Tag: บททดสอบกาม

สมรภูมิคนดี

August 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,451 views 0

สมรภูมิคนดี

สมรภูมิคนดี : บททดสอบที่จะประดังเข้ามาเพื่อพิสูจน์ความดีที่แท้จริง (กรณีศึกษามังสวิรัติ)

คนทุกคนย่อมพยายามผลักดันตนเองไปสู่ความดีที่ตนเห็นว่าดีกันทุกคน เส้นทางแห่งความดีนั้นไม่ใช่เส้นทางที่เดินได้ง่าย มีบททดสอบมากมายที่จะเข้ามาพิสูจน์ว่า สิ่งที่เราเห็นว่าดีนั้นดีจริงแท้หรือไม่

ในบทความนี้จะยกตัวอย่างคนที่พยายามลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ พยายามที่จะทำตนเองให้ดีขึ้น ให้เบียดเบียนสัตว์อื่นน้อยลง เป็นทางสู่ความดีทางหนึ่งด้วยเนื้อหาต่างๆรวม 7 ข้อ

1). การทดสอบความตั้งมั่น(บททดสอบกาม – การเสพติดเนื้อสัตว์)

คนที่คิดจะพยายามทำดีในชีวิต เช่นในเรื่องของการลดเนื้อกินผัก จะเจอบททดสอบแรกที่ท้าทายความดี คือจะละเว้นเนื้อสัตว์ได้จริงไหม จะกินได้นานเท่าไหร่ ถ้าโดนยั่วยวนด้วยเมนูเนื้อสัตว์ต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะงานเลี้ยง รวมญาติ งานรื่นเริง หรือสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดต่างๆ เราจะยังตั้งมั่นอยู่ไหม เราจะกลับไปกินไหม เราจะหาเหตุผลไปกินไหม และที่สำคัญที่สุดคือเรายังเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นมีคุณค่ามีประโยชน์ในชีวิตเราอีกไหม เรายังหลงว่ามันเป็นของดีอีกไหม เรายังมีความเข้าใจว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่บำรุงร่างกายอยู่ไหม เรายังยินดีให้คนที่รักกินเนื้อสัตว์อยู่อีกไหม เรายังเหลือเยื่อใยใดๆกับเนื้อสัตว์อยู่อีกไหม จะมีเหตุการณ์ต่างๆที่จะเข้ามาทดสอบความตั้งมั่นของผู้ที่จะลดเนื้อกินผักตลอดช่วงเวลาที่คิดจะทำดี

2). ออกสู่โลกภายนอก ( เตรียมเข้าสู่บททดสอบอัตตา )

เมื่อเราเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว แต่ถ้าอยากให้เกิดสิ่งดีมากขึ้น เป็นกุศลมากขึ้น ก็จะต้องทำหน้าที่เชิญชวนให้ผู้อื่นสนใจที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์ด้วย ซึ่งสิ่งที่จะขวางกั้นไม่ให้เราได้เป็นคนดีขึ้นอย่างใจหวัง นั่นก็คืออัตตา หรือความยึดดีถือดี อัตตาจะทำให้เราต้องเป็นทุกข์เมื่อไม่ได้อย่างใจ ทำให้เราแข็งกระด้าง ทำให้เราไม่เมตตา ทำให้เราต้องสร้างศัตรู ทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จในการชักชวนผู้อื่นให้ศึกษาเพื่อละเว้นการกินเนื้อสัตว์

ผู้ที่เข้ามาทดสอบจะเป็นไปตามธรรม เป็นไปตามสิ่งที่เราทำ ถ้าเราลดเนื้อกินผักอยู่ในภพ คือ กินโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร โจทย์ก็มักจะน้อย แม้จะลดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ดี สามารถออกจากกามได้ แต่ก็ยากที่จะวัดเรื่องอัตตาได้

และถ้าเราเริ่มออกจากภพ ออกจากถ้ำ ออกจากที่มั่น เริ่มอธิศีลขึ้นไปอีกระดับ พยายามสร้างกุศลขึ้นไปอีก คือการพยายามชักชวนผู้อื่นให้ลดเนื้อกินผัก ก็จะเริ่มมีโจทย์ที่มากขึ้นมาตามธรรมเช่นกันและนี่คือการก้าวสู่คนดีที่ดียิ่งขึ้นอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากขึ้น เพราะต้องพร้อมรับความเห็นที่แตกต่างที่จะประดังเข้ามามากขึ้น

