังมาจากแรงแห่งบาปด้วย

บาปคืออะไร? บาปก็คือการสนองกิเลส การสะสมกิเลส เช่นเรารู้สึกว่ารักนั้นหวาน มีความสุขเพราะมีรัก เหตุนั้นเพราะคู่รักของเรา เอาใจ ตามใจเรา เราอยากได้อะไรเขาก็ให้ เราอยากกินอะไรก็ได้กิน นี่มันคือสุขจากการเสพกิเลส มันหลอกเราให้เรารู้สึกหวานแบบนี้

2). รสหวานที่ไร้ความหมาย

แต่เราได้เสพสุขไปนานๆแล้ว ความหวานมักจะลดลง เกิดจากเหตุสองส่วนนั่นคือ 1).เราชินชากับความหวาน 2). ความหวานนั้นลดลงจริงๆ

เมื่อเราได้เสพสุขจากสิ่งใดบ่อยๆแล้ว เราก็มักจะเกิดอาการชินชา ด้านชา เบื่อที่จะได้รับการเสพแบบเดิมๆ ถึงแม้คู่ครองจะบำรุงบำเรอกิเลสด้วยมาตรฐานเท่าเดิม แต่เราก็จะรู้สึกไม่อิ่มเหมือนเดิม ไม่สุขเหมือนเดิม ไม่หวานเหมือนเดิม เหมือนกับคนที่กินจนอ้วน ก็จะเพิ่มปริมาณอาหารต่อมื้อมากขึ้นเรื่อยๆ กิเลสก็เช่นกัน ถ้าเราเลี้ยงกิเลสให้อ้วน แล้วเราไม่สนองมันด้วยอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา ที่มากกว่าเดิมนั้น มันก็จะรู้สึกเบื่อ ชินชา เป็นทุกข์ อยากเสพมากขึ้น ความหวานเดิมๆจึงไร้ความหมาย

ในกรณีของความหวานที่ลดลงก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะแรกรักเราก็มักจะต้องทุ่มเทสนองกิเลสของอีกฝ่าย เพื่อที่จะใด้อีกฝ่ายมาสนองกิเลสให้กับตัวเรา ยอมพลีกายให้เรา ยอมบำเรอเราด้วยทรัพย์สินเงินทอง แต่พอเราได้เสพในสิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการสมสู่ การแต่งงาน การมีลูก การมีฐานะที่มั่นคง แรงผลักดันที่ทำให้เราไปสนองคู่ของเราหรือที่เรียกว่าความหวานนั้นก็จะลดลงเป็นธรรมดา เหมือนกับนักวิ่งเมื่อเขาเหล่านั้นถึงเป้าหมายที่หวังไว้เขาก็จะหยุดวิ่งเป็นธรรมดา

เช่นเดียวกันกับในเรื่องของคู่ ถ้าเขาได้รับการสนองกิเลสในสิ่งที่เขาต้องการจนเขามั่นใจแล้วว่า เขาจะได้สิ่งนั้นแน่นอน เขาก็จะลดความหวานลง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชายคนหนึ่งที่ต้องการมีแฟนเพื่อสนองความใคร่ เขาจึงใช้กำลังส่วนหนึ่งในการเฝ้ารอ ทุ่มเท เอาใจ ดูแล เอาใจใส่ สนองกิเลสของเธอผู้โชคร้ายคนนั้น จนกระทั่งวันหนึ่งได้กระตุ้นกิเลสของเธอจนพุ่งพล่านด้วยการพาไปดินเนอร์สุดหรู พร้อมคำหวานที่คัดสรรมาอย่างดี ตบท้ายด้วยแอลกอฮอล์ที่พาให้สติกระเจิดกระเจิง สุดท้ายเมื่อเธอเห็นว่าชายคนนี้ช่างเหมาะจะมาเป็นคนที่มาสนองกิเลสของเธอในอนาคตต่อไป เธอจึงยอมพลีกายให้เขา เมื่อเขาได้สมสู่จนมั่นใจว่าผู้หญิงคนนั้นไม่มีวันพรากไปจากเขา เขาจึงลดการบำเรอกิเลสเธอลง หันกลับมาใช้พลังงานเหล่านั้นสนองกิเลสของตัวเองแทน

3). น้ำพริกถ้วยเดิม

แม้ว่าทั้งคู่จะเป็นคนดีที่มีความเสมอต้นเสมอปลายต่อกัน แต่ในความจริงนั้นไม่มีสิ่งใดที่ตั้งอยู่ได้นาน ความรักก็เช่นกัน แม้จะไม่มีปัจจัยใดๆเข้ามาเป็นสิ่งกระทบ แต่ความหวานก็จะค่อยๆลดน้อยถอยลงตามกาลเวลา ตามความเคยชิน จากคนที่รักสุดรักในวันแต่งงาน ค่อยๆกลายเป็นเพื่อน กลายเป็นญาติ กลายเป็นคนรู้จัก จนกระทั่งอาจจะกลายเป็นคนที่ไม่อยากรู้จักกันเลย

นั่นเพราะความอยากเสพมันได้จางคลายลงไป ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของโลก ถึงแม้เราจะพยายามปรุงรสชาติให้ชีวิตรักมันสุดเผ็ดเด็ดสะท้านสักเท่าไร ความหวานเมื่อครั้งแต่งงานใหม่ๆก็ไม่มีวันที่จะกลับมา มันจะเปลี่ยนสภาพไป ค่อยๆจืดจาง และสลายหายไปในที่สุด

คู่รักที่คงสภาพคู่อยู่ได้ จึงมักจะมีความสัมพันธ์ในลักษณะของเพื่อนกันเสียมากกว่า เพราะถึงจะพยายามปรุงแต่งให้ดูเหมือนว่ารักกันเพียงใด แต่ในใจมันจะไม่สุขเหมือนก่อนแล้ว

4). เมื่อรักขม

หากเราสามารถยอมรับความเปลี่ยนแปลงของความรักที่เกิดขึ้นได้กันทั้งคู่ ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไรในชีวิตคู่ เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับในความสุขที่จืดจางลง ลดน้อยลง ไม่ว่าจะในด้านรูปธรรม เช่น รูปร่าง หน้าตา ฐานะ สมรรถภาพทางเพศ หรือด้านนามธรรม เช่นความรู้สึกที่มันไม่อยากเสพเหมือนตอนสมัยแต่งงานหรือจีบกันใหม่ๆ

ความขมนั้นเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังติดรสหวาน และยอมรับไม่ได้กับรสชาติชีวิตรักที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อไม่ได้เสพสมใจตามความเคยชิน หรือไม่ได้เสพตามที่ต้องการมากขึ้นก็จะทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ การที่ทุกข์นั้นเกิดเพราะเรายึดติดในความหวาน ยึดมั่นถือมั่นว่าชีวิตรักจะต้องหวานดังใจเราตลอดไป

