ความรัก

ความรัก บนทางโต่งสองด้าน

November 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,154 views 0

ความรัก บนทางโต่งสองด้าน

ความรัก บนทางโต่งสองด้าน

ความทุกข์ทั้งปวงเกิดจากการที่เราหลงไปในทางโต่งสองด้าน ความรักก็เช่นกัน หากยังหลงมัวเมาอยู่กับทางโต่งทั้งสองด้านนั้น ก็ไม่มีวันที่จะพ้นจากทุกข์ไปได้เลย

ทางโต่งสองด้าน ข้างหนึ่งคือ “กาม” ข้างหนึ่งคือ “อัตตา” ความเป็นกลางบนความรักไม่ใช่การมีคู่โดยไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่เป็นความรักที่ไม่เข้าไปหลงเสพหลงสุขมัวเมาในสุขลวงทั้งหลายและไม่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี สรุปคือต้องออกจากความ “ยึดชั่ว” และ “ยึดดี” ให้ได้จึงจะเรียกว่า “กลาง

โดยปกติแล้วคนเรามักจะยึดชั่ว ลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับกาม เข้าใจว่าการมีคู่ ได้เสพความเป็นคู่นั้นเป็นสุข จึงยินดีมัวเมาอยู่ในกามเหล่านั้น การจะออกจากกามนั้นต้องพยายามทวนกระแสแรงดึงดูดของกาม ซึ่งจะต้องมีแรงดึงจากอัตตา คือต้องใช้ความยึดดีเพื่อช่วยให้หลุดออกจากกาม

แต่เมื่อยึดดีเข้ามากๆก็มักจะเกินพอดี ด้วยแรงแห่งความยึดดี จึงไหลตกไปสู่ทางโต่งในด้านอัตตา แล้วหลงมัวเมาอยู่กับความยึดดี ยึดมั่นถือมั่นความโสด ดูถูกดูหมิ่น รังเกียจการมีคู่ ซึ่งหากยังมีกิเลสในด้านกามที่สะสมไว้มาก การยึดดีนั้นจะทำให้เกิดความทรมานอย่างมาก คืออยากมีคู่แต่ก็กดข่มไว้ด้วยความยึดดี สุดท้ายเมื่อกามโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะตบะแตก โดนกามดูดกลับไปทางโต่งด้านกาม แล้วจะยิ่งร่วงลงไปในกามที่ลึกกว่าเดิม เหมือนหนังยางที่ยืดจนตึง เมื่อปล่อยก็จะดีดตัวพุ่งออกไปอย่างรุนแรง

กามและอัตตาจึงเป็นทางโต่งที่คนหลงวนไปวนมา อยากมีรักก็มุ่งเสพกาม พออกหักผิดหวังก็หันมายึดดี มีอัตตายึดความโสด พอโสดไม่ได้เสพสักพักก็โหยหวนวนกลับไปหากาม ซึ่งเป็นธรรมชาติของโลกีย์ที่จะมีความวนเวียนเช่นนี้

ผู้ที่ไม่ศึกษาและปฏิบัติอย่างถูกตรงจนเกิดผล จึงไม่สามารถพ้นไปจากทางโต่งทั้งสองด้านได้เลย เพราะทั้งกามและอัตตานั้นเป็นพลังของกิเลสที่มีพลานุภาพมากเท่าที่เคยสะสมความหลงผิดไว้ ซึ่งมันก็จะคอยดึงให้เอนไปในทางโต่งข้างใดข้างหนึ่งอยู่เสมอ ไม่สามารถมีความเป็นกลางที่หลุดพ้นจากทางโต่งทั้งสองด้านนั้นได้

ความเป็นกลางคือสภาพของการยึดอาศัยสิ่งที่ดีที่สุด เป็นกุศลมากที่สุด เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นคือเลือกที่จะอาศัยสภาพของ “ความโสด” ในการดำรงชีวิต ซึ่งจะเข้ากับหลัก “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” และสอดคล้องกับหลาย ๆ คำตรัสของพระพุทธเจ้า เช่น คู่ครองและบุตรคือบ่วง,บัณฑิตย่อมประพฤติตนเป็นโสด ฯลฯ รวมทั้งเป็นความเจริญไปในทางปฏิบัติของศาสนาพุทธด้วย

