Tag: ความเจริญ

รักที่พาเจริญ ต้องไม่ทำร้าย

January 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 749 views 0

รักที่พาเจริญ ต้องไม่ทำร้าย

ความเห็นที่ว่าการมีรักนั้นก็พากันให้เจริญได้ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปทั้งทางโลกทางธรรม จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ ไม่มีการทำร้ายกัน ไม่อย่างนั้นแล้ว วาทกรรมเหล่านั้นก็เป็นเพียงแค่คำลวงของมารที่จะล่อใจคนให้หลงเสพหลงสุข ลวงให้เห็นกงจักรเป็นดอกบัวเท่านั้นเอง

การทำร้ายนั้นมีหลากหลายมิติ ถ้าแบ่งชั้นต้นก็เป็นการทำร้ายร่างกายและจิตใจ ในมิติของการทำร้ายจิตใจก็จะมีรายละเอียดที่ลึกซึ้งแตกต่างกันไป

รักที่พาเจริญต้องไม่ทำร้ายร่างกาย

การทำร้ายร่างกายนั้นเป็นการทำร้ายที่หยาบที่สุด เห็นได้ชัด ไม่ใช่ความปกติของคนดีมีศีล แต่เป็นธาตุของคนทุศีลที่หมายทำร้ายผู้อื่น เพื่อให้สาแก่ใจตน การทำร้ายกันในคู่รักมักจะมีความจัดจ้านรุนแรง ไม่เหมือนกับพ่อแม่ที่ตีลูกไป ตัวเองก็เสียใจไป การลงโทษลงทัณฑ์ โดยการทำร้ายในนามแห่งความรักนั้น มักจะมีความรุนแรงกว่าเหตุการณ์ปกติในชีวิตทั่วไป ใครไม่เคยเจอการทำร้ายกัน ก็อาจจะได้มาเจอกับคนรักที่ทำร้ายนี่แหละ บางคนพ่อแม่ไม่เคยตี แต่ก็มาโดนคู่รักทำร้าย อันนี้ก็เป็นตัววัดความไม่เจริญอย่างหยาบ การทำร้ายร่างกาย จะยิ่งทำให้เสื่อมจากความดีงามไปเรื่อย ๆ จนเป็นทำร้ายกันรุนแรงขึ้น ถึงขั้นฆ่ากันตายมีให้เห็นเป็นตัวอย่างกันมามากมาย

รักที่พาเจริญต้องไม่ทำร้ายจิตใจ

ในการทำร้ายจิตนั้น เบื้องต้นก็เป็นการทำร้ายร่างกายที่มีผลต่อจิตใจ อันนี้ก็เป็นอย่างหยาบ ละเอียดขึ้นมาหน่อยก็เป็นการใช้คำพูด ภาษา ในการทำร้ายจิตใจกัน ละเอียดขึ้นมาอีกก็เป็นการชักสีหน้า ออกอาการไม่พอใจ กดดันอีกฝ่าย ทำร้ายจิตใจกัน หรือเย็นชาสุด ๆ ก็กลายเป็นไม่พูด ไม่สนใจ กดดันโดยการคว่ำบาตร ก็เป็นการทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย การกระทำเหล่านี้จะมีเจตนาเป็นตัวกำหนดว่าตั้งใจทำให้อีกฝ่ายเป็นทุกข์ ต้องการสั่งสอน ลงทัณฑ์ ใช้อำนาจแห่งความรักในการทำร้ายกัน ถ้าไม่ได้มีเจตนาแฝงว่าทำไปเพื่อเสพสมใจตน ทำไปเพื่อให้เขายอมตน หรือทำไปเพื่อต้องการเอาชนะ ต้องการเพียงจะสื่อสาร อยากให้เขาปรับตัว ให้พ้นทุกข์โดยไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ส่วนใหญ่แล้ว มักจะทำร้ายจิตใจผู้อื่นเพื่อเอาใจตนเองเป็นหลัก คือเอาแบบฉัน ฉันถูกที่สุด เธอผิด อะไรแบบนี้

รักที่พาเจริญต้องไม่ทำให้หวั่นไหว

การที่จะเจริญไปในทิศทางแห่งความผาสุกได้นั้น ใจจะต้องไม่หวั่นไหว การที่จะมีความรักแล้วต้องทนอยู่กับความหวั่นไหว จะเรียกว่าเป็นความเจริญนั้นเป็นไปไม่ได้เลย คนจะหวั่นไหวกันตอนไหน ก็เช่น ตอนเขามาจีบ ก็ตอนเขาบอกรัก หรือบอกเลิกกันนั่นแหละ คำเหล่านั้นล้วนเป็นคำที่มีเจตนาทำให้คนหวั่นไหว จิตใจสั่นคลอน อ่อนแอ ยอมรับรัก ยอมเป็นทาสรัก ยอมสารพัดยอม ยอมพลีกาย พลีใจให้กับการกระทำหรือคำพูดที่พาให้หวั่นไหว ให้ใจหลงเคลิ้ม อันนี้ก็เป็นการทำร้ายของมารที่แฝงมา คนดีมีศีลจะไม่ทำให้ใครหวั่นไหว จะไม่ล่อลวง จะไม่จีบ สุภาพบุรุษที่แท้จริงนั้นจะไม่จีบใคร ไม่เกี้ยวพาราสี เพราะเป็นเหตุที่จะทำให้คนหวั่นไหว เป็นทุกข์ กระวนกระวายใจ ก็เป็นการทำร้ายกันในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น เป็นมิติที่คนทั่วไปยากจะเข้าใจแล้ว เพราะเขามองว่าการจีบกันรักกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในทางธรรมนะนั้น การทำให้หวั่นไหว ให้เกิดความใคร่อยาก  ให้เกิดความกลัวที่จะไม่ได้เสพ ก็มีแต่มารเท่านั้นแหละ ที่จะทำสิ่งนั้น

 