5). ทนทุกข์ระทมขมขื่น

เมื่อเราไม่ได้เสพอย่างที่กิเลสต้องการ ความทุกข์ก็จะเริ่มเกิดขึ้น เมื่อไม่สามารถระบายออกหรือหามาเสพเพิ่มได้ก็จะเริ่มอึดอัด กดดัน ทรมาน ยิ่งต้องอดทนเป็นแบกความทุกข์นั้นเป็นเวลานานก็ยิ่งทุกข์ระทมขมขื่น ความทุกข์เหล่านี้เป็นความทุกข์แบบโลกๆ เป็นแบบชาวบ้าน ไม่ใช่ทุกข์ที่ทำให้เห็นธรรมได้ชัดเจนเท่าไรนัก เพราะเป็นทุกข์จากความอยากเสพแล้วไม่สามารถหามาเสพได้

หากใครฝืนอดทนทุกข์แบบนี้เพราะหวังพบกับความสุขนั้นก็ต้องบอกเลยว่ายาก เพราะการทนทุกข์เพื่อบรรลุธรรมจะเป็นอีกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ใจเราอยากสมสู่คู่ครอง แต่เราได้ศึกษามาแล้วว่าการเว้นจากการสมสู่ เป็นศีลที่เป็นบุญเป็นกุศลมาก แม้คู่ครองจะพร้อมสนองกิเลสของเรา แต่เราก็จะไม่ตามใจกิเลสของเรา ยอมทนทุกข์เพื่อเป็นบุญกุศล แบบนี้ต่างหากคือการเห็นทุกข์จึงเห็นธรรมที่แท้จริง คือการมีให้เสพแต่ไม่ไปเสพด้วยกำแพงศีลธรรม

แต่การทนทุกข์โดยที่ไม่เห็นกิเลส ไม่เข้าใจกิเลส ไม่เข้าใจว่าตัวเองทุกข์เพราะมีความอยาก เพราะตัวเองไม่ยอมรับความจริงว่าในปัจจุบันรักนั้นไม่ได้หวานเหมือนก่อนแล้วเราจึงทุกข์ พอไม่เห็นกิเลสแล้วเราก็มักจะไปโทษคู่ครองหรือคนอื่นว่าสนองกิเลสเราไม่ได้เหมือนเดิม ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนแต่งงาน ไม่มั่นคง ไม่เสมอต้นเสมอปลาย หลอกลวง ฯลฯ

ความทุกข์แบบนี้คือการสะสมกิเลสเข้าไปอีก เพิ่มโลภ โกรธ หลงเข้าไปอีก ห่างไกลธรรมยิ่งขึ้นอีก จึงทำให้จิตใจวนเวียนอยู่กับความทุกข์ระทมขมขื่น หาทางออกก็ไม่ได้ มองไปทางไหนก็มีแต่ทุกข์ เพราะเหตุแห่งทุกข์ไม่ดับ ทุกข์จึงเกิดอยู่นั่นเอง

6). หนีอะไรก็หนีได้ แต่หนีกรรมไม่พ้น

เมื่อต้องฝืนทนกล้ำกลืนกับชีวิตรักที่ขาดความหวาน โดยที่ไม่เข้าใจว่าทุกข์เหล่านั้นเกิดจากปริมาณความอยากของตัวเองที่เกินความเป็นจริง ก็จะแสวงหาทางที่ผิด นั่นคือการหนีออกจากคู่ครอง

การหนีหรือตีจากนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งวิธีเลิกกันตรงๆหรือวิธีกดดันให้อีกฝ่ายเลิก ต่างก็เป็นวิธีที่เห็นได้ทั่วไป แต่ไม่ว่าวิธีเหล่านั้นจะเป็นวิธีที่ทำให้การเลิกราเป็นไปด้วยดีหรือสวยหรูแค่ไหน ก็เป็นหนทางที่ไม่เป็นผลดีทั้งนั้น

เราเองเป็นคนต้อนรับเขาเข้ามาในชีวิตเอง วันนั้นเราก็ตัดสินใจเอง ไม่ว่าจะแฟนหรือสามีภรรยา เราดูแล เอาใจ บำรุงบำเรอกิเลสเขาเอง แต่พอมาวันนี้เขาเริ่มจะไม่หวานสมใจเรา เราขัดใจเรา ทำร้ายจิตใจเรา เราก็จะไล่เขาออกจากชีวิต มันแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ได้นะ เพราะวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้จะกลับกลายเป็นผลร้ายเพิ่มกรรมชั่วในชีวิตเข้าไปอีก

ผลกรรม อันคือความทุกข์ใจจากความไม่หวานสมดังใจนี่แหละคือสิ่งที่เราต้องรับ เพราะเราหลงไปรับเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเอง หลงไปรับเป็นแฟน หลงไปแต่งงานเอง ก็ต้องรับกรรมในส่วนนี้ทั้งหมด จะหนีไม่ได้ กล้าทำก็ต้องกล้ารับ ความสุขความทุกข์หากยังยินดีกับทางโลกอยู่ก็ต้องรับมันอย่างนี้เรื่อยไป

ทีนี้พอเราจะไปทิ้งเขา มันก็สร้างกรรมใหม่ให้เราอีกคือ “เราทิ้งเขา” ซึ่งอาจจะส่งผลให้ในวันใดวันหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่งในอนาคตข้างหน้า เราอาจจะต้องถูกทิ้งทั้งที่ยังรักยังหวงแหนอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งในมุมนี้หลายคนก็คงเคยเจอว่าทำไม ฉันเองก็ดีแสนดี แต่เขายังมาทิ้งฉันได้ลงคอ กรรมมันจะเป็นในลักษณะนี้ มันจะมากระแทกให้เห็นถึงสิ่งที่เราเคยไปทำเลวร้ายมา ซึ่งจะเหมือนกับที่ทำก็ได้ จะต่างไปจากที่ทำก็ได้แล้วแต่เหตุปัจจัยที่เหมาะที่ควร

ดังนั้นเราก็ควรจะก้มหน้ารับกรรมที่เราก่อไว้ต่อไป อย่าไปเพิ่มกรรมชั่วขึ้นมาใหม่ เพราะของเก่าที่ทำไว้ก็ทำให้ทุกข์ระทมขมขื่นสุดจะทนอยู่แล้ว แต่นั่นแหละคือผลกรรมแห่งความอยากมีคู่ครอง เป็นกรรมที่ทำในชาตินี้และได้ผลในชาตินี้ เร็วทันใจไม่ต้องรอชาติหน้า

