กินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต : ๒ ติดใจ ติดรส ติดกาม

June 19, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,489 views 0

กินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต : ๒ ติดใจ ติดรส ติดกาม

กินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต : ๒ ติดใจ ติดรส ติดกาม

ในทุกวันนี้ แม้เนื้อสัตว์จะเป็นวัตถุดิบหลักประกอบอาหารที่คนส่วนใหญ่บริโภคกันในแต่ละวัน ปรุงแต่งรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสกันให้น่าเสพน่าหลงใหลถึงกระนั้นก็ตาม แท้จริงแล้วเนื้อสัตว์ก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตเลย

เรามักจะมีเหตุผลที่อ้างเพื่อจะไม่ลดเนื้อสัตว์แล้วหันมากินผักแทนด้วยเหตุผลดังเช่นว่า “ฉันต้องกินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต” เป็นความปักมั่นที่ยึดเอาเนื้อสัตว์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นตัวเป็นตน เป็นอัตตา ทั้งที่จริงแล้วการเสพสุขจากการกินเนื้อสัตว์นั้นมาจากเสพกามในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสทั้งหลายนั้นเอง แต่พอยึดติดมากเข้าก็กลายเป็นตัวเป็นตนไปเลย

คนเรานั้นสามารถติดใจในรสชาติ จนกระทั่งถึงขั้นหลงระเริงเลยเถิดไปไกลจากการกินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิตไปได้ไม่ยากนัก เพราะความหลงในกามนี้เอง ทำให้เราต้องไปตามหาร้านอาหารชื่อดังที่มีเมนูเนื้อสัตว์ที่อร่อย แสวงหาสถานที่ที่จะปรุงแต่งรสสุขในกามให้ได้เสพ ไม่ว่าจะอยู่เมืองไหน ประเทศใดถ้ามีทุนทรัพย์มากพอก็จะไปแสวงหาเสพให้ได้

เพื่อที่จะให้ตนได้เสพรสอย่างที่ใจหวัง จึงสร้างความยุ่งยากในชีวิตมากกว่ากินๆไปเพียงเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไป กลายเป็นการแสวงหาของกินที่ถูกปาก เริ่มที่จะเข้าสู่การอยู่เพื่อกิน ไม่ใช่กินเพื่ออยู่อีกต่อไป แต่นั่นก็ไม่ได้สร้างความลำบากให้จิตใจของผู้ที่ติดกามในเนื้อสัตว์จนต้องลำบากออกแสวงหามากนัก เพราะเขาเหล่านั้นคาดหวังอยู่เสมอว่าจะได้เสพรสสุขมากกว่าความลำบากที่ต้องจ่ายไป

ยกตัวอย่างเช่น คนไทยที่บินไปญี่ปุ่นเพื่อที่จะได้ลิ้มลองปลาดิบต้นตำรับว่าจะทำให้อร่อยและสุขใจแค่ไหน ลงทุนลงแรงเกินความจำเป็น ดังคำที่ว่า “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” ทั้งที่จริงๆแล้วถ้าอยากกินปลาก็สามารถหากินตามร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยทั่วไปได้ แต่ความใคร่อยากเสพมันจะไม่ยอม มันจะกระหาย มันอยากจะลิ้มรส ที่ว่าเลิศ ว่ายอดขึ้นไปอีก ว่ามันจะมีรสสุขใดอีก ฉันอยากจะเสพรสสุขนั้นเหลือเกิน ว่าแล้วกิเลสก็พาให้เขาเหล่านั้นออกเดินทางออกไปแสวงหาเมนูเนื้อสัตว์ที่จะมาบำเรอกามตนเองได้

รสกามนี้เองคือสิ่งที่ทำให้มีร้านอาหารหลายระดับต่างกันตั้งแต่ร้านข้างทางจนไปถึงโรงแรมหรูมีดาวมากมาย ซึ่งก็ต่างกันในเรื่องของความสามารถในการบำเรอกาม ร้านข้างทางก็พอจะบำเรอกามได้ระดับหนึ่ง ส่วนโรงแรมหรูนอกจากจะบำเรอกามแล้วยังเสริมโลกธรรมและอัตตาอีกด้วย คือนอกจากจะได้เสพรสอร่อยแล้วยังทำให้รู้สึกว่าดูดีมีระดับอีกต่างหาก

