ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก
ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก
ในบทความนี้จะชี้ให้เห็นเลยว่าการมีสิ่งที่รักนั้นคือความทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีสุขเลยแม้น้อย แต่กระนั้นคนที่หลงในสุขลวงยังพยายามยกสุขลวงเหล่านั้นขึ้นมาเป็นสาระ เป็นประโยชน์ ให้ตนได้เสพสุขในสิ่งที่รักเหล่านั้น
ในปิยชาติกสูตร มีเรื่องราวว่า บุตรของคฤหบดีคนหนึ่งตาย จึงทำให้คฤหบดีเกิดความทุกข์มาก ว่าแล้วก็ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เล่าความตามที่เป็น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ความโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ เป็นของเกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก
แต่คฤหบดีกล่าวว่า ความยินดี ความดีใจก็เกิดจากสิ่งที่เป็นรักด้วย แล้วก็เดินจากไป ไปพบกับกลุ่มนักเลงอยู่ไม่ไกล เข้าไปเล่าความที่กล่าวโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า นักเลงก็เห็นด้วยกับคฤหบดี เมื่อคฤหบดีเห็นว่าความเห็นของตนนั้นตรงกับพวกนักเลง จึงจากไป
– – – – – – – – – – – – – – –
จะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กล่าวถึงสุขเลยแม้แต่นิดเดียว ท่านตรัสถึงแต่เรื่องทุกข์ เพราะจริงๆแล้วมันมีแต่เรื่องทุกข์ ทีนี้คฤหบดีก็ยังมีกิเลส ยังมีความหลงติดหลงยึด ยังมีความไม่รู้อยู่มาก เห็นว่าในทุกข์เหล่านั้นยังมีสุขอยู่ เห็นสุขลวงเป็นสุขจริง จึงได้เผยความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ)ออกมา ซ้ำยังไปหาคนที่เห็นตรงกันกับตนเพื่อยืนยันความถูกต้องในความเห็นของตนอีก
คนที่เห็นผิด ไปคุยกับคนที่เห็นผิด มันก็เห็นผิดเหมือนกันหมด ถึงแม้คนอีกร้อยล้านคนทั่วโลกจะเห็นตามคฤหบดี แต่ก็ใช่ว่าความเห็นเหล่านั้นจะเป็นความเห็นที่ถูก ถึงจะไปเห็นตรงกับคนที่มีชื่อเสียง คนที่ได้รับการเคารพนับถือ แต่ถ้ายังมีความเห็นที่ขัดกับพระพุทธเจ้า ก็ยังเรียกว่าเห็นผิดอยู่ดี
ทีนี้เราลองกลับมาสังเกตตัวเองดูว่าเราเห็นตามพระพุทธเจ้าหรือคฤหบดี เห็นตามบัณฑิตหรือคนพาล ความเห็นเราไปในทิศทางไหน ไปทางเห็นทุกข์หรือไปทางเห็นสุขในสิ่งที่รัก เรายังจะหาเหตุผล หาหนทาง เจาะช่อง เว้นที่เหลือไว้ให้ความเห็นผิดเหล่านั้นทำไม ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสความจริงสู่การพ้นทุกข์ ดังนั้นผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าคือผู้ที่หันหัวไปในเส้นทางทำทุกข์ทับถมตน
ในเรื่องนี้กล่าวถึงสิ่งที่รัก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดและกินความกว้างมาก เพราะหมายถึงทุกสิ่งที่เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพสุขจากสิ่งนั้นก็ยังต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น แล้วเรื่องของการมีคู่ การเป็นคู่รัก การแต่งงาน เป็นเรื่องหยาบๆ ที่เห็นได้ชัด เจาะจงชัดเจนเลยว่ามีการเข้าไปรัก เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพ เข้าไปยึดมั่นถือมั่น คงไม่ต้องบอกกันเลยว่าเป็นการแสวงหาทุกข์มาสู่ชีวิตตนเองขนาดไหน
