Tag: กามคุณ ๕

บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?

October 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,449 views 0

การกินไม่มีโทษจริงหรือ?

บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?

ความเห็นที่ว่าการไปยุ่งวุ่นวายกับการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรมนั้น มักจะเป็นความเห็นที่มีการนำเสนอขึ้นมาในช่วงเทศกาลกินเจ แท้จริงแล้วศาสนาพุทธใส่ใจเรื่องการกินหรือไม่ หรือเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ที่เข้าใจว่าการกินไม่มีผล เรามาลองศึกษาบทวิเคราะห์กันดู

มีความคิดเห็นของนักปฏิบัติธรรมบางคนที่เห็นว่าการกินนั้นไม่มีผลต่อการปฏิบัติธรรมบ้าง เลือกกินไปก็ไม่ได้ทำให้จิตใจเจริญบ้าง สนใจเรื่องกินก็ไม่บรรลุธรรมบ้าง แต่ในความเป็นจริงนั้น กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการขัดเกลาหนึ่งของผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านี้ “ท่านให้ศึกษาการกินมื้อเดียว

เปิดเรื่องมาก็เกี่ยวกับเรื่องกินแล้ว การกินมื้อเดียวนั้นอยู่ในจุลศีล ข้อ ๙ เป็นหลักปฏิบัติมาตรฐานในศาสนาพุทธของนักบวชทุกรูปที่พระพุทธเจ้าบวชให้ ถือเป็นศีลต้นกำเนิดของพุทธที่มีมาตั้งแต่แรก เป็นข้อปฏิบัติสู่ความเจริญ ต่างจากพระวินัยที่ถูกบัญญัติขึ้นมาทีหลัง

ท่านยังกำชับไว้ด้วยว่า การกินนี่ต้องประมาณให้ดีนะ (โภชเนมัตตัญญุตา) จะไปสักแต่ว่ากินแล้วกิเลสโตไม่ได้นะ เพราะกินอย่างพุทธคือต้องกินแล้วกิเลสลด กามลด อัตตาก็ลด กามคุณ ๕ เราก็ไม่หลง ความยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่ต้องมี ต้องประมาณให้เกิดความเจริญขึ้นในตน ให้เกิดการชำระกิเลส ให้เกิดกุศล ไม่ใช่แค่กินให้ชีวิตอยู่ไปวันๆ แบบนั้นใครเขาก็ทำกัน เพราะคนจะอยู่ได้ก็ต้องกินอาหารกันทุกคนอยู่แล้ว แต่การจะกินให้เกิดความเจริญนี่มีเฉพาะในพุทธเท่านั้น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับเหตุของการเกิดของตัณหา (ตัณหาสูตร) หนึ่งในนั้นคืออาหารที่ได้รับมา นั่นหมายความว่าการกินอาหารทุกวันนี่แหละ จะทำให้เกิดตัณหาได้ แล้วทีนี้คนที่เห็นว่าการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรม ไม่มีผลต่อความเจริญ ประมาทในอาหาร สุดท้ายตัณหาก็แอบโตกันไปสิ เพราะไม่รู้เหตุของตัณหาว่าเกิดที่ใด พอไปยึดมั่นถือมั่นว่าฉันจะไม่ปฏิบัติเรื่องกิน ก็โดนกิเลสลากไปลงนรกหมด

พอตนเองไม่เท่าทันการเกิดของตัณหาในการกิน แล้วยังไม่ยินดีปฏิบัติธรรมในการกิน ก็เท่ากับเสียโอกาสในการล้างกิเลส เมื่อไม่ได้ตั้งศีลตั้งตบะเพื่อละเว้นอาหารที่จะก่อให้เกิดการกำเริบของตัณหา ถึงจะมีผัสสะแต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะ “เมื่อไม่ตั้งใจละเว้นก็ย่อมเท่ากับ เสพกามได้เท่าที่ใจต้องการโดยไม่มีขอบเขต” พอไม่มีขอบเขตก็เลยไม่มีการปฏิบัติใดๆ เกิดขึ้น จึงกลายเป็นการกินเพื่ออยู่ไปวันๆ โดยไม่รู้เท่าทันตัณหา ตัณหานั้นมีอยู่แต่การรู้การมีอยู่ของตัณหาต้องใช้การละเว้นจากสิ่งเหล่านั้นเพื่อที่จะได้เห็นตัณหา(ใช้อธิศีล) เมื่อไม่ยินดีละเว้นหรือปฏิบัติธรรมในเรื่องอาหารก็คือการปล่อยให้ตัณหาโตโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งพระพุทธเจ้าให้ดับปัญหาที่เหตุ การปฏิบัติธรรมนั้นก็เพื่อดับทุกข์ ดับทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ ถ้าอาหารที่ได้มานั้นยังทำให้ตัณหาเกิดอยู่ก็ต้องปฏิบัติกันในเรื่องของอาหาร เพราะตัณหาที่เกิดจากอาหารก็ต้องมาจัดการที่อาหาร จะไปนั่งสมาธิ เดินจงกรมดับมันไม่ได้ ใจมันเกิดความหลงติดหลงยึดในอาหาร ไม่ใช่ว่าขี้เกียจนั่งขี้เกียจเดิน เหตุมันคนละตัวกัน ปัญหาเกิดที่ไหนต้องแก้ที่ตรงนั้น จึงเรียกได้ว่ารู้แจ้งสมุทัย รู้เหตุแห่งทุกข์

ท่านยังตรัสไว้ด้วยว่ากามนี่ให้ละก่อนเลย เพราะกามคือ ข้อปฏิบัติอย่างหยาบช้า (อาคาฬหปฏิปทา) คือ มันชั่วมาก หยาบมาก มีโทษมาก เบียดเบียนมาก ควรละเว้นให้ได้ก่อน คนที่หลงในกามจะมีความเห็นและคำกล่าวดังเช่นว่า “กามไม่มีโทษ” (๒๐,๕๙๖) ดังนั้นผู้ที่เห็นว่ากามไม่มีโทษย่อมตกลงไปในกาม จมสู่กาม มัวเมาในกาม ซึ่งกามในความหมายของพุทธศาสนานั้นกินความกว้างมาก โดยรวมคือการหลงเสพหลงสุข

จะยก “กาม” ที่เกี่ยวกับหัวข้อนี้คือ “กามคุณ ๕ ในอาหาร” เพื่อที่จะชี้ชัดกันว่า ผู้ที่ละเว้นการสำรวมในอาหารการกินนั้นจะมีความเห็นไปทางไหน

กามคุณ ๕ นั้นมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นเดียวกับกับอาหารนั้นก็มีกามคุณ ๕ แบบครบเครื่อง เรียกว่าเป็นกิเลสที่สัมผัสกันได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่รูปคืออาหารนั้นมีหน้าตาดีไหม น่ากินไหม เพียงแค่เห็นรูปสวยก็อยากกินสิ่งนั้นแล้ว, รสชาติ ของอาหารที่เขาว่าเด็ด ร้านไหนอร่อยต้องไปกิน ร้านไหนไม่อร่อยอยากจะขว้างทิ้ง , กลิ่นที่ยั่วยวนหอมหวาน พัดมาตั้งแต่ไหนทำให้เกิดความอยากกินเพียงแค่สูดกลิ่นเข้าไป, เสียง แค่ได้ยินเสียงผัด เสียงตะหลิวที่โดนกระทะ เสียงผัดดังซู่ซ่าก็ทำให้คิดถึงเมนูที่ชอบใจ เกิดอยากจะกินขึ้นมาทันที , สัมผัส ความกรอบ นุ่ม เย็น ร้อน ฯลฯ ทั้งหลายที่ชวนสัมผัส พากันจ่ายเงินซื้อมากินกันจนหนำใจ

เพียงแค่ยกตัวอย่างเรื่องกามหยาบๆเช่นนี้ ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า อาหารนี่เป็นเหตุแห่งตัณหาอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ แล้วยังไงล่ะ? ทีนี้คนที่ปฏิบัติธรรมแล้วตีทิ้งอาหารการกิน มองว่าการกินไม่มีผล เห็นว่าปฏิบัติเรื่องการกินไปก็ไม่เจริญ จะเป็นอย่างไร ….เขาก็โดนกิเลสตลบหลังเข้าสักวันนั่นแหละ เพราะประมาทต่อกาม เพราะกามนั้นล่อลวง กามทำให้ลุ่มหลง ทำให้ประมาทตามประสาของกิเลส

อะไรที่มันน่าใคร่น่าเสพคนเขาก็ไม่อยากจะพรากหรอก ก็หาสารพัดข้ออ้างที่แสนจะดูดีเพื่อให้เสพมันทุกวันนั่นแหละ เพราะมีตัณหา ก็เลยมีอุปาทาน แล้วก็จึงมีภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ไม่จบไม่สิ้น

มันจะจบได้อย่างไรในเมื่อตัณหาไม่ได้ถูกจัดการ ปล่อยไว้เป็นขยะหมักหมม เอาไปแอบซ่อนอยู่ในมุมหนึ่งของจิตใจ แม้วันนี้จะไม่เห็นโทษของมัน แต่วันหนึ่งก็จะรู้ได้เองว่ากามนั้นมีโทษมาก กามเป็นภัยมาก พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงธรรมให้ปฏิบัติโดยลำดับคือให้จัดการกับกามเสียก่อน แล้วค่อยล้างความยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วไปมัวเมาเสพกาม อันนั้นมันวิปริตผิดพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)