รักที่พาเจริญต้องไม่ทำให้หลง

การทำให้หลง เป็นการทำร้ายจิตใจกันอย่างลึกซึ้งแบบข้ามภพข้ามชาติ ทำให้อ่อนแอ เป็นทาส ขาดอิสรภาพ เหมือนคนตาบอด มืดมัว เศร้าหมอง อยู่แต่ในกรอบที่มารกำหนดไว้ คือรักแต่ฉัน หลงแต่ฉัน เชื่อแต่ฉัน ทุ่มเทชีวิตให้ฉัน การทำให้อีกฝ่ายอ่อนแอและไม่พึ่งตนเอง คือการทำลายศักยภาพของการเป็นมนุษย์ เป็นเบื้องต้นของการกระทำของมาร คือแสร้งว่า ฉันจะให้ความรัก ให้ความปลอดภัย ให้ความสุข ให้ความเจริญ เธอจงมาพึ่งฉัน อยู่กับฉัน ฯลฯ จะมีการหว่านล้อมให้หลงรัก หลงเชื่อใจ จนยอมทิ้งชีวิตจิตใจฝากไว้กับคน ๆ นั้น ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ให้พึ่งตน ให้มีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง คือปฏิบัติให้ตนมีความเป็นพุทธะ ธรรมะ สังฆะในตนนั่นแหละเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่เอาคู่รักเป็นที่พึ่ง แต่รักที่ทำร้าย เขาจะไม่ให้ไปพึ่งคนอื่น เขาจะให้พึ่งพาแต่เขา เขาจะให้หลงแต่เขา ให้รักแต่เขา ให้มัวเมาแต่เขา

รักที่พาเจริญต้องไม่ทำลายอิสระในการทำดี

ความเจริญกับการทำดีนั้นเป็นของคู่กัน ถ้าความรักหรือคู่รักนั้นมาขัดขวางการทำดี นั่นก็แสดงว่า ความรักนั้นกำลังขัดขวางทางเจริญ การทำดีนั้นก็มีเรื่องของการทำทาน การถือศีลให้เกิดความลดละกิเลสได้ แต่ความรักผีที่แฝงตัวมาจะกั้นไม่ให้คนทำทาน ไม่ให้คนเสียสละ บางคนเสียเงินพอทนได้ แต่จะให้ไปปฏิบัติธรรม ทำดีกัน 5 วัน 10 วัน นี่เขาจะไม่ปล่อย เขาจะไม่ยินดี เขาจะกั้น สารพัดเหตุผล บ้านต้องดูแล งานต้องทำ เงินต้องหา ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่องค์ประกอบเหตุปัจจัยมันอาจจะไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น หรือในเรื่องถือศีล คู่รักกับศีล ๘ ในข้อประพฤติพรหมจรรย์จะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกัน เพราะเป็นธาตุตรงข้าม ผีกับมาร แค่ถือศีล ๕ ก็ว่ายากแล้ว ศีล ๘ นี่ยิ่งยากไปใหญ่ เขาจะไม่ยอม คนที่เขามีกิเลส มีความอยากมาก ๆ เขาจะไม่ยอมให้คู่ถือศีล ๘ เขาจะกั้นจากความดีที่เลิศกว่า จะจำกัดอิสระ ขังไว้ในความดีน้อย ๆ ความดีที่ต้องมีฉันเป็นกำแพง มีฉันเป็นเพดาน ดีไม่ดีเอาลูกมาผูกไว้อีก ดังที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกบุตรว่า บ่วง เพราะท่านรู้ว่านี่คือสิ่งที่จะผูกมัดท่านไว้ มารก็จะทำแบบนี้เช่นกัน เขาจะมัดคู่ไว้ด้วยการมีลูก คือสร้างบ่วง สร้างห่วงขึ้นมาให้มันมีเหตุที่จะต้องอยู่รับผิดชอบ ให้อยู่เล่นละครพ่อแม่ลูกไปกับเขา กั้นไม่ให้เราเหลือเวลาเอาไปทำความดีแก่ผองชนมาก ๆ ให้เราทำดีแต่ในคอกแคบ ๆ ที่เรียกว่าครอบครัว

รักที่พาให้เจริญต้องไม่ผูกมัด

ความยึดมั่นถือมั่น คือการทำร้ายจิตใจตนเองและผู้อื่น ความเจริญนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อผู้มีความรักนั้น รักอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น นั่นหมายความว่า ถ้าคู่ของเขา พร้อมจะจากไป ก็ยินดี ยอมให้ไปโดยไม่เหนี่ยวรั้ง เคารพสิทธิ์ เคารพความคิด คือ ถึงบทที่จะต้องจากกัน หรือมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็ไม่ยึด ยื้อ รั้ง กันไว้ ไม่ตรงก็ไม่ขังเขาไว้ ก็ปล่อยไปตามทางที่เขาเลือก ไม่ใช่เป็นไปตามใจที่เราเลือก ให้อิสระกับเขา ไม่ผูกมัดเขา ปล่อยวางจากเขา อันนี้คือความเจริญ ส่วนความเสื่อมก็คือไปล่อลวง อ้อนวอน หลอกล่อเขาไว้ให้อยู่กับตน พยายามจะผูกมัดเขาไว้ด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ อันนี้ความรักผี พาให้เป็นทุกข์ ตัวเองก็เป็นทุกข์ คนอื่นก็เป็นทุกข์ แสดงให้เห็นความคับแคบในใจ จะเอาแต่ใจตน ใจไม่กว้าง คิดจะรักต้องใจกว้าง ให้อิสระ เคารพความเห็นของคนอื่น ให้สิทธิ์เขาเลือกที่จะเดินเข้ามาหรือจากไป โดยไม่ยึดมั่นถือมั่น

รักที่พาเจริญต้องไม่หลอกหลอน

รักที่พาให้หลง คือความรักที่ทำให้จิตเกิดความหลอกหลอน วนเวียนเสพสุขกับความทรงจำ ที่แม้ปัจจุบันจะไม่เหลืออะไรแล้ว แต่ความสุข ความเศร้า บทละครมันยังวิ่งวนเวียนหลอกหลอนอยู่ในหัว คิดถึงทีไรก็เป็นสุข สุขที่ได้เสพความทรงจำ หอมหวานอยู่ในภพที่ฝังตัวเองไว้ ติดตรึงใจ หลอกหลอนไม่รู้ลืม ความรักที่พาให้เจริญจะไม่สร้างผลแบบนี้ จะมีเฉพาะความรักแบบผี หรือรักด้วยกิเลสเท่านั้น ที่สร้างผลที่จะหลอกคนให้หลงหลอนอยู่ในภพแห่งความฝัน