– – – – – – – – – – – – – – –

4.11.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

หาคู่บรรลุธรรม : เมื่อความฝันกับความจริงเป็นคนละเรื่องกัน

November 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,809 views 0

หาคู่บรรลุธรรม

หาคู่บรรลุธรรม : เมื่อความฝันกับความจริงเป็นคนละเรื่องกัน

ความรักของคนทั่วไปนั้นมักจะไม่มีความซับซ้อนอะไรมาก ตรงไปตรงมา แค่อยากได้ก็หามาเสพ แต่ความรักของนักปฏิบัติธรรมส่วนมากนั้นซับซ้อน มักจะถูกซ่อนไว้ด้วยเหตุผลอันน่าอภิรมย์เสมอ เป็นความอยากที่ซ่อนไว้ใต้ภาพฝันอันสวยงามว่า จะสามารถเจริญไปได้พร้อมๆกับการเสพสุขจากการมีคู่

ซึ่งแท้จริงแล้วการมีคู่นั้นไม่ใช่ความเจริญหรือความประเสริฐแต่อย่างใด มันเป็นเพียงความธรรมดา เป็นไปตามธรรมชาติของความเป็นสัตว์การมีคู่นั้นมีมาตั้งแต่เป็นสัตว์เล็กจนถึงสัตว์ใหญ่ ฯลฯ นั่นหมายถึงเป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์ที่จะมีคู่ ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องผิดธรรมชาติ ไม่ใช่สาระสำคัญของชีวิต ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจแต่อย่างใด

ธรรมะนั้นคือสิ่งที่จะพาให้คนหลุดพ้นจากธรรมชาติ ไม่ต้องมีชาติ มีชรา มรณะ ฯลฯ หลุดพ้นจากความเป็นสัตว์อย่างที่เคยเป็นมา ซึ่งหากปฏิบัติอย่างถูกตรงโดยลำดับจะสามารถงดเว้นเรื่องคนคู่ได้ จนกระทั่งยินดีที่จะไม่มีคู่ครอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ สวนกระแสธรรมชาติอย่างรุนแรง ไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจกันได้โดยทั่วไป และไม่ใช่สิ่งที่จะปฏิบัติกันได้ทุกคน

การหาคู่มาเพื่อความเจริญในธรรมนั้น มีขีดสูงสุดที่จะเจริญได้คือการยอมพรากจากคู่ของคน คือไม่เข้าไปคบหาเชิงชู้สาว ไม่สมสู่กัน ไม่บำเรอกามและไม่สนองอัตตากันและกัน สุดท้ายก็คือไม่ผูกกันด้วยกิเลส นั่นหมายถึงว่าท้ายที่สุดก็ต้องกลับมาเป็นโสดอยู่ดี

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าความเจริญสูงสุดของการมีคู่คือการกลับมาเป็นโสด เป็นสัจจะที่ไม่สามารถลบล้างได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ผู้ตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต, ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง” ซึ่งก็ชี้ให้เห็นชัดอยู่แล้วว่าการไปแสวงหาคู่เป็นความเสื่อม ความโสดคือความเจริญ

แล้วคนที่เข้าใจว่าจะหาคู่เพื่อความเจริญในธรรม ร่วมสร้างกุศลคืออะไร? ก็คือคนที่ไม่เห็นโทษภัยของการมีคู่ หลงคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งดี น่าใคร่น่าเสพ ก็เลยหาคู่มาบำเรอตน ไม่บำเรอกามก็บำเรออัตตา แล้วก็หลงมัวเมาอยู่กับสวรรค์ลวงๆที่ตนสร้างมา ว่ามีคู่สุขจริงหนอ มีคู่ดีจริงหนอ มีคู่ประเสริฐจริงหนอ ว่าแล้วก็ตั้งจิตน้อมเข้าหาประโยชน์ของการมีคู่ สะสมหมักหมมกิเลสพอกใส่ตัวเองด้วยความหลงผิด เห็นว่ากงจักรนั้นเป็นดอกบัว ก็มีแต่จะสะสมทุกข์ บาป เวร ภัย ให้กับตัวเองเท่านั้นเอง

