การช่วยเหลือคนทุศีล

July 21, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,502 views 0

จากบทความที่กล่าวถึง การเลิกรับใช้คนชั่ว ก็มีคำถามเข้ามาว่า “แล้วถ้ามีคนมาขอเงิน และเค้าเป็นคนทุศีล แต่เราให้แค่ข้าวเค้าพอกิน 1 มื้อ เพราะถือว่าฝึกการทำทานแบบไม่เลือกไม่เจาะจง อย่างนี้ได้ไหมคะ หรือ ไม่ควรให้เลย

ตอบ : ถ้าผมเห็นชัดแล้วว่าเขาเป็นคนทุศีล เน่าใน ประพฤติชั่วจริง ก็จะไม่ให้การสนับสนุนใด ๆ เลยครับ

การไปยุ่งกับคนชั่วคนพาลนั้นในท้ายที่สุดก็จะเป็นการสร้างทุกข์ให้ตน ดังนั้นมงคลชีวิตประการแรกเลย ก็คือการห่างไกลคนพาล ก็คือคนทุศีลเน่าในเหล่านั้นนั่นแหละ

ทีนี้มานิยามคนทุศีลเพิ่มกันหน่อย คนทุศีลคือผู้ที่ตั้งใจไว้ว่าจะถือศีล แล้วล่วงละเมิดศีลเหล่านั้นเป็นนิจ หรือคนที่ประกาศตนว่าจะเสียสละ แต่กลับแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน เป็นต้น คือคนที่ทำผิดจากธรรม แล้วไม่แก้กลับ ไม่กลับมาทำดี

แม้ใจเราจะบริสุทธิ์ แม้ทานที่เราให้จะบริสุทธิ์ แต่ผู้รับไม่บริสุทธิ์ มันก็ยังเหลือส่วนที่ไม่บริสทธิ์อยู่ดีนั่นเอง การห่างไกลคนพาล คบบัณฑิต บูชาบุคคลที่ควรบูชาจึงเป็นการอุดรูรั่วตรงนี้ คือเข้าไปอยู่ในสังคมที่ดี คบแต่คนที่ดีไปเลย โอกาสพลาดไปทำทานที่ไม่บริสุทธิ์ก็จะลดลง

ส่วนการฝึกทำทานนั้น ทานในพุทธมีไว้เพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นเป็นอันดับแรก คือทำกิจตนก่อน อีกส่วนคือกิจท่าน หรือประโยชน์ของผู้อื่น อันนี้เราควรจะศึกษาเรียนรู้ให้ดีว่าเราควรจะให้ทานนั้นแก่ใคร

ในอนุตตริยสูตร ได้กล่าวถึงการบำรุงที่เลวและการบำรุงที่ยอดเยียม การบำรุงก็คือการทำให้สิ่งนั้นเจริญเติบโตยิ่งขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสยกตัวอย่างว่า

“ก็ปาริจริยานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมบำรุงกษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง คฤหบดีบ้าง บำรุงคนชั้นสูงชั้นต่ำบำรุงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบำรุงนี้นั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการบำรุงนี้นั้นเป็นการบำรุงที่เลว”

จะเห็นว่าเราจะไปบำรุงส่งเสริมใครมั่ว ๆ ไม่ได้นะ เพราะจะกลายเป็นการบำรุงที่เลว ส่วนการบำรุงที่ดีคือการบำรุงพระพุทธเจ้าและสาวกนั่นเอง

การจะให้ทานที่ไม่เจาะจง ก็ควรจะตั้งทิศตั้งธงให้ชัดก่อนว่าจะให้ทานกลุ่มไหน เพราะจะมีกลุ่มที่ให้ไปแล้วไม่พาเราพ้นทุกข์กับกลุ่มที่พาเราพ้นทุกข์ เราก็ไม่เจาะจงในกลุ่มที่เราเห็นว่าดีนั่นแหละ คือไม่ใช่ยึดเอาตัวครูบาอาจารย์เป็นหลัก แต่ให้กระจายไปในกลุ่มคนดีนั้น ๆ

สร้างความเจริญ ด้วยการเลิกรับใช้คนชั่ว

July 20, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,765 views 0

การรับใช้คนชั่ว คนไม่ดี หรือคนผิดศีล ก็เป็นมิจฉาอาชีวะ หรือมีความเป็นมิจฉาชีพอยู่ เพราะยังติดอยู่ในข้อที่ว่า “มอบตนในทางที่ผิด” คือไปยอมรับใช้คนไม่ดี ที่ไม่พาไปพ้นทุกข์นั่นแหละ

