Tag: การปล่อยวาง

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

June 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,837 views 0

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

เรามักจะเข้าใจว่ามีแต่คนชั่วเท่านั้นที่จะได้รับผลไม่ดี ใครเล่าจะเชื่อว่าแท้จริงแล้วคนดีก็มีโอกาสที่จะได้รับกรรมชั่วที่ตนเองทำมาเช่นกัน ในบทความนี้จะมาขยายความรักของคนดี กรรมชั่วที่จะมาเป็นหลุมพรางและกิเลสที่บังตา ซึ่งพร้อมจะพาคนดีมาตกหลุมที่ตัวเองขุดไว้เอง

ขึ้นชื่อว่าคนดีนั้นย่อมไม่ยอมรับความชั่วที่ตนเข้าใจว่าชั่วเข้ามาใส่ตัวอยู่แล้ว ดังนั้นความรักของคนดีจึงมักจะมองไปข้างหน้าเสมอ ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับความรักของคนทั่วๆไป คือแสวงหาสิ่งที่ดีกว่ามาเสพ ความรักของคนดีก็เช่นกัน เขาเหล่านั้นจะเฝ้าแสวงหาสิ่งที่ดีที่เลิศกว่าธรรมดามาเสพ นั่นหมายถึงคนดีจะมีสเปคที่สูงมากกว่าคนปกติ

ดังเช่นว่า แค่มีคนเก่งเข้ามาในชีวิตคงไม่พอใจ ต้องมีปัจจัยอื่นด้วย โดยเฉพาะความดีและศีลธรรม ซึ่งตามธรรมแล้วคนดีก็มักจะอยู่ในสังคมที่ดีเป็นธรรมดา ดังนั้นเขาและเธอจึงได้เจอกับคนดีเป็นเรื่องปกติ นั่นหมายถึงบุคคลที่คนดีจะไขว่คว้ามาเป็นคู่ครองนั้นจะต้องดียิ่งกว่าคนดีทั่วไปเสียอีก

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะหาคนแบบนั้นได้ง่ายๆ จึงปรากฏภาพคนดีอยู่เป็นโสดกันมาก แม้ว่าคนดีเหล่านั้นจะมีหน้าตาดี การศึกษาดี การงานดี ฐานะดี ก็ใช่ว่าจะหาคู่กันได้ง่ายๆ เพราะสเปคของเขาหรือเธอนั้นสูงเหมือนกับการฝันว่าจะได้ไปสร้างวิมานอยู่บนสวรรค์ ซึ่งจะต่างกับคนทั่วไปตรงที่สเปคของคนทั่วไปนั้นไม่สูงเท่าไหร่ แค่มีปัจจัยพอสมควรเขาก็ควงคู่แต่งงานกันไปแล้ว แต่คนดีจะไม่สามารถเสพสุขธรรมดาๆแบบนั้นได้ เพราะรู้ว่าตนเองก็ดีอยู่แล้ว ถ้าจะหาใครมาเพิ่มอีกสักคนต้องทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือพัฒนาขึ้นจึงปรากฏเป็นคำกล่าวดังเช่นว่า “หาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่มีดีกว่า

ดังนั้นสภาพของคนดีก็คือการตั้งภพของคู่ในฝันที่สูงจนไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ จึงเป็นโสดทั้งๆที่ใจก็ไม่ได้อยากเป็นโสด แต่ก็มักจะเข้าใจว่าตนเองยังเป็นสุขดีแม้จะโสด ซึ่งนั่นคือสภาพของเคหสิตอุเบกขา คือการปล่อยวางแบบชาวบ้าน ก็มันหาเสพไม่ได้ก็เลยไม่ไขว่คว้า ไม่โหยหา ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่เขาใช้ชีวิตไปเรื่อยๆโดยไม่แสวงหาคู่นั่นแหละ คือไม่ใช่ไม่หา แต่มันหาไม่ได้ มันไม่มีให้เห็น เลยทำได้เพียงแค่ปล่อยวางและทำเฉยๆ แต่แบบนี้กิเลสก็ยังคงเดิม เพราะเป็นการปล่อยวางโดยสภาพจำยอมไม่ใช่การปล่อยวางที่เกิดจากปัญญารู้แจ้งธรรมอะไร ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ปล่อยวางได้ เป็นสภาพสามัญของมนุษย์ทั่วไป ดีเลวก็สามารถมีภาวะนี้ได้