ซึ่งความหนักของบททดสอบนั้นจะมากและแรงขึ้นเรื่อยๆตามความดีที่ทำ ยิ่งทำดีมาก ยิ่งมีบารมีสูงมาก โจทย์ก็ยิ่งยาก ยิ่งหนัก ยิ่งแก้ยาก ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเข้ามาทดสอบว่าเราดีจริงหรือไม่ เราจะทำดีได้มากกว่านี้ หรือจะเลิกล้มลงตรงนี้

3). การต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น( รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง )

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การเอาชนะกัน การเถียงกัน เป็นการสู้รบที่ไม่มีวันจบสิ้น เราไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนเห็นเหมือนเราได้ ขนาดบุรุษที่เก่งที่สุดในโลกก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนศรัทธาได้

เราจึงต้องกำหนดเป้าหมายให้ดีว่า การทำดีของเรานั้นไม่ใช่เพื่อเอาชนะใคร ไม่ใช่เพื่อข่มเหงใคร ไม่ใช่เพื่ออวดในคุณความดีที่ตนได้ แต่เป็นการทำดีเพื่อจะสร้างเหตุในการขัดเกลาตนเองให้เป็นคนดีที่ดียิ่งขึ้น การต่อสู้ภายนอกนั้นไม่มีวันจบสิ้น การเถียงเอาชนะกันมีแต่จะเสื่อมศรัทธาต่อกัน เขาก็ยังกินเนื้อเหมือนเดิม เราก็ได้ศัตรูเพิ่ม ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเอาผลแพ้ชนะทางโลกเป็นเป้าหมาย การเพิ่มคนลดเนื้อกินผักไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่เป็นการเพิ่มคนดีขึ้นมาอีกหนึ่งคน นั่นคือทำตัวเราให้ดียิ่งๆขึ้น ไม่ใช่การไปทำคนอื่นให้ดีอย่างใจเรา

การต่อสู้ภายในนั้นมีวันสิ้นสุด เพราะแท้จริงแล้ว เราไม่ได้สู้กับใครเลย เราสู้กับใจตัวเองเท่านั้น สู้กับความยึดดีถือดี ความเอาแต่ใจ ความคาดหวัง เราสู้กับกิเลสของตัวเราเองเท่านั้น คนที่วุ่นวายอยู่กับการต่อสู้ภายนอก จะเป็นคนดีที่มีแต่ความทุกข์ใจ ต้องสู้กับคนที่เห็นต่างไปชั่วกัปชั่วกัลป์

4). ผู้เข้ามาทดสอบ(บททดสอบอัตตา – การยึดดีถือดี )

กรรมจะลิขิตขีดเขียนสร้างเหตุการณ์และผู้ที่เข้ามาทดสอบความยึดดีถือดีด้วยลักษณะและลีลาที่ต่างกัน ซึ่งอาจจะเข้ามาเพื่อกระทบแค่ครั้งเดียว ,มาๆหายๆ , มาแบบกัดไม่ปล่อย, ลากเราไปรุมขยี้ ฯลฯ ก็เป็นรูปแบบการเข้ามาของบททดสอบต่างๆ ซึ่งเราควรพึงระลึกไว้เสมอว่า สิ่งที่เข้ามากระทบทั้งหมดนั่นคือผลของกรรมที่เราทำมา เรากำลังได้รับผลกรรมของเรา เพื่อที่จะขัดเกลาจิตใจให้ดียิ่งขึ้น และใช้หนี้กรรมชั่วให้หมดไป โดยจะยกตัวอย่างลักษณะของผู้ที่เข้ามาคร่าวๆดังนี้

นักเลง คนพาล –มักจะมาในลักษณะหาเรื่อง เพ่งโทษ มีการดูถูก ประชด เยอะเย้ย ฯลฯ คือขอให้ได้ข่มก็พอใจ ถ้าเจอคนลักษณะนี้ก็ให้วางเฉยเสีย อย่าไปถือโทษโกรธเคือง เขามาวัดโทสะเรา ว่าเราจะโกรธไหม จะแค้นไหม จะขุ่นเคืองไหม เราก็เจริญเมตตาจิตไป และค้นหาเหตุแห่งความโกรธว่าการที่เขามาว่า มาด่าเรานั้น เราจะโกรธทำไม เรายึดดีถือดียังไงเราจึงต้องไปโกรธเขา