รักที่พาเจริญต้องไม่ทำให้เกิดทุกข์

ในมิติที่ละเอียดลึกซึ้งที่สุดคือ รักแล้วต้องไม่มีทุกข์ในใจเลย จึงจะเจริญได้ ถ้ายังมีทุกข์อยู่แสดงว่ายังไม่เจริญ ความเจริญคือความไม่ทุกข์ ไม่ใช่การจมอยู่กับทุกข์ อันนั้นเรียกว่าเสื่อม ไม่เจริญ ถดถอยไปเรื่อย ๆ อันนี้ต้องใช้สติไปจับอาการทุกข์ของตัวเองกันดี ๆ ว่ามีทุกข์เกิดมากเท่าไหร่ ทุกข์ขนาดไหน ในชีวิตประจำวัน ความกังวล ระแวง หวั่นไหว นั้นก่อให้เกิดทุกข์ แค่คู่ครองไม่รับโทรศัพท์ คู่ครองกลับบ้านไม่ตรงเวลา คู่ครองไปคุยกับคนอื่น มันจะผาสุกไหม มันจะทำใจให้เบิกบานได้ไหม ถ้ากระทบกับความไม่ได้ดั่งใจแล้วใจยังมั่นคงอยู่ในความผาสุกได้ก็เจริญ แต่ถ้าหวั่นไหว ทุกข์ทนข่มใจไปตามสถานการณ์ ที่เหมือนกับเรือที่ลอยอยู่ท่ามกลางทะเลที่แปรปรวนด้วยลมพายุ แม้จะทรงตัวอยู่ได้ ก็ใช่ว่าจะทนอยู่ได้ตลอดไป ก็อาจจะต้องพ่ายแพ้อับปางลงสักวัน ไม่เหมือนกับคนที่ปฏิบัติจนไม่ทุกข์ อันนั้นเขาไม่ติดโลก ไม่ติดทะเล เหมือนลอยอยู่ในอากาศ ความแปรปรวนใด ๆ ล้วนไม่มีผล ไม่น่ายึดไว้ ก็แค่ไปหาสภาพที่ดีกว่าอยู่ ไปหาที่สงบจากความแปรปรวน สงบจากความโลภ โกรธ หลง เพราะการอยู่กับคนที่มีกิเลสมาก ๆ รังแต่จะสร้างปัญหาให้ แม้จะไม่ทุกข์ใจ แต่ก็เป็นความลำบากกายที่ต้องทนรับไว้ เป็นภาระ เป็นบ่วง ดังนั้น คนที่เจริญ เขาจะไม่ยึดสภาพคู่ครองไว้ เพราะมันเป็นสภาพที่ไม่น่าเสพ เป็นภาระ เป็นความลำบาก พอไม่ยึดติด มันก็ไม่มีความสำคัญแบบมีกิเลสเป็นตัวแปรในตัวบุคคล ที่เหลือก็แค่ประเมินว่าที่ไหน ตรงไหน ตนเองจะทำประโยชน์ได้ดีกว่าเท่านั้นเอง

…ก็ลองพิจารณากันดู ประตูแรกของการจะข้ามพ้นความหลงในความรักก็คือ ยอมรับว่ามันทุกข์ ยอมรับว่ามีแล้วมันก็ไม่ได้พาเจริญกันอย่างที่เขาว่ากันหรอก ก็มีแต่กามแต่อัตตานั่นแหละที่จะเติบโตขึ้น พากิน พาเสพ พาเมา พาโลภ โกรธ หลง  พายึดกันอยู่ทุกวี่วัน จะหาความเจริญมาจากไหน?

8.1.2563

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เลือกกิน เลือกกรรม

October 1, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,379 views 0

เลือกกิน-เลือกกรรม

เลือกกิน เลือกกรรม

ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา มีความรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดทำไปแล้วเป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ หรือสิ่งใดเป็นไปเพื่อความทุกข์และเสื่อมถอย นั่นเพราะมีความรู้ในเรื่องกรรมและผลของกรรมอย่างแจ่มแจ้ง

พระพุทธเจ้านั้นท่านเป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง กรรมใดที่กระทำลงไปแล้ว จะให้ผลดีร้ายเช่นไร ท่านรู้ได้ทั้งหมด ท่านยังตรัสไว้ด้วยว่า “บาปแม้น้อย อย่าทำเสียเลยดีกว่า” ท่านยังเปรียบไว้อีกว่า “เราไม่ควรดูหมิ่นในบาปที่เล็กน้อย แม้น้ำหยดทีละหยดก็ทำให้หม้อเต็มได้ บาปนั้นก็เช่นกัน” นั่นหมายถึง แม้อกุศลกรรมเพียงเล็กน้อยก็มีผล การกระทำใด ๆ ล้วนมีผลทั้งหมด และมีผลต่างกันไปตามเหตุของกรรมนั้นๆ

ศาสนาพุทธนั้นปฏิบัติไปเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ปฏิบัติไปเพื่อสั่งสมความทุกข์ให้กับตนเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ใน “อนายุสสสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๑๒๕)” ว่าด้วยเหตุที่ทำให้อายุสั้นและอายุยืน หนึ่งในเหตุที่ทำให้อายุสั้นนั้นคือกินของที่ย่อยยาก และเหตุที่ทำให้อายุยืนนั้นคือกินของที่ย่อยง่าย ซึ่งพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ปฏิบัติไปเพื่อให้เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น การที่ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอายุยืนจะเป็นประโยชน์มาก เรื่องนี้คงจะไม่มีใครเห็นแย้ง ดังนั้นเพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ก็ควรจะเลือกกินของที่ย่อยง่ายเป็นหลัก หากไม่ได้ยึดว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราของเราก็ควรจะเลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายนี้และเพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์จากการที่ร่างกายนี้ยังทำงานได้ดีอยู่