เมื่อเนื้อสัตว์นั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อดำรงชีวิต แต่มีไว้เพื่อบำเรอกาม นั่นก็หมายถึงสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นของชีวิต ดังนั้นหากจะอ้างว่า ฉันต้องกินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิตแต่ยังมีพฤติกรรมติดกามในเนื้อสัตว์เช่นนี้ เหตุผลนี้ก็เป็นเหตุผลที่ไม่สมควรยกมาอ้างเลย เพราะเห็นกันชัดเจนอยู่แล้วว่า “ไม่ได้กินเพื่อดำรงชีวิต แต่กินเพื่อบำเรอกาม

– – – – – – – – – – – – – – –

16.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

June 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,979 views 0

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

เรามักจะเข้าใจว่ามีแต่คนชั่วเท่านั้นที่จะได้รับผลไม่ดี ใครเล่าจะเชื่อว่าแท้จริงแล้วคนดีก็มีโอกาสที่จะได้รับกรรมชั่วที่ตนเองทำมาเช่นกัน ในบทความนี้จะมาขยายความรักของคนดี กรรมชั่วที่จะมาเป็นหลุมพรางและกิเลสที่บังตา ซึ่งพร้อมจะพาคนดีมาตกหลุมที่ตัวเองขุดไว้เอง

ขึ้นชื่อว่าคนดีนั้นย่อมไม่ยอมรับความชั่วที่ตนเข้าใจว่าชั่วเข้ามาใส่ตัวอยู่แล้ว ดังนั้นความรักของคนดีจึงมักจะมองไปข้างหน้าเสมอ ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับความรักของคนทั่วๆไป คือแสวงหาสิ่งที่ดีกว่ามาเสพ ความรักของคนดีก็เช่นกัน เขาเหล่านั้นจะเฝ้าแสวงหาสิ่งที่ดีที่เลิศกว่าธรรมดามาเสพ นั่นหมายถึงคนดีจะมีสเปคที่สูงมากกว่าคนปกติ

ดังเช่นว่า แค่มีคนเก่งเข้ามาในชีวิตคงไม่พอใจ ต้องมีปัจจัยอื่นด้วย โดยเฉพาะความดีและศีลธรรม ซึ่งตามธรรมแล้วคนดีก็มักจะอยู่ในสังคมที่ดีเป็นธรรมดา ดังนั้นเขาและเธอจึงได้เจอกับคนดีเป็นเรื่องปกติ นั่นหมายถึงบุคคลที่คนดีจะไขว่คว้ามาเป็นคู่ครองนั้นจะต้องดียิ่งกว่าคนดีทั่วไปเสียอีก

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะหาคนแบบนั้นได้ง่ายๆ จึงปรากฏภาพคนดีอยู่เป็นโสดกันมาก แม้ว่าคนดีเหล่านั้นจะมีหน้าตาดี การศึกษาดี การงานดี ฐานะดี ก็ใช่ว่าจะหาคู่กันได้ง่ายๆ เพราะสเปคของเขาหรือเธอนั้นสูงเหมือนกับการฝันว่าจะได้ไปสร้างวิมานอยู่บนสวรรค์ ซึ่งจะต่างกับคนทั่วไปตรงที่สเปคของคนทั่วไปนั้นไม่สูงเท่าไหร่ แค่มีปัจจัยพอสมควรเขาก็ควงคู่แต่งงานกันไปแล้ว แต่คนดีจะไม่สามารถเสพสุขธรรมดาๆแบบนั้นได้ เพราะรู้ว่าตนเองก็ดีอยู่แล้ว ถ้าจะหาใครมาเพิ่มอีกสักคนต้องทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือพัฒนาขึ้นจึงปรากฏเป็นคำกล่าวดังเช่นว่า “หาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่มีดีกว่า

