Tag: ฌานโลกีย์

ฤๅษีกึ่งพุทธกาล

March 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,679 views 0

ฤๅษีกึ่งพุทธกาล

ในยุคปัจจุบันนี้ ภาพของฤๅษีในอดีตก็มีแต่จะเลือนรางไปทุกที ยิ่งฤๅษีที่สงบๆงดเว้นการสนองกามทั้งเรื่องอาหาร การแต่งตัว ชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ ก็แทบจะหาได้ยากยิ่งในสังคมไทย

แต่แท้ที่จริงแล้วฤๅษีไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เปลี่ยนรูปจากในอดีตจนแทบไม่เหลือรูปแบบของฤๅษีดังที่ใครหลายคนจินตนาการไว้

แล้วฤๅษีนั้นเป็นใคร? อยู่ที่ไหน? ก็เป็นคนที่ปฏิบัติธรรมด้วยสมถะจนติดอยู่ในภพนั่นแหละ แม้ว่าสภาพทางรูปธรรมของฤๅษีในความทรงจำของเราจะเปลี่ยนไปจนสังเกตเห็นได้ยาก แต่ลักษณะทางนามธรรมยังเหมือนเดิมคือการใช้สมถะเข้ามากดข่มจิต ใช้ควบคุมจิต ใช้อุบายต่างๆมาบริหารจิต กดข่มอย่างตั้งมั่นจนเกิดสมาธิกลายเป็นฌานในที่สุด แต่นั่นก็เป็นฌานโลกีย์ทั่วไป วิธีเหล่านี้มีมาตั้งแต่ก่อนจะมีพุทธศาสนา มีมาจนกระทั่งปัจจุบัน และจะมีไปจนตราบโลกแตก

การใช้สมถะหรืออุบายทางใจเข้ามาบริหารจิตใจนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแค่กำหนดจิตให้นิ่ง อยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่ง คำใดคำหนึ่ง ภพใดภพหนึ่ง อิริยาบถหนึ่งๆ หรือใช้ธรรมะ คำพูด คำคม คติสอนใจ เหตุผล ความคิดบวกเข้ามาตบความคิดที่ฟุ้งซ่านเหล่านั้นให้สงบลง กดไปจนกระทั่งเกิดสภาพสงบต่อเนื่องหรือเป็นสมาธิ วิธีเหล่านี้เป็นการทำสมถะที่เป็นการปฏิบัติหลักเดียวของฤๅษี ซึ่งในปัจจุบันมักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา

วิธีปฏิบัติที่ทำแต่สมถะอย่างเดียว จะมีปลายทางคือกลายเป็นคนที่ติดอยู่ในภพ ติดความสงบ ติดในสิ่งที่ตนเชื่อ นั่นเพราะพอสามารถใช้สมถะจนทำให้เกิดความสงบได้ก็มักจะเข้าใจว่าวิธีนี้คือการปฏิบัติแบบพุทธ แล้วหลงไปยึดมั่นถือมั่นในวิถีสมถะเหล่านี้ว่าเป็นทางพ้นทุกข์ จึงทำให้ติดสุข ติดสงบ ติดภพไปอีกนานแสนนาน

นั่นเพราะเมื่อเรายึดมั่นถือมั่นสิ่งใดแล้ว เราก็จะไม่สนใจสิ่งอื่น แม้มีธรรมอื่นเราก็จะไม่ศึกษา มองไม่เห็นคุณค่าเพราะได้ยึดมั่นถือมั่นแนวทางปฏิบัติของตนเป็นสำคัญ นี่คือความซวยของการปฏิบัติแต่สมถะรวมถึงผู้ที่หลงปฏิบัติแต่สมถะแล้วเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา

ดังนั้นสภาพของฤๅษีก็จะเกิดในคนปฏิบัติธรรมทั่วไปนี่เอง รูปที่เห็นภายนอกเราอาจจะรู้ได้ยาก แต่ถ้าได้ขยายวิธีปฏิบัติกันก็จะรู้ได้ชัดแจ้งซึ่งสมัยนี้ก็จะมีลูกครึ่ง คือครึ่งผีครึ่งคน จะเอาดีทางสมถะก็ทำไม่เต็มที่ ยังวนเวียนอยู่ในกามไม่ยอมตัด หรือไม่ยอมกดข่มให้ดับไปเสียที กลายเป็นคนปฏิบัติธรรมที่กามก็ยังไม่ละ อัตตาก็หนาเตอะแล้วก็ปฏิบัติสมถะไปแบบครึ่งๆกลางๆเช่นนั้นเอง หรือที่มักจะคิดไปเองดังคำว่า ”สมดุลทั้งทางโลกและทางธรรม” คือกามก็ยังเสพอยู่ แล้วเข้าวัดหรือปฏิบัติธรรมตามสมัยนิยม

คนปฏิบัติที่หลงทางจะออกอาการดังที่กล่าวมา แท้จริงแล้วทางสายกลางของพุทธ คือ กามก็ไม่เสพ และไม่ทรมานตัวเองด้วยอัตตา อธิบายกันโดยสรุปก็คือไม่ไปทำตามใจกิเลสและไม่มีความติดดีนั่นเอง

การทำสมถะนั้นจะหลับตา ลืมตา ขยับตัว เคลื่อนไหว หรือนั่งนิ่ง มันก็ทำสมถะได้ทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับอิริยาบถ แต่เกี่ยวกับกระบวนการว่ากระทำสิ่งนั้นอย่างไร เพื่ออะไร

การทำสมถะนั้นจริงๆแล้วเป็นสิ่งที่ดี เพราะเพิ่มพลังให้กับการวิปัสสนาได้ นั่นเพราะพลังกดข่มที่ได้จากการฝึกฝนสมถะนั้นจะมาช่วยกด และยับยั้งกิเลสไม่ให้กำเริบนั่นเอง แต่การที่เราหมายเอาสมถะเป็นแนวทางหลักในการพ้นทุกข์นั้นจะทำให้หลงไปไกล สุดท้ายก็จะกลายเป็นฤๅษีกึ่งพุทธกาล

เรากำลังจะเป็นฤๅษีหรือไม่?

วิธีตรวจว่าเราติดการใช้สมถะกดข่มหรือไม่ ก็ให้สังเกตว่าเวลากระทบกับเหตุการณ์ใดๆ แล้วเราใช้กระบวนการใดมาต่อกรกับเหตุนั้นๆ ถ้าเราใช้วิธีเช่น ใช้คำบริกรรมต่างๆ กำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง เลิกคิดเรื่องนั้นแล้วกำหนดรู้เรื่องอื่น คิดบวก ใช้ธรรมะ ข้อคิด คำคม ฯลฯ เข้ามากดข่ม ”ผล” ที่เกิดขึ้นจากเหตุนั้นๆ

ยกตัวอย่างเช่น มีคนมาแซงคิวระหว่างเรารอซื้ออาหาร เราก็เกิดความรู้สึกโกรธขึ้น ถ้าเรากำหนดจิต ให้เลิกคิด, ให้รู้ตัว, หยุดปรุงแต่ง, โดนแซงก็แค่โดนแซง, การโดนแซงก็เป็นเช่นนั้นเอง, ความโกรธเกิดขึ้นเดี๋ยวก็ดับไป, ความโกรธไม่ใช่เรา, เขาก็เป็นของเขาแบบนั้นเราไปเปลี่ยนเขาไม่ได้, ปล่อยวาง, ช่างมัน หรืออื่นๆในแนวทางนี้ ก็จะเป็นการใช้สมถะเข้ามาแก้ปัญหา

ซึ่งโดยสาระสำคัญก็คือการใช้เหตุผลภายนอกหรือตรรกะเข้ามากระทำต่อจิตที่สั่นไหวให้สงบ การใช้วิธีสมถะจะเป็นการดึงองค์ประกอบอื่นๆหรือองค์ประกอบภายนอกมาใช้ในการใช้พิจารณาเพื่อดับสภาวะของจิตที่เกิดกิเลสนั้นๆ

แต่การวิปัสสนาจะมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาภายในคือ ทำไมเราจึงโกรธ เราโกรธเพราะอะไร คือขุดค้นไปที่เหตุที่ทำให้อาการโกรธนั้นเกิด และค้นต่อไปในกิเลสนั้นๆจนกว่าจะเจอรากของปัญหา แล้วค่อยพิจารณาธรรมแก้ให้ตรงจุด สกปรกตรงไหนก็ขัดตรงนั้น จะเป็นการแก้ปัญหาจากภายใน ไม่ใช่การใช้ปัจจัยภายนอกเข้ามากดไว้แบบสมถะวิธี

ผลที่ได้จะแตกต่างกัน การใช้สมถะจะได้ความสงบจากการใช้อุบายหลอกจิต กดข่มจิต ชักนำจิตให้หยุดฟุ้งซ่าน แต่การวิปัสสนาที่ถูกต้องจะทำให้เกิดญาณปัญญารู้แจ้งในกิเลสนั้นๆไปตามลำดับจนกระทั่งเกิดความสงบขึ้นมาซึ่งจะไม่ได้เกิดความสงบในทันทีเหมือนวิธีสมถะ แต่ความสงบจากกิเลสด้วยปัญญาที่รู้แจ้งในกิเลสนั้น จะมั่นคง ยั่งยืน ยาวนาน ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เวียนกลับ ไม่มีการเกิดดับในกิเลสนั้นๆอีกต่อไป ซึ่งต่างจากสมถะวิธีที่ต้องคอยกดทุกครั้งที่จิตเกิดอาการสั่นไหวเพราะกิเลส และจะมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และเกิดขึ้นใหม่วนเวียนไปไม่จบไม่สิ้น

ในบางกรณีเมื่อปฏิบัติสมถะไปจนเก่งจะพบว่าอาการสุข ทุกข์ เฉยๆ ซึ่งเป็นอาการที่จะต้องใช้สะท้อนให้เห็นกิเลสจะดับไปโดยอัตโนมัติ เรียกว่ากดข่มอย่างอัตโนมัติโดยที่สติไม่ได้มีการทำงาน แต่จิตทำงานด้วยตัวเองไปตามสัญชาติญาณของผู้ที่ฝึกสมถะมามาก จนบางคนหลงไปว่านั่นคือสติอัตโนมัติ ทั้งๆที่สภาพของการตัดรอบของจิต หรือการกดข่มอัตโนมัตินั้นไม่มีสติเสียด้วยซ้ำ และนี่เองคือความยากในการศึกษาวิปัสสนาของผู้ติดสมถะ เพราะจะมีสภาพเหมือนจะจัดการกิเลสได้ตลอดเวลาทั้งๆที่เป็นการกดข่มโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการปฏิบัติสมถะนั้นไม่ได้เป็นการสร้างญาณในการรับรู้กิเลสให้เจริญขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้นักสมถะจำนวนมากหลงผิดว่าบรรลุธรรม ติดภพไปในที่สุด กดข่มกันได้ยาวนานข้ามภพข้ามชาติ

แนวปฏิบัติของการสมถะคือการควบคุมการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปของจิต จะเข้าใจว่าธรรมะมีแค่การเกิดดับเท่านั้น จึงหมายเอาการดับอย่างต่อเนื่องเป็นการบรรลุธรรม เหมือนเข้าใจว่าปิดสวิตช์ทั้งหมดก็เข้านิพพานได้แล้ว เป็นความหยาบที่มองแต่ผลโดยข้ามการปฏิบัติที่ถูกตรงไป เพราะสมถะนั้นปฏิบัติได้ง่าย มีแค่กดข่มได้กับกดข่มไม่ได้เท่านั้น เหมือนกับการเปิดปิดนั่นเอง แต่การวิปัสสนาไม่ได้มีมิติเช่นนั้น การปฏิบัติธรรมตามหลักศาสนาพุทธจะต้องทำไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด พัฒนาไปทีละน้อย ไม่ใช่ทำความดับในทันที แต่กระทำไปเพื่ออธิปัญญาจนกระทั่งถึงวิมุตติที่จะเข้ามาทำให้กิเลสนั้นตายจนการเกิดของกิเลสในจิตนั้นดับไปเอง

โดยหลักของสมถะมักจะมองไปที่การดับความคิด ดับความฟุ้งซ่าน หรือกระทั่งการดับสัญญา แต่วิปัสสนานั้นจะมุ่งไปที่ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แล้วดับทุกข์นั้นๆด้วยวิธีการดับทุกข์ที่ถูกทางของพุทธ กล่าวโดยย่อคือสมถะมุ่งเน้นไปที่ความไม่ทุกข์เพื่อการหลุดพ้น ส่วนวิปัสสนานั้นกระทำที่สุดแห่งทุกข์เพื่อการหลุดพ้น

อธิบายสรุปรวมในทางธรรมก็คือ สมถะปฏิบัติให้จิตเป็นสมาธิจนเกิดฌาน แต่วิปัสสนาปฏิบัติฌานจนจิตเกิดเป็นสมาธิ สภาพสมาธิที่หมายนั้นก็ต่างกัน ฌานที่หมายนั้นก็ต่างกัน การปฏิบัติสมถะจนเกิดสมาธิก็คือการนั่งสมาธิหรือการฝึกสติกำหนดรู้ทั่วไปจนพัฒนาเป็นฌานโลกีย์ไปตามลำดับ แต่การวิปัสสนานั้นจะใช้ฌานในการเพ่งเผากิเลสจนกระทั่งเกิดเป็นสภาพของสัมมาสมาธิที่เป็นผลเจริญของการปฏิบัติ

ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิธีทางสมถะและวิปัสสนานั้นจะกลับหัวกลับหางกัน คนที่เข้าใจวิปัสสนาจะสามารถใช้สมถะเป็นอุปการะได้ แต่คนที่เข้าใจเพียงสมถะจะทำให้ติดอยู่ในวิธีการปฏิบัติแบบโลกียะ ทำให้ผลที่ได้นั้นเป็นโลกียะไปด้วย แม้จะได้ผลคือความสงบ เกิดสมาธิ แต่สมาธินั้นไม่ใช่สัมมาสมาธิในแบบของพุทธ เป็นสมาธิแบบฤๅษีทั่วไป กลายเป็นฤๅษีกึ่งพุทธกาลนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

5.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)