คนที่พูดกันไม่รู้เรื่อง – อาจจะเป็นคนที่รีบสรุป อ่านน้อย ฟังน้อย หรือเข้าใจผิด มักจะพูดคนละประเด็น หรือพูดกันเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจ พอจะคุยกันได้ ไม่ทะเลาะกันรุนแรง แต่มักจะหาข้อสรุปไม่ได้ ยิ่งคุยก็ยิ่งงง เจอแบบนี้ก็ตรวจดูว่าหงุดหงิดขุ่นเคืองใจไหม พยายามจะไปยัดเยียดความรู้ให้เขาไหม ก็ล้างความยึดดีถือดีของเราไป บางครั้งก็ต้องปล่อยวางกับเรื่องที่หาคำตอบไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนเรื่องได้ก็เปลี่ยน เลี่ยงได้ก็เลี่ยง

ผู้คมกฎ – เป็นคนที่เข้ามาบัญญัติ ข้อกำหนดว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำแค่นี้ไม่ได้ ทำแบบนี้ไม่เรียกว่าเป็นมังสวิรัติ ถ้าทำแบบนี้ผิด แบบนี้ถูก อาจจะพ่วงท้ายด้วยการประณามหยามเหยียดได้ในบางกรณี ก็กลับมาตรวจใจเราว่าขุ่นเขืองไหม สิ่งที่เขาแนะนำเป็นกุศล สมควรทำจริงหรือไม่ เหมาะสมกับฐานจิตของเราหรือไม่ ถ้าเขาแนะนำเกินก็ไม่เป็นไร เราก็ปฏิบัติเหมือนเดิมตามฐานจิตของเรา เท่าที่เราจะทำไหวในขีดที่เราจะพัฒนาขึ้นไปได้โดยลำดับ

ผู้ไม่เห็นด้วย –คนทั่วไปที่เข้ามาแสดงความเห็นในมุมที่แตกต่าง มักจะมีข้อมูล มีเหตุผล มีที่อ้าง เราจะวางใจได้ไหม ถ้าเขามีข้อมูลที่แย้งกับของเรา เราจะลองศึกษาของเขาดูบ้างได้ไหม เราจะเมตตาให้ความรู้กับเขาโดยที่ไม่ไปแข่งดีเอาชนะกับเขาได้ไหม และถ้าเขาไม่เอาดีตามเรา เราจะปล่อยวางได้ไหม จะยอมปล่อยให้เขาเชื่อในแบบของเขาได้ไหม

ผู้ที่เห็นว่าดีแต่ไม่เอาด้วย – คนที่เข้ามาเห็นดีกับเราในบางส่วน แต่ไม่ยินดีจะเอาด้วย ไม่ร่วมด้วย มักจะมีข้ออ้าง ข้อหลบเลี่ยงในการไม่เอาดี นั่นเพราะเขายังไม่เห็นว่าทำแบบเรานั้นดีพอที่เขาจะเอา มักจะมีภพที่เข้าใจว่าดีกว่ายึดอาศัยอยู่ เข้าใจว่ามีสิ่งที่ดีกว่าที่เราทำ ซึ่งมักจะเข้ามาชมแกมข่ม ลูบหลังแล้วตบหัว มักจะมีแนวทางของตัวเองอยู่ มักประกาศตนอยู่เนืองๆว่ามีดีกว่า ซึ่งอาจจะทำให้เรางงว่าจะมายังไงกันแน่ ก็ลองตรวจใจตัวเองว่าขุ่นเคืองใจไหม เขามาข่มจะยอมให้เขาข่มได้ไหม ยอมให้เขาเผยแพร่ความเห็นของเขาได้ไหม บอกเขาไป เตือนเขาไปแล้วเขาข่มกลับ เราวางใจได้ไหม

คนดีที่เห็นต่าง – เป็นโจทย์ที่ยากกว่าคนทั่วไป เช่นการนำคำพูดของคนที่ปฏิบัติดี มีชื่อเสียง น่าเคารพ น่านับถือมาอ้างอิง ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่เราเชื่อและปฏิบัติอยู่ จะทำอย่างไรในเมื่อคุณความดีของเราก็สู้เขาไม่ได้ เราจะทุกข์ทรมานจากความยึดดีไหม เราจะแสวงหาคำตอบเหล่านั้นไหม เราจะอึดอัดขัดเคืองกับการไม่สามารถโต้แย้งใดๆได้หรือไม่ เพราะบางครั้งมันก็ไม่สมควรไปโต้แย้งในบางประเด็น เราจะวางใจได้หรือไม่ ลองพิจารณาทบทวนตามที่เขาว่าได้ไหม สำรวจตัวเองอีกครั้งได้ไหมว่าสิ่งที่เราคิดและทำอยู่นั้น เราถูกจริงดีจริงเป็นประโยชน์จริงหรือไม่ แม้จะมีคนดีที่เห็นต่าง เราจะยังมั่นคงอยู่ในคุณความดีที่เราทำได้จริงได้หรือไม่