ดังนั้นสภาพของคนดีก็คือการตั้งภพของคู่ในฝันที่สูงจนไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ จึงเป็นโสดทั้งๆที่ใจก็ไม่ได้อยากเป็นโสด แต่ก็มักจะเข้าใจว่าตนเองยังเป็นสุขดีแม้จะโสด ซึ่งนั่นคือสภาพของเคหสิตอุเบกขา คือการปล่อยวางแบบชาวบ้าน ก็มันหาเสพไม่ได้ก็เลยไม่ไขว่คว้า ไม่โหยหา ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่เขาใช้ชีวิตไปเรื่อยๆโดยไม่แสวงหาคู่นั่นแหละ คือไม่ใช่ไม่หา แต่มันหาไม่ได้ มันไม่มีให้เห็น เลยทำได้เพียงแค่ปล่อยวางและทำเฉยๆ แต่แบบนี้กิเลสก็ยังคงเดิม เพราะเป็นการปล่อยวางโดยสภาพจำยอมไม่ใช่การปล่อยวางที่เกิดจากปัญญารู้แจ้งธรรมอะไร ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ปล่อยวางได้ เป็นสภาพสามัญของมนุษย์ทั่วไป ดีเลวก็สามารถมีภาวะนี้ได้

แต่กระนั้นคนดีเหล่านั้นก็จะยังไม่ปิดประตูเสียทีเดียว เขาหรือเธอก็จะเปิดประตูแง้มไว้ รอคอยคู่ในฝันที่จะโผล่เข้ามาในชีวิตวันใดก็วันหนึ่ง จึงได้แต่เฝ้าฝันอยู่ในใจว่าถ้าวันหนึ่งได้เจอคนในฝันก็จะสละโสด ซึ่งก็เหมือนกับคนทั่วไปนั่นแหละ เพียงแค่ปัจจัยในการมีคู่นั้นมีข้อเรียกร้องที่ต่างกัน ทำให้เกิดภาพที่ว่าแม้จะมีคนมาจีบคนดีมากเท่าไหร่ ดีแค่ไหน คนดีก็ยังไม่สละโสดเสียที นั่นเพราะคนที่เข้ามาเหล่านั้น ยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนดีได้ เรียกได้ว่ากิเลสของคนดีนี้มีความเหนือชั้นกว่าคนทั่วไปนั่นเอง แม้การตั้งสเปคสูงเข้าไว้อาจจะป้องกันคนชั่วได้บ้าง แต่กิเลสกลับหนาเสียจนน่ากลัว เพราะในสเปคที่สูงเหล่านั้นก็มักจะมีขอเรียกร้องของกิเลสร่วมอยู่ด้วยเสมอ

ทีนี้ความซวยของคนดีจะมีมิติที่แตกต่างกับคนทั่วไปอยู่อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะคนดีที่ปฏิบัติธรรม แต่ปฏิบัติผิดทางหรือยังไม่ถึงขั้นด้วยแล้ว จะเข้าใจว่าการมีคู่นี่แหละคือความสมดุลทางโลกและทางธรรม เข้าใจว่าคนที่ปิดประตู เลือกที่จะไม่มีคู่คือคนที่ยึดมั่นถือมั่น แต่ตนเองนั้นไม่ยึดมั่นถือมั่นจึงเปิดประตูรอคู่อยู่เสมอ

ทั้งที่จริงแล้วนี่คือสภาพของการรอเสพกามซึ่งเป็นเรื่องสามัญธรรมดาของคนทั่วไป นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นคนชั่วคนดี คนปฏิบัติธรรมหรือไม่ปฏิบัติธรรมก็จะมีสภาวะของการรอเสพกามเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เรียกว่าเสพกามโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ แต่นั่นก็ผิดจากหลักของศาสนาพุทธเพราะโต่งไปทางกาม

ความสมดุลโลกและธรรมที่แท้จริงนั้นคือไม่โต่งไปทั้งด้านกามและอัตตา คือคู่ก็ไม่มีและไม่เกลียดคนมีคู่ นั่นคือไม่สนใจที่จะเสพสภาพของการมีคู่หรือความสุขในเรื่องคู่อีกต่อไป ทั้งยังไม่รู้สึกรังเกียจการมีคู่จนทรมานตัวเอง นี่คือทางสายกลางของพุทธที่ไม่เสพทั้งกามและไม่ติดอัตตา