เช่นเดียวกับคนที่มีอาการแพ้อาหารบางอย่าง การ “เลือกที่จะไม่กิน” อาหารที่แพ้นั้น ก็ถือว่าเป็นปัญญาทั่วไป ไม่ทำความลำบากให้แก่ตน เพราะถ้ากินไปแล้วป่วยหรือเสียชีวิต ก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใดเลย เพราะการทำความลำบากให้แก่ตนนี้เป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้อายุสั้นตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

เช่นเดียวกับคนที่เลือกเฟ้นอาหารที่มีคุณค่า เลือกอาหารที่ไร้สารพิษ และ “เลือกที่จะไม่กิน” อาหารหรือวัตถุดิบที่มีสารพิษมากเช่น เนื้อสัตว์ พืชผักรวมถึงวัตถุดิบอื่นๆ ที่มีโอกาสที่จะมีสารพิษตกค้าง แม้แต่การเลือกที่จะไม่กินอาหารขยะ , ขนม นม เนย ฯลฯ ก็เป็นการทำความสบายให้แก่ตน ให้ตนได้มีสุขภาพดี อายุยืน อย่างน้อยก็ลดเหตุปัจจัยในการเกิดโรคลงได้ การทำความสบายให้แก่ตนนี้เป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้อายุยืนตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

ในส่วนของฆราวาสนั้นก็คงไม่ได้ปฏิบัติยากเท่าไหร่ ผู้ที่อยากเป็นอยู่อย่างผาสุกก็จะเลือกสิ่งที่ย่อยง่ายและไม่มีโทษให้กับตนเอง และจะเลือกสิ่งดีเหล่านั้นแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นด้วยเช่นกัน

แล้วทีนี้นักบวชล่ะจะทำอย่างไร ในเมื่อนักบวชควรจะเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย แล้วจะเลือกกินสิ่งที่ดีมีประโยชน์อย่างไร

นักบวชในพระพุทธศาสนานั้นมีจะกระบวนการหนึ่งที่เรียกว่าเป็นการพิจารณาอาหาร คือพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ และพิจารณาลงไปให้ลึกถึงกิเลสภายใน สิ่งใดเสพแล้วลดกิเลส สิ่งใดเสพแล้วเพิ่มกิเลส และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ให้เข้าถึงสิ่งนั้น สิ่งใดที่เป็นโทษให้ละเว้นสิ่งนั้นเสีย นี่คือการเลือกอย่างชัดเจน

คำว่าผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่ายนั้นหมายรวมถึงผู้ที่ไม่ทำตนให้เป็นภาระด้วย ดังที่กล่าวมาข้างตน ถ้ากินไม่เลือกแล้วเกิดผลให้เจ็บป่วย เป็นโรค ก็ไม่ควรเรียกว่าเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย เพราะการเจ็บป่วยนั้นจะทำให้เป็นผู้เลี้ยงยากบำรุงยากในทันที

จริงอยู่ที่นักบวชนั้นไม่ควรเลือกที่จะรับตามที่สมมุติโลกนั้นเข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามเลือกที่จะกิน ทุกกรรมกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างกินนั้น ล้วนมีผลทั้งหมดทั้งสิ้น มือที่เอื้อมไปตักของที่ย่อยยากและมีโทษมากเช่นเนื้อสัตว์ ก็ควรกำหนดรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ ไม่เป็นไปเพื่อความสบาย ทุกการขยับ การตัก การนำเข้าปาก การเคี้ยว ล้วนมีผลทั้งหมดทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่าไม่มีความรู้เรื่องกรรม ไม่มีสติมากพอจะจับเจตนาซึ่งอาจจะปนเปื้อนด้วยกิเลส ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า อันนี้เราทำบาปกรรมอยู่ จึงสะสมบาปกรรมที่ไม่รู้ตัวว่าทำไปเรื่อย ๆ  ซึ่งตรงกับที่ยกไว้ข้างต้นว่า บาปแม้น้อยก็สะสมกลายเป็นบาปที่เต็มรูปได้ เมื่อบาปเต็มที่ กิเลสก็เต็มขั้น กามก็โต อัตตาก็แกร่งกล้า ถ้าไม่สึกไปแสวงหากาม ก็แสวงหากามในคราบผ้าเหลืองนั่นแหละ

พระพุทธเจ้าตรัสเหตุของการเกิดตัณหาใน “ตัณหาสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๙)” ไว้สี่ข้อ โดยรวมแล้วก็คือปัจจัยสี่ หนึ่งในนั้นคือ ตัณหาเกิดด้วยการบิณฑบาต นั่นก็หมายถึงกิเลสมันเกิดก็เพราะเรื่องห่วงกินนี่แหละ ดังนั้นนักบวชก็ควรจะพิจารณาในการกินของตน ว่ากินสิ่งใดแล้วกิเลสมันเพิ่มก็ไม่ควรกิน กินสิ่งใดแล้วร่างกายเป็นทุกข์ ทำให้อายุสั้น ก็ไม่ควรกิน กินสิ่งใดแล้วเป็นไปเพื่อส่งเสริมความมัวเมา ก็ไม่ควรกิน

ที่บอกว่าควร “เลือกกิน” นั้นเพราะ นักบวชนั้นพึงรู้เองว่าสิ่งใดสมควรหรือไม่สมควร เพราะไม่มีใครมาบังคับใครให้ใครตักอะไรใส่ปากได้ มือก็เป็นของท่าน ปากก็เป็นของท่าน กรรมก็เป็นของท่าน ท่านล้วนกำหนดกรรมของท่านเอง