แต่กระนั้นคนดีเหล่านั้นก็จะยังไม่ปิดประตูเสียทีเดียว เขาหรือเธอก็จะเปิดประตูแง้มไว้ รอคอยคู่ในฝันที่จะโผล่เข้ามาในชีวิตวันใดก็วันหนึ่ง จึงได้แต่เฝ้าฝันอยู่ในใจว่าถ้าวันหนึ่งได้เจอคนในฝันก็จะสละโสด ซึ่งก็เหมือนกับคนทั่วไปนั่นแหละ เพียงแค่ปัจจัยในการมีคู่นั้นมีข้อเรียกร้องที่ต่างกัน ทำให้เกิดภาพที่ว่าแม้จะมีคนมาจีบคนดีมากเท่าไหร่ ดีแค่ไหน คนดีก็ยังไม่สละโสดเสียที นั่นเพราะคนที่เข้ามาเหล่านั้น ยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนดีได้ เรียกได้ว่ากิเลสของคนดีนี้มีความเหนือชั้นกว่าคนทั่วไปนั่นเอง แม้การตั้งสเปคสูงเข้าไว้อาจจะป้องกันคนชั่วได้บ้าง แต่กิเลสกลับหนาเสียจนน่ากลัว เพราะในสเปคที่สูงเหล่านั้นก็มักจะมีขอเรียกร้องของกิเลสร่วมอยู่ด้วยเสมอ

ทีนี้ความซวยของคนดีจะมีมิติที่แตกต่างกับคนทั่วไปอยู่อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะคนดีที่ปฏิบัติธรรม แต่ปฏิบัติผิดทางหรือยังไม่ถึงขั้นด้วยแล้ว จะเข้าใจว่าการมีคู่นี่แหละคือความสมดุลทางโลกและทางธรรม เข้าใจว่าคนที่ปิดประตู เลือกที่จะไม่มีคู่คือคนที่ยึดมั่นถือมั่น แต่ตนเองนั้นไม่ยึดมั่นถือมั่นจึงเปิดประตูรอคู่อยู่เสมอ

ทั้งที่จริงแล้วนี่คือสภาพของการรอเสพกามซึ่งเป็นเรื่องสามัญธรรมดาของคนทั่วไป นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นคนชั่วคนดี คนปฏิบัติธรรมหรือไม่ปฏิบัติธรรมก็จะมีสภาวะของการรอเสพกามเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เรียกว่าเสพกามโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ แต่นั่นก็ผิดจากหลักของศาสนาพุทธเพราะโต่งไปทางกาม

ความสมดุลโลกและธรรมที่แท้จริงนั้นคือไม่โต่งไปทั้งด้านกามและอัตตา คือคู่ก็ไม่มีและไม่เกลียดคนมีคู่ นั่นคือไม่สนใจที่จะเสพสภาพของการมีคู่หรือความสุขในเรื่องคู่อีกต่อไป ทั้งยังไม่รู้สึกรังเกียจการมีคู่จนทรมานตัวเอง นี่คือทางสายกลางของพุทธที่ไม่เสพทั้งกามและไม่ติดอัตตา

ดังนั้นหลุมพรางคนดีนี้เองคือสิ่งที่ร้ายสุดร้าย ทำให้คนดีหลงไปว่าตนจะต้องเจอแต่คนที่ดีเท่านั้น คู่ของตนต้องดีเท่านั้น และการมีคู่ดีนั้นดีที่สุด นั่นเพราะคนดีเขาทำแต่เรื่องดี เลยยึดมั่นถือมั่นว่าตนจะต้องได้เสพแต่สิ่งที่ดี เลยเกิดสภาพติดความเป็นเทวดา คือเป็นจิตเป็นเทวดาในร่างมนุษย์นี่เอง ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมีวันร่วงตกสวรรค์กันทุกรายไป วันไหนหมดกุศลกรรมก็หมดโอกาสเสพสุขจากดีในวันนั้น