เพราะขนาดสิ่งที่รักในทุกวันนี้ก็เยอะมากยากเกินจะสลัดออกแล้ว ยังโหยหา ยังแสวงหาสิ่งอื่นเพื่อที่จะรักอีก มันมีทิศทางที่พอกหนาขึ้นเรื่อยๆ กิเลส ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่นที่พอกชั้นหนาขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไข เมื่อถูกความหลงผิดครอบงำจึงไม่ง่ายที่จะรู้ว่าสิ่งใดคือความเห็นที่ถูก สิ่งใดคือความเห็นที่ผิด
ในยุคสมัยนี้ เรายังโชคดีที่ยังมีธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ ยังมีแนวทางปฏิบัติ ยังมีความเห็นที่ถูกตรงที่ท่านได้กล่าวไว้ให้เป็นหลักฐานในการเทียบว่า เรามีความเห็นถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์หรือไม่ ถ้าใครยังมีความเห็นไปในแนวทางของคฤหบดีว่า “ รักมันไม่ได้มีแต่ทุกข์ มันมีสุขด้วย” ก็ควรจะเพียรศึกษาให้มาก เพราะทิศทางของท่านนั้นยังไม่ตรงไปสู่การพ้นทุกข์ หากใช้ชีวิตต่อไปบนทางที่ไม่ตรงเช่นนั้น ก็จะเสียเวลาไปเปล่าๆ เนิ่นช้าไปเปล่าๆ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมใด วินัยใด เป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้น วินัยนั้น ไม่ใช่ของเราคถาคต” ดั้งนั้นการจะอ้างว่า มีคู่เพื่อเรียนรู้ มีคู่เพื่อพัฒนาจิตใจ มีคู่เพื่อเจริญไปด้วยกัน ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุผลของกิเลสที่แนบเนียนที่สุด จึงต้องถูกแย้งด้วยคำตรัสนี้อย่างชัดเจน
นั่นหมายถึง การจะไปมีคู่เพื่อประโยชน์ใดๆนั้น ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ มีแต่พาให้หลงทาง พาให้เสียเวลา สร้างทุกข์และบาป เวร ภัย ให้กับตนเองและผู้อื่น ให้หลงวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี้
ดังนั้นการแสวงหาสุขในรักและการมีคู่จึงไม่ใช่สิ่งที่สมควรกระทำ ผู้แสวงหาสุขในรักและการมีคู่ คือผู้ที่มีความเห็นตามคฤหบดี และเมื่อไม่ได้เห็นตามบัณฑิต การพ้นทุกข์ย่อมไม่มี
– – – – – – – – – – – – – – –
4.8.2558
ช่วงนี้พิมพ์แต่เรื่องโสดๆ
ช่วงนี้พิมพ์แต่เรื่องโสดๆ อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลยนะ ผมก็ทำตามหลักปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ละนะ
คือ…
งดเว้นจากการมีคู่ ชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้นจากการมีคู่ด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการโสดด้วย
ก็เป็นหลักปฏิบัติทั่วๆไปคล้ายๆกับศีล ๕ เช่น งดเว้นจากปาณาติบาตด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้นจากปาณาติบาตด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นปาณาติบาตด้วย
….ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ ชักชวนคนอื่นให้ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ และชมคนที่ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ ก็จะพ้นทุกข์ประมาณนึง