การจะกินทุกอย่างนั้น ก็ดูจะเป็นคนละโมบไปเสียอีก เพราะหากผู้ศรัทธาเขาเอาอาหารมาพันอย่าง ก็ต้องกินทุกอย่างจนพุงแตกกันเลยเชียวหรือ ส่วนการจะกินเพื่อให้เขาศรัทธา ให้เขาดีใจปลื้มใจนี่มันก็ควรจะประมาณให้เหมาะสมเป็นบางกรณี ไม่ใช่กินให้เขาทุกวันจนตัวเองอ้วน เดินลำบาก ขยับลำบาก ป่วยเป็นโรค อันนี้ก็เป็นการทำให้ตนเองเป็นทุกข์ไปเปล่า ๆ มันต้องเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์เพื่อตนเป็นหลัก ไม่ใช่มุ่งเอาใจคนอื่นเป็นที่ตั้ง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อย่าพรากประโยชน์ตน เพื่อผู้อื่นแม้มาก” หมายถึงไม่จำเป็นต้องไปทำเพื่อใครขนาดที่ตนเองต้องทนทุกข์ทรมาน ต้องกิเลสเพิ่ม ต้องอายุสั้น ต้องเสียโอกาสในการปฏิบัติธรรม แม้สิ่งเหล่านั้นจะดูเหมือนมีประโยชน์มากก็ตามที

ถ้าเขามีมาวางให้เลือก ก็เลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ว่า เขาเอาไก่ทอดมาวาง เอาผัดผักมาวาง มีแค่สองอย่างนี้ ว่าแล้วก็ตักไก่ทอดใส่ปากก่อนเลย อันนี้ต้องอ่านจิตตัวเองดี ๆ ว่าทำไมมันไปเอาของที่มันมีโทษก่อน เพราะแม้ในทางโลก เขาก็รู้กันอยู่แล้วว่า เนื้อสัตว์ทอดนั้นเป็นอาหารที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ นา ๆ อันนี้ปัญญาโลก ๆ ก็รู้ได้ คนที่รักษาสุขภาพเขาก็รู้ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ถึงปัญญาโลกุตระหรอก ถ้าปัญญาโลกุตระนี่ไม่มีแล้วที่จะกินสิ่งที่เป็นโทษ มีแต่กินสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้น

สรุปรวมแล้วศาสนาพุทธนั้น “เลือก” ที่จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อเว้นขาดจากสิ่งชั่ว ที่ให้โทษ ที่ทำให้เป็นทุกข์ทำ ฯลฯ มุ่งทำสิ่งที่ดี และทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส เพราะรู้ชัดว่าสิ่งที่ทำนั้นจะเกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งในปัจจุบันและอนาคตทีเดียว

1.10.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ข้อสอบคนโสด จะผ่านโจทย์นี้ได้อย่างไร?

July 25, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,500 views 1

ข้อสอบคนโสด จะผ่านโจทย์นี้ได้อย่างไร?

การจะเป็นคนโสดที่มั่นคงกับความโสดได้อย่างไม่หวั่นไหว แม้จะมีคนที่ถูกใจเข้ามาก็ยังยินดีในความเป็นโสดได้อย่างผาสุกนั้น เป็นโจทย์ที่ยากยิ่งนัก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านไปได้ แต่ก็ไม่ยากเกินไปนักหากเรามีการศึกษาที่ถูกหลัก

ศาสนาพุทธกับการมีคู่

ศาสนาพุทธไม่ได้มีกฎห้ามฆราวาสมีคู่ การมีคู่ครองนั้นเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่การเป็นโสดก็เป็นสิทธิที่พึงได้เช่นเดียวกัน

ศาสนาพุทธได้มีคำสอนเกี่ยวกับความรักดังเช่นว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ การมีคู่นั้นเป็นดั่งบ่วงที่คล้องเราไว้กับความทุกข์ แต่ผู้ที่มีความเห็นตรงกันข้ามนั้นมีอยู่ เช่น การมีคู่รักนั้นคือความสุขคือความสมบูรณ์ของชีวิต หรือเขาจะเข้าใจว่ารักนั้นมีทุกข์จริง แต่ก็มีสุขร่วมด้วย หรือการมีคู่ทำให้เราพัฒนาตนเองได้ โดยรวมๆ แล้วคือพยายามสรรหาข้อดีของการมีคู่ ซึ่งหมายความว่ามีทิศทางไปทางตรงกันข้ามกับหลักคำสอนของศาสนาพุทธ เพราะศาสนาพุทธสอนให้เราไปสู่การพ้นทุกข์ แต่ผู้ที่หลงผิด(มิจฉาทิฏฐิ) ก็จะไปในทิศทางที่เป็นทุกข์

ตามหาแนวทางปฏิบัติ

เมื่อเราต้องการจะพัฒนาตนเองไปสู่ความโสดที่ผาสุกและยั่งยืน ไม่ใช่โสดรอเสพ ไม่ใช่โสดเพราะหาไม่ได้ แต่เป็นความโสดที่มั่นใจแล้วว่านี่แหละคือทางแห่งการพ้นทุกข์ ทางอื่นไม่ใช่ แม้เรามีความเห็นที่ตรงไปสู่ทางพ้นทุกข์แล้ว แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่ก้าวแรก ส่วนเป้าหมายจะอยู่ไกลแค่ไหนก็ไม่รู้ และการจะเดินไปสู่เป้าหมายนั้นไม่ง่าย มารมักจะแปลงร่างมาลวงให้หลงได้เสมอ มาในคราบเทพบุตรบ้าง มาในคราบเทพธิดาบ้าง

เมื่อทางปฏิบัตินั้นดูไม่ชัดเจน เราจึงจำเป็นต้องมีผู้ที่รู้จริงเกี่ยวกับคุณค่าของความโสด ผู้ที่มีความเห็นว่าการอยู่เป็นโสดนี่แหละคือความผาสุกที่สุดแล้ว การมีคู่ครองนั้นเป็นทางแห่งทุกข์ รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ รู้ถึงสภาพที่ทุกข์ดับ และรู้วิธีปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์นั้นๆ ซึ่งเข้าใจภาวะนั้นจริงในตนเอง เป็นในตนเอง ไม่ใช่เพียงแค่ท่องกันตามตำรา มีความเที่ยงแท้ ยั่งยืน ไม่เวียนกลับไปโสด หรือเหลาะแหละโลเล เป็นไม้ปักเลน

