สังคม สิ่งแวดล้อม

โปรตีนเกษตรและเนื้อสัตว์เทียมกับการกินมังสวิรัติ

October 13, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,406 views 0

โปรตีนเกษตรและเนื้อสัตว์เทียมกับการกินมังสวิรัติ

โปรตีนเกษตรและเนื้อสัตว์เทียมกับการกินมังสวิรัติ

ตั้งแต่กินมังสวิรัติมาปีกว่าๆ ต้องยอมรับตรงๆว่าไม่เคยใช้โปรตีนเกษตรหรือเนื้อสัตว์เทียมมาทำอาหารเองเลย เหตุผลนั้นมีหลายส่วนด้วยกัน ส่วนหนึ่งก็คือพยายามจะใช้ของที่หาซื้อได้ทั่วไปมาทำอาหาร และอีกส่วนหนึ่งคือผมเองก็ไม่ได้อยากกินเนื้อสัตว์แล้ว เลยไม่ต้องลำบากไปหาสิ่งเทียมเนื้อสัตว์มากินให้ยุ่งยาก และเหตุปัจจัยอื่นๆอีกยิบย่อยที่ทำให้ไม่สนใจวัตถุดิบเหล่านั้น

ผ่านช่วงเทศกาลเจครั้งแรกของปีนี้ ผมได้กินกะเพราเป็ดเจ ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์เทียม เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จึงคิดได้ว่าการใช้โปรตีนเกษตรแทนเนื้อสัตว์ก็สามารถที่จะทดแทนรสสัมผัสได้อย่างดีเยี่ยม จะว่าคล้ายก็คล้าย จะว่าเหมือนก็เหมือน

โปรตีนเกษตรที่หมายถึงนั้น คือวัตถุดิบที่เป็นชิ้น เป็นก้อน ไม่ได้มีรูปทรงที่ชัดเจนว่าเป็นอะไร ส่วนเนื้อสัตว์เทียมนั้น คือวัตถุดิบที่ถูกสร้างให้เป็นรูปร่างเสมือนเนื้อสัตว์ปกติเช่น ปลาเค็มเทียม หมูเทียม กุ้งเทียม สเต็กเทียม ซึ่งมีเจตนาเพื่อให้ระลึกถึงเนื้อสัตว์นั้นได้อย่างชัดเจน โดยรวมแล้วจะเรียกว่าโปรตีนเกษตรเหมือนกัน แต่ระดับในการสนองกิเลสนั้นจะต่างกัน

สำหรับคนที่ไม่ได้มีปรุงแต่งรสสัมผัสจนมันละเอียดล้ำลึก ก็จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับวัตถุดิบมากนัก ขอแค่มีหน้าตาและรสสัมผัสเหมือนเนื้อสัตว์ที่เคยกินก็พอ

ส่วนผู้ที่ติดในรสชาติหรือรสสัมผัสอันหลากหลายของเนื้อสัตว์ มักจะต้องพบกับความผิดหวังเมื่อได้กินเนื้อสัตว์เทียม เพราะรสชาติและรสสัมผัสนั้นไม่มีทางสู้เนื้อสัตว์จริงที่มีความหลากหลายในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสได้อยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นการยากสำหรับผู้ที่หลงใหลในเนื้อสัตว์จะหันมากินมังสวิรัติ กินเจ โดยใช้โปรตีนเกษตรหรือเนื้อสัตว์เทียมได้

อนุโลม…

การใช้โปรตีนเกษตรและเนื้อสัตว์เทียม แม้จะดูตลกและทำให้เกิดความสงสัยในมุมมองของคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ ว่าคนจะมาลดเนื้อกินผักแล้วทำไมยังต้องมากินเนื้อสัตว์เทียม?

เราจำเป็นต้องเข้าใจว่า โดยปกติแล้วมนุษย์เรามีกิเลสหนา การจะหักดิบมากินพืชผักทันทีเลยนั้น เขาทำไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้ จึงมีคนคิดสร้างแหล่งโปรตีนและเนื้อสัตว์เทียมเพื่อมารองรับผู้ที่ยังมีความอยากเสพรสชาติและรสสัมผัสที่เหมือนเนื้อสัตว์แต่ไม่ต้องฆ่าสัตว์ ทำให้สามารถลดการเบียดเบียนสัตว์อื่นได้ดีเช่นกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ที่คิดจะลดการเบียดเบียนผู้อื่นนั้นย่อมมีจิตใจที่ดี ส่วนผู้ที่ยังเบียดเบียนสัตว์อื่นอยู่แม้จะรู้ว่าการเบียดเบียนนั้นจะทำให้สัตว์นั้นทุกข์ทรมานและนำอกุศลกรรมมาสู่ตนเอง แต่ก็ยังไม่เห็นโทษภัยในการเบียดเบียน ยังไม่คิดจะเลิกเบียดเบียน ยังยินดีที่จะเบียดเบียนเพื่อให้ตนได้เสพสมใจในกิเลส เขาจึงควรมีจิตศรัทธาในผู้ที่พยายามทำดี อย่าได้เผลอไปเพ่งโทษคนที่พยายามลด ละ เลิก การเบียดเบียนเลย เพราะจิตอกุศลนั้นเองจะนำภัยมาสู่ตน

ในตอนนี้ผมกลับมองว่า จริงๆแล้ว โปรตีนเกษตรกับเนื้อสัตว์เทียมมันก็ดีในระดับหนึ่งนะ คิดไปแบบง่ายๆว่า ถ้าคนทั้งโลกหันมากินโปรตีนเกษตร หรือเนื้อสัตว์เทียมได้ ก็จะไม่มีการเลี้ยงสัตว์ เพาะพันธุ์สัตว์ ฆ่าสัตว์ และวันหนึ่งโปรตีนสังเคราะห์เหล่านั้นก็จะมาแทนที่เนื้อสัตว์ได้ ซึ่งทั้งหมดนี่ก็เป็นแค่เรื่องที่ได้แค่ฝันเอา

ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเรากินโปรตีนเกษตรไปเรื่อยๆ เสพเนื้อสัตว์เทียมไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์ เมื่อกินเนื้อสัตว์เทียมและเริ่มติดใจในรสชาติ แล้วก็จะเกิดความอยากกินเนื้อสัตว์จริงๆขึ้นมาในวันใดวันหนึ่ง เพราะกิเลสนั้นจะโตขึ้นเรื่อยๆจนไม่สามารถกดข่มความอยากได้ไหว

เมื่อกลับไปกินเนื้อสัตว์จึงพบว่ามันสนองกิเลสได้มากกว่ากินเนื้อสัตว์เทียม คิดได้เช่นนั้นความเสื่อมก็เริ่มเข้ามา เพราะตอนที่กินมังสวิรัติ กินเจนั้น กินด้วยความกดข่ม กดกิเลสตัวเองไว้ เกิดทุกข์ ทรมาน จากการกดข่มนั้นๆ จนเมื่อตบะแตกไปเสพเนื้อสัตว์เข้าจริงๆ คราวนี้จะกลับมากินโปรตีนเกษตรหรือเนื้อสัตว์เทียมยากแล้ว เพราะกิเลสมันมากกว่าเดิม มันเริ่มคิดแล้วว่าเนื้อสัตว์จริงๆอร่อยกว่าโปรตีนเกษตรหรือเนื้อสัตว์เทียมมาก ว่าแล้วก็เสื่อมจากธรรมที่มี เสื่อมจากศีลที่ตั้งไว้

โดยสรุปแล้วผมเองก็ยังมองว่าโปรตีนเกษตรและเนื้อสัตว์เทียมก็ยังเป็นทางเลือกที่ผู้สนใจหันมากินมังสวิรัติสามารถกินได้ แต่จะให้ดีกว่านั้น ยั่งยืนกว่านั้น คือการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์นั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ได้ยาก เข้าใจได้ยาก ทำได้ยาก

ต่างจากการกดข่มความอยากซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้กันทุกคน เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะสามารถกดข่มสิ่งที่ตัวเองคิดว่าไม่ดีไว้ แต่การกดข่มนั้นไม่ยั่งยืน ไม่สามารถทำลายความอยากได้ สุดท้ายพออยากเข้ามากๆก็จะกลับไปเสพ เสพแล้วก็เลิก เลิกแล้วก็เสพ ต้องมารอให้กิเลสเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปและเกิดขึ้นมาใหม่ วนไปวนมาแบบนี้ไม่รู้จบ

– – – – – – – – – – – – – – –

12.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

วัตถุบูชา เครื่องรางของขลัง

October 3, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,654 views 0

วัตถุบูชา เครื่องรางของขลัง

วัตถุบูชา เครื่องรางของขลัง

ในยุคที่ดูเหมือนจะมีแต่ภัยอันตรายรอบด้าน คงจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดกังวลใจ และคงจะมีผู้คนจำนวนหนึ่งมองหาวัตถุบูชาเครื่องรางของขลังมายึดไว้ถือไว้ เพื่อเป็นหลักให้จิตใจของเขาได้พึ่งพิง

วัตถุบูชาเครื่องรางของขลังนั้นมีตั้งแต่ที่เกี่ยวกับศาสนา เช่น พระเครื่อง พระพุทธรูป รูปหล่อเกจิอาจารย์ต่างๆ รูปภาพครูบาอาจารย์ และไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาเช่น หิน หยก เหล็กไหล อัญมณี เขาสัตว์ ซากชิ้นส่วนของสัตว์ ไปถึงเครื่องประดับต่างๆ

เรามักจะให้คุณค่าวัตถุกันที่ความหายาก คุณค่าที่เล่าต่อกันมาว่าถ้ามีสิ่งนี้ไว้ จะดีอย่างนั้นอย่างนี้ เอาโลหะ เอาดิน เอาหินมาปั้น ปรุงแต่งกันจนมีราคามากกว่าทอง โดยใช้กิเลสและอุปทานของคนเป็นเครื่องมือ

คนเขลามักเข้าใจไปว่าคุณค่าของเครื่องรางของขลังอยู่ในวัตถุชิ้นนั้นๆ จึงมัวเมาหลงให้ค่ากันไปมากมายเกินจริง กลายเป็นธุรกิจการค้าบนความเชื่อและความงมงายของคน ใช้โอกาสในการมัวเมากิเลสกับคนที่ด้อยปัญญา เป็นเครื่องมือหากิน เป็นหนึ่งในอาชีพที่มีลักษณะของการล่อลวง ล่อให้หลง ล่อให้เห็นในคุณค่าลวง ล่อให้เข้าใจว่าเป็นสิ่งดี ซึ่งการค้าขายความเชื่อเหล่านี้ เป็นอาชีพที่ผิด เป็นมิจฉาอาชีวะ ชาวพุทธไม่ควรทำ

คนที่เข้าใจคุณค่าที่แท้จึงไม่ได้เคารพด้วยคุณค่าของวัตถุ เช่น ไม่ว่าจะพระพุทธรูปที่บ้านหรือพระพุทธรูปที่วัดไหน ไม่ว่าจะพระเครื่องแจกฟรีหรือองค์ละสิบล้าน ก็ศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน มีคุณค่าเท่ากัน ไม่ต่างกัน เพราะทำให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าเหมือนกัน และในเมื่อเขาเหล่านั้นรู้ดีว่าความศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้อยู่ในวัตถุ แต่อยู่ในศรัทธาที่เกิดมาจากปัญญา จึงไม่จำเป็นต้องเสาะแสวงหาวัตถุบูชาเครื่องรางของขลัง พระเครื่องชื่อดังหรือสิ่งของที่ใครเขาว่าศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเพียงแค่จิตระลึกถึงสิ่งที่ควรเคารพบูชา ก็มีคุณค่าและความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอแล้ว

การมีพระเครื่อง พระพุทธรูป หรือวัตถุที่สื่อถึงครูบาอาจารย์ไว้บูชานั้นสามารถทำได้ หากเราใช้สิ่งนั้นในการช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจของเรา บูชาในคุณความดี บูชาในธรรม มีไว้เพื่อระลึกถึง ไว้เตือนใจเตือนสติ ไม่ให้ตัวเองหลงไปทำชั่ว ไม่ให้ตัวเองประพฤติออกนอกลู่นอกทาง ให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มากขึ้น นั่นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี

แต่ไม่ใช่การยึดถือบูชาเพื่อที่จะได้รับ บุญกุศล โชค บารมี ลาภ ยศ สรรเสริญ ความแคล้วคลาดปลอดภัย หรือเหตุผลและคำชวนเชื่อทั้งหลายที่มีคนบางพวกได้อวดอ้างสรรพคุณ การบูชาวัตถุอย่างไม่มีปัญญา ไม่ต่างอะไรกับการไหว้ก้อนหิน ไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระ ทั้งยังเสียเวลาที่ต้องใช้ในการเสาะแสวงหาของดีมาไว้กับตัวอีก

บางคนถึงกับหลงไปสะสมเครื่องรางของขลังเหล่านี้ แสวงหาจนมีห้องพระใหญ่โต หลงเข้าใจไปว่ายิ่งมีเยอะยิ่งมีพลัง ยิ่งมีเยอะยิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งมีเยอะยิ่งมีสิ่งคุ้มครองเยอะ หลงเข้าใจผิดไปแบบนั้น จริงๆแล้วยิ่งมีเยอะนั่นแหละภาระ ต้องมาคอยทำความสะอาด ปัดฝุ่น แถมยังต้องมาคอยระแวงระวังกลัวคนจะมาขโมยของรักของหวงกันอีก ก็โง่แบกวัตถุกันไป หลงเข้าใจว่าจะพาไปนิพพานด้วยได้ จริงๆแล้วการสะสมนี่ก็ขัดกับหลักของการพ้นทุกข์แล้ว ยิ่งสะสมก็จะยิ่งทุกข์ ยิ่งเพิ่มกิเลส เพิ่มภาระ ไม่ไปไหนสักที เพราะมัวแต่กอดวัตถุอยู่นั่น ไม่ไปถึงแก่นสารสาระของศาสนาสักที บูชาแต่เปลือกภายนอก บูชาแต่วัตถุ แต่ไม่บูชาธรรม เป็นศรัทธาที่งมงาย พาให้หลงวนอยู่ในโลกนี้

การหลงมัวเมาบูชาวัตถุ แล้วเข้าใจว่าวัตถุเหล่านั้นจะให้คุณแก่ตนได้ เป็นความหลงมัวเมาในระดับที่หยาบ ไม่ตรงกับคำสอนของศาสนา เพราะการที่เราไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งของวัตถุมงคลเหล่านั้น และหลงเชื่อว่าการมีสิ่งนั้นจะทำให้เกิดสิ่งดีต่างๆ จะทำให้เราไม่เชื่อในเรื่องกรรม ไม่เชื่อในเรื่องผลของกรรม ไม่เชื่อว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่เชื่อในหลักของศาสนา

ในเมื่อไม่เชื่อในเรื่องกรรม ก็ยากแท้ที่จะพ้นทุกข์ คนที่ไม่เข้าใจในเรื่องกรรมจะต้องทนทุกข์เรื่อยไป เพราะไม่รู้ว่าสิ่งดีสิ่งร้ายที่เกิดกับตนเกิดจากสาเหตุอะไร พอไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรก็ไม่รู้ว่าจะสร้างเหตุอย่างไรให้อนาคตนั้นดีขึ้น ก็ได้แต่ทำดีทำชั่วไปตามความเห็นที่ตนมี ทำไปตามกระแสสังคมที่กำลังหลงทางบอกมา โดยไม่รู้จริงๆว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว แล้วที่ว่าดีต้องดีแค่ไหน ที่ว่าชั่วมันต้องถึงขนาดไหนจึงเรียกว่าชั่ว

สุดท้ายไม่ว่าใครจะมีพระดี เครื่องราง ของขลังดีแค่ไหน หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้มีอะไรไว้บูชาเลย ทุกคนก็จะต้องแก่ ต้องเจ็บป่วย ต้องตายอยู่ดี สุดท้ายมันก็เหมือนกันอยู่ดี แต่คนที่เขาไม่ได้งมงายก็จะมีเวลาไปเรียนรู้สิ่งอื่นมากกว่า ส่วนคนที่มัวเมาหลงสะสมเครื่องรางของขลังก็จะเสียเวลาไปกับการมัวเมาในวัตถุสิ่งของสร้างกิเลส บาป เวร ภัย ให้กับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

….พระพุทธเจ้าท่านทำให้เราดูเป็นตัวอย่างแล้ว กับชีวิตที่ไม่สะสม มีเพียงเครื่องบริขารนิดหน่อย ไม่หวังพึ่งสิ่งใดนอกจากบุญกุศลที่ท่านได้ทำมาเอง ท่านก็ยังแคล้วคลาดจากวิบากบาปที่ท่านเคยทำมา นั่นก็เพราะบุญบารมี กุศล ความดีที่ท่านได้ทำมา ได้เป็นกำแพงป้องกัน ลดทอนกำลังของสิ่งเลวร้ายที่จะเข้ามาทำร้ายท่าน เป็นบุรุษซึ่งไม่มีใครสามารถที่ปลงพระชนม์ชีพได้ เหตุเพราะพลังแห่งความดีนั้นเอง

หากอยากจะมีความสุข โชคดี พบเจอแต่คนดี สังคมดี แคล้วคลาดปลอดภัย ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็ลองพิสูจน์สัจจะตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนดู ลด ละ เลิกการทำสิ่งที่ไม่ดี ทำดีไปเรื่อยๆ ทำทาน ถือศีล ทำให้จิตใจตัวเองเจริญขึ้น ล้างกิเลสไปเรื่อยๆ ก็จะสามารถรับรู้ได้ด้วยตัวเองว่า การหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสนี่แหละ คือข้อปฏิบัติที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแล้ว นำความสุขความเจริญให้ชีวิตได้มากที่สุดแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

3.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,092 views 0

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

หลายครั้งที่เราคงจะเคยคิดสงสัยว่า การดำเนินชีวิตไปในแต่ละวันของเรานั้นได้เกิดสิ่งดีสิ่งชั่วอย่างไร แล้วอย่างไหนคือความดี อย่างไหนคือความชั่ว ดีแค่ไหนจึงเรียกว่าดี ชั่วแค่ไหนจึงเรียกว่าชั่ว