คนดีที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยบางประเด็น – เป็นโจทย์ที่ยากที่สุดก็คือการที่คนดีที่เห็นตรงกันแล้วมาเห็นต่างกันในบางประเด็นนี่แหละ โจทย์นี้จะวัดความยึดดีถือดีของเราได้อย่างรุนแรงที่สุด ในเมื่อเขาก็เห็นอย่างเรา และปฏิบัติได้อย่างเรา แต่มีบางประเด็นที่เห็นต่างกันไป เราจะยอมรับได้ไหม เราจะยินดีฟังไหม เราจะยึดว่าของเราดีกว่าของเขา จนไม่ฟังไหม คนดีที่เห็นตรงกันจะแนะนำสิ่งที่แตกต่างกันด้วยความหวังดี เรียกว่าการชี้ขุมทรัพย์ให้กัน แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะยอมรับ เพราะชี้ผิดก็มี ชี้ถูกก็มี ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วยิ่งคนดีมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งยึดดี อย่าคิดว่าคนดีจะวางดีกันง่ายๆ ยิ่งเก่ง ยิ่งสะสมบารมีมากก็จะยึดมั่นถือมั่นมากเป็นธรรมดา ดังนั้นเราจึงต้องมุ่งล้างความยึดมั่นถือมั่นในความดีนี้

5). การเรียนรู้โลกจากบททดสอบ

เราสามารถเรียนรู้ได้จากทุกอย่างที่ประดังเข้ามาหาเรา ถ้าเขาติมาเราก็ฟังไว้ จะได้นำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขจุดบกพร่อง จุดที่คนถือสา จุดที่เป็นอกุศล ฯลฯ การที่จะมีคนมาช่วยชี้ช่วยบอกจุดบกพร่องของเรานี่ไม่ง่ายนะ เขามาทำให้ฟรีๆ ไม่ต้องจ้าง ต้องขอบคุณเขา ส่วนที่เราเป็นสุขเป็นทุกข์ เราก็กลับมาล้างใจของเรา

6). การขัดเกลาจิตใจตนเองให้ดียิ่งขึ้น

การที่คนเห็นต่างเข้ามาแนะนำ ติชม ด่า ว่า เหน็บแนม ประชด ดูถูก ฯลฯ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากในการปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นคนดียิ่งขึ้นได้ เพื่อให้เราได้นำสิ่งกระทบเหล่านั้นเข้ามาตรวจสอบว่า เราโกรธหรือไม่ เราไม่ชอบใจหรือไม่ เราขุ่นใจหรือไม่ ใจเราสั่นไหวหรือไม่ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร แล้วจะกำจัดอาการเหล่านั้นได้อย่างไร การชมเชย และการให้กำลังใจก็เช่นกัน เราอิ่มใจ ฟูขึ้นในใจหรือไม่ เราลอยหรือไม่ เราเหลิงหรือไม่ เราหลงไปในคำชมเหล่านั้นหรือไม่ ทั้งนินทาและสรรเสริญนี้เองจะเป็นสิ่งที่เข้ามาเป็นวัตถุดิบในการขัดเกลาจิตใจของเรา

7). ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น

เป้าหมายของการขัดเกลาจิตใจคือการทำดีด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเกิดผลดี ซึ่งจะต้องเกิดจากการทำดีอย่างเต็มที่เท่าที่จะมีกำลังพอจะทำได้ แล้ววางผลที่จะเกิดขึ้นนั้นให้ได้ เรามุ่งเน้นการทำดี แต่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ผล เพราะผลเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก

การปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นที่ยากที่สุดคือการปล่อยวางการยึดในบทบาทและหน้าที่ เพราะเรานั้นไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า เราช่วยทุกคนไม่ได้ หากเรายังยึดว่าเราจะต้องช่วยสัตว์ ช่วยทุกคนให้พ้นจากการเบียดเบียน เราเองจะเป็นคนที่ไม่พ้นไปจากทุกข์

การทำดีโดยที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีอัตตา ไม่มีตัวกูของกู จะเป็นการทำดีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะเป็นการทำดีที่พร้อมจะวางดีทุกเมื่อ พร้อมจะพังได้ทุกเมื่อ เมื่อไม่ยึดมั่น ก็ไม่ทุกข์ ไม่ท้อถอย พร้อมจะล้มและพร้อมจะลุกเดินหน้าทำดีต่อไปอีก เป็นคนดีที่เป็นอมตะ ไม่มีวันตายไปจากความดี พร้อมจะทำดีโดยไม่มีเงื่อนไขให้ใจต้องเป็นทุกข์

– – – – – – – – – – – – – – –

9.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)