ดังนั้นหลุมพรางคนดีนี้เองคือสิ่งที่ร้ายสุดร้าย ทำให้คนดีหลงไปว่าตนจะต้องเจอแต่คนที่ดีเท่านั้น คู่ของตนต้องดีเท่านั้น และการมีคู่ดีนั้นดีที่สุด นั่นเพราะคนดีเขาทำแต่เรื่องดี เลยยึดมั่นถือมั่นว่าตนจะต้องได้เสพแต่สิ่งที่ดี เลยเกิดสภาพติดความเป็นเทวดา คือเป็นจิตเป็นเทวดาในร่างมนุษย์นี่เอง ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมีวันร่วงตกสวรรค์กันทุกรายไป วันไหนหมดกุศลกรรมก็หมดโอกาสเสพสุขจากดีในวันนั้น

แต่ความซวยของคนดีคือมีการทำกุศลโลกียะหล่อเลี้ยงชีวิตตนไว้ จึงเกิดสภาพของคู่ครองที่อยู่ด้วยกัน รักกัน ดูแลกันไปจนแก่ซึ่งเป็นภาพฝันอุดมคติของคนดีที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง แม้ว่าใครจะมีภาพนรกของคนคู่มาแสดงเท่าไหร่ คนดีก็จะเชื่อว่าฉันเป็นคนดี ฉันทำแต่ความดี ฉันไม่มีวันพบความชั่วหรอก ถึงชั่วก็ชั่วได้ไม่นานเพราะฉันจะทำดีสู้

นี้เองคือความผูกคนดีไว้กับโลก ดังนั้นคนดีที่ไม่เรียนรู้การล้างกิเลสจะมาตันอยู่ในสภาพสุดท้ายคือการหาคู่ที่ดีและพัฒนาทางธรรมไปด้วยกัน นี้เองคือวัฏสงสารของคนดีที่ถูกกิเลสหลอกล่อให้หลงเสพหลงสุขอยู่ในการมีคู่ ไม่สามารถปล่อยวางการมีคู่ได้เพราะหลงว่าการมีคู่ที่ดีนั้นจะทำให้ชีวิตมีความสุขและเจริญทางธรรมได้

ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสระดับของเครื่องมือศึกษาเพื่อความพ้นทุกข์หรือศีลไว้ชัดเจน ฐานศีลของคนที่ปฏิบัติธรรมแต่ยังคิดจะมีคู่ก็อยู่เป็นระดับพื้นฐาน แต่นั่นก็หมายความว่ายังมีทุกข์มากอยู่ ศีลจึงมีระดับที่ละเว้นสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นต่อจากศีล ๕ ก็จะเริ่มไม่สมสู่กัน ต่อจากไม่สมสู่กันคือการไม่รับใครเข้ามาร่วมผูกพันในชีวิต นั่นหมายถึง เป้าหมายของความเจริญสูงสุดคือไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใดๆเลย

ศาสนาพุทธไม่ได้ห้ามการมีคู่ แต่ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าเรื่องกิเลสเป็นเรื่องยาก ใช่จะบังคับหรือสอนให้ทุกคนเกิดปัญญาได้ในทันที จึงต้องปล่อยให้เรียนรู้ทุกข์กันไปเอง โดยมีระดับของการปฏิบัติเป็นแนวทางไว้ให้สำหรับผู้ต้องการความเจริญทางธรรมว่าถ้าอยากพ้นทุกข์ก็ให้ลดความยึดมั่นถือมั่นในการเสพสิ่งต่างๆลงไปตามลำดับจากหยาบ กลาง ละเอียด

แต่คนดีที่ไม่สามารถจะเจริญทางธรรมได้จะตันอยู่แค่ฐานศีล ๕ ในระดับที่ยังไม่รู้จักกิเลสของตัวเอง กิเลสทำให้อยากมีคู่ก็ไม่เห็นตัวกิเลส อ้างเล่ห์ อ้างเหตุผล อ้างข้อดีต่างๆให้ตนได้มีคู่ ซ้ำร้ายยังมีโอกาสเผยแพร่ความเห็นผิดของตัวเองของสู่สาธารณะโดยไม่อายว่า “ถ้าคู่ที่ดีก็สมควรมี” นี้เป็นภพที่คนดีตั้งไว้ เพื่อให้ตัวเองได้เสพโดยไม่ต้องรู้สึกผิด