ความดีนั้นคือการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นและยังสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนความชั่วนั้นคือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สร้างสมความสุขลวง เพิ่มกิเลส สะสมกิเลสในตัวเองและยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นได้เพิ่มกิเลส

เราสามารถยกตัวอย่างของคนดีที่มีคุณภาพที่สุดในโลกได้ นั่นก็คือพระพุทธเจ้า และรองลงมาก็คือพระอรหันต์ จนถึงอริยสาวกระดับอื่นๆ ซึ่งก็จะมีความดีลดหลั่นกันมามาตามลำดับ ในส่วนของคนชั่วนั้น คนที่ชั่วที่สุดก็คงเป็นพระเทวทัตที่สามารถคิดทำชั่วกับคนที่ดีที่สุดในโลกได้ รองลงมาที่พอจะเห็นตัวอย่างได้ก็จะเป็น คนชั่วในสังคมที่คอยเอารัดเอาเปรียบเอาผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม

แล้วเราเป็นคนดีหรือคนชั่ว?

การที่เราเข้าใจว่าดีที่สุด ชั่วที่สุดอยู่ตรงไหนเป็นการประมาณให้เห็นขอบเขต แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือ “เราอยู่ตรงไหน” เรากำลังอยู่ในฝั่งดี หรือเราคิดไปเองว่าเราดี แต่แท้ที่จริงเรายังชั่วอยู่

ดีของแต่ละคนนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนเข้าวัดทำบุญ เราก็จะบอกว่าลูกหลานที่เข้าวัดทำบุญนั้นเป็นคนดี แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าโจรที่เต็มไปด้วยกิเลส เราก็มักจะมองลูกน้องที่ขโมยของเก่งว่าดี มองว่าคนที่ขโมยของมาแบ่งกันคือคนดี เรียกได้ว่าคนเรามักจะมองว่าอะไรดีหรือไม่ดี จากการที่เขาได้ทำดีอย่างที่ใจของเราเห็นว่าดีนั่นเอง

การมองหรือการวัดค่าของความดีด้วยความคิดของผู้ที่มีกิเลสนั้น มักจะทำให้ความจริงถูกบิดเบือนไปตามความเห็นความเข้าใจที่ผิดของเขา เช่น บางคนเห็นว่าการเอาเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ไปไหว้เจ้าว่าดี นั่นคือดีตามความเห็นความเข้าใจของเขา แต่อาจจะไม่ได้ดีจริงก็ได้

ดังนั้นการวัดค่าของความดีนั้นจึงต้องใช้ “ศีล” ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่พอจะอ้างอิงถึงความดีความชั่วได้ เพราะคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ศีลนั้นเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราไปทำชั่วทำบาปกับใคร ดังนั้นคนที่เห็นว่าการไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเป็นสิ่งดี เขาเหล่านั้นย่อมเห็นประโยชน์ของการถือศีล

หากเราจะหามาตรฐานของคำว่าดีนั้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะความพอใจในศีลนั้นแตกต่างกัน บางคนบอกว่าทุกวันนี้ตนไม่ถือศีลก็มีความสุข เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนยินดีถือศีล ๕ ก็เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนบอกอย่างน้อยต้องถือศีล ๑๐ จึงจะเรียกว่าดี ด้วยความยินดีในศีลต่างกัน ปัญญาจึงต่างกัน ผลดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน

ถ้าเราอยู่ในหมู่คนที่เที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เขาก็มักจะบอกว่า การหาเลี้ยงชีวิตตนเองได้เป็นสิ่งดีแล้ว เขาสามารถหาเงินมากินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่หรือครอบครัว เขาก็เห็นว่าเป็นสิ่งดีแล้ว

ในมุมของคนที่เลิกเที่ยวและเสพสุขจากอบายมุข ก็มักจะมองว่า การได้ทำบุญทำทาน ถือศีล ๕ เป็นสิ่งดี การได้เกิดมานับถือศาสนาเป็นสิ่งดี แต่การเที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ทำให้ตัวเองต้องลำบากกาย เสียเงิน เสียเวลา และทำให้คนที่บ้านเป็นห่วง ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ

ดังนั้นจะหามาตรฐานของความดีนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่หากจะถามว่าสิ่งใดเป็นฐานต่ำสุดของความไม่เบียดเบียนก็จะสามารถตอบได้ว่าฐานศีล ๕ และจะลดการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นลงมาเรื่อยๆ เมื่อปฏิบัติศีลที่สูงยิ่งๆขึ้นไป

คนที่เฝ้าหาและรักษามาตรฐานความดีให้เข้ากับสังคม เสพสุขไปกับสังคม จะต้องพบกับความเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะโลกมักถูกมอมเมาด้วยกิเลส เราผ่านมาถึงกึ่งพุทธกาล และกำลังจะดำเนินไปสู่กลียุค มาตรฐานของความดีก็จะค่อยๆ ลดระดับลงมาตามความชั่วของคน

จะเห็นความเสื่อมนี้ได้จากพระในบางนิกาย บางลัทธิ มักเสื่อมจากธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เสื่อมจากบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้เพื่อการละหน่ายคลายกิเลส เช่น ท่านให้ฉันวันละมื้อ แต่พระบางพวกก็สู้กิเลสไม่ไหว เมื่อมีคนมีกิเลสมากๆรวมตัวกันก็เลยกลายเป็นคนหมู่มาก กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ ว่าแล้วก็กลายเป็นพระฉันวันละสองมื้อ หรือบางวัดก็แอบกินกันสามมื้อเลยก็มี