แต่ชีวิตนี่มันก็ไม่ได้ง่ายรู้ดีรู้ชั่วได้ทั้งหมดได้ในทันที เราจะต้องเรียนรู้โดยลำดับ ในตอนแรก ๆ บางสิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าจะเป็นภัยขนาดนั้น แต่พอภูมิธรรมพัฒนาเพิ่มขึ้นกลับมองว่ามันเป็นภัยมาก

อีกทั้งคนเรายังมีวิบากกรรมเป็นตัวส่งผล ให้ถูกขังอยู่กับคนชั่ว เวลาวิบากขัง มันจะมืดบอด มีความลำเอียง ดีไม่ดีเข้าข้างคนชั่วอีก

ซึ่งเราก็ต้องอาศัยการทำดีไปเรื่อย ๆ จึงจะรู้ชัดขึ้น โดยอาศัยการทำดีกับคนที่เรามั่นใจที่สุด ศรัทธาที่สุด แล้วทำให้เต็มที่ ผลจะเกิด มันจะมีเหตุให้เห็นความจริง ถ้าเขาเป็นคนผิดศีลเน่าใน เราจะได้รู้อย่างชัดเจน

ผมก็เคยมีประสบการณ์รับใช้คนชั่วมาก่อน บอกเลยว่าชีวิตมีแต่ตกต่ำ ลาภสักการะหายหมด เหมือนปลูกพืชแล้วไม่มีผล เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านว่าสงฆ์คือนาบุญ ส่วนคนที่ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่

พอเราไปทำดีกับคนที่ไม่ใช่นาบุญ เป็นนาบาป จึงไม่มีผลมาก มีอานิสงส์น้อย แถมยังไปส่งเสริมบาปเขาอีก เอาง่าย ๆ เหมือนเราเอาเงินที่เราหามาอย่างยากลำบาก เอาไปให้เด็กซื้อขนมกินหมดนั่นแหละ

ถ้าเราไปสนับสนุนหรือรับใช้คนไม่ดี คนไม่มีศีล เขาก็เอาเงิน แรงงาน เวลาของเราไปใช้กับเรื่องไร้สาระ เรื่องสะสมกิเลส มันก็ไม่เกิดประโยชน์ ไม่มีผลเจริญ

สรุปแทนที่เราจะเจริญได้มากในหนึ่งช่วงเวลา แต่กลับต้องเสียเวลา แรงงาน ทรัพย์ไปโดยได้ประโยชน์น้อย จริง ๆ ไม่ทำเลยจะดีกว่า การสนับสนุนคนชั่วไม่ทำเลยจะดีกว่า ดูเผิน ๆ เหมือนจะมีกำไรได้เสียสละ แต่สรุปบัญชีออกมาแล้วจะขาดทุน

หลังจากที่ผมได้หลักฐานว่าเขาเป็นคนไม่ดี ผิดศีล เราก็ถอยออกมา เชื่อไหม ชีวิตดีขึ้นคนละเรื่อง ลาภสักการะเริ่มมาให้พอมีกินมีใช้ อัตคัดอยู่เป็นปี พอพลิกใจเลิกรับใช้คนชั่ว ทุกอย่างก็พลิกหมดเลย องค์ประกอบแวดล้อมในชีวิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

พอมีโอกาสถามย้ำกับครูบาอาจารย์ท่านก็ชี้ชัดว่า ถ้าเห็นว่าเขาชั่วชัด ๆ ก็ไม่ต้องไปเอื้อหรือไปประมาณอะไรให้ยุ่งยาก คว่ำบาตรไปเลย เพราะยิ่งไปสนับสนุนคนชั่วก็จะมีแต่เพิ่มอกุศลวิบากมากเท่านั้น

ใครอยากมีชีวิตลำบากก็สนับสนุนคนชั่วคนพาลกันต่อไป และคุณจะได้รับสิทธิ์ในการชดใช้วิบากบาป คือเป็นทุกข์ เจ็บป่วย เศร้าหมอง ลำบากกาย ลำบากใจ ฯลฯ

สรุปตรงนี้ว่าการสนับสนุนคนชั่วคือการสร้างความลำบากให้ตนเอง คือความเนิ่นช้าในธรรมอย่างแท้จริง

การเพิ่มศีล

July 19, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,507 views 0

มีคำถามเข้ามาว่าให้ช่วยอธิบายการเพิ่มศีลให้สูงขึ้น

การเพิ่มศีลหรือ “อธิศีล” เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของไตรสิกขา ซึ่งเป็นกระบวนการศึกษาเพื่อชำระล้างกิเลสโดยลำดับ

ปัจจุบันไตรสิกขาได้เลือนหายไปตามกาล จางไปตามกิเลส ไม่ค่อยมีคนพูดถึง ไม่ค่อยมีใครปฏิบัติ แต่ความจริงที่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการศึกษาที่ทำให้หลุดพ้นจากกิเลสโดยลำดับก็ไม่ได้เปลี่ยนไป