7). ขยาดยาขม

ถึงแม้ว่าหลายคนอาจจะตัดสินใจเลิกรา หรือมีโอกาสให้เลิกราด้วยเหตุอันควร เช่นคู่ครองไปคบชู้ ไม่ซื่อสัตย์ หรือกระทำเหตุที่ผิดศีลธรรมในครอบครัว ก็เป็นโอกาสที่เราจะสามารถเลิกราได้โดยไม่เกิดกรรมชั่วแต่อย่างใด ซึ่งโดยรวมจะเป็นผลดีเสียมากกว่า

กล่าวคือหากคู่ครองผิดศีล คนผิดศีลก็เป็นคนไม่ดี โดยเฉพาะศีลข้อสาม ในฐานของคนทั่วไปรับรู้กันดีว่าถ้าต่ำกว่าศีล ๕ ระดับนี้ก็ถือว่าเป็นคนไม่เต็มคน หรือเรียกได้ว่าตกต่ำไปถึงภูมิของเดรัจฉาน เพราะโดยสามัญสำนึกแล้วคนเราไม่ควรจะต่ำกว่าศีล ๕ จึงจะสามารถดำรงชีวิตได้เป็นสุข ในกรณีที่ผิดศีลข้อ ๓ นั้นจะค่อนข้างเป็นกรรมที่รุนแรงเพราะทำร้ายใจคู่ครอง ทำลายความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้คู่ครองเกิดทุกข์มาก ดังนั้นจึงเป็นคนชั่ว

เมื่อเป็นคนชั่วเราก็ไม่ควรให้เขามาใกล้เรามาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมงคล ๓๘ ในข้อแรกว่าด้วยการไม่คบคนพาล เมื่อเราพบว่าคู่ครองของเราเป็นคนพาล เราจึงมีสิทธิ์ที่จะเลิกราอย่างถูกต้องได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

แต่ไม่ว่าเราจะเลิกรากับคนรักด้วยสาเหตุที่ว่าเขาไม่หวานเหมือนก่อนหรือเขาทำผิดต่อความรักก็ตามแต่ เราอาจจะมีอาการขยาดความรักติดมาด้วย เราจะมองความรักในมุมติดลบ ระวังตัว ขลาดกลัว ระแวง ซึ่งเป็นลักษณะของอาการผลักไสความรัก เป็นความยึดมั่นถือมั่นในอีกมุมหนึ่ง

ซึ่งความขยาดนี้เองก็ยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ เพราะแท้จริงแล้วเราไม่ได้เกลียดความรัก แต่เราเกลียดที่ความรักไม่เป็นดังใจเราหมาย เมื่อเราไปขยาดความรักแล้วเข้าใจว่าตนเองไม่อยากมีรักเพราะรักทำให้เป็นทุกข์เพราะไม่ได้เสพสมใจจึงเป็นความเข้าใจที่ยังผิดเพี้ยนอยู่

เพราะความเข้าใจนี้เอง ยังไม่ได้ล้างกิเลสในฝั่งของการดูด หรือความสุขจากความรัก แต่เอาการเกลียดความรักหรือเอาอัตตามากลบไว้ ลักษณะจะเหมือนคนไม่ต้องการความรัก เหมือนไม่สนใจ เหมือนไม่แคร์ แต่แท้ที่จริงมันอยากอยู่ในใจลึกๆ แล้วมันจะทรมานเพราะความอยากนี่แหละ

แถมความขยาดนี่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่พลาดไปมีรักอีกครั้งนะ แต่คนที่ขยาดจะตั้งสเปคไว้สูงขึ้น เช่นคบกับคนเก่าทั้งจนและขี้เกียจเลยเลิกกัน สุดท้ายก็ตั้งเป้าว่าคนใหม่จะต้องรวยและขยัน เป้าใหม่นี่มันกิเลสเพิ่มขึ้นมานะ กับคนแรกเราไม่อยากเสพเขาขนาดนี้ แต่กับคนใหม่นี่เราอยากเสพทั้งลาภและยศของเขาด้วย พอกิเลสมันเพิ่มทุกข์มันก็จะเพิ่ม มันอันตรายตรงนี้นี่แหละ

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งเช่น แฟนเก่ามีนิสัยเจ้าชู้ไม่เอาใจ จึงทำให้เข็ดขยาดในการมีรัก ตั้งกำแพงขวางกั้นไว้ไม่ให้คนเข้ามารัก วันหนึ่งมีพระเอกขี่ม้าขาว เต็มไปด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งรวย ทั้งหล่อ ทั้งเอาใจเก่ง เรื่องทางลบก็ไม่มี ด้วยคุณสมบัติเหล่านั้นจึงผ่านกำแพงที่ตั้งไว้ได้อย่างง่ายดาย เหมือนพระเอกขี่ม้าขาวที่กางปีกบินข้ามกำแพงเข้ามาในใจแบบงงๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าจริงๆแล้วเขาข้ามมาหรือเรายกกำแพงออกให้เขาเข้ามา แต่สุดท้ายก็มักจะเจอหนักกว่าเดิมเพราะหนีกรรมเก่ามา เจอคนใหม่ก็มักร้ายกว่าเก่า ซ้ำร้ายยังอาจจะเจอตอนที่อยู่ในสภาพที่แต่งงานมีลูกแล้ว พระเอกค่อยๆเปลี่ยนร่างเป็นผู้ร้าย เจ้าชู้ เอาแต่ใจ โมโหร้าย และอีกมากมายแล้วแต่กรรมของเราจะบันดาล

8). หวานเป็นลม ขมเป็นยา

สิ่งที่เราควรจะทำเมื่อรักที่หวานเปลี่ยนเป็นขมนั้นไม่ใช่การจมอยู่กับความทุกข์ แต่เป็นการเพ่งมองไปที่ทุกข์ เพื่อหาเหตุแห่งทุกข์ หาหนทางดับทุกข์ ด้วยวิถีทางแห่งการดับทุกข์

เพราะแท้จริงแล้วความขมหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของกรรมที่เราทำมาไม่ว่าจะเป็นกรรมที่เกิดจากกิเลสในชาตินี้หรือชาติก่อนๆ คู่ครองของเราคือคนที่มีหนี้บาปหนี้บุญกันมา คือคนที่จะต้องมาชดใช้กรรม การตัดสินใจเลิกราเขาโดยไม่มีเหตุร้ายแรงนั้นไม่ใช่การหนีกรรมที่ถูกที่ควรแต่การจะพ้นจากกรรมที่เป็นหนี้กันอยู่ก็คือการทำดีต่อกันให้มาก

เพราะเราเป็นหนี้เขา เราจึงต้องจ่ายหนี้ แต่หนี้ตรงนี้ไม่ใช่ตัวเงินแต่เป็นกุศล ซึ่งเป็นนามธรรม ส่วนเราจะทำสิ่งใดที่เป็นรูปธรรมเพื่อการใช้หนี้ก็ได้ เช่น การดูแลเอาใจใส่เขา หรือดูแลทุกคนที่มีส่วนในทุกข์ของเรา ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ การพาเขาศึกษาธรรม การพาเขาทำดี ไม่พากันสนองกิเลส พากันลดกิเลส จนถึงขั้นพากันล้างกิเลสเลยก็ยิ่งดี