คนดีที่ไม่ได้ล้างกิเลสหรือไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงจึงเกิดสภาวะที่ไม่รู้สึกเขินอายแม้จะแสดงความอยากเสพกามหรืออยากมีคู่ออกมา ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะยังไม่สามารถชำระกิเลสออกจากสันดานได้ แต่จะมีความอาย มีความรู้สึกผิดบาปหากจะเปิดเผยว่าตนอยากจะมีคู่ เพราะรู้ว่ากิเลสนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรจะแสดงออกมาให้ใครเห็น

แต่คนดีโดยทั่วไปแล้วจะทำกลับกัน นั่นคือสร้างภพในการมีคู่ สร้างข้อแม้ที่เป็นอุดมคติขึ้นมาว่าถ้าเจอคู่แบบนั้นแบบนี้จะรักและดูแลกันไปจนตาย เป็นคู่บุญคู่วาสนาอะไรก็ว่ากันไปแล้วแต่คนดีจะนิยาม ทั้งนี้ก็เพื่อจะสร้างความชอบธรรมให้เกิดกระแสสังคมว่าถ้ามีคู่แบบนี้ไม่ผิด และนี้เองคือการเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิในคราบของคนดี เป็นความชั่วที่น่าอาย แต่คนดีกลับเปิดเผยความอยากได้อย่างหน้าตาเฉย

และทั้งหมดนี้คือหลุมพรางที่ล่อคนดีให้ตกและหลงวนอยู่ในความเป็นโลกียะอย่างไม่จบไม่สิ้น ไม่ต้องพูดถึงทางธรรม เพราะธรรมนั้นไม่เจริญอยู่ในวิธีของโลก แม้จะเป็นธรรมก็เป็นเพียงกัลยาณธรรม เป็นธรรมที่พาให้คนเป็นคนดี แต่ไม่ได้พาให้พ้นทุกข์ เรียกว่าเป็นโลกีย์ธรรม

ดังนั้นคนดีจึงถูกกิเลสของตนบังตาและพาให้เดินไปตกหลุมพรางที่เป็นวิบากกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้ ตกแล้วก็ปีนขึ้นมา ขึ้นมาแล้วก็เดินไปตกใหม่ วนเวียนอยู่เช่นนี้ไปอีกนานแสนนาน จนกว่าจะทุกข์เกินทนจึงจะแสวงหาหนทางออกจากโลก แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโลกุตระธรรมนั้นไม่ใช่ธรรมที่จะเข้าใจได้โดยสามัญ ซึ่งจะหักความเข้าใจของคนดีเป็นเสี่ยงๆ และยังค้านแย้งกับกิเลสอย่างสุดขั้ว คนดีจึงต้องใช้เวลาอีกหลายภพหลายชาติในการปล่อยวางสิ่งดี ที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าดีนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

18.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต : ๑ บุฟเฟ่ต์กามทะลัก

June 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,187 views 0

บุฟเฟ่ต์กามทะลัก

กินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต : ๑ บุฟเฟ่ต์กามทะลัก

เมื่อเราคิดจะทำสิ่งดีอะไรสักอย่าง ก็มักจะมีเหตุผลมากมายเกิดขึ้นมาในความคิด ซึ่งส่วนใหญ่ก็ล้วนจะเป็นเหตุผลที่มากั้นขวางการเข้าถึงสิ่งที่ดีนั้น การลดเนื้อกินผักก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งดี ที่มีเหตุผลมากมายมาค้านแย้งเสมอ หนึ่งในเหตุผลเหล่านั้นก็คือ “ฉันต้องกินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต

เราสามารถกินเนื้อสัตว์และใช้ประโยชน์ของธาตุเหล่านั้นเพื่อดำรงชีวิตได้จริง แต่ในทุกวันนี้ดูเหมือนว่าเราจะกินเนื้อสัตว์เกินความจำเป็นในการดำรงชีวิตไปเสียแล้ว