ศีล คือข้อปฏิบัติที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจับอาการของกิเลสในจิต เพื่อเข้าสู่กระบวนการของจิตที่พร้อมจะเรียนรู้ให้เกิดปัญญาและพัฒนาไปจบที่จิตผ่องใสแม้กระทบสิ่งเหล่านั้นอยู่

การเพิ่มศีล หรืออธิศีล คือการยกระดับของศีลที่ปฏิบัติอยู่ หลักการกว้าง ๆ เช่น ศีล 5 เพิ่มไปเป็นศีล 8 หรือเพิ่มไปเป็นศีล 10 โดยมีการกำหนดช่วงเวลาตามกำลังของจิตที่พอจะทนความลำบากไหว เช่น อาจจะถือศีล 8 มาปฏิบัติในวันหยุด แต่ถ้าอินทรีย์พละมาก จะทำทั้งชีวิตเลยก็ได้

การเพิ่มศีลยังมีรายละเอียดยิบย่อยในแต่ละบุคคล เพราะคนเรามีกิเลสหนาบางต่างกัน แต่ละโจทย์จึงมีความยากง่ายต่างกันตามบารมีที่บำเพ็ญสะสมมา

เช่นการเพิ่มศีลข้อ ๑ โดยทั่วไปก็จะรับรู้ว่าไม่ฆ่า อันนี้เราก็ทำให้ได้ก่อน แล้วเราก็เพิ่มศีลขึ้นมาเป็น ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ก็จะทำให้เราปฏิบัติเก็บรายละเอียดได้มากขึ้น

ทีนี้พอไม่เบียดเบียนแล้วก็ต้องมานั่งคิดว่าอะไรล่ะที่เบียดเบียน มันก็ต้องละไปตามลำดับ เช่นโจทย์ทั่วไปคือไปสนับสนุนเขาฆ่าสัตว์โดยการซื้อมากินนี่มันเบียดเบียนนะ เบียดเบียนทั้งสัตว์ ทั้งคนฆ่าสัตว์ ทั้งตัวเรา

แต่จะให้เลิกทีเดียวทั้งหมดมันก็ไม่ไหว ก็อาจจะตั้งตอนแรกว่าไม่กินสัตว์ใหญ่ แล้วค่อยเพิ่มขอบเขตของศีลหรือการปฏิบัติเพื่อความละเว้นการเบียดเบียนไปตามที่ไหว เช่น ไก่ ปลา หอย ฯลฯ

การปฏิบัติอธิศีล ไม่ใช่ว่าจะกดเอาดื้อ ๆ คือเห็นว่าสิ่งนั้นแล้วชั่ว จึงเลิกเลย มันก็ไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว เพราะถ้าคิดและเข้าใจแบบนั้นก็อาจจะมีแนวโน้มไปทางกดข่ม ถือดีข่มไว้ก็เป็นได้

อธิศีล คือการสร้างกรอบขึ้นมาเพื่อ “ศึกษา” กิเลสในใจตนเอง โดยเอากิเลสตัวเองเป็นหลัก เอากิเลสตัวเองเป็นโจทย์ ไม่ใช่เอาเรื่องข้างนอกมาเป็นโจทย์หรือเป็นหลักชัย

เพราะศาสนาพุทธมุ่งทำลายกิเลสเป็นหลัก ดังนั้นทุกการปฏิบัติ จะมีเป้าแรกที่กิเลสตนเองก่อนเสมอ ส่วนจะเอื้อเฟื้อออกไปถึงผู้อื่นมากเท่าไหร่ก็แล้วแต่บารมี

บาปกับธุรกิจฆ่าสัตว์

July 19, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,486 views 0

มีคำถามมาว่า ” ที่บ้านค้าขายเกี่ยวกับหมู แต่เราไม่อยากทำแต่ก็ช่วยพ่อแม่แบบนี้จะบาปมั้ยครับมีวิธีคิดยังไงครับ”

ตอบ ถ้าไม่มีจิตยินดีในการฆ่าและกิจกรรมที่ส่งเสริมเหล่านั้นก็ไม่บาปครับ

แต่มันจะมีวิบากกรรมในส่วนของ มิจฉาอาชีวะในข้อ ยอมมอบตนในทางที่ผิด คือยอมเอาชีวิตตัวเองไปรับใช้ในกลุ่มหรือธุรกิจที่เป็นการเบียดเบียนหรือผิดศีลต่าง ๆ