กรรมชั่วทั้งหมดที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นเพราะกิเลสของเรา หากเราล้างกิเลสได้ก็จะเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นความดีที่ดีที่สุด เพราะการล้างกิเลสนั้นหมายถึงการตัดภพ ตัดชาติของความอยากที่จะเกิดอีกต่อไปในอนาคต เช่นเราทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ มากินมังสวิรัติ เราก็จะไม่ชวนเขาไปกินเนื้อย่าง ไปแสวงหาเมนูเนื้อสัตว์ที่อร่อย นั่นหมายถึงเราไม่พาเขาสะสมกิเลสเพิ่ม ซึ่งหากเราทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ลดขนม ลดกาแฟ ลดการแต่งตัว ลดการแต่งหน้า ลดการท่องเที่ยว ลดการสะสม ฯลฯ เราก็จะพ้นจากกรรมกิเลสไปเรื่อยๆ

เมื่อเราทำดีไปเรื่อยๆ และจนกระทั่งกรรมชั่วในเรื่องนั้นๆ ได้ถูกใช้จนหมด เมื่อกุศลมากกว่าอกุศล ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เราหลุดจากความทุกข์ระทมขมขื่นนั้นได้ เช่น คู่ครองเป็นคนดีขึ้น ,คู่ครองตายจากไป ,คู่ครองหนีไปมีคนใหม่ หรือเหตุการณ์ใดๆก็ตามที่ทำให้เราไม่ต้องทนทุกข์อยู่เช่นเคย

การล้างกิเลสที่ดีที่สุดนั้นก็คือการล้างความยึดมั่นถือมั่นในความรัก ในความคาดหวังว่ารักจะต้องหอมหวานสวยงามตลอดไปซึ่งเป็นเหตุหนึ่งของความทุกข์ที่เกิดขึ้นเมื่อรักนั้นเปลี่ยนแปลง หากเราสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส คือใช้โอกาสแห่งทุกข์นี้พิจารณาความยึดมั่นถือมั่นของเราจนกระทั่งทำลายกิเลสเหล่านั้นได้ ก็จะไม่เกิดทุกข์อีก แต่จะยังคงเหลือทุกข์ที่ยังต้องแบกภาระไว้ เช่นดูแลคู่ครอง ดูแลพ่อแม่ของคู่ครอง ดูแลลูก ซึ่งกรรมเหล่านี้ก็เป็นผลจากกิเลสที่เรายังต้องแบกรับไว้เช่นกัน

9). ไม่ติดหวานก็ไม่ต้องขม

ความสุขความทุกข์ในความรักนั้นก็เป็นสิ่งที่วนเวียนเกิดขึ้นสลับกันไปมา ตราบใดที่เรายังคงหลงอยู่ในโลกธรรม หลงสุขอยู่ในโลกดังที่เห็นและเป็นอยู่ เราจะต้องพบกับความหวานและความขม สลับสับเปลี่ยนวนไปมาไม่รู้จบ

หากเรายังมีความต้องการความหวาน ยังติดหวาน หรือยังต้องการความรัก เราก็จะแสวงหาความรักของเราต่อไปเรื่อยๆ แม้ไม่ได้เสพสมใจก็จะหาต่อไป แม้ว่าจะแก่และตายไปก็จะสร้างร่างใหม่ขึ้นมาเพื่อหาความรักมาเสพอยู่เหมือนเดิม เพราะเราหลงติดสุขอยู่ในความหวานเหล่านั้น เราจึงต้องเกิดมาเสพความหวานนั้นอย่างไม่มีวันจบสิ้น

ซึ่งดังที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าความหวานนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวที่เราจะได้รับ เราต้องได้รับรักที่ขมขื่นด้วย เรื่องโลกมันก็เป็นแบบนี้ กรรมมันก็ส่งผลให้สุขให้ทุกข์อยู่แบบนี้ หากเราไม่หลงติดสุขอยู่ในรสสุขลวงเหล่านั้นเราก็ไม่ต้องรับทุกข์ที่จะเกิดขึ้น

เพราะไม่ติดรสสุขในกิเลส ก็เลยเห็นแต่ทุกข์เมื่อความหวานไม่มีค่าให้หลงอีกต่อไป ไม่มีรสอะไรอีกต่อไป สิ่งที่เหลือคือทุกข์อย่างเดียว ทุกข์จริงๆไม่มีสุขปนเลย “พอล้างกิเลสได้จริงจะเห็นความจริงตามความเป็นจริง” ว่าการครองคู่นั้นไม่มีสุขใดๆอยู่เลย แต่ถ้าเรายังมีกิเลสอยู่ก็จะเห็นสุขลวงนั้นเป็นสุขจริง จึงเผลอลำเอียงเข้าข้างกิเลสไป หลงไปตามที่กิเลสล่อ มองไม่เห็นความจริงตามความเป็นจริง

เราไม่รับทั้งหวานและขม ไม่เอาทั้งสุขและทุกข์ ด้วยภาษานั้นเราอาจจะเข้าใจว่ามันไม่สุข แต่เมื่อเราไม่ติดกับโลกธรรม ไม่ติดอยู่ในสุขและทุกข์ เราจะได้สุขที่เหนือกว่า สุขกว่า สุขตลอดเวลา สุขเรียบๆ สุขเบาๆ สุขสบายๆ สุขจากการไม่เสพ เพราะเห็นทุกข์ โทษ ภัยผลเสียที่เกิดขึ้นจากกรรมและเห็นผลของกรรมอย่างชัดแจ้ง จึงรู้ชัดเจนในใจว่า ไม่เสพนี่แหละสุขที่สุดแล้ว

แต่สุขจากการไม่เสพการครองคู่นั้นทำได้ยากยิ่ง เป็นความพยายามที่ทวนกระแสโลกอย่างรุนแรง ในขณะที่คนพากันมีความรัก มีหนังรัก มีเพลงรัก มีภาพคู่รัก มีงานแต่งงาน และสารพัดข้อดีของการมีคู่รักตลอดจนการมีครอบครัว มีช้อมูลมากมายประดังเข้ามาเสริมพลังกิเลสของเราอยู่เสมอ

เราจะทนได้อย่างไร เราจะผ่านมันได้อย่างไร เราจะมีพลังพิจารณาโทษของมันได้อย่างไร ในเมื่อรสหวานแห่งความรักนั้นยากจะต้านทาน มีผู้คนมากมายใฝ่ฝันและหลงกันไปเป็นเรื่องปกติ เราจะสามารถเป็นปลาที่ว่ายน้ำทวนกระแสแห่งกิเลสที่รุนแรงแบบนี้ไหวไหม หรือเราจะยอมลอยตามกิเลสไปอีกครั้งหนึ่ง