ดังนั้นการจะเกาะไปกับค่ามาตรฐาน ก็คือการกอดคอกันลงนรก เพราะคนส่วนมาก ยากนักที่จะฝืนต่อต้านกับพลังของกิเลส มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถต่อกรกับกิเลสได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้เปรียบไว้เหมือนกับ “จำนวนเขาโค เมื่อเทียบกับเส้นขนโคทั้งตัว” การที่เราทำอย่างสอดคล้องไปกับสังคม ไม่ได้หมายความว่ามันจะดี หากสังคมชั่ว เราก็ต้องไปชั่วกับเขา แม้เขาจะบอกหรือหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นมันดี แต่บาปนั้นเป็นของเรา ทุกข์เป็นของเรา เรารับกรรมนั้นคนเดียว ไม่ได้แบ่งกันรับ เราชั่วตามเขาแต่เรารับกรรมชั่วของเราคนเดียวไม่เกี่ยวกับใคร ดีก็เช่นกัน เราทำดีของเราก็ไม่เกี่ยวกับใคร

ดังเช่นการดื่มเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มมอมเมาทั้งหลาย เรารู้ดีว่าผิดศีลข้อ ๕ อย่างแน่นอนเพราะนอกจากจะทำให้หลงมัวเมาไปกินแล้วยังทำให้มัวเมาไร้สติตามไปด้วย แต่ด้วยโฆษณาทุกวันนี้จากสื่อหลายช่องทาง โดยเฉพาะจากคนรอบข้างที่ว่าเหล้าดีอย่างนั้น เหล้าดีอย่างนี้ กินเหล้าแล้วทำให้มีความสุข เพลิดเพลิน ไปกับบรรยากาศเสียงเพลงและสุรา เราถูกมอมเมาและทำให้เสื่อมจากศีลด้วยคำโฆษณา คำอวดอ้าง คำล่อลวงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หลงว่าสิ่งนั้นดี เสพสิ่งนั้นแล้วจะสุข ใครๆเขาก็เสพกัน นิดๆหน่อยๆไม่เป็นไรหรอก นี่คือลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยกิเลสของสังคมและคนรอบข้าง รวมทั้งกิเลสของตนเองด้วย

หรือเครื่องดื่มที่ไม่ได้ทำให้ร่างกายมัวเมา แต่มีกระบวนการทำให้จิตใจมัวเมาเช่น ชาหลายๆยี่ห้อ มักจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาเร่งให้คนเกิดกิเลส จากคนปกติที่ไม่เคยอยากกินชายี่ห้อนั้น ก็สามารถทำให้กิเลสของเขาเพิ่มจนอยากกินได้ โดยการกระตุ้นล่อลวงไปด้วยลาภ เช่น แจกวัตถุสิ่งของที่เป็นที่นิยม ที่คนอยากได้อยากมีกัน เพื่อมอมเมาให้คนหลงในการเสี่ยง การพนันเอาลาภ ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับคนหมู่มาก การเพิ่มกิเลสหรือการสะสมกิเลสนั้นเป็นบาป ผู้กระตุ้นให้เกิดกิเลสนั้นย่อมเป็นเหตุแห่งบาป เป็นความชั่ว ทำให้คนเสื่อมจากความปกติที่เคยมี กลายเป็นแสวงหาลาภในทางไม่ชอบ เป็นลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยการตลาด และผู้ประกอบการที่ละโมบ

เมื่อการชักจูงด้วยลาภเริ่มที่จะไม่สามารถกระตุ้นกิเลสของคนได้ ก็จะเริ่มกระตุ้นกิเลสทางอื่นเช่น กระตุ้นกาม หรือกามคุณ เช่น กระตุ้นรูป ดังเช่นชาหลายยี่ห้อที่บอกกับเราว่า กินแล้วสวย กินแล้วหุ่นดี กินแล้วไม่อ้วน เหล่าคนผู้มีกิเลสหลงในรูปหลงในร่างกายหรือความงามก็จะถูกดึงให้ไปเป็นลูกค้าได้โดยง่าย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นกับชีวิตเลย ไม่ได้สร้างให้เกิดความสุขแท้เลย แต่เรากลับหลงมัวเมาไปตามที่เขายั่วกิเลสของเรา แล้วเรากลับหลงว่ามันดี หลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดี แต่จริงๆแล้วมั่นชั่ว มันพาเพิ่มกิเลส มันไม่ได้พาลดกิเลส เมื่อสังคมสิ่งแวดล้อมพาเพิ่มกิเลสแล้วเราคล้อยตามไป มันก็ชั่ว ก็บาป ก็นรกไปด้วยกันนั่นแหละ

กิเลสนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกัน หากเราเพิ่มกิเลสให้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง กิเลสเรื่องอื่นๆก็มักจะเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นการเพิ่ม กระตุ้น หรือสะสมกิเลสไม่ว่าจะเรื่องใด ก็เป็นทางชั่วทั้งสิ้น

ไม่ทำบาปแล้วทำไมต้องทำบุญ

หลายคนมักพอใจในชีวิตของตน ที่หลงคิดไปว่าตนนั้นไม่ทำบาป หลงเข้าใจไปว่าไม่ชั่ว แล้วทำไมต้องทำบุญ แค่ไม่ชั่วก็ดีอยู่แล้วนี่…

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิด คำพูด การกระทำของเราไม่เป็นบาป… ในเมื่อเราไม่รู้ ไม่มีตัววัด ไม่มีใครมาบอก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราไม่ชั่ว เราไม่บาป การที่เราคิดเอาเองว่าเราไม่บาปนั้นจะถูกต้องได้อย่างไร

มีคนหลายคนบอกว่าฉันไม่ชั่ว แม้ฉันจะเลิกงานไปกินเหล้าฟังเพลง ฉันก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่พอบอกไปว่าเบียดเบียนตัวเองนะ…. ก็มักจะต้องจำนน ถึงแม้ว่าจะพยายามเถียงว่าเบียดเบียนตัวเองก็เป็นเรื่องของเขา ก็จะโดนความชั่วอีกข้อ ก็คือมีอัตตา ยึดตัวเราเป็นของเรา สรุปว่าเพียงแค่คิดเข้าข้างตัวเองยังไงก็หนีไม่พ้นบาปไม่พ้นความชั่ว

คนเราเวลาชั่วมากๆก็มักจะมองไม่เห็นดี ไม่เข้าใจว่าดีเป็นเช่นไร เพราะโดนความชั่ว โดนบาป โดนวิบากบาปบังไม่ให้เห็นถึงความชั่วนั้น จึงหลงมัวเมาในการทำชั่ว แล้วเห็นว่าเป็นสิ่งดี หรือที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