ทีนี้ตัววัดมันจะอยู่ตรงที่ว่า ใจเรายินดีหรือเราโดนบังคับ จำใจ หาทางออกไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างหลังก็ไม่บาป มันเป็นสภาพโดนบังคับ เป็นช่วงที่อกุศลวิบากกำลังส่งผล ตามที่เราเคยไปส่งเสริมกิจกรรมที่ไม่ดีมามากในชาติก่อน ๆ แล้วมันสะสมผล พอถึงเวลาที่เราจะออก มันจะออกไม่ง่ายเหมือนใจคิด มันจะตัน มันจะคิดไม่ออก มันจะมองไม่เห็นทาง ได้แต่ก้มหน้าทำรับใช้กรรมไป

วิธีคิดที่แนะนำอย่างแรกคือ ยอมรับกรรม ยอมรับว่าเราก็เคยส่งเสริมมา และเราก็ยังมีส่วนเอื้อให้เกิดกิจกรรมนั้นอยู่ เวลาวิบากกรรมมันส่งผล เราจะหนีหรือจะปลีกตัวออกไม่ได้ ไม่ว่าทั้งดีทั้งร้าย เราก็ต้องรับ ดังนั้นในเมื่อยังไงก็ต้องรับ ก็รับด้วยความเบิกบาน รับด้วยความเข้าใจว่าเราทำชั่วสะสมมามาก การรับกรรมก็เหมือนใช้หนี้ ใช้แล้วก็หมดไป ได้ใช้หนี้ไปแต่ละวันหนี้ก็หมดไปเรื่อย ๆ ก็ทนทำไปด้วย ศึกษาเรื่องกรรมไปด้วย จะเข้าใจมากขึ้น ทำให้เบาใจขึ้นโดยลำดับ

ส่วนที่สองคือการเร่งชำระหนี้ ถ้าเราไม่ได้ทำดีมาก ไม่ได้มีศีลมาก เราก็เหมือนลูกจ้างค่าแรงต่ำ เขาใช้เงินไม่กี่ร้อยก็จ้างได้แล้ว หากว่าเราเป็นหนี้สักร้อยล้าน เขาก็จ้างเราได้ทั้งชีวิต

แต่ถ้าเรามุ่งทำดีมาก ๆ มีศีลมาก ทำใจให้ผ่องใสได้โดยลำดับ ไม่เบียดเบียนคนอื่นสัตว์อื่น มีน้ำใจช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญูผู้มีพระคุณ ค่าตัวต่อหนึ่งช่วงเวลาของเราจะเพิ่ม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าทำดีมาก ๆ อาจจะเป็นค่าตัววันละล้าน แค่ร้อยล้าน 3 เดือนก็จ่ายหมด

ที่ยกตัวอย่างมานี้คือการเปรียบเทียบให้เข้าใจเรื่องบารมี คือถ้าเราเป็นคนทั่ว ๆ ไป ค่าตัวก็ถูกเป็นธรรมดา แต่ถ้าเราเป็นคนมีชื่อเสียง ค่าตัวก็แพง ในทางธรรมก็เหมือนกัน แต่ความแพงนั้นไม่ใช่เงิน สิ่งที่ต้องจ่ายคือการบำเพ็ญความดีหรือกุศลวิบาก

เช่น ผู้ที่ถวายอาหารมื้อแรกและมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ที่มีอานิสงส์มาก ก็ใช่ว่าจะเป็นใครก็ได้มาถวาย มันต้องเป็นนางสุชาดาในมื้อแรก และนายจุนทะในมื้อสุดท้ายเท่านั้น ทั้งสองท่านต้องทำกุศล สร้างบารมีสะสมมามาก ถึงจะได้สิทธิ์นั้น

หรือกรณีพระเทวทัต ก็เกิดจากบาปที่พระพุทธเจ้าเคยไปฆ่าน้องชายต่างแม่มาเมื่ออดีตชาติอันไกลโพ้น แต่ผลวิบากนั้นก็ยังไม่หมด แต่ถึงที่สุดพระเทวทัตก็จะทำร้ายพระพุทธเจ้าได้สูงสุดตามที่พระพุทธเจ้าต้องรับส่วนของวิบากกรรมในชาตินี้ จะทำร้ายไม่ได้มากเท่าที่ใจคิด เช่น คิดจะกลิ้งหินลงมาทับให้ตาย ผลสุดท้ายทำได้เพียงแค่ให้ท่านห้อเลือด

การจะเข้าถึงคนที่ดีมาก ๆ จำเป็นจะต้องทำความดีมามากด้วย เช่นเดียวกันกับการที่เราจะหนีจากสิ่งไม่ดี เราก็ต้องทำดีมาก ๆ เพื่อที่จะให้คนที่จะมาเกี่ยวข้องกับเรานั้น มีอัตราส่วนเป็นคนดีมีศีลเป็นส่วนมาก หรือเจอสิ่งดีมากกว่าสิ่งร้าย หรือเจอสิ่งร้ายไม่นานก็กลับมาดี