เวลากับใจคน : กรรม กาล ความรัก และไตรลักษณ์
เวลากับใจคน : กรรม กาล ความรัก และไตรลักษณ์
เวลากับใจคน (https://www.youtube.com/watch?v=zzcv706q54I)
นั่งหาข้อมูลเกี่ยวกับความเห็นความเชื่อกันนานๆ ก็มักจะหัวร้อน เลยเปิดเพลงคลอไปเรื่อยๆ จนยูทูบสุ่มมาเจอเพลงนี้ ถ้าฟังผ่านๆก็เป็นเพลงตามสมัยธรรมดาละนะ แต่ผมฟังแล้วสะดุดประโยคที่ว่า “ เหตุและผลของเวลา เปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นไป แล้วนับประสาอะไรกับใจคน ”
ได้ยินดังนั้นก็คิดทันทีว่าถ้าอธิบายให้คนเมืองที่ยังวนเวียนอยู่ในห้วงแห่งความรักด้วยวิธีนี้น่าจะเหมาะ แม้เพลงนี้จะเป็นเพลงที่ฟังดูแล้วให้อารมณ์ผิดหวังช้ำรักอย่างโหยหวน แต่ก็มีความเข้าใจโลกอยู่บ้าง จึงลองหยิบมาอธิบายประยุกต์กับธรรมะกันดู
…………………………………………………..
เนื้อหาในเพลงนี้แสดงสภาวะของ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา คือเห็นความเปลี่ยนแปลงที่แน่นอน ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากผลของกรรมที่ส่งผลผ่านกาลเวลาไปเรื่อยๆ เมื่อเราได้เสพสุข หมายถึงเรากำลังได้รับผลของกรรมดีที่เราทำมา ผ่านไปวันแล้ววันเล่าจนกระทั่งผลของกรรมดีชุดนั้นหมดลง ก็จะไม่ได้รับสุขเหมือนเคย และเมื่อหลงติดในสุขนั้นก็จะทำให้เกิดทุกข์
เมื่อเกิดทุกข์จากการไม่ได้เสพสิ่งดี ก็มักจะโวยวายเรียกร้องหาความยุติธรรมบนความเข้าใจที่หลงผิด เพราะทุกอย่างที่ได้รับนั้นก็เกิดจากสิ่งที่เราทำมา สิ่งใดที่ไม่ได้ก็เพราะไม่ได้ทำมา สิ่งเหล่านั้นยุติธรรมสมเหตุสมผลในตัวมันอยู่แล้ว มีเพียงผู้ที่หลงผิดเท่านั้นที่มักจะบอกว่ากฎแห่งกรรมไม่ยุติธรรม นั่นเพราะมีความโลภอยากได้มากกว่าตนทำมา
ต่อมากเมื่อเข้าใจเรื่องของกรรมมากขึ้นก็พยายามทำดีสร้างกุศลเพื่อจะได้เสพผลใหม่ พอผลของกรรมดีส่งผลก็มักจะหลงสุข ยึดติดในสุขนั้นแล้วประมาทต่อกิเลสจนสร้างเชื้อทุกข์ สร้างบาปสร้างอกุศลกลายเป็นกรรมชั่วใหม่ที่จะรอให้ผลชั่วต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุเหล่านี้จึงเกิดสภาพของความไม่เที่ยงเพราะผลของกรรมที่เปลี่ยนแปลง ไม่มีผลของกรรมใดที่จะไม่มีวันหมดผล ได้รับแล้วก็หมด หมดแล้วก็ต้องมาสร้างใหม่ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันแบบนี้
เมื่อเวลาหมุนไปเรื่อยๆ ผลของกรรมที่ได้รับก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และในแต่ละวันเราก็สร้างกรรมใหม่ไปเรื่อยๆ แม้เราจะใช้ชีวิตเหมือนเดิมทุกวัน แต่ผลที่ได้รับมันจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะในชีวิตของเรามีเหตุและปัจจัยหลายอย่างให้เกิดเหตุการณ์อย่างหนึ่งขึ้นมา ทั้งกรรมเก่าของเรา กรรมในปัจจุบันของเรา กรรมของผู้อื่น กรรมของโลก สังเคราะห์รวมกันเกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ต่างๆ มีฉาก มีนักแสดง มีบทพูด ฯลฯ ดังที่เราได้เห็นนั่นเอง
ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นและพยายามทำดีเพื่อให้ตนได้รับแต่ผลของกรรมดีมาเสพ เพราะกลัวความทุกข์จากผลกรรมชั่วหรือการกระทำที่ไม่ดีของตนนั้น จึงมักจะต้องเป็นทุกข์จากความยึดมั่นถือมั่นในผลดีที่จะต้องเกิดกับตน อกหักอกพังเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ดีมาเสพสมใจ บางครั้งทำดีแต่กลับได้รับกรรมชั่ว และจะต้องทนทุกข์ไปอีกนานเพราะความไม่แจ่มแจ้งในเรื่องกรรมและผลของกรรม
ไม่ว่าดีและร้ายที่เกิดขึ้น ก็เหมือนน้ำที่หมุนเวียนอยู่ในโลก น้ำทะเลระเหยไปเป็นเมฆ เมฆกลั่นตัวเป็นฝน ตกลงดินไหลลงแม่น้ำจนถึงทะเล ระเหยไปเป็นเมฆ มันเป็นน้ำเหมือนเดิมแต่สถานะของมันไม่เที่ยง แปรผันอยู่ตลอดเวลา กรรมดีกรรมชั่วก็เช่นกัน มันสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียน ถูกสร้างขึ้นมาและรับผลให้จบลงไป สลับไปมาทั้งดีและร้าย ดังนั้นวิถีแห่งโลกียะจึงยึดเอาเป็นสาระไม่ได้
และการคงอยู่เช่นนี้แหละคือความทุกข์ มีทั้งทุกข์ที่เลี่ยงได้และเลี่ยงไม่ได้ แต่การดำรงอยู่ยังไงก็ต้องทนทุกข์ ยิ่งมีกิเลสก็ยิ่งทุกข์ และยิ่งทุกข์มากขึ้นเมื่อเสียของรัก เพราะไม่ได้เสพสุขอย่างเดิม
เพราะความจริงแล้วทุกสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะยึดมั่นถือมั่นได้เลย กิเลสไม่ใช่ตัวตนของเรา ความอยากและรสสุขเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่มีจริง เป็นเพียงสิ่งที่เราหลงสร้างขึ้นมาเอง จึงไม่มีอะไรที่ควรยึดและหลงเอามาเป็นตัวเป็นตนเลย
. . . เรากำลังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นทุกข์และเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาว่ามันเป็นความสุขของเรา เป็นความภูมิใจของเรา เป็นคุณค่าของเรา และที่แย่ที่สุดคือเรายึดสิ่งที่เป็นทุกข์และเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะมาเป็นตัวตนของเรา
จึงเห็นได้ว่าการอยากครอบครองความรัก ความหลงผิดที่เข้าใจว่าหากมีคู่ที่ดีจะได้เสพสุขได้เท่าที่ใจต้องการ หรือแม้แต่ความอยากในการมีคู่ครองก็ตาม สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า ไม่มีค่า ไม่มีสาระ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้เป็นทุกข์ และเป็นเพียงภาพลวงของกิเลสที่หลอกให้เราหลงยึดมั่นจนสิ่งลวงเหล่านั้นเป็นกลายเป็นตัวเราของเราเท่านั้นเอง