แต่ถ้าเป็นโสดก็จะพ้นทุกข์อีกประมาณนึง คือรวมๆกันแล้วก็มีเรื่องไม่ต้องทุกข์เพิ่มขึ้นมาอีกเรื่อง
ดีนะ
ที่นี้การจะตั้งใจอยู่เป็นโสดนี่ก็ว่ายากแล้ว ยังต้องชักชวนคนอื่นให้เป็นโสดนี่ยากขึ้นไปอีก แถมยังต้องพูดถึงข้อดีของความโสดอีกยากสุดๆ
นี่ถ้ายังมีความอยากในเรื่องคู่อยู่นี่มันชักชวนคนอื่นไม่ไหวนะ มันจะชวนเขาไปมีคู่ท่าเดียวเลย ยิ่งพูดข้อดีของความโสดนี่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ใจมันจะไม่เอาเลย มันจะไม่ยอมโสด หาไปเถอะข้อดีของความโสด หาไม่เจอหรอก กิเลสบังตาหมด
โสดไม่สุข มักมีข้อแม้
จากกระทู้ในพันทิพ : 90% ของคนที่ยังโสด . . . (http://pantip.com/topic/32689273)
ต้องขอบคุณที่เขารวบรวมข้อมูลให้ ลองอ่านกันดูก่อนก็ได้นะ ซึ่งทั้งหมดนั้นก็เป็นข้อมูลทางโลกที่เอาไว้ใช้ศึกษาตนเองได้ดีนะ ว่าเราโสดแบบไหน มีข้อแม้แบบไหน
ที่ต้องเรียนรู้ตัวเองเพื่อที่จะได้ไม่หลงกลกิเลส บางคนคิดว่าตัวเองโสดแล้วจะสุขตลอดไป ทั้งๆที่จริงยังมีข้อแม้ ยังมีเงื่อนไขบางประการให้ใจเป็นทุกข์อยู่
เมื่อไหร่ก็ตามที่ยังดับสารพัดข้อแม้ในการจะไปมีคู่ไม่ได้ ก็เรียกว่าโสดไม่จริง โสดรอนรก รอที่วันใดวันหนึ่ง หรือชาติใดชาติหนึ่งจะได้กลับไปเสพสุขลวงเหล่านั้น
นั่นเพราะความอยากไม่ได้ถูกกำจัด ความยึดมั่นถือมั่นยังมี จึงมีการอาศัยการมีคู่เป็นหลักชัย มีการแสวงหาคู่ มีความเสื่อมจากคู่ มีความพลัดพรากจากคู่ จึงเกิดความทุกข์ เศร้าโศก เสียใจ คับแค้นใจจากการมีคู่ในที่สุด
ผู้ที่มีปัญญารู้แจ้งในโทษชั่วของการมีคู่ รู้ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ควรยึดถือไว้ มันเป็นทุกข์ และมันไม่มีสุขจริงเลย มีแต่สุขลวง จึงจะละหน่ายคลายจากความอยาก ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ดับภพ ดับชาติ
กลายเป็นคนโสดอย่างเป็นสุข เป็นโสดที่ไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาหรือต้องทนทุกข์จากการมีคู่ใดๆอีก
ฉันยอมรับผิด การปลดปล่อยทุกข์จากความผิดหวังในความรัก
ฉันยอมรับผิด การปลดปล่อยทุกข์จากความผิดหวังในความรัก
ความผิดหวังในความรักนั้นสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ที่หลงติดหลงยึดในความหวังว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นอย่างนั้นและจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป
คนที่ผิดหวังมักจะกอดเก็บทุกข์เอาไว้ พร้อมด้วยกิเลสที่คอยเผาใจ คือความโกรธ ผูกโกรธ อาฆาต พยาบาท ฯลฯ จองเวรจองกรรมอยู่กับผู้ที่ทำให้ต้องพบกับความผิดหวังในความรัก
แต่ถ้าหากเรากลับมาทบทวนดีๆแล้ว ไม่มีใครเลยที่เราสมควรจะโกรธ หรือไปโทษเขา ความผิดหวังที่เราได้รับทั้งหมดนั้นเกิดจากตัวเราเอง เกิดจากกรรมที่เราทำมาเอง มันถูกต้องแล้วที่เราจะต้องได้รับความผิดหวังนั้น มันเป็นผลของกรรมที่เราจะต้องรับ มันสมเหตุสมผลและยุติธรรมที่สุดในโลกแล้วกับสิ่งที่เราได้รับมา