ทั้งที่ความจริงแล้ว สุขกว่าการมีคู่นั้นยังมีอีกมากมาย แต่ก็มาหลงสุขอยู่กับการมีคู่ เหมือนนักเดินทางที่อยากเดินไปให้ถึงเป้าหมายแต่ก็มาหยุดตรงที่จุดชมวิวข้างทางไม่ยอมไปไหน ถ้าจะให้เกิดความเจริญก็จะต้องกล้าที่จะเดินออกไป กล้าที่จะยอมทิ้งสุขที่น้อยเหล่านั้นไปหาสุขที่มากกว่า สุขที่ไม่ต้องได้ ไม่ต้องมี ไม่ต้องเป็นอะไร

เรื่องการมีคู่แท้จริงแล้วก็เหมือนเรื่องโกหก แม้มันจะเคยเกิดขึ้นจริง แต่มันก็ไม่ใช่ของจริง มันเปลี่ยนแปลง แตกหัก เสื่อมสลาย ไม่คงทน ตายไปก็จำไม่ได้ คงเหลือแต่กรรมและกิเลสที่ตกทอดมาเป็นพลังที่หลอกให้คนหลงไปว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่าได้น่ามี เป็นตัวเราของเรา ให้คนหลงไขว่คว้า พยายามแสวงหาคู่กันทุกชาติอย่างไม่จบไม่สิ้น เกิดมาชาติไหนก็ยังต้องหาคู่มาเสพ เพราะยังไม่สามารถหลุดพ้นจากธรรมชาติ ไม่หลุดพ้นจากความเป็นสัตว์

การบรรลุธรรมแท้จริงแล้วก็คือการเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นสิ่งที่ไร้สาระเป็นสิ่งไร้สาระตามจริง เหมือนกับการที่เห็นเรื่องการมีคู่ไม่ใช่สาระใดๆในชีวิต ถ้ายังไม่สามารถเข้าใจความจริงในระดับนี้ ก็อย่าพึ่งไปคิดให้ไกลเกินตัวว่าจะหลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะเพียงแค่เรื่องคู่ยังหลุดพ้นไม่ได้ แล้วเรื่องอื่นที่ยากกว่าจะผ่านไปได้อย่างไร

– – – – – – – – – – – – – – –

31.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แก้ทุกข์ ไม่แก้สุข จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร : การแก้ปัญหาความรักที่ไม่ลงไปแก้ถึงเหตุแห่งทุกข์

October 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,837 views 0

แก้ทุกข์ ไม่แก้สุข จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร

แก้ทุกข์ ไม่แก้สุข จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร : การแก้ปัญหาความรักที่ไม่ลงไปแก้ถึงเหตุแห่งทุกข์

เวลาที่เราเจอกับปัญหาความรัก หลายคนมุ่งแต่จะแก้ทุกข์ที่เกิดขึ้น แสวงหาหนทาง หาความรู้ในการดับทุกข์ ทั้งที่จริงแล้วการจะแก้ปัญหาที่ทำให้เกิดทุกข์เหล่านั้น ก็ต้องกลับมาแก้ว่าเราไปติดสุขในอะไร

ตอนที่คนเราตกหลุมรักใครสักคน น้อยคนนักที่จะปรึกษาคนอื่นว่าจะดีไหม จะเห็นอย่างไร ถ้าจะปรึกษาก็คงจะปรึกษากับผู้ที่เห็นด้วยเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยก็เป็นเพียงแค่สายลมเบาๆที่ผ่านหูไป โดยเฉพาะถ้าให้คนที่กำลังตกหลุมรักไปปรึกษากับพระ หรือผู้ที่ปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ เขาย่อมไม่ยินดีที่จะรับฟังทางพ้นทุกข์เหล่านั้นอย่างแน่นอน เพราะเรารู้กันดีอยู่แล้วว่าการมีคู่นั้นเป็นทางแห่งทุกข์แต่คนก็ยินดีที่จะรับทุกข์นั้นเพราะหลงว่าในทุกข์นั้นยังมีสุข และเห็นว่าสุขที่มีนั้นมากกว่าทุกข์นั่นเอง