แต่ความซวยของคนดีคือมีการทำกุศลโลกียะหล่อเลี้ยงชีวิตตนไว้ จึงเกิดสภาพของคู่ครองที่อยู่ด้วยกัน รักกัน ดูแลกันไปจนแก่ซึ่งเป็นภาพฝันอุดมคติของคนดีที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง แม้ว่าใครจะมีภาพนรกของคนคู่มาแสดงเท่าไหร่ คนดีก็จะเชื่อว่าฉันเป็นคนดี ฉันทำแต่ความดี ฉันไม่มีวันพบความชั่วหรอก ถึงชั่วก็ชั่วได้ไม่นานเพราะฉันจะทำดีสู้

นี้เองคือความผูกคนดีไว้กับโลก ดังนั้นคนดีที่ไม่เรียนรู้การล้างกิเลสจะมาตันอยู่ในสภาพสุดท้ายคือการหาคู่ที่ดีและพัฒนาทางธรรมไปด้วยกัน นี้เองคือวัฏสงสารของคนดีที่ถูกกิเลสหลอกล่อให้หลงเสพหลงสุขอยู่ในการมีคู่ ไม่สามารถปล่อยวางการมีคู่ได้เพราะหลงว่าการมีคู่ที่ดีนั้นจะทำให้ชีวิตมีความสุขและเจริญทางธรรมได้

ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสระดับของเครื่องมือศึกษาเพื่อความพ้นทุกข์หรือศีลไว้ชัดเจน ฐานศีลของคนที่ปฏิบัติธรรมแต่ยังคิดจะมีคู่ก็อยู่เป็นระดับพื้นฐาน แต่นั่นก็หมายความว่ายังมีทุกข์มากอยู่ ศีลจึงมีระดับที่ละเว้นสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นต่อจากศีล ๕ ก็จะเริ่มไม่สมสู่กัน ต่อจากไม่สมสู่กันคือการไม่รับใครเข้ามาร่วมผูกพันในชีวิต นั่นหมายถึง เป้าหมายของความเจริญสูงสุดคือไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใดๆเลย

ศาสนาพุทธไม่ได้ห้ามการมีคู่ แต่ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าเรื่องกิเลสเป็นเรื่องยาก ใช่จะบังคับหรือสอนให้ทุกคนเกิดปัญญาได้ในทันที จึงต้องปล่อยให้เรียนรู้ทุกข์กันไปเอง โดยมีระดับของการปฏิบัติเป็นแนวทางไว้ให้สำหรับผู้ต้องการความเจริญทางธรรมว่าถ้าอยากพ้นทุกข์ก็ให้ลดความยึดมั่นถือมั่นในการเสพสิ่งต่างๆลงไปตามลำดับจากหยาบ กลาง ละเอียด

แต่คนดีที่ไม่สามารถจะเจริญทางธรรมได้จะตันอยู่แค่ฐานศีล ๕ ในระดับที่ยังไม่รู้จักกิเลสของตัวเอง กิเลสทำให้อยากมีคู่ก็ไม่เห็นตัวกิเลส อ้างเล่ห์ อ้างเหตุผล อ้างข้อดีต่างๆให้ตนได้มีคู่ ซ้ำร้ายยังมีโอกาสเผยแพร่ความเห็นผิดของตัวเองของสู่สาธารณะโดยไม่อายว่า “ถ้าคู่ที่ดีก็สมควรมี” นี้เป็นภพที่คนดีตั้งไว้ เพื่อให้ตัวเองได้เสพโดยไม่ต้องรู้สึกผิด

คนดีที่ไม่ได้ล้างกิเลสหรือไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงจึงเกิดสภาวะที่ไม่รู้สึกเขินอายแม้จะแสดงความอยากเสพกามหรืออยากมีคู่ออกมา ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะยังไม่สามารถชำระกิเลสออกจากสันดานได้ แต่จะมีความอาย มีความรู้สึกผิดบาปหากจะเปิดเผยว่าตนอยากจะมีคู่ เพราะรู้ว่ากิเลสนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรจะแสดงออกมาให้ใครเห็น