ในเมืองใหญ่ เราสามารถเห็นร้านอาหารแบบบุฟเฟต์เนื้อสัตว์มากมาย ตั้งแต่ห้องแถวข้างทาง ไปจนถึงระดับโรงแรม เป็นการขายแบบที่เรียกได้ว่าอยากจะกินเท่าไหร่ก็กิน ยัดได้เท่าไหร่ก็ยัด แต่จ่ายราคาเดียว ซึ่งโดยมากแล้ว เมื่อใครสักคนตัดสินใจที่จะไปกินบุฟเฟ่ต์ เขาเหล่านั้นมักจะคาดหวังว่าจะต้องได้กินสิ่งที่ตัวเองอยากกินอย่างเต็มที่ เรียกได้ว่าต้องกินให้ยิ่งกว่าคุ้ม

การกินเนื้อสัตว์แบบบุฟเฟ่ต์นี่เองคือความมัวเมาในเนื้อสัตว์อย่างมาก เพราะไม่ได้กินเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่เพียงอย่างเดียว แต่กินเพื่อสนองกามตัณหาในตัวเองด้วย เป็นความใคร่อยากเสพเนื้อสัตว์ในปริมาณที่ไม่จำกัด คนที่กินแบบไม่ประมาณ ไม่จำกัด ไม่สำรวมระวังว่าสิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิตไปมากแล้ว คือความหลงมัวเมาเสพติดในกามรสของเนื้อสัตว์ที่หนักหนามาก

ความโลภอยากได้กำไรในการค้า สร้างค่านิยมที่มอมเมาสังคมให้เห็นว่าการกินเนื้อสัตว์มากๆ เป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ใครเขาก็ทำกัน ทำให้คนจำนวนมากที่ไม่ได้ศึกษาในเรื่องของกิเลส ถูกมอมเมาด้วยความเห็นทางโลก มองเรื่องหยาบที่ไม่ควรทำเป็นเรื่องปกติที่ทำได้ทั่วไป

ทั้งที่จริงแล้วการแสดงความกระหายอยากที่จะไปกินบุฟเฟ่ต์เนื้อสัตว์ นั้นคือการแสดงความตะกละที่เกินงาม ข้ามเขตของคำว่า “ฉันต้องกินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต” ไปเสียแล้ว เพราะในความเป็นจริงเราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ปริมาณมากก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ ดังนั้นคนที่กินเนื้อสัตว์แบบบุฟเฟ่ต์ จะยังอ้างเหตุผลนี้ได้อย่างไร? เราเพียงแค่เอาคำพูดที่น่าฟัง เหตุผลที่น่าเชื่อ นิยามที่สวยหรูมาบังหน้า สุดท้ายก็ไปหาเนื้อสัตว์มากินบำเรอกาม จนความอยากทะลักออกมา ปรากฏให้เห็นเป็นความอยากเสพแบบไม่รู้จักประมาณให้เหมาะควรเช่นนั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

16.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แล้วชาวพุทธจะหาเนื้อสัตว์กินได้อย่างไร?

June 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,225 views 0

แล้วชาวพุทธจะหาเนื้อสัตว์กินได้อย่างไร?

แล้วชาวพุทธจะหาเนื้อสัตว์กินได้อย่างไร?

หากได้ชมซีรี่พระพุทธเจ้าตอนที่ 30 จะมีเนื้อหาตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าไปห้ามการนำสัตว์ไปฆ่าเพื่อบูชายัญ โดยมีบทพูดในละครที่น่าสนใจเช่น “ข้อยอมตายตรงนี้แต่ข้าหลีกทางให้ไม่ได้” , “หากมีบาปเกิดขึ้นในนามของศาสนาข้าจะต้องคัดค้านแน่”

ยอมตายแต่ไม่ยอมให้ฆ่า นั่นหมายถึงแม้เหตุแห่งชีวิต ท่านก็จะไม่สนับสนุนในการฆ่า ในพระไตรปิฏกมีหลักฐานเกี่ยวกับองค์ประกอบของการฆ่าไว้ชัดเจน และการฆ่านั้นถือเป็นเรื่องนอกพุทธ ดังนั้นไม่ว่าจะฆ่าด้วยเหตุผลอะไรย่อมไม่ใช่แนวทางของพุทธ

แต่ในทุกวันนี้เนื้อสัตว์ที่มีขายอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นเนื้อที่มาจากการฆ่า เป็นเนื้อนอกพุทธอยู่แล้ว ดังนั้นไม่มีสิ่งดีใดๆในเนื้อสัตว์นั้นเลย และซ้ำร้ายการค้าขายเนื้อสัตว์ยังเป็นการค้าที่ผิดของพุทธด้วย นั่นหมายถึงชาวพุทธย่อมไม่ยินดีในเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าและไม่ค้าขายเนื้อสัตว์