เมื่อได้เจอกับผู้รู้แล้วก็ศึกษาตามที่ท่านเหล่านั้นเป็น เพื่อที่เราจะได้มีหลักยึดในการปฏิบัติว่า มีผู้ปฏิบัติได้จริงเช่นนี้ ถ้าเราปฏิบัติตาม เราก็จะได้ผลเหล่านี้เช่นกัน

คัมภีร์คนโสด

คู่มือคนโสดที่ตกทอดกันมาหลายพันปีนั้น เป็นสมบัติที่ชาวพุทธรู้จักกันดี นั่นคือพระไตรปิฎก แม้ว่าพระไตรปิฎกจะมีเนื้อหาหลากหลาย แต่ก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับ “โทษภัย” ของการมีคู่อยู่ไม่น้อย เช่นในอนุตตริยสูตรได้กล่าวไว้ว่า การได้ภรรยานั้นเป็นลาภก็จริง แต่ก็ถือเป็นลาภเลว หรือ “ผู้ตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด   เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต,   ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง” ยิ่งถ้าอ่านเกี่ยวกับพระวินัยของผู้บวชเพื่อการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อย่างจริงจังแล้วล่ะก็ จะรู้ทันทีเลยว่า ศัตรูชีวิตก็คือสตรี…

หนีรอตาย หนีรอโต

โดยพื้นฐานของนักปฏิบัติธรรมนั้น เมื่อเจอกับสิ่งที่ตนเองรู้สึกชอบใจ ก็ควรจะหลีกหนีหรือรักษาระยะห่างที่เหมาะสม ไม่ใกล้ชิดจนเกินไป จนจิตไปสะสมความรักใคร่ที่มากขึ้น ในขณะที่คนทั่วไปนั้นทำตรงกันข้าม คือมุ่งหน้าหาสิ่งที่ตนเองชอบใจ และพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่มากขึ้น

การหนีห่างออกมานั้น แม้จะช่วยไม่ให้เกิดการปะทะที่มากจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้หมายว่าจะหนีได้ตลอดไป ผู้ที่เอาแต่หนี ไม่ยอมศึกษาเพื่อให้ความอยากมีคู่นั้นจางคลายลงไป ก็ทำได้เพียงแค่ “หนีรอตาย” เท่านั้น ไม่พลาดชาตินี้ ก็ไปพลาดชาติหน้า การหนีนั้นแท้จริงแล้ว ก็เพื่อใช้เวลาในช่วงที่ห่างออกมาเร่งศึกษาและปฏิบัติตนให้พ้นจากความอยากมีคู่ ให้เกิดจิตที่ตั้งมั่นในความโสด ให้เกิดปัญญารู้แจ้งในโทษชั่วของการมีคู่นั้น การหนีนี้คือ หนีเพื่อรอการเติบโต หรือ “หนีรอโต

ศึกษาเพื่อก้าวข้ามความอยากมีคู่

การศึกษาของพุทธนั้น มีไว้เพื่อความเจริญโดยลำดับ มิใช่เพื่อดับสิ้นเกลี้ยงในทันที ซึ่งจะมีความเจริญพัฒนาไปตั้งแต่ คนโสดที่อยากมีคู่ (กามภพ) ไปเป็นคนโสดที่ยังอยากมีคู่แต่เห็นโทษก็เลยไม่มีคู่ (รูปภพ) ไปเป็นคนโสดที่ไม่ยินดีในการครองคู่แต่ลึกๆ แล้วยังคงเหลือความอยากมีคู่ ยังมีความขุ่นข้องหมองใจ ไม่ยินดีในความโสดอย่างเต็มที่ (อรูปภพ) ไปจนถึงขั้นดับความอยากมีคู่จนสิ้นเกลี้ยง

การที่เราจะศึกษาและปฏิบัติเพื่อข้ามความอยากมีคู่ได้นั้น จะต้องเริ่มจากศีล คือมีเจตนาละเว้นการครองคู่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการปฏิบัติ เมื่อมีเป้าหมายที่จะขัดเกลากิเลสนั้นแล้ว ก็ให้พัฒนาจิตของตนด้วยสมถะ เช่น การนั่งสมาธิ เดินจงกรม กำหนดลมหายใจ หรือจะเป็นสมถะในการงานต่างๆ เช่น ขุนดิน ตัดกระดาษ เย็บผ้า ออกกำลังกาย โยคะ ฯลฯ ฝึกจิตให้เกิดความสงบบ่อยๆ ก็จะสะสมเป็นกำลังของจิต ที่จะช่วยเพิ่มพลังไม่ให้หวั่นไหวฟุ้งซ่านเมื่อต้องเผชิญกับเนื้อคู่ ( ตัวเวรตัวกรรม )

ในส่วนของปัญญานั้น เกิดจากการรู้แจ้งโทษภัยของการมีคู่ได้ครบทุกเหลี่ยมทุกมุมตามที่ตนเองเคยหลงติดหลงยึด ซึ่งการจะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องแก้ไขความเห็นผิดต่างๆ ด้วยธรรมะ ด้วยคำตรัสของพระพุทธเจ้า ด้วยประสบการณ์ของผู้รู้ และทำความรู้นั้นให้มีในตน

เดิมทีนั้นเรามีแต่อธรรม แม้จะอยากเป็นโสด แต่ก็ยังเป็นเพียงความใฝ่ดี ยังไม่เกิดผลดีนั้นจริง เราก็ต้องเอาธรรมที่ตรงกันมาล้างอธรรม เราหลงติดหลงยึดในสิ่งใดเราก็เอาธรรมะนั้นมาล้าง กิเลสจะบอกแต่ประโยชน์ของการมีคู่ เราต้องใช้ปัญญาเอาโทษของการมีคู่นั้นมาหักล้าง ซึ่งในช่วงแรกของผู้ปฏิบัติใหม่นั้น กิเลสมักจะมีแรงมากกว่า เรียกว่าเถียงไม่ทันกิเลส แต่พอเรียนรู้ไป ขยันฝึกไป จะเริ่มรู้ทางกิเลสและเถียงกิเลสเก่งขึ้น อันนี้เรียกว่าปัญญาที่จะมาชำระกิเลส มีทั้งแบบจำมา และรู้จริงในตน แบบที่จำหรือเรียนรู้มาก็จำเป็นต้องเรียนรู้ จำเป็นต้องใช้ แบบที่รู้จริงในตนก็จำเป็นจะต้องทำให้เกิดขึ้นในตนเอง ถ้ามันไม่เกิด เอาแต่จำเขามา มันก็จะไม่ไปไหน เพราะยังไม่สามารถสร้างความเจริญขึ้นในตนได้ ยังไม่สามารถทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตนได้