สรุปว่าตอนที่เรากำลังสร้างปัญหานี้ขึ้นมานั้น เราไม่ค่อยปรึกษาใครหรอก แต่ตอนที่รักนั้นมีปัญหา ชีวิตคู่มีปัญหา เป็นทุกข์ ทุรนทุราย คร่ำครวญ รำพัน จะเป็นจะตาย กินไม่ได้นอนไม่หลับ ก็มักจะแสวงหาทางออก ซึ่งหนทางยอดนิยมทางหนึ่งของคนไทยก็คือหันหน้าเข้าหาศาสนา

แล้วยังไง? ทีนี้คนก็มุ่งแต่จะแก้ทุกข์ที่เกิดพยายามแสวงหาผู้วิเศษ ที่มีอิทธิฤทธิ์ช่วยให้ทุกข์ของตนคลายได้ “ เป็นความเชื่อที่จะเปรียบไปแล้วก็เหมือน ไปหาคนอื่นมาเช็ดขี้ของตัวเอง “ รังเกียจขี้เหม็นๆ ของตัวเอง โดยไม่รู้ว่าขี้มันก็เกิดจากอาหารที่กินเข้าไปนั่นแหละ กินอะไรเข้าไปมันก็ขี้ออกมาอย่างนั้น แล้วก็มุ่งประเด็นว่าจะทำอย่างไรขี้ถึงจะหอม ถึงจะออกมาสะอาด เหมือนกับคนที่ทำชั่วแล้วหวังให้ผลออกมาดี ซึ่งไม่มีทางเป็นอย่างนั้นได้เลย

ปัญหาของตัวเองสร้างขึ้นมาเอง ก็ต้องแก้เอาเอง จะไปโยนปัญหาของตัวเองให้คนอื่นแก้นั้นไม่ได้ ความเห็นแก่ตัวไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ การพึ่งตนเองต่างหากคือทางพ้นทุกข์ ขยันสร้างทุกข์มาเท่าไหร่ก็ต้องแก้เท่านั้น ตอนสุขก็เออออไปกับกิเลสไม่เอาธรรมะ แต่พอทุกข์แล้วจะมาเอาธรรมะไปล้างทุกข์ แต่ไม่ยอมล้างกิเลส หวงกิเลส แล้วมันจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร?

ความทุกข์ทั้งหลายมีอาหาร ไม่ใช่ไม่มีอาหาร เพียงแต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรเป็นอาหารของความทุกข์เหล่านั้น ก็คงจะไม่มีใครเข้าไปรู้ใจคนอื่นได้ นอกจากคนที่กินอาหารนั้นเอง ต่อให้ครูบาอาจารย์เก่งแค่ไหนก็แนะนำได้แค่ภาพรวม แต่คนที่รู้ว่าอาหารของทุกข์นั้นคืออะไร คนนั้นคือผู้ที่เป็นทุกข์เองเท่านั้น

การเกิดของความทุกข์นั้นก็เกิดจากความหลงสุข หากเราไปหลงสุขหลงเสพ หลงติดหลงยึดในอะไร ก็จะต้องทุกข์เพราะเรื่องนั้น ดังนั้นจะแก้ทุกข์ก็ต้องลงไปแก้ที่ความติดสุข แล้วทีนี้ปัญหาก็คือคนที่เป็นทุกข์จากความรัก กลับไม่อยากทิ้งความสุขเหล่านั้น ไม่อยากแม้แต่จะไปข้องแวะในอาณาเขตแห่งความสุขเหล่านั้น เป็นพื้นที่หวงห้ามที่ถูกปกป้องอำพรางไว้ด้วยขุนพลกิเลสใหญ่น้อย ที่มีกำลังแกร่งกล้า เพราะกิเลสนั้นฝึกตนให้หลงมาหลายภพหลายชาติ