แม้ว่าในชีวิตนี้เราเกิดมาจะไม่ทำชั่วเลย เป็นฤาษีนั่งอยู่ในเรือน มีคนเอาของกินมาถวาย แต่นั่งสมาธิอยู่อย่างนั้นทั้งชีวิต ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร นั่นก็คือชั่วอยู่ดี เพราะตนเองไม่ได้หาเลี้ยงชีพ ทั้งยังกินบุญเก่า คือให้เขาเอาของมาให้ เรียกได้ว่าเกิดชาติหนึ่งไม่ทำชั่วเลย แต่ก็กินบุญเก่าไปเรื่อยๆ

เหมือนคนที่มีเงินฝากในธนาคาร ไม่ได้ฝากเงินเพิ่ม แต่ก็ถอนเงินและดอกเบี้ยมากินใช้เรื่อยๆ ใช้ชีวิตแบบนี้หมดไปชาติหนึ่ง กินบุญเก่าไปเปล่าชาติหนึ่ง เกิดมาเป็นโมฆะไปชาติหนึ่ง เกิดมาทำตัวไร้ค่าไปชาติหนึ่งแล้วก็ตายไป เป็นต้นไม้ต้นหนึ่งยังดีกว่าเป็นคนที่เกิดมาไม่ทำประโยชน์กับใคร ต้นไม้มันดูดน้ำดูดธาตุอาหารในดินมายังสร้างเป็นดอกผลให้สัตว์อื่นได้กิน

และการจะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้น ต้องหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ชั่วนั้นต้องหยุดทำก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงทำดีเติมเข้าไป ให้กุศลได้ผลักดันไปสู่การทำจิตใจให้ผ่องใส ผ่องใสจากความมัวเมาของกิเลส ปราศจากความอยากได้อยากมี ซึ่งการจะทำจิตใจให้ผ่องใสได้นั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้รู้ธรรมมาสอน จะนึกคิดเอาเองไม่ได้ และการจะได้เจอครูบาอาจารย์นั้น ต้องทำดี ทำกุศลที่มากเพียงพอ ที่ความดีนั้นจะผลักดันเราไปพบกับครูบาอาจารย์ผู้มีบุญบารมีนั้นได้ และการจะเติมบุญกุศลให้เต็มจนเป็นฐานในการขยับสู่การทำจิตใจให้ผ่องใสนั้น ต้องอุดรูรั่วที่เรียกว่าความชั่วเสียก่อน หากทำดีไม่หยุดชั่ว ก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว เติมไปก็หาย ทำดีไปก็แค่ไปละลายชั่วที่เคยทำ แล้วชั่วที่เคยทำก็จะมาฉุดดีที่พยายามทำอีก ดังนั้น การจะทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน คือการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นการกระทำที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน

คนติดดี

คนทั่วไปมักจะมองว่าคนดีนั้นอยู่ในสังคมยาก เพราะอาจจะติดภาพของคนติดดีมา คนที่ติดดี ยึดดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขนัก เพราะสังคมทุกวันนี้มักไม่มีความดีให้เสพ มีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ คนติดดีเมื่ออยู่ในสังคมที่มีแต่ความชั่วเช่นนี้ก็มักจะหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ทำให้เกิดอาการหม่นหมอง เป็นทุกข์ เพราะไม่ได้เสพดีดังที่ตนเองหวัง

ความติดดีนั้นมีรากมาจากอัตตา คือความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะเรียกคนติดดีว่าคนดีนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ในสังคม แต่จะให้เรียกว่าคนดีแท้นั้นก็คงจะไม่ใช่ เพราะคนที่ติดดีนั้น พึ่งจะเดินมาได้เพียงครึ่งทาง เขาเพียงละชั่ว ทำดีมาได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถทำจิตใจตนเองให้ผ่องใสจากความยึดมั่นถือมั่นได้ จึงเกิดเป็นทุกข์

การเป็นคนดีนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะได้รับแต่สิ่งที่ดี เราจะได้สิ่งดีก็ได้ จะได้รับสิ่งไม่ดีก็ได้ แต่เราจะต้องรับรู้ให้ได้ว่า สิ่งดีที่เราได้รับเกิดจากการที่เราทำดีมา และสิ่งไม่ดีที่เราได้รับ เกิดจากชั่วที่เราเคยทำมาก่อน ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ทำดี หรือจากภพก่อนชาติก่อน กรรมเก่าก่อนก็ตามมันไม่จำเป็นว่าทำดีแล้วต้องเกิดดีให้เห็นเสมอไป เพราะเรื่องกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่ควรคิดคาดคะเน เดา หรือคำนวณผล) เราทำดีอย่างหนึ่งเราอาจจะได้ดีอีกอย่างหนึ่งก็ได้ หรือดีนั้นอาจจะสมไปชาติหน้าภพหน้าก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็กๆเราได้ของขวัญจากผู้ใหญ่ ทั้งๆที่เราไม่เคยทำดีให้ผู้ใหญ่หรือใครๆขนาดนั้นเลย นั่นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราเคยทำมา ถ้าสงสัยก็อาจจะลองเปรียบเทียบกับเด็กที่เขาจนๆเกิดมาไม่มีจะกินก็ได้ ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ ที่จะได้จะมีในสิ่งของหรือความรัก เพราะถ้าหากเขาไม่เคยได้ทำกรรมดีเหล่านั้นมา เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับกรรมดีนั้นเหมือนอย่างคนอื่นที่เขาทำมา

ซึ่งเหล่าคนติดดีมักจะหลงเข้าใจว่าทำดีแล้วต้องได้ดี เมื่อคนติดดีได้รับสิ่งร้ายก็มักจะไม่เข้าใจ สับสน สงสัยในความดีที่ตนทำมา เมื่อไม่ได้รับคำตอบที่ดีพอให้คลายสงสัยในเรื่องของกรรม ก็มักจะเสื่อมศรัทธาในความดี กลับไปชั่วช้าต่ำทราม เพราะความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนในเรื่องกฎแห่งกรรม ซ้ำยังทำดีด้วยความหวังผล เมื่อไม่ได้ดีดังหวัง ก็มักจะผิดหวัง ท้อใจ และเลิกทำดีนั้นไปนั่นเอง

ยังมีคนติดดีอีกมากที่หลงในความดีของตัวเอง ซึ่งก็มักจะเป็นเรื่องปกติ เมื่อเราสามารถลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นภัย มาหาสิ่งที่ดีได้แล้ว เมื่อมองกลับไปยังสิ่งชั่วที่ตนเคยทำมาก็มักจะนึกรังเกียจ เพราะการจะออกจากความชั่ว ต้องใช้ความยึดดี ติดดีในการสลัดชั่วออกมา เมื่อสลัดชั่วออกจากใจได้แล้วก็ยังเหลืออาการติดดีอยู่ ซึ่งทำให้เกิดอาการถือดี หลงว่าตนดี ยกตนข่มท่าน เอาความดีของตนนั้นไปข่มคนที่ยังทำชั่วอยู่ เพราะลึกๆในใจนั้นยังมีความเกลียดชั่วอยู่และไม่อยากให้คนอื่นทำชั่วนั้นต่อไป

การจะล้างความติดดีนั้น จำเป็นต้องใช้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้มาก ให้เห็นว่าคนที่ยังชั่วอยู่นั้น เราก็เคยชั่วมาก่อนเหมือนกันกับเขา กว่าเราจะออกจากชั่วได้ก็ใช้เวลาอยู่นาน และก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะใช้วิธีเดียวกับเราออกจากชั่วนั้นได้ เพราะคนเรามีการผูกการยึดกิเลสมาในลีลาที่ต่างกัน เหมือนกับว่าแต่ละคนก็มีเงื่อนกิเลสในแบบของตัวเองที่ต้องแก้เอง ดังนั้นการที่เราจะออกจากความติดดีก็ไม่ควรจะไปยุ่งเรื่องกิเลสของคนอื่นให้มาก แต่ให้อยู่กับกิเลสของตัวเองว่าทำไมฉันจึงไปยุ่งวุ่นวาย ไปจุ้นจ้านกับเขา ทำไมต้องกดดันบีบคั้นเขา ถึงเขาเหล่านั้นจะทำชั่วไปตลอดชาติก็เป็นกรรมของเขา เราได้บอกวิธีออกจากชั่วของเราไป แล้วเราก็ไม่หวังผล บอกแล้วก็วาง ทำดีแล้วก็วาง ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวเขา จะเกิดดีเราก็ยินดี จะไม่เกิดดีเราก็ไม่ทุกข์

และคนที่ดีที่หลงมัวเมาในความดี หรือติดสรรเสริญ โลกธรรม อันนี้เรียกว่าชั่ว เป็นดีที่สอดไส้ไว้ด้วยความชั่ว มีรากจริงๆมาจากความชั่ว ความดีที่เกิดถูกสร้างมาจากความชั่วในจิตใจ จะเห็นได้จากคนทำบุญทำทานเพื่อหวังชื่อเสียง ทำดีหวังให้คนนับหน้าถือตา ทำดีหวังให้คนเคารพ แบบนี้ไม่ดี ยังมีความชั่วอยู่มาก ไม่อยู่ในหมวดของคนที่ติดดี

การเป็นคนดีนั้นไม่จำเป็นว่าคนอื่นเขาจะมองเราว่าเป็นคนดีเสมอไป ขนาดว่าพระพุทธเจ้าดีที่สุดในจักรวาล ก็ยังมีคนที่ไม่ศรัทธาในตัวท่านอยู่เหมือนกัน แล้วเราเป็นใครกัน เราดีได้เพียงเล็กน้อยจะไปหวังว่าจะมีคนมาเชิดชูศรัทธาเรา เราหวังมากไปรึเปล่า… โลกธรรม สรรเสริญ นินทา มันก็ยังจะต้องมีตราบโลกแตกนั่นแหละ ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วก็ต้องมีคนสรรเสริญ นินทา ดังนั้นเราอย่าไปทำดีเพื่อมุ่งหวังให้ใครเห็นว่าเราดี จงทำดีเพื่อให้เราดี ให้เกิดสิ่งที่ดีในตัวเรา เท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

29.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,732 views 0

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ทุกวันนี้ศาสนาไม่ได้ถูกใช้เป็นวิถีทางแห่งการดับทุกข์เหมือนอย่างในอดีต แต่กลับกลายเป็นช่องทางให้ใครหลายคนได้ใช้เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งด้วยชื่อเสียง เงินทอง บริวาร และสุขลวงๆ

ในยุคที่สังคมรีบเร่ง แก่งแย่งแข่งขัน ทำให้เราเหลือเวลาไม่มากพอที่จะใส่ใจแก่นแท้ของศาสนา นั่นทำให้เราเลือกที่จะไปทำบุญทำทานด้วยเงิน เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่คนไทยส่วนใหญ่ยึดถือและปฏิบัติ เรามีงานประเพณีมากมายที่ใช้เงินเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ว่างานบุญ งานกฐิน หรือแม้กระทั่งงานบวชก็ยังต้องมีเงินหมุนเวียนมากมาย

เราอาจจะเห็นวัดวาอารามใหญ่โต เจริญขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น นั่นเป็นผลมาจาก…เงิน หรือจะให้ชัดก็คือ ผลมาจากแนวคิดเชิงทุนนิยม วัตถุนิยม กิเลสนิยม

แต่หลักของพุทธนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างทางโลก พุทธไม่ได้สะสมวัตถุ ไม่ได้ต้องการวัดที่ใหญ่และความสะดวกสบายมากนัก เพราะศาสนาพุทธนั้นเป็นไปเพื่อการพราก ความมักน้อย ความไม่สะสม การขัดเกลากิเลส จนกระทั่งถึงการดับกิเลส

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เงินทองเหมือนดังอสรพิษ” ความมีจนเกินพอดี จะทำให้คนมัวเมาในกิเลสกลายเป็นพิษเป็นภัย แม้แต่ผู้ที่ตั้งใจบวชก็ยังพ่ายแพ้ต่อพลังของเงิน ใช้เงินสร้างวัตถุที่เกินความจำเป็น เพื่อชื่อเสี่ยง เพื่อบารมี เพื่อสะสมบริวาร ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความโลภทั้งสิ้น

ส่วนต้นเหตุที่ทำให้เป็นแบบนั้นก็คือ คนที่หลงมัวเมาในการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า เงินที่ให้ไปนั้น จะไปเพิ่มกิเลสให้กับพระหรือไม่ ถ้าให้เงินนั้นไปแล้ว พระนำไปสร้างวัตถุเพื่อสนองกิเลสของตน ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับพระ เป็นทานที่ให้ไปแล้วผู้รับ “ไม่บริสุทธิ์” ย่อมไม่เกิดอานิสงส์ที่สมบูรณ์ และอาจจะกลายเป็นอกุศลไปได้ด้วย หากพระผู้นั้นใช้ทานเหล่านั้นเพื่อไปเสพสมใจในกิเลสของตนมากเกินไปจนทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในศาสนา

การร่วมบุญกับคนบาป นั้นจะไม่บาป ไม่มีอกุศล ไม่มีผลทางลบนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เราควรจะแยกคนพาล (คนผู้หลงมัวเมาในกิเลส) กับบัณฑิต(คนผู้มีสัจจะ เป็นไปเพื่อลด ล้างกิเลส) ออกให้ชัดเจน คนไหนเป็นคนพาลก็ให้ห่างไกลไว้ ไม่ร่วมกิจกรรมด้วย คนไหนเป็นบัณฑิต ก็ให้เข้าใกล้ ร่วมกิจกรรม ร่วมบุญกัน ก็จะเกิดกุศลและอานิสงส์มหาศาล

ทานที่ให้ควรประกอบด้วยความบริสุทธิ์ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และทานนั้นๆ ผู้ให้ควรบริสุทธิ์ด้วยกายวาจาใจ ไม่ได้ให้เพื่อหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ไม่ได้ให้ด้วยกิเลสตัณหา ผู้รับเองก็ควรบริสุทธิ์ด้วยศีล อันเป็นฐานะที่ควรทำให้เจริญขึ้นเรื่อยๆเพื่อยังประโยชน์แก่ผู้ให้ และทานนั้นก็ควรบริสุทธิ์ เป็นของที่ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เดือดร้อนใคร

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมเจริญยิ่ง” ถ้าเราปล่อยให้พระได้ลำบากพอประมาณ ในขีดที่ไม่ทรมาน เปลี่ยนจากการทำบุญทำทานด้วยวัตถุ มาเป็นออกแรง เช่น ทำความสะอาดวัด ก็จะทำให้พระไม่ได้รับความสะดวกสบายจากปัจจัยที่มากเกินพอดีนัก นั่นคือช่วยให้พระได้ตั้งตนอยู่บนความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้เจริญในธรรมยิ่งขึ้น และอานิสงส์เหล่านั้นก็จะย้อนกลับมาถึงเราด้วย เช่น เมื่อท่านได้เรียนรู้ธรรมจากความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้นำธรรมเหล่านั้นมาสอนเรา

และพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้อีกว่า “เมื่ออยู่ตามสบาย อกุศลธรรมเจริญยิ่ง” นั่นหมายถึง ถ้าเรายิ่งเลี้ยงพระด้วยอาหารอันมีมาก ด้วยทรัพย์อันเกินประมาณ ด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกที่เกินพอดี ความเสื่อมจะยิ่งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ กุศลธรรมจะเสื่อมลง อกุศลธรรมจะเจริญขึ้น สิ่งดีจะหายไป สิ่งชั่วจะเข้ามาแทนที่ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราทำบุญทำทานกันอย่างหน้ามืดตามัว ทำทานกันอย่างเมาบุญ เห็นว่าที่ไหนพระดัง ก็พากันเอาเงินโถมเข้าไปทำลายวัดนั้นๆจนแตกกระเจิง ตบะแตกกันกระจาย ศีลแตกกันไม่มีเหลือ

พระส่วนมากก็คนธรรมดาเหมือนเรา จะไปมีพลังต้านทานกิเลสได้อย่างไร พอใส่เงินเข้าไปมากๆ ก็เริ่มจะโลภ เริ่มจะล่าบริวารมากขึ้น เริ่มตั้งลัทธิ ตั้งสำนัก เพื่อให้ตนเองนั้นได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ดังที่เคยเป็นข่าวให้เราเห็นกันอยู่เป็นประจำ

ดังนั้นการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าผู้รับนั้นเหมาะสมหรือไม่ ควรหรือไม่ โดยใช้ความเจริญทางจิตใจของศาสนาเป็นหลักในการพิจารณา ไม่ให้ความอยากในการทำบุญทำทานของเรานั้นไปเป็นส่วนหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ เพียงคิดได้แค่นี้ก็เกิดกุศลยิ่งใหญ่แล้ว เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา มิใช่ศาสนาที่พามัวเมาในบุญ ในสวรรค์ วิมาน เทวดา ฟ้าดิน แต่ท่านสอนให้เชื่อในเรื่องของกรรม

ชีวิตของคนเราจะดีนั้น ไม่ได้หมายความว่าไปบริจาคเงินทำบุญแล้วมันจะดีเสมอไป เพราะ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ถ้าเราอยากจะให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิตเราต้องทำเอาเอง ไม่มีอะไรมาดลให้เกิดดีกับเราได้ นอกจากกรรมที่เราทำมา ยิ่งเราทำกรรมดีมากๆ แม้ไม่ได้ไปทำบุญหยอดตู้ใส่เงินให้กับวัด ชีวิตเราก็สามารถเกิดสิ่งที่ดีได้

และนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเรายึด “กรรม” คือการกระทำของตนนั้นเป็นหลักในการปฏิบัติ ไม่ใช่ไปให้เงิน ให้วัตถุกับคนอื่นแล้วบอกให้เขาอวยพรให้มีความสุข ให้เราร่ำรวย ให้เราเจอแต่คนดี ให้เราไปสวรรค์ ให้เราไปนิพพาน อันนี้ไม่ถูกทางพุทธ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ปลายทางนั้นมีแต่จะทุกข์ เป็นนรกอย่างเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์