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร” ความเพียรนี้เองคือคุณสมบัติที่จะพาเราว่ายทวนกระแสของกิเลสไปได้ เพียรลดกิเลส ลดความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องรัก ในเรื่องคู่ครอง พิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าทั้งหมดที่เราหลงนั้นมีทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียอย่างไร การออกจากสิ่งเหล่านั้นจะมีประโยชน์อย่างไร เพียรพิจารณาเช่นนี้ซ้ำไปซ้ำมา วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า ด้วยความเพียรลดกิเลสอย่างไม่ลดละนี้เอง ที่จะพาเราข้ามกิเลสนี้ไปได้

– – – – – – – – – – – – – – –

28.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รวยเท่ากับซวย #2

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,923 views 0

รวยเท่ากับซวย #2

รวยเท่ากับซวย #2

…อาชีพที่สร้างความร่ำรวย แต่นำมาซึ่งความซวย

การได้มาซึ่งความร่ำรวย ส่วนหนึ่งนั้นก็มาจากการประกอบอาชีพ ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้มีอาชีพหลากหลายให้เราเลือกทำเพื่อให้เกิดรายได้ แต่ควรจะเลือกอาชีพไหนเพราะอะไร เรามาศึกษาปัจจัยที่เรียกกันว่าบาป บุญ กุศล อกุศล กันก่อน

บุญ นั้นคือเครื่องชำระกิเลส การลดกิเลส อาชีพที่เป็นบุญก็คืออาชีพที่พาลดกิเลส หรือไม่เพิ่มกิเลส

บาป นั้นคือการสะสมกิเลส การสนองกิเลส การตามใจกิเลส อาชีพที่เป็นบาป ก็คืออาชีพที่พาให้ตนและผู้อื่นกิเลสเพิ่ม

กุศล นั้นคือความดี คือสิ่งที่ดี การกระทำความดีก็เรียกว่าสร้างกุศลกรรม เป็นความดีที่เก็บสะสมไว้ในจิตของเรารอวันที่จะส่งผล

อกุศล นั้นคือความชั่ว เมื่อทำชั่วก็ได้รับผลของการทำชั่ว หรือที่เรียกว่าอกุศลกรรม เก็บสะสมไว้ในจิตของเรา รอวันที่จะส่งผล

เมื่อเราเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลต่อชีวิตสี่อย่างนี้แล้ว จึงนำเอาปัจจัยเหล่านี้มาวิเคราะห์รวมกับงานหรืออาชีพที่เราจะเลือกทำ รายได้ ความมั่นคง ชื่อเสียง สวัสดิการ การเดินทาง การพัฒนา ฯลฯ เพื่อให้เห็นถึงกำไรสุทธิที่มากกว่าแค่จำนวนเงิน ซึ่งเราอาจจะพบว่าแม้จะรวยแต่ก็คงจะซวยไม่ใช่น้อยสำหรับบางอาชีพ

กว่าจะถึงความรวยที่เราใฝ่ฝัน การประกอบอาชีพเป็นเหมือนกับทางเดินให้ถึงฝันนั้น แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเดินทางผ่านเส้นทางบาป บุญ กุศล อกุศล อย่างไรบ้าง เพราะเราสามารถเห็นได้เพียงผลตอบแทน สวัสดิการ เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า เห็นแต่สิ่งที่เป็นรูปธรรม แต่เรากลับไม่สามารถเห็นสิ่งที่เป็นนามธรรมได้เลย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีทางรู้ เพราะอย่างน้อยพระพุทธเจ้าท่านก็ได้บอกข้อธรรมะเหล่านี้ ทิ้งไว้ให้เราแล้วเพื่อเป็นเครื่องมือให้เราแยกแยะดีชั่ว

ในบทนี้เราจะมาไขอาชีพที่เป็นสัมมาอาชีวะ(การเลี้ยงชีพที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์) โดยใช้การบอกว่าอาชีพใดที่ผิด(มิจฉาอาชีวะ) รวมทั้งมิจฉาวณิชชา(การค้าขายที่ผิด) และงานที่เกี่ยวกับอบายมุข

1).มิจฉาอาชีวะ

มิจฉาอาชีวะ หมายถึงการทำมาหากินที่ผิด ผิดอย่างไร? คือผิดไปจากทางพ้นทุกข์ นั่นหมายถึงยิ่งทำก็จะยิ่งห่างไกลทางพ้นทุกข์อย่างพุทธไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงเส้นทางในโลกียะ ทางที่จะจำให้วนอยู่ในโลกเท่านั้น มิจฉาอาชีวะแม้จะดูดีเพียงไร ได้เงินมาเท่าไหร่ มีคนให้เกียรติให้คุณค่าขนาดไหน มีคนนับหน้าถือตามากเท่าไร หรือแม้จะได้รับความสุขเท่าไหร่ มันก็แค่นั้นเอง

1.1).การโกง (กุหนา) การประกอบอาชีพใดๆนั้นควรกระทำโดยสุจริตแม้อาชีพนั้นจะไม่ได้เป็นอาชีพที่คดโกงโดยตรง แต่ก็อาจจะมีการโกงอยู่ในการประกอบอาชีพทั่วไปก็ได้เช่น แม่ค้าที่โกงตราชั่ง คนงานก่อสร้างที่อู้งานเพื่อโกงเอาค่าแรง หรือข้าราชการที่โกงเงินใต้โต๊ะ การโกงมีอยู่ในทุกสาขาอาชีพ เป็นความผิดขั้นหยาบที่ควรละเสีย

1.2).การล่อลวง (ลปนา) การทำให้คนหลงใหลในสิ่งที่ไม่ควรหลง เช่น การพูดให้เคลิ้มกับสรรพคุณที่เกินจริงแบบชาวบ้านจะเห็นได้จากการโฆษณาขายยาดีตามงานวัด ถ้าแบบเห็นทั่วไปก็คืองานขายตรง ขายคอร์สลดน้ำหนัก ดูแลสุขภาพ ฯลฯ ที่ต้องพูดล่อลวงให้เขาเห็นประโยชน์ในสินค้าหรือบริการของเรา ทั้งที่มีวิถีอื่นอีกมากมายที่ดีกว่าของเรา แต่เราก็พยายามจะพูดล่อลวงให้เขามาใช้สินค้าของเรา ใช้บริการกับเรา