ผู้ที่กิเลสหนา จิตอ่อน ปัญญาน้อย เพียงแค่ถูกกิเลสจ้องหน้าก็เข่าอ่อน ล้มลงไปกองกับพื้นแล้ว อยากพ้นทุกข์แต่ก็ไม่กล้าเข้าไปแตะว่าสุขเพราะอะไร ทำให้เหตุของปัญหาเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องลึกลับ เป็นเหมือนเมืองลับแล เป็นพื้นที่หวงห้ามที่ถูกพรางให้ไม่ปรากฏบนแผนที่โลก เหมือนกับมันไม่เคยมีอยู่ในจิตใจ เพราะไม่เคยคิดจะไปค้นหา ไปวิเคราะห์ ไปพิจารณาว่า เรานี่ติดสุขในอะไร สิ่งนั้นมันสุขตรงไหน สุขแบบไหน ทั้งยังไม่ยินยอมให้ใครเข้าไปลุกล้ำพื้นที่เหล่านั้น เรียกได้ว่าหวงกิเลส กิเลสของฉัน ความสุขของฉัน ตัวตนของฉัน บางครั้งถึงกับยกไว้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามตีความ ห้ามเข้าถึง ห้ามหาความหมาย แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงอาการที่หลง ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่ชัดแจ้งในสมุทัย

สรุปแล้ว การแก้ปัญหาความรักก็ไม่ต้องไปไหนไกลหรอก ไม่ต้องไปปรึกษาใครให้มันเวิ่นเว้อวุ่นวายเสียเวลากันมากมายหรอก แค่ศึกษาวิธีล้างกิเลส แล้วไปค้นว่าสร้างสุขลวงอะไรขึ้นมาก็ทำลายอั้นนั้นแหละ ทุกข์ก็จะดับไปเองแต่ถ้าไม่ชัดเจนในสุขลวงเหล่านั้น ไม่ทำให้สิ่งลึกลับนั้นถูกเปิดเผยให้รู้แจ้ง ก็จะต้องจมกับความทุกข์และความเศร้าหมองตลอดไป

– – – – – – – – – – – – – – –

2.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ไตรลักษณ์กับการครองคู่

October 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,947 views 0

ไตรลักษณ์กับการครองคู่

ไตรลักษณ์กับการครองคู่

ไตรลักษณ์ คือสามัญลักษณะของสิ่งต่างๆ หมายถึงสิ่งเหล่านั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน การเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในลักษณะสามอย่างนี้จะทำให้เราพ้นทุกข์ ในบทความนี้ก็จะนำมาประยุกต์กับเรื่องการครองคู่กัน

ไตรลักษณ์นั้นเป็นสิ่งที่รู้ ท่อง จำกันได้โดยทั่วไป แต่การจะเข้าใจจนกระทั่งเข้าถึงธรรมนั้นจริงๆไม่ใช่เรื่องง่าย แม้เราจะท่องได้ เข้าใจได้ แต่เข้าไม่ถึงธรรมนั้น ไม่รู้แจ้งรู้จริงความเป็นธรรมดาของสิ่งเหล่านั้น ก็ไม่มีวันที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ไปได้

ไม่เที่ยง (อนิจจัง): สิ่งใดๆล้วนไม่เที่ยง การครองคู่ก็เช่นกัน แม้มันจะเห็นเป็นสภาพคู่ แต่มันก็สามารถแปรเป็นอื่นได้ทุกขณะ วิบากกรรมคืออจินไตย เราไม่สามารถคาดเดา หรือคิดคำนวณได้ว่าสิ่งใดจะเกิดกับเราเมื่อไหร่และอย่างไร นั่นหมายถึงกรรมดีที่พยายามทำลงไปแม้มันจะเป็นสิ่งที่ดีที่ควร แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตคู่มีความเที่ยงแท้ได้เลย มันมีการแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เหมือนฟองคลื่น เหมือนพยับแดด ดังนั้นคนที่เข้าใจความจริงในข้อนี้จะไม่ยินดีเข้าไปครองคู่ เพราะไม่รู้จะเข้าไปยึดเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงไปทำไมให้เสียเวลา