ในสมัยพุทธกาลนั้น การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นเรื่องสามัญมากๆ ขนาดพระเทวทัตที่ได้ชื่อว่าชั่วที่สุดในโลกก็ยังขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติให้ภิกษุไม่กินเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต ถึงกระนั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่เห็นตามนั้น ทรงตรัสว่าให้กินเนื้อที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าเขาฆ่ามา เพราะแท้จริงแล้วเนื้อสัตว์ที่กินได้โดยไม่มีองค์ประกอบของการฆ่าที่ผิดพุทธเข้าไปเกี่ยวอยู่นั่นมีอยู่ คือเดนสัตว์ที่เหลือจากการถูกล่าโดยสัตว์ และสัตว์ที่ตายของมันเอง

ประโยคในละครที่ว่า “หากมีบาปเกิดขึ้นในนามของศาสนาข้าจะต้องคัดค้านแน่” ยังกำชับแนวทางของพุทธได้ดี แม้จะเป็นคำที่ถูกปั้นแต่งขึ้นมาใหม่ แต่ทิฏฐิยังคงเดิม นั่นคือ นอกจากจะไม่ฆ่าเองแล้ว ยังไม่สนับหนุนให้คนอื่นฆ่า และยังแสดงความกรุณาโดยการคัดค้าน ไม่เพิกเฉยต่อสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม

พระพุทธเจ้ายังเคยถูกกล่าวตู่ว่ากินเนื้อสัตว์ โดยฝ่ายที่ไม่ศรัทธา นั่นหมายถึงว่าปกติแล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่กินเนื้อสัตว์ แล้วฝ่ายที่ไม่ศรัทธาจ้องจะหาทางทำลายชื่อเสียง จึงใช้วิธีป่าวประกาศว่าพระพุทธเจ้าท่านกินเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าท่านให้กินอาหารที่หาได้ง่ายและไม่มีโทษ เนื้อสัตว์ที่ถูกพุทธก็หาได้ยากกว่าพืชผักอยู่แล้ว และเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาก็ยังมีโทษเจือปนอยู่ ท่านได้ตรัสไว้ในสูตรอื่นๆว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาจึงมีส่วนในการเบียดเบียน ทำให้ตนเองนั้นมีโรคมากและอายุสั้น นั่นหมายถึงเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์

บาปแม้น้อยไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า” เป็นสิ่งหนึ่งที่ท่านได้ฝากทิ้งไว้ ในเมื่อเรารู้แล้วว่าเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นมีส่วนแห่งบาปอยู่อย่างเต็มเปี่ยม แล้วเราจะยังยินดีรับเนื้อสัตว์นั้นมากินได้อย่างไร เราไม่รู้สึกผิดบาปเลยหรือ? ไม่ตะขิดตะขวงใจกันเลยหรือ? เรายอมมีส่วนในบาปนั้นเพียงเพื่อจะได้เสพรสสุขลวงจากเนื้อสัตว์เท่านั้นหรือ? เรายินดีในการฆ่าเพียงเพื่อให้ตนได้เสพสุขอย่างนั้นหรือ? เราปล่อยวางเหตุผล แต่เรายังมุ่งเสพกามที่ผิดจากทางของพุทธไปมาก นี่คือทางพ้นทุกข์จริงหรือ?

เพราะแท้จริงแล้วประโยชน์ของเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่มีเลย แม้จะทำให้อิ่มท้องได้ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ต้องการพ้นทุกข์สมควรบริโภค แล้วทีนี้ชาวพุทธจะหาเนื้อสัตว์มากินได้อย่างไร? แล้วจำเป็นต้องหากันหรือไม่? หรือแท้จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องใส่ใจเนื้อสัตว์ว่าเป็นอาหารเสียเลยยังจะง่ายกว่าที่ต้องมารู้สึกไม่ดี สงสัย ตะขิดตะขวงใจกับการกินเนื้อสัตว์ในแต่ละครั้ง

– – – – – – – – – – – – – – –

16.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)