. . . คนที่คิดว่าตนเองนั้นหลุดพ้น ลองสังเกตกรรมของตัวเราดีๆ เช่นชาตินี้ต้องรับกรรมอะไรจากเรื่องคู่บ้าง ต้องทุกข์ขนาดไหนจากเรื่องคู่บ้าง นั่นแหละคือส่วนกรรมที่เราอาจจะต้องรับต่อไป หากเชื้อทุกข์หรือกิเลสยังไม่ดับไป การที่ไม่มีคู่ หรือยังโสดไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส
หากกิเลสยังอยู่ ก็ยังเป็นเชื้อให้เกิดความทุกข์ในชาตินี้หรือชาติต่อๆไปอีก ถึงแม้จะเข้าใจว่าตนเองกำจัดกิเลสไปได้แล้ว ก็ยังสามารถศึกษาเพื่อเพิ่มเติมปัญญาเข้าไปได้อีก เผากิเลสที่หลงเหลือเศษไปอีก เผาไปเรื่อยๆ ให้มันยิ่งสร้างปัญญาที่เห็นโทษในการมีคู่ตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น สะสมปัญญานี้เป็นอริยทรัพย์เก็บไว้ป้องกันตัวเองจากความทุกข์ในชาติหน้าภพหน้า
. . . จะได้ไม่ต้องมาทนทุกข์แบบในชาตินี้อีก
– – – – – – – – – – – – – – –
30.6.2558
ศีลและวินัย
เมื่อศึกษาไปจะค้นพบว่า ศีลคือสิ่งที่ต้องศึกษาเพื่อการเว้นขาดจากการเสพ ไปตั้งแต่กาย วาจา จนถึงใจ
แต่วินัยนั้นคือการห้าม การบัญญัติว่าอะไรห้าม อะไรอนุญาต
ดังนั้นการถือศีลจะไม่ใช่การห้ามตัวเองไม่ให้ทำสิ่งนั้นเพียงเพราะเป็นกฏ แต่เป็นการศึกษาให้เห็นโทษภัยของสิ่งนั้นเพื่อให้เกิดปัญญาจนกระทั่งเว้นขาด จากการทำผิดศีลได้
ยกตัวอย่างวินัยเช่น เราเป็นนักมังสวิรัติ ที่พยายามห้ามใจตัวเองไม่ให้ไปกินเนื้อสัตว์เพราะกลัวจะผิดศีล นี้คือลักษณะถือเป็นวินัย เป็นกฏ เป็นข้อห้าม
ถ้าเป็นการศึกษาศีลจะเป็น เราเป็นนักมังสวิรัติ เราพยายามที่จะศึกษาว่าเหตุอันใดหนอ ที่ทำให้เราอยากเสพเนื้อสัตว์ เราหลงติดหลงยึดอะไรในสิ่งนั้น แล้วเราจะกำจัดเหตุนั้นอย่างไร ให้เราไม่ต้องกลับไปเสพเนื้อสัตว์นั้นอีก
จะสังเกตุว่า แม้ในข้อปฏิบัติเดียวกัน ยังมีความเห็นความเข้าใจในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งก็มีผลที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งโดยหลักของวินัยนั้นจะเน้นควบคุม กาย วาจา แต่ศีลนั้นจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือประกอบในการชำระกิเลส
ไม่มีศีล ไม่มีปัญญา
การจะเห็นตัวตนของกิเลสได้นั้น ว่ามันหลงเสพหลงติดหลงยึดอะไร ถ้าไม่มีศีลก็ยากนักที่จะเห็นสิ่งเหล่านั้นได้
เพราะคนไม่มีศีลก็ไม่ต้องรู้สึกทุกข์อะไร ไม่ต้องมีกฏ ไม่ต้องมีข้อบังคับ แต่คนมีศีลเขาจะใช้ทุกข์ที่เกิดเมื่อถือศีลนั่นแหละ มาเป็นตัวแกะรอยหาเหตุแห่งทุกข์
นั่นหมายถึงคนที่มีศีลจะมีผัสสะมากกว่าคนไม่มีศีล เพราะถ้าไม่มีศีลมันก็ไม่ต้องมีอะไรมาทำให้รู้สึกผิดชอบชั่วดีให้ต้องเกิดเวทนา
เมื่อผัสสะเกิดแต่ละครั้ง เราสามารถใช้สติปัฏฐานเข้าไปตรวจหาตัวตนของกิเลสนั้นได้ เมื่อมีสิ่งกระทบกายภายนอก จึงรับรู้ถึงกายข้างใน คือรู้เข้าไปถึงการเปลี่ยนแปลงของจิตด้วย