แต่คนดีโดยทั่วไปแล้วจะทำกลับกัน นั่นคือสร้างภพในการมีคู่ สร้างข้อแม้ที่เป็นอุดมคติขึ้นมาว่าถ้าเจอคู่แบบนั้นแบบนี้จะรักและดูแลกันไปจนตาย เป็นคู่บุญคู่วาสนาอะไรก็ว่ากันไปแล้วแต่คนดีจะนิยาม ทั้งนี้ก็เพื่อจะสร้างความชอบธรรมให้เกิดกระแสสังคมว่าถ้ามีคู่แบบนี้ไม่ผิด และนี้เองคือการเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิในคราบของคนดี เป็นความชั่วที่น่าอาย แต่คนดีกลับเปิดเผยความอยากได้อย่างหน้าตาเฉย

และทั้งหมดนี้คือหลุมพรางที่ล่อคนดีให้ตกและหลงวนอยู่ในความเป็นโลกียะอย่างไม่จบไม่สิ้น ไม่ต้องพูดถึงทางธรรม เพราะธรรมนั้นไม่เจริญอยู่ในวิธีของโลก แม้จะเป็นธรรมก็เป็นเพียงกัลยาณธรรม เป็นธรรมที่พาให้คนเป็นคนดี แต่ไม่ได้พาให้พ้นทุกข์ เรียกว่าเป็นโลกีย์ธรรม

ดังนั้นคนดีจึงถูกกิเลสของตนบังตาและพาให้เดินไปตกหลุมพรางที่เป็นวิบากกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้ ตกแล้วก็ปีนขึ้นมา ขึ้นมาแล้วก็เดินไปตกใหม่ วนเวียนอยู่เช่นนี้ไปอีกนานแสนนาน จนกว่าจะทุกข์เกินทนจึงจะแสวงหาหนทางออกจากโลก แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโลกุตระธรรมนั้นไม่ใช่ธรรมที่จะเข้าใจได้โดยสามัญ ซึ่งจะหักความเข้าใจของคนดีเป็นเสี่ยงๆ และยังค้านแย้งกับกิเลสอย่างสุดขั้ว คนดีจึงต้องใช้เวลาอีกหลายภพหลายชาติในการปล่อยวางสิ่งดี ที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าดีนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

18.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล : สมถะและวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน

September 18, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,393 views 1

ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล

ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล : สมถะและวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน

สังคมทุกวันนี้ พอพูดกันว่าปฏิบัติธรรม ก็ต้องนึกกันไปว่าต้องไปที่วัด หรือสถานปฏิบัติธรรม เข้าใจกันไปว่าต้องไปที่นั่นถึงจะได้ทำอย่างนั้น เหมือนกับว่าไปดูหนังก็ต้องไปโรงหนัง ไปกินข้าวก็ต้องไปร้านอาหารยังไงอย่างงั้น

ทีนี้พอกลับมาพูดกันว่าปฏิบัติธรรมภายในตัวเอง ก็ยังเข้าใจกันแบบงงๆอยู่อีก บ้างก็ว่านั่งสมาธิที่บ้าน เดินจงกรม บ้างก็ว่าเจริญสติไปในการกระทำต่างๆ ดับความคิด ทำจิตให้สงบ ก็เข้าใจกันไปว่าปฏิบัติธรรม ซึ่งจะว่าใช่มันก็ใช่บางส่วน นั่นเพราะมันอยู่ในขีดของการทำสมถะเท่านั้นเอง

การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ได้มีความหมายแค่ การทำสมาธิ เดินจงกรม ดับความคิด ทำจิตให้นิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน แต่หมายถึงการทำชีวิตให้ดีขึ้น ให้เจริญขึ้น ในทุกๆเหตุการณ์ในชีวิต

การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ในแต่ละวันเราจะมีเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบกระแทก หรือที่เรียกว่า “ผัสสะ” ผัสสะ คือ เหตุที่ทำให้จิตของเราเกิดอาการไม่ปรกติ เกิดเป็นอาการได้ทั้งทุกข์ สุข หรือเฉยๆ เรียกว่า “เวทนา” ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรากำลังต่อแถวซื้ออาหารอยู่นั้น มีคนเข้ามาแทรกแถวข้างหน้าเรา ผัสสะที่เกิดคือเห็นคนเข้ามาแทรก ด้วยความที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าต้องเข้าแถวสิ ก็เลยเกิดความเป็นทุกข์ เราทุกข์เพราะว่าเขาทำไม่ทำดีตามที่เราหมาย ตามที่เราเข้าใจ ตามที่เราตั้งกฎไว้

ปฏิบัติแบบสมถะ…

ทีนี้นักปฏิบัติสายสมถะ ก็จะรู้ว่าจิตได้เกิดแล้ว จึงใช้สมถะที่ได้ฝึกมา เช่นบริกรรมพุทโธ ยุบหนอพองหนอ นับ 1 2 3… สร้างความรู้สึกที่ตัว ย้ายจุดสนใจของจิตไปไว้ที่จุดอื่น สุดท้ายก็ตบจิต หรือความคิดนั้นๆดับไป เป็นวิถีแห่งสมถะ ถ้าทำได้ก็ถือว่าดี เก่งพอประมาณแล้ว

แต่จริงๆ อกุศลได้เกิดขึ้นไปแล้ว จิตได้เกิดไปแล้ว เวทนาเกิดทุกข์ไปเรียบร้อยแล้ว และการดับแบบนี้เป็นการดับที่ไม่ถาวร เป็นการกดข่ม กดทับไว้ เกิดทีหนึ่งก็ต้องดับทีหนึ่ง ถ้าใครฝึกสมถะเก่งๆก็จะสามารถดับได้โดยไม่รู้ตัวเลย จะว่าดีไหมมันก็ดี แต่ไม่พ้นทุกข์กลายเป็นเหมือนฤาษีที่ต้องติดภพติดสุขอีกนานกว่าจะหลุดพ้นนรกแห่งความสุข

หรือแม้แต่การพิจารณาแบบสมถะ คือการใช้ปัจจัยภายนอกเข้ามาตบ มาทำลายความคิดนั้นทิ้ง เช่น เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น ,โลกก็เป็นอย่างนี้ ,จิตเราเกิดมันก็เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ดับไป แม้เราจะพิจารณาไปตามไตรลักษณ์ แต่พิจารณาไปตามเหตุปัจจัยภายนอกก็ยังไม่สามารถเข้าไปแก้เหตุแห่งทุกข์ได้ การเพ่งพิจารณาในปัจจัยภายนอกก็สามารถแก้ปัญหาได้แค่ภายนอกเท่านั้น ดับแค่ปลายเหตุ ดับได้แค่ทุกข์ที่เกิดไปแล้ว

เมื่อตบความคิด ความทุกข์เหล่านั้นทิ้งไป นักสมถะก็จะสามารถวางเฉย ปล่อยวางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ ไม่ถือสา ไม่เข้าไปยุ่ง ไม่เข้าไปแตะ เพราะได้วางเฉยแล้ว

ปฏิบัติแบบวิปัสสนา…

การวิปัสสนาจะต่างออกไป คือเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังที่ยกตัวอย่าง จะมีทางให้เราเลือกตัดสินใจเพียงชั่วครู่ หากเขาเหล่านั้นมีสติมากพอ จะสามารถจับได้ว่า เมื่อมีคนมาแทรก เขารู้สึกอย่างไร ทุกข์ สุข หรือเฉยๆ เพราะอะไร เมื่อมีผัสสะนั้นๆเป็นเหตุเกิด แล้วมันเกิดจากอะไร ทำไมเราถึงต้องไปทุกข์ ไปสุข กับการที่เขาคนนั้นเข้ามาแทรก เป็นเพราะเรายึดมั่นถือมั่นในกฎใช่ไหม เป็นเพราะเราติดว่าดีเราจึงเป็นทุกข์ใช่ไหม เมื่อค้นเข้าไปอีกก็อาจจะเจอว่า จริงๆแล้วเพราะเราไม่อยากให้ใครมาแทรกเราใช่ไหม, เราหิวใช่ไหม ,ความหิวทำให้เรากลายเป็นคนโกรธง่ายแบบนี้ใช่ไหม, หรือเราโกรธเพราะอ้างความหิว , ที่เราโกรธเพราะเราหวงที่ของเราต่างหาก ไม่อยากให้ใครมาแย่งไป….

พอค้นเจอเหตุที่เกิดหรือสมุทัยได้ดังนี้ จึงพิจารณาธรรมที่ควรแก่การแก้อาการยึดมั่นถือมั่นนี้ต่อไปเช่น เราจะกินช้าสักหน่อยก็ไม่เป็นไรหรอก , เขามาแทรกเพราะเราเคยไปแย่งของใครมาชาติในชาติหนึ่ง ฯลฯเมื่อเห็นทุกข์ที่เกิด เห็นเหตุแห่งทุกข์ รู้ถึงวิธีที่ควรที่จะดับทุกข์นั้น และดับทุกข์นั้นด้วยวิธีที่ถูกที่ควร จะได้ภาวะสุดท้ายคือการปล่อยวางจากกิเลสนั้น

การวิปัสสนา จะมีหลักอยู่ตรงที่ล้วงลึกเข้าไปที่เหตุแห่งการเกิดทุกข์นั้นๆ เพื่อดับทุกข์จากต้นเหตุ ไม่ใช่ดับที่ปลายเหตุแบบสมถะ แต่ก็ใช่ว่าเราจะสามารถค้นเจอเหตุแห่งทุกข์ได้ทุกครั้งเสมอไป บางครั้งต้องทำเท่าที่ทำได้ บางครั้งก็ต้องใช้วิธีพิจารณาแบบสมถะร่วมด้วย ในกรณีที่ผัสสะนั้นแรงเกินไป เช่น นอกจากเขามาแทรกแล้วเขายังเอาเพื่อนเข้ามาแทรกและคุยเสียงดังไม่เกรงใจเราด้วย เมื่อผัสสะนั้นแรงเกินกว่าที่เราจะทนรับไหว เราก็ควรจะใช้การพิจารณาแบบ กดข่ม อดทน ตบทิ้ง เข้ามาร่วมด้วย

การวิปัสสนานั้น จะสามารถดับได้ทั้งทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว และทุกข์ที่จะเกิดต่อๆไปจากเหตุการณ์นั้นๆ หากเราพิจารณาถึงรากของกิเลสจริงๆว่าเรายึดมั่นถือมั่นในเรื่องใดได้ เมื่อล้างได้ถูกตัวถูกตนของกิเลสนั้นจริง ไม่ว่าจะมีคนมาแทรกอีกสักกี่ครั้ง จะแทรกลีลาไหน ยียวนเพียงใด เราก็จะไม่รู้สึกทุกข์อีกเลย เพราะเราได้กำจัดเหตุแห่งทุกข์ในใจเราไปแล้ว

และเรายังสามารถที่จะเตือนเขาโดยที่ไม่ปนเปื้อนไปด้วยจิตที่ขุ่นมัวอีกด้วย ส่วนเขาจะสวนมาในลีลาไหนก็ต้องรอรับผัสสะอีกชุด ซึ่งก็คงจะเป็นกิเลสอีกตัวหนึ่งที่เราจะได้เห็นจากการที่เขาอาจจะไม่ยอมรับว่าเขาแทรก ถ้าเรายังทุกข์อยู่เราก็ล้างทุกข์ไป แต่ถ้าเราไม่รู้สึกอะไรแล้วและเขาไม่เชื่อที่เราแนะนำ ไม่ยอมไปต่อท้ายแถว ถ้าเขายินดีที่จะทำบาปนั้น เราก็ปล่อยเขาไปตามกรรมที่เขาทำ

การสร้างบุญกุศลในชีวิตประจำวัน

เมื่อปฏิบัติธรรมกันแล้วเราก็มาต่อกันที่ผลของการปฏิบัติธรรมว่า เกี่ยวกับ บุญ บาป กุศล อกุศล อย่างไร เช่น ในกรณีที่ยกตัวอย่างมา ถ้าเกิดว่า….

ถ้า…เราสามารถใช้สมถะกดข่มจิตใจที่รู้สึกเคือง ขุ่นใจ ไม่ชอบใจนั้นได้ จนเป็นเหตุให้เราไม่ไปต่อว่าเขาเพิ่ม สร้างบาปเพิ่ม เพราะบาปคือการสั่งสมกิเลส เมื่อเราไม่สั่งสมกิเลสคือความโกรธ กดข่มมันไว้ ก็ถือว่าเป็นบุญ เป็นกุศลระดับหนึ่งแล้ว

ถ้า…เราสามารถ ใช้วิปัสสนา พิจารณาลงไปถึงที่เกิด จนสามารถทำลายกิเลสได้บางส่วน หรือสามารถฆ่าล้างกิเลสได้ทั้งหมด ก็ถือว่าเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่มาก ได้กุศลมาก เพราะอยู่ในระดับอภัยทาน ซึ่งเป็นทานที่ยอมล้างโทสะ สละเหตุแห่งโทสะ คือรากแห่งความโกรธนั้นออกจากวิญญาณของเรา จึงมีกุศลมาก มีอานิสงส์มาก

แต่ถ้า…เราใช้สมถะข่ม แต่ก็กดไม่อยู่ จึงมีอาการขุ่นใจ รำคาญใจ คิดแค้น อาฆาต จ้องจะเอาผิด เพ่งโทษ เราก็จะสั่งสมกิเลสภายในใจตัวเองเพิ่ม เป็นบาป เป็นอกุศล

แต่ถ้า…เราปล่อยใจไปตามกิเลส โดยไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้ง เราจึงกล่าววาจาแห่งความติดดี ประณามผู้ที่มาแทรกด้วยใจที่เต็มไปด้วยความโกรธ และชวนให้คนอื่นโกรธคนที่มาแทรกอีกด้วย ถ้าผู้แทรกละอายถอยหนีก็จบเรื่องไป แต่ถ้าเขาหน้าด้านหน้าทน ทำเนียนไม่ยอมไป ก็อาจจะบานปลาย จนอาจจะเกิดเป็นการทะเลาะเบาะแว้ง ลงไม้ลงมือ เรื่องราวใหญ่โต กลายเป็นบาปมาก เพราะเพิ่มกิเลสคนเดียวไม่พอ ยังชวนคนอื่นเพิ่มกิเลสคือความโกรธอีก อกุศลก็มากตามความเลวร้ายที่เกิดนั่นแหละ

หลายคนอาจจะสงสัยว่าการที่เราไปตำหนิคนที่เข้ามาแทรกนั้นผิดตรงไหน คำตอบก็คือผิดตรงที่มีความโกรธปนเข้าไปด้วย คนเราเมื่อติดดียึดดีแล้วมีความโกรธ จะสามารถคิดทำลายผู้อื่นได้โดยไม่ทันระวังตัว เพราะเห็นว่าตนถูกคนอื่นผิด เพราะมีความยึดดีถือดีบังหน้า เห็นว่าดีแล้วคิดว่าสามารถโกรธได้ ทั้งที่จริงเราก็สามารถที่จะเตือนเขา บอกเขาด้วยใจที่ปกติไม่ต้องมีความโกรธไปปนก็ได้การที่เราโกรธคนที่เขาทำไม่ดี มันก็ยังมีความไม่ดีในตัวเราอยู่นั่นเอง จริงๆแล้วเราก็ไม่ควรจะโกรธใครเลย

ความโกรธยังทำให้เรื่องราวใหญ่โตมากกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆที่ในตอนแรกเราโกรธเพราะเราจะได้กินข้าวช้าไป 1 คิว แต่สุดท้ายเราก็ต้องมาทะเลาะเบาะแว้ง ความโกรธมันก็เพิ่มขึ้น แถมยังได้กินข้าวช้าลงไปอีก เต็มไปด้วยการสะสมกิเลส สะสมบาป สะสมอกุศล และเป็นทุกข์

แต่ละเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบเรานี่แหละ คือการปฏิบัติธรรม ทำให้เกิดบุญบาป กุศลอกุศลในชีวิตประจำวัน เป็นการปฏิบัติสมถะวิปัสสนาที่สอดร้อยเข้าไปในชีวิตประจำวัน ในทุกวินาทีของชีวิต โดยไม่ต้องรอไปวัด

การไปวัดเพื่อหาพระหรือครูบาอาจารย์ ก็คือการไปรับฟังคำสั่งสอน ไปร่วมกุศลกับท่านบ้าง ไปตรวจสอบตัวเอง ไปส่งการบ้าน ไปถามคำถาม ไปปรึกษา การเข้าหาครูบาอาจารย์นั้นเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำ แต่ไม่ใช่ว่าไปหาท่านแล้วจะได้บุญ เพราะเรื่องบาปบุญ กุศลอกุศลนั้น เราต้องทำเอาเอง ทำกันในชีวิตประจำวันนี่แหละ

– – – – – – – – – – – – – – –

18.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์