การยอมรับผิด คือการปลดปล่อยตัวเองออกจากความโกรธเกลียดและความผิดหวังทั้งหลาย ผู้ที่เข้าใจเรื่องกรรมอย่างถ่องแท้จะไม่โทษใครเลย เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ตนเองทำมา เมื่อเข้าใจเช่นนั้นก็จะสามารถยอมรับสิ่งที่ตนเองทำมาได้ด้วยความเต็มใจ ยอมรับผลกรรมนั้นด้วยใจที่เป็นสุข ไม่คิดแค้น ไม่โกรธ ไม่โทษใครอีก
การที่เรายังทุกข์เพราะความผิดหวังในความรักนั่นก็เพราะเราไม่ยอมรับผิด เรามักจะโยนปัญหาออกไปนอกตัวเสมอ พยายามหาคนผิดที่ไม่ใช่เรา บอกกับตัวเองว่าฉันไม่ได้ทำมา คนที่มาทำฉันคนนั้นผิด หรือฉันทำมาแต่ฉันก็ไม่ได้ขนาดนั้น แม้จะคิดและเข้าใจเช่นนั้นแต่ก็ไม่สามารถสลัดทุกข์ออกจากใจได้ แม้จะโยนความผิดบาปให้กับคนอื่นแต่ก็ไม่ทำให้จิตใจสงบและเป็นสุขได้ เพราะความจริงแล้วเรากำลังโกหกตัวเองอยู่
การโกหกว่าเราไม่ใช่ต้นเหตุของความผิดหวังเหล่านั้นคือสิ่งที่ขวางกั้นไม่ให้จิตใจหลุดพ้นจากความทุกข์ ถึงแม้จะโยนความผิดบาปให้กับผู้อื่น แทนที่ปัญหาจะหมดไป แต่กิเลสข้างในกลับโตขึ้น สร้างความโกรธ รังเกียจ พยาบาท สร้างโทสะต่างๆขึ้นมาเผาใจตัวเองให้ทุกข์ซ้ำเข้าไปอีก
ดังนั้นการแก้ปัญหาความทุกข์จากความผิดหวัง ไม่ใช่การหาสาเหตุว่าใครผิด หาไปก็เท่านั้น แม้ว่าเหตุการณ์ในชีวิตจะดูเป็นบทละครที่สร้างให้มีตัวเอกและผู้ร้ายอย่างชัดเจน แต่ความจริงแล้วผู้ร้ายที่สุดก็คือตัวเราเอง เพราะเป็นกรรมของเราเอง ถ้าเราไม่เคยทำชั่วไว้ ก็ไม่มีทางที่ผลของกรรมชั่วนั้นจะกลับมาหาเราได้เลย
เหตุการณ์จะล่อหลอกให้คนที่ไม่เข้าใจกรรมและผลของกรรมอย่างแจ่มแจ้งให้หลงผิดไปโทษคนนั้นที คนนู้นที ที่ทำให้ตนผิดหวังช้ำรักต้องประสบทุกข์ มันเป็นเพียงฉากหน้าของละครที่กรรมได้ลิขิตไว้ หากเราพิจารณาเรื่องกรรมและผลของกรรมให้ถ่องแท้ ก็จะพบว่า เรานี่เองที่เป็นส่วนหนึ่งในการเขียนบทละครนั้น เป็นผลกรรมของเรา เกิดจากสิ่งที่เราเคยทำมา ไม่มากไม่น้อย ไม่ขาดไม่เกิน
ผู้ที่จะสามารถหลุดพ้นจากนรกแห่งทุกข์ได้ คือผู้ที่ยอมรับผิด ยอมรับว่าเป็นกรรมที่ตนเองนั้นทำมาจริงๆ แม้จะสืบสาวราวเรื่องในอดีตไม่ได้ แม้จะเป็นผลกรรมจากชาติปางก่อน แต่ด้วยปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมจะทำให้ไม่สงสัยแม้แต่นิดเดียวว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราทำมาหรือไม่ เพราะมีเพียงคำตอบเดียวว่าสิ่งที่เราได้รับคือสิ่งที่เราทำมา เราไม่มีทางได้รับสิ่งที่เราไม่ได้ทำมา
ดังนั้นการยอมรับผิดด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง จึงทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ หลุดพ้นจากกิเลสที่คอยเผาใจ หลุดพ้นจากการสร้างบาปและอกุศลกรรมจากความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นความผิดของผู้อื่น หลุดพ้นจากบ่วงเวรบ่วงกรรมที่คอยผูกมัดไว้ หลุดพ้นจากความหลงผิดที่เคยเป็นมารกัดกร่อนจิตใจมานานแสนนาน
– – – – – – – – – – – – – – –
28.7.2558