เป็นทุกข์ (ทุกขัง) : สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีแต่ทุกข์ ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป การครองคู่ก็เช่นกัน แท้จริงแล้วในการคู่กันนั้นมีแต่ทุกข์ล้วนๆ พากันสร้างบาป เวรภัย เป็นบ่วงของกันและกัน ไม่มีความสุขอยู่ในนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว คนที่ยังมองเห็นว่ามีสุขด้วยทุกข์ด้วย คือคนที่ยังไม่ชัดเจนในธรรม ยังเห็นอธรรมว่าเป็นธรรมอยู่ เหตุเพราะมีอุปาทานยึดมั่นและเข้าใจไปเองว่าสิ่งนั้นเป็นสุข ซึ่งในความจริงแล้วมันมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ดังนั้นคนที่เข้าใจในลักษณะข้อนี้ จะไม่ยินดีเข้าไปครองคู่ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่ามีแต่ทุกข์ เหมือนรู้ว่าเขาจะเอายาพิษมาให้ กินแล้วทุกข์ทรมาน กินแล้วตาย ต่อให้มีรสหวานยังไงก็จะไม่กิน

ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา): สิ่งทั้งหลายล้วนไม่มีตัวตน การครองคู่ก็เช่นกัน ความเห็นผิดของเรานั้นจะสร้างตัวตน(อัตตา) ขึ้นมาเอง ปั้นภาพปั้นภพขึ้นมาหลอกตัวเองและหลอกคนอื่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สร้างสิ่งที่ไม่มีตัวตนแล้วหลงกันไปว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าเสพ ควรมี เป็นศักดิ์ศรี เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาของมนุษย์ การครองคู่นั้นแท้จริงแล้วไม่ได้ประเสริฐอะไรเลย เพราะการครองคู่มีมาตั้งแต่สมัยยังเป็นสัตว์เดรัจฉานตั้งแต่หนอน แมลง จนถึงสัตว์ใหญ่ๆ แต่การไม่ครองคู่ต่างหากที่เป็นสิ่งประเสริฐ สิ่งที่เหนือธรรมชาติ สิ่งที่ทำได้ยาก สิ่งที่ไม่อยู่ในวิสัยของโลก ซึ่งคนที่หลงว่าการครองคู่เป็นอัตตาจะไม่สามารถสลัดความหลงที่มีในตนได้ เพราะหลอกจิตตัวเองมาแล้วไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ หลงกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เสพแล้วก็มัวเมา สั่งสมอุปาทาน เกิดเป็นภพ ชาติ สืบไป ดังนั้นผู้ที่เข้าใจลักษณะของอนัตตาจะไม่เข้าไปครองคู่ เพราะไม่เห็นว่ามันจะเป็นสาระใดๆที่สำคัญในชีวิตที่จะดำเนินไปสู่การพ้นทุกข์นี้เลย

. . . สรุปแล้ว คนที่เข้าใจแจ่มแจ้งในไตรลักษณ์นั้นจะหมดสิ้นความไม่แน่นอน จะมีแต่ความเห็นที่แน่นอน ไม่ใช่คนกำกวม เช่นว่า“ไม่มีคู่ก็ดี มีคู่ก็ได้ ,ยังไงก็ได้, แล้วแต่กรรมลิขิต, ฯลฯ

จะเหลือแค่คำตอบเดียว คือถ้ามีปัญญารู้ว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนแล้วนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเข้าไปครอบครองให้มันลำบากทำไม ส่วนจะต้องไปครองคู่เพราะสังคมบังคับ เช่นถูก คลุมถุงชน หรือโดนบีบคั้นด้วยตำแหน่งหน้าที่ หรืออยู่ในภาวะจำยอมต่างๆนั้นก็เป็นอีกเรื่อง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)