1.3).การตลบตะแลง (เนมิตตกตา) การทำให้คนหลงเชื่อไปในครั้งแรกว่าดี แล้วตอนหลังมากลับคำ เห็นได้บ่อยในอาชีพนักการเมือง ตอนหาเสียงก็พูดไว้ซะดิบดี แต่พอได้รับเลือกจริงมักเป็นคนละอย่าง นักการเมืองคือตัวอย่างของนักตลบตะแลง ตอนเช้าพูดอย่าง ตอนเย็นพูดอีกอย่าง ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของพวกตน และผลประโยชน์ของตนเอง

1.4).การยอมมอบตนในทางที่ผิด (นิปเปสิกตา) จะเป็นลักษณะของลูกน้อง ลูกจ้าง ที่ตนเองนั้นก็ไม่ได้ทำชั่วอะไร แต่ไปรับใช้คนชั่วเช่น ขับรถให้เจ้านายที่ขายยาเสพติด ตัวเองไม่ได้ขายนะแต่ขับรถให้อำนวยความสะดวกให้คนชั่ว หรือทหารตำรวจที่สังกัดอยู่ในหน่วยที่ผู้บัญชาการคิดชั่วพูดชั่วทำชั่ว ก็มักจะสั่งการให้ไปทำเรื่องชั่วๆ นี่เป็นลักษณะการยอมให้ตัวเองเป็นลูกน้องคนผิด

1.5). การเอาลาภต่อลาภ (ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา) ลักษณะของการเอาลาภแลกลาภที่เห็นได้ชัดเจนและหยาบคือการเล่นพนัน เล่นหวย เล่นหุ้น คือการเอาลาภที่มีอยู่นั้นไปลงทุน ไปพัฒนาให้มันงอกเงยขึ้นมาซึ่งการพนัน หวย หุ้นนี้ก็อยู่ในขีดของอบายมุข แต่ในระดับที่ละเอียดลงมาก็คือการเอาความสามารถที่ตนมีไปแลกเงิน เช่นเราพยายามไปเรียนรู้ทักษะอาชีพสูงๆ เช่นแพทย์เฉพาะทาง เพื่อที่จะทำให้รายได้ของตัวเองสูงขึ้น ที่มันไม่ดีก็เพราะมีความโลภเป็นตัวผลักดันนี่เอง

2). มิจฉาวณิชชา

มิจฉาวณิชชา คือการค้าขายที่ผิด ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ แถมยังเป็นทางเพิ่มบาปและอกุศล ชาวพุทธไม่ควรกระทำ เพราะหากกระทำแล้วจะไม่เป็นไปในทางพุทธ เพราะไม่ใช่การค้าขายที่พาไปสู่การพ้นทุกข์ การค้าที่ผิดเหล่านี้แม้ฉากหน้าจะดูเหมือนว่าทำให้เรารวย แต่ฉากหลักนั้นสะสมบาปอกุศลไว้มากมายรอวันที่จะส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของเราในวันใดวันหนึ่งนั่นเอง

2.1). ค้าขายศาสตรา (สัตถวณิชชา) หมายถึงการค้าขายอาวุธ อาวุธนั้นคือวัตถุเพื่อทำร้ายกันแม้จะเป็นการขายมีดเหมือนกันแต่มีดแบบหนึ่งออกแบบเพื่อตัดต้นไม้แต่อีกแบบหนึ่งออกแบบไว้เพื่อให้ทำร้าย มีดตัดต้นไม้จึงไม่เป็นการค้าที่ผิด แต่มีดที่สร้างเพื่อไว้ทำร้ายนั้นผิดในข้อนี้อย่างชัดเจน ยังรวมไปถึง ปืน ดาบ ฯลฯ ที่ใช้เป็นอาวุธทำร้ายกันในสมัยนี้ และรวมไปถึงความรู้ด้วย เพราะความรู้นี้เองคืออาวุธชั้นดีที่ใช้กันในระดับสงครามเศรษฐกิจ การค้าขายความรู้จึงเป็นเรื่องไม่ควร และความรู้ในระดับธรรมะ หากผู้ใดเอาธรรมะมาค้าขายหากำไร ลาภ ยศ ชื่อเสียงนั่นคือทางแห่งนรกชัดเจน

2.2). ค้าขายสัตว์เป็น (สัตตวณิชชา) ถ้าไม่นับรวมสัตว์ที่มีกรรมในระบบอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทั่วไปซึ่งทั้งหมดนั้นก็ผิดอยู่แล้ว การซื้อขายสัตว์ในสังคมปัจจุบันก็เป็นการค้าที่ผิด ไม่ว่าเราจะขายหมา ขายแมว ขายเต่า ขายปลา ก็เป็นการค้าที่ผิด การค้าชีวิต การตีราคาชีวิตอื่น การถือสิทธิ์ครอบครองในชีวิตอื่นไม่ใช่วิถีที่เหมาะสมของชาวพุทธเลย การซื้อขายชีวิตสัตว์นั้นเขาไม่ได้ยินยอมกับเราด้วย เพราะเราใช้อำนาจเงินนำเขามา บังคับเขา กักขังเขา โดยใช้คำว่าเลี้ยงมารั้งเขาเอาไว้ในโลกของเรา ทั้งๆที่เขาควรจะมีกรรมของเขา ควรจะเกิดและตายในแบบธรรมชาติของเขา

2.3). ค้าขายเนื้อสัตว์ (มังสวณิชชา) ข้อนี้เองที่ทำให้การกินเนื้อสัตว์นั้นไม่ใช่เรื่องปกติในพุทธ เพราะว่าการค้าขายเนื้อสัตว์นั้นผิดทางปฏิบัติของพุทธ เมื่อมีการขายเนื้อก็มีคนอยากซื้อเนื้อ พอมีความอยากซื้อมากคนก็ยินดีจ่ายมาก แล้วก็จะมีคนพยายามหาเนื้อมาขายเพื่อให้ได้เงิน เกิดเป็นการค้าขายเนื้อสัตว์ กลายเป็นอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ซึ่งก็ผิดจากทางพุทธทั้งยวง ถ้าแจกฟรีนั้นก็ไม่ผิด และเนื้อสัตว์ที่นำมาแจกฟรีแม้ว่าเราจะซื้อมานั้นต้องไม่ใช่เนื้อสัตว์ที่ฆ่ามาเพราะจะเป็นเนื้อบาป บาปอย่างไร บาปเพราะอยากได้เงินคนอื่นก็เลยต้องพรากชีวิตสัตว์ที่ไม่รู้เรื่องด้วย เพื่อเอาเนื้อไปขายได้เงินมาใช้เพื่อบำเรอกิเลสตัวเอง มันบาปตรงนี้ มันสนองกิเลสตรงนี้ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่เบียดเบียนถ้าเริ่มต้นก็ผิดตั้งแต่ค้าขายเนื้อสัตว์ ก็ไม่เรียกว่าพุทธกันแล้ว คนที่ซื้อเนื้อสัตว์ไปประกอบอาหารใส่บาตรก็ผิดทางพุทธ คนที่ซื้ออาหารที่มีเนื้อสัตว์ไปถวายพระก็ผิดทางพุทธ เพราะฉะนั้นจะให้เกิดบุญก็ไม่มีทางเป็นไปได้ คงจะเป็นได้แค่กุศลเล็กน้อยกับบาปและอกุศลที่มาก เพราะทำบุญนอกขอบเขตพุทธ ไม่เป็นไปในทางของพุทธแล้วจะยังเกิดบุญกุศลในแบบของพุทธได้อย่างไร