เมื่อรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง ก็ให้รู้ต่อว่าเป็นเวทนาแบบใด เช่นเป็นทุกข์ ก็มาต่อว่าที่ทุกข์นั้นเพราะเรามีกิเลสใดปนเปื้อนอยู่ในจิตของเรา ความอยากเสพที่ทำให้จิตนั้นขุ่นมัวคืออะไร โลภ โกรธ หลง แล้วมันโลภยังไง มันโกรธเพราะอะไร มันหลงสุขในอะไร เมื่อหาเจอแล้วก็ ใช้ธรรมที่ตรงข้ามกันเข้ามาพิจารณาเพื่อหักล้างพลังของกิเลส
กระบวนการของสติปัฏฐานจะมีความต่อเนื่องตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ส่งต่อกันไปโดยลำดับ แล้วก็ทำซ้ำไปเรื่อยๆเมื่อผัสสะเกิดแต่ละครั้ง ขุดคุ้ยหากิเลสแล้วก็ล้างไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเดี๋ยวก็หมดเอง
ซึ่งก็จะหมดตามขอบเขตของศีลนั้นๆ ตั้งศีลไว้กว้างเท่าไหร่ก็กำจัดกิเลสเท่านั้น พอเสร็จแล้วก็ขยับศีลไปทำเรื่องอื่นต่อ ศึกษาศีลข้ออื่นต่อ
จึงจะเห็นได้ว่า กระบวนการกำจัดกิเลสนั้นต้องเริ่มจากศีล ส่วนจะเป็นศีลอะไรนั้นก็ให้เลือกศึกษาให้สมควรแก่กำลัง ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมก็จะเจริญได้ไว
เหตุของความอยาก…กับการต่อสู้กิเลส
ใครที่หาเหตุของความอยาก(สมุทัย) เจอแล้วนะ ว่าที่มันอยากน่ะ มันอยากเสพอะไร
เช่นเนื้อสัตว์ก็ไปติดกลิ่น ไปติดรสสัมผัสของมัน
หรือ เนื้อสัตว์ไม่ได้ติดรส แต่ไปติดว่ามนุษย์ต้องการโปรตีน
หรือ กินหลายมื้อ เพราะเข้าใจตามผลการศึกษาทั่วไป
หรือ อยากมีคู่ เพราะเข้าใจว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อสืบพันธุ์
พอเห็นเหตุแห่งความหลงผิดเหล่านี้ ว่ามันจะไปเสพตามสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นไว้ เห็นตัวเห็นตนดังนี้แล้วก็ เพียรพิจารณาไปด้วยธรรมที่ตรงข้ามกับความอยากนั้นๆแหละ จะเป็นความรู้ทางโลก ข้อมูลวิจัย หรือข้อธรรมะต่างๆก็โถมกระหน่ำซัดไปไม่ต้องยั้ง
กิเลสไม่ตายง่ายๆหรอก เราเถียงมันไป คอยดู!! เดี๋ยวมันก็หาเหตุผลเถียงกลับ เราก็เถียงมันกลับไปด้วยธรรมะ ด้วยความจริงตามความเป็นจริง ด้วยหลักฐานอ้างอิงว่าผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ไม่จำเป็นต้องเสพสิ่งไร้สาระเหล่า นี้เลย
แรกๆส่วนใหญ่ไม่ชนะหรอก แพ้เหตุผลกิเลสตลอด แต่ถ้าเราเพียรแย้งกิเลส สวนกิเลส ไม่ยอมให้มันหลอกเราฝ่ายเดียว เราเอาความจริง เอาธรรมะ เอาสัจจะที่มีเข้าไปสู้ สักวันมันก็จะตายไปเอง ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า
….เว้นเสียแต่ว่า หาเหตุแห่งทุกข์ผิด หรือไม่ก็ตื้นเกินไป ไม่ถูกตัวถูกตนของกิเลส ก็เหมือนการโจมตีที่มุ่งเป้าไปที่ฐานข้าศึก แต่ความจริงนั่นเป็นเพียงแค่กำแพงเมืองของมัน พอยึดกำแพงเมืองได้ก็หลงเข้าใจว่ากำจัดข้าศึกได้ ว่าแล้วก็โดนข้าศึกตีกลับ …เมาหมัดกันไป