ลงสนามสอบเมื่อจำเป็น

สำหรับเรื่องคู่นั้นเป็นเรื่องที่อันตราย พลาดแล้วพลาดเลย แก้ไขยาก เช่น คบหากันไปแล้ว แต่งงานกันไปแล้ว มีบุตรร่วมกันไปแล้ว พอเข้าไปแล้วมันไม่ได้ออกกันง่ายๆ ดังนั้นพื้นฐานของนักปฏิบัติธรรมก็คือหนีห่างไว้เป็นหลัก ปะทะเมื่อจำเป็น นั่นหมายถึงในเรื่องคู่ไม่ต้องขยันไปหาสนามสอบที่ไหน ไม่ต้องไปสมัครเพื่อทดสอบฝีมือตัวเอง เพราะถ้าหลงแล้วมันหลงเลย รู้ตัวอีกทีก็อาจจะมีลูกไปแล้วก็ได้

เราไม่จำเป็นต้องกังวลว่าเราจะไม่ได้สอบ ฝึกปฏิบัติมาอย่างเต็มที่แล้วกลัวจะไม่เจอโจทย์ (ร้อนวิชา) เพราะหลายชาติที่ผ่านมาของเรา กว่าจะถึงวันที่อยากออกจากนรกคนคู่ ส่วนมากแล้วก็ต้องมีคู่มามากมายจนเห็นทุกข์โทษภัยกันมาแล้วทั้งนั้น นั่นหมายถึงเราเคยสร้างเวรสร้างกรรมกับใครต่อใครไว้มากมาย ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีโจทย์ เนื้อคู่(ตัวเวรตัวกรรม) ที่จะเข้ามาพิชิตใจเรานั้น มีอยู่ไม่ใช่น้อยอย่างแน่นอน

แต่เราก็จะไม่ประมาท ถึงแม้ว่าวันสอบยังไม่มาถึง เราก็ซ้อมทำโจทย์กันไปก่อน เห็นคนนั้นคนนี้เขารักกัน เราก็ตรวจใจเราไป ว่าเรายังอยากเป็นอย่างเขาอยู่ไหม เรายังมีจิตยินดีในแบบของเขาอยู่ไหม เรายินดีในการเป็นโสดของเราอยู่ไหม หรือมีอาการน้อยใจ หดหู่ใจ ขุ่นใจ แอบอิจฉาเขาอยู่ลึกๆ เราก็ขยันตรวจใจ หากิเลสแล้วทำลายมันไปเรื่อยๆ

โสดอย่างเป็นสุข

การผ่านโจทย์จากโสดรอเสพไปสู่โสดอย่างเป็นสุขนั้น ไม่ได้ทำได้ง่ายเพียงแค่ครั้งเดียวผ่าน เราอาจจะต้องลงสนามสอบหลายครั้ง สอบตกกันหลายครั้ง ต้องมาสอบซ่อมกันอีกหลายครั้ง ถึงแม้จิตใจเราจะหวั่นไหว รู้สึกอยากมีคู่ แต่ถ้าเราอดกลั้นฝืนทนข่มใจ ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ไหลไปตามกิเลส แล้วกลับมาฝึกใจใส่ปัญญาใหม่ เราก็จะมีโอกาสได้สู้เรื่อยๆ และปฏิบัติธรรมก็เป็นแบบนี้ สู้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชนะ เพราะชนะจริงๆ นั้นมีครั้งเดียว แต่ในระหว่างที่เราศึกษา เราก็เก็บปัญญาตามทางมาว่าเราแพ้เพราะอะไร พลาดไปโดนเหลี่ยมไหน มันมีรูรั่วตรงไหน เราก็กลับมาอุดรูรั่วนั้นแล้วค่อยไปสู้ใหม่

การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องมีผัสสะเป็นเหตุเกิด นั่นหมายถึงจะนั่งนึกคิดเอาเองไม่ได้ว่าเราหลุดพ้นจากความอยากมีคู่แล้ว เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทบกับสิ่งที่เราเคยชอบใจ แล้วไม่มีอาการสั่นไหวใดในจิตใจเลย มีเพียงการรับรู้ตามจริง ไม่ดูดดึง ไม่ผลักไส คือไม่มีความรู้สึกลำเอียงใดๆ เกิดขึ้นกับสิ่งนั้น และไม่มีอคติใดๆ เกิดขึ้นเช่นกัน จึงเป็นสภาพไม่ดูดไม่ผลัก ไม่รักไม่เกลียด เป็นสภาพไม่ทุกข์ไม่สุข ไม่ใช่ว่ายังเห็นว่าการมีคู่นั้นเป็นเรื่องสุขอยู่นะ ถ้าเห็นแบบนั้นยังไม่พ้น และที่สำคัญไม่ว่าจะต้องกระทบ เผชิญหน้า พูดคุย ทำอะไรต่อมิอะไร เขาทำสิ่งดีให้เรา เขาทำเป็นง้องอนเรา เขายั่วเรา เขาบอกรักเรา เขาอ้อนวอนขอให้เราเป็นคู่ เราก็จะไม่มีอาการหวั่นไหว จิตใจไม่เคลื่อนไปจากความเห็นที่ว่าความโสดคือความผาสุกในชีวิตเลย สุดท้ายไม่ว่าจะกระทบสักแค่ไหนในปัจจุบัน ตรวจใจไปถึงเหตุการณ์ในอดีต จินตนาการไปถึงอนาคต ก็ไม่มีเหตุการณ์ไหนที่จะทำให้เราหวั่นไหวเผลอตัวห่างจากความโสดได้เลย แล้วก็ตรวจใจซ้ำลงไปให้ละเอียดว่าแม้ธุลีของความลังเลแม้น้อยเดียวก็ไม่มีในจิต ก็จะเข้าถึงสภาวะของความโสดอย่างเป็นสุขได้นั่นเอง