2.4). ค้าขายของมึนเมา (มัชชวณิชชา) ของมึนเมาในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่เหล้า เบียร์ บุหรี่ ยาเสพติด แต่หมายรวมไปถึงของใดๆก็ตามที่ทำให้จิตใจของคนหลงมัวเมาไปในสิ่งนั้น เช่นของสะสมต่างๆ แฟชั่น อาหาร หลายสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นในชีวิตแต่ทำให้ชีวิตมัวเมาไปกับการหลงเสพหลงติดหลงยึดกับมัน ซึ่งก็อยู่ในลักษณะของการมัวเมาสังคม มัวเมาลูกค้า ทำให้คนหลงว่าของตนนั้นดี ของตนนั้นน่าเสพ ผิดมิจฉาอาชีวะซ้อนเข้าไปอีกคือการล่อลวง

2.5). ค้าขายยาพิษ (วิสวณิชชา) การขายยารักษาโรคกับยาพิษนั้นมีเพียงเส้นศีลธรรมบางๆกั้นอยู่ ถ้ายานั้นกินเข้าไปแล้วไม่ได้รักษาโรคแต่กดโรคไว้ไม่ให้แสดงอาการทั้งยังไปทำลายอวัยวะส่วนอื่น นั่นก็คือยาพิษ ส่วนยาใดรักษาโรคได้จริงแล้วไม่มีผลร้ายอื่นก็พ้นผิดในข้อนี้ไป การค้าขายยาบำรุงอื่นๆยังเสี่ยงต่อการทำบาปด้วยเช่น การขายครีมบำรุงที่อวดสรรพคุณว่าทำให้ขาว เต่งตึงนั้น จะเข้าไปในลักษณะของยาพิษเพราะไม่ได้เอาสิ่งจำเป็นเข้าไปในร่างกาย แต่เอาไปเพราะมีความอยากสวยเป็นตัวผลักดัน ใช้การล่อลวงว่าจะขาวจะสวย ทำให้คนซื้อนำสารเคมีเข้าสู่ร่างกายโดยไม่จำเป็น เป็นการขายยาพิษไปพร้อมๆกับการล่อลวงผู้อื่นให้เพิ่มกิเลสในกามรูป เป็นบาปบริสุทธิ์แท้ๆ ไม่มีกุศลหรือบุญปนแม้น้อย แม้จะมีผู้ขายผลิตภัณฑ์เสริมความงามหรือลดความอ้วนจำนวนมากที่ดูมั่งคั่ง แต่นั่นก็เป็นความมั่งคั่งที่สะสมบาปและอกุศลไว้มากมายมากกว่าจำนวนเงินที่เห็นนัก

3). อบายมุข

อบายมุข๖ นั้นไม่ได้หมายถึงการประกอบอาชีพโดยตรง แต่เราสามารถนำมาอธิบายร่วมกับอาชีพได้ว่า อาชีพที่เราทำนั้นมีส่วนไปเกี่ยวข้องกับอาชีพที่ผิดและการค้าขายที่ผิดอย่างไร มีส่วนเสริมในอบายมุขอย่างไร ขึ้นชื่อว่าอบายมุขนั้นก็เป็นบาปที่หยาบและต่ำ ถ้าตามพระไตรปิฏกนั้นก็ต่ำกว่าคน เป็นดินแดนหรือเขตแดนของผู้ที่จะไปอบายภูมิ เรียกได้ว่าจองตั๋วรอกันก่อนจะไปภพหน้ากันเลยทีเดียว ใครอยากเกิดในภพต่ำๆเช่น เปรต เดรัจฉาน อสูรกาย สัตว์นรกอะไรพวกนี้ก็ให้วนเวียนอยู่ในอบายมุขมากๆ ก็จะได้เกิดในภพเหล่านั้นสมใจ แต่ถ้าใครไม่อยากเกิดในภพเหล่านั้นก็ให้ห่างออกมาจากกิจกรรมเหล่านี้เสีย

3.1). เสพของมึนเมาให้โทษ อาชีพที่ไปข้องเกี่ยวกับอบายมุขข้อนี้ก็จะไปเกี่ยวกับข้อค้าขายของมึนเมาหรือมัชชวณิชชาด้วย ใครที่ทำงานอยู่ในธุรกิจเหล่านี้ก็เหมือนมอบตนในทางที่ผิด ซึ่งจะไปติดมิจฉาอาชีวะด้วย นั่นก็คือผิดทั้งผู้ขาย ผู้ผลิตนั่นเอง

3.2). เที่ยวกลางคืน มีธุรกิจกลางคืนมากมาย กลางคืนนั้นเป็นเวลาที่ควรพักผ่อน แต่ในยุคปัจจุบันนี้ก็ยิ่งส่งเสริมให้ใช้เวลาเที่ยวในกลางคืนมากขึ้น มีผับ บาร์มากมายที่ส่งเสริมให้กินของมึนเมา ผิดซ้ำผิดซ้อนเข้าไปอีก เป็นทั้งอบายมุขและสถานที่อโคจร คือไม่ควรไปข้องแวะ คนที่ทำงานกลางคืนหรือสนับสนุนธุรกิจเที่ยวกลางคืนนั้นก็ติดมอบตนในทางผิด เพราะแม้ตัวเองจะไม่ได้ทำผิด เป็นลูกจ้างที่ขยัน ซื่อสัตว์แต่ก็ยังทำงานให้ธุรกิจที่ผิดไปจากพุทธ ก็ยังต้องรับส่วนของอกุศลวิบากอยู่ดี

3.3). เที่ยวดูการละเล่นกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมยุคนี้ไปแล้วกับการดูการละเล่น ในยุคนี้นั้นก็ปรับให้เห็นถึงการละเล่นในยุคนี้ เช่น ละคร หนัง ภาพยนตร์ กีฬา ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องเล่นๆทั้งนั้น ดูเพื่อความบันเทิง ไม่ดูก็ไม่เป็นไร เป็นกิจกรรมที่เป็นอบายมุขแท้ๆ เพราะพาให้หลงไปในกามทั้งหลายในระดับหยาบ แม้อาชีพนักแสดงเหล่านั้นจะแสดงอย่างจริงจัง มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ก็เป็นเพียงเรื่องเล่นๆอยู่ดี ไม่ใช่สาระของชีวิต ยกตัวอย่างเช่นฟุตบอล ถ้าคนไทยไม่สนใจดูฟุตบอลก็ไม่เห็นจะเกิดอะไรไม่ดีกับชีวิต มีเวลาเพิ่มเสียอีก เอาเวลาไปทำงานทำการ เอาไปพักผ่อนได้อีก แต่นี่เป็นเพราะเราติดอบายมุข ติดมันจนเป็นอัตตา เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว แล้วหลงว่ามันเป็นของจำเป็นในชีวิต ทั้งๆที่มันไม่จำเป็นและไม่มีสาระเลย

3.4). เล่นการพนัน การพนันในยุคนี้มีการพัฒนารูปแบบให้ดูเป็นสากลขึ้น เช่น เล่นหุ้น ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนสัญญาซื้อขายทองล่วงหน้า และการลงทุนอื่นๆ กิเลสมันพัฒนาขึ้นเลยทำให้การพนันมีรูปแบบซับซ้อนขึ้น ต่างจากชาวบ้านทั่วไป ที่เล่นไพ่ แทงสูงต่ำ ชนไก่ กัดปลา ฯลฯ ทั้งหมดก็มีลักษณะเดียวกันคือลงเงินไปก้อนหนึ่งแล้วหวังให้ได้เงินมากขึ้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลอะไรต่างๆนาๆ แต่ก็มีโอกาสที่เงินจะลดจากปัจจัยต่างๆนาๆเช่นกัน คนที่อยู่ในธุรกิจเหล่านี้ก็เหมือนกับคนกลาง หรือเจ้ามือ ส่งเสริมเรื่องอบายมุข เป็นบาปและอกุศลเน้นๆ หาบุญไม่เจอเลย หากุศลก็ไม่มี ได้เงินมาก็เป็นเงินบาป รวยเดี๋ยวก็ต้องรับซวยไปด้วย ทุกข์เน้นๆ

3.5). คบคนชั่วเป็นมิตร เช่นเรามีเพื่อนที่ทำมิจฉาอาชีวะ ทำมิจฉาวณิชชามากๆ เดี๋ยวก็พาเราให้ลำบาก ให้ลงนรกไปด้วย เพราะคนที่ประกอบอาชีพผิดๆนี่เขาจะมีอกุศลวิบากของเขาอยู่แล้ว แต่โดยหน้าตาทางสังคมเขาจะดูรวย ดูมั่นคง ดูภูมิฐาน เหมือนคนน่าคบทั่วๆไป แต่พอวิบากส่งผลเท่านั้นแหละ เหมือนฟ้าผ่าบางคนต้องหนีวิบากหนีหนี้ บ้านก็แทบไม่มีจะอยู่ พอเราคบเป็นเพื่อนก็ต้องมาพึ่งพาเรา พาเราซวยไปด้วยอีก

3.6). เกียจคร้านการงาน งานหรืออาชีพที่พาให้เราเกียจคร้านนี่ก็เป็นอบายมุขเช่นกัน เช่นเดียวกับนักลงทุนที่มองว่าตนเองนั้นจะสร้างรายได้จากการลงทุนระยะยาวแล้วเลิกทำงาน ว่าแล้วก็ใช้เวลาออกไปเสพกิเลส เสพอบายมุข เสพกาม เสพโลกธรรม ตามอัตตา นี่คือผลจากการที่เรามีอาชีพที่สร้างรายได้มากจนทำให้เรามีโอกาสไปเสริมกิเลส จะมีสักกี่คนที่มีรายได้จำนวนมาก แต่ก็ยังทำงานปกติ ไม่เสริมกิเลส เข้าวัดปฏิบัติธรรมเพื่อมรรคผล ไม่ใช่เพื่อทำความดีเอาหน้า

พอมีเงินแล้วไม่ทำงานก็คือกินกุศลเก่าที่สะสมมา ซึ่งมันก็สามารถมีวันหมดได้มันไม่ใช่แค่ให้เงินทำงานหาเงินเองอย่างที่เข้าใจ มันมีเบื้องหลังทางนามธรรมมากกว่านั้น ถ้ากุศลหมด วิบากบาปก็อาจจะลากเราเข้าสู่สภาพป่วยก็ได้ทำให้ต้องดึงเงินที่มีเกือบทั้งหมดมารักษาตัว ดังนั้นถ้าไม่ศึกษาบุญกุศลบาปอกุศลไว้ ก็จะเป็นนักลงทุนที่ประมาท มองการลงทุนไม่ขาด เพราะเรื่องทั้งหมดนี้เป็นการลงทุนข้ามภพข้ามชาติ ไม่ใช่แค่การลงทุนเพื่อใช้ในชีวิตนี้ชีวิตเดียว

….อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะรู้สึกว่ามีแต่งานที่เป็นบาปเต็มไปหมด และเราเองก็อาจจะอยู่ในส่วนของบาปนั้นๆด้วยก็ได้ วิธีจะออกจากมิจฉาอาชีวะ และมิจฉาวณิชชา รวมถึงอาชีพที่ไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขนั้น ก็ให้ทำดีให้มากๆ ค่อยๆเขยิบขาออก ทำงานไปก็หาช่องทางใหม่ไป อย่ารีบให้มันทรมานตัวเองเดี๋ยวจะไม่มีรายได้

การที่เราไปติดอยู่ในมิจฉาอาชีวะ มิจฉาวณิชชา และอบายมุขนั้นเกิดจากกรรมกิเลสที่เราทำมา เรากำลังรับกรรมส่วนนั้นอยู่ เราต้องรับทำหน้าที่บาปนั้นเพราะเราทำบาปนั้นมา สะสมบาปนั้นมา แม้ว่าเราจะรู้ตัวแล้วมันก็จะออกไม่ได้ง่ายๆ ทิ้งไม่ได้ง่ายๆ จะมีบางอย่างดึงรั้งให้เราอยู่กับงานนั้น ก็ให้เราทำความดีมากๆ ทำสิ่งที่เป็นกุศลมากๆ เช่นการล้างกิเลสนี่เองเป็นกุศลสูงสุดที่ใครคนหนึ่งจะทำได้

การที่เราต้องระวังในเรื่องอาชีพเหล่านี้เพราะจะได้ไม่ต้องมาซวยเพราะความรวย บางอาชีพสร้างรายได้มากมายมหาศาลแต่ความซวยที่รออยู่ข้างหน้าก็มหาศาลเช่นเดียวกัน หากใครอยากจะรวยแบบไม่ต้องซวยก็ต้องหลีกเลี่ยงการประกอบอาชีพที่ผิด การค้าขายที่ผิด และงานที่ไม่ไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขทั้งหลาย

– – – – – – – – – – – – – – –

13.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์