อยู่เป็นโสดดี หรือมีคู่ อยู่ที่การให้คุณค่า
ถ้าเราให้คุณค่ากับสิ่งไหน สิ่งนั้นก็จะสำคัญกับเรา แม้ว่าแท้จริงมันจะเป็นเพียงสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อะไรกับชีวิตก็ตามที เพียงแค่เราหลงให้คุณค่ากับมัน มันก็จะมีคุณค่า มีมูลค่า มีราคา ที่เราจะยอมจ่ายให้กับมัน
เรื่องคู่ก็เช่นกัน มันก็อยู่ที่ใครจะให้คุณค่ากับสิ่งนั้น ถ้าให้มาก ก็จะรู้สึกว่ามันมีค่ามาก ไม่ให้เลย มันก็ไม่มีค่าอะไรเลย
ตัวแปรที่จะส่งผลต่อการให้ค่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งคือ “กิเลส”
กิเลสไม่มีจุดจบ แต่ความไม่มีกิเลสมีจุดจบ ดังนั้นพระพุทธเจ้าและสาวกจึงพากันสละกิเลส ตั้งแต่วัตถุหยาบ ๆ ไปจนถึงขั้นสละตัวตนทิ้งไปเสีย
คู่นั้นคือวัตถุที่อยู่ระหว่างทางที่จะต้องสละต่อไปจนหมดกิเลส ก็เรียกว่าประมาณต้น ๆ ทางนั่นแหละ ไม่ได้ลึกลับอะไรมากมาย เพราะเป็นรูปของความเบียดเบียนที่เห็นได้ชัดอยู่ ยังไม่ถึงขั้นนามธรรมที่มองไม่เห็น
ถ้าเราลดกิเลสได้ตามลำดับ ละอบายมุข ถือศีล ๕ และพัฒนาไปเรื่อย ๆ การให้คุณค่าในการมีความรักแบบคนคู่จะลดลงไปเรื่อย ๆ เพราะจะเริ่มเห็นว่ามีอะไรที่ดีกว่า สุขกว่า เบากว่า สบายกว่า
เมื่อมีสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าการมีคู่ การไปแสวงหาคู่ครองหรือหมกมุ่นเรื่องความรักก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ในทันที
แต่การจะเห็นว่าสิ่งใดมีคุณค่ามากกว่าการมีคู่ เช่น เห็นว่าการอยู่เป็นโสดนั้นดีกว่าการมีคู่นั้นไม่ง่าย ต้องอาศัยธรรมะเป็นเครื่องชี้นำและอาศัยพุทธสาวกเป็นผู้ชี้ทาง
ซึ่งจะเป็นการกระทำที่สวนกระแสโลกอย่างมาก เพราะคนส่วนใหญ่ในโลกต่างชี้นำให้ไปมีคู่ มีคู่ให้เป็นตัวอย่าง พลอดรักกันเป็นตัวอย่าง ทำท่าทีเป็นสุขให้เป็นตัวอย่าง แล้วคนส่วนใหญ่เขาจะไปทางไหน เขาก็ไปตามกระแสโลกนั่นแหละ
ดังนั้นการสวนกระแสโลกมาให้คุณค่ากับการอยู่เป็นโสดจึงเป็นเรื่องยากจริง ๆ