….การอยู่เป็นโสดนั้นถือเป็นโจทย์ปราบเซียนโจทย์หนึ่ง เพราะไม่ง่ายที่คนทั่วไปจะทำได้ แม้ผู้มีศีล ๕ อย่างตั้งมั่นในจิตก็ยากจะต้านทานความอยากมีคู่ได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรประมาท ควรระลึกไว้เสมอว่าก่อนวันสอบจะมาถึง เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งด้านกำลังจิตและกำลังปัญญา เพื่อที่จะเอาตัวรอดจากโจทย์นรกคนคู่นี้ให้ได้ อย่างน้อยๆ ก็ให้สามารถคงสถานะโสดไว้ได้ แม้จิตใจจะยังหวั่นไหวก็ตามที

24.7.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นเรื่องของจิตใจ

April 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,217 views 0

การไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นเรื่องของจิตใจ

ความเจริญของจิตใจนั้นสามารถชี้วัดได้จากสิ่งหนึ่ง คือการลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นผลที่เจริญขึ้นจากการทำความเห็นให้ถูกต้องโดยลำดับ

การไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจโดยตรง เพราะการจะเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นเราจะต้องหักห้ามใจ บังคับใจ ไม่ให้ใจนั้นหลงไปกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ จะไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความเมตตา หวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสัตว์ทั้งปวง ก็เป็นจิตที่เมตตาจนถึงรอบที่จะลงมือทำ ไม่ใช่แค่คิดเมตตาแต่ปากยังเป็นเหตุให้เบียดเบียนอยู่ หรือว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ การหักห้ามใจไม่กินเนื้อสัตว์นั้นเป็นเรื่องที่จะทำให้ไม่เบียดเบียนตนเอง ถ้ากินแล้วตนเองก็เป็นทุกข์ เป็นโรค ก็ต้องฝืนใจเลิก นั่นเพราะใจที่ทุกข์จากเหตุแห่งสุขภาพนั้นมีน้ำหนักกว่าสุขเมื่อได้เสพเนื้อสัตว์ หรือจะเหตุผลอื่นใดก็ตาม การลด ละ เลิกสิ่งที่เป็นภัยต่อตนเองและผู้อื่นย่อมเป็นเรื่องดีทั้งสิ้น

แต่การจะเลิกกินนั้นไม่ง่าย หากเราตั้งใจละเลิกกินเนื้อสัตว์สักอย่างที่เราเคยติด เช่นเนื้อวัว การจะออกจากเนื้อวัวได้ต้องหักห้ามใจไม่ไปกินเป็นเบื้องต้น จนพิจารณาเห็นโทษภัยของการกินเนื้อวัวจนความอยากนั้นจางคลาย จึงค่อยๆ ขยับไปเลิกหมู ไก่ ปลา สัตว์เล็กสัตว์น้อยอื่นๆ จนถึง นม ไข่ น้ำผึ้ง ฯลฯ ซึ่งหลายคนก็สามารถตัดทุกอย่างทั้งชีวิตได้ในทันที แต่อีกหลายคนก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ การเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นต้องมีกำลังใจที่หนักแน่นและสำคัญที่สุดคือกำลังของปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงในโทษชั่วของการที่เรายังกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น

ในขณะที่เรากำลังพยายามลด ละ เลิก ก็จะมีเสียงสะท้อนกับสังคม คำชื่นชมจากคนเห็นดีกับไม่กินเนื้อสัตว์ ไปจนถึงคำประชดประชันจากคนที่มีอคติต่อการไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ ถ้าเราเลิกแค่เนื้อวัวเราก็จะเจอการกระทบระดับหนึ่ง แต่ถ้าเลิกหมู ไก่ ปลา ไปอีกก็จะเจอแรงกระทบอีกระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าไม่กิน นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง ด้วยแล้วยิ่งจะเจอมากเข้าไปอีก ชมก็ชมมาแรง นินทาก็นินทามาแรง และยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราเป็นผู้นำเสนอข้อดีของการไม่กิน ชักชวนผู้อื่นให้ละเว้นเนื้อสัตว์ แม้จะมีจิตที่ยินดีแบ่งปันสิ่งดีให้กับคนอื่นเช่นนั้น ถึงจะสื่อสารอย่างถูกกาลเทศะอย่างไรก็ตาม แต่ก็จะไม่สามารถหนีสรรเสริญนินทาพ้น

สรรเสริญก็ทำให้อัตตาโต ยิ่งมีคนชื่นชมมากๆ ก็สามารถทำให้หลงติดดีได้ นินทาก็เช่นกัน มันจะมาในทุกรูปแบบ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งสุภาพและหยาบ ซึ่งจะคอยแซะให้เราตบะแตกแสดงความโกรธ นี่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องฝึกจิตใจ อดทนข่มใจไม่ลอยไปตามคำชม ไม่ขุ่นมัวไปตามคำนินทา

สรุปแล้ว ตลอดเส้นทางแห่งการละเว้นเนื้อสัตว์ ย่อมจะเจอโจทย์ที่หลากหลายเข้ามาฝึกใจ ทั้งจากข้างในและข้างนอก ความอยากกินเขาเราเองก็ว่าหนักแล้ว เสียงจากสังคมก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก คนที่จิตใจไม่ตั้งมั่นในการทำความดี ไม่มีกำลังใจ ไม่มีปัญญา ก็จะหวั่นไหวได้ง่าย เจอโลกเขาลากกลับไปกินเนื้อสัตว์ ก็กลับไปกินตามเขา เพราะใจง่ายนั่นเอง การไม่กินเนื้อสัตว์จึงเป็นเรื่องของจิตใจที่ต้องฝึกฝนเช่